รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • Print
 
 
 
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
 
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาวิชาต่างๆสำหรับพระราชกุมารครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี เช่น วิชาด้านรัฐศาสตร์ ราชประเพณี ประวัติศาสตร์และโบราณคดี และยังได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ เช่น นางแอนนา เลียวโนเวนส์ หมอจันดเล นายแปตเตอร์สัน นอกจากนี้ สมเด็จบรมชนกนาถ ยังได้ทรงสั่งสอนอบรมด้วยพระองค์เอง ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ทรงกำกับราชการกรมทหารมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ทรงได้รับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ มีพระชนมพรรษา ๑๕ พรรษากับ ๑๐ วัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ จึงทรงพระราชอำนาจสมบูรณ์ในการรับพระราชภาระทั้งปวงในการบริหารราชการแผ่นดิน
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัตินานถึง ๔๒ ปีตลอดช่วงเวลาที่ครองราชย์นับเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูปในทุกด้าน ทั้งในส่วนที่สืบสานพระบรมราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถและทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ในรัชสมัย
 
 
พระราชกรณียกิจในการบริหารราชการแผ่นดินและเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕
 
ช่วงแรก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๕ มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทรงโอกาสได้ศึกษาหาความรู้เตรียมพระองค์
 
เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรประเทศที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก คือ พ.ศ. ๒๔๑๓ เสด็จประพาสสิงคโปร์ ปเตเวีย (ปัตตาเวีย) และสมารังของฮอลันดา
 
พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จประพาสอินเดียของอังกฤษ ทรงแวะสิงคโปร์ ปีนัง และร่างกุ้ง
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงคูคลอง สร้า้งเขื่อนริมคลอง ตัดถนนเลียบคลองถนนหลังกำแพงพระนคร
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรก
 
ช่วงที่สอง
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๖-๒๔๓๔
ทรงรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง
ทรงริเริ่มปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลิกธรรมเนียมหมอบคลานเป็นลุกขึ้นยืนเฝ้า ถวายความเคารพ  โดยการคำนับแทนการถวายบังคมแบบโบราณ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน “เคาน์ซิลออฟเตต” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗
เจ้านายและข้าราชบริพารกราบบังคมทูลความเห็น จัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๒๔๒๗
ทรงแถลงพระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน (พ.ศ. ๒๔๓๐) 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทดลองจัดระเบียบการปกครองระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๓๔ เปลี่ยนกรมตามตำแหน่งเดิมเป็นกรมเสนาบดีใหม่ ๖ กรม
 
ช่วงที่สาม
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๕๓
เริ่มการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๓๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัีดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็น ๑๒ กระทรวง
การปกครองส่วนท้องถิ่นรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘
เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เรือรบ
ฝรั่งเศสเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และประกาศปิดอ่าวไทย  ไทยต้องยินยอมลงนามในสนธิสัญญาตามคำขาดของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ (พ.ศ. ๒๔๔๐)
พ.ศ. ๒๔๔๖ ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ให้แก่ฝรั่งเศส และยึดเมืองตราดไว้เป็นประกัน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ใช้บังคับทั่วประเทศใน พ.ศ. ๒๔๔๙
พ.ศ. ๒๔๕๑ เสียดินแดนหัวเมืองมลายู ๔ หัวเมือง 
คือ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิสให้แก่อังกฤษ แลกเปลี่ยนกับการได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีรัชมงคลและพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในอดีต มีพิธีถวายพระบรมรูปทรงม้าประดิษฐานหน้าพระลานพระราชวังดุสิต
 
พระบรมราชาภิเษก
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพุทธศักราช ๒๔๑๑ ...มีพระราชโองการดำรัสสั่งแก่พระมหาราชครูผู้ใหญ่ว่าพรรณพฤกษชลธีและสิ่งของในแผ่นดินทั่วพระราชอาณาเขตพระนคร ซึ่งแสวงหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด...
 
