ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม

  • Print
ชาวเวียดนามใช้เวลายาวนานในการเดินทางเข้าในประเทศไทยและกระจายกันอาศัยอยู่เกือบทั่วประเทศไทย คือ นับตั้งแต่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์จำนวนชาวเวียดนามได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศ ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเราไม่อาจทราบรายละเอียดเรื่องของการเข้ามาในไทยของชาวเวียดนามมากนัก แม้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เองก็ค้นคว้าได้แต่เฉพาะหลักฐานเกี่ยวกับชาวเวียดนามที่เข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ๆเท่านั้น ณ ที่นี้จึงจะศึกษาและจำแนกประเภทชาวเวียดนามด้วยการพิจารณากลุ่มชาวเวียดนามที่สำคัญที่พำนักตามแหล่งต่างๆ ได้แก่ ในกรุงเทพฯ จันทบุรี ระยอง ชลบุรี อยุธยา กาญจนบุรี นครสวรรค์ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม และพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้ชาวเวียดนามเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประกอบกับลักษณะการเดินทางมาเท่านั้น 
 
สาเหตุที่ชาวเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย
สาเหตุที่ชาวเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย การที่ชาวเวียดนามต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ ส่วนใหญ่อพยพเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและการเบียดเบียนศาสนา อีกทั้งถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกสงคราม ทั้งสองประการแตกต่างกัน ประการแรกชาวเวียดนามมาด้วยความสมัครใจแบบหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่ประการหลังนั้นโดยทั่วไปถูกบังคับเข้ามา ชาวเวียดนามสมัครใจเข้ามาในประเทศไทยเพราะไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพ อุดมสมบูรณ์และเป็นที่อาศัยอยู่อย่างสงบสุขได้ สำหรับพวกเวียดนามลี้ภัยนั้นไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่าจะเดินทางมาทางตะวันตกเข้ามายังดินแดนไทยเพราะทางตะวันออกของเวียดนามเป็นทะเลจีนใต้ การอพยพเข้ามาเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและศาสนา ถึงแม้ว่าเราไม่อาจกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่าชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฏหลักฐานว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) กษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา มีหมู่บ้านชาวเวียดนามตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านชาวต่างชาติประเทศอื่นๆในอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาแล้ว พวกเวียดนามอาศัยในกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวโคชินจีนเป็นส่วนมากหมู่บ้านชาวเวียดนามเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ค่ายชาวโคชินไชน่า”  ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าชาวโคชินจีนสามารถเดินทางมากรุงศรีอยุธยาได้โดยทางทะเล ซึ่งสะดวกกว่าพวกเวียดนามจากอันนัมหรือตังเกี๋ยที่ต้องเดินทางบก  ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมาได้มีชาวเวียดนามพากันเดินทางมาจากอันนัม ตังเกี๋ย และโคชินจีน ทั้งทางบกและทางเรือมาอาศัยยังอยุธยาและจันทบุรี และส่วนน้อยเดินทางไปยังพิษณุโลก มะริด ตะนาวศรี การเดินทางไปยังมะริดและตะนาวศรีนั้นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามาเพื่อฝึกสอนศาสนาและพร้อมกันนั้นก็ได้ลี้ภัยทางศาสนาด้วย 
 
