คุณพ่อ ยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์

  • Print
 
 
 
 คุณพ่อ เรจีส์ ยัง ฟรังซัวส์ แปร์เบต์
 
Régis PERBET
 
 
คุณพ่อ ยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์ เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1850  ที่เมืองอาโรลส์ ในสังฆมณฑลปุย บิดาของคุณพ่อซึ่งเป็นคนเข้มแข็งอย่างไม่ค่อยมีใครเหมือน ได้อบรมบ่มนิสัยบุตร และทำให้คุณพ่อมีนิสัยมั่นคง และสามารถใช้วิจารญาณได้อย่างถูกต้องตามที่พวกเราทุกคนทราบ แต่วิกฤติการณ์สงครามในปี ค.ศ. 1870  ทำให้การอบรมบ่มนิสัยต้องหยุดชะงักไปอย่างกระทันหัน
 
เมื่อสงครามยุติลง คุณพ่อก็ทำการศึกษาต่อไป แล้วก็ได้รับอนุมัติจากพระสังฆราชของท่านให้เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศได้ ที่นั่น คุณพ่อได้พบกับบรรยากาศที่คุณพ่อรู้สึกต้องการเพื่อดำรงชีวิตตามที่คุณพ่อปรารถนา ความเมตตากรุณาแบบพี่น้องกันของเพื่อนๆ  และความใจดีของคณาจารย์ ทำให้ใจของคุณพ่อกว้าง และแล้วคุณพ่อก็มุ่งเรียนเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์อย่างร้อนรน  ตลอดชีวิตคุณพ่อยังคงระลึกถึงเรื่องน่าบรรเทาใจในช่วงปีที่อยู่บ้านเณร ซึ่งนับเป็นช่วงที่ชอบมากที่สุดในระหว่างที่อยู่บนแผ่นดินนี้ แม้จะอยู่ช่วงเวลาที่น่าเศร้าสลดก็ตาม
 
 คุณพ่อแปร์แบต์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์  วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1876  และได้รับมอบหมายให้มามิสซังสยาม ในสมัยนั้น (คงจะเหมือนเช่นทุกวันนี้) มิสซังสยามไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของพวกที่ต้องมา คงเป็นเพราะเราคิดถึงมิสซังนี้ เมื่อเราร้องเพลงอำลาของพวกมิสชันนารี มิต้องไปทนพวกที่ตกอยู่ภายใต้ความทารุณอันป่าเถื่อน...กระนั้นหรือ? ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อแปร์แบต์จึงยอมไปตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้ามิใช่ด้วยความปิติยินดีอย่างเหลือล้น อย่างน้อยก็ด้วยความยินดีนบนอบ โดยเชื่อมั่นว่าพระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยให้คุณพ่อมาที่นี่ ในส่วนหนึ่งของสวนองุ่นของพระองค์ คุณพ่อออกจากกรุงปารีสวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 และมาถึงกรุงเทพฯ เดือนธันวาคม
 
