องค์ที่ 266 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (Pope Francis 2013-ปัจจุบัน)

  • Print
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
 
(Pope Francis ค.ศ. 2013-ปัจจุบัน) 
 
- ประมวลภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส  เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 มีพระนามเดิมว่า พระคาร์ดินัล ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ อายุ 76 ปี
 
 
ฮอร์เก แบร์โกลิโอ เกิดที่ กรุงบัวโนส-เอเรส  เมืองหลวงของอาร์เจนตินา  พระองค์มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรของคนงานทางรถไฟ เกิดเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2479
 
พระองค์ทรงได้รับการศึกษาและปริญญาโทในวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยของกรุงบัวโนส-เอเรส แต่ต่อมาได้ตัดสินใจเป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต และเข้าศึกษาที่สามเณราลัยเยสุอิตที่วิลลา เดโวโต
 
ท่านได้ศึกษาอักษรศาสตร์ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี และได้รับปริญญาวิชาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งกรุงบัวโนส-เอเรส ช่วงเวลา ระหว่าง ปี ค.ศ. 1964 และ ค.ศ. 1965 ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดีและจิตวิทยาที่วิทยาลัย Immacolada ในแคว้นซานตา-เฟ และในปี ค.ศ. 1966 ได้สอนวิชาเดียวกันที่ Colegio del Salvador ที่กรุงบัวโนส-เอเรส
 
 
ในปี ค.ศ. 1967 ท่านกลับมาศึกษาเทววิทยาต่อไปและได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1969   หลังจากได้ปฏิญาณตนเป็นเยสุอิตตลอดชีวิต  ในปี ค.ศ. 1973 แล้ว   ท่านได้เป็นนวกาจารย์ที่สามเณราลัย Villa Barilari ที่เมือง San Miguel ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะแขงเยสุอิตของประเทศอาร์เจนตินา
 
ในปี ค.ศ. 1980 ท่านกลับมาที่เมือง San Miguel เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเยสุอิต ซึ่งเป็นงานที่ผู้ที่เคยเป็นเจ้าคณะแขวงมาแล้วมักจะไม่ได้รับ
 
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยของสังฆมณฑลบัวโนส-เอเรส เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1992 ท่านเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยหนึ่งในสามท่านของสังฆมณฑลและปฏิบัติตนแบบเงียบๆ ธรรมดา ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการดูแลมหาวิทยาลัยคาทอลิก ให้คำปรึกษาแนะนำแก่พระสงฆ์ เทศน์ และโปรดศีลอภัยบาป
 
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชผู้มีสิทธิสืบตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งพระอัครสังฆราชองค์ใหม่ของกรุงบัวโนส-เอเรส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 
 
ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับท่าทีของพระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอในช่วงเวลาที่ทหารเข้ายึดครองอำนาจในอาร์เจนตินา ระหว่างปี ค.ศ. 1976-1983 ที่ได้ปราบปรามคู่ปรับทางการเมืองอย่างโหดร้าย คาดกันว่าในช่วงนั้นมีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายไปเป็นจำนวนตั้งแต่ 13,000 ถึงมากกว่า 30,000 คน
 
ตัวอย่างเช่นกรณีของพระสงฆ์หนุ่มสององค์ที่ถูกคณะทหารจับตัวไว้ นักวิจารณ์กล่าวว่า พระคาร์ดินัล ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าคณะแขวงเยสุอิต  ไม่ได้ให้การสนับสนุนเพียงพอแก่ผู้ปฏิบัติงานของพระศาสนจักรต่อต้านอำนาจปกครองของทหาร
 
แต่ก็มีอีกหลายคนที่กล่าวว่าท่านได้พยายามเจรจาลับๆ เพื่อให้คณะทหารปล่อยตัวพระสงฆ์ทั้งสององค์ และหนังสือพิมพ์รายวัน “La Nacion” ได้ให้ข่าวว่าโฆษกของพระคาร์ดินัลกล่าวว่า ข้อกล่าวหานั้นเป็น “การใส่ความแบบเก่าๆ”
 
นับตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นพระอัครสังฆราชของกรุงบัวโนส-เอเรส ในปี ค.ศ. 1998 พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอ  เป็นผู้ทำงานแบบเงียบๆ อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน 
 
ท่านใช้รถประจำทาง ไปเยี่ยมเยียนคนยากจน ดำเนินชีวิตอยู่ในห้องชุดเรียบง่าย และทำอาหารรับประทานเอง ชาวบัวโนส-เอเรสหลายคนรู้จักท่านเพียงในนามของ “คุณพ่อฮอร์เก”
 
ความประทับใจที่ทุกคนนึกถึงท่านคือ ปี 2001 ท่านไปถวายมิสซาในศูนย์ผู้ป่วยโรคเอดส์ ท่านได้ "ล้างเท้าและจุมพิต" เท้าของผู้ป่วยโรคเอดส์ 12 คนด้วย
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงมีตำแหน่งในองค์กรบริหารพระศาสนจักรส่วนกลาง (Roman Curia) ดังนี้
 
- สมณกระทรวงพิธีกรรม และศีลศักดิ์สิทธิ์ (Congregation for the Divine Worship and the Discipline of the Sacraments) 
- สมณกระทรวงสถาบันนักพรตและองค์การแพร่ธรรม (The Congregation for Institutes of Consecrated Life and for Societies of Apostolic Life ) และ
- สมณสภาเพื่อครอบครัว (Pontifical Council for the Family)
 
พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอ ได้จัดตั้งเขตวัดใหม่ๆ หลายแห่ง ได้ปรับโครงสร้างของสำนักงานบริหาร ได้เอาใจใส่เป็นการส่วนตัวต่อสามเณราลัย และได้ริเริ่มโครงการด้านอภิบาลหลายโครงการ เช่น คณะกรรมการสำหรับผู้หย่าร้าง ท่านได้ช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งด้านสังคม หรือการเมืองแทบทุกครั้งภายในเมือง บรรดาพระสงฆ์บวชใหม่ ได้รับสมญาว่าเป็น “พระสงฆ์ยุคแบร์โกลิโอ” และไม่มีนักการเมืองหรือผู้ทำงานด้านสังคมคนใดที่ไม่พยายามหาโอกาสจะพบท่าน เป็นการส่วนตัว
 
 
ท่านเป็นประธานร่วมของสมัชชาพระสังฆราชเมื่อปี ค.ศ. 2001 และได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาของสภาสมัชชา ท่านจึงเป็นผู้ที่บรรดาพระสังฆราชของโลกรู้จักดี
 
ท่านยังได้เขียนหนังสือหลายเล่มเรื่องชีวิตจิตและการรำพึงภาวนาและกล่าวอย่างชัดเจนต่อต้านการทำแท้งและการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
เมื่อ ปี ค.ศ. 2010 เมื่อประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในทวีปลาตินอเมริกาที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอได้สนุบสนุนคณะสงฆ์ทั่วประเทศให้ส่งเสริมชาวคาทอลิกคัดค้านการออกกฎหมายนี้ เพราะ –ท่านกล่าวว่า – ถ้ากฎหมายนี่มีผลใช้บังคับ “ก็จะเป็นการทำร้ายครอบครัวอย่างรุนแรง”
 
ยังกล่าวอีกว่า ถ้าคู่แต่งงานเพศเดียวกันรับอุปการะเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม “ก็จะมีผลทำให้ (เด็กเหล่านั้น) ไม่ได้รับพัฒนาการแบบมนุษย์ที่บิดามารดาต้องเป็นผู้มอบให้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”
 
 
ในปี ค.ศ. 2006 ท่านยังวิพากวิจารณ์ข้อเสนอของรัฐบาลอาร์เจนตินาที่จะรับรองให้ทำแท้งได้ในบางกรณีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมาย อย่างกว้างขวาง ท่านกล่าวหารัฐบาลว่าไม่ให้ความเคารพ ต่อค่านิยมที่ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นอยู่ และพยายามที่จะทำให้พระศาสนจักรคาทอลิก “หวั่นไหว ในการปกป้องศักดิ์ศรีของบุคคล”
 
บทบาทของท่านหลายครั้งผลักดันให้ท่านต้องกล่าวชัดเจนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ บทเทศน์และคำปราศรัยของท่านกล่าวพาดพิงตลอดเวลาถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน พระศาสนจักรและประเทศชาติจำเป็นต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับ ได้รับความเคารพนับถือและได้รับความเอาใจใส่ดูแล
 
แม้จะไม่เป็นนักการเมืองโดยเปิดเผย พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอก็ไม่ได้พยายามที่จะปิดบังผลกระทบด้านการเมืองและสังคมจากคำสอนของพระวรสาร โดยเฉพาะในประเทศที่ยังจะต้องฟื้นขึ้นวากวิกฤติการณ์สาหัสด้านเศรษฐกิจ
 
 
การขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 
 
การเลือกตั้งสำเร็จลงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งเต็มวันวันแรก หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 5  โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน 115 องค์  ผลปรากฏว่าพระคาร์ดินัล ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ อัครมุขนายกแห่งบัวโนส- เอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้รับเลือก และทรงเลือกพระนาม "ฟรานซิส" ซึ่งหมายถึง นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกา และคณะเยสุอิตในวันที่ทรงได้รับเลือกตั้ง สันตะสำนักประกาศว่าพระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์คือ "ฟรานซิส" ไม่ใช่ "ฟรานซิสที่ 1" พระองค์จะมีพระนามว่าฟรานซิสที่ 1 ก็ต่อเมื่อในอนาคตมีสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 2 
 
 
ตราประจำพระองค์
พระมาลาทรงสูงสีขาวแถบสีทองสามชั้น แทนสัญลักษณ์มงกุฎพระสันตะปาปา (Tiara)  แต่เดิมมงกุฏนี้ จะปรากฏอยู่ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาทุกพระองค์  ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้ทรงให้ยกเลิกการทรงมงกุฎนั้น  แต่ก็ยังมีการนำตรามงกุฎมาใช้ประกอบ ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 1 และ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จวบจนสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16  พระองค์ได้เปลี่ยนสัญลักษณ์มาใช้เป็นพระมาลาทรงสูงแทน โดยให้มีแถบสีทอง 3 แถบวางขนานในแนวนอน หมายถึง  อำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสันตะปาปา คือ 
- การจัดระเบียบให้ทุกอย่างถูกต้อง และศักดิ์สิทธิ์
- “การปกครองด้วยความยุติธรรม”  และ “การเทศน์สอน”
 
แถบสัญลักษณ์ทั้งสามนี้ เป็นความหมายเดียวกับมงกุฎสามชั้น ในตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ โดยแถบสีทองทั้ง 3 แถบดังกล่าวถูกเชื่อมด้วยแถบสีทองที่เชื่อมคาดต่อลงมาในแนวตั้ง แสดงถึงหน้าที่ทั้งสามรวมกันเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งฐานะเป็นประมุขสูงสุดแห่งพระศาสนจักร
 