สาเหตุที่ชาวเวียดนามต้องลี้ภัยเข้ามาในสมัยนี้เป็นเพราะในเวียดนามเกิดการสู้รบชิงอำนาจระหว่างตระกูลตรินท์ ซึ่งปกครองอยู่ในตังเกี๋ยและตอนเหนือของอันนัม กับตระกูลเหงียน ซึ่งปกครองอันนัมตอนใต้และโคชินจีนในเวลาต่อมา การสู้รบกินเวลากว่าครึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2163-2217) นอกจากนั้นพวกเวียดนามยังต้องลี้ภัยศาสนาด้วยเพราะทั้งสองตระกูลมีนโยบายกดขี่ข่มเหงพวกที่นับถือคริสต์ศาสนา หมายถึงบาทหลวงนักสอนศาสนาชาวตะวันตกและพวกเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนา  สำหรับประเทศไทยในขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงมีพระราโชบายส่งเสริมการค้าขายและการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศทรงให้เสรีภาพทางการค้าและทรงมีขันติธรรมทางศาสนา จึงดึงดูดให้ชาวต่างประเทศเข้ามาแลพักอาศัยเป็นอันมากดังที่ ซีโมน เดอ ลา ลูแบร์ (Simone De la Loubere) ราชทูตฝรั่งเศสในคณะทูตชุดที่ 2 ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 กล่าวไว้ในจดหมายเหตุของเขาว่า 
 
“ชาวต่างประเทศมีจำนวนมาก อพยพมาจากบ้านเมืองต่างๆโผเข้ากรุงสยามแต่กาลก่อน เพราะข้อที่มีความชอบธรรมมีอิสระ ค้าขายได้ตามชอบใจมีผู้บอกเล่าว่า มหานครสยามมีมนุษย์ต่างชาติมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งทำมาหากินเลี้ยงชีพอยู่ถึง 40 ภาษา”
 
ชาวต่างชาติที่ตั้งภูมิลำเนาในกรุงศรีอยุธยาได้รับ “ความชอบธรรมที่จะเลี้ยงชีพอยู่ตามยถาสุขได้ตามธรรมเนียมของตน สุดแท้แต่จะศรัทธาสักการบูชาศาสนาไหนได้โดยสมัคร” 
 
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แก่ผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระราชทานที่ดินให้ได้อาศัยอยู่เป็นหมวดหมู่ตามพรรคพวกของชาติตน ที่ดินพระราชทานอยู่รอบนอกเขตพระนครห่างจากชุมชนที่อาศัยของชาวสยาม หมู่บ้านชาวต่างชาติได้แก่ชาวโปรตุเกส จีน มลายู ญี่ปุ่น ฮอลันดา และเวียดนาม เป็นต้น หมู่บ้านชาวต่างชาติมักเรียกกันในหมู่คนไทยว่า “บ้าน” แต่ชาวต่างชาติเองเรียกว่า “ค่าย” การที่ชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยานี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงคุณธรรมดังกล่าว ชาวเวียดนามจึงพากันเข้ามาเพื่อหวังผลกำไรทางการค้าด้วยอย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาเมื่อได้เกิดการจลาจลสู้รบเพื่อชิงราชบังลังก์ใน พ.ศ.2231 ก็ทำให้ชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งอพยพออกจากกรุงศรีอยุธยาไป ต่อมาตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. 2231-2310) ไทยได้หันไปดำเนินนโยบายไม่คบค้ากับชาวตะวันตกเช่นแต่ก่อน นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2241-2251) เป็นต้นมา พระองค์ทรงชิงชังชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสและพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาอย่างรุนแรง จนถึงกับมีการทารุณกรรมเพราะระแวงว่าจะเป็นผู้นำอันตรายมาคุกคามเอกราชของประเทศ แม้ว่าในปลายรัชกาลพระองค์จะทรงลดหย่อนความรุนแรงและทรงเมตตาให้ชาวเวียดนามได้อยู่อาศัยในที่เดิมและปฏิบัติกิจทางศาสนาได้ตามใจชอบก็ตามความสงบสุขที่เคยมีก็ถูกกำจัดให้น้อยลงกว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งนี้ เนื่องจากชาวเวียดนามมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงฝรั่งเศส  ซึ่งเป็นชาติที่ไทยระแวงว่าจะทำให้เกิดอันตรายได้ จำนวนชาวเวียดนามที่ยังคงสมัครอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจึงเหลือน้อยมากและที่เหลือก็เป็นพวกที่ศรัทธาในศาสนาอย่างจริงจังเท่านั้น ดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวเวียดนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นพวกที่ลี้ภัยทางการเมืองและศาสนามากกว่าจะเข้ามาเพราะเห็นแก่ความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย 
