บทที่ 5 : ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น

  • Print
ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น
บาทหลวงโรแบต์ กอสเต
 
ราวปีค.ศ. 1783 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงโปรดให้ชาวคริสต์ในกรุงเทพฯ ได้เข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก ในครั้งนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้พระสังฆราชและบาทหลวงซึ่งได้ถูกเนรเทศในรัชกาลก่อนกลับคืนเข้าสู่กรุงเทพฯ และได้ทรงโปรดให้นำพระบรมราชโองการไปยังเจ้านครภูเก็ต เพื่อให้นำพระคุณเจ้ากูเดย์ (Coudé) กลับคืนสู่กรุงเทพฯ เพราะท่านอยู่ที่ภูเก็ต พระคุณเจ้ากูเดย์มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1784 หลังจากนั้นสองสามวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดให้พระคุณเจ้ากูเดย์เข้าเฝ้า รวมเวลาที่พระคุณเจ้าได้ถูกพระเจ้าตากสินส่งไปพร้อมกับสังฆราชและบาทหลวงอีกองค์หนึ่งไปสุรัต (Surate) ในอินเดียเป็นเวลา 4 ปี 5 เดือน (วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1779) เมื่อพระคุณเจ้ากูเดย์มาถึงกรุงเทพฯ นั้น มีชาวคริสต์อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 400 คน สังกัดวัดซางตาครู้ส (Sainte Croix) หรือวัดกุฎีจีน และวัดคอนเซปชัญ (Conception) หรือวัดเขมร
 
เป็นการยากที่จะเข้าใจสถานการณ์ชาวคริสต์ในสมัยนั้นโดยไม่ย้อนกลับไปดูอดีต แท้ที่จริงแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 217 ปีมาแล้ว ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงขอให้มิชชันนารีชาวโปรตุเกสที่มะละกาเข้ามา มิชชันนารีเหล่านี้มาถึงอยุธยาคงประมาณปี ค.ศ. 1567 ยังเป็นเวลานับได้ 120 ปี ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ขึ้นครองราชย์ โดยการปราบดาภิเษกในปี ค.ศ. 1656 โดยมีชาวโปรตุเกสช่วย มิชชันนารีรุ่นแรกจากคณะมิสซังต่างประเทศได้เริ่มมาถึงอยุธยานับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ในการประชุมสมัชชาในปี ค.ศ. 1664 ที่ประชุมได้ตั้งแนวปฏิบัติที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ใช้อิทธิพลเพื่อจะได้ไม่สร้างความขุ่นเคืองให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หลังจากนั้นสองสามปี พระคุณเจ้าลาโน (Laneau) ซึ่งเป็นสังฆราชองค์แรกแห่งสยาม ยอมรับว่าถ้าเราต้องการเป็นที่ยอมรับ ก็ต้องทำตัวของเราให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ดังนั้นพระคุณเจ้าได้สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ ที่อยุธยา ซึ่งเปิดประมาณปี ค.ศ. 1666 และต่อมาได้เปิดที่พิษณุโลก เหล่านี้เป็นผลงานสังคมสงเคราะห์ของชาวคาทอลิกในยุคต้น   ซึ่งได้เป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น
 
เมื่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระคลังในสมัยนั้นได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1731 ห้ามชาวคริสต์ใช้ตัวอักษรไทยหรือขอมในการเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนา ห้ามมิชชันนารีสอนศาสนาคริสต์แก่คนไทย ห้ามคนไทยเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ และห้ามวิพากษ์ วิจารณ์ศาสนาของคนไทย ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระคุณเจ้าลาโนได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธใน  หนังสือของท่าน
 
ข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้เพียงได้ถูกประกาศใช้มา ทำให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่คนไทยนั้นเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ในทางตรงกันข้ามพระมหากษัตริย์ไม่เคยขัดขวางการที่คนจีนและเวียดนามเข้าสู่ศาสนาคริสต์ ซึ่งในยุคนั้นมีคนจีนและเวียดนามมาสู่สยามเป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนศาสนาของคนเหล่านี้เสียด้วยซ้ำไป
 
เมื่อตอนเสียกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1767 วัดคริสต์ในสยามก็ถูกทำลายลง ยกเว้นที่จันทบุรี และชาวคริสต์เป็นจำนวนมากได้ถูกกวาดต้อนไปประเทศพม่า แต่ในจำนวนนั้นมี 300 คน ที่หลบหนีไปเขมรพร้อมกับคุณพ่อกอร์ (Corre) เมื่อท่านได้กลับมากรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1769 เพื่อมารื้อฟื้นงานสอนศาสนาคริสต์ มีคริสตชนเหลือเพียงแค่ 14 คนเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ซึ่งได้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงพระราชทานที่ดินเพื่อให้สร้างวัด ซึ่งได้แก่  วัดซางตาครู้ส  จนปัจจุบันนี้ คริสตชนที่ได้ไปลี้ภัยในเขมรได้กลับมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รอบๆ วัดใหม่ พระมหากษัตริย์ได้ทรงโปรดปรานชาวคริสต์ที่เป็นผู้มีความสามารถสูงทางด้านงานฝีมือ กล้าหาญ ขยัน และมีความซื่อสัตย์ พระองค์ได้ทรงรับคริสตชนเข้าเป็นทหาร เป็นมหาดเล็กเฝ้าพระราชวัง เป็นล่าม และเป็นหมอรักษาโรค ในฐานะที่พวกเขาเป็นข้าราชการจึงต้องให้สัตย์ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกๆ ปี โดยเข้าพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
 
นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ได้บังคับให้พวกเขาเข้าร่วมพิธีทางศาสนาพุทธบางอย่าง พระคุณเจ้าเลอบ็อง (Le bon) ได้ห้ามการเข้าร่วมพิธีนี้ซึ่งเป็นพิธีที่เก่าแก่ของบ้านเมือง   จึงทำให้พระมหากษัตริย์เคืองพระราชหฤทัย และกลับมาห้ามคนไทยไม่ให้เข้านับถือศาสนาคริสต์อีกทั้งในที่สุดได้ขับไล่พระสังฆราชและมิชชันนารีสององค์ที่อยู่กรุงเทพฯ นั้น ออกนอกประเทศ นี่คือสถานการณ์ของชาวคริสต์ในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น
 
1. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระคุณเจ้ากูเดย์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ได้ทรงเริ่มมีนโยบายใหม่ต่อชาวคริสต์ พระองค์ได้ปล่อยให้หญิงสาวชาวคริสต์ที่พระเจ้าตากสินกักกันไว้ในวัง ให้กลับคืนสู่ครอบครัว พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ทหารคริสต์ไม่ต้องเข้าร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่หัวหน้าครอบครัวไม่ได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกันนี้
 
หลังจากที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้ส่งข้าราชการที่เป็นคริสต์คนหนึ่งพร้อมกับสาสน์จากพระคลังไปถึงเจ้าครองนครมาเก๊า ในสาสน์ฉบับนี้ได้ขอให้มีการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับชาวโปรตุเกสเสียใหม่ ในขณะเดียวกันก็ได้ขอมิชชันนารี สิ่งนี้เป็นนโยบายของพระมหากษัตริย์ซึ่งมีพระราชประสงค์เปิดประเทศสยามไปสู่การค้ากับต่างประเทศ ข้อเสนอของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ถูกส่งไปยังนครกัว แต่ไม่มีคำตอบใดๆ เพื่อเป็นการตอบสนองการเชื้อเชิญ มิชชันนารีบาทหลวงโดมินิกันองค์หนึ่งมาศึกษาสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ยังผลให้เกิดความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งต่อชนชาวโปรตุเกส ผู้ซึ่งไม่ชอบพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส และยังผลให้มีการแตกแยกในบรรดาชาวคริสต์แห่งซางตาครู้ส
 
ชาวคริสต์นิยมโปรตุเกสผู้ซึ่งถือว่าตนเองเป็นข้าราชบริพารแห่งกษัตริย์โปรตุเกส และใช้เฉพาะภาษาโปรตุเกสเท่านั้นในการชุมนุมทางศาสนา พวกเขาไม่ปรารถนาเชื่อฟังพระสังฆราช  อีกทั้งเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในวัด ส่วนชาวคริสต์อื่นๆ พระคุณเจ้ากูเดย์ต้องการที่จะให้พวกเขาถือว่าตนเองเป็นข้าราชบริพารแห่งราชสำนักไทย ท่านจึงเทศน์ สอนคำสอน และนำสวดเป็นภาษาไทย พวกเขาเหล่านั้นมีจำนวนประมาณหนึ่งในสี่ของคริสตชนทั้งหมด เนื่องจากว่าชาวคริสต์ไม่สามารถปรองดองกันได้ คริสตชนที่สนับสนุนโปรตุเกสหันไปพึ่งบารมีของพระอนุชา ซึ่งได้แก่ เจ้าชายบุญมา เพื่อให้เกิดความสงบสุข เจ้าชายบุญมาได้ขอพระราชทานที่ดินบนฝั่งตรงกันข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับสร้างเป็นวัดใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นการแยกชาวคริสต์ทั้งสองฝ่าย คริสตชนที่นิยมโปรตุเกสเป็นฝ่ายที่ไปตั้งรกรากอยู่รอบๆ วัดใหม่ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าวัด "เอเรมิด้า" ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกาลหว่าร์ อยู่ใกล้ตลาดน้อย
 
บาทหลวงโดมินิกันได้ติดตามชาวคริสต์ที่ไม่ยอมรับพระสังฆราช แต่ท่านไม่ปรารถนาที่จะแยกตัวออกจากพระสังฆราช เมื่อท่านเห็นว่าคริสตชนกลุ่มนั้นไม่ต้องการเชื่อฟังพระสังฆราช ท่านก็เลยออกจากประเทศสยามไป จะต้องใช้เวลาถึง 40 ปี กว่าคริสตชนจะสามารถกลับมาปรองดองกันได้อีก
 
