พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี

  • Print
 
 

ท่านเกิดวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1909 ตำบลเสาวภาผ่องศรี  อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก  เป็นลูกวัดพระมหาไถ่   มีพี่น้อง 4 คน ท่านเป็นลูกคนที่สอง  บิดาชื่อ ตงสุน เฮา  มารดาชื่ออิ๊วเกียว เฮา 
 
การศึกษา
ได้เรียนภาษาจีนในโรงเรียนวัด โรงเรียนคริสตสงเคราะห์ เสาวภา นครนายก บ้านอยู่ข้างวัด จึงไปเล่นกับเพื่อนๆ ในบริเวณวัดนั่นเอง  พระสงฆ์จึงมีโอกาสสังเกตแทบตลอดเวลา
 
เข้าสามเณราลัย
คุณพ่อเห็นเด็กชายสงวนมีความศรัทธาและมีลักษณะความสามารถอื่นๆ สมควรเป็นพระสงฆ์  จึงเสนอต่อเจ้าอาวาสใหญ่แห่งวัดลำไทรคือคุณพ่อดือรังด์  ก็ได้รับอนุมัติโดยที่คุณพ่อดือรังด์เองก็รู้จักพ่อแม่ของเด็กคนนี้ดี จึงได้ส่งเข้าเรียนที่สามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม
 ปี ค.ศ. 1922-1930     เรียนที่สามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม เป็นเวลา 8 ปี หลังจากนั้น
                               เป็นครูสอนเรียนที่วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด นครราชสีมา เป็นเวลา 2-3 เดือน
 ปี ค.ศ. 1930-1936    ได้ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม  ประเทศอิตาลี  พร้อมกับครูเคียมสุน นิตโย  
                               เข้ามหาวิทยาลัยปรอปากันดา ฟีเด สาขาปรัชญา และเทวศาสตร์ 
 
ครูสงวนไปศึกษาต่อที่กรุงโรมพร้อมครูเคียมสุน นิตโย  และมีสามเณรชาติต่างๆ จากทุกทวีป ครูสงวน มีโอกาสวิสาสะกับคนแทบทุกชาติ มีนิสัยใจคอขนบธรรมเนียมต่างๆ เป็นการหัดการสมาคมไปในตัว  เหมาะแก่การอบรมเป็นพระสงฆ์คาทอลิก บำเพ็ญตนเป็น “Omnia omnibus” คือเป็นทุกอย่างเพื่อทุกคน จึงได้เพาะนิสัยชอบพูด ร่าเริงอยู่เสมอ ในด้านการศึกษาครูสงวนไม่พบความยากอะไรอีกแล้ว เพราะวิชาที่ต้องเรียนก็คือปรัชญา เป็นวิชามือขวาสำหรับผู้ชอบใช้ความคิด ต้นปีที่สอง ทำการปฏิญาณว่าจะพยายามเดินหน้าจนบรรลุชั้นพระสงฆ์ทำงานเพื่อวิญญาณในมิสซัง ปลายปีที่สอง ก็เข้าสอบไล่ได้ปริญญาเอก ทางปรัชญา (Ph.D.) ได้คะแนนในขั้นดี  แล้วเข้าศึกษาเทววิทยา  กลางปีที่สามรับศีลโกนเข้าอยู่ในคณะนักบวช ปีต่อๆ ไปรับศีลน้อยจนได้รับศีลใหญ่เป็นลำดับ และด้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936 โดยพระคาร์ดินัล มาร์แคตตี ซัลเวคชานี  ถวายมหาบูชามิสซาเป็นครั้งแรกที่พระแท่น มีพระธาตุแขนของ นักบุญฟรันซิสโก อุทิศแก่บิดามารดาผู้วายชนม์และญาติพี่น้อง พร้อมทั้งผู้ที่มีบุญคุณทั้งหลายที่มีส่วนนำขึ้นพระแท่น  อุทิศแก่วิญญาณที่จะต้องอยู่ในอารักขาของตนในอนาคตอันใกล้ แต่คงไม่ได้นึกฝันว่าจะต้องดูแลวิญญาณ ทั้งมิสซังในโอวาทของตน หลังจากบรรพชายังต้องศึกษาต่ออีกครึ่งปีการศึกษา เข้าสอบไล่ได้ปริญญาโททางเทววิทยา (L.S.Th.) เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 11 ขอรับพระราชทานพระพรทูลลากลับประเทศไทยในปี ค.ศ. 1937