พระสังฆราชเวย์ ประมุขมิสซังเวลานั้น ให้มิสชันนารีใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมเมืองของคุณพ่ออยู่กับคุณพ่อระยะหนึ่ง แล้วก็ส่งไปเรียนภาษากับคุณพ่อชมิตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์คนหนึ่ง ในขณะที่มุ่งเรียนภาษาไทยอยู่ มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้ก็พยายามช่วยงานผู้ดูแลเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็มากกว่าที่ต้องการ เพื่อเป็นการแบ่งเบางานแพร่ธรรมประจำวัน ซึ่งอาจจะหนักสำหรับเพื่อนพระสงฆ์ที่อายุมากแล้ว และคุณพ่อยังหมกมุ่นในการเรียนภาษาสันสกฤตและบาลี แล้วก็การอ่านอักษรไทยบนศิลาจารึก การเอาใจใส่อันละเอียดอ่อนเหล่านี้ทำให้คุณพ่อแปร์แบต์เป็นที่ชอบพอของคุณพ่อเจ้าวัดของท่านอย่างลึกซึ้ง เราสังเกตได้มากกว่าหนึ่งครั้ง เมื่อพระสังฆราชเวย์ซึ่งต้องการจะมอบหมายให้คุณพ่อแปร์แบต์ไปดูแลคริสตังกลุ่มอื่น ต้องยอมทำตามเหตุผลส่วนตัวของคุณพ่อชมิตต์ ซึ่งชื่นชอบคุณลักษณะของปลัดของคุณพ่อตามคุณค่าที่ถูกต้อง และไม่เคยยอมแยกเอา คุณพ่อไปจากท่านเลย ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อแปร์เบต์จึงเป็นปลัดอยู่ที่แปดริ้ว 28 ปี ในเมื่อนักเขียนผู้ทรงศีลคนหนึ่งสามารถบอกได้ว่า ความสุภาพถ่อมตนที่แท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับความยินดียอมรับใช้ตามคำสั่ง เราก็คงสรุปได้ด้วยว่า คุณพ่อแปร์แบต์ปฏิบัติคุณธรรมที่ดี และยากนี้ถึงระดับสูงชั้นหนึ่งมันจึงขึ้นอยู่กับคุณพ่อที่จะขอไปเป็นหัวหน้าดูแลกลุ่มคริสตัง และถ้าคุณพ่อยังอยู่ในวัดเดียวกันเช่นนี้ ก็เป็นเพราะคุณพ่อยินดี โดยยึดถือคุณธรรมแห่งการเป็นรองนี่แหละ เรื่องน่าสรรเสริญเกี่ยวกับเพื่อนมิสชันนารีของเรา อันที่จริง ความสุภาพถ่อมตนพร้อมกับความใจดี เป็นคุณลักษณะเด่นในชีวิตของคุณพ่อ เราไม่เคยเห็นคุณพ่อวางตัวนำหน้า เราไม่เคยเห็นคุณพ่อพยายามให้คนอื่นทำตามใจคุณพ่อเองด้วยวิธีใดๆ เลย ในการโต้เถียงกันเล็กๆ น้อยๆ กับพวกเพื่อนมิสชันนารี น่าชมเชยที่เห็นคุณพ่อยอมตามความเห็นของคนอื่นๆ อย่างงายดาย เมื่อมีความเห็นตรงข้ามกับคนอื่นๆ คุณพ่อมีแต่เงียบเท่านั้น ความคิดสุภาพถ่อมตัวเองเช่นนี้ เป็นที่ชอบพอและรักใคร่ของเพื่อนมิสชันนารีทุกคน ไม่มีสักคนเดียวที่ไม่ยอมเห็นด้วยตามคำสรรเสริญอันนี้ : คุณพ่อเป็นคนหนึ่งที่มีใจอ่อนโยนและสุภาพ เป็นการสรรเสริญที่ยากจะหาอะไรมาเพิ่มเติมเข้าไปอีก ด้วยว่าเป็นคุณธรรมสองประการนี้เอง ที่พระอาจารย์เจ้าทรงเสนอสั่งให้เราเลียนแบบอย่างพระองค์
 
เพื่อนมิสชันนารีของเรา เสริมสร้างทุกคนด้วยความศรัทธาและความร้อนรนในการช่วยวิญญาณทั้งหลายที่ได้รับมอบหมายดูแล ให้เอาตัวรอดเมื่อตอนคุณพ่อไปถึงแปดริ้ว พวกคริสตังยังมีจำนวนน้อยหลายคนอาศัยอยู่ห่างไกลจากวัด กระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ คุณพ่อไปเยี่ยมเยียนพวกเขาบ่อยๆ รวมรวบให้พวกเขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ และดังนี้ เป็นการกระทำให้พวกมิสชันนารีรุ่นหลังๆ ได้มีกลุ่มคริสตังเล็กๆ หลายกลุ่ม ซึ่งยังเจริญรุ่งเรืองอยู่ทุกวันนี้ เช่น กลุ่มคริสตังที่นครนายก ที่ปราจีนบุรี ที่ปากคลองท่าลาด ทั้งนี้ ไม่นับพวกกลุ่มคริสตังที่คงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็สลายไป เพราะที่อยู่ของพวกเขาไม่เอื้ออำนวยให้ สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ พวกนี้จึงย้ายไปอยู่ที่อื่น
 
การไปเอาใจใส่ดูแลพวกคริสตังที่กระจัดกระจายเหล่านั้น มิได้ทำให้คุณพ่อละเลยในการเอาใจใส่ดูแลพวกคริสตังที่อยู่รวมกันที่ศูนย์ คุณพ่อยังฉวยโอกาสเหมาะในการจัดหาที่ดินกว้างใหญ่ เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว และจัดให้พวกคริสตังไปอยู่ที่นั่น ดังนี้ เป็นการหาที่ให้พวกคริสตังเหล่านี้มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ ในเวลาเดียวกัน คุณพ่อก็ทำให้วัดคงอยู่อย่างมั่นคง ในการออกไปตรวจดูทุ่งนาเหล่านั้นในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อพาบางครอบครัวไปอยู่ ทำให้คุณพ่อแปร์แบต์เกือบตกเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายของพวกศัตรูของผู้ที่มีชื่อว่าเป็นคริสตัง
 