หลังจากการมรณภาพของพระคุณเจ้ากูเดย์ในปี ค.ศ. 1785 พระคุณเจ้าการ์โนลต์ (Garnault) ก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากท่าน ในสมัยที่พระคุณเจ้าการ์โนลต์เป็นพระสังฆราชนั้น การติดต่องานระหว่างสำนักพระราชวังกับพระคุณเจ้าก็ได้ออกห่างกัน ก่อนหน้านั้นพระคุณเจ้าได้ใช้ชีวิตอยู่ทางภาคใต้เป็นเวลา 9 ปี ก่อนที่จะกลับมายังกรุงเทพฯ เจ้าเมืองภูเก็ตสนับสนุนชาวคริสต์เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชที่ขอมิชชันนารีด้วย แต่เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งกลับแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวคริสต์เป็นอย่างยิ่ง
 
นอกจากนั้นกลุ่มชาวคริสต์ที่สนับสนุนโปรตุเกสได้ไปแจ้งความเมื่อพระสงฆ์โปรดศีลล้างบาปแก่คนไทย ซึ่งทำให้ทางราชการเกิดความไม่ไว้วางใจต่อชาวคริสต์ที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระ สังฆราช และเป็นการทำให้คนไทยที่ปรารถนาจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาคิสต์หมดกำลังใจ
พระคุณเจ้าการ์โนลต์มาถึงกรุงเทพฯ ประมาณปลายปี ค.ศ. 1795 หรือต้นปี ค.ศ. 1796 ตอนที่ท่านมาถึง มีชาวคริสต์อยู่ในเมืองหลวงประมาณ 1,000 คน โดย 400 คน เป็นคนดั้งเดิมของสยาม และอีก 600 คน เป็นผู้ลี้ภัย ในปี ค.ศ. 1785 เมื่อกองทัพสยามได้กลับมาจากกัมพูชาและเวียดนามใต้ที่ได้ไปรบต่อต้านพวกไต้-ซ้อง ได้นำคริสตชนโปรตุเกสจากกัมพูชามาเป็นจำนวน 450 คน พร้อมกับชาวกัมพูชาที่ต้องการหลบหนีพวกไต้ซ้องอีก 100 คน นอกจากนี้ได้มีคริสตชนอีก 250 คน ซึ่งได้มาลี้ภัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ในปี ค.ศ. 1793 พระมหากษัตริย์ได้ส่งคนไปตามกลุ่มนี้พร้อมกับครอบครัวของเขา นำมากรุงเทพฯ ด้วย ชาวคริสต์ทั้งหมดนี้ได้มาตั้งรกรากอยู่ละแวกวัดคอนเซปชัญ
 
เมื่อพระคุณเจ้าการ์โนลต์กลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ตั้งโรงพิมพ์เล็กๆ ขึ้นที่ซางตาครู้สในปี ค.ศ. 1796 โรงพิมพ์ซางตาครู้สได้พิมพ์หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในสยาม เป็นหนังสือคำสอน พิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน พระคุณเจ้าได้มีความตั้งใจที่จะพิมพ์หนังสือเป็นภาษาไทยด้วย แต่โรงพิมพ์นี้ได้ถูกทอดทิ้งไปภายหลัง ในสมัยนี้คุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) และคุณพ่อลีโอ (Liot) ได้ไปสำรวจภูมิภาคแถบอยุธยา เพื่อที่จะศึกษาดูความเป็นไปได้ของการประกาศพระศาสนาที่นั่น เจ้าครองนครอยุธยาได้เชิญบาทหลวงทั้งสองทำการบูรณะวัดเก่าที่อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมแต่คนไทยที่เป็นหัวหน้าค่ายของคนลาวที่นำมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ห้ามบาทหลวงทั้งสองไม่ให้ทำการเผยแพร่พระศาสนากับคนลาวที่อยู่ในค่าย เนื่องจากว่าเขาเหล่านั้นมีศาสนาที่ใกล้เคียงกับศาสนาของคนไทย ตลอดสมัยที่พระคุณเจ้าการ์โนลต์เป็นพระสังฆราช ซึ่งกินเวลา 25 ปี ท่านได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์ 8 องค์ พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นชาวพื้นเมืองแต่ไม่ใช่คนไทย ก็เนื่องจากว่าในสมัยนั้นมี     ชาวคริสต์ที่เป็นคนไทยน้อยมาก พระสงฆ์บางองค์มีพื้นเพดั้งเดิมเป็นชาวโปรตุเกส ชาวเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากวัดจันทบุรีที่อยู่รอดมาตลอดนับตั้งแต่ได้ก่อตั้งวัดนี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1750 และก็มีพระสงฆ์บางองค์ที่เป็นลูกวัดของคนจีนหรือเป็นลูกครึ่ง
 
ในปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคตนั้น จำนวนของชาวคริสต์มีประมาณ 3,000 คน รวมทั้งชาวคริสต์มาเลเซียในสยาม ชาวคริสต์เหล่านี้อยู่ในค่ายหรืออยู่ในย่านที่อยู่อาศัยแยกออกจากประชากรส่วนอื่นๆ อาจจะด้วยความจำเป็นหรือด้วยความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น คริสตังจึงไม่มีน้ำหนักอะไรในด้านสังคมและการเมืองของประเทศ ประวัติศาสตร์และวรรณคดีก็ไม่เคยเอ่ยถึงพวกเขาเหล่านั้นเลยแต่พระมหากษัตริย์ก็ยังเคารพในความเชื่อของเขา ตัวอย่างเช่น พวกเขาเหล่านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาก่อสร้างโบสถ์ หรือเจดีย์ของศาสนาพุทธ พวกเขาสามารถอยู่ในค่ายอย่างสงบและเป็นอิสระในข้อแม้ที่ว่า พวกเขาจะไม่ชวนคนไทยมานับถือศาสนาคริสต์ ในเรื่องนี้การที่ชาวโปรตุเกสคอยแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อมีคนไทยเปลี่ยนศาสนา ทำให้ฝ่ายบ้านเมืองมีความระแวง และคงจะด้วยเหตุผลนี้เองที่พระคุณเจ้า การ์โนลต์ไม่เคยได้รับพระราชโองการเข้าเฝ้า ซึ่งต่างจากพระคุณเจ้ากูเดย์ มีพระราชโองการให้ไปเชิญกลับมากรุงเทพฯ และได้เข้าเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง
 
สรุปได้ว่า ชาวคริสต์ถูกถือว่าเป็นคนต่างชาติในประเทศ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับในสมัยของพระเจ้าตากสินนั้น ชาวคริสต์มีชื่อเสียงดีในความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ พวกเขาเหล่านั้นยังได้เป็นมหาดเล็กเฝ้าพระราชวัง ส่วนพวกมิชชันนารีในสมัยนั้น ก็ไม่มีความกลัวแต่อย่างใดว่าจะได้รับอันตรายจากการเบียดเบียนทางศาสนา พวกเขามีเสรีภาพในการเดินทางตามความปรารถนา
 
2. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นครองราชย์ พระคุณเจ้าการ์โนลต์ได้รับ   พระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการ ท่านสังฆราชได้ถือโอกาสนี้กราบบังคมทูลถวายบทสรุปคำสอนคริสตศาสนากับพระองค์ พระองค์ได้ทรงพระสรวลและตรัสถามพระสังฆราชว่าต้องการจะเชิญพระองค์ให้เป็นคริสต์หรือ รัชกาลที่ 2 ครองราชย์ได้เป็นเวลาหนึ่งปี พระคุณเจ้า    การ์โนลต์ก็มรณภาพ และพระคุณเจ้าฟลอรังส์ก็มาสืบตำแหน่งต่อ
 
ในยุคนี้มีการลดจำนวนมิชชันนารี เนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้บ้านเณรทุกแห่งในประเทศฝรั่งเศสต้องปิดลง เงินช่วยเหลือก็ลดลงด้วย ทำให้มิสซังตกอยู่ในสภาพยากจนมาก  พระคุณเจ้าฟลอรังส์ต้องคอยเป็นเวลา 14 ปี กว่าจะมีโอกาสต้อนรับมิชชันนารีองค์แรกซึ่งได้แก่    คุณพ่อปีโก (Picot) ท่านได้มาถึงกรุงเทพฯ ปี ค.ศ. 1822 ท่านอยู่ในกรุงเทพฯ แค่ 7 เดือนเท่านั้น    แต่ในเวลาอันสั้นนี้ ท่านก็ยังสามารถชนะคดีเป็นความกันกับชาวคริสต์โปรตุเกส เมื่อเรียกร้องให้เอาวัดกาลหว่าร์กลับคืนมาสู่ความรับผิดชอบของพระสังฆราช คดีนี้ศาลไทยเป็นผู้ตัดสิน เมื่อได้วัดกลับคืนมา คุณพ่อปีโกก็เป็นเจ้าวัดองค์แรก ก่อนที่ท่านจะออกเดินทางไปปีนัง พระสังฆราชต้องคอยอีกเป็นเวลานาน 4 ปี กว่าจะมีโอกาสต้อนรับมิชชันนารีองค์ที่สอง ท่านเองได้เป็นมิชชันนารีในประเทศจีน และได้มาที่กรุงเทพฯ เพื่อสอนเณรในกรุงเทพฯ พระสงฆ์ 5 องค์ บวชโดยพระคุณเจ้าการ์โนลต์ปฏิบัติหน้าที่ตามวัดต่างๆ ในเมืองหลวง
 
ในช่วงเวลา 12 ปี ในการดำรงตำแหน่งของพระสังฆราชฟลอรังส์ พระศาสนจักรในประเทศสยามไม่ได้ก้าวหน้าไปเท่าไรนัก อย่างไรก็ดี ได้พบสังคมใหม่ที่จะแพร่ธรรมเนื่องจากว่ามีคนจีนเข้ามาในสยามมากขึ้นทุกที คนจีนเหล่านี้สนใจในคริสตศาสนาและไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของการห้ามเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ คุณพ่อราโบ (Rabeau) โปรดศีลล้างบาปแก่คนจีนเป็นจำนวนนับร้อยคนในปี ค.ศ. 1810
 