เริ่มชีวิตการทำงาน
คุณพ่อสงวน สุวรรณศรี เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันฉลองแม่พระขึ้นสวรรค์ พระสังฆราชแปร์รอส กำหนดให้ไปช่วยคุณพ่อเมอนิเอร์  (เจ้าอาวาสวัดนักบุญเทเรซาเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่)
 
ปี ค.ศ. 1937-1940 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญเทเรซาเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่ ทำการประกาศศาสนา ร่วมกับคุณพ่อนีโกเลาพระสงฆ์ใจร้อนรน นอกนั้นยังมีพระสงฆ์หนุ่มๆ คือ คุณพ่ออาทานาส และคุณพ่อเดอนีส แต่ไม่ได้อยู่ประจำที่เชียงใหม่  ต่างแยกกันไปดูแลวัดไกลๆ ในป่า ครั้งใดที่มาพบกันที่เชียงใหม่ก็ถีบจักรยานเข้าไปในบริเวณเมือง เพื่อประกาศศาสนา เป็นการหย่อนใจกับเพื่อนๆ ไปในตัว คุณพ่อสงวนเดิมใช้จักรยานไม่เป็น มาลงมือหัดที่เชียงใหม่ มีผู้ชำนาญมาแนะนำ คุณพ่อสงวน สมัครเดินทางถีบรถจักรยานขึ้นเขาลงเขาไป เยี่ยมวัดในป่าระยะทาง 40 กิโลเมตร  ตามเพื่อนพระสงฆ์ซึ่งถีบรถจักรยานเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เมื่อทางผู้ใหญ่เห็นว่าคุณพ่อรู้ภาษาภาคเหนือพอใช้ได้แล้วจึงให้รับผิดชอบมอบวัดเวียงป่าเป้าให้ดูแล ชื่อ “เวียงป่าเป้า” พอให้เข้าใจว่าเป็นวัดห่างไกลอยู่ในระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย  กว่าจะพบเพื่อนพระสงฆ์ ต้องเดินทางเดินเท้ารอนแรมตามป่าตามเขาถึงสองคืนสามวัน ต่อมาพระสังฆราชแปร์รอส ย้ายคุณพ่อสงวนลงมากรุงเทพฯ  
ปี ค.ศ. 1940-1944  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์  กรุงเทพฯ 
ปี ค.ศ. 1940          ไปดูแลวัดนักบุญอันนา ท่าจีน สมุทรสาคร (ไปจากวัดกาลหว่าร์)
ปี ค.ศ. 1940          เจ้าอาวาสวัดอัครเทวดามีคาแอล ปราจีนบุรี (แทนคุณพ่อแปร์รัวย์)  
คุณพ่อถูกจับจำคุกในข้อหาเป็นแนวที่ห้า ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1940 และได้รับการปลดปล่อยเดือนกันยายน ค.ศ. 1942 แล้วจึงกลับไป อยู่ที่วัดกาลหว่าร์เหมือนเดิม 
ปี ค.ศ. 1942            ไปดูแลวัดอัครเทวดาราฟาแอล ปากน้ำ สมุทรปราการ (มาจากวัดกาลหว่าร์) 
ปี ค.ศ. 1944-1946    อธิการสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา ชลบุรี
ปี ค.ศ. 1945-1946    เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย ศรีราชา ชลบุรี (แทนคุณพ่อดือรังด์)
ปี ค.ศ. 1946-1953    เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย ศรีราชา ชลบุรี
 
อภิเษกพระสังฆราช
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1953 คุณพ่อสงวน สุวรรณศรี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเอโนอันดา ประมุขมิสซังจันทบุรี จากสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ด้วยอายุ 43 ปีเศษ ยังมีกำลังวังชา กระปรี้กระเปร่า พร้อมด้วยคุณลักษณะ คุณวุฒิ ปฏิกาณโวหาร  ปฏิกาณปฏิบัติ 
 
 
คติพจน์     ของท่าน คือ  “ADVENIAT REGNUM TUUM”  (พระอาณาจักรจงมาถึง)  
 
วันพุธที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1953  นับเป็นวันประวัติการณ์วันหนึ่งของอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เพราะวันนี้ พระสมณทูตยอห์น  ดูลี่  ร่วมกับ พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์  โชแรง และพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์  ได้ประกอบพิธีอภิเษก พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์สงวน  สุวรรณศรี  ขึ้นเป็นพระสังฆราช ซึ่งนำความชื่นชมยินดีอย่างใหญ่หลวงมาสู่สังฆมณฑลจันทบุรีและคริสต์ศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไป พิธีอภิเษกเป็นไปโดยเรียบร้อย สง่า มโหฬาร และมีเกียรติ ในท่ามกลางคณะนักบวช ทูตานุทูต, ท่านผู้มีเกียรติและประชาสัตบุรุษสุดที่จะคณนาได้ถูกต้อง   
 
