การเดินทางจากเมืองตะนาวศรีสู่อาณาจักรสยาม

  • Print

                    เขียนโดย บาทหลวง ฌอง เดอ บูรช์ (Jean de Bourges)

วันที่ ๓๐ มิถุนายน เราเริ่มเดินทางสู่เมืองหลวงของอาณาจักรสยาม ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ยุธยา (Ioudia) และเราเรียกว่า สยาม เราล่องเรืออยู่ในแม่น้ำพร้อมเรือเล็กมุงใบปาล์ม ๓ ลำ แต่ละลำมีลูกเรือประจำ ๓ คน เรือทั้งสามลำสร้างอย่างง่ายๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียวโดยใช้ไฟเจาะให้เป็นลำเรือยาวประมาณ ๒๐ ฟุต ในฝรั่งเศสไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆ จึงยากที่จะเลียนแบบได้ เรือประเภทนี้ให้ความสะดวกในแง่ที่ไม่เสียเงินมากในการสร้าง ลำหนึ่งราคาประเมิน ๑๒ เอกูเท่านั้น เนื่องจากทำจากต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว จึงเหมาะสำหรับล่องในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวและมีเกาะแก่งมาก ถ้าเรือถูกสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบหลายชิ้น และต้องฝ่าอันตรายจากการกระแทกกระทั้น ที่รุนแรงก็อาจทำให้เรือล่มได้ในเวลารวดเร็ว ในการเดินทางต้องเตรียมเสบียงและเครื่องใช้สอยไว้ภายในเรือด้วย เพราะ ริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองด้านเป็นป่าเต็มไปด้วย สิงโต หมูป่า เสือ และสัตว์ดุร้ายอื่นๆ โดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นอันตรายเกินไปที่จะจอดค้างแรมบนบก เราแล่นเรือทวนแม่น้ำด้วยความยากลำบาก เพราะน้ำในแม่น้ำและแก่งต่างๆ ไหลเชี่ยวมาก บางครั้งบรรดาลูกเรือต้องลงแช่น้ำเพื่อดึงเรือขึ้นด้วยกำลังแขน กลุ่มหนึ่งใช้เชือกดึง กลุ่มหนึ่งใช้ไม้ยาวค้ำดัน และอีกกลุ่มหนึ่งใช้ไหล่แบกเรือ ซึ่งก็ยากที่จะเอาชนะความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลผ่านโขดหิน และไหลเร็วราวทำนบน้ำกังหันลมของเราได้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เรือซึ่งนำพระสังฆราชแห่งเบริธ และบาทหลวงในปกครององค์หนึ่งของท่าน อีกทั้งหีบบรรจุสัมภาระสำคัญในการเดินทางต้องอัปปางลง บรรดาลูกเรือที่ไม่สามารถต่อสู้กับความรุนแรงของกระแสน้ำได้ จึงปล่อยเรือให้แล่นไปตามกระแสคลื่น ในที่สุดเรือก็ชนกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่ถูกโค่นอยู่กลางสายน้ำ และอัปปางลง พระเป็นเจ้าทรงช่วยให้พระสังฆราชแห่งเบริธรอดชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยพบตัวท่านเองนั่งอยู่บนต้นไม้นั้น และเห็นเรือรวมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายในเรือชำรุดเสียหาย อย่างไรก็ตามเนื่องจากต้นไม้นั้นใหญ่ และมีกิ่งก้านจมอยู่ใต้กระแสน้ำ หีบส่วนใหญ่จึงไม่จมน้ำและเราก็สามารถดึงเอาหีบที่ดีที่สุดออกมาได้ โดยมากเป็นหีบใบเล็กที่บรรจุเอกสารสำคัญไว้ ท่านสังฆราชและบาทหลวงในปกครองของท่าน ติดอยู่บนโคนต้นไม้ที่ถูกพายุกระหน่ำอยู่เกือบตลอดเวลา แต่พระเป็นเจ้าก็ทรงประทานความช่วยเหลืออีกโดยทรงทำสัญญาณให้ลูกเรือมาช่วยเหลือและนำเรือแล่นจากต้นน้ำลงสู่เมือง ( I anga ) ซึ่งอยู่ไกลออกไปเพียง ๓ ลิเยอ เรืออัปปางในครั้งนี้ พิสูจน์ได้อย่างดีว่าพระเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองเรา เพราะถ้าพระสังฆราชแห่งเบริธไม่บังเอิญไปปะทะกับต้นไม้ พระสังฆราชก็อาจเสียชีวิตโดยไม่มีหนทางแก้ไขได้  เพราะท่านว่ายน้ำไม่เป็น ในบรรดาสิ่งที่เราหาไม่พบมีใบเบิกทางของเรารวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้บาทหลวงที่ติดตามพระสังฆราชแห่งเบริธจึงต้องเดินทางย้อนกลับไปที่เมืองตะนาวศรี เพื่อขอใบเบิกทางใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดเราทั้งหมดก็มาถึงหมู่บ้านกลางหุบเขาเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์และสะดวกสบายแห่งหนึ่งคือหมู่บ้าน I alinga เราเช่ากระท่อมหลังหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่มุงใบไม้พอคุ้มฝนที่ตกลงมาอย่างไม่หยุดหย่อน เราพอมีเวลาสำหรับซ่อมแซมเรือที่ชำรุด ของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บไว้เสียหายหมด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราสรุปบทเรียนได้ว่า ต้องบรรจุสิ่งของทุกอย่างที่ต้องการเอาไปในหีบแข็งแรงและปิดแน่นกันน้ำได้ ส่วนเอกสารทุกชิ้นใส่ไว้ในกล่อง ทำด้วยสำริดเพราะยากที่จะจมน้ำ ระหว่างทางที่มักถูกน้ำท่วมหรือเมื่อมีกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่าน