ในยุคนี้เองที่ชาวอังกฤษเริ่มแสดงอานุภาพในเอเชียอาคเนย์ อังกฤษได้ครองเกาะปีนังในปี ค.ศ. 1786 พระคุณเจ้าการ์โนลต์ได้จัดตั้งวัดชาวคริสต์ขึ้นทันที โดยนำชาวคริสต์ที่อาศัยในรัฐเกดาห์ไปอยู่ที่ปีนัง เนื่องจากว่าท่านมีความมั่นใจได้มากกว่าที่อิสรภาพทางศาสนาของคริสตัง จะได้รับการปกป้อง ในปี ค.ศ. 1819 ชาวสยามเริ่มกระทบกระทั่งชาวอังกฤษเป็นครั้งแรก เมื่อชาวอังกฤษปฏิเสธที่จะส่งตัวกษัตริย์แห่งเกดาห์ที่ได้มาลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง ความเป็นปฏิปักษ์นี้ทำให้เกิดความล่าช้าในการที่คุณพ่อปีโกมาสู่สยาม ส่วนมิชชันนารีในสมัยนั้นก็ได้เฝ้าดูเหตุการณ์อย่างใจจดใจจ่อ ในตอนแรกพวกเขาค่อนข้างจะระแวงชาวอังกฤษ เพราะถือศาสนาแองกลิกัน แต่ชาวอังกฤษปฏิบัติกับมิชชันนารีและให้ความสะดวกในการแพร่พระธรรม มิชชันนารีจึงเริ่มเห็นว่าชาวอังกฤษเป็นผู้พิทักษ์เสรีภาพทางศาสนาของชาวคริสต์ เพราะเหตุดังกล่าว ชุมชนชาวคริสต์ในปีนังซึ่งขึ้นตรงต่อสยามนั้นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
 
ในสยามตลอดช่วงเวลานี้ ชาวคริสต์ค่อนข้างจะเก็บตัว พระสงฆ์ไม่ค่อยออกนอกกรุงเทพฯ สาเหตุเนื่องมาจากขาดบุคลากร ขาดทุนทรัพย์ อีกทั้งชาวคริสต์มีความรู้สึกว่าถูกจับตามอง เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ศาสนาในบรรดาคนไทย กิจการของศาสนาคริสต์จึงไม่ได้ก้าวหน้า ฉะนั้นก็ดี พระคุณเจ้าฟลอรังส์ก็ยังได้แจ้งว่าได้โปรดศีลล้างบาปแก่ผู้ใหญ่ 29 คน ในปี ค.ศ. 1823
 
หลังจากความพยายามในการเปิดประเทศในรัชกาลก่อน สยามก็กลับเริ่มปิดประตูไม่ต้อน รับคนต่างชาติมากขึ้นทุกที ชาวสยามรู้สึกผิดหวังในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศโปรตุเกส ปี ค.ศ. 1820 ในปี ค.ศ. 1822 ความพยายามของจอห์น คอร์ฟอร์ด (John Crowford) ที่จะทำการค้ากับประเทศสยามก็ล้มเหลว
 
3. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินนโยบายปิดประเทศเหมือนกับรัชกาลก่อน เมื่อเริ่มรู้สึกถึงอันตรายจากพวกล่าอาณานิคมอังกฤษ แต่ก็ได้เริ่มสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันกรุงเทพฯ และจันทบุรีจากการโจมตีทางเรือ ในปี ค.ศ. 1826 ชาวอังกฤษได้ผนวกเอาแคว้นตะนาวศรี ชาวสยามเริ่มรู้ว่ามหาอำนาจอังกฤษเป็นอันตรายที่แท้จริง และเริ่มอ่อนข้อในการเจรจากับชาวอังกฤษลง พระมหากษัตริย์เกรงเขาจะเข้ายึดครองประเทศ เลยเริ่มมีการระแวงมิชชันนารี คุณพ่อ  บรูยีแอร์ (Brugi่re) ได้เขียนไว้ว่า "พระองค์เชื่อว่าทุกคนเป็นผู้แทนจากประเทศอังกฤษ" พระองค์ไม่ได้แยกว่าใครเป็นพระสงฆ์ ใครเป็นฆราวาส พระองค์ทรงเรียกทุกคนว่าเป็น "ฝรั่ง" ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือฮอลันดา เป็นพวกเดียวกันหมด ราวกับว่ามาจากชาติเดียวกันหมด ชาวสยามถึงกับเห็นว่ามิชันนารีเป็นจารชนที่กษัตริย์ยุโรปส่งมาเพื่อตั้งพรรคพวกโดยเอาศาสนาบังหน้า และยังเชื่อไปอีกว่าในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นมากับยุโรปชาติใดชาติหนึ่ง ชาวคริสต์พื้นเมืองจะทรยศต่อประเทศและหันไปเข้าข้างชาวยุโรป
 