กุญแจไขว้ 2 ดอก เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจแห่งพระคริสตเจ้า ซึ่งได้ประทานให้กับนักบุญเปโตรอัครสาวก และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากท่าน
“เราจะมอบกุญแจสวรรค์ไว้กับท่าน สิ่งใดที่ท่านผูกไว้ในโลกนี้ ก็จะผูกในสวรรค์ด้วย และสิ่งใด ที่ท่านจะแก้ไขในโลกนี้ก็จะได้รับการแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ. 16:19)
 
กุญแจสีทอง หมายถึง อำนาจที่ผูกไว้กับสวรรค์
 
กุญแจสีเงิน คืออำนาจทางชีวิตฝ่ายจิตบนโลก
 
กุญแจทั้งสองดอก ถูกคาดรวมไว้ด้วยเชือก แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักบุญเปโตร และผู้ที่สืบทอดตำแหน่งของท่าน
 
ตราสัญลักษณ์ในพื้นโล่สีฟ้า เป็นสัญลักษณ์ที่พระสันตะปาปาฟรันซิสทรงใช้ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นอัครมุขนายก แห่งอัครสังฆมณฑลบัวโนสไอเรส ประเทศอาเจนตินา
 
พระอาทิตย์สีทอง ซึ่งมี อักษร ย่อ IHS  ซึ่งเป็นพระนามของพระเยซูเจ้า ในภาษากรีก และ ตะปู 3 ดอก อันเป็นตราของคณะเยซูอิต ซึ่งเป็นคณะที่ท่านสังกัด
 
ด้านซ้ายล่าง ดาวสีทอง ห้าแฉก มีความหมายถึงพระนางมารีย์ พรหมจารีย์
 
ด้านขวาล่าง ช่อดอกนาร์โด (Nardo) มีความหมายถึงนักบุญโยเชฟ ภัสดาผู้บริสุทธิ์ของพระนางมารีย์ และพระบิดาบุญธรรมของพระเยซูเจ้า
 
 
คติพจน์
ในภาษาละติน แปลความได้ว่ “เพราะทรงเห็นเขาผ่านสายตาแห่งความเมตตา และทรงเลือกเขา” ซึ่งมาจากพระวรสารตอนที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกมัทธิวคนเก็บภาษีเพื่อให้มาติดตาม เป็นอัครสาวก ของพระองค์
 
วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2013 เวลา 17.00 น. สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย จัดพิธีบูชาขอบพระคุณถวายพระพรแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก โอกาสเข้ารับตำแหน่งของพระองค์ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก 
 
 
พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณ ร่วมกับพระอัครสังฆราชพอล ชาง อิน-นัม เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย กัมพูชา พม่า ลาว ถึงประเทศไทย คุณพ่ออิกญาซีโอ เชฟฟาเลีย เลขา สมณทูต พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  พระสังฆราชประธาน ศรีดารุณศีล พระสังฆราชปัญญา กฤษเจริญ พระสังฆราชบรรจง ไชยรา พระสังฆราชชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ พระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์ พระสังฆราชสิริพงษ์ จรัสศรี พระสังฆราชลือชัย ธาตุวิสัย พระสังฆราชพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย พร้อมด้วยพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และพี่น้องสัตบุรุษจำนวนมาก มาร่วมพิธี
 
วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2019 ฉลองครบรอบปีที่ 6 แห่งสมณสมัยของ พระสันตะปาปา ฟรังซิส โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พร้อมด้วย พระอัครสังฆราช พอล ชาง อิน-นัม สมณทูต
 
 
พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู และบรรดาพระสังฆราช ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ มีรองอธิบดีกรมการศาสนา ผู้แทนศาสนาต่างๆ และสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย วันที่ 20-23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019
 
- เริ่มต้นเส้นทางจาริก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จถึงราชอาณาจักรไทย
 
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11 นาฬิกา 48 นาที  ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบินพระที่นั่งซึ่งออกเดินทางจากกรุงโรม เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยมีผู้แทนพระองค์ ผู้แทนรัฐบาล และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เฝ้ารับเสด็จ
 
เมื่อเครื่องบินพระที่นั่งเทียบ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 อาร์ชบิชอป พอล ชาง อิน–นัม เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาบนเครื่องบินพระที่นั่ง และกราบทูลเชิญเสด็จลงจากเครื่องบิน จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จลงจากเครื่องบินพระที่นั่ง พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามสมเด็จพระสันตะปาปา อาทิ พระคาร์ดินัลปีเอโตร ปาโรลิน เลขาธิการนครรัฐวาติกัน พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด  ฟิโลนี  สมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน พระคาร์ดินัลมีเกล อายูโซ กวีโซ ประธานสมณสภาเสวนาระหว่างศาสนา ฯลฯ 
 