ในสมัยนั้น คือ เมื่อ 60 ปีมาแล้ว สยามมิได้มีการปกครองแบบทุกวันนี้ พวกก่อความไม่สงบเล่นเกมส์ได้อย่างไม่ต้องกลัวอะไร ในพวกนี้ มีพวกที่เด่นเป็นพิเศษคือ  “พวกอั้งยี่” เป็นสมาคมลับประกอบด้วยชาวจีนโดยเฉพาะ สมาชิกของสมาคมลับประเภทนี้ เป็นพวกฆาตกรที่สมควรถูกลงโทษ พวกเขามีเป้าหมายเดียว คือ ก่อเรื่องไม่สงบ  และเบียดเบียนพวกที่ซื่อตรง ด้วยการกระทำเช่นนี้  พวกเขาจึงเป็นศัตรูดั้งเดิมของพวกคริสตัง ซึ่งถูกห้ามมิให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมลับเหล่านี้ วันหนึ่ง พวกใจร้ายเหล่านี้มุ่งไปล้อมบ้านเล็กที่คุณพ่อแปร์แบต์และคนรับใช้อาศัยอยู่ แล้วก็แสดงความตั้งใจเป็นศัตรูอย่างเห็นได้ชัด แต่พระญาณสอดส่องทรงคุ้มครอง ก่อนที่คุณพ่อจะได้ทันห้ามพวกคนรับใช้ คนรับใช้คนหนึ่งของคุณพ่อ เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย ได้คว้าปืนของมิสชันนารี และนัดแรกที่ยิงออกไป ก็ทำให้ผู้รุกราน 2 คน ล้มพับลงกับดิน พวกที่เหลือจึงรีบหนีไป สถานที่เกิดเหตุนี้เป็นสถานที่ตั้งปัจจุบันของวัดน้อยทำด้วยไม้ดีพอสมควร รอบๆ วัดนี้มีพวกคริสตังอยู่รวมกันมากกว่า 300 คน  วัดนี้คือ วัดนครเนื่องเขต
 
หลังจากคุณพ่อชมิตต์มรณภาพลง คุณพ่อแปร์แบต์ก็สืบตำแหน่งหัวหน้าเขตวัดแปดริ้วต่อไป อันที่จริงคุณพ่อได้ปลูกฝังนิสัยและวิธีปฏิบัติของหัวหน้าคนก่อน จนไม่มีคริสตังคนใดเลยสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการปกครองดูแลวัด ถ้ามีก็เป็นการแสดงเมตตาจิตต่อพวกคริสตังเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งเจ้าอาวาสคนใหม่ทำ ในบรรดาสัตบุรุษของวัดนี้ ไม่มีใครสักคนเดียวที่มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อแปร์แบต์ เมื่อเกิดปัญหายุ่งยากใดๆ แล้วไม่ได้รับความบรรเทาจากความทุกข์ยาก
 
การแสดงเมตตาจิตของมิสชันนารีใจดีผู้นี้ ยังแผ่ไปถึงพวกเพื่อนมิสชันนารีของคุณพ่อด้วย และเราอาจพูดได้ว่า บ้านพักพระสงฆ์ที่แปดริ้วเป็นบ้านที่ให้การต้อนรับอย่างดีเสมอๆ ทุกคนได้รับการต้อนรับเอาใจใส่ด้วยใจจริง และพวกมิสชันนารีที่ป่วย ก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีด้วย
 