ขณะนั้นพระสังฆราชแห่งเบริธ ต้องการขจัดความบาดหมางระหว่างล่ามผู้ถือกฎบัตรของเรา กับผู้ถือกฎบัตรอื่นๆ ของประเทศซึ่งมักสำมะเลเทเมาให้หมดสิ้นไป ท่านสังฆราชถูกคนขี้เมาคนหนึ่งตีด้วยไม้พลองถึง ๓ ครั้ง และช่วงเวลานี้เอง ท่านได้เริ่มตระหนักถึงความเป็นมิชชันนารี โดยท่านมีความสามารถสู้ทนกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของผู้อุทิศตนเพื่อศาสนาได้

เราออกเดินทางจากหมู่บ้าน I alinga วันที่ ๒๗ กรกฎาคม และ ๓ วันต่อมาเราก็มาถึงหมู่บ้านแม่น้ำ ที่นี่เราต้องแสดงใบเบิกทางที่นำติดตัวมาจากเมืองตะนาวศรี เช่นที่เคยแสดงให้ผู้ปกครองหมู่บ้านดู เนื่องจากเราไม่ใช่พ่อค้าจึงไม่ได้ให้อะไรแก่พวกเขาเลย เราต้องประสบอุปสรรคอีกคำรบหนึ่งในการเดินทางบกครั้งนี้ และยิ่งน่าเบื่อหน่ายกว่าที่เราเคยประสบในการเดินทางเรือเสียอีก

