หอสูงกับการบอกเวลา

  • Print
สถาปัตยกรรมหอนาฬิกาเกิดขึ้นครั้งแรกในสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยก่อนหน้านี้ชนชั้นนำสยามอาศัยหอกลองทำหน้าที่ในการบอกเวลา การศึกษานี้จึงต้องการอธิบายปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมจากหอกลางมาสู่หอนาฬิกา โดยมุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในเชิงมิติวัฒนธรรม เพื่อศึกษาว่าสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกายุคแรกในสยามเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือแรงผลักดันให้ชนชั้นนำสยามต้องการสร้างหอนาฬิกาตลอดจนบทบาทหน้าที่ของสถาปัตยกรรมหอนาฬิกาที่มีต่อชนชั้นนำสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
 
 
ภาพถ่ายเก่าเห็นหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนยที่ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง
หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นับเป็นอาคารสูงที่โด่ดเด่นเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แทน
"ความศิวไลซ์ หรือความทันสมัย ในแบบสยาม ในรูปแบบของหอสูงบอกเวลา
 
โลกทรรศน์ของชาวสยามกับความคิดทางเวลา
สมัยโบราณมนุษย์รู้จักกำหนดเวลาโดยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างคร่าวๆ เช่น แบ่งช่วงเวลาออกเป็นกลางวัน-กลางคืน ฤดูร้อน-ฤดูหนาว เป็นต้น ต่อมาเมื่อมนุษย์ต้องการที่จะกำหนดเวลาให้ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มมีการสมมติชั่วโมง และแบ่ง ๑ วัน ออกเป็น ๒๔ ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางวันมี ๑๒ ชั่วโมง กลางคืนมี ๑๒ ชั่วโมง โดยให้นับเวลาจากการขึ้นและตกของพระอาทิตย์
 
ต่อมามีการประดิษฐ์นาฬิกาที่วัดด้วยเงา วัดชั้นฉายนาฬิกาแดด นาฬิกาทราย เพื่อเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน แต่ยังพบข้อจำกัดของเครื่องบอกเวลาเหล่านี้ที่ไม่สามารถกำหนดเวลาในแต่ละวันให้ตรงกันได้ จนกระทั่งนักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลนเนียได้กำหนดให้ ๑ ชั่วโมง ยาวเท่ากันหมดใน ๑ วันและตลอดปี อีกทั้งยังได้แบ่ง ๑ ชั่วโมง ออกเป็น ๖๐ นาทีด้วย จนในที่สุดมนุษย์สามารถประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่จะนำมาใช้บอกเวลา โดยไม่ต้องอิงกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอีก นั่นคือ “นาฬิกากล” เดิมมักใช้นาฬิกากลกันในโบสถ์ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและใช้บอกเวลาสำหรับคนทั่วไป ต่อมานักประดิษฐ์ได้ลดขนาดเป็น “นาฬิกาพก” ที่สามารถพกติดตัวไปได้ในทุกที่ จนพัฒนาไปสู่การออกแบบและผลิตนาฬิการูปแบบอื่นๆ อีกมากดังเห็นได้ในปัจจุบัน
 
ว่าด้วยความคิดเรื่องเวลาของชาวสยามในสังคมแบบจารีต ที่มีความผูกพันกับความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ที่เชื่อว่ามนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ นับชาติไม่ถ้วนจนกว่าจะบรรลุนิพพาน ซึ่งความหมายของ “เวลา” เช่นนี้ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ เวลาของมนุษย์กับเวลาของสังคม โดยเวลาของมนุษย์ส่วนใหญ่มีอายุขัยไม่เกิน ๑๐๐ ปี ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน  แม้แต่ตัวมนุษย์เองยังเป็นสิ่งไม่มีตัวตน ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดังนั้นมนุษย์จึงควรใช้เวลาของตนไปกับการปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อบรรลุนิพพาน ส่วนเวลาของสังคมแม้จะมีระยะเวลายาวนานกว่า แต่เชื่อว่ามีลักษณะเป็นอนิจจังเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เวลาของสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงจนถึงกลียุคที่มนุษย์ต้องล้มตายลง
 
ความคิดเกี่ยวกับเวลาในข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการยึดหลักความเชื่อในพุทธศาสนา ซึ่งจะสอดคล้องไปกับความเชื่อเรื่อง “กรรม” หมายถึงผลจากการกระทำของมนุษย์ในชาติที่แล้ว โดยชาวสยามจะถูกปลูกฝังให้ยอมรับชะตากรรมและวิถีชีวิตที่ดำเนินในปัจจุบันว่าเป็นผลมาจากการกระทำของตนเองในอดีตชาติที่ผ่านมา ซึ่งต่างไปจากความคิดเกี่ยวกับเวลาแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเวลาใน ๑ วันของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับวันใหม่ และการให้คุณค่ากับตนเอง หรือการมีชีวิตอยู่มากกว่าแต่การคิดถึงในโลกหน้า ความคิดเช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนคิดไปในทางที่ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพตลอดเวลา
 
ในเวลาต่อมา ชาวสยามได้เริ่มเรียนรู้วิธีการนับเวลาตามความเข้าใจของตนเอง เช่น การนับเวลาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ การนำวัสดุอย่างกะลามาใช้ในการจับเวลาหรือการตั้งชื่อหน่วยนับเวลาตามเสียงของอุปกรณ์ที่ใช้บอกเวลา เป็นต้น ซึ่งความรู้แบบจารีตเช่นนี้ถูกถ่ายทอดและปฏิบัติตามกันในสังคมสยาม จนกระทั่งการนำเข้ามาของนาฬิกากล ที่นับได้ว่าเป็นทั้งประดิษฐกรรมใหม่และความรู้ชุดใหม่ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์แบบจารีตของชาวสยาม เวลาที่แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนความคิดของชาวสยามในทันที แต่ค่อยๆ ก้าวเข้ามาแทนที่ในที่สุด
 
ดังนั้นก่อนที่จะพิจารณากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับเวลาของชาวสยามจากแบบจารีตไปสู่แบบตะวันตก จึงควรทำความเข้าใจการกำหนดเวลาแบบจารีตเสียก่อน
 

"หอกลองบอกเวลาของชาวสยาม" จิตรกรรมภาพเขียนสีหลังตู้พระไตรปิฎกในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน ตู้พระไตรปิฎกนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นสำหรับใส่พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๓

การกำหนดเวลาแบบจารีต
การกำหนดเวลาแบบจารีตของชาวสยามในอดีตมีอยู่หลายแบบ แบบที่ ๑ เป็นการนับเวลาตามคติไตรภูมิกล่าวคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวสยามนับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินจนถึงประชาชนต่างให้ความสำคัญและความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ควบคู่ไปกับความเชื่อในทางพุทธศาสนา ซึ่งความเชื่อในทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ได้มีคำทำนายเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ว่า จะมีอายุเพียง ๕,๐๐๐ ปี หรือเรียกว่า ความเชื่อในอันตรธาน ๕ ประการ (ปัญจอันตรธาน)
 
อรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า ภายใต้กรอบความคิดทางเวลาแบบไตรภูมิ มนุษย์ไม่สามารถประมาณระยะเวลาได้ว่าเมื่อใดพระพุทธศาสนาถึงจะสิ้นกัลป์ แล้วไม่สามารถทราบได้ว่าหากสิ้นกัลป์ เวลาจะดำเนินต่อไปอีกหรือไม่ หากเทียบเวลาที่มนุษย์กำหนดขึ้นให้ตรงกันกับเวลาเวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมิ จะพบว่าเวลาตามคตินั้นเป็นเพียงเวลาสมมติขึ้นมา ต่างจากเวลาใน ๑ วัน ที่มนุษย์สามารถรับรู้เวลาที่เกิดขึ้นได้จากการหมุนครบ ๑ รอบของเข็มนาฬิกา
 
การนับเวลาแบบจารีตของสยามแบบที่ ๒ เป็นการนับเวลาตามจันทรคติ คือการนับเวลาจากการโคจรของระบุบสุริยะจักรวาล ได้แก่ การนับเวลาจากดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นวิธีที่สยามได้รับการเผยแพร่มาจากอินเดียและลังกา โดยกำหนดว่า หากวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงที่ตำแหน่งดาวฤกษ์ดวงใด ให้ถือเป็นวันสิ้นสุดของเดือนถัดไป ซึ่งการนับเช่นนี้ทำให้มีความสัมพันธ์กับฤดู กล่าวคือ กำหนดให้วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงวันเพ็ญเดือน ๘ เป็นฤดูร้อน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นฤดูฝน และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันเพ็ญเดือน ๔ เป็นฤดูหนาว 
 
การนับเวลาแบบที่ ๓ เป็นวิธีการนับเวลาแบบสุริยคติ ซึ่งเป็นระบบการนับเวลาที่ใช้ในปัจจุบัน ระบบนี้เริ่มใช้ขึ้นเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ภายหลังจากกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้นำปฏิทินสุริยคติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นปฏิทินราชการนับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งในปีนั้นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันตรุษไทยหรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน จึงเหมาะสมแก่การเปลี่ยนแปลงจากปฏิทินจันทรคติมาเป็นระบบปฏิทินสุริยคติ
 
นอกจากนั้นแล้วยังมีการดูเวลาจากดาว โดยการสังเกตดาวฤกษ์ว่าอยู่ตรงตำแหน่งใด พอคืนถัดมาให้สังเกตว่าอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือไม่ ซึ่งตำแหน่งของดาวจะเหมือนกันทุกวัน เป็นเวลานาฬิกามัธยมกาล ๒๓ ชั่วโมง ๕๖ นาที กับ ๔ วินาที เพราะเป็นเวลาของโลกหมุนครบ ๑ รอบ ในแต่ละวัน จึงไม่มีช้าหรือเร็วไปกว่านั้น แต่การนับเวลาเช่นนี้จะใช้กันเฉพาะแต่ในการเดินเรือและโหราศาสตร์เท่านั้น และยังพบการนับเวลาจากการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น “บ่ายควาย” หรือ “ควายเข้าคอก” หมายถึง การสังเกตดวงอาทิตย์เพื่อดูเวลาอย่างหยาบ “ชั้นฉาย” เป็นการนั่งสังเกตเงา สำหรับใช้ในงานบวชนาค เป็นต้น
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีการกำหนดวิธีเรียกเวลาแบบจารีตเพื่อความเข้าใจตรงกัน คือ การเรียกแบบ “โมง” และ “ทุ่ม” ซึ่งถือเป็นคำสำคัญที่ใช้แบ่งภาคกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เรียกแยกอย่างชัดเจน โดยคำว่า “โมง” นั้น มาจากเสียงของฆ้อง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางวัน ส่วนคำว่า “ทุ่ม” เรียกตามเสียง “กลอง” อุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางคืน โดยพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการเรียกระบบเวลาเช่นนี้มาก จนถึงกับประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเรียกเวลาในแต่ละช่วงให้ถูกต้อง
 
วิธีการนับเวลาแบบจารีตของสังคมสยามพบที่หลักฐานกล่าวถึงมากที่สุด คือ การใช้ “กะลา” จับเวลา   ซึ่งคำว่า “กะลา” พบว่ามีความหมายเดียวกับ “นาฬิกา”  ดังปรากฏเรื่อง  “นาฬิกา”  ในเอกสารวชิรญาณวิเศษ อธิบายว่า “นาฬิกา” เป็นภาษามคธ หมายถึงหมากพร้าว ซึ่งเป็นศัพท์ที่เรียกเพี้ยนมาจาก “นาฬิเก” อีกที หรือจากในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๐ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลายพระหัตถ์ว่าใช้กะลามะพร้าวในการนับเวลาเช่นกัน ใจความว่า
 
“เครื่องกำหนดเวลาของไทยเดิมเรียกเป็นภาษาไทยตามวัตถุที่ใช้ว่า “กะลาลอย” มาเปลี่ยนใช้เป็นคำภาษาสันสกฤตว่า “นาฬิกา” ต่อมาภายหลัง แต่ก็หมายความว่า กะลาเหมือนกัน ครั้นว่าได้เครื่องกลอย่างฝรั่งสำหรับกำหนดเวลาเข้ามาก็เอาชื่อเครื่องใช้ที่อยู่ก่อนมาเรียก “นาฬิกา” ยังคิดเห็นต่อไปว่าคำว่าชั่วโมงเดิมเห็นจะเรียกว่า “ล่ม” หรือ “กะลาล่น”  แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า นาฬิกา...”
 
วิธีการนับเวลาจากกะลา ในขั้นแรกต้องเริ่มจากการแบ่งกะลาออกเป็นซีกหนึ่งก่อน โดยกะลาซีกหนึ่งจะแบ่งเป็น ๑๐ ส่วน จากนั้นจึงบากรอยลงไปในกะลา ๙ เส้น เรียกว่า บาด ( ๑ เส้น มีค่าเท่ากับ ๑ บาด) และเจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้น้ำไหลเข้า เมื่อวางกะลาลงในน้ำน้ำไหลเข้าถึงเส้นไหน นับเป็นเศษของนาฬิกาเท่านั้น จนกระทั่งน้ำไหลเข้าเต็มกะลาและกะลาจมลงจึงนับเป็น ๑ ชั่วโมง
 
ตัวอย่างของการนำกะลา หรือนาฬิกามาใช้จับเวลาพบในเหตุการณ์ตัดสินโทษในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่ให้คนดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยใช้ “นาระกา” เป็นเครื่องจับเวลาแต่พระองค์ทรงมีข้อกังขาว่า ถ้าหากนาระกาล่ม แล้วทั้งโจทก์และจำเลยยังไม่ผุดขึ้นจากน้ำ หรือหากนาระกายังไม่ล่ม แต่ทั้งโจทก์และจำเลยผุดขึ้นจากน้ำก่อนจะตัดสินคดีเช่นไร พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการตัดสินคดีเสียใหม่ เนื่องจากเป็นการฉ้อโกงราษฎร โดยมีพระราชกำหนดว่าหากฝ่ายโจทก์และจำเลยเป็นชายและหญิง จะให้ลุยเพลิงกัน เพื่อไม่ให้มีฝ่ายใดเสียเปรียบ แต่ถ้าเป็นชายหรือหญิงด้วยกันทั้งคู่ จะให้ดำน้ำและตีฆ้องเป็นสัญญาณแทนการตั้งนาระกา
 