เช้าวันนั้นอากาศแจ่มใสมีเมฆบังแสงแดดบ้างเล็กน้อย ช่วยให้ความร้อนทุเลาลง ตั้งแต่ก่อน 7.00 น. มหาชนทั้งนักบวชและฆราวาสทยอยเข้าสู่โบสถ์อัสสัมชัญ ส่วนมากใช้รถยนต์เป็นพาหนะ คันแล้วก็คันเล่า จนภายในวัดแน่นขนัดต้องเสริมที่นั่งสำรองที่หน้าวัดอีกหลายแถว ท่านผู้มีเกียรติเหล่านี้มาจากทั้ง 4 มิสซังของเมืองไทยทีเดียว  และที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งคือแต่ละมิสซังใช้พระสังฆราชเป็นผู้แทน คือ พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์  โชแรง แห่งมิสซังกรุงเทพฯ  และพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ แห่งมิสซังท่าแร่ เป็นผู้ช่วยอภิเษก, ส่วน พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต มาร่วมในพิธี นอกนั้นพระสังฆราช ถุก (Thuc) พระสังฆราชแห่งมิสซังวิลลอง ประเทศญวน ก็ได้ให้เกียรติมาร่วมพิธี ในฐานะเป็นผู้แทนชาวปรอปากันดา ผู้ร่วมสถานศึกษาเดียวกันกับพระสังฆราชใหม่ของเราด้วย ส่วนพระสงฆ์นับได้ประมาณ 100 เศษ  คณะภราดาและภคินีเกือบทุกแห่งที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ  และที่อุตส่าห์มาจากบ้านนอกก็มีมาก ประชาสัตบุรุษไม่ต้องพูดถึง เพราะนับไม่ถูกจริงๆ ทุกท่านต่าง บากบั่นมาด้วยใจรักและชื่นชมในพระสังฆราชใหม่โดยแท้ 
 
เวลา 08.15 น.  ขบวนพระสงฆ์ผู้ช่วยในจารีตมี คุณพ่อประพล, คุณพ่อบุญชู, คุณพ่อห้อง, คุณพ่อเศียร, คุณพ่อคาร (มิสซังท่าแร่) วินทร์ และคุณพ่อเลออง (นายจารีตใหญ่)  พร้อมทั้งเด็กช่วยมิสซาก็ได้มาที่สำนักพระสังฆราชเก่า (พระสังฆราชแปร์รอส) เพื่ออัญเชิญพระสมณทูตและพระสังฆราชเข้าทำพิธีในโบสถ์ แล้วจากนั้นพระสงฆ์นับร้อยก็ได้นำหน้าขบวนผู้อภิเษกและพระสังฆราชใหม่เข้าวัด  คณะสามเณรภายใต้ความควบคุมของคุณพ่อมีแชลอ่อน  อธิการ  เริ่มประสานเสียงเพลงสดุดีพระสันตะปาปาต้อนรับนับเป็นภาพปฐมฤกษ์ที่น่าดูมาก 
 
เวลา 8.30 น. เริ่มพิธีอภิเษกโดยมีการอ่านสาส์นตราตั้งพระสังฆราชของสมเด็จพระสันตะปาปา แล้วพระสมณทูตสอบถามความตั้งใจและความเชื่อตามธรรมเนียมแต่โบราณกาล  ต่อจากนี้ผู้รับเลือก ตั้งแต่งตัวสวมเครื่องมิสซาอย่างพระสังฆราช เริ่มถวายมิสซาจนถึงอัลเลลูยา  เนื่องจากวันนี้ตรงกับวันสมโภชนักบุญยอแซฟ มิสซาที่ขับร้องจึงเป็นไปตามวันฉลองด้วย  รู้สึกว่าคณะสามเณรได้พยายามร้องในมาตรฐานไพเราะจับใจและชวนศรัทธามาก ทั้งเพลง ทำนองราบ (Piana) และบทหลายเสียง เช่น กีรีเอ, กลอรีอา, เกรโด และ เตเดอม เป็นต้น  อันดับนี้ไปทำพิธีอภิเษกต่อตอนที่ 2 มีการขับลิตาเนีย  นักบุญทั้งหลาย, ผู้รับเลือกตั้ง กราบลงยังพื้นเชิงพระแท่น จบลิตาเนียแล้ว ทุกคนลุกขึ้น ผู้อภิเษกเอาหนังสือพระวรสารเปิดออก วางบนศีรษะและบ่าของผู้รับเลือก แล้วพระสังฆราชทั้ง 3 ปรบมือเหนือศีรษะ เพื่ออัญเชิญพระจิตเจ้ามาสู่วิญญาณของพระสังฆราชใหม่โดยบริบูรณ์ 
 
