พระอัครสังฆราช มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์

  • Print
 
พระอัครสังฆราช มีคาแอล  เกี้ยน  เสมอพิทักษ์
Most Rev. Michael  Kien Samorpitak
 
ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ปี ค.ศ. 1959-1980
 
พระอัครสังฆราช มีคาแอล  เกี้ยน  เสมอพิทักษ์ เกิดวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1920 ปีวอก ที่ บ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร  เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายชา  เสมอพิทักษ์ และนางสอ ชมพูจันทร์ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน 
 

ชีวิตในวัยเด็ก
เมื่อยังเด็ก ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดท่าแร่ฯ เมื่ออายุ 11 ปี ขณะกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 วันหนึ่งท่านได้ไปแก้บาปกับคุณพ่อบาเยต์ คือ พระสังฆราชบาเยต์ ในปัจจุบัน คุณพ่อถามว่า “ลูกอยากไปเป็นเณรที่บางช้างไหม?” เวลานั้นท่านไม่เคยมีความคิดมาก่อนเลยว่าจะเข้าบ้านเณร จึงขอเวลาคิดอยู่ 2-3 วันโดยมิได้ปรึกษาใครแล้วท่านก็ไปบอกคุณพ่อบาเยต์ ว่า “ยินดีไปครับ คุณพ่อ” นั่นคือจุดเริ่มต้นของกระแสเรียกแห่งการเป็นผู้รับใช้ของท่าน
 
กระแสเรียก
ท่านเข้าเรียนบ้านเณรเล็กที่บ้านเณรบางช้าง แล้วก็ย้ายมาที่บ้านเณรบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปี ค.ศ.1932 และไปต่อที่บ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ค.ศ.1935-1939 ออกทดลองเป็นครูเณรบ้านเณรหนองแสง นครพนม เมื่อปี ค.ศ.1940 เกิดสงครามบูรพา  ออกมาอยู่บ้าน ทำนากับพี่ๆ จนถึง เดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 
 
ศีลบรรพชา
เข้าเรียนบ้านเณรใหญ่ (ชั่วคราว) แม่พระนฤมลทิน บางนกแขวก เมื่อปี ค.ศ.1941-1948  บวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1948 ที่ปะรำพิธีหน้าอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ (หลังเก่า) โดยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ 
 
 
เริ่มชีวิตการทำงาน
ปี ค.ศ.1948-1949    ปลัดอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ (คุณพ่อสมุห์ พานิชเกษม  เป็นเจ้าวัด) 
ปี ค.ศ.1949-1950    ปลัดวัดบุ่งกะแทว (คุณพ่อคำจวน ศรีวรกุล) ดูแลบุ่งไหม บ้านบัว บ้านเอือด 
ปี ค.ศ.1950-1953    ศึกษาที่มหาวิทยาลัยคาทอลิก เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาโท ทางกฎหมายพระศาสนจักร 
                            และปริญญาโททางเทวศาสตร์
ปี ค.ศ.1954            เรียนภาษาอังกฤษที่ ดับบลิน ประเทศไอร์แลนด
ปี ค.ศ.1955            ศึกษาแนวคิดและแนวปฏิบัติด้านการศึกษาแบบอังกฤษ ได้อนุปริญญา
                            และได้ติดตามพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ไปดูงานที่อเมริกา 
ปี ค.ศ.1956-1957    ปลัดวัดท่าแร่ (คุณพ่อ แท่ง ยวงบัตรี เจ้าวัด) 
ปี ค.ศ.1957-1959    ผู้จัดการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ท่าแร่ ได้รับรองวิทยาฐานะ ค.ศ. 1958 
 
 
วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1959    รับแจ้งการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช บุลลา จากกรุงโรม ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1959 
วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1959  รับพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราชมิสซังท่าแร่
วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965  รับแต่งตั้งเป็นอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ปี ค.ศ.1980                      ลาจากตำแหน่งบริหารอัครสังฆมณฑลหลังจากที่ได้บริหารงานมา 21 ปี 
ปี ค.ศ.1981-1984              รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช้างมิ่ง ต่อจากคุณพ่อไรท์
                                      ดูแลบ้านนาคำ บ้านนาทัน พังโคน สว่างแดนดิน 
ปี ค.ศ.1984                      เป็นจิตตาธิการคณะรักกางเขนท่าแร่ , เป็นผู้บุกเบิกวัดแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล
                                      บ้านป่าพนาวัลย์ 
 