นอกจากนั้นแล้วยังพบการนำกะลาหรือนาฬิกาไปใช้จับเวลาเมื่อเล่นพนันสัตว์ต่างๆ อีกด้วย เช่น ที่โรงนาฬิกาหลวงเก่า ใช้กะลาจับเวลาสำหรับชนไก่ ชนนกและชนปลา หรือการตีไก่ที่ใช้จอกเจาะก้นลอยในขันเมื่อจอกจมลง จะเรียกว่า “อันจม” ก็จับไก่แยกออก และนำไปให้น้ำ
 
 
(บน) การใช้ "กะลา" จับเวลา วิธีการนับเวลาแบบจารีตของสังคมสยาม จิตรกรรมภาพเขียนสีหลังตู้พระไตรปิฎกในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
(ล่าง) เมื่อ "กะลา" จมลงจึงตีฆ้องที่แขวนไว้บอกเวลา จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี
 
ส่วนวิธีนับเวลาแบบอื่นๆ ยังพบการจุดธูปเป็นเครื่องวัดเวลาสอบไล่หนังสือพระ ถ้าหากธูปหมดดอกแล้ว ยังแปลไม่สำเร็จ แสดงว่าสอบไม่ผ่าน การใช้เข็มทิศ การนับเวลาของชาวป่าแถบเมืองเหนือ “จะยกมือเหยียดแขนตรงออกไปด้านหน้าตามทิศเวลาเช้าและบ่าย แล้วกางนิ้วมือเป็นคืบ จากนั้นจึงไล่ดูตั้งแต่หัวแม่มือของตนเองไปจับขอบฟ้าแล้ววัดคะเนคืบขึ้นไปจนถึงดวงอาทิตย์ ถ้าดวงอาทิตย์สูงคืบหนึ่ง ก็กำหนดว่าโมงหนึ่ง และนับไปจนถึง ๖ คืบ เท่ากับเวลาเที่ยง" หรือตัวอย่างของนาฬิกาแดด ที่มีลักษณะเป็นตลับไม้ มีเข็มแม่เหล็กตรงกลอง ใช้งานคล้ายเข็มทิศ แต่ในตลับไม่มีบอกองศา นาที หรือวินาที มีเพียงเส้นขีดสำหรับบอกโมง เมื่อจะใช้งานให้นำไปวางตั้งไว้กลางแดด แล้วคอยสังเกตว่าเงาตกส่วนไหนจึงนับโมง
 
ในบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าหอสมุดพระวชิรญาณมีแผ่นศิลาทองเหลี่ยมสลักโมงข้างละ ๕ ส่วน ตั้งอยู่บนแท่นแปดเหลี่ยม ก่อปูน ตรงกลางแผ่นเป็นรูปคล้ายฉากหูช้างตั้ง ทำด้วยทองเหลือง และที่แท่นมีเครื่องรองน้ำฝนอยู่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นนาฬิกาที่ใช้สำหรับจับเวลาเมื่อฝนตกลงมาในเขตพระบรมมหาราชวัง เพื่อตรวจสอบว่าในแต่ละวันมีน้ำฝนปริมาณเท่าใด รวมทั้งพบปืนทองเหลืองบรรจุดินดำและดินฉนวนติดกับรางตั้งอยู่บนแผ่นศิลา ท้ายรางปืนมีเสาทองเหลือง ๒ เสา โดยบนปลายเสาจะมีแว่นส่องไฟอยู่ด้านบน ซึ่งตั้งมุมองศาอย่างพอดีเมื่อแสงส่องลงมาถึงกระบอกปืน ตรงมุมเสาที่ติดกับรางปืนนั้นสลักรูปลูกศรทองเหลืองติดอยู่กลางเสา และได้สลักวงกลมแบ่งเป็นซีกๆ เพื่อแบ่งองศาและนาทีให้เอนแว่นรับแสงอาทิตย์ได้ง่าย ดังนั้น เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่ตรงหัวและส่องแสงลงในแว่นนั้น แว่นก็จะส่องสะท้อนไปถูกปืน ทำให้ปืนลั่นบอกเวลาเที่ยงได้ นอกจากนั้นแล้วยังพบนาฬิกาแดดที่พระนิเทศชลธีได้ประดิษฐ์ตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ได้แก่ พระราชวังอุทยานสราญรมย์ พระนครหอมิวเซียม และวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
 
อีกทั้งยังมีการนับเวลาตามจารีตอีกรูปแบบหนึ่งของสังคมสยาม คือ การยิงปืน บริเวณป้อมมุมพระราชวังเดิมที่จะมีปืนใหญ่ประจุอยู่ ๔ ป้อม ป้อมละกระบอก ปืนใหญ่จะถูกยิงพร้อมกันทุกป้อมเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งการยิงเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณได้ ๒ ความหมาย หนึ่งคือเป็นการเปลี่ยนดินปืน หรือเป็นสัญญาณเปิดประตูวัง อีกความหมายคือเป็นสัญญาณแจ้งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งถ้าไฟไหม้นอกพระนครจะยิงปืนนัดเดียว หรือหากไฟไหม้ในพระนครจะยิงถึง ๓ นัด แต่ถ้าไหม้ภายในพระราชวังจะยิงต่อไปหลายๆ นักจนกว่าไฟจะดับ และยังมีสัญญาณการยิงปืนอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “ยิงปืนเที่ยง” สันนิษฐานว่าได้ยินชาวอังกฤษยิงสัญญาณที่สิงคโปร์สำหรับให้คนตั้งนาฬิกา สยามจึงเริ่มให้ทหารเรือยิงขึ้นที่ตำหนักแพก่อน ครั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจัดให้มีทหารปืนใหญ่ขึ้นในกรมทหารล้อมวัง จึงให้ทหารปืนใหญ่ล้อมวังยิงที่ป้อมทัศนากรอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับไปเป็นหน้าที่ของทหารเรืออีก ประเพณีการยิงปืนเที่ยงดำเนินเรื่อยมาจนมีไฟฟ้า ภายหลังโรงไฟฟ้าจึง “รับขยิบตา” เวลาสองทุ่มเป็นสัญญาณตั้งนาฬิกาแทน
 
 
นาฬิกาแดด วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
นาฬิกาพก นาฬิกากลเข้ามาในสยามครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นาฬิกาพกมีลักษณะเป็นนาฬิกาตลับเล็กๆ ถือเป็นของสำคัญและมีราคาแพง เพราะมักถูกมอบเป็นเครื่องบรรณาการถวายแด่กษัตริย์จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงได้รับเครื่องราชบรรณาการจากประเทศโปรตุเกส เป็นนาฬิกาเล็กๆ จำนวนหลายตลับ โดยชาวโปรตุเกสจะนิยมนำนาฬิกาเล็กๆ นี้ใส่ไว้ในประเป๋าเสื้อด้านหน้าสำหรับใช้ดูเวลา แต่ชาวสยามในสมัยนั้นยังไม่ได้สวมเสื้อ จึงนำนาฬิกานั้นห่อไว้ในผ้านุ่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “นาฬิกาพก” ส่วนล่ามหมากก็พกไว้ในผ้านุ่งเช่นเดียวกัน จึงเรียกว่า “ล่วมพกหมาก” นั่นเอง และในสมัยเดียวกันนี้เองยังพบ “นาฬิกากล” แบบอื่นๆ ด้วย เช่น จีนห้องแสง นายสำเภาหลวง เดินทางไปค้าขายในประเทศจีน และได้พบ “นาฬิกาซุ้ม” จึงนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยแลกกับเรือสำเภาหลวงลำหนึ่งเป็นการตอบแทน ความพิเศษของนาฬิกาเรือนนี้เมื่อถึงเวลานาฬิกาตี จะมีแก้วเป็นเกลียวบิดหมุนคล้ายน้ำกำลังไหล เรียกชื่อว่า นาฬิกาห้องแสง
 
