คุณพ่อ ชารส์ อังเดร ฟืล เปอตีต์

  • Print

 

 คุณพ่อ ชาร์ส์ อังเดร ฟืล ยังซ์ เปตีต์

Charles PETIT

 

 
คุณพ่อ ชาร์ส์ อังเดร ฟืล ยังซ์ เปอตีต์  เกิดวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1847  ที่อายังวิลลิเอร์ เมืองอาเมียงส์ แขวงซอม คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1872  โดยได้รับศีลโกนมาแล้ว  คุณพ่อได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1875  และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1875
 
ในขั้นแรก คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดของคุณพ่อราบาร์แดล ซึ่งปกครองดูแลวัดบางนกแขวก และได้มีโอกาสดูแลคริสตังกลุ่มหนึ่งที่วัดเพลง  อาศัยความกระตือรือร้นที่พระหรรษทานทำให้บังเกิดผล กลุ่มคริสตังเล็กๆ นี้ จึงใหญ่ขึ้นไม่ช้า จนกระทั่งว่า จำเป็นต้องมีพระสงฆ์องค์หนึ่งประจำอยู่ แต่ปี ค.ศ. 1879  คุณพ่อเปอตีต์พักประจำอยู่ที่วัดเพลงอย่างถาวร คุณพ่อมีแผนอนาคตน่าบรรเทาใจว่า จะทำงานประกาศพระวรสารให้ชาวจีน และชาวสยามที่วัดนี้ต่อไปจนถึงแก่มรณภาพลง คุณพ่อมีใจอารีกับพวกคริสตังอย่างหาที่ติมิได้  คุณพ่อใช้ทรัพย์สินส่วนตัวที่พ่อแม่ยกให้เป็นมรดกสำหรับช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วยใจกว้าง แต่ตัวเองยอมรับทุกข์ทรมาน ในปี ค.ศ.1880 คุณพ่อสร้างวัดไม้ชั่วคราวหลังหนึ่ง คุณพ่อขยับขยายที่ดินของวัดออกไป ทีละเล็กทีละน้อย โดยซื้อสวนและทุ่งนามาทีละแปลงสองแปลง แล้วก็ให้พวกคริสตังมาถากถางและทำการเพาะปลูก การซื้อที่ดินเหล่านี้ทำให้คุณพ่อมีศัตรูมากมาย และต้องไปเรียกร้องสิทธิ์ต่อหน้าศาลของชาวสยามนับครั้งไม่ถ้วน ชาวสยามไม่ค่อยสนับสนุนศาสนา  “ต่างชาติ” ที่หาทางตั้งรกรากหาผลประโยชน์ และหาสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน
 
แม้ประสบปัญหายุ่งยากน่าปวดหัวเหล่านี้ คุณพ่อก็ยังแข็งขันเอาใจใส่สอนคำสอนให้พวกเด็กๆ เอาใจใส่ดูแลพวกคนเจ็บป่วยและคนยากจน
 
คุณพ่อใช้ทุนตัวเองสร้างวัดอันสวยงามหลังหนึ่งที่ได้รับการเสกในปี ค.ศ. 1903  คุณพ่อแถมระฆังให้ 3 ใบ แล้วก็ประดับประดาด้วยรูปปั้นต่างๆ  และหน้าต่างกระจกหลากสี คุณพ่อสร้างโรงเรียนทั้งสำหรับเด็กชายและสำหรับเด็กหญิง  สร้างอารามหลังหนึ่งสำหรับบรรดาภคินีพื้นเมือง และสร้างบ้านพักพระสงฆ์หนึ่งหลัง
 
นอกจากช่วงสั้นที่คุณพ่ออยู่หวายเหนียว  เวลานั้น คุณพ่อยังขึ้นอยู่กับวัดบางนกแขวก  ปี ค.ศ. 1875-1879 และช่วงเวลาที่คุณพ่อปกครองดูแลวัดแม่พระลูกประคำที่กรุงเทพฯ แต่ปี ค.ศ. 1907 ถึง ปี ค.ศ. 1910  ชีวิตแพร่ธรรมทั้งหมดดำเนินไปอย่างสงบสุขที่วัดเพลง ภายใต้การดูแลของพระหฤทัย ซึ่งเป็นชื่อวัดของคุณพ่อ
 