ต่อจากนี้ผู้อภิเษก พันศีรษะของผู้รับเลือก และร้องนำบท “เวนี  เกรอาตอร์”  พลางเอาน้ำมัน   คริสมาเจิมศีรษะ, ที่มือ, ต่อไปเสกคทาและมอบใหม่ แล้วเสกแหวนสอดใส่ในนิ้วมือขวา เอาพระวรสารออกจากบ่ายื่นแก่พระสังฆราชใหม่  ที่สุดผู้อภิเษกทั้ง 3 จบพระสังฆราชใหม่  แล้วถวายมิสซาต่อไปจนถึง อ๊อฟแฟรตอรีอุม คราวนี้  ผู้รับเลือกถวายเทียน 2 เล่ม  ปัง 2 ก้อน  เหล้าองุ่น 2 ถังน้อยๆ แก่ผู้อภิเษก แล้วถวายมิสซาต่อจนถึงตอนรับศีล  ผู้อภิเษกรับพระกายและพระโลหิตแล้ว ส่งให้พระสังฆราชใหม่รับทั้ง 2 เพศด้วย ตอนปลายมิสซาผู้อภิเษกเสกมาลาสูงและถุงมือมาสวมให้แล้วมีการขับบท  เดเดอูม อย่างสง่า ระหว่างนั้นพระสังฆราชใหม่มีพระสังฆราชผู้ช่วยอยู่ซ้ายขวา ดำเนินไปท่ามกลางสัตบุรุษเพื่ออวยพรแก่ทุกคน กลับมายังพระแท่นแล้วผู้รับเลือกยืนกลางพระแท่น  ถือคทาเต็มยศอวยพรอย่างสง่าตามพิธีสังฆราชใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วถวายพระพรผู้อภิเษกให้อายุยืนยาว (ทีฆายุ) 3 ครั้ง จากนั้นทำมิสซาต่อจนจบ  ขณะนี้เป็นเวลา 10.45 น. นับเป็นเสร็จพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราช 
 
เสร็จพิธีแล้ว  ประชาสัตบุรุษยังไม่ยอมกลับ  ต่างมาคอยบนตึกท่านเพื่อชมบารมี, ถวายของขวัญ และขอพร  ขอจูบแหวนกันหนาแน่น รู้สึกว่าพระสังฆราชปลาบปลื้มในความจงรักภักดีของสัตบุรุษเหล่านี้มาก ตอนเที่ยงและเย็นพระสังฆราชทั้งหมด, พระสงฆ์ทั้งหลายและคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ได้ร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน ณ  ตึกใหม่ของโรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อเป็นเกียรติแด่พระสังฆราชใหม่  ในโอกาสนี้  ท่านสมณทูตได้กล่าวขอบใจพระสังฆราชทุกองค์ที่ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ส่วนประมุขแห่งมิสซังกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงบรรดาบุรพาจารย์ของพระสังฆ ราชใหม่  เช่นพระสังฆราชแปร์รอส   พระสังฆราชยาโกเบ แจง  และคุณพ่อการ์ หวังว่าท่าน คงใช้ความสว่างของพระจิตที่รับในตอนเช้า มาเป็นประโยชน์ในการปกครองเทียบสังฆมณฑลจันทบุรี  ให้รุ่งเรืองก้าวหน้าตามแบบของท่านบุรพาจารย์ดังกล่าวแล้ว พระสังฆราชใหม่ได้กล่าวตอบขอบใจท่านสมณทูต พระสังฆราชทุกองค์ พระสงฆ์ทั้งหลายและบุคคลอื่นทุกคน  ที่มีส่วนช่วยให้การอภิเษกดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ 
 