 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยเป็นจำนวนมากและหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จันทบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเวียดนามในกรุงเทพฯ ได้อาศัยอยู่ในที่ต่างๆกัน เป็นกลุ่มๆที่สำคัญคือ บ้านญวนพาหุรัด (ตำบลบ้านหม้อ ถนนพาหุรัด) บ้านญวนตำบลบางโพ และบ้านญวนตำบลสามเสนเวียดนามพวกแรกที่เข้ามาเป็นพวกที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้รับพระราชทานที่นอกฝั่งพระนครทางตะวันออก คือ แถวถนนพาหุรัดในปัจจุบัน ให้เป็นที่อยู่อาศัยเรียกว่า บ้านญวนพาหุรัด เวียดนามพวกนี้ได้แก่ องเชียงชุน พระอนุชากษัตริย์เมืองเว้และบริวารซึ่งลี้ภัยทางการเมืองจากพวกกบฏไตเซินใน พ.ศ. 2321 (บ้างว่า พ.ศ. 2319) มาจากเมืองบันทายมาศหรือฮาเตียน หลักฐานระบุว่าต่อมาองเชียงชุนต้องพระราชอาญาประหารชีวิตพร้อมกับบริวารเพราะคิดหนีกลับเวียดนาม (บ้างว่าเป็นเพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนเข้าพระทัยว่าองเชียงชุนขโมยเพชรกลืนไว้ในท้อง ในพงศาวดารญวนกล่าวว่าองเชียงชุนถูกประหารเนื่องจากมีสลัดเวียดนามปล้นเรือสินค้าไทยทำให้ทรงพิโรธ ประกอบกับที่พวกเขมรฟ้องร้องว่าองเชียงชุนเป็นไส้ศึกเวียดนาม) จำนวนชาวเวียดนามที่ถูกประหารชีวิตกับองเชียงชุนระบุไว้ว่ามี 54 คน ที่เหลือซึ่งไม่ปรากฏจำนวนนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเนรเทศออกไปอยู่นอกเขตพระนครหมด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ชาวเวียดนามเหล่านี้กลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ  เช่นเดิม พร้อมทั้งทรงอุดหนุนพระราชทานเงินทอง เสื้อผ้า เสบียงอาหาร และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เดิมคือที่หนองระโหน ตำบลบ้านหม้อ ถนนพาหุรัดในปัจจุบันและที่ตำบลบางโพ 
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ.2325 -2352) องเชียงสือ หรือเหงียนฟุกอันท์  เจ้าเมืองไซ่ง่อนนัดดาขององเชียงชุนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพร้อมข้าบริวารและทหารเวียดนามโดยลี้ภัยกบฏไตเซินมาเช่นกัน พำนักอยู่ที่เกาะกระบือใน พ.ศ. 2324 พระยาชลบุรีลาดตระเวนพบเข้าจึงได้นำมาเข้าเฝ้าใน พ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงกรุณาต่อองเชียงสืออย่างจริงจัง โปรดฯให้พำนักอยู่กับบริวารที่ใต้บ้านต้นสำโรง ตำบลคอกกระบือ (คอกควาย) ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ปากคลองผดุงกรุงเกษม) ทรงชุบเลี้ยงเทียบเท่าเจ้าเขมร คือ พระราชทานเบี้ยหัวหวัดเงินปี ปีละ 5 ตำลึง เครื่องยศอันมี พานหมาก คนโท กลดคันสั้น บริวารญาติวงศ์ที่ติดตามมาก็ได้รับพระราชทานเบี้ยหัวหวัดเช่นกัน และชุบเลี้ยงพวกเวียดนามข้าราชการให้ขึ้นกรมต่างๆ นอกจากนั้นทรงมี พระบรมราชโองการมายังเจ้าเมือง กรมการเมืองสมุทรปราการให้ปล่อยพวกเวียดนามที่เป็นพรรคพวกองเชียงสือเข้าออกทำมาหากินในท้องทะเลได้โดยสะดวก ในคราวที่ลี้ภัยมาครั้งแรก  บริวารที่ติดตามมายังกรุงเทพฯมีประมาณ 20 คน    ต่อมาพวกเวียดนามที่สนับสนุนพระองค์ได้พากันทยอยเดินทางจากเวียดนามเข้ามาในไทย ส่วนมากพักอยู่แค่จันทบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงส่งกองทัพไปช่วยองเชียงสือสู้รบปราบปรามกบฏไตเซินในเวียดนามสองครั้ง (พ.ศ. 2326 และ พ.ศ. 2327) (ในหลักฐานเวียดนามว่าช่วยครั้งเดียว) ปรากฏว่าพ่ายแพ้มาทั้งสองครั้งนั้นมีทหารเวียดนามในกองทัพขององเชียงสือได้ติดตามองเชียงสือกลับมายังกรุงเทพฯอีก ในครั้งนี้เป็นขุนนางและนายทหาร 28 คน เป็นทหารและกลาสีชั้นนายพลราว 200 คน มากับเรือสำเภา 5 ลำ นอกจากนั้นพวกเวียดนามที่สวามิภักดิ์ต่อตระกูลเหงียนก็ได้แตกซ่านเซ็นหลบซ่อนพวกไตเซินและพาครอบครัวลี้ภัยเข้ามาในเขตสยาม โดยเฉพาะพวกเวียดนามแคว้นโคชินจีนอาจประมาณจำนวนได้ราวพันคนเมื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าให้องเชียงสือย้ายไปพำนัก ณ ตำบลโคกหลวง ชาวเวียดนามจำนวนพันคนนี้ดูเหมือนว่าจะมากเกินไปและไม่น่าเป็นไปได้ แต่พงศาวดารญวนระบุว่าหลังจากที่เข้ามาในกรุงเทพฯอีกครั้ง