ด้วยเหตุนี้ถ้าใครต้องการออกมาจากกรุงเทพฯ ต้องมีใบอนุญาตเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วอาจจะถูกจับและตำรวจจะนำกลับมาเมืองหลวงเหมือนกับที่เกิดกับคุณพ่อบาร์แดล (Bardailh) ผู้เดินทางไปถึงสระบุรี และถูกจับโดยข้าหลวงสระบุรี โดยเกรงว่าท่านจะเป็นชาวอังกฤษปลอมตัวมาเพื่อสำรวจประเทศ ท่านได้ถูกนำกลับมากรุงเทพฯ และปล่อยตัวเป็นอิสระ
 
ในปี ค.ศ. 1831 ชาวสยามต้องการลงโทษเวียดนามที่ได้สนับสนุนพระอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ในการก่อการกบฏต่อต้านสยาม ชาวสยามได้เข้ายึดครองกัมพูชา และได้ขับไล่กษัตริย์พระอังจัน พระเจ้ามิ่งม่างจากเวียดนาม ได้ทรงตั้งพระอังจันบนราชบัลลังก์เสียใหม่ พระเจ้ามิ่งม่างได้เริ่มเบียดเบียนมิชชันนารีและชาวคริสต์ในปี ค.ศ. 1833 พระคุณเจ้าตาแบรด์ (Taberd) พร้อมกับมิชชันนารี 2-3 องค์ และเณร 20 คน ได้มาลี้ภัยอยู่ที่จันทบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เชิญพระสังฆราชไปกรุงเทพฯ เพื่อขอทราบเรื่องการเบียดเบียนและการลุกขึ้นต่อต้านจักรพรรดิมิ่งม่างในเวียดนาม แล้วพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระสังฆราชและมิชชันนารีอยู่ในสยาม พระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเตรียมตัวที่จะทำสงครามกับเวียดนาม ได้ขอให้พระคุณเจ้าตาแบรด์ ใช้อิทธิพลกับชาวเวียดนาม หรืออย่างน้อยให้แต่งตั้งมิชชันนารีไปกับกองทัพสยาม พระคุณเจ้าตาแบรด์ยอมทำตามโดยมีข้อแม้ว่าให้พระองค์ทรงอนุญาตให้ท่านออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้ถูกสงสัยว่าท่าน  ทรยศต่อเวียดนาม โดยมารับทัพสยามไปเวียดนาม พระมหากษัตริย์รู้สึกไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่งต่อข้อแม้นี้ เพราะพระองค์ไม่เคยมีใครปฏิบัติตามคำสั่งโดยมีข้อแม้ พระองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระสังฆราชออกจากกรุงเทพฯ
 
กองทัพสองเหล่าได้ถูกส่งไปในปี ค.ศ. 1833 พระยาชาวคริสต์ 2 ท่าน ได้ขอบาทหลวงประจำกองทัพกับพระคุณเจ้าฟลอรังส์ พระคุณเจ้าฟลอรังส์ทีแรกปฏิเสธ แต่ต่อมาก็ยอมส่งคุณพ่อเคลมังโซ (Clémenceau) คุณพ่อเคลมังโซยอมไปแบบเสียไม่ได้ และซ่อนตัวอยู่ในเรือที่เวียดนามเป็นเวลา 15 วัน ชาวคริสต์ที่เวียดนามจากจังหวัดฮาเตียน (Ha-Tien) และเจาดอก (Chao-Doc) เมื่อทราบว่ามีพระสงฆ์คาทอลิกในกองทัพสยาม ก็รีบเข้ามาขอพึ่งกองทัพสยามเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกกลั่นแกล้งสังหาร ด้วยเหตุนี้เอง ชาวเวียดนาม 1,600 คน มากรุงเทพฯพร้อมกับกองทัพสยาม ในบรรดา  คริสตชนเหล่านี้ มีบาทหลวง 1 องค์ และซิสเตอร์ 2 รูป เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1834  พระยาชาวคริสต์ทั้งสองท่านได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกเขาปักรกรากในที่ดินว่างเปล่าทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าสามเสน พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมอบภาระการดูแลชาวคริสต์เหล่านี้ให้กับมิสซังคาทอลิก พระองค์โปรดให้สร้างโรงเรือนใหญ่ พระราชทานเครื่องนุ่งห่ม ที่ดินทำมาหากิน พร้อมกับโค-กระบือ อีกทั้งยังให้ยกเว้นการส่งส่วยงาน สงครามกับเวียดนามจึงเป็นต้นกำเนิดของวัดแซงต์ฟรังซิส ซาเวียร์ ที่ตั้งอยู่สามเสนจนถึงในปัจจุบันนี้
 