ตอนค่ำ ที่หอประชุม (Hall) ของโรงเรียนอัสสัมชัญ คณะสามเณรในนามของคณะสัตบุรุษ มิสซังจันทบุรีได้ถือโอกาสอ่านคำถวายชัยมงคลและร้องเพลงประสานเสียงแสดงความชื่นชมยินดีต่อเกียรติยศและฐานันดรศักดิ์ของพระสังฆราชใหม่อีกหลายบท ในที่สุดพิธีอภิเษกก็ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  ทางมิสซังจันทบุรีรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณหลายๆ ท่านที่ได้ให้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นที่สุด เว้นเสียมิได้ที่จะกล่าวคือ 
1. พระอัครสังฆราช ยอห์น ดูลี่  ผู้อภิเษก และ พระสังฆราช ถุก (Thuc) พระสังฆราชแห่ง มิสซังวิลลอง ประเทศญวน 
2. พระสังฆราชหลุยส์  โชแรง ผู้ช่วยอภิเษกและให้คำแนะนำร่วมมือเยี่ยงบิดาแสดงต่อบุตร จริงๆ (ถือมิสซังจันทบุรีเป็นลูก) 
3. พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ ผู้สละเวลามาช่วยอภิเษก และนำพระสงฆ์จากมิสซังท่าแร่  หลายองค์มาร่วมในพิธีนี้ 
4. พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ผู้มาเป็นเกียรติแก่งาน พร้อมทั้งพระสงฆ์อีกหลายองค์ใน  มิสซังของท่าน 
5. คุณพ่อเปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ, คุณพ่อโรเชอโร ผู้ดูแลผล ประโยชน์ของมิสซังกรุงเทพฯ  คุณพ่อดานิแอล  เลขานุการพระสังฆราช, คุณพ่อสวัสดิ์, คุณพ่อกิมฮั้ง, คุณพ่อลออ, คุณพ่อเลออง  นายจารีตใหญ่แห่งพิธี, คุณพ่อมีแชลอ่อน ตลอดจนคุณพ่อลาร์เก ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สารสาสน์ ฯลฯ ท่านเหล่านี้ได้ช่วยเหลือ วิ่งเต้นให้งานอภิเษกดำเนินโดยสวัสดิภาพ  และสมเกียรติ โดยมิได้คำนึงถึงความเหน็ด เหนื่อยใดๆ ส่วนตัวเลย 
6. คณะภราดาแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ  กรุงเทพฯ  ผู้กรุณาให้ยืมสถานที่พักแก่คณะสามเณร ซึ่งเข้าพักตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 23 เมษายน 
7. นายหมง วังตาล  คหบดีผู้เมตตาจัดหาเครื่องดื่มเลี้ยงประชาสัตบุรุษ  นายมานิต  บุญคั้นผล ช่วยดูแลจัดที่นั่งและรักษาความเรียบร้อย และคณะสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญ, บ้านเขมร, วัดสามเสน, วัดซางตาครู้ส,และวัดกาลหว่าร์ ที่เอื้อเฟื้อจัดอาหารมาเลี้ยงคณะสามเณรตลอดงาน
8. ในที่สุดขอขอบใจคณะสงฆ์ ภราดา ภคินี และประชาสัตบุรุษทั้งที่มาได้ และที่ร่วมใจทาง คำภาวนาขอพระพรแห่งพระเจ้าจงสถิตอยู่กับเขาเหล่านี้อย่างอุดมบริบูรณ์เทอญ
 
 
พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  สงวน สุวรรณศรี ปกครองสังฆมณฑลจันทบุรีจนถึงปี ค.ศ. 1970  จึงขอลาจากหน้าที่ เนื่องจากสุขภาพ ต้องพักรักษาตัวตลอดมา จนถึงวาระสุดท้าย รวมเวลาที่ปฎิบัติภารกิจในฐานะพระสังฆราชถึง 17 ปี ตลอดชีวิตของพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ท่านได้ทำงานอย่างเข้มแข็งตรงไปตรงมา และประหยัดเวลา เอาใจใส่วิญญาณสัตบุรุษ ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างดี ท่านมีความศรัทธาต่อแม่พระมากเป็นพิเศษ เมื่อประสบปัญหาความทุกข์ยาก ท่านจะวิงวอนขอแม่พระช่วย จนคำภาวนา “แม่จ๋า ช่วยลูกด้วย” ติดปากของท่าน  และแม้ในงานศพของท่าน ท่านสั่งไว้ว่า ขอให้เอารูปแม่พระตั้งไว้ที่ศพ แทนรูปของท่านเอง 
 
พิธีปลงศพ
พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี  ได้มรณภาพที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1983  เวลา 20.10 น. อายุ 74 ปี  
 
พินัยกรรมของท่านตอนหนึ่งระบุว่า “งานศพของท่านอย่าได้หรูหราใหญ่โต ดอกไม้-พวงหรีด เทียน ให้ใช้แต่น้อย...” และ... “ข้าพเจ้ากราบขอโทษทุกคน ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิด หรือคิดว่าข้าพเจ้า ทำผิด และกรุณาสวดอุทิศให้ข้าพเจ้าบ้าง” พิธีปลงศพและฝังที่วัดพระผู้ไถ่ เสาวภา นครนายก