บรรดานายทหารที่ซ่องสุมผู้คนอยู่นอกอาณาเขตสยามมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเมืองบันทายมาศ  ได้เข้ามาติดต่อกับองเชียงสืออยู่เนืองๆ ระหว่างนี้ทหารเวียดนามอีกประมาณ 600 คนเศษซึ่งนำโดยลาวังกุน ทหารเอกขององเชียงสือได้พากันลงเรือเข้ามากรุงเทพฯ องเชียงสือไม่ได้พำนักอยู่ในไทยอย่างเปล่าประโยชน์ได้ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยถวายขนิษฐภคินีเป็นข้าบาทบริจาริกา และอาสานำกองกำลังทหารเวียดนามเข้าร่วมทำสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2329 โดยทำหน้าที่เป็นทัพหน้าจนได้รับชัยชนะ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าจำนวนชาวเวียดนามขององเชียงสือน่าจะมีถึงพันคนได้ ใน พ.ศ. 2330 องเชียงสือช่วยปราบปรามกบฏแขกมลายู โดยใช้ให้ทหารเวียดนามต่อเรือรบสิบลำสำหรับคอยท่ากบฏที่เกาะช้าง  และให้เลวังกุนนำกำลังช่วยสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาถปราบปรามจนสำเร็จอีก อย่างไรก็ดีใน พ.ศ. 2330 องเชียงสือลอบหนีจากกรุงเทพฯไป โดยเรือ 4 ลำ พวกที่ติดตามไปมีแต่ญาติวงศ์และบริวารที่ใกล้ชิดซื่อสัตย์ประมาณ 150 คน ภายหลังแม้จะมีคนเวียดนามติดตามองเชียงสือออกไปช่วยรบในเวียดนามอีก จำนวนคนเวียดนามบริวารองเชียงสือคงเหลืออยู่ในสยามอีกเป็นจำนวนมาก มีคนเวียดนามจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะกลับเวียดนามเพื่อไปสู้รบ เลือกที่จะอยู่ในสยามต่อไป ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเวียดนามเริ่มชินกับชีวิตที่สงบสุขในกรุงเทพฯการกลับไปเวียดนามเป็นการเสี่ยงชีวิตเพราะความหวังที่จะเอาชนะนั้นดูเลื่อนลอยเต็มที่ นอกจากนั้นพวกเวียดนามเหล่านี้เป็นทหารมาตัวเปล่าและได้แต่งงานเป็นครอบครัวตั้งหลักแหล่งกับคนไทยในกรุงเทพฯแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงย้ายพวกเวียดนามเหล่านี้จากคอกกระบือมารวมอาศัยที่ตำบลบางโพ เนื่องจากสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ทรงขัดเคืองพระทัยพวกเวียดนามเป็นอย่างมากที่องเชียงสือลอบหนีไปหลังจากที่องเชียงสือจากไปไม่นานนัก เหงียนวินท์ดึก  (Nguyen Huynh Duc) แม่ทัพญวนผู้เคยคุมทัพทางใต้ขององเชียงสือได้พ่ายแพ้พวกไตเซินใน พ.ศ. 2326 ลี้ภัยเข้ามาในสยามโดยผ่านทางลาวพร้อมกับนำกำลังคนราว 5,000 คน เข้ามาถึงกรุงเทพฯด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงชักชวนให้เหงียนวินท์ดึก ทำราชการอยู่ที่กรุงเทพฯแต่เมื่อเขายืนยันที่จะตามออกไปช่วยองเชียงสือจึงทรงพระกรุณาจัดหาเรือเสาเรือใบให้ไปแต่เหงียนวินท์ดึกจำต้องทิ้งพวกเวียดนามที่แสดงความจำนงจะอยู่ต่อไปในกรุงเทพฯไว้เป็นที่เชื่อว่าราว 2 ใน 3 หรือจำนวน 1,000-2,000 คนตกลงใจเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ พวกเวียดนามเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนรวมกับพวกญวนบางโพ ส่วนพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาอยู่ที่สามเสน พวกเวียดนามที่ตกค้างในกรุงเทพฯรับราชการทหารในกองทัพสยามโดยรับยศเทียบเท่ายศฝ่ายเวียดนามทงดุงเกียน (Thong Dung Gian) และโฮเดืองดัก (Ho Duong Dac) นายทหารเวียดนามได้รับเลือกเป็นหัวหน้าหมู่บ้านและผู้บังคับกองทหารขึ้นตรงต่อสมุหพระกลาโหม 
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411) ได้มีพวกเวียดนามลี้ภัยการเมืองและศาสนาอาศัยอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก และนับเป็นครั้งแรกในรัชกาลนี้ที่สยามได้แสดงความเอาใจใส่เรื่องการลี้ภัยของคนเวียดนามและกระตือรือร้นเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะมีการลี้ภัยขึ้นอย่างจริงจังโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีรับเอาชาวเวียดนามเอาไว้ในประเทศโดยมีพระบรมราชโองการว่า 
 