 
ที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการรับเสด็จ ได้ถวายมาลัยข้อพระกรแด่สมเด็จพระสันตะปาปา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศประจำสมเด็จพระสันตะปาปา นายจักรี ศรีชวนะ เอกอัครราชทูตไทยประจำนครรัฐวาติกัน พลเรือตรี สมบัติ นาราวิโรจน์ นายทหารเกียรติยศประจำสมเด็จพระสันตะปาปา และผู้แทนกองทัพอากาศ เข้าเฝ้า ณ เชิงบันไดด้านหน้าของเครื่องบิน
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสมีพระปฏิสันถารกับผู้แทนพระองค์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น มีพระปฏิสันถารกับผู้แทนผู้รับผิดชอบการรับเสด็จฝ่ายพระศาสนจักรท้องถิ่น ได้แก่ พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย อาร์ชบิชอป พอล ชาง อิน–นัม เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย มงซินญอร์ อันดรูว์ วิษณุ ธัญญอนันต์ ผู้ประสานงานทั่วไปของพระศาสนจักรท้องถิ่น บาทหลวงดาริโอ ปาวิซ่า เลขานุการ 1 บาทหลวงวิลเกอร์ เรย์ มาลโดนาโด โรดริเกซ เลขานุการ 2 ของสถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย บิชอปทั้ง 10 สังฆมณฑลในประเทศไทย และซิสเตอร์อานา โรซา ซีโวรี พระญาติของสมเด็จพระสันตะปาปา และผู้แทนเยาวชนจากสังฆมณฑล 11 เขตในประเทศไทย ที่แต่งชุดประจำชาติไทยมาเข้าเฝ้า แล้วเสด็จผ่านกองทหารเกียรติยศ ขณะนั้นปืนใหญ่ยิงสลุตถวายคำนับ 21 นัด
 
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทับรถยนต์พระประเทียบ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี รักษาการประธานองคมนตรี ผู้แทนพระองค์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนคณะรัฐบาล พร้อมด้วยรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่งเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ทั้งนี้ บริเวณเดียวกันนั้นมีกลุ่มคริสตชนกว่า 100 คน โบกธงชาติไทย และธงนครรัฐวาติกันเฝ้ารับเสด็จ ณ ห้องโถงภายในอาคารท่าอากาศยาน
 
 
จากนั้นขบวนรถยนต์พระประเทียบมาถึงสถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย โดยมีบุคลากรของสถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทยเฝ้ารับเสด็จ จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ (พิธีมิสซา) เป็นการส่วนพระองค์
 
ก่อนหน้าที่จะเสด็จมายังประเทศไทย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และพระศาสนจักรคาทอลิก มีพระดำรัสเกี่ยวกับการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยว่า
 
"ทรงมีความยินดีที่ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทย ซึ่งเป็นดินแดนที่ผสานรวมกันของหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีอันน่าชื่นชม ทั้งประเทศไทยยังได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ทรงหวังว่าการเสด็จมาของพระองค์ในครั้งนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเสวนาเพื่อศาสนสัมพันธ์ ด้วยความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งการร่วมมือทำงานกันฉันพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการทำงานบริการเพื่อคนยากจน ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และการทำงานเพื่อสันติภาพ ทั้งยังได้ประทานพระพรแก่ประชาชนและประเทศไทย และทรงขอให้ภาวนาเพื่อพระองค์ด้วย"
 
- รัฐบาลถวายการต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างสมพระเกียรติ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9 นาฬิกา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และพระศาสนจักรคาทอลิก เสด็จไปยังทำเนียบรัฐบาล ในพิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เฝ้ารับเสด็จ ก่อนที่จะประทานพระดำรัสแก่รัฐบาล ข้าราชการ และทูตานุทูต 
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงเริ่มพระกรณียกิจในประเทศไทยด้วยการเสด็จไปยังทำเนียบรัฐบาล ในพิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เมื่อเสด็จถึงบริเวณตึกไทยคู่ฟ้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น นายกรัฐมนตรีนำเสด็จไปยังแท่นรับความเคารพ  กองเกียรติยศผสม จำนวน 1 กองพัน ซึ่งจัดจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงเพลงชาติวาติกัน และเพลงชาติไทยตามลำดับ จบแล้ว เสด็จไปยังแถวผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธี อธิบดีกรมพิธีการทูต กราบทูลเบิกรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเฝ้ารับเสด็จ หัวหน้าฝ่ายการทูต นครรัฐวาติกันแนะนำผู้ตามเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้น นายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญเสด็จไปยังตึกไทยคู่ฟ้า
 
ที่ตึกไทยคู่ฟ้า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสประทับฉายพระรูปร่วมกับนายกรัฐมนตรี แล้วเสด็จไปยังห้องรับรองสีงาช้างด้านนอก นายกรัฐมนตรีเบิกรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยา เข้าเฝ้า จากนั้นทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยมของรัฐบาล และทอดพระเนตรของที่ระลึกซึ่งนายกรัฐมนตรีถวาย ในโอกาสนี้ สมเด็จพระสันตะปาปา ทรงพระกรุณาโปรดประทานของที่ระลึกแก่นายกรัฐมนตรีด้วยจากนั้น แล้วเสด็จเข้าสู่ห้องสีงาช้างด้านใน เพื่อทรงมีพระปฏิสันถารกับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเสด็จต่อไปยังตึกสันติไมตรี
 
ณ ตึกสันติไมตรี คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ คณะทูตานุทูต ข้าราชการ ผู้แทนศาสนาต่างๆ และผู้มีเกียรติของรัฐบาลรอรับเสด็จ เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จถึงตึกสันติไมตรี นายกรัฐมนตรีกราบทูลแสดงความยินดีในการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประทานพระดำรัสแก่ผู้มาเฝ้า 
 
- สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10 นาฬิกาโดยประมาณ ตามเวลาท้องถิ่น ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก และนครรัฐวาติกัน เสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ดุจเดียวกันกับที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เคยเสด็จมาเยือนพระอารามแห่งนี้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จโดยรถยนต์พระประเทียบจากทำเนียบรัฐบาล มายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมื่อเสด็จถึง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศประจำสมเด็จพระสันตะปาปา นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้ารับเสด็จ จากนั้น เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ณ ที่นั้น เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ทรงรับ พร้อมด้วย สมเด็จพระวันรัต (พฺรหฺมคุตฺโต) สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (เขมงฺกโร) และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อคฺคชิโน) แล้วสมเด็จพระสังฆราชทรงนำเสด็จไปประทับพระเก้าอี้ จากนั้น เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระดำรัสรับเสด็จ เมื่อจบพระดำรัสแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปามีพระดำรัสตอบ เมื่อจบพระดำรัสแล้ว เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายเหรียญพระรูป พระรูปบรรจุกรอบเงิน และสำรับหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นที่ระลึก และสมเด็จพระสันตะปาปา ถวายจากระเบื้องเขียนภาพลายเส้นพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ประดับด้วยพระตราของสมเด็จพระสันตะปาปา เป็นของที่ระลึกในโอกาสที่เสด็จมาเยือนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และมีพระปฏิสันถารตามพระอัธยาศัย 
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 2 ที่ได้เสด็จมาเยือนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อ 35 ปีที่แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เสด็จมาเฝ้า เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 เพื่อเป็นการตอบแทนที่ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุณฺณสิริมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 17 ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต ได้เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโล ที่ 6 ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อพุทธศักราช 2519 นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงร่วมการประชุมผู้นำศาสนาระดับสากลเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาหลักต่างๆ และการวางโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจัดโดยสมณกระทรวงเพื่อการบริการและพัฒนาความสมบูรณ์ของมนุษย์แห่งพระสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงมีพระบัญชาโปรดให้พระพรหมบัณฑิต (ธมฺมจิตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้แทนพระองค์ไปร่วมการประชุมดังกล่าว ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จึงได้เสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เพื่อทรงกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างพระพุทธศาสนาและพระศาสนจักรคาทอลิกให้แน่นแฟ้นขึ้น เป็นการเสวนาเพื่อศาสนสัมพันธ์ อันนำไปสู่ความร่วมมือกันเพื่อคุณธรรม จริยธรรม และสันติภาพของโลก 
 
จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงลงพระนามเป็นที่ระลึกในโอกาสเสด็จมาเยือนพระอารามแห่งนี้ แล้วประทับฉายพระรูปร่วมกับเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นที่ระลึก จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาประทานของที่ระลึกแด่สมเด็จพระราชาคณะ รองนายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเฝ้า และเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานเหรียญที่ระลึกแก่พระคาร์ดินัล อาร์ชบิชอป และบิชอปผู้ตามเสด็จ เมื่อได้เวลาอันสมควร สมเด็จพระสันตะปาปาทูลลาเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้วเสด็จออกจากพระอุโบสถ ประทับรถยนต์พระประเทียบเสด็จต่อไปยังโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
 
- พระเมตตาสมเด็จพระสันตะปาปาสู่ผู้เจ็บป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
ด้วยพระเมตตาห่วงใยต่อผู้เจ็บป่วยทุพลภาพ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จมายังโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เพื่อประทานพระพร พร้อมทั้งกำลังใจแก่บรรดาผู้ป่วยและคนพิการที่มาเข้าเฝ้า ในโอกาสนี้ได้ประทานพระโอวาทแก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคาทอลิกทั้ง 4 โรงพยาบาลในประเทศไทยอีกด้วย
 
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11 นาฬิกา 15 นาที สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จโดยรถยนต์พระประเทียบจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร มายังโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถนนสาทร กรุงเทพมหานคร เมื่อเสด็จถึงยังโรงพยาบาลแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทับรถยนต์พระประเทียบเปิดประทุน ซึ่งจะเคลื่อนผ่านบรรดาประชาชน และนักศึกษาจากวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ที่มารอเฝ้าตลอดสองข้างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางส่วนเป็นผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่มารอเข้าเฝ้าตั้งแต่เช้าวันนี้ โอกาสนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาประทานพระวโรกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ก่อนที่รถยนต์พระประเทียบเปิดประทุนจะเคลื่อนไปโดยรอบบริเวณเพื่อให้คริสตชน และประชาชนที่ชุมนุมกันในบริเวณโรงพยาบาลได้เฝ้าชมพระบารมีโดยทั่วกัน
 
 
จากนั้น รถยนต์พระประเทียบเปิดประทุนเทียบยังอาคารรวมจิตเพียรธรรม ณ ที่นั้น บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  เฝ้ารับเสด็จ ทรงรับมาลัยข้อพระกร จากอธิการิณีมารี เซเวียร์ โรซาร์พิทักษ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร แล้วประทับลิฟต์ขึ้นยังหอประชุมพระวิสุทธิวงศ์ ชั้น 11 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อาร์ชบิชอปกิตติคุณแห่งกรุงเทพฯ พร้อมด้วยบุคลากรทางด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลคามิลเลียน และโรงพยาบาลซานคามิลโล ผู้แทนองค์กร และวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เฝ้ารับเสด็จภายในหอประชุม
 