เราต้องเดินเท้าเกือบตลอดเวลา เกวียนที่หามาได้ก็อยู่ในลักษณะที่จะทำให้นักเดินทางได้รับความทรมานมากว่าจะรับใช้ให้สะดวกสบายขึ้น มันมีลักษณะคล้ายหีบศพมากกว่าเป็นเกวียนเพราะมีส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๓ ฟุต และส่วนที่แคบที่สุดเล็กกว่ามาก เราต้องนั่งชิดติดกันอยู่ภายในเกวียนที่วางอยู่บนเพลาและล้อใหญ่ ๒ ล้อ มักจะพลิกคว่ำอยู่เสมอเมื่อต้องเคลื่อนไปบนทางที่ขรุขระ เกวียนจึงไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงหมุนของวงล้ออีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับความราบเรียบหรือความขรุขระของถนนหนทาง ด้วยเหตุนี้เราจึงชอบเดินเท้าผ่านโคลนตมและสายน้ำมากกว่า ส่วนเกวียนถูกใช้เป็นที่พักแรมในเวลากลางคืนเท่านั้น เนื่องจากเรามักตั้งค่ายพักแรมอยู่กลางน้ำ   ไม่น่าเชื่อเลยว่ามีพวกปลิงอยู่มากมายในพื้นดินที่ชื้นและร้อนเช่นนี้ ปลิงเหล่านั้นโจมตีและดูดเลือดเราอยู่ตลอดเวลาอย่างน่าเบื่อหน่าย ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาปลิงออกได้หมด ในตอนกลางวันเราต้องต่อสู้กับสัตว์ป่าด้วยความหวาดกลัว ในตอนกลางคืนเราก็ต้องทำสงครามกับปลิง เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์เหล่านี้ เราจึงสร้างป้อมปราการขึ้นโดยใช้กระบวนเกวียนจอดล้อมเป็นรูปวงกลม หรือสามเหลี่ยมและให้วัวที่ลากเกวียนรวมทั้งสัมภาระในการเดินทางอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ก็เอาต้นไม้ที่มีหนามแหลมมาวางไว้รอบกองเกวียนเพื่อให้ปราการดูเข้มแข็งขึ้น เราไม่ปล่อยให้บรรดาสิงโต หมูป่า แรด และเสือร้ายที่ชอบเปิดศึกดุเดือดกับวัวของเราเข้ามาระรานได้ โดยเฉพาะวัวหวาดกลัว การเข้าประชิดของเสือมาก เราจะใช้ปืนคาบศิลายิงและจุดไฟไว้ตลอดคืน แต่ละคนต้องเปลี่ยนเวรคอยเฝ้ายาม อย่างไรก็ตามเราก็นอนหลับอย่างสบายภายในหลุมศพเคลื่อนที่เล็กๆ นี้ ได้โดยไม่อาจขยับตัวได้เนื่องจากคับแคบมาก เราเริ่มเคยชินกับความเหนื่อยล้าและความไม่สะดวก สบายทีละน้อยๆ ตอนกลางวันเหล่าสัตว์ร้ายก็ไม่ละเว้นที่จะรุกรานเรา โขลงช้างที่มีอยู่มากมายในอาณาจักรสยามทำให้เราตกใจกลัวเสมอ เพราะไม่มีอะไรทำให้สัตว์ชนิดนี้กลัวลานได้ เมื่อต้องประจันหน้ากับมัน เราต้องไม่ต่อสู้หรือวิ่งหนี แต่ต้องยืนสงบนิ่งหรือหลีกทางให้เล็กน้อยราวกับว่าเราแสดงความนับถือต่อสัตว์ผู้สูงศักดิ์ ช้างจะเดินทางต่อไปโดยไม่สนอะไร ในขณะเดียวกัน มันก็ใช้งวงแหวกยอดกิ่งไม้ที่ขวางหน้า ถ้าช้างเดินตรงมายังท่าน สิ่งที่ควรปฏิบัติคือยื่นอะไรบางอย่างให้เช่น หมวด เสื้อคลุมหรือผ้า มันจะใช้งวงเกี่ยวไว้ และแสดงอาการดีใจในเกียรติที่ท่านได้มอบให้ ต่อจากนั้นมันจะเดินผ่านไปทางอื่น ถ้าช้างโกรธ วิธีเดียวที่ควรปฏิบัติคือวิ่งไปด้านหลังของมันทางด้านซ้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะธรรมชาติของช้างจะไม่หมุนตัวไปทางซ้ายแต่หมุนตัวทางขวา ช่วงเวลาที่มันหมุนตัวกลับ เราสามารถปีนขึ้นต้นไม้สูงหรือพุ่งตัวลงในคูหรือขึ้นไปบนเนินสูงได้ทันเนื่องจากช้างตัวใหญ่มีน้ำหนักมากจึงหมุนตัวได้ช้า อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีทุกอย่างที่กล่าวมานี้ ให้ยืนอยู่ที่หางของมันเสมอ และหันไปพร้อมกับมัน ช้างจะเหนื่อยอ่อนและทำให้ท่านมีลู่ทางที่จะหนีได้

อาณาจักรสยามมีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย ซึ่งล้วนได้รับน้ำตามธรรมชาติจากฝน ที่ตกเราไม่ค่อยพบทางข้ามหรือสะพานหรือเรืออยู่เลย ดังนั้นระหว่างเดินทาง เราจึงต้องลงแช่น้ำอยู่เสมอแม้ไม่ต้องการก็ตาม และผ่านสันดอนต่างๆ ไปโดยไม่มีผู้นำทาง