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติมีพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครตามราชประเพณี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑
 
เสด็จประพาส
เสด็จประพาสสิงคโปร์
ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศเป็นครั้งแรก
เสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ โดยชลมารคโดยเรือพิทยัมรณยุทธไปเมืองสิงคโปร์อังกฤษ เมืองปเตเวีย (ปัตตาเวีย) และเมืองสมารัง ของฮอลันดา ออกจากท่าราชวรดิษฐ์ 
 
เสด็จประพาสอินเดีย
ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จประพาสอินเดียในปกครองของอังกฤษ
เรือพระที่นั่งบางกอกออกจากท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม แวะเมืองสิงคโปร์ ปีนัง มระแมน ร่างกุ้ง
เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนครในวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ รวมเวลาเสด็จประพาสอินเดีย ๙๒ วัน
 
เสด็จประพาสยุโรป
ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๔๐ และพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสทวีปยุโรป ๒ คราว เพื่อทรงแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทางพระราชไมตรีกับมหาอำนาจตะวันตกและปัญหาคนในบังคับต่างชาติ รวมทั้งทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักต่างๆในยุโรป และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรศิลปวิทยาการและกิจการบ้านเมืองของประเทศนั้นๆ
 
เสด็จประพาสต้น
ในร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) และ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้น คือ เสด็จพระราชดำเนินไปอย่างสามัญ ไม่แสดงพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงตรวจตราการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของพสกนิกรด้วยพระองค์เองและยังเป็นกา่รสำราญพระราชอิริยาบถเพื่อความสำราญพระราชหฤทัยตามที่แพทย์หลวงถวายคำแนะนำ
พระราชดำริใหม่
 
เลิกประเพณีหมอบคลาน
นวันพระราชพิธีราชาภิเษก (พ.ศ.๒๔๑๖) เมื่อเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังจากเเสนาบดีทูลเกล้าฯถวายราชสมบัติตามประเพณีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศเลิกประเพณีหมอบคลานเปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและถวายความเคารพโดยการถวายคำนับและยกเลิกระเบียบการเข้าเฝ้าอย่างเก่าที่ใช้มาแต่ก่อน
 
เลิกตำแหน่งวังหน้า สถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
 
ในพุทธศักราช ๒๔๒๘ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเปลี่ยนแปลงมาหลายชั้น และได้บังเกิดความยุ่งยากระหว่างวังหลังกับวังหน้ามาแต่โบราณกาลเกือบทุกสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดฯให้ตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นแทน
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๙
 
ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ พระชนมายุ ๑๖ ปี ๖ เดือน ๗ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนขณะยังเสด็จประทับศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ
ป้องกันพระราชอาณาเขต
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ เมื่อจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมใหม่ ได้นำกาีรบังคับบัญชาไปรวมขึ้นกับกระทรวงกลาโหม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ว่าการกระทรวงจากศาลายุทธนาธิการ คือ อาึคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมทุกวันนี้ “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใดชีวิตฉันก็คงสุดไปเมื่อนั้น” 
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สรา้งป้อมปราการทางทะเลที่ตำบลแหลมฟ้าฝ่า ปากน้ำเจ้าพระยาเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรทรงติดตามความก้าวหน้า เมื่อแล้วเสร็จพระราชทานนามว่า ป้อมจุลจอมเกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดหาเรือที่เป็นกำลังรบในการป้องกันทางทะเล เช่น เรือมกุฎราชกุมาร เรือสุครีพครองเมือง เรือพาลีรั้งทวีป เรือหาญหักศัตรู ฯลฯ
 
ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุข
การศึกษา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นโรงเรียนสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนสำหรับพระอารามหลวงให้บุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้เล่าเรียนโดยสะดวก
 