คุณพ่อมิได้จัดการดูแลสุขภาพเท่าที่ควร จึงทำให้คุณพ่อต้องกลับไปรักษาตัวหนึ่งครั้งที่ฝรั่งเศส และสองครั้งในสถานพักพื้น เบ็ทธานี ที่ฮ่องกง ใน ปี ค.ศ. 1897  คุณพ่อป่วยหนัก จึงไปเมืองลูร์ด วิงวอนขอแม่พระประทานเวลาให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสองสามปีเพื่อทำงานเทิดพระ เกียรติพระบุตรของพระนาง เราอาจพูดได้ว่าคุณพ่อได้รับตามคำขออย่างเต็มเปี่ยม เนื่องด้วยว่าคุณพ่อถึงแก่มรณภาพลงเพียงในเวลายี่สิบปีหลังจากที่ได้วิงวอนขอเยี่ยงบุตร
 
และแล้วในเวลาอันสมควร คุณพ่อก็รู้จักเสริมคำว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์เถิด”  และคุณพ่อก็น้อมรับ เมื่อพระเป็นเจ้าทรงเรียกคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย  คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917  ตลอดเวลาเกือบ 4 เดือนในโรงพยาบาล คุณพ่อได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างหมั่นเพียร ทั้งจากนายแพทย์และจากบรรดาภคินีคณะเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ตร คุณพ่อยอมรับสภาพที่จะไม่ได้กลับไปเห็นวัดเพลงอีก โรคภัยไข้เจ็บทำให้คุณพ่อ มิอาจทำมิสซาได้ แต่คุณพ่อก็ยังขอรับศีลมหาสนิททุกวัน คุณพ่อยังรับศีลมหาสนิทอยู่อีกในวันก่อนถึงแก่กรรม ในช่วงที่บรรดามิสชันนารีเข้าเงียบประจำปีอยู่นั้น คุณพ่อปรารถนาที่จะทดลองกำลังวังชาของตน จึงออกไปที่สำนักพระสังฆราชเพื่อเยี่ยมบรรดาเพื่อมิสชันนารี มันเป็นการออกไปครั้งสุดท้าย และเป็นการชื่นชมยินดีครั้งสุดท้าย
 
วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1917  คุณพ่อเกิดรู้สึกเจ็บปวดอย่างแรงขึ้นอย่างไม่คาดคิด พระสังฆราชแปร์รอส โปรดศีลทาสุดท้าย วันรุ่งขึ้นคุณพ่อเปอตีต์ เตรียมไปปรากฏตัวต่อหน้าพระตุลาการอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยรู้สึกตัวดีทุกอย่าง คุณพ่อจัดการเรื่องต่างๆ ทางโลกเรียบร้อยถี่ถ้วน และต่อจากนั้น ก็มีแต่คิดถึงเรื่องสวรรค์ คุณพ่ออ่านเรื่องการพิพากษาโดยเฉพาะตัวเป็นเรื่องสุดท้าย ซึ่งคุณพ่อมิได้แสดงความหวั่นวิตก เพราะไว้วางใจในพระเป็นเจ้าเต็มที่
 
วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1917  เวลา 5 โมงเย็น  คุณพ่อค่อยๆ สิ้นใจอย่างนุ่มนวล โดยเกือบไม่มีการเข้าตรีทูต ในระหว่างนั้น พระสังฆราช มิสชันนารีองค์หนึ่งและบรรดาซิสเตอร์ คุกเข่าลงใกล้เตียงคุณพ่อ สวดบทเร้าวิงวอนสำหรับวิญญาณ เช้ารุ่งขึ้นมีมิสซาในวัดอัสสัมชัญ ต่อหน้าฝูงชนจำนวนมหาศาล เราสังเกตเห็นท่านราชทูตและท่านกงสุลฝรั่งเศสนั่งอยู่โต๊ะแรก ต่อจากนั้น   มิสชันนารีสององค์นำศพคุณพ่อไปฝังที่วัดเพลง ดังนั้น ศพของคุณพ่อจึงได้พักผ่อนอยู่ในวัดที่รักยิ่งของคุณพ่อ.