 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กราบทูลแสดงความยินดีในการเสด็จมาเยือนโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ได้ประทานพระวโรกาสให้บุคลากรทางด้านการแพทย์ เข้าเฝ้ารับประทานพระโอวาท พร้อมทั้งผู้ป่วย ผู้สูงอายุเข้าเฝ้ารับประทานพระพร พร้อมกันนั้น ได้ถวายหนังสือ  “ศริพจน์ภาษาไทย์” (Siamese Frence English Dictionary หรือ Dictionnaire Siamois Francais Anglasis) พจนานุกรมภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส จัดพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ.2439 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระสังฆราชฌ็อง หลุยส์ เวย์ (Jean – Louis Vey) พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเกราซา ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 15 ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้ปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นจาก “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” ของพระสังฆราชปัลเลอกัว ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 14 เป็นของที่ระลึกแด่สมเด็จพระสันตะปาปา หนังสือเล่มนี้เป็นมรดกทางด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความพยายามและตั้งใจจริงของมิชชันนารี ในการเผยแผ่พระคริสตธรรมแก่พี่น้องชาวไทย จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประทานพระโอวาทแก่บรรดาผู้ที่มาเฝ้า  เมื่อจบพระโอวาทแล้ว บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เข้าเฝ้ารับประทานของที่ระลึกจากสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นพระรูปพระนางมารีย์และกุมารเยซูเป็นที่ระลึกแก่โรงพยาบาล และประทานพระวโรกาสให้ฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
 
จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จลงมายังชั้น 1 อาคารร้อยปีบารมีบุญ เพื่อทรงเยี่ยมเยียน ประทานพระพรและกำลังใจแก่ผู้ป่วย จำนวน 40 ราย โดยผู้ป่วยที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ในระยะสุดท้าย หรืออาการค่อนข้างหนัก สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทานพระหัตถ์ให้จับ ทั้งวางพระหัตถ์ประทานพระพร และกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย กับผู้ดูแลที่ร่วมเข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย
 
 
 
สำหรับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เป็นโรงพยาบาลคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2441 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระสังฆราชฌ็อง หลุยส์ เวย์ (Jean – Louis Vey) ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 15 เป็นผู้ก่อตั้ง และมอบให้คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้ดูแล ต่อมาได้ขยายกิจการสถานฝึกผู้ช่วยพยาบาล ก่อตั้งเป็นวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เมื่อ พ.ศ.2528 โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ลำดับที่ 2 ทั้งนี้ ในการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  (ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557/ค.ศ. 2014 ณมหาวิหารนักบุญเปโตรกรุงโรม) ได้เสด็จเยือนโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2527
 
นอกจากนี้ โรงพยาบาลคาทอลิกในประเทศไทยยังมีโรงพยาบาลซานคามิลโล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นกิจการแรกของคณะนักบวชคามิลเลียนในประเทศไทย ได้รับการอนุญาตและเปิดเป็นโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2496 โรงพยาบาลคามิลเลียน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของคณะนักบวชคามิลเลียน เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2499 และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบาทหลวงมารีอุส เบรย์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2501
 
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงเยี่ยมเยียนประทานพระพรแก่บรรดาผู้ป่วยแล้ว เสด็จออกจากอาคารร้อยปีบารมีบุญ ประทับรถยนต์พระประเทียบเสด็จไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ สถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับ
 
- สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 17 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และพระศาสนจักรคาทอลิก ในโอกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการตามคำกราบทูลเชิญของรัฐบาล และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2562
 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ในโอกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะทรงเป็นแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังห้องเฝ้า ทรงแลกเปลี่ยนของขวัญ โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ถวายชุดเครื่องเขียนเงินลงถมตะทองประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ชุดใหญ่ เหรียญที่ระลึกในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ แผ่นคำจารึกของขวัญประดับพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และ อักษรพระนามาภิไธย ส.ท. ทองคำลงยาติดบนแท่นไม้มะค่า และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีถวายเทียนหอม สมเด็จพระสันตะปาปาถวายภาพวาดบนกระเบื้องสีโมเสก สร้างจากภาพต้นแบบการอวยพรของสมเด็จพระสันตะปาปา ณ ลานมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เหรียญที่ระลึกโอกาส ๗ ปีการสมณภิเษกของสมเด็จพระสันตะปาปา และหนังสือที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเหรียญที่ระลึกในโอกาสการเสด็จเยือนประเทศไทยและญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โอกาสนี้ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
 
การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประมุขของประเทศระหว่างไทยและวาติกัน เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 เมื่อพุทธศักราช 2440 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 เมื่อพุทธศักราช 2477 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 เมื่อพุทธศักราช 2503 ต่อมา ในพุทธศักราช 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรง พระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้น ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอิตาลี เมื่อพุทธศักราช 2528
 
ทั้งนี้ ราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่ 6 มีพระสมณโองการ Instans illa ลงวันที่ 25 เมษายน 2512 สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูต ระหว่างนครรัฐวาติกันกับราชอาณาจักรไทย และก่อตั้งสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย หลังจากนั้น ในวันที่ 28 เมษายนปีเดียวกัน นายจิตติ สุจริตกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพระอัครสังฆราชยัง ยาโดต์ ผู้แทนพระสันตะปาปาในขณะนั้น ทำพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับนครรัฐวาติกันในระดับเอกอัครราชทูต นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
เมื่อได้เวลาอันสมควร สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงส่งสมเด็จพระสันตะปาปายังรถยนต์ พระประเทียบเพื่อเสด็จต่อไปยังสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ
 
- คริสตชนร่วมใจในพิธีบูชาขอบพระคุณ (พิธีมิสซา) พร้อมกับองค์สมเด็จพระสันตะปาปาที่สนามศุภชลาศัย
ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส องค์พระประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ผู้แทนพระองค์ของพระคริสตเจ้าบนโลกนี้ เสด็จเยี่ยมเยือนประเทศไทย คาทอลิกจากกลุ่มชุมชนวัดคาทอลิกทั่วประเทศและพี่น้องคริสตชนจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมจิตใจกันในพิธีบูชาขอบพระคุณ (พิธีมิสซา) ณ สนามศุภชลาศัย อันเป็นพระกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งของการเสด็จเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ มีคาทอลิกทั้งในและต่างประเทศร่วมพิธีกว่า 6 หมื่นคน พระคาร์ดินัล 11 องค์ อาร์ชบิชอป 13 องค์ บิชอป 47 องค์ 
 