“ ...พวกญวนเข้ารีตที่เมืองเว้  เมืองโจดก และไซ่ง่อน  มีมากตลอดขึ้นมาถึงเมืองโจด ลำน้ำ (เข้าใจว่าเป็นเมืองล่านำหรือแง่อาน-ผู้เขียน) เมืองตังเกี๋ย เมืองกวางเบือง ต่อเขตแดนแขวงเมืองพวร แลหัวเมืองลาวฟากโขงตะวันออก ถ้าญวนเข้ารีตทนฝีมือญวนไม่ได้คงพาครอบครัวหลบหนีมาทางเมืองมหาไชย เมืองพวน เมืองพวนกับเมืองหลวงพระบาง หนองคาย นครพนมเขตแดนติดต่อกัน ให้เจ้าเมืองหลวงพระบาง พระพนมนคราปุริก พระประทุมเทวาภิบาล ท้าวเพี้ยมีปัญญา คุมไพร่ออกลาดตระเวนพบปะญวนเข้ารีตแตกหนีมาก็ให้พูดจาชักชวนเข้ามาไว้ในเมืองหลวงพระบาง เมืองหนองคาย เมืองนครพนมให้ได้จงมาก...” พวกเวียดนามลี้ภัยทางศาสนาส่วนมากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามเดินทางโดยทางเรือเลียบมาทางชายฝั่งเขมรมายังบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือใต้ของสยามและได้กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มตามเมืองสำคัญ เช่น จันทบุรี ขลุง ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสงคราม ส่วนพวกที่เข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาได้ขึ้นบกที่กรุงเทพฯ อยุธยา และนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ)จำนวนผู้ลี้ภัยคราวนี้มีประมาณ 5,000 คน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกเวียดนามที่ลี้ภัยทางการและพวกที่ลี้ภัยศาสนาเดินทางเข้ามาโดยผ่านทางอาณาจักรลาว และมาอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงพวกเวียดนามที่มาจากเมืองในเขตอันนัมตอนเหนือ เช่น เมืองทันหัว (Thanh Hua) แง่อาน (Nghe An) และฮาตินฮ์ (Ha Tinh) มักมาอาศัยบนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พวกเวียดนามหลายร้อยคนได้อาศัยอยู่ที่เมืองท่าอุเทน ไชยบุรี หนองคาย นครพนม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ปกครองหัวเมืองลาว จัดลาดตระเวนเกลี้ยกล่อมพวกเวียดนามลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาทางเขตลาวให้เข้ามาอยู่ในเขตสยามให้ได้มากเช่นกัน อย่างไรก็ตามพวกเวียดนามที่เกลี้ยกล่อมมานั้นเป็นพวกเวียดนามที่หนีความอดอยากมาทั้งสิ้น ด้วยเนื่องจากเกิดภัยแล้งในเวียดนามเป็นเวลานาน การเกลี้ยกล่อมดำเนินมาจนถึง พ.ศ. 2405 ปรากฏว่าได้คนเวียดนามเป็นจำนวน 133 คน โปรดเกล้าให้ทำมาหากินอยู่ในเขตเมืองนครพนมและสกลนคร ชาวเวียดนามที่ต้องลี้ภัยทางศาสนามายังสยามนั้น เนื่องจากการที่พระจักรพรรดิมินมางทรงนำนโยบายการกดขี่ข่มเหงพวกที่นับถือคริสต์ศาสนากลับมาใช้อีก  ทรงออกพระราชกฤษฎีกาจนถึงขั้นประหัดประหารพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาโดยทั่วไปใน พ.ศ. 2377   อย่างไรก็ดีในสมัยพระจักรพรรดิมินมาง การข่มเหงพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาไม่เด็ดขาดรุนแรงเท่ากับในรัชกาลต่อมา คือ สมัยพระจักรพรรดิตือดึ๊ก (พ.ศ. 2391-2426) พระจักรพรรดิตือดึ๊กทรงใช้นโยบายนี้ตอบโต้การแทรกแซงทางการเมืองการปกครองเวียดนามของพวกบาทหลวงและนักสอนศาสนาชาวตะวันตก โดยให้ทำลายชีวิตและหมู่บ้านพวกเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนา ชาวเวียดนามเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาหลายพันคนถูกประหารชีวิต เมื่อฝรั่งเศสใช้กำลังบุกเมืองท่าตูราน (ดานัง) เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2401 และรุกรานจนได้เข้าครอบครองแคว้นโคชินจีนนั้น พระจักรพรรดิทรงเข้าพระทัยว่าพวกเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนาสนับสนุนพวกฝรั่งเศส จึงทรงกดขี่กระทำการทารุณกรรมพวกเวียดนามเหล่านี้รุนแรงขึ้น 
 
“ ...ญวนได้ตั้งค่าย คอยจับญวนเข้ารีตฝรั่ง ที่ด่านมีไม้กางเขนเป็นรูปพระของฝรั่ง ถ้าผู้ใดมาถึงด่านไม่ข้ามไม้กางเขน ญวนจับว่าเข้ารีต ถ้าผู้ใดข้ามไปนายด่านปล่อยตัวไป ญวนจับได้ญวนเข้ารีตฝรั่งแล้วให้เฆี่ยนถ้ามีพวกญวนเข้ารีตตั้งแต่เมืองป่าศักตลอดจนมาจนถึงเมืองโจดก พากันสดุ้งตื่นหลบหนี...เดี๋ยวนี้ญวนคิดกำจัดญวนเข้ารีตบันดาอยู่ในเขตแดนเมืองญวนทุกบ้านเมือง...”
