การก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมือง

  • Print
 
         เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัว   และพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม๊อต ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์พระสันตะปาปาในทวีปเอเชีย ได้เดินทางมาถึงสยามในปี ค.ศ. 1662 ก็ได้รีบหาคนเพื่อเข้ารับการอบรมสำหรับเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ตามเป้าหมายของกรุงโรม
 
        ในการจัดตั้งสามเณราลัย หรือ วิทยาลัยกลาง (College General) เป็นงานรีบด่วน ที่พระสังฆราชทั้งสองได้พยายามกระทำ ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้มีพระสงฆ์พื้นเมือง จำเป็นจะต้องมีการอบรมพวกเขา จึงต้องมีสามเณราลัยเพื่อการอบรม กรุงโรมเคยพูดและกล่าวย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง ทั้งเคยให้กฎชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสำคัญดังกล่าวด้วย สามเณราลัยนั้น ถ้าอยากตั้งขึ้นมาให้ดี ปกครองง่ายและหาคนมาเข้าง่าย อีกทั้งสามารถบังเกิดผลทุกอย่างที่มุ่งหวัง ก็จำเป็นต้องมีเสถียรภาพและความเป็นอิสระ ขณะนั้นในอาณาจักรสยาม มีการปกครองที่ผ่อนปรน ในเรื่องถือศาสนา และการเมืองอย่างกว้างขวาง จึงดูเหมือนมีทั้งเสถียรภาพและความเป็นอิสระที่จะให้แก่สามเณราลัยได้ทั้งสองอย่าง 
 
        ดังนั้น ท่านทั้งสองคิดกันว่าจะรับสามเณรจากทุกมิสซังที่อยู่ในความดูแลของประมุข มิสซังเข้าในสำนักนี้ คือชาวโคจินจีน ตังเกี๋ย จีน มอญ และสยาม สำนักนี้ ตามที่ท่านปัลลือกล่าวเป็นประหนึ่ง “ที่เพาะชำพันธุ์ไม้สำหรับทุกมิสซังของเรา” ในบางโอกาสสามเณราลัยก็ต้องเปิดรับคนที่มาจากมิสซัง และสังฆมณฑลของคณะอื่น เพราะฉะนั้น ที่สามเณราลัยแห่งนี้ จึงเคยมีชาวมะนิลา สเปน และแม้แต่ชาวโปรตุเกสด้วย
 
      ในปี ค.ศ. 1666 ก็ได้สร้างบ้านเณรนักบุญยอแซฟ (College General) ที่บางปลาเห็ด (Bang pla het) ในที่ดินที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานให้ ซึ่งในเวลานั้นมีเณร 10 คน โดยมีคุณพ่อลาโน เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างวิทยาลังกลางนี้ ท่านลังแบรต์เดอ ลา ม็อต ได้ยื่นฎีกาลงวันที่ 29 พฤษภาคาม ค.ศ.1665 เสนอต่อพระเจ้าแผ่นดินที่จะจัดตั้งวิทยาลัยแห่งหนึ่ง “เพื่อสอนสรรพวิชาความรู้อันจำเป็น แก่รัฐ สำหรับทำให้รัฐเป็นที่เชื่อถือของทุกๆชาติในโลก” และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความสงสัยใดๆ ท่านเสริมว่าพวกมิชชันนารี “จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และเรื่องทางฝ่ายโลก” ท่านกล่าวสรุปว่า “โดยหวังจะได้รับโบสถ์หลังหนึ่งจากน้ำพระทัยกว้างขวางของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อประกอบศาสนกิจในโบสถ์นั้น” และพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระกรุณาโปรดตามที่ขอ ได้ทรงพระราชทานทุ่งนาแห่งหนึ่งแก่พวกมิชชันนารี “ในที่ที่มีชื่อว่าบางปลาเห็ด” ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และติดต่อกับค่ายของชาวญวน  พระองค์ยังทรงสัญญาจะพระราชทานพัสดุก่อสร้างโบสถ์หลังหนึ่งด้วย 
 
การก่อสร้างที่บางปลาเห็ด และสามเณราลัย
พวกมิชชันนารีได้ยกไปอยู่ที่บางปลาเห็ด ช่วงแรกอยู่ในกระท่อมที่มีอยู่ 2 ห้อง ในปี ค.ศ. 1666  เขาได้เริ่มทำการก่อสร้างต่างๆ และปลูกอาคาร 2 ชั้นขึ้นหลังหนึ่ง  ชั้นล่างก่ออิฐแบ่งออกเป็นหลายห้อง ชั้นสองเป็นไม้ ใช้เป็นโบสถ์น้อย อันเป็นที่ไว้ศีลมหาสนิท “เพื่อเราจะได้วิ่งมาหาบ่อเกิดแห่งความสว่าง และหรรษทานนี้ได้บ่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ตามแต่จะมีความศรัทธา” ในเขตรั้วอันเดียวกันไม่ไกลจากที่ที่เราตั้งใจจะสร้างโบสถ์หลังหนึ่งขึ้น เราจัดให้มีสุสานตามธรรมเนียมความศรัทธา ซึ่งในขณะนั้นถือกันอยู่ในบรรดาสังฆตำบลของเราในประเทศฝรั่งเศส สถานที่ก่อสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมเรียกว่า ค่ายนักบุญโยเซฟ 
 
บาทหลวงลาโนเป็นอธิการ
ในบรรดากิจการต่างๆ ที่บรรดามิชชันนารีได้พยายามกระทำ กิจการแรกที่เขาได้ทำลุล่วงสำเร็จก็คือ วิทยาลัย หรืออีกนัยหนึ่งคือ สามเณราลัย นี่เพราะเป็นจุดหมายสำคัญอันดับแรกของคณะมิสซังต่างประเทศ นอกจากเด็กๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งมาเป็นนักเรียนของพวกมิชชันนารีซึ่งดูจะไม่ค่อยเรียนด้วยความมานะอดทนเท่าไรนัก พระสังฆราชยังเรียกครัสตังที่อายุน้อยมาเรียนด้วยในจำนวนคริสตังเหล่านี้หลายคนมุ่งจะเป็นพระสงฆ์ และเริ่มเรียนเทววิทยา ที่เมืองมาเก๊า หรือเมืองกัวมาแล้ว ในขั้นแรกพวกนี้มีด้วยกัน 10 คน

พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน
 
       วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1666 พระสังฆราชประกอบพิธีโกนให้แก่เด็ก 3 คนในพวกเขาในปีต่อมาท่านแจ้งให้ทราบว่า “สำนักเริ่มจะมีคนแออัด และมิช้าจะมีคนมากกว่าที่ต้องการเสียแล้ว เพราะท่านมีมิชชันนารีน้อยสำหรับสอนเขา” ในสำนักนี้มีการพิจารณารำพึงวันละ 2 ครั้ง คือเวลาเช้าและเวลาค่ำ พระสังฆราชกับพระสงฆ์มิชชันนารีร่วมในการพิจารณารำพึงเวลาเช้า กฎวินัยยังกำหนดให้มีการพิจารณามโนธรรมเฉพาะเรื่องการอ่านหนังสือเวลารับประทานอาหาร และการให้โอวาทอบรมนักเรียน สวมเสื้อหล่อสีม่วงตามแบบโปรตุเกส อย