บางกอก มาจาก บางมะกอก

  • Print
สุจิตต์ วงษ์เทศ....
 
บางกอก กร่อนจากชื่อ บางมะกอก อยู่บริเวณหน้าวัดอรุณฯ ผมเขียนอธิบายพร้อมแผนที่ไว้ในหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548) มีความดังต่อไปนี้ 
 
ก่อนขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเดิมเป็นพื้นที่เรือกสวนลุ่มต่ำมีทางน้ำธรรมชาติสายเล็กๆ ที่ชักน้ำจากด้านเหนือลงทางด้านใต้อยู่บ้าง แต่ยังไม่เชื่อมกัน
 
การขุดคลองลัดตรงนี้ทำได้เพียงใช้แรงงานคนกับความชักลากโคลนตมให้เป็นทางน้ำเชื่อมกันกับขยายทางน้ำให้กว้างขึ้นและตรงขึ้นเท่านั้น
 
เมื่อมีทางน้ำกว้างกว่าเดิมและตรงกว่าเดิม กระแสน้ำก็ปรับเปลี่ยนทางเดินโดยทะลักไหลไปทางตรงมากกว่า นานเข้าตลิ่งทั้งสองข้างก็ผุพังลงตามกระแสน้ำที่ซัดและกัดกร่อนนั้นจนกลายเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่แทนสายเก่าที่เล็กลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย–คลองบางกอกใหญ่
 
ทางด้านใต้ของแม่น้ำสายเก่า บริเวณที่มีลำน้ำเชื่อมต่อไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ จ.สมุทรสาคร (ลำน้ำนี้ปัจจุบันเรียกคลองด่านตลาดพลู) เป็นย่านจอดเรือพักแรมมาก่อน จึงมีชุมชนตั้งเรียงรายตามปากคลองสายเล็กๆ เรียก “บาง” แต่ไม่พบหลักฐานว่าชื่อบางอะไรบ้าง (คำว่า “บาง” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าหมายถึง ย่านหรือบริเวณมีคลองที่เข้าไปตัน) 
 
จนเมื่อขุดคลองลัดแล้ว ชุมชนคลองลัดแล้ว ชุมชนเก่าเหล่านี้ขยับขยายไปตั้งอยู่บริเวณใหม่ ตรงปลายคลองลัด แล้วมีชื่อภายหลังต่อมาอีกนานว่า บางกอก
 
 
แผนที่แสดงบริเวณบางกอกก่อนขุดคลองลัด
 
 
แผนที่แสดงแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองบางกอกหลังขุดคลองลัด
 
อาจเป็นชื่อเก่าก่อนขุดคลองลัดที่มีคลองสาขาเล็กๆ เรียก คลองมะกอก เพราะมีต้นมะกอก (น้ำ) ขึ้นอยู่มากที่นั่นเลยเรียกบริเวณปากคลองเชื่อมแม่น้ำสายเก่าว่า บางมะกอก แล้วมีวัดของชุนเล็กๆ ชื่อ วัดมะกอก (ต่อไปข้างหน้าจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง-วัดอรุณฯ) 
 
นานเข้าเสียงพูดกร่อนเหลือบางกอกเท่านั้น (แต่บางแห่งชื่อซ้ำกันแล้วเพี้ยนเป็น บางปะกอก เช่น มีเหลืออยู่กับชื่อวัดบางปะกอกที่เขตราษฎร์บูรณะ ทุกวันนี้)
 
คลองลัดขุดใหม่นานไปก็ขยายกว้างออกเองตามธรรมชาติ เพราะมีกระแสน้ำไหลลัดตรงอย่างหลากและแรงทุกปี จึงเป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยระหว่างอ่าวไทยกับกรุงศรีอยุธยาราชธานียุคแรกๆ
 
บริเวณ บางกอก เลยมีความสำคัญนั้น เพราะเป็นจุดพักเรือของนานาประเทศทั้งปวง ทำให้มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ามากขึ้นจนเติบโตเป็น ชุมชนเมือง เรียกกันทั่วไปตั้งแต่ครั้งนั้นสืบมาว่า เมืองบางกอก
 
ทุกวันนี้คนไทยเรียกกรุงเทพฯ แต่ชาวตะวันตกยังเรียกชื่อเดิมว่า Bangkok
 
                                                         ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน หน้า 20