 
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสเริ่มบุกเวียดนามโดยยึดเมืองตูรานและเวียดนามสู้รบกับฝรั่งเศสและพ่ายแพ้จนต้องตกอยู่ในฐานะรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2427 ทำให้มีเวียดนามหลบหนีลี้ภัยสงครามเข้ามาอาศัยในสยามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเวียดนามที่หลบหนีการปกครองของฝรั่งเศสและพวกชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศส ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสำหรับสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
การถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกสงคราม
ประเพณีการจับข้าศึกเป็นเชลยกลับบ้านเมืองนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นจุดมุ่งหมายอันสำคัญยิ่งของการทำสงครามของสยามและประเทศใกล้เคียง “การกวาดต้อนผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์” เพราะไม่เป็นแต่เพียงการทอนกำลังของฝ่ายข้าศึกในการทำสงครามครั้งต่อไป แต่ยังเป็นการทดแทนพลเมืองที่สูญเสียไปในระหว่างการรบด้วยและเพื่อเป็นรางวัลแก่นายทัพนายกองให้รับเอาเชลยนั้นไปเป็นทาส   นอกจากนั้นในสมัยนั้นยังถือว่ากำลังคนเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศด้วย  การทำสงครามระหว่างสยามและเวียดนามก็เช่นกัน  คราวใดที่สยามชนะก็จะกวาดต้อนเชลยเวียดนามมาไว้ในเขตสยาม   การกวาดต้อนชาวเวียดนามปรากฏในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า   เมื่อทรงนำกองทัพโจมตีเมืองบันทายมาศใน พ.ศ. 2314 ทรงฆ่าฟันเวียดนามในบันทายมาศเสียเกือบสิ้นเว้นแต่พวกไม่เป็นภัยคือพวกเข้ารีต (นับถือคริสต์ศาสนา) ที่แก่ชราถูกกวาดต้อนเข้ามามีจำนวน 46 คน และให้อยู่รวมกับพวกถือคริสต์ศาสนาในธนบุรีซึ่งลี้ภัยจากกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดีไม่จำเป็นเสมอไปที่ฝ่ายชนะจะเป็นผู้กวาดต้อนผู้คนฝ่ายแพ้ไปเป็นเชลย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามทำสงครามกับเวียดนามยืดเยื้อถึง 15 ปี ซึ่งตรงกับรัชกาลพระจักรพรรดิมินมาง จักรพรรดอเทียวตรี และพระจักรพรรดิตือดึ๊กแห่งเวียดนาม หลักฐานสยามได้บันทึกเกี่ยวกับการได้ชาวเวียดนามจากสงครามครั้งนี้มาไว้ในสยามในลักษณะต่างๆ  กัน เมื่อแรกเริ่มการสู้รบ ใน พ.ศ. 2376 เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทัพพร้อมกับทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลังไปโจมตีไซ่ง่อนระหว่างทางจนถึงเมืองโจดกได้มีการกวาดต้อนจับครัวเวียดนามไว้ได้มากเป็นภาระยุ่งยากในการเดินทัพต่อไปจะส่งกลับไปกรุงเทพก็ไม่สะดวก เนื่องจากไม่มีเรือนอกจากเรือรบจะพักไว้ที่โจดกก็ไม่ไว้ใจ ชาวเวียดนามเหล่านี้เป็นราษฎรมีจำนวนชายฉกรรจ์ราว 80 คนเศษ เจ้าพระยาดินทร์เดชาจึงตัดสินใจประหารชีวิตหมด ส่วนครอบครัวของชายฉกรรจ์เหล่านี้ให้ส่งไปพักไว้ที่เมืองบันทายมาศ  นอกจากจะใช้การบังคับกวาดต้อนในคราวศึกสงครามแล้ว การเกลี้ยกล่อมแล้วกวาดต้อนเข้าเขตสยามก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้ชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเวียดนามที่เข้ารีต เมื่อกองทัพสยามมาถึงคลององเจืองใน พ.ศ. 2377 ได้ใช้บาทหลวงมีชื่อว่า เป๋ ซึ่งมาพร้อมกับพระยาวิเศษสงคราม (หัวหน้าหมู่บ้านเขมรเชื้อสายโปรตุเกสที่ตำบลสามเสน) เป็นผู้เกลี้ยกล่อมได้พวกเวียดนามเข้ารีตที่ตั้งบ้านเรือนอยู่คลององเจืองมาได้ทั้งหมดประมาณ 300 คนเศษ ต่อมาก็ได้เวียดนามเข้ารีตในเมืองโจดกมาเพิ่มเติม พวกเวียดนามเข้ารีตเหล่านี้เมื่อมาถึงกรุงเทพฯพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่เหนือบ้านเขมรเข้ารีต ริมวัดส้มเกลี้ยง เพื่อให้เป็นที่อาศัย และให้สักเข้าหมวดพวกเวียดนามว่า “ญวนสวามิภักดิ์” ในปีเดียวกันขณะที่ทัพบกและทัพเรือสยามต้องถอยมาอยู่ที่เมืองพระตะบองและจันทบุรี ทัพที่สามซึ่งเป็นทัพหัวเมืองลาวตะวันออกได้มาเกือบถึงไซ่ง่อนและต้องถอยกลับเช่นกันระหว่างทางได้กวาดต้อนผู้คนกลับไปด้วยเป็นจำนวนมาก ทางด้านเมืองพวนและเชียงขวางได้รายงานว่าฆ่าทหารเวียดนามได้ราว 300 คนเศษและจับเป็นได้ 41 คน 
 
