องค์ที่ 223 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 4 (Pope Paul IV ค.ศ. 1555-1559)

  • Print
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 4
(Pope Paul IV ค.ศ. 1555-1559)
 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า โจวันนี ปิเอโตร การาฟา เกิดใกล้เมืองเบเนเวนโต เนเปิล อิตาลี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1476 เมื่อเรียนจบแล้วก็เดินทางไปโรม และได้รับตำแหน่งหน้าที่สูงในสันตะสำนัก ด้วยแรงสนับสนุนของลุงคือ พระคาร์ดินัลคาราฟา ทำหน้าที่พระสังฆราชแห่งทีอาเต ค.ศ. 1502-24 เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาไปประจำอังกฤษ ค.ศ. 1513-14 และเป็นทูตประจำสเปน ค.ศ. 1515-20 ในปี ค.ศ. 1524 ท่านรู้สึกเบื่อหน่ายหน้าที่ต่างๆ จึงขอลาออกจากทุกตำแหน่ง มาดำรงชีวิตเป็นนักพรตเดินตามพระวรสารอย่างใกล้ชิด ท่านได้ตั้งคณะนักพรตที่มีชื่อว่า คณะทีอาไทน์ ที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิรูปพระศาสนจักรของยุคนี้ ในปี ค.ศ. 1536 ท่านได้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 และได้เป็นพระสังฆราชแห่งเนเปิลด้วย ในปี ค.ศ. 1549 และที่น่าสนใจคือท่านได้รับตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาศาลศาสนาที่ใครๆ ได้ยินแล้วก็รู้สึกกลัว ยิ่งน่ากลัวไปอีกเมื่อท่านโจวันนีได้รับตำแหน่ง เพราะใครๆ ก็ทราบว่าท่านเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ไม่เกรงกลัวใคร คนตรง ท่านเคยพูดว่าแม้จะเป็นบิดาของท่านเองที่เป็นเฮเรติก ท่านก็จะไม่รีรอที่จะไปเก็บฟืนมาสุมไฟเผาคนนั้นด้วยตัวเอง วาทะเช่นนี้ทำให้ใครๆ ก็สะพึงกลัวในลักษณะนิสัยของท่าน
 
ในปี ค.ศ. 1553 พระสันตะปาปายูลิอุสที่ 3 ได้แต่งตั้งท่านให้เป็น หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล ในที่ประชุมเลือกพระสันตะปาปามาร์แชลลุสที่ 2 นั้นไม่มีใครคิดจะลงคะแนนเสียงให้ท่านอยู่แล้ว เพราะท่านเป็นที่เกรงขามของผู้คนทั่วไปจึงได้เลือกท่านมาร์แชลลุสขึ้นมา แม้จะรู้ว่าท่านสุขภาพไม่ดี และก็บังเอิญพระสันตะปาปามาร์แชลลุส ปกครองไม่กี่อาทิตย์ก็สิ้นพระชนม์ พวกพระคาร์ดินัลก็ต้องเลือกพระสันตะปาปาใหม่ จึงดูจะเลี่ยงไม่พ้นที่จะเลือกพระคาร์ดินัลโจวันนีผู้ที่ใครๆ กลัว แต่กว่าจะเลือกได้ก็มีการเจรจากันมากมาย ตอนที่ได้รับเลือก ท่านโจวันนีมีอายุ 75 ปีแล้ว ท่านได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1555 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเปาโลที่ 4
 
พระองค์ได้พยายามปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนพระองค์จะไม่ค่อยให้ความหวังกับสังคายนาเตรนต์เท่าไร เพราะมีการเลื่อนและหยุดพักประชุมในปี ค.ศ. 1552 พระองค์จึงใช้วิธีเดิมๆ คือ ใช้การออกสาสน์และกฤษฎีกา รวมทั้งใช้อำนาจของศาลศาสนาเป็นแนวทางในการปฏิรูป ดังนั้นจากวิธีการของศาลศาสนา แม้แต่พระคาร์ดินัลก็ยังตกเป็นจำเลย เช่น พระคาร์ดินัลโมโรเน ที่ใครๆ นับถือก็ยังตกเป็นจำเลยและถูกคุมขังที่ปราสาทซานอันเจโลในฐานะเป็นเฮเรติก(ผู้หลงผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อแท้ของพระศาสนจักร) ตอนนี้บรรยากาศในโรมจึงอึดอัดเพราะต่างคนก็จ้องกันเองว่าใครจะทำอะไรผิด ในปี ค.ศ. 1558 พระสันตะปาปาเปาโล สั่งให้จับกุมบรรดาพระและนักพรตเร่ร่อนทั้งหลายซึ่งไม่มีสังกัด ให้เอาไปคุมขังไว้ในเรือใหญ่ที่ใช้เป็นเหมือนคุกกลางทะเลก็ร้อยกว่าคนได้ ชะตากรรมของคนพวกนี้หลายคนรอดชีวิตมาได้ หลายคนก็ต้องอยู่บนเกาะต่างๆ หลายคนก็เสียชีวิตบนเรือนั่นเอง พวกยิวที่อยู่ในโรมก็ได้รับคำสั่งให้สวมเสื้อผ้าพิเศษ ที่บ่งบอกได้ว่าพวกเขา  คือ คนยิว (ความเกลียดชังยิวมีอยู่ทั่วไปในยุโรป) พระสันตะปาปาเปาโล ดูจะเป็นคนโหดเหี้ยมต่อคนอื่นแต่กับญาติพี่น้องของพระองค์เอง กลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เป็นต้นพวกที่กินสินบนต่างๆ จนปัญหาเรื้อรังเต็มที่ พระองค์ถึงได้จัดการกับญาติพี่น้องเหล่านี้และก็ต้องอาศัยมือของพวกโปรเตสแตนต์ช่วยสถานการณ์ถึงขั้นต้องจับอาวุธขึ้นสู้รบกันเพื่อปกป้อง ทรัพย์สินของพระสันตะปาปาที่กำลังถูกกลืนโดยญาติๆ ของพระสันตะปาปาเอง
 
ด้านการทูตต่างประเทศพระองค์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก พระองค์ไม่สามารถชนะใจชาวสเปนได้ และกับอังกฤษพระองค์ก็ปฏิเสธที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูตายต่อความหวังที่จะนำลัทธิแองกลีกันกลับมาสู่พระศาสนจักรแม่อีกครั้งหนึ่ง
 
พระสันตะปาปาเปาโลที่ 4 ประชวรกระทันหันในปี ค.ศ. 1559 และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 สิงหาคม