 
วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1984   ฉลอง 25 ปี แห่งการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง แด่ท่าน 
ปี ค.ศ.1985-1993              เป็นจิตตาธิการอารามกาปูชิน ท่าแร่ 
ปี ค.ศ.1990                      บุกเบิกบ้านดอนถ่อน , บ้านวนาสามัคคี อุ่มจาน 
ปี ค.ศ. 1991                     บุกเบิกบ้านคำสว่างน้อย ตำบลกุรุคุ , บ้านโคกสง่า 
ปี ค.ศ.1992-1993              รั้งตำแหน่งอุปสังฆราช, เคยเป็นจิตตาธิการคณะวินเซนต์เดอปอล,
                                      คณะพระหฤทัย, กลุ่มแม่บ้าน และชมรมผู้สูงอายุ
ปี ค.ศ. 1993                     บุกเบิกบ้านพรสวรรค์ (คำเจริญ) บ้านโนนสวาท, บ้านเทพนิมิต อำเภอบ้านแพง 
ปี ค.ศ. 1996                     ล้มป่วยเป็นอัมพาต
ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1998  อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง จัดงานฉลอง 50 ปี ชีวิตสงฆ์แด่ท่าน 
 
พิธีอภิเษก
วันที่ 30 มิถุนายน ไม่มีพิธีอะไร นอกจากแขกที่ทยอยกันมาเรื่อยๆ จากมิสซังอุดร, อุบล, ท่าแขก, เวียงจันทร์ และจากกรุงเทพฯ ซึ่งมาทางรถไฟ ลองนับดูที่ห้องรับอาหาร ทั้งพระสังฆราช และพระสงฆ์ รวม 71 ท่าน นับว่ามิใช่น้อย ตอนค่ำมีภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารเวียดนามที่เอื้อเฟื้อจัดมาช่วย มีทั้งข่าวและเรื่องต่อต้านลัทธิคอมมูนิสต์ รู้สึกว่าเป็นที่น่าสนใจของผู้ชมโดยทั่วกัน 
 
วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1959  สำหรับชาวไทย เพราะทางการได้ประกาศเลิกการจำหน่าย และเสพฝิ่น อันเป็นอบายมุขสำคัญอย่างหนึ่ง แต่สำหรับชาวมิสซังท่าแร่ ย่อมปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เพราะเป็นวันประวัติการที่เขาได้พระสังฆราชใหม่ ซึ่งถือกำเนิดจากบ้านของเขาเอง และกระทำพิธีอภิเษก  ที่บ้านท่าแร่ เป็นปฐมฤกษ์ 
 
ตอนเช้าฝนโปรยลงมา ทำให้วิตกเกรงว่าพิธีจะไม่สง่า แต่ไม่ช้าฝนก็ขาดเม็ด เวลา 07.40 น. เริ่มแห่ผู้รับอภิเษก ซึ่งนั่งบนวอ จากบ้านเจ้าอาวาส อ้อมผ่านหน้าวัด โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ มาสู่ปะรำพิธี (มิได้อภิเษกในวัด เพราะวัดเก่าแก่และคับแคบ) เวลา 08.10 น. เริ่มพิธี  โดยมีพระสังฆราชบาเยต์ เป็นผู้อภิเษก, พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต และพระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี เป็นสังฆราชผู้ช่วย ท่ามกลางพระสมณทูต พระสังฆราช ดรุ๊สแดร๊ก แห่งเวียงจันทร์, พระอัครสังฆราชอาร์โนด์ และพระสังฆราชดูฮาร์ต ตลอดจนคณะสงฆ์ ภคินี และประชาสัตบุรุษคับคั่ง  นายอำเภอจังหวัดสกลนคร และหัวหน้าส่วนราชการบางท่าน ให้เกียรติมาร่วมในพิธีด้วย อุปสังฆราช เป็นผู้อ่านสารตราตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา ยวง ที่ 23 
 
พิธีดำเนินไปอย่างสง่า เตือนศรัทธาเป็นเวลา 2 ชั่วโมง  ผู้มารับพรคนแรก คือ มารดาผู้ชราของท่านเอง เป็นภาพน่าปลาบปลื้มใจมาก... ต่อจากนั้นเป็นการแห่พระสังฆราชใหม่โดยรถยนต์ ไปรอบๆ บ้านท่าแร่ ซึ่งมีระยะยาว ราว 4 กิโลเมตร 
 