หรือนาฬิกานกร้อง ซึ่งกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกล่าวว่าน่าจะเป็นนาฬิกาลำดับที่ ๔ ที่เข้ามาในสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สร้างขึ้นโดยช่างชาวจีน นาฬิกามีลักษณะเป็นลูกตุ้มแกว่งไปมาคล้ายผลน้ำเต้า เมื่อเวลานาฬิกาตีครบรอบ จะมีนกโผล่ออกมาจากซุ้มร้องกุ๊กๆ อีกทั้งยังกล่าวว่า นาฬิกานกร้องนี้ได้ถูกนำไปตกแต่งหลังตู้ลายรดน้ำพื้นแดง ติดกับเสาที่มุขเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเรียกนาฬิกาเรือนนี้ว่า “ฝรั่งยิงนก” แทน และยังพบนาฬิกาที่เป็นเครื่องบรรณาการที่คณะทูตเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ประเทศอังกฤษ ได้นำมาถวายพระองค์หรือจะเป็นนาฬิกาที่เข้ามาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยนาฬิกาเรือนนี้ด้านบนทำเป็นซุ้ม ส่วนด้านล่างทำเป็นหีบเพลง เมื่อเข็มสั้นเดินไปครบ ๑๕ นาที ระฆังเถาจะตี ๑ ที ถ้าเดินไปครบ ๓๐ นาที ระฆังเถาจะตี ๒ ที นาฬิกาเรือนนี้มีอยู่ ๒ เรือน คือ ตั้งอยู่ภายในหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา และในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
 
แม้จะปรากฏว่ามีการเข้ามาของ “นาฬิกากล” ในสยามมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยกรุงศรีอยุธยา) เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ได้ทำให้การนับเวลาแบบจารีตหมดความหมายลงแต่อย่างใด เพราะ “นาฬิกากล” ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง แต่กลับมีไว้เพื่อเป็นสิ่งแสดงสถานะ เพราะถือเป็นของสำคัญและมีราคาสูงสามารถแสดงสถานะของผู้ครอบครองได้เป็นอย่างดี
 
การนับเวลาแบบจารีตได้ก่อให้เกิดการสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทหอกลองขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ตีบอกเวลาและสัญญาณต่างๆ ตามแบบจารีต เป็นงานสถาปัตยกรรมที่รับใช้การนับเวลาในแบบเดิมของสังคมสยาม หลักฐานเกี่ยวกับหอกลองที่เก่าที่สุดย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (แม้ว่าจะไม่ใช่หอสูงที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในสยามก็ตาม) ดังหลักฐานในภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงหอกลองสูง ๑๐ วา ขนาด ๔ ชั้น กลองใบใหญ่อยู่ชั้นล่างชื่อ “ย่ำพระสุรศรี” สำหรับตีเวลาพระอาทิตย์ตก เพื่อเป็นสัญญาณให้ปิดประตูพระนคร กลองใบชั้นกลางชื่อ “อัคคีพินาศ” ใช้สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อเป็นสัญญาณเรียกราษฎรให้มาช่วยดับไฟ ซึ่งมีกำหนดว่าถ้าไฟไหม้นอกพระนครจะตี ๓ ครั้ง แต่ถ้าไฟไหม้ในพระนครจะตีมากกว่านั้น และกลองใบยอดสุดชื่อ “พิฆาตไพรินทร์” ตีเมื่อมีข้าศึกมาประชิดพระนครเพื่อให้ทุกคนมาประจำตามหน้าที่ของตน
 
จะเห็นได้ว่า ชาวสยามใช้ "กลอง" ตีเพื่อเป็นสัญญาณบอกหรือแจ้งข่าวให้ผู้คนในเมืองได้รับรู้ โดยกลองในแต่ละชั้นจะมีเสียงที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของกลอง นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามีการนำกลอง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดเสียงดังมาใช้เพื่อปัดเป่าเคราะห์ร้ายตามความเชื่อไสยศาสตร์และโหราศาสตร์อีกด้วย
 
การนับเวลาแบบจารีตของสยามดำเนินไปอย่างเป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏหลักฐานว่าการนับเวลาแบบเดิมของสยามเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตก เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ล้าหลัง ไม่ละเอียดและเที่ยงตรงมากพอ ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระราชปรารภถึงความไม่เที่ยงของวิธีการนับเวลาแบบเดิม จนเป็นเหตุให้อับอายขายหน้าชาวต่างชาติ ดังความว่า
 
"...ฝ่ายพนักงานเมื่อจะบอกบาทนาฬิกาตามฤกษ์ยามที่โหรให้ในกาลใดๆ เมื่อฤดูต้องหนุนต้องล้มก็คะเนบอกบาทขาดๆ เกินๆ ผิดๆ ไปคงให้ได้ว่าความแต่ว่าโมงละ ๑๐ บาทอยู่นั้นเอง ดูการฟั่นเฟือนเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะนักน่าเป็นที่อัปยศอดสูแก่แขกเมืองคนนอกประเทศที่เขาใช้นาฬิกากล ใส่พกติดตัวเที่ยวมาเที่ยวไป เขาจะได้ยินทุ่มโมงที่ตีสั้นๆ ยาวๆ ผิดไปกว่าทุ่มโมงที่จริงนั้นจะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ ว่าเมืองเราใช้เครื่องมือนับทุ่มโมงเวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย..."
 
จากความข้างต้นเป็นหลักฐานสำคัญว่ารัชกาลที่ ๔ ได้ทรงตระหนักว่านับเวลาแบบจารีตไม่สามารถตอบสนองความต้องการยอมรับจากชาติตะวันตกของชนชั้นนำสยามได้อีกต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้พระองค์ทรงเคยกล่าวยกย่องภูมิปัญญาของคนโบราณเกี่ยวกับการนับกำหนดเวลาก็ตาม
 

 ภาพถ่ายเก่าหอกลอง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

และคำวิจารณ์จากชาวตะวันตกนี้เองที่ทำให้ชนชั้นนำสยามเริ่มตระหนักและเห็นความจำเป็นว่าต้องปรับระบบการนับเวลาให้เป็นแบบสากล เพื่อการยอมรับจากชาติตะวันตก ดังนั้น การที่รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ความสำคัญกับการบอกเวลาด้วย “นาฬิกา” จึงได้นำไปสู่การสร้างงานสถาปัตยกรรม “หอนาฬิกา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามโดยมีลักษณะเป็นหอสูงที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมประเภทหอกลอง
 
งานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาจึงเป็นหลักฐานอีกประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ของชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับเรื่องเวลา และสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความคิดเรื่องเวลาแบบจารีต และความคิดเรื่องเวลาเมื่อได้รับอิทธิพลตะวันตก
 