...วิชาหนังสือ เป็นวิชาที่นับถือ แลเป็นที่สรรเสริญมาแต่โบราณว่าเป็นวิชาอย่างประเสริฐที่ผู้ที่เป็นใหญ่ยิ่งนับแต่พระมหากษัตริย์เป็นต้น จนตลอดราษฎรพลเมืองสมควรแลจำเป็นจะต้องรู้ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จไปได้ิทุกสิ่งทุกอย่าง... (พระราชดำรัสตอบในการพระราชทานรางวัลนักเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ)
 
โรงเรียนนายร้อย
เพื่อเตรียมบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสำหรับเป็นกำลังสำคัญในราชหารทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยสำหรับทหารบก เรียกว่า คะเด็ตสคูล เปิดสอนเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๕  ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เรียกว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปัจจุบัน
 
โรงเรียนนายเรือ
ภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนากิจการทหารทางเรือให้ก้าวหน้าทันสมัย
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนนายเรือขึ้นที่พระราชวังเดิม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียน พระราชทานลายพระราชหัตถ์ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนความว่า “วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหาร เรือมีรากหยั่งลงแล้วจะเป็นที่มั่นสืบไปในภายหน้า”
 
การคมนาคม
การสร้างทางรถไฟ
รถไฟพาหนะสมัยใหม่อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆในพระราชอาณาเขต รถไฟสายแรก คือ สายเมืองสมุทรปราการ และทางรถไฟสายแรกไปยังหัวเมืองคือ ทางรถไฟสายนครราชสีมา เปิดรับคนโดยสารถึงกรุงเก่าในร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ถึงปากช่องเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ และถึงมณฑลนครราชสีมา ใน ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) 
 
...เราได้รู้สึกแน่อยู่ว่าธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนย่อมอาศัยถนนหนทางไปมาหากันเป็นใหญ่เป็นสำคัญเมื่อมีหนทางคนจะได้ไปมาได้ง่าย ได้ไกล ได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายชุมชนให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น...(พระราชดำรัสตอบในการเริ่มทำทางรถไฟสายนครราชสีมา)
 
การก่อสร้างสะพาน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมสะพานเก่าแ่ก่ที่ชำรุดให้ใช้การได้สร้างสะพานใหม่ที่แข็งแรงทนทานและสวยงามในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานชุดเฉลิมตามลำดับจำนวนพระชนมพรรษาตั้งแต่สะพานเฉลิม ๔๒-สะพานเฉลิม ๕๘ 
 
 
การสร้างถนนหนทาง
ใน พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนราชดำเนินนอกไปทางทิศเหนือบรรจบที่บริเวณสวนดุสิตเป็นถนนขนาดใหญ่สองข้างทางปลูกต้นไม้ยืนต้น มีทางเดินลาดซีเมนต์และปลูกหญ้าร่มรื่นงามตา
 
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้า้งถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินใน เชื่อมต่อไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๗
 
การขุดคลอง
การขุดคลองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากเพื่อประโยชน์ในการสัญจรไปมาแล้วยังมีพระราชดำริเพื่อบุกเบิกพื้นที่การเพาะปลูก ส่งเสริมให้ราษฎรออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินด้วย
 
การกสิกรรม
“...อำนาจแลความสมบูรณ์ย่อมมีแก่ประเทศที่เจริญด้วยกะสิกรรมแลพานิชการ เพราะเหตุนั้นถึงว่าจะเป็นการที่ทำยากปานใด เราควรจะพยายามบำรุงกะสิกรรมแลพานิชการให้เจริญขึ้ัน เพราะเปนที่ตั้งแห่งความสมบูรณ์ ความสมบูรณ์เปนที่ตั้งแห่งกำลัง กำลังย่อมเปนที่ตั้งแห่งอำนาจ...” (พระราชดำรัสในการเปิดการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ)
 
การจัดตั้งโรงพยาบาล
พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะกรรมการเรียกว่า “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลจัดตั้งโรงพยาบาลตามพระราชประสงค์แห่งแรกที่บริเวณวังหลังตอนใต้ เดิมเรียกว่า โรงพยาบาลวังหลัง ระหว่างที่สร้า้งโรงพยาบาลมีงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงแนะนำผู้ประสงค์ช่วยงานพระเมรุช่วยในการตั้งโรงพยาบาลเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล แล้วเสร็จทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า ศิริีราชพยาบาล
 