อาหารกลางวันมื้อนี้ จัดเป็นเกียรติแด่ผู้รับอภิเษก และแขกผู้มีเกียรติ... พระสังฆราชบาเยต์ กล่าวแสดงความยินดี ที่ได้ส่งพระสังฆราชใหม่ไปบ้านเณร ได้โปรดศีลอนุกรม, ตลอดจนการอภิเษกในวันนี้    ก็สมควรแล้วที่ท่านจะดีใจยิ่งกว่าใครๆ 
 
ผู้รับอภิเษกกล่าวขอบใจคณะพระสังฆราช  พระสงฆ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร  ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และผู้มีบุญคุณทุกท่าน  ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า ในฐานะที่ท่านเป็นชาวจังหวัดสกลนคร การได้รับอภิเษกนี้ก็เป็นเกียรติอย่างสูงแก่จังหวัดด้วย ทางราชการขอยืนยันให้ความร่วมมือกับทางมิสซังตลอดไป พระอัครสมณทูตก็ได้กล่าวแสดงความยินดี ในฐานะผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปา 
 
 
ตอนบ่ายทางโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ทั้งแผนกชายและหญิงแสดงการแปรขบวน กายบริหาร  และถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระสันตะปาปาใหม่ ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนนี้ คณะสัตบุรุษเวียดนาม  ถวายตู้สมุด, ชาวท่าแร่ถวายต้น (ทำนองแห่ผ้าป่าทางภาคกลาง) พระอัครสังฆราชขอบใจในความจงรักภักดี ให้คำมั่นว่าจะพยายามปกครองมิสซังเต็มความสามารถ ระหว่างอาหารมื้อเย็น พระสังฆราช เกี้ยน ถือโอกาสอธิบายคติประจำตัวสังฆราช คือ “Lux in tenebris”  เป็นความสว่างที่เปรียบได้กับศีลมหาสนิท พรังฆราชเกี้ยนยังพูดถึง 3 จังหวัดในปกครอง คือ นครพนม มีมรณสักขีที่สองคอน, สกลนคร และกาฬสินธุ์ นับว่ามีคริสตังค์มากที่สุด ซึ่งอยู่ในความหวัง เพราะยังไม่มีวัดคริสตังค์เลย 
 
ตอนค่ำ ปิดงานด้วยภาพยนตร์ของคณะข่าวสารเวียดนาม ประชันกับละครเรื่อง “สาวน้อยผู้ภักดี”  (ประวัตินักบุญโรซา แห่งลิมา) ของโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ แผนกหญิง สลับฉากด้วยการฟ้อนรำต่างๆ มีประชาชนมาชมนับเป็นพันๆ 
 
 
 
ตราสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งและความหมาย
ความหมายของตรา (Coat of Arms) 
 
จะแบ่งตราสัญลักษณ์ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งสีแดงมีรูปกึ่งใบลาน ต้นก้านใบลานเป็นตัวอักษร N ส่วนที่สองสีเหลืองมีอักษร S ที่บริเวณยอดมีรูปศีลมหาสนิทปังกับเหล้าองุ่น ส่วนที่สาม สีเขียวมีรวงข้าว ต้นก้านเป็นตัวอักษร C มีความหมายดังนี้ 
    คือ มิสซังที่ผมปกครองเวลานั้นมีอยู่ 3 จังหวัดคือ นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ 
      1. นครพนม แทนด้วยตัวอักษร N คือ NAKHON PHANOM พื้นเป็นสีแดงมีกิ่งใบลาน หมายถึง นครพนมเป็นดินแดนที่มรณสักขียอมเสียสละโลหิตเพื่อความเชื่อที่บ้านสองคอน ส่วนกิ่งใบลานก็เป็นเครื่องหมายตามพระคัมภีร์ว่า ผู้สละโลหิตยืนยันพระชุมพาน้อยเขาถือกิ่งใบลาน
     2. สกลนคร แทนด้วยตัวอักษร S คือ SAKONNAKHON พื้นเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีความสว่า แปลว่า จังหวัดสกลนคร มีจำนวนวัดมาก นับว่าความเชื่อแพร่หลายแล้ว ส่วนปังกับองุ่นนั้น เตือนตัว ท่านเองว่า ท่านจะต้องเอาศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิต นอกนั้นศีลมหาสนิทยังตรงกับ คติพจน์ของพระสังฆราช คือ “แสงสว่างในความมืด” คือในแผ่นปัง พระองค์ทรงบังกาย 
     3. กาฬสินธุ์ แทนด้วยตัวอักษร C ซึ่งอ่านได้เหมือนตัว K เมื่อตามด้วยตัว A  เช่น KALASIN หรือ CALASIN ก็อ่านได้เสียงตรงกัน พื้นสีเป็นสีเขียวมีรวงข้าว หมายความว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ยัง เป็นพื้นนาที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ที่พระสังฆราชเลือกเอา C แทน K สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ก็เพราะว่า พระสังฆราช อยากให้ตัว N,S,C มีความหมายเหมือนกัน คือ N = NOSTRA = ของพวกเรา, S = SALVATIO SALUS = ความรอด, C = CHRISTUS = พระคริสตเจ้า รวมความหมายคือ  “พระคริสต์ความรอดของเรา”
 