การนับเวลาแบบใหม่เมื่อได้รับอิทธิพลตะวันตก
ดังได้กล่าวในข้างต้นถึงความสำคัญของการนับเวลาแบบสากล อันเป็นระบบการนับเวลาแบบใหม่ที่เริ่มปฏิบัติใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังมีการออกประกาศเตือนสติเรื่องว่าด้วยทุ่มโมง และออกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม รวมทั้งการจัดตั้งกรมนาฬิกา ส่งช่างไปเรียนซ่อมนาฬิกาที่ต่างประเทศ สั่งซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศและมีการสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เพื่อรองรับการใช้งานตามระบบการนับเวลาแบบใหม่
 
กล่าวถึงการจัดตั้งกรมนาฬิกา หรือกรมแสงคุมนาฬิกาในพระบรมมหาราชวัง นับว่าเป็นครั้งแรกของสยามที่มีการจัดตั้งกรมนี้ขึ้น โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา และผู้ทำหน้าที่ในกรมนาฬิกาจะมีชื่อตำแหน่งว่า “พันทิวาทิตย์ และพันพินิตจันทรา” หรือเรียกว่า “ชาวพนักงานรักษานาฬิกา”
 
ในบันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้อธิบายถึงที่มาและหน้าที่ของกรมนาฬิกาไว้ว่า กรมนาฬิกาจะมีหน้าที่คอยเฝ้าและตั้งเวลาภายในหอนาฬิกา โดยหอนาฬิกามีลักษณะเป็นหอสูง ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลการสร้างหอนาฬิกามาจากอินเดีย วิธีการตั้งเวลาของกรมนาฬิกาเริ่มจากเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กรมนาฬิกาต้องลอยกะลาจนจมลงจึงไปตีฆ้องที่แขวนไว้บนชั้นของหอนาฬิกา ๑ ครั้ง และปักไม้ติ้วบนราว ทำเช่นนี้ไปจนครบ ๑๒ อัน
 
ซึ่งนอกจากจะมีพลังงานนาฬิกาคอยรักษาเวลาให้เที่ยงตรงและแม่นยำอยู่เสมอแล้ว ยังมีพระโหราจารย์คอยกำกับอยู่อีกด้วย อีกทั้งได้พบหลักฐานกล่าวถึงการนำนาฬิกากลมาใช้จับเวลากะลาลอยว่า
 
 
กะลาแบบขันทองเหลือง 
 
“...เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กเคยเข้าไปดูในโรงนาฬิกา ยังจำได้เป็นเค้าว่าอ่างน้ำสำหรับลอยกะลายังอยู่ แต่ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งดูเวลา ถึงกระนั้นยังมีไม้คะแนนทำด้วยไม้ไผ่เหลาขนาดไม้ตีกลองของเจ๊กผูกเชือกล่ามติดกันดูเหมือน ๑๒ อัน ถึงเวลาชั่วโมง ๑ ก็เอาไม้คะแนนขึ้นปักราวไว้เป็นสำคัญอัน ๑ เรียงกันไป คงถอนออกเมื่อย่ำรุ่งครั้ง ๑ ย่ำค่ำครั้ง ๑ หม่อมฉันนึกว่าที่โรงนาฬิกาหลวงเห็นจะใช้กะลาลอยมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ เพิ่งเอานาฬิกาฝรั่งไปตั้งต่อเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมได้ทรงประดิษฐ์เครื่องหมายเวลาขึ้นอย่าง ๑ เป็นแผ่นกระดานขนาดสักเท่ากระดานเครื่องเล่นน้ำเต้ากุ้งปูปลา เขียนนาฬิกาติดทั้งเข็มยาวและเข็มสั้นเรียงไว้เป็น ๒ แถว หลายๆ วันเห็นเอาไปถวายทรงตั้งเข็มนาฬิกาในแผ่นกระดานนั้นครั้ง ๑ ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะให้ตีระฆังตรงกับเวลาโคจรพระอาทิตย์ แต่ยังเด็กนักไม่เข้าใจได้แน่”
 
แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ระบบนับเวลาทั้งแบบสากลควบคู่กับระบบการนับเวลาของสยามแบบจารีตปนอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า หากมีการใช้นาฬิกากลเป็นระบบนับเวลาแล้ว เหตุใดจึงต้องมีการใช้ระบบการนับเวลาแบบจารีตรวมอยู่ด้วย การใช้ระบบทั้งสองปนกันเช่นนี้ขัดแย้งกับเนื้อหาใน บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ที่ได้ทรงบันทึกไว้ว่า “...แต่เมื่อเกิดนาฬิกากลอย่างฝรั่งจึงเลิกลอยกะลา และใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งแทน รวมทั้งเลิกตีกลองในเวลากลางคืน...” ทั้งนี้เพราะยังคงมีการนำวิธีการนับเวลาแบบจารีตมาใช้นับเวลาอยู่ แม้ว่าจะเริ่มใช้ระบบการนับเวลาแบบสากลแล้วก็ตาม
 
ดังนั้นการเข้ามาของนาฬิกากลจึงไม่ได้แทนที่ระบบการจับเวลาแบบจารีตของสยาม แม้จะมีการมช้นาฬิกากลแล้ว การลอยกะลาแบบเดิมยังคงอยู่ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงยังใช้วิธีลอยกะลาอยู่ การจะเข้าใจการดำรงอยู่ของวิธีการนับเวลาแบบเดิม จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติม ดังปรากฏหลักฐาน “การคำนวณนาฬิกากลเทียบกับการนับเวลาแบบจารีต” หากเทียบเวลาแล้วไม่เท่ากัน ก็จงอย่าตำหนิว่านาฬิกากลนั้นไม่เที่ยงตรงเท่ากับการนับเวลาแบบเดิม และอย่าไกวหรือหยุดลูกตุ้มเพื่อให้เวลาตรงกัน แต่ถ้านาฬิกาแดดถึงเที่ยงวันแล้วแต่นาฬิกากลเดินช้ากว่า ให้ผ่อนผันไกวลูกตุ้มให้เท่ากันแล้วเทียบเวลากันไปทุกวัน” และการทำนายเหตุการณ์สุริยุปราคา ซึ่งทรงทำนายทั้งในรูปแบบการนับเวลาแบบจารีต และยึดตามเวลานาฬิกากลของชาวนาฬิกา
 
จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ ๔ ยังไม่อาจละทิ้งวิธีการนับเวลาแบบจารีตไปได้ ยังคงใช้รูปแบบการนับเวลาทั้งแบบจารีตและแบบสากลผสมปนเปกันอยู่ในช่วงแรก ก่อนจะเลิกวิธีนับแบบจารีตโดยใช้กะลาไปหรืออาจตีความได้ในอีกแง่หนึ่งว่า พระองค์ทรงต้องการพิสูจน์ว่านาฬิกากลมีความเที่ยงตรงจริง สามารถเชื่อถือได้ จึงต้องนำนาฬิกากลมาสอบเทียบกับการนับเวลาระบบจารีต เพื่อให้ชาวสยามยอมรับการนับเวลาด้วยระบบสากลสอดคล้องกับลายพระหัตถ์เรื่องนาฬิกา ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ พระวรงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ได้กล่าวถึงกลอนในมูลบทบรรพกิจ ว่า “แบ่งเวลาไม่ตรงกันกับนาฬิกากล แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อว่า ไม่ว่าเครื่องวัดอะไรก็ตาม ย่อมไม่มีเที่ยงตรงทั้งนั้น แม้กระทั่งนาฬิกากลเองก็ตาม ไม่เที่ยงตรงเช่นกัน แต่ก็ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้” จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความจำเป็นต้องใช้ระบบเวลาแบบสากล แต่ชนชั้นนำสยามเองไม่ได้เชื่อถือและยอมรับในความแม่นยำของนาฬิกากลไปทั้งหมด
 