 
ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ บรรดาคริสตศาสนิกชนคาทอลิกจากทุกสังฆมณฑลทั่วประเทศ รวมถึงคริสตชนต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฯลฯ จำนวนรวมกันประมาณ 13,000 คน เดินทางมุ่งสู่สนามกีฬาเพื่อรอรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก และเข้าร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณที่จะทรงเป็นประธาน เพื่อถวายบูชาและขอบพระคุณพระเจ้า ในโอกาสที่เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ดุจเดียวกับเมื่อ 35 ปีที่แล้วที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 (ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557/ค.ศ. 2014 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตรกรุงโรม) ได้เคยเสด็จมาถวายมิสซาพร้อมกับมวลคริสตชนจากทั่วประเทศไทย ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 ณ สถานที่แห่งนี้
 
 
ก่อนเวลาที่สมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จถึงสนามกีฬาแห่งชาติ ได้จัดให้มีกิจกรรมการแปรอักษรเป็นภาพพระกรณียกิจของสมเด็จพระสันตะปาปา โดยโรงเรียนอัสสัมชัญ การบรรเลงเพลงเตรียมจิตใจ จากวงโยธวาทิตสถาบันในคณะซาเลเซียน เริ่มต้นด้วยเพลง “ศิษย์พระคริสต์” ตามด้วยการบรรเลงเพลงชุด “สรรเสริญพระเจ้า” ประกอบด้วยเพลงคาทอลิกที่รู้จักกันดี เพลงที่ใช้ “Jesus Christ you are my life” “Shine Jesus Shine” “give thanks” และ “tell the World of his love” ตามด้วยการแปรขบวนชุด “The Bell” ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ของคริสตชนกับศาสนา โดยใช้เสียงระฆังวัดเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงเรื่องราว 
 
จากนั้นเป็นการแสดงคอนเสิร์ต “ให้รักเป็นสะพาน” บรรเลงโดยวง “The Sound of Siam” และ “Thailand Philhamonic Orchestra” แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 สยามดินแดนแห่งพระพร 350 ปี งานแพร่ธรรมมิสซังสยาม ช่วงที่ 2 จากรุ่นสู่รุ่นทุกวันคือพระพร และช่วงที่ 3 ชีวิตคริสตชน ชีวิตพระสันตะปาปา เส้นทางแห่งสันติสุข “ให้รักเป็นสะพาน” และช่วงพิเศษด้วยกวีผู้พิการทางสายตา ในบทกวีที่ชื่อว่า “ด้วยความรัก”  การแสดงทั้ง 3 ช่วง ถ่ายทอดผ่านศิลปินคริสตชน พร้อมด้วยคณะนักร้องเยาวชนคาทอลิกไทย และคณะนักขับร้องอาสนวิหารอัสสัมชัญ
 
กล้เวลาที่สมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จมาถึง ทุกคนที่มาร่วมพิธีเข้าสู่การเตรียมจิตใจ โดยการร่วมกันสวดภาวนาด้วยสายประคำ เพื่อระลึกถึงพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า และพระนางมารีย์ ในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเวียดนาม ถึงเวลา 18 นาฬิกา คริสตชนชาวไทยพร้อมใจกันเคารพธงชาติ เปล่งเสียงร้องเพลงชาติไทยอย่างกึกก้องสนาม ก่อนจะเข้าสู่พิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา ซึ่งเป็นพิธีสักการบูชาอันสำคัญที่สุดของคริสตศาสนา เป็นการรื้อฟื้นการถวายบูชาของพระเยซูคริสตเจ้าบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมวลมนุษยชาติ ผ่านทางการอ่านพระคัมภีร์ การถวายสักการบูชาแด่พระเจ้าผ่านปัง และเหล้าองุ่น ตามที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงใช้เป็นเครื่องหมายแทนพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ในการเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่จะทรงถูกตรึงกางเขน  
 
เวลา 18 นาฬิกา 30 นาทีโดยประมาณ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จโดยรถยนต์พระประเทียบจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังสนามกีฬาแห่งชาติ แล้วเสด็จไปประทับรถพระประเทียบเปิดประทุน ประทานพระวโรกาสให้คริสตชนได้เฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด รถพระประเทียบเคลื่อนไปยังสนามเทพหัสดินเป็นแห่งแรก ซึ่งมีคริสตชนเฝ้ารอรับเสด็จและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณผ่านทางโทรทัศน์วงจรปิด แล้วจึงเคลื่อนไปยังสนามศุภชลาศัย เวียนรอบสนามเพื่อให้คริสตชนได้เฝ้าชมพระบารมีโดยทั่วกัน แล้วเสด็จไปยังที่รับรองเพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์สำหรับพิธีกรรม
 