ในบรรดากิจเมตตาต่างๆ ที่คุณพ่อแปร์แบต์แสดงอย่างอิสระ มีกิจกรรมหนึ่งที่คุณพ่อเอาใจใส่มากที่สุด คือ การให้การศึกษาอบรมพวกเด็กๆ วันละหลายๆ ครั้ง ตลอดชีวิตของคุณพ่อ คุณพ่อแสดงความสม่ำเสมอในการอธิบายคำสอนอย่างชัดแจ้งและเข้าใจง่าย แก่พวกเด็กๆ ของวัด ในช่วงปีหลังๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา เจ้าอาวาสวัดแปดริ้ว  เป็นหนึ่งในพวกแรกที่ใช้กฎระเบียบเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาโรงเรียนคริสตังทั้งหลาย คุณพ่อยังไม่พอใจที่มีแค่โรงเรียนประจำวัดทั้งหลาย จึงจัดการให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลมาจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่แปดริ้ว เพื่อให้การศึกษาระดับสูงขึ้นไป พวกคณะเซนต์ปอล เดอ ชาตร  ซึ่งมาอยู่ในเขตวัดนี้แล้ว ก็ได้พัฒนาโครงการต่างๆ และปัจจุบันนี้ ก็มีโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง ควบคู่ไปกับโรงเรียนเด็กชาย ในเวลาเดียวกัน คุณพ่อยังมอบสถานที่ที่จำเป็นในการก่อสร้างโรงเรียนฝึกครูคำสอน และดังนี้   ก็ช่วยให้กิจกรรมดังกล่าวประสพผลสำเร็จ
 
ระหว่างที่ดำเนินงานเหล่านี้อยู่นั้น สุขภาพอันแข็งแกร่งของคุณพ่อก็เริ่มอ่อนแรงลง เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บซึ่งทำให้คุณพ่อต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส คุณพ่อทนรับความเจ็บปวดด้วยความอดทนอย่างน่าสรรเสริญ แต่กลัวอยู่อย่างเดียวคือ กลัวว่าจะเป็นภาระแก่บรรดาเพื่อนมิสชันนารีของคุณพ่อ ดังนั้น คุณพ่อจำเป็นต้องพักจากงานแพร่ธรรมทั้งหมด โดยมอบให้ปลัดทำแทน และจากนั้น ก็เริ่มเตรียมตัวอย่างดีสำหรับบั้นปลายชีวิตของคุณพ่อ
 
ในช่วงสัปดาห์หลังๆ  ของคุณพ่อ  คุณพ่อเตรียมการเดินทางในบั้นปลายชีวิตของตัวเอง โดยรู้ตัวดี และเมื่อถึงเวลา วิญญาณของคุณพ่อก็แยกออกจากร่างกายไปอย่างราบรื่น แล้วก็กลับไปหาพระผู้สร้างของคุณพ่อ ในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1924 เวลาประมาณ 5 โมงเช้า
 
ทันทีที่ทราบข่าวการตายของคุณพ่อ บรรดาคริสตังต่างหลั่งไหลกันมาเยี่ยมศพเจ้าอาวาสที่รักของพวกเขาตลอดเวลา 2 วัน ทุกคนเอาใจใส่สับเปลี่ยนกันมาสวดภาวนาต่อหน้าศพทั้งวันและคืน พระสังฆราชล้อมรอบด้วยมิสชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองเป็นอันมาก ประกอบพิธีปลงศพ และนำศพมิสชันนารีที่รักของเราไปไว้ที่พักสุดท้ายของคุณพ่อ ก่อนที่จะเอาศพลงหลุมพระสังฆราชกล่าวต่อหน้าผู้ที่มาร่วมพิธี โดยใช้คำพูดที่แสดงถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของมิสซัง และยังกล่าวเตือนพวกคริสตังให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งสอน และตามคุณธรรมของคุณพ่อผู้วายชนม์เสมอไป หลังจากนั้นเล็กน้อย พระสังฆราชได้รับโทรเลขของนายปีลา ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ  มีใจความว่า : ข้าพเจ้าขอร่วมทุกข์กับมิสซังด้วยจริงใจ และข้าพเจ้าเป็นคนแรกที่รู้สึกสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพวกฝรั่งเศสในสยามแสดงในตัวของคุณพ่อแปร์แบต์.”  
 
เวลานี้ ศพมิสชันนารีของเราฝังไว้ในวัดแปดริ้ว อยู่เคียงข้างคุณพ่อชมิตต์เจ้าอาวาสคนก่อนและข้างคุณพ่อวัวแซง ตรงเก้าอี้ที่นั่งซึ่งคุณพ่อใช้อยู่เป็นเวลาเกือบ 50 ปี  คุณพ่อทิ้งแบบอย่างไว้ให้เราปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างของมิสชันนารีคนหนึ่งที่สุภาพถ่อตน ยอมรับทุกข์ทรมานและมีใจเมตตากรุณา เราจะรำลึกไว้ในความทรงจำอยู่นานเท่านาน.