คุณพ่อ มอริส ยอแซฟ อัลมังด์ การต็อง

  • Print

คุณพ่อ มอริส ยอแซฟ อัลมังค์ การต็อง

Maurice CARTON

 

 
คุณพ่อ มอริส ยอแซฟ อัลมังค์ การต็อง เกิดวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1875   ที่เมืองแซ็งต์เยรแม็ง ลา ปอเตอรี่ (วาซ) ท่านเข้าบ้านเณรมิสซังต่างประเทศ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1899 และออกเดินทางมาประเทศสยาม วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 หลังจากเรียนภาษาพอสมควรแล้ว ในปี ค.ศ. 1901    คุณพ่อการต็องรับแต่งตั้งเป็นปลัด ที่วัดแม่พระนิรมล จันทบุรี และท่านดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี ค.ศ. 1910 ภายใต้คำแนะนำ และความช่วยเหลือของคุณพ่อเปริกัลเจ้าอาวาส ท่านพยายามตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ในเขตนี้ เพราะเห็นว่า กรณีเเวดล้อมดูเหมือนจะอำนวย ให้ เพราะตลอดทั้งเขตดังกล่าว เวลานั้น มีคริสตังถึง 3,080 คนแล้ว ในปี ค.ศ.1908 เมื่อวัดใหม่จันทบุรีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อการต็อง ได้ช่วยคุณพ่อแฟฟร์ ในการพัฒนากลุ่มคริสตชนน้อยๆ ทั้งหลายในเขตนี้
 
ปี ค.ศ. 1910 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดพระนามกรเยซู บ้านแป้ง และรับผิดชอบดูแลกลุ่มคริสตชนที่ปากน้ำโพด้วย ปี ค.ศ. 1911 ท่านได้รับคุณพ่อกาสตัล เป็นพ่อปลัดผู้ช่วย และได้รับมอบหมายให้คุณพ่อปลัดไปดูแลวัดปากน้ำโพ เป็นต้น คุณพ่อการต็องดำริที่จะตั้งกลุ่มคริสตชนที่ บางขาม และตั้งกลุ่มคริสตชนอื่นๆ ชาวจีนและญวณ แต่ก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผล ด้วยว่าไม่มีผู้แปลคำสอนที่จะจัดส่งไปได้
 
ปี ค.ศ. 1912 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซัง แล้วรับมอบหมายให้เปิดโรงเรียนฝึกหัดครูแปลคำสอน ใต้ความอุปถัมภ์ของท่านนักบุญ ตาร์ซีซิอุส ขณะเดียวกัน ท่านก็รับผิดชอบ วัดนครชัยศรีด้วย ซึ่งท่านจะสามารถหานักเรียนที่จะอบรมให้เป็นครูได้ เมื่อท่านเปิดโรงเรียนนี้ รับนักเรียนจำนวน 17 คน และท่านได้ส่งให้คุณพ่อรงแดล  ที่โคราช
 
ปี ค.ศ. 1914 ท่านต้องกลับฝรั่งเศส เนื่องจากเกิดสงครามโลก
 
เมื่อท่านกลับมาสู่สยามปี ค.ศ. 1919 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรบางช้าง ขณะที่โรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส มาอยู่ในความดูแลของคุณพ่อแฟร์เลย์ ผู้มีความสามารถมากกว่าสำหรับบริหารโรงเรียนประเภทนี้
 
ปีค.ศ.1921 คุณพ่อการต็อง อธิการบ้านเณรบางช้างรายงานมาว่า ท่านมีความพอใจ เนื่องจากบรรดาเณรของท่านมีความศรัทธา และพยายามทำงานให้ได้ผลดี
 
ในปี ค.ศ. 1925   พระสังฆราชแปร์รอส รายงานถึงกรุงปารีสว่า : “สามเณราลัย และ โรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส ดำเนินงานต่อไปตามปรกติ ระเบียบบังคับใหม่ๆ ของทางกระทรวงศึกษาธิการ มิได้ทำให้งานของอธิการ และคณาจารย์ลดน้อยลงไป แต่เราก็มีความชื่นชมยินดีที่สังเกตเห็นว่า ผลที่ได้รับนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกว่าโรงเรียนรัฐบาลทั้งหลาย”
 