คติพจน์ประจำสมณสมัย
 
“LUX IN TENEBRIS” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “แสงสว่างในความมืด” คติพจน์นี้เป็นคติพจน์ที่พระสังฆราชได้เลือกตั้งแต่เมื่อยังเป็นพระสงฆ์ โดยพระสังฆราชได้กล่าวไว้ว่า “ผมอยากเป็นแสงสว่าง แม้ผู้อื่นไม่เข้าใจ (ความไม่เข้าใจคือความมืด) หรืออยากเป็น ทองแท้อยู่ในดิน” 
 
ประวัติศาสตร์ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้จารึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ไว้อย่างโดดเด่น ในฐานะนักบริหาร นักปกครองนักสู้ที่ทรหดอดทน แข็งแกร่งมีคุณธรรมใจดีและมากด้วยพลังวิริยะอุตสาหะในการปลุกเร้าใจประชาสัตบุรุษแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ให้ตื้นขึ้นมารับการไถ่กู้ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างสำเร็จผล 
 
การเร้าใจประชาสัตบุรุษให้มารู้จักพระเยซูคริสต์ของท่าน เป็นที่ประทับใจกับทุกคนที่ได้ร่วมงานและได้พบเห็นท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชด้วยกัน สัตบุรุษหรือผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ก็ตาม ต่างก็อดภูมิใจในความปรีชาสามารถและอัธยาศัยที่เป็นกันเองของท่านไม่ได้ ความรัก ความเมตตา ความจริงใจเยี่ยงพระคริสต์นั้น ท่านมีให้ต่อทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยเอกลักษณ์เช่นนี้จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้หลายคนได้กลับใจมารู้จักพระคริสต์ ดังนั้น ท่านจึงเป็นพระสังฆราชที่ชนะใจประชาสัตบุรุษและได้รับสมญาต่างๆ มากมาย ซึ่งพอจะประมวลกล่าวได้ดังนี้ 
 
งานเขียนของท่าน
ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว เขียนโดย พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ แปลโดย พระอัครสังฆราชไมเกิ้ล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
 
เป็นผู้แพร่ธรรม
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ท่านได้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มาก ท่านกระตุ้นให้พระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดในแต่ละแห่งให้ตระหนักถึงความสำคัญในการแพร่ธรรมเห็นผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ได้รู้จักและเข้าใจ ท่านได้ทุ่มเทพลังทั้งกายและใจตลอดจนกำลังทรัพย์เป็นจำนวนมากในงานด้านนี้ จัดส่งครูคำสอนออกไปแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่พระวรสารและแบ่งเบาภาระพระสงฆ์เจ้าอาวาส ซึ่งบางแห่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก  
 
บางแห่งก็ได้ผลน้อย แต่จะถือว่าจะประสบความล้มเหลวทีเดียวก็ไม่เชิง แม้จะมีคนกลับใจน้อยหรือไม่มีเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็แสดงความใจกว้างที่จะเผยแพร่พระธรรมคำสอน ให้คนที่ไม่รู้ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าของเรา หรืออย่างน้อยก็ทำให้ศาสนิกชนอื่นๆ ได้เข้าใจท่าทีของคริสตชนซึ่งนำมาสู่การมีความ สัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันยิ่งขึ้น
 