ใน พ.ศ. 2383 ขณะที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชาคุมทัพอยู่ที่เมืองพระตะบอง  พวกทหารเวียดนามในค่ายขององเดียญกุญแม่ทัพเวียดนามที่เมืองกำพงธมหนีไข้ป่วง (โรคระบาด มีอาการท้องร่วงและอาเจียน) ออกมาหาพวกเขมร 134 คนต่อมาหนีจากค่ายเมืองพนมเปญอีกราว 200 คน เมื่อส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สักข้อมือเป็นกองอาสารบญวนและพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าน้อยยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ไว้ใช้สอยพวกนี้อาศัยที่ตำบลบางโพ ระหว่าง พ.ศ. 2376-2384 พวกเขมรที่นิยมฝ่ายไทยรบเวียดนามโดยใช้วิธีรบแบบกองโจรสามารถจับพวกเวียดนามมาได้เป็นจำนวนมากกว่า 2,000 คน เนื่องจากมีการจ่ายรางวัลคือ จับได้มากกว่า 1 ตำลึง ถ้าน้อยได้ 1 บาทเวียดนามเหล่านี้โปรดเกล้าให้ส่งไปไว้ยังเมืองกาญจนบุรีและหัวเมืองทางเหนือ เช่น พิษณุโลกและตาก แต่ถ้าเป็นเวียดนามเข้ารีตโปรดเกล้าให้ส่งไปไว้ที่สามเสน นอกจากการเข้ามาด้วยเหตุเพื่อลี้ภัยและถูกกวาดต้อนเป็นเชลยแล้วยังมีอีกกรณีหนึ่ง คือ เวียดนามเมืองพุทไธมาศซึ่งขึ้นตรงต่อไทยในฐานะประเทศราช ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวเวียดนามเมื่อเข้ามาในเมืองหลวงได้พาบริวารเวียดนามและจีนเข้ามาด้วย ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาราชาเศรษฐีและบริวารอาศัยอยู่ที่ตรอกพระยาไกร สามเพ็งในปัจจุบัน จนกระทั่งเมื่อพระยาราชาเศรษฐีถึงแก่อสัญกรรมจึงถูกไล่ที่เพื่อทำตลาด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานที่ใหม่ให้พวกเวียดนามอาศัยอยู่ใต้วัดสามเพ็ง (วัดประทุมคงคาราม) อย่างไรก็ดีเวียดนามบริวารเจ้าเมืองพุทไธมาศนี้เข้าใจว่าคงมีจำนวนไม่มากนัก 
 
อนึ่งนอกจากเวียดนามลี้ภัยและถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยสงครามระหว่างสยามกับเวียดนามแล้ว  ยังมีเวียดนามที่เข้ามาในสยามในฐานะคนในบังคับฝรั่งเศสอีกด้วย หลังจากที่สยามทำสัญญา ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) กับฝรั่งเศสยังผลให้คนในบังคับฝรั่งเศสชาติเอเชียได้แก่  ชาวเวียดนาม เป็นต้น ได้รับความคุ้มครองทางการศาลให้อยู่ในอำนาจปกครองของกงศุลฝรั่งเศสในสยามในระยะนี้พวกเวียดนามได้พากันเดินทางเข้ามาหาผลประโยชน์และติดตามชาวฝรั่งเศสเข้ามาเป็นลูกจ้างจำนวนมาก เวียดนามเหล่านี้มักรวมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คือ ที่ตำบลบางรักและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือที่อุบลราชธานี เมื่อฝรั่งเศสยึดจันทบุรี เพื่อเป็นประกันให้สยามทำตามข้อตกลงในสัญญาที่สยามได้ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้นำกองทหารเวียดนามมาประจำอยู่เป็นจำนวนมากแต่คนเวียดนามเหล่านี้ได้มาอาศัยอยู่เป็นการชั่วคราว เมื่อฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีเข้าใจว่าคงจะกลับออกไปเกือบทั้งหมดด้วยจำนวนชาวเวียดนามในสยาม หลักฐานที่ระบุเหตุและจำนวนชาวเวียดนามที่เข้ามาแต่ละคราวไม่อาจช่วยให้สรุปได้ว่าจำนวนเวียดนามที่อาศัยอยู่มีทั้งหมดเท่าใด เป็นที่เชื่อแน่ว่าชาวเวียดนามเหล่านั้นนอกจากที่เข้ามากับองเชียงสือแล้วก็มีจำนวนน้อยยักที่จะกลับออกไปอีก เนื่องจากสยามเป็นชาติที่มีขันติธรรมทางศาสนาและให้เสรีภาพในการเป็นอยู่พอสมควร ประกอบกับชาวเวียดนามมีทางทำมาหากินตั้งหลักแหล่งอย่างเป็นสุขแล้วนอกจากนั้นการคมนาคมติดต่อในสมัยนั้นก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยเหตุที่การเดินทางทุรกันดารนี้เอง พวกเวียดนามต้องเสียชีวิตไปมากระหว่างทางที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งที่จับพวกเวียดนามตังเกี๋ยที่ลี้ภัยพวกไตเซินใน พ.ศ. 2333 ได้มาจากลาวราว 400 คน แต่ก็ตายไปราว 300 คน
 