เมื่อได้เวลาอันสมควร คณะนักขับร้องประสานเสียงคาทอลิกไทย (Thai Catholic Choir-TCC) เริ่มขับร้องเพลงเริ่มพิธี ขบวนแห่พิธีบูชาขอบพระคุณ ประกอบด้วยบรรดาสามเณร สังฆานุกร บาทหลวง พระสังฆราช ตามด้วยพระคาร์ดินัล แล้วจึงถึงสมเด็จพระสันตะปาปา เคลื่อนเข้าสู่พระแท่นบูชากลางสนามศุภชลาศัย เมื่อเสด็จถึง ณ ที่นั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงคารวะพระแท่น เสด็จไปถวายกำยานโดยรอบ และถวายกำยานแด่พระรูปพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หรือแม่พระอัสสัมชัญ องค์อุปถัมภ์ของประเทศไทย ตามที่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระคุณการุณย์แก่คริสตชนมิสซังสยามในวันสมโภชแม่พระอัสสัมชัญ 15 สิงหาคมของทุกปี จนถึงสมัยของพระสังฆราชมารี โยเซฟ เรอเน แปร์รอส พระสังฆราชเกียรตินามแห่งโซอารา ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 16 ได้ถวายมิสซังไทยแด่แม่พระอัสสัมชัญ และให้มีการรื้อฟื้นการถวายพระศาสนจักรคาทอลิกไทยสืบมาถึงปัจจุบัน สำหรับพระรูปที่ได้เชิญมาประดิษฐานในครั้งนี้ บาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ อุปสังฆราชมิสซังสยาม นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับการก่อสร้างอาสนวิหารอัสสัมชัญ ซึ่งมีอายุครบ 100 ปีในปีนี้พอดี
 
พิธีบูชาขอบพระคุณดำเนินไปด้วยภาษาอังกฤษ จนถึงภาควจนพิธีกรรม ประกอบด้วยบทอ่านจากพระคัมภีร์ และบทพระวรสาร จบแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสประทานเทศนาเป็นภาษาสเปน โดยมีการแปลเป็นภาษาไทย ตามด้วยบทภาวนาเพื่อมวลชน ซึ่งมีผู้แทนอ่านบทภาวนาภาษาไทย และภาษาปกาเกอะญอ เมื่อถึงภาคบูชาขอบพระคุณ สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทับยืนที่เบื้องหน้าพระแท่นเพื่อทรงรับเครื่องบูชาที่ผู้แทนคริสตชนไทยนำไปถวาย จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงถวายสักการะบูชาแด่พระเจ้า พร้อมกับบรรดาบิชอป และบาทหลวงเป็นภาษาละติน หลังจากนั้น ประทานศีลมหาสนิทแก่ผู้แทนคริสตชนคาทอลิก ส่วนคริสตังที่อยู่ในบริเวณอัฒจันทร์ และที่สนามเทพหัสดิน มีบาทหลวงจำนวนกว่า 300 ท่านเชิญศีลมหาสนิทไปส่งให้โดยรอบ
 
ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงใช้ในวันนี้ คือ จอกกาลิกส์ อายุ 173 ปี เป็นของพระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ พระสังฆราชเกียรตินามแห่งมาลอส ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 13 ผู้เป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช จอกใบนี้ผลิตด้วยเงินกะไหล่ทอง เป็นฝีมือช่างทำเครื่องเงินของฝรั่งเศส จอกกาลิกส์อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มิสซังสยามที่นำมาใช้ในพิธีวันนี้ เป็นเครื่องหมายของความเป็นหนึ่งเดียวกันในปณิธานของมิชชันนารีที่ได้บุกเบิกพระศาสนจักรคาทอลิกในแผ่นดินไทย และเป็นคำมั่นสัญญาที่จะสืบสานภารกิจแห่งการแพร่ธรรมของคริสตชนไทยทุกคน 
 
ภายหลังสวดบทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิทแล้ว พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในนามของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย กราบทูลแสดงความปีติยินดี และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งเข้าเฝ้าถวายชุดภาชนะศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ที่จัดสร้างเป็นเครื่องเบญจรงค์ งานฝีมือชั้นเยี่ยมและเป็นเอกลักษณ์ของไทย เป็นที่ระลึกในการเสด็จเยือนในครั้งนี้ จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาประทานพระพรของอัครสาวกแก่มวลคริสตชนที่มาร่วม ตามด้วยสังฆานุกรประกาศปิดพิธี ขบวนแห่ออกจากบริเวณกลางสนามกีฬา สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทับ ณ บริเวณที่ประทับบนอัฒจันทร์ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงชุด “สี่ภาคพิลาสนาฏศิลป์ งามหยาดหยดรดรินถิ่นสยาม” โดยนักเรียนจากสถาบันการศึกษาในคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ประกอบด้วยการแสดงฟ้อนที หรือฟ้อนร่มของภาคเหนือ ตามด้วยชุดออนซอนอีสาน ประกอบด้วยระบำนาคี และระบำผีตาโขน ภาคใต้เป็นการแสดงระบำร่อนแร่ ปิดท้ายด้วยภาคกลางเป็นการรำขวัญข้าว รวมผู้แสดงกว่า 800 คน 
 
เมื่อจบการแสดงแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จลงจากที่ประทับภายในสนาม ประทับรถยนต์พระประเทียบ เสด็จกลับไปประทับ ณ สถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย เป็นการเสร็จสิ้นพระกรณียกิจในวันนี้
 
วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2022 พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 17.00 น. โอกาสสมโภชนักบุญยอแซฟ ภัสดาของพระนางพรหมจารีย์มารีย์ และ ฉลองครบรอบ 9 ปี สมณสมัยของพระสันตะปาปา ฟรังซิส โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พร้อมด้วย พระอัครสังฆราช พอล ชาง อิน-นัม สมณทูต พระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ พระอัครสังฆราช อันตน วีระเดช ใจเสรี และบรรดาพระสังฆราช ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