การดำรงอยู่ของความคิดทั้งระบบ “ใหม่” และระบบ “เก่า” เช่นนี้ จะยิ่งปราฏชัดขึ้น เมื่อเราพิจารณาสถาปัตยกรรม “บอกเวลา” ยุคแรกของสยาม ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้
 
งานสถาปัตยกรรมหอนาฬิกา
 
หอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนย
พระที่นั่งภูวดลทัศไนย เป็นหนึ่งในพระที่นั่งของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วยอาคารจำนวน ๑๑ หลัง เป็นพระที่นั่ง ๘ องค์ และหอต่างๆ ๓ หอ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่เป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่มีส่วนตกแต่งบางประการเป็นแบบไทยและจีน ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโอภาศ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร หอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาศ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ และพระที่นั่งภูวดลทัศไนย
 

ภาพถ่ายเก่าแสดงหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนย
ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ตั้งในพระบรมมหาราชวัง
 
 
หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นแม่กอง ส่วนพระยาเพชรพิไชยและพระยาสามภพพ่าย เป็นนายงาม แต่ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติถึงแก่พิราลัย รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นแม่กองแทน และมีกรมขุนราชสีหวิกรม เจ้ากรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ออกแบบและนายช่างหลักฐานระบุว่าหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ สร้างอยู่ ๕ ปี จึงได้เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๐
 
มูลเหตุที่พระองค์ทรงสร้างหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นนั้น เพื่อเป็นพระเกียรติยศแก่แผ่นดินสยาม และเพื่อต้องการให้มีการสร้างงานสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกสำหรับเก็บเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นที่อับอายแก่ชาติตะวันตก
 
กล่าวถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมของหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนย เป็นหอสูง ๕ ชั้น ในรูปผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปคล้ายหอกลอง ยอดบนสุดของหอติดตั้งนาฬิกาทั้ง ๔ ด้าน เป็นงานก่ออิฐถือปูน สามารถเดินเข้าไปภายในของหอได้ ส่วนวิธีการก่อสร้างหอแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับการสร้างหอกลองในอดีต ต่างกันเพียงแค่อุปกรณ์ที่ใช้บอกเวลาเท่านั้น
 
ว่าด้วยความสูงของหอนาฬิกาแห่งนี้ นับเป็นอาคารสูงที่โดดเด่นมากในระดับเดียวกันกับศาสนสถานที่มีขนาดสูงๆ หลายแห่งในประเทศ และการที่ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง จึงเรียกได้ว่าเป็นจุดหมายตา (Landmark) ที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น เช่นเดียวกันกับเมื่อแรกสร้างหอกลอง เนื่องด้วยเมืองยังไม่ขยายตัวมากนัก การสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ มักสร้างขึ้นใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเปรียบเสมือนใจกลางพระนคร เมื่อมีการแจ้งข่าวหรือบอกเวลา จะทำให้ราษฎรสามารถรับรู้ได้โดยทั่วถึงกัน
 
จากมูลเหตุในการสร้างข้างต้น จึงแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงต้องการการรักษาภาพพจน์ของกษัตริย์ผู้ศิวิไลซ์จึงต้องทรงเร่งสร้างให้มีอาคารรูปแบบตะวันตกเกิดขึ้นในสยาม หอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนย์จึงเปรียบเสมือนหนึ่งในตัวแทนแห่ง “ความทันสมัย” และ “เป็นหน้าเป็นตา” ให้แก่ทั้งสังคมสยามและตัวพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ไม่ทรงต้องการเป็นตัวตลกที่น่าขบขัน หรือเป็นที่ดูถูกให้ขายหน้าแก่ชาติตะวันตก จึงเป็นแรงผลักดันให้พระองค์ทรงสร้างอาคารรูปแบบตะวันตกขึ้นให้สำเร็จ อีกทั้งยังมีการกล่าวว่าการที่พระองค์ทรงสร้างหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนยนั้น เพื่อจะให้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐาน ณ จุดที่เส้นแวง ๑๐๐ องศาตะวันออก โดยพระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มการสถาปนาเวลามาตรฐาน โดยเริ่มจากทรงตรวจวัดความสูงของดวงอาทิตย์และทรงคำนวณทางดาราศาสตร์ทุกวัน และกำหนดเส้นแวงให้ผ่านจุดหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเป็นเส้น ๑๐๐ องศาตะวันออก
 
ในแง่นี้ “หอนาฬิกา” อย่างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยจึงเปรียบเทียบสัญลักษณ์แทน “ความศิวิไลซ์ หรือ ความทันสมัย” ในแบบสยาม ในรูปแบบของหอสูงบอกเวลา แม้ว่าลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหอนาฬิกาแห่งนี้อาจไม่ได้มีส่วนถูกต้องทุกประการเหมือนกับหอสูงรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการสร้างขึ้นหรือลอกเลียนแบบเพียงแค่เปลือกนอกของหอสูงรูปแบบตะวันตก โดยช่างอาจจิตนาการจากรูปถ่ายที่เห็น แต่วิธีการก่อสร้างนั้นยังคงเป็นรูปแบบท้องถิ่นของสยามเอง
 

ภาพสเก๊ตซ์หอนาฬิกาที่ทิมดาบ 
วาดโดย M.Catcnacci
จากภาพสเก๊ตซ์ของ M. Mouhout

โดยส่วนมากแล้วงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มักใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตขึ้นเองในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ไม้ อิฐ ปูน และกระเบื้อง  แม้จะมีการสั่งวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ เช่น สั่งกระเบื้องเคลือบต่างๆ ที่ใช้มุงหลังคาหรือลูกกรงประดับอาคารจากจีน หรือสั่งเครื่องประดับตกแต่ง เช่น เหล็กหล่อสำหรับกรุช่องระเบียง หินอ่อน กระจก หรือโคมไฟมาจากยุโรป เป็นต้น  แต่ในส่วนการก่อสร้างนั้น ยังคงใช้วิธีการแบบท้องถิ่นอาคารที่เป็นตึกยุคแรกของสยาม มักสร้างโครงสร้างไม้ขึ้นก่อน จากนั้นจึงก่อล้อมด้วยอิฐให้เป็นเสาหรือกำแพง แล้วจึงมีการฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการก่อสร้างในลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาในรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารรูปแบบตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนภายในหรือการก่อสร้างยังคงเป็นแบบจารีตที่ประดับหอนาฬิกาอยู่ เช่นเดียวกับ “นาฬิกา” ที่ไม่สามารถหมุนได้ตามระบบกลไก อีกทั้งมักเดินผิดไปอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีพนักงานกรมแสงนาฬิกา เพื่อคอยตั้งเข็มให้เที่ยงตรงอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่า การที่ต้องมีพนักงานนาฬิกาอยู่ที่หอนาฬิกากลแห่งนี้ ก็เพื่อคอยแก้ไขความผิดพลาดของนาฬิกากลนั่นเอง
 