แม้ว่าการทำสงครามครั้งนี้ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนคริสตชนในกรุงเทพฯ เป็นสองเท่า มันก็ยังมีผลเสียตามมาอีกมาก มันทำให้เกิดการห้ามการเผยแพร่พระธรรมในภาคตะวันออกของประเทศ คุณพ่อปัลเลอกัว (Pallegoix) ผู้ซึ่งมาถึงสยามในปี ค.ศ. 1830 มีความรู้สึกว่าไม่ควรจะจำกัดขอบเขตการเผยแพร่พระธรรมให้อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ท่านได้พยายามไปตรวจพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง แต่ท่านถูกจับกุมโดยข้าหลวงลพบุรี และถูกนำตัวมากรุงเทพฯ คริสตชนกลุ่มหนึ่งในสระบุรีถูกจำคุกในปี ค.ศ. 1834 และถูกปล่อยตัวเป็นอิสระเพราะพระคุณเจ้ากูร์เวอซี (Courvezy) ผู้สืบทอดการปกครองต่อจากพระคุณเจ้าฟลอรังส์ เป็นผู้ขออิสรภาพสำหรับเขา
 
ผู้เขียนมีความยินดีบอกด้วยว่าในปี ค.ศ.1833 ก่อนที่พระคุณเจ้าฟลอรังส์จะมรณภาพหนึ่งปี พระคุณเจ้าได้กล่าวไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งว่า ท่านได้ให้การต้อนรับแก่ชาวโปรเตสตันท์ อนาบาติสที่มาจากเมือง Boston ซึ่งมาเยี่ยมคารวะท่าน เราคิดว่าคงจะเป็น John Taylor Jones
ก่อนที่พระคุณเจ้ากูร์เวอซีจะออกจากสยามเพื่อไปอยู่สิงคโปร์ ท่านได้ทิ้งรายงานสรุปไว้อย่างละเอียดถึงชีวิตคริสตชนในสยามในปี ค.ศ. 1838 จะพิจารณาแค่วัดที่เก่าแก่ที่สุดทั้งสองแห่งของนครหลวง เราสามารถทราบจากรายงานของพระคุณเจ้าเกี่ยวกับวัดซางตาครู้ส ซึ่งเป็นวัดที่มีลูกวัด 480 คน ว่ากลุ่มคริสตชนนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นนายแพทย์มีแพทย์ประจำราชสำนัก 2 คน และประจำกองทัพ 18 คน กลุ่มล่ามแปลภาษามีจำนวน 18 คน มีหน้าที่ประจำการที่ท่าเรือที่มีเรือต่างชาติเข้ามา และกลุ่มทหารมีนายทหารผู้น้อย ทหารปืนใหญ่และมหาดเล็กเฝ้าพระราชวัง นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการของพระมหากษัติรย์ที่มีเงินเบี้ยหวัดประจำ ส่วนวัดคอนเซปชัญ (Conception) ที่มีคริสตชน 697 คนนั้น ประกอบด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่ และทหารผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ ทหารผู้น้อยมีทั้งทหารประจำปืนใหญ่ หรือมหาดเล็กเฝ้าพระราชวัง คริสตชนเหล่านี้จึงนับว่ามีฐานะดี
 
คุณพ่ออัลบรังด์ (Albrand) ได้มาจากสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1835 เพื่อจะแพร่พระธรรมให้กับชาวจีนโดยเฉพาะที่เข้ามาจากสยาม ท่านได้ตั้งศูนย์ใกล้โบสถ์กาลหว่าร์ (Calvaire) บาทหลวงหลายองค์ได้เรียนภาษาจีนและได้ทำการแพร่พระธรรมกับชาวจีนโดยเฉพาะ ท่านเหล่านี้ประสบความ สำเร็จดียิ่ง พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยขัดขวางการที่เขาเหล่านั้นจะเข้ามานับถือคริสตศาสนา เพราะเขาเหล่านั้นถอนรกรากตนเองออกมาจากถิ่นฐานดั้งเดิม และแทบจะไม่มีศาสนาเลยก็ว่าได้ พระเจ้า     อยู่หัวต้องการให้ข้าราชบริพารของพระองค์ไม่มีศาสนา
 
พระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสยามในปี ค.ศ. 1841 ท่านได้พยายามส่งมิชชันนารีไปจังหวัดห่างไกลทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ สถานการณ์ทางการเมืองในยุค  นั้นจะไม่อำนวย จึงประสบความล้มเหลวอยู่เป็นนิจ เช่น ท่านได้ส่งมิชชันนารี 2 องค์ ไปเชียงใหม่ในปี ค.ศ. 1846 แต่มิชชันนารี 2 องค์นี้อยู่ได้แค่ 2 เดือน กษัตริย์เชียงใหม่ห้ามพสกนิกรเปลี่ยนไปนับถือคริสตศาสนา ก็เลยต้องกลับกรุงเทพฯ จะต้องคอยอีกเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ก่อนที่จะกลับไปเชียงใหม่อีกในปี ค.ศ. 1933
 