แม้ว่าท่านจะได้ลาพักเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย แต่ก็ยังรับหน้าที่ปกครองวัดช้างมิ่ง วัดนาคำ วัดนาทัน หมู่บ้านเหล่าดงคำโพธิ์ พังโคน และสว่างแดนดิน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่หนักมากสำหรับผู้มีอายุอย่างท่าน แต่ท่านก็ยังสู้ยังทำงานไม่แพ้พระสงฆ์หนุ่มๆ ทั่วไป ยังคงมุ่งงานแพร่ธรรมอยู่เช่นเคย ส่งครูคำสอนไปช่วยสอนในหมู่บ้านที่การคมนาคมไม่สะดวก เช่น หมู่บ้านนาทัน หมู่บ้านเหล่าดงคำโพธิ์ 
 
ภายหลังพ้นหน้าที่เจ้าอาวาสวัดช้างมิ่ง ท่านได้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมเต็มตัวและร้อนรน ได้บุกเบิกวัดแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล บ้านป่าพนาวัลย์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสำหรับการแพร่ธรรมและการภาวนา และขยายงานแพร่ธรรมออกไปอย่างกว้างขวางด้วยการบุกเบิกและตั้งกลุ่มคริสตชนในที่ต่างๆ เช่น บ้านนาสามัคคี อุ่นจาน บ้านดอนถ่อน บ้านคำสว่าง ตำบลกุรุค บ้านโคกสง่า บ้านพรสวรรค์ (คำเจริญ) บ้านโนนสวาท บ้านเทพนิมิต ในเขตอำเภอบ้านแพง เป็นต้น ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าคนอายุมากขนาดท่านจะทำได้ แต่ท่านได้กระทำและได้เป็น “แสงสว่างในความมืด” ดังคติพจน์ของท่านจะถึงวาระสุดท้ายที่ไม่มีแรงจะทำต่อไปอีกแล้ว นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีวิญญาณแห่งการแพร่ธรรมจริงๆ ที่ตระหนักในพระดำรัสของพระเยซูเจ้า ที่ว่า  “ท่านทั้งหลาย จงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน” สมควรที่เราอนุชนรุ่นหลังจะเอาเป็นแบบอย่าง 
 
 
เป็นผู้บุกเบิกในทางสร้างสรรค์สังคม
ด้วยความเป็นห่วงชีวิตวิญญาณคริสตชน ท่านพยายามที่จะรวบรวมครอบครัวคริสตชน ที่ย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ให้มาตั้งหลักแหล่งอยู่รวมกลุ่มกันตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ ถ้าใครยากจนไม่มีทุน ท่านก็จะทำโครงการติดต่อขอทุนมาซื้อที่ดิน แล้วให้สภาวัดทำการจัดสรรที่ดินเหล่านั้นให้เขาเข้าครอบครองทำกิน แล้วค่อยผ่อนส่งทุนตามความสามารถของแต่ละครอบครัว ท่านไม่ได้มุ่งแต่จะสอนธรรมะแก่เขาเท่านั้น ยังเป็นห่วงเรื่องปากเรื่องท้องของพวกเขาควบคู่ไปด้วย เพราะท่านยึดคติที่ว่า เมื่อท้องมันหิวเขาจะมีน้ำจิตน้ำใจมาฟังธรรมได้อย่างไร นอกนั้นท่านยังเป็นผู้ส่งเสริมอาชีพต่างๆ ในหมู่บ้านไม่ว่าเป็นการทอเสื่อ จัดตั้งศูนย์อบรม การเย็บปักถักร้อย ส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วลิสง ส่งเสริมการประมง เป็นธุระจัดการตลอดให้ชาวบ้าน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากบรรดาพ่อค้าคนกลาง แม้อายุมากแต่ก็หาได้ท้อถอยในงานด้านอภิบาลไม่ยังคงเป็นบุกเบิก ตั้งกลุ่มต่างๆ ทีจำเป็นต่อการอภิบาลในวัดที่ท่านรับผิดชอบต่อไป อาทิเช่น กลุ่มพลศีล กลุ่มธิดาแม่พระ กลุ่มพลมารี  กลุ่มวินเซนต์เดอปอล กลุ่มคูร์ซิลโล คณะสภาวัด กลุ่มธนาคารข้าว กลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนักขับร้อง จึงนับว่าเป็นผู้บุกเบิกในงานสร้างสรรค์สังคมที่มีผลงานดีเด่นคนหนึ่ง 
 