ดังนั้น จำนวนชาวเวียดนามที่ระบุในบัญชีที่นำส่งเข้ามา เช่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับที่ได้ส่งเข้ามาจริงๆย่อมน่าจะไม่ตรงกันได้ นอกจากนั้นยังไม่อาจหาหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนที่แน่นอนของชาวเวียดนามที่เข้ามาด้วยสาเหตุลี้ภัยและที่อาศัยในแต่ละแห่งได้ พวกเหล่านี้เมื่อได้เข้ามาในสยามแล้ว พากันย้ายไปยังจังหวัดต่างๆจึงเป็นการยากที่จะประมาณจำนวนทั้งหมดได้  ถึงกระนั้นได้มีการประมาณอย่างคร่าวๆว่า มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในสมัยนั้นราว 6,000-8,000 คน หลักฐานร่วมสมัยเช่นบันทึกของปัลเลอกัวซ์ (บาทหลวงฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาอยู่ในสยามตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอยู่นานถึง 24 ปี) ได้กล่าวถึงชาวเวียดนามเฉพาะในกรุงเทพฯว่ามีถึงราว 12,000 คน จากจำนวนพลเมืองในกรุงเทพฯทั้งหมด 404,000 คน (ไม่นับรวมกับพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาชาติต่างๆ ซึ่งมีราว 4,000 คน และเป็นชาวเวียดนาม 1,400 คน) เซอร์จอห์น บาวริง เป็นอีกผู้หนึ่งที่บันทึกจำนวนเวียดนามไว้ แต่กล่าวเฉพาะพวกเวียดนามเชลยศึกว่ามีถึงหนึ่งหมื่นคน สำหรับเวียดนามในกรุงเทพฯนั้นเขาอ้างจากบันทึกของปัลเลอกัวซ์เปรียบเทียบกับหนังสือ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับหมู่เกาะอินเดีย” (Notices of Indian Archipelago) ของมัวร์ (Moor) มัวร์ว่าเวียดนามในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2371 มีประมาณ 1,000 คน และประชาชนในกรุงเทพฯทั้งหมดมี 376,500 คน ซึ่งบาวริงเชื่อ ปัลเลอกัวซ์มากกว่าเพราะว่ามัวร์ประมาณไว้น้อยเกินไปมาก นอกจากนั้นที่แน่นอนคือ พ.ศ. 2377 เวียดนามในกรุงเทพฯมีมากกว่า 2,000 คน อย่างไรก็ดีจำนวน 12,000 คน ที่ปัลเลอกัวซ์ว่าได้ดูมากเกินไปเช่นเดียวกันกับที่ของมัวร์น้อยไป ใน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สำรวจประชากร ทำบัญชีสำมะโนครัวอย่างละเอียด แต่ทำสำเร็จได้เพียง 12 มณฑล จำนวนคนทั้งหมด 3,308,032 คน เป็นเวียดนาม 4,757 คน  (ในจำนวนนี้เป็นเวียดนามในมณฑลปราจีนบุรีถึง 1,124 คน ส่วนที่เหลือเข้าใจว่าเป็นของมณฑลจันทบุรีเป็นส่วนมาก) สำหรับมณฑลที่เหลือที่ยังไม่ได้สำรวจนั้นมีกรุงเทพฯและอุดรฯซึ่งเป็นแหล่งที่อาศัยของชาวเวียดนาม ในพ.ศ. 2452 การสำรวจมณฑลกรุงเทพฯทั้งหมด 522,054 คน และในบัญชีแยกชาติ ส่วนอารามเป็นเวียดนาม 74 คน จาก 18,625 คน สำหรับมณฑลอุดรฯใน พ.ศ. 2452 สำรวจได้เวียดนาม 963 คน ซึ่งเป็นระยะลี้ภัยฝรั่งเศสเฉพาะในจังหวัดนครพนมมีเวียดนามเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาถึง 200 คนเศษ และเมื่อสำรวจใน พ.ศ. 2456 ปรากฏจำนวนเวียดนามในมณฑลอุดรฯถึง 1,567 คน เมื่อประมาณจำนวนชาวเวียดนามที่ได้จากการสำรวจกระทั่งถึง พ.ศ. 2456 อย่างคร่าวๆแล้วอาจกล่าวได้ว่ามีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ทั้งหมดกว่า 10,000 คน 
 
เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจประมาณจำนวนชาวเวียดนามที่เข้ามาในสยามก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ญวนเก่า) ให้แน่นอนได้มากกว่านี้ซึ่งโดยทั่วไปนั้นเข้าใจกันว่าอาจทำไม่ได้เลยที่เดียว เนื่องจากหลักฐานและบันทึกการสำรวจที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์และถูกต้องเพียงพอ แต่การประมาณจำนวนเชื้อชาติ “ญวนเก่า”  ในปัจจุบันที่ยังคงความเป็นเวียดนามอยู่นั้นพอจะกระทำได้ แม้ว่าจะต้องประสบกับอุปสรรคมากมายคือ ผู้ค้นคว้ายังคงไม่อาจพึ่งข้อมูลจากรัฐบาลได้เช่นเดิม ประการที่สำคัญคือ สภาวะการเมืองปัจจุบันทำให้การสำรวจไม่ได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควร ผู้ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวน “ญวนเก่า” ในปัจจุบันได้ดีคือ ปีเตอร์ เอ พูล (Peter A. Poole) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกา ซึ่งได้ค้นคว้าและเขียนหนังสือเกี่ยวกับชาวเวียดนามในประเทศไทยหลายเล่ม เขาได้กล่าวถึงความยุ่งยากในการสำรวจว่าเกิดจากชาวเวียดนามพยายามปกปิดเชื้อชาติของตนอย่างจริงจัง แต่ในที่สุดราว พ.ศ. 2510 เขาสามารถหาตัวเลขแสดงจำนวนชาวเวียดนามที่อาศัยในแหล่งสำคัญได้จากการสัมภาษณ์บาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกและเวียดนามคริสต์จากหมู่บ้านเวียดนาม 159 แห่ง ประมาณจากจำนวนเวียดนามคริสต์ที่พูดและอ่านภาษาเวียดนามและไม่ได้แต่งงานกับคนเชื้อชาติไทยและจีน