ในขณะนั้นชาวสยามยังคงกลัวที่จะถูกชาวอังกฤษบุกเข้ายึดครอง ชาวสยามรู้สึกกลัวมากเมื่อเห็นชาวอังกฤษเอาชนะประเทศจีนในสงครามฝิ่นในปี ค.ศ. 1842 สยามได้เซ็นสัญญาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1833 เพื่อให้เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ ซึ่งสยามอยู่ในภาวะจำยอมต้องเซ็นสัญญาในปี ค.ศ. 1826 อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1838 ไม่มีเรือสหรัฐอเมริกามาประเทศสยามเลย และการค้ากับประเทศอังกฤษก็เริ่มถดถอย ด้วยเหตุนี้เอง ประมาณปี ค.ศ. 1840 พระมหากษัตริย์ได้ให้พระอนุชาไปขอให้พระคุณเจ้าปัลเลอกัวเชิญชวนกษัตริย์ฝรั่งเศสให้มาทำการค้ากับสยาม โดยมีจุดประสงค์จะปลีกออกจากอิทธิพลของอังกฤษ
 
หลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ คณะมิสซังคาทอลิกมีความสัมพันธ์กับพระราชสำนักน้อยมาก นอกจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของบทความเรื่องนี้    มิตรภาพระหว่างพระคุณเจ้าปัลเลอกัวและเจ้าฟ้ามงกุฎที่ได้เริ่มก่อนที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นพระสังฆราชและก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิตรภาพนี้เป็นประโยชน์กับคณะมิสซัง มิตรภาพนี้ได้เริ่มตั้งแต่คุณพ่อปัลเลอกัวเป็นเจ้าวัดอยู่คอนเซปชัญ และเจ้าฟ้ามงกุฎผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส คุณพ่อปัลเลอกัวได้มีโอกาสถวายการสอนแด่เจ้าฟ้ามงกุฎหลายวิชา อิทธิพลของพระคุณเจ้าปัลเลอกัวและอิทธิพลของอาจารย์โปรเตสตันท์ที่สอนภาษาอังกฤษให้กับ  เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งได้วิจารณ์การปฏิบัติตนของชาวพุทธอย่างนุ่มนวลแต่ตรงไปตรงมา คงมีส่วนผลักดันให้เจ้าฟ้ามงกุฎแก้ไขปรับปรุงพุทธศาสนาและจัดตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมา
 
ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอเอ่ยถึงเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ราชสำนักและคณะมิสซังคาทอลิกเกิดขัดแย้งกัน  ในตอนต้นปี ค.ศ. 1849 อหิวาตกโรคได้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ คนตายวันละเป็นพันๆ คน โหรได้กราบทูลว่าสาเหตุมาจากฝรั่งในกรุงเทพฯ ฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะให้โรคระบาดนี้หยุด โหรเสนอให้ชาวต่างชาติเหล่านี้เอาสัตว์มากราบบังคมทูลถวาย   เพื่อพระองค์จะทรงเลี้ยงไว้  คำขอนี้ทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่บาทหลวง บาทหลวงส่วนใหญ่ถือว่าการเอาสัตว์เหล่านี้ไปถวายนั้นเป็นสิ่งที่ทางคริสตศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำก็เลยปฏิเสธ พระเจ้าอยู่หัวได้เนรเทศบาทหลวง 8 องค์ ที่ไม่ยอมเอาสัตว์เหล่านั้นไปถวาย พระคุณเจ้าปัลเลอกัวเป็นบาทหลวงชาวยุโรปองค์เดียวที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ กับพระสงฆ์ชาวพื้นเมือง มิชชันนารีกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาอีกก็ในรัชกาลต่อมา นอกจากนั้นแล้ว เรากล่าวได้ว่าคริสตชนได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข มีเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาในข้อแม้ที่ว่า ไม่ทำการเปลี่ยนศาสนาคนไทย
 
บทสรุป
ในการสรุปยุคสมัยที่ยาวเป็นเวลา 84 ปี เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนสิ้นสมัยรัชกาลที่ 3  เราสามารถพูดได้ว่าเป็นยุคแห่งความสงบสุขสำหรับคริสตชนที่ไทยถือว่าเป็นชาวต่างชาติที่รัฐบาลยอมรับไว้เป็นอย่างดีในประเทศ พระมหากษัตริย์ซึ่งตระหนักดีถึงคุณสมบัติของคริสตชน  เต็มพระทัยที่จะใช้พวกเขาเป็นข้าราชบริพาร แต่มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่องค์พระมหากษัตริย์ที่เคร่งครัดศาสนาพุทธจะยอมให้คนไทยเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ความยึดมั่นในอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ขัดกับการที่จะยอมให้ชาวไทยเปลี่ยนศาสนา พระมหากษัตริย์ที่ถือว่าเป็นเจ้าแต่องค์เดียวของพสกนิกร ไม่สามารถยอมให้พวกเขาไปขึ้นต่อองค์อำนาจอื่นซึ่งอยู่นอกประเทศ (พระสันตะปาปา) และพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยอมรับได้ที่จะให้มีการตั้งข้อแม้ในการปฏิบัติตามพระราชโองการ ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนาพุทธเป็นองค์ประกอบหลักในการทำให้เกิดความสามัคคีในชาติ และเป็นศาสนาที่อยู่ในการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นองค์ประมุขของศาสนา จะต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะสามารถยอมรับว่าคนไทยสามารถเป็นคาทอลิกและรักประเทศชาติและองค์พระมหากษัตริย์ในขณะเดียวกันได้.