เป็นผู้ส่งเสริมกระแสเรียก
ท่านให้ความสำคัญต่อกระแสเรียก ส่งเสริมให้เด็กๆ ทั้งชายและหญิงหันมาสนใจต่อกระแสเรียก การเป็นนักบวช จัดให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการช่วยพิธีกรรม การร้องเพลง หรือจัดเป็นกลุ่มพลศีลเพื่อให้เด็กๆ ได้สวดภาวนาร่วมกัน เมื่อมีโอกาสก็จัดให้เด็กๆ ได้ไปดูแลบ้านเณร อาราม หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตตารมณ์นักบวชแก่เด็กๆ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้คณะนักบวชต่างๆ ไปรณรงค์หากระแสเรียกในเขตวัดของท่านอีกด้วย ฉะนั้นหากจะเปรียบเทียบกับวัดอื่นๆ ที่มีจำนวนสัตบุรุษเท่าๆ กันแล้ว เด็กๆ ในเขตวัดของท่านมีกระแสเรียก เช้าฝึกหัดตัวในอารามหรือเป็นเณรในคณะนักบวชต่างๆ มีจำนวนมากกว่าก็ว่าได้ นอกจากจะส่งเสริมกระแสเรียกแล้ว ท่านยังเป็นผู้ติดตามผล ให้ความสนใจทั้งในด้านการเรียน ความศรัทธา หรือความประพฤติของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นระยะภาคปิดเทอมหรือเปิดเทอมก็ตาม ท่านจะคอยเอาใจใส่ดูแลอยู่เสมอ หากเด็กคนไหนทางครอบครัวมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ท่านจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรคต่อกระแสเรียกของเด็ก จึงเป็นที่น่าภูมิใจสำหรับวัดที่มีผู้มองเห็นความสำคัญของกระแสเรียกอย่างท่าน หากผู้นำให้การสนับสนุนหรือปลูกฝังจิตตารมณ์เช่นนี้แก่เด็กเยี่ยงท่าน ผลของกระแสเรียกย่อมจะเจริญงอกงามเป็นแน่ทีเดียว 
 
 
เป็นบิดาผู้ใจดี
ความมีอัธยาศัยไมตรีเยี่ยม ร่าเริงแจ่มใสใจดีมีเมตตา เป็นคุณสมบัติที่นำมาซึ่งความประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็น เอกลักษณ์ประจำตัวเหล่านี้ทำให้ท่านได้รับสมญาที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “เป็นบิดาผู้ใจดี” กับบรรดาเพื่อพระสงฆ์ ท่านเป็นกันเองไม่ถือตัวเข้าได้กับทุกคนแม้ว่า จะต่างกันด้วยวัยวุฒิก็ตาม เข้าใจถึงปัญหาพระสงฆ์ด้วย เมื่อเพื่อนพระสงฆ์มีปัญหาท่านจะให้กำลังใจและไม่นิ่งนอนใจ ในการช่วยเหลือชี้แนะแนวทาง ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน หรือว่าเมื่อพระสงฆ์มีปัญหาเรื่องการเงินในการทำกิจการต่างๆ หรือต้องการให้ท่านช่วยในกิจการใดๆ ก็ตาม จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจและไม่ผิดหวัง ท่านถือเสมอว่า  “ศิษย์ของพระคริสต์ต้องรักกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกันและ ช่วยเหลือกัน” 
 
กับลูกๆ ของท่าน สามเณรหรือผู้ฝึกหัดตัวเป็นนักบวชหญิง ท่านตระหนักเสมอว่าทั้งสามเณรและผู้ฝึกหัดตัวเป็นนักบวชหญิงคือผู้ที่จะมาร่วมงานกับท่านในอนาคต ท่านจึงให้ความสนใจเอาใจใส่เป็นพิเศษ ติดต่อหาทุนช่วยเหลือเกื้อกูล เมื่อมีโอกาสผ่านบ้านเณรหรืออารามท่านจะต้องแวะเยี่ยม เยียนถามไถ่ทุกข์สุข ร่วมสังสรรค์และให้กำลังใจ สร้างความเป็นกันเองกับบรรดาลูกๆ เสมอ  ใครขัดสนอะไรมีความทุกข์ยากในเรื่องใดท่านจะคอยช่วยเหลือไม่เคยทอดทิ้ง กับสัตบุรุษ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะจนจะรวยหรือนับถือศานาใด  ก็ตาม ท่านเป็นกันเองเสมอหากเขามีความจำเป็นท่านพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนยากจนท่านถือว่าเป็นภาระหน้าที่ ที่ทางวัดและท่านจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ใครก็ตามที่มาหาท่านจะไม่ผิดหวังและกลับไปมือเปล่าโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ 
 