หอนาฬิกาที่ทิมดาบ
หอมีขนาดสูง ๑๐ วา มีนาฬิกาทั้ง ๔ ด้าน ตัวเรือนนาฬิกาทำเป็นซุ้มคล้ายกับพระที่นั่งภูวดลทัศไนย มีชานมีลูกกรงไม้ทาสีดำหลังคาตัด มีเพ็จ มีลูกกรงบนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ที่พื้นชานและหลังคาปูแผ่นตะกั่ว มีบันไดขึ้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ตำรวจจะขึ้นไปดูเพลิงบนนั้น โดยนาฬิกาที่นำมาติดตั้งบนหอนี้เป็นนาฬิกาลำดับที่ ๙ ที่พบในสยาม และได้ถูกสั่งนำเข้ามา ๒ เรือน โดยมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้สั่งเข้ามา ๑ เรือน แต่ท้ายที่สุดนาฬิกาเรือนนี้กลับใช้การไม่ได้ เพราะเจ้าพนักงานทำที่ตีจักรหาย จึงต้องการให้รื้อหอนาฬิกาแห่งนี้ลง เนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ตามความตั้งใจหรือแม้แต่จะใช้ประดับตกแต่งพระบรมมหาราชวังได้ แต่ทั้งนี้ไม่พบหลักฐานว่าหอนาฬิกาแห่งนี้ได้สร้างหรือถูกรื้อลงเมื่อปีใด
 
กล่าวได้ว่าแม้หอนาฬิกาแห่งนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนย โดยเฉพาะตัวซุ้มเรือนนาฬิกา ต่างเพียงช่องแสงขนาดเล็กที่เจาะรูสำหรับระบายอากาศและให้แสงเข้ามาถ่ายเทยังภายในอาคารได้ รวมทั้งมีนายช่างไทยอย่าง กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงเป็นผู้ออกแบบเหมือนกัน แต่ได้ปรากฏความผิดพลาดในประการเดียวกันที่นาฬิกากลไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตาม หอนาฬิกาที่ทิมดาบแห่งนี้กลับถูกใช้งานตามประโยชน์หรือหน้าที่แบบเดิมของหอในการใช้สำหรับเป็นหอสังเกตการณ์ เพื่อเฝ้าระวังความเรียบร้อยภายในพระนครได้ดีกว่า เช่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถขึ้นมาบนหอนาฬิกาแห่งนี้ได้ ต่างไปจากหอนาฬิกาพระที่นั่งภูวดลทัศไนยที่น่าจะคัดและจำกัดผู้ที่สามารถขึ้นไปหอนาฬิกา
 
หอนาฬิกาศาลสถิตยุติธรรม
ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลสถิตยุติธรรม เพราะมีพระราชประสงค์ฉลองพระนครที่ครบรอบ ๑๐๐ ปี และต้องการรวบรวมศาลต่างๆ ในพระนคร และเก็บรวบรวมพระราชกำหนด กฎหมายไว้ที่เดียวกัน เพื่อมิให้ต่างชาติมาอ้างผลประโยชน์ในข้อนี้ได้ รวมทั้งเพื่อให้ง่ายต่อการสอบสวนของศาลเองอีกด้วย
 
การก่อสร้างศาลสถิตยุติธรรม รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง โจอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง และมีพระยานรรัตน์ราชมานิต (โต นิตยกุล) เป็นกงสี โดยมีบันทึกกล่าวถึงขนาดของศาลสถิตยุติธรรมความว่า
 
“...มีแผนที่กว้างยาวสูงต่ำดังนี้ ตึกหลังใหญ่พื้นสองชั้น โดยสูงตั้งแต่ดินขึ้นไปหกว่าคืบ ตั้งแต่ถานหอนาฬิกาสูงพ้นจากตึกหลังใหญ่ขึ้นไปถึงยอดซุ้มนาฬิกาสิบเจ็ดวาสามศอกคืบ ตึกหลังใหญ่ยาวสามสิบห้าวาสามศอกคืบ กว้างในที่กลางขาดหลังผนังสิบสองวาศอก ตึกแถวซ้ายสูงสามวา ขวาสูงสามวา ยาวด้านละเจ็ดวาสองศอกคืบกว้างห้าวาสองศอก รวเปนเขตรศาลโดยยาวห้าสิบหกวา โดยกว้างสิบสองวา...”
 
ภาพถ่ายเก่าศาลสถิตยุติธรรมที่มีหอนาฬิกาตั้งอยู่บนอาคาร 

ศาลสถิตยุติธรรมมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ๒ ชั้น ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เน้นมุขกลางที่มีหลังคาจั่วแบบวิหารกรีก รองรับด้วยเสาลอยตัวแบบคอรินเธียน ๖ ต้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปลายตึกทั้ง ๒ ข้าง มีระเบียงสั้นๆ ต่อออกไปจรดอาคารเล็กๆ ทรงลูกบาศก์คล้ายป้อม โครงสร้างอาคารเป็นแบบกำแพงรับน้ำหนัก ผนังชั้นบนเป็นช่องเปิดแบบโครงสร้างคานโค้งต่อเนื่อง ชั้นล่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมธรรมดา ยกเว้นมุขหน้าเป็นโครงสร้างคานโค้งทั้ง ๒ ชั้น เดิมหลังคาเป็นหลังคาแบนขอบหลังคาเป็นพนักโปร่ง ประดับลูกกรงแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค ตรงกลางอาคารสร้างหอนาฬิกาสูง ซึ่งนับว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่งในยุคนั้น แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หอนาฬิกาที่ศาลสถิตยุติธรรมเกิดแตกร้าวทำให้อาคารส่วนอื่นๆ ทรุดไปด้วย รวมทั้งหลังคาแบนก็ได้รับความเสียหาย ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นหลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องแทน
 
อาคารแห่งนี้เป็นอาคารหลังแรกที่มีการสร้างหอสูงไว้ด้านบนของอาคาร สันนิษฐานได้ว่าอาจเพราะเป็นอาคารราชการที่สำคัญ เนื่องจากศาลเป็นสถานที่ว่าความ ซึ่งจะมีทั้งชาวสยามและชาวต่างชาติเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้เพื่อติดต่อราชการ จึงจำเป็นต้องมี “นาฬิกา” มาติดตั้งไว้บนส่วนด้านหน้าของอาคาร เพื่อบอก “เวลา” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการติดต่อราชการ แม้จะมีนาฬิกาเรือนใหญ่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารแล้วก็ตาม แต่ด้านบนสุดของหอนาฬิกาแห่งนี้ ได้ปรากฏ “กลอง” มาติดตั้งไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำสยามยังคงใช้ระบบการนับเวลาแบบจารีตผสมไปกับระบบการนับเวลาแบบสากลเช่นเดียวกับในสมัยที่ผ่านมา
 