การประปา
พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาล ตั้งกรมสุขาภิบาล มีหน้าที่จัดหาน้ำกินน้ำใช้สำหรับประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งโรงโรงสูบน้ำ ทำน้ำให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรคแล้วจำหน่ายไปในท้องถิ่นต่างๆทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า การประปา
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลิกทาส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริ ว่าการมีทาสเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของบ้านเมือง ปัญหาเรื่องทาสเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผ่อนผันเลิกทาสตามลำดับเวลาอย่างเหมาะสม
 
การประชุมสภาที่ปรึกษาแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติในพระบรมมหาราชวัง มีกำหนดที่จะให้มีการเลิกทาสเป็นคราวแรก เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องเกษียณอายุลูกทาสลูกไท และต่อมาทรงตราพระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ 
 
พระราชนิยม
โปรดการถ่ายภาพ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการถ่ายภาพและสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ ทรงใช้เวลาว่างศึกษากระบวนการถ่ายภาพจนทรงชำนิชำนาญ
 
ทรงสะสมกล้องถ่ายรูปรุ่นต่างๆและทรงส่งเสริมการถ่ายภาพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปิดร้านถ่ายรูปหลวงในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร เปิดบริการถ่ายรูปด้วยฝีพระหัตถ์ พระราชทานรายได้สมทบทุนสร้างพระอุโบสถ ในพ.ศ.๒๔๔๗ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดประกวดภาพถ่ายเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘
 
...เวลาเข้างานไปถ่ายรูปที่สวนเป็นการทดลอง เพราะพ่อได้กล้องมาใหม่ที่เรียกว่า ปัลโมส์ เป็นกล้องที่ใช้ม่านตั้งง่ายเป็นที่สุด แลรูปได้ดีที่สุดรักเหลือเกิน...
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ศักราชใหม่
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้ศักราชใหม่ คือ รัตนโกสินทรศก ใช้อักษรย่อว่า ร.ศ. แทนการใช้จุลศักราช โดยเริ่มนับรัตนโกสินทร์ศก ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ซึ่งเป็นเดือนปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ วันขึ้นปีใหม่และเปลี่ยนศักราช จึงถือวันที่ ๑ เมษายน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ จึงให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก
 
เครื่องเล่นตลับงา
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระราชวังดุสิต โปรดการเล่นตลับงา การสะสมไม้เท้า ฯลฯ และการปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆริมทางสาธารณะในพระนครให้ร่มเงาแก่ผู้สัญจรไปมาด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
 
พระบรมทรงม้า
ในอภิลักขิตสมัยพระราชพิธีรัชมงคล และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีต พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและปวงอาณาประชาราษฎรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปกครอง ทำนุบำรุงประเทศ และประชาชนให้เจริญรุ่งเรืองจึงพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ สร้า้งพระบรมรูปทรงม้า น้อมเกล้าฯถวายเป็นสิ่งทำขวัญ
 
...การซึ่งท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันสร้างรูปเราขึ้นไว้ครั้งนี้ก็นับว่าเป็นถาวรนิมิตอันดี ในความพร้อมเพรียงของชาติอันเกิดขึ้นในใจของท่านทั้งหลายแลแสดงเป็นพยานความเชื่อถือไว้วางใจในเจ้าแผ่นดินแลรัฐบาลของตนอันเป็นเหตุจะให้เิกิดมหรรฆผลเพื่อความผาสุกสำเร็จแก่ชาติของเราในภายหน้า... (พระราชดำรัสในพิธีถวายพระบรมรูปทรงม้า วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ รวมพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษาเสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ ๔๒ ปี
 
จากหนังสือเหนือเกล้าชาวไทย