รายงานดังกล่าว ตรงกับความเป็นจริง ในเรื่องที่เกี่ยวกับโรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส  ซึ่งตั้งอยู่ที่แปดริ้ว ใต้ความควบคุมของคุณพ่อแฟร์เลย์ แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเณรบางช้าง ซึ่งตั้งอยู่ที่บางนกแขวก ใต้ความดูแลของคุณพ่อการต็อง นับได้ว่ารายงานดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยเหตุว่า คุณพ่อการต็องไม่เคยสนใจเรื่องหลักสูตรของรัฐบาล ทั้งบรรดาครู (พระสงฆ์) รับการแต่งตั้งมาจากพระสังฆราช โดยมิได้ขออนุญาตใดๆ ทั้งสิ้นจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนักเรียนก็มิได้เล่าเรียนตามหลักสูตรของรัฐบาลแต่อย่างใด และดังนั้น เณรนักเรียนจึงไม่สามารถที่จะเข้าสอบไล่ตามหลักสูตรของกระทรวง เพราะมิได้เรียนวิชาต่างๆ เหล่านั้น และอีกทั้งโรงเรียนสามเณราลัยก็มิได้รับการลงทะเบียนเป็นโรงเรียนด้วย สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับ โรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส ของคุณพ่อแฟร์เลย์ที่แปดริ้ว ซึ่งได้จดทะเบียนเรียบร้อย ขออนุญาตให้บรรดาครูสอนได้จากกระทรวงศึกษาธิการ ส่งนักเรียนเข้าสอบด้วยผลการสอบก็ได้ไม่แพ้โรงเรียนรัฐบาล พระคุณเจ้าแปร์รอส คงรายงานผิดพลาดไป เอาโรงเรียนสามเณราลัย กับ โรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส มาปนเปกัน ทำให้เข้าใจไม่ถูกต้อง
 
ปี ค.ศ. 1931 คุณพ่อการต็องรายงานว่า จำเป็นต้องปลดนักเรียนหลายคนออกจากบ้านเณร กระนั้นก็ดี ก็ยังมีความก้าวหน้าในเรื่องความศรัทธาและหลักสูตรที่ใช้สอนในบ้านเณรก็ได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ทางฝ่ายศาสนา ดูเหมือนว่า คราวนี้เหมาะสมกับกำลังการและสติปัญญาของบรรดาเณรทั้งหลาย และคุณพ่อแสดงความยินดีเกี่ยวกับข่าวที่ได้รับจากเณรไทย 3 คน ซึ่งได้ไปศึกษาที่ วิทยาลัยโปรปากันดา ที่กรุงโรม (มีท่านสงวนสุวรรณศรี ท่านมิเเชล อ่อน ประคองจิต และท่านนิตโย) ในปี ค.ศ. 1935 บ้านเณรนี้ซึ่งตั้งอยู่ที่บางช้างตั้งแต่ ค.ศ. 1872 ได้ย้ายไปอยู่ ศรีราชา ริมฝั่งตะวันออกอ่าวสยาม
 
ปี ค.ศ. 1957 ทางศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี สังเกตเห็นว่า ที่ศรีราชานี้ มีโรงเรียน  สามเณราลัยพระหฤทัย มิได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียน บรรดาครูสอนทั้งหลายก็มิได้ขออนุญาตเป็นครู จากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ นักเรียนก็มิได้ส่งเข้าสอบด้วย จึงไปติดต่อคุณพ่อการต็อง ขอให้รีบจัดการให้เรียบร้อยโดยให้บาทหลวงที่เป็นครูทุกคนต้องเข้าสอบวิชาทั้งหมด รวมทั้งภาษาไทยด้วย และบังคับให้สอนตามหลักสูตรรัฐบาล เพื่อจะส่งนักเรียนเข้าสอบไล่ตามกฎกระทรวง ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1938 คุณพ่อการต็อง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการส่งเด็กนักเรียนเข้าสอบตามหลักสูตรรัฐบาล จึงขอลาออกจากหน้าที่อธิการโรงเรียนของสามเณราลัยแห่งนี้ แล้วไปรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่
 
ครั้นถึงเชียงใหม่แล้ว คุณพ่อการต็อง ชื่นชมการงานซึ่งมิชชันนารีที่ได้กระทำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพ่อเมอนิเอร์ แต่ทว่าในปี ค.ศ. 1939 โดยที่หาทุนไม่เพียงพอ คุณพ่อการต็องจึงต้องทำการปิดโรงเรียนหลายแห่ง อันเป็นสิ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง
 
ต้นปี ค.ศ. 1941 คุณพ่อการต็องกลับมากรุงเทพฯ เนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน พอต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 ท่านก็ถูกส่งไปไซง่อน พร้อมกับบรรดาเพื่อนมิชชันนารีอีก 12 คน ปี ค.ศ. 1942 เมื่อกลับกรุงเทพฯ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นวิญญาณารักษ์ ของซิสเตอร์คณะรักไม้กางเขน ที่อารามพระหฤทัยคลองเตย ปี ค.ศ. 1948 ท่านล้มป่วยลง แล้วสิ้นใจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 รวมอายุได้ 73 ปี เป็นมิชชันนารีได้ 49 ปี