อาคารหลังนี้ถูกออกแบบโดย โจอาคิม แกรซี (Joachin Grassi) แม้การสร้างหอสูงจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสถาปนิกผู้นี้ก็ตาม แต่การสร้างหอสูงบนอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกย่อมเป็นงานที่ท้าทาย แต่อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาแห่งนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการก่อสร้างที่ต่างไปจากหอนาฬิกาหลังก่อนหน้าเสียเท่าไร กลับเป็นการชี้ย้ำให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างแบบท้องถิ่น ที่สุดท้ายแล้วกลับประสบความล้มเหลว จนต้องรื้อถอนออกไปในที่สุด
 
หอนาฬิกาไปรษณียาคาร
ไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองอางอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ เดิมเป็นบ้านของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ถูกริบเข้าหลวงเนื่องจากพระปรีชากลการก่อคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงระหว่างที่รับตำแหน่งเจ้าเมืองปราจีนบุรี และทำบ่อทองที่กบินทร์บุรี ซึ่งเป็นข้อหากบฏในสมัยนั้น บุคคลผู้นี้เป็นบุตรเขยของ มิสเตอร์โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย โดยสมรสกับธิดาของท่านชื่อว่า แฟนนี่ น็อกซ์ ที่เกิดกับภรรยาชาวไทยชื่อว่า ปราง เมื่อพระปรีชากลการถูกลงโทษ มิสเตอร์น็อกซ์จึงหาเรื่องเพื่อจะช่วยพระปรีชากลการ แต่ในที่สุดไม่สามารถช่วยเหลือได้ พระปรีชากลการจึงถูกประหารชีวิต ส่วนมิสเตอร์น็อกซ์ และแฟนนี่ น็อกซ์ ต้องย้ายกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ
 

ภาพถ่ายเก่าไปรษณียาคาร บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
 
 
ในปีพ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อความนิยมและความต้องการติดต่อส่งข่าวสารถึงกันทั้งในหมู่เจ้านายและประชาชนมีมากขึ้น เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ขอให้ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นสยาม รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหมื่นภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นตามแบบอย่างสากล โดยมี นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ชาวอังกฤษ ที่เข้ามารับราชการในสยามเป็นผู้คอยช่วยเหลือ
 
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้บ้านของพระยาปรีชากลการเป็นที่ทำการกรมไปรษณีย์ หลังจากจัดตั้งกิจการไปรษณีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยปรับปรุงอาคารให้มีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่ทำการไปรษณีย์ มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้กำกับดูแล และได้ฤกษ์เปิดทำการเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ อาคารหลังนี้ถูกรื้อออกไปเพื่อก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า และได้ถูกสร้างเลียนแบบอาคารหลังเดิมขึ้นใหม่อีกครั้ง ณ บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งเดิม
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ โปรดให้ นายสเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) ช่างฝรั่งเศสชาวอิตาเลียน เป็นผู้ออกแบบและรับเหมาปรับปรุงอาคาร รวมถึงการก่อสร้างชั้น ๓ และหอนาฬิกาด้านหน้าอาคารเพิ่มเติม
 
ในส่วนของการก่อสร้างอาคารกลับพบว่า แม้ภายนอกของอาคารจะเป็น “ฝรั่ง” แต่จากหลักฐานชั้นต้นแสดงให้เห็นถึงระบบการก่อสร้างแบบโบราณของช่างสยามที่ยังเป็น “งานก่ออิฐถือปูน ทำฐานรากด้วยการถมอิฐ, ไม้วัวและไม้สะพาน รวมถึงมีส่วนผสมในการก่อสร้าง อย่างอิฐ, ปูนหอย, ทราย, ปูนหิน และน้ำอ้อย”
 
สำหรับนาฬิกาที่จะนำมาติดตั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้สั่งนาฬิกาขนาดใหญ่จำนวน ๑ เรือน เพราะเห็นว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขมีความจำเป็นต้องใช้นาฬิกาเพื่อสำหรับดูเวลา แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้งดการติดตั้งนาฬิกาเอาไว้ก่อนด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัดนัก แต่ในภายหลังจึงได้ปรากฏหลักฐานว่าไปรษณียาคารยังใช้ระบบการนับเวลาแบบจารีตผสมกับระบบแบบสากลหรือไม่ก็ตาม
 
จากหลักฐานชั้นต้นที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างไปรษณียาคารยังคงมีระบบการก่อสร้างแบบโบราณของช่างสยาม แม้จะมีช่างฝรั่งเป็นผู้ออกแบบ จึงเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ชนชั้นนำสยามเลือกช่างฝรั่งมาออกแบบน่าจะเป็นเพียงความต้องการรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หรือหน้าตาอาคารแบบตะวันตกมากกว่า
 
จากการศึกษาและวิเคราะห์ผ่านหลักฐานที่ปรากฏ จากกรณีศึกษา “หอนาฬิกา” ทั้ง ๔ แห่ง แม้จะยังไม่อาจสรุปเป็นที่แน่นอนได้ว่า เพราะเหตุใดจึงต้องใช้การนับเวลาทั้งระบบจารีตและระบบสากลควบคู่กันไปในช่วงแรก แต่ได้ก่อให้เกิดการสร้างงานสถาปัตยกรรม “หอนาฬิกา” แบบตะวันตก หรือทำให้เกิดการยอมรับจากชาวตะวันตก และเพื่อสร้างภาพลักษณ์แบบทันสมัยขึ้นครอบครองเองของบรรดาชนชั้นนำสยาม ซึ่ง “หอนาฬิกา” มีหน้าที่แสดงออกถึงความศิวิไลซ์พอๆ กัน กับการทำหน้าที่บอกเวลาและกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ดังกล่าว กระทำด้วยกระบวนการช่างแบบสยามจารีต การสร้างหอนาฬิกาตามความเข้าใจของช่างสยาม จึงเป็น “ตะวันตก” เพียงรูปแบบภายนอกเท่านั้น แต่ในการก่อสร้างยังคงใช้ระบบโครงสร้างแบบเดิม ลักษณะเฉพาะของหอนาฬิกายุคแรกของสยามดังที่ปรากฏนี้ คือความคลุมเครือที่ภายนอกดูเป็น “ฝรั่ง” แต่เนื้อหายังเป็นไปในแบบ “ท้องถิ่น” ไม่ว่าจะพิจารณาในระบบการนับเวลา หรืองานก่อสร้างก็ตาม
กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ความศิวิไลซ์ผ่านงานสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกประเภทหอสูง คือการแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่าสยามเองมีความเจริญเช่นเดียวกับชาติตะวันตกโดยการสร้างหอสูง เพราะสามารถตอบสนองต่อบทบาทและหน้าที่การใช้งานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมแบบใหม่ในสังคมสยามได้เป็นอย่างดี อีกทั้งหอสูงยังเป็นสิ่งรองรับแนวคิดและความเชื่อของชนชั้นนำสยามที่มีต่อองค์ความรู้แบบจารีตและองค์ความรู้แบบตะวันตก
 
จึงกล่าวได้ว่าหอสูงยุคแรกในสยามเป็นหนึ่งในผลผลิตจากการรับอิทธิพลและวัฒนธรรมตะวันตกของชนชั้นนำสยามที่เลือกรับหรือหยิบยืมวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ แล้วจึงนำมาประยุกต์ให้เป็นไปในรูปแบบของสยาม.
 
ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๕๐-๑๖๗