 
มีเรื่องเล่าว่ามีครั้งหนึ่งท่านไปถวายมิสซาที่วัดบ้านหนองบก ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศหนาวมาก หลังมิสซาก็มีคนยากจนคนหนึ่งมาหาท่าน บอกว่ายากจนเหลือเกิน และไม่มีเสื้อผ้าใส่ ท่านบอกให้เขาคอยประเดี๋ยวและเดินเข้าใปที่ห้องซาคริสเตีย  สักพักก็เดินออกมาพร้อมกับเสื้อนอกและกางเกงอย่างดี และมอบให้แก่ชายคนนั้น ยังความปลาบปลื้มใจสำหรับชายคนนั้นอย่างมากเพราะเป็นชุดที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา แต่เขารู้ไม่ว่านั้นคือเสื้อผ้าชุดที่ท่านกำลังใส่อยู่ซึ่งท่านเปลี่ยนเป็นกางเกงนอน (Pyjamar) และสวมเสื้อหล่อคลุมทับอีกที ขณะเข้าไปห้องซาคริสเตีย นอกจากนั้นท่านยังจัดหางานหรือส่งเสริมให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ท่านจึงเปรียบเสมือนร่วมโพธิ์ร่มไทรสำหรับพวกคนยากจนทีเดียว กับบรรดาเยาวชนและเด็กๆ ท่านเป็นเหมือนบิดาที่เข้าใจถึงใจของเด็กๆ ซึ่งมีความต้องการสนุกสนานร่าเริง เป็นวัยที่ต้องการแสดงออก ท่านจึงเป็นผู้สนับสนุนทั้งทางด้านกีฬาและดนตรี ท่านพยายามชี้แนะให้พวกเขามองเห็นความสำคัญของทางวัด และให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตของพวกเขาด้วยเหตุผลนี้บรรยากาศวัดของท่านจึงเป็นที่ดึงดูดเยาวชนและเด็กๆ ให้มาร่วมสนุกสนานในเวลาว่าง หรือวัดหยุดเสมอๆ 
 
จึงมองเห็นได้ว่าสมญาต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เราได้รู้จักท่านในงานของท่าน ความจริงท่านยังมีบทบาทในงานสำคัญๆ ของพระเป็นเจ้าอีกมากมาย ที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่ทุกคนต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของท่านอยู่เสมอ กิริยาอาการของท่านอยู่ในความสงบของผู้รักษาพรหมจรรย์แต่มีสิ่งหนึ่งที่คอยรบกวนชีวิตของท่านอยู่เสมอ นั่นก็คือสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยให้แม้จะอยู่ในวัยชราและสุขภาพไม่สู้จะดี ท่านก็ยังมีความเชื่อมั่นและไว้ใจในความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าเสมอ  “พลังพิเศษ” นี้อยู่ภายในท่านและเป็นแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้ท่านแสดงความปรีชาสามารถออกมาในงานของพระเป็นเจ้าจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ที่ท่านมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเป็นเจ้า 
 
 
มรณภาพ
พระอัครสังฆราช มีคาแอล  เกี้ยน  เสมอพิทักษ์ อดีตประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราและอัมพาต เช้ามืดวันที่16 ตุลาคม ค.ศ. 1998 เวลา 04.00 น. ที่บ้านพักพระสงฆ์สูงอายุของอัครสังฆมณฑลฯ “บ้านซีเมออน” ท่าแร่  มีพิธีมิสซาและสวดหน้าศพเป็นเวลา 7 วัน ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่  รวมอายุ 77 ปี 29 วัน
 
พิธีปลงศพ 
วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1998   ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ โดยมี พระอัครสังฆราช ลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นประธาน ร่วมกับพระอัครสมณทูตลุยจี แบรสซาน คณะพระสังฆราช และพระสงฆ์ประมาณ 160 คน นักบวชชาย-หญิง สัตบุรุษ อีกประมาณ 3-4 พันคน