หลังจากใช้เวลา ๒-๓ วันเดินทางออกจากหมู่บ้านแม่น้ำโดยผูกล้อเกวียนไว้เพื่อลงจากภูเขาสูงชันมากลูกหนึ่ง เราก็มาถึงดินแดนน่าอยู่แห่งหนึ่งซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดินแดนที่เพิ่งเดินทางจากมาแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเป็นโลกใหม่ ดินแดนแห่งนี้มีอากาศบริสุทธิ์ ไร่นารวมกันเป็นกลุ่ม มีการเพาะปลูกดีและอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่นปานกลาง จนแม้พระอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะเราก็ไม่รู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงวันจริงหรือไม่ แต่จะใช้วิธีสังเกตเงาของหมวกว่าคลุมเท้าของเราหรือไม่เท่านั้น อย่างไรก็ตามความร้อนก็ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดเลยแม้จะเดินเท้า อาจเป็นเพราะเราเริ่มชินกับความร้อนของเขตร้อนซึ่งเราอยู่มา 9 เดือนแล้วก็เป็นได้

๖ วันต่อมาเราก็มาถึงเมือง รูปร่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ เมืองหนึ่งชื่อ Couir กำแพงเมืองทำด้วยไม้ มีบ้านอยู่ประมาณ ๒๐๐ หลังคาเรือน มีการขอดูใบเบิกทางด้วย แต่เราไม่ได้จ่ายอะไรให้ ล่ามของเราซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม คิดว่าจะทำให้เจ้าเมืองดีใจจึงบอกว่า พวกเราเป็นบาทหลวงคาทอลิก  แต่ปรากฏว่าเจ้าเมืองผู้นี้กลับสั่งให้เรียกเก็บเงินจากเรา ๓ ตำลึง ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๒๒ ลิวร์ ๑๐ ซอล แต่เราก็แอบออกจากเมืองนี้มาโดยไม่ให้อะไร และไม่มีใครติดตาม ๒ วันต่อมา เรามาถึงเมืองปราณบุรี (Pram) เราต้องแสดงใบเบิกทางอีกครั้งหนึ่ง เมืองนี้มีการสัญจรไปมาบ้าง เนื่องจากมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน และอยู่ไม่ไกลจากทะเล จากเมืองปราณบุรี เรามาถึงเมืองเพชรบุรี (Pipili) เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม โดยใช้เวลาเดินทาง ๕ วัน เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่และมีกำแพงเมืองก่ออิฐ เราต้องเดินอยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา และกระบวนเกวียนของเราก็ดูลอยไปมากเสียกว่าเลื่อนไป ถนนเสียหายหมดเนื่องจากน้ำท่วมเมื่อเดิน จึงทำให้บางครั้งตกลงไปในหลุม ฝนที่ตกหนักในบริเวณนี้ทำให้พื้นดินมีน้ำขังและอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทันทีที่เรามาถึงเมืองเพชรบุรี ความตั้งใจแรกของเรานอกเหนือจากการหาที่พักคือตั้งแท่นบูชาเพื่อทำพิธีมิสซาฉลองวันที่พระแม่มารีอาพรหมจารีเสด็จขึ้นสวรรค์ ช่วงเวลาแห่งความปิตินี้ยิ่งใหญ่สำหรับเรามาก จนทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อย และความทุกข์ยากทั้งหลายได้อย่างง่ายดายและนับเป็นสิ่งที่ปลอบโยนเราได้อย่างแท้จริง วันรุ่งขึ้นเราได้ลงเรือลำหนึ่งที่ตระเตรียมไว้เพื่อนำเราสู่กรุงสยาม เมืองหลวงของอาณาจักรสยามโดยต้องเสียค่าระวางพาหนะ ๑๕ เอกู  เราเสียเวลาเกือบ ๑ วันเต็มในการเดินทางไปลงเรือและเดินเท้าต่ออีก ๒๔ ชั่วโมง จึงมาถึงปากแม่น้ำใหญ่อันสวยงามของสยาม ต่อจากนั้นเราก็ลงเรือทวนแม่น้ำขึ้นไปจนกระทั่งถึงกรุงสยาม ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน เราไม่ประสบความยากลำบากอื่นใดในการเดินทางครั้งนี้เลย นอกจากถูกแมลงวันเล็กๆ ปากแหลมคมคุกคาม แมลงวันเหล่านี้จะเริ่มปรากฏตัวขึ้นทันทีที่พระอาทิตย์ตกและหายตัวไปเมื่อเวลา ๗-๘ ชั่วโมง ช่วงเวลาที่มีแมลงวันนั้นมนุษย์ไม่อาจนอนหลับได้เลยเนื่องจาก ถูกบังคับให้ทำสงครามกับสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่มากมายสุดคณานับอยู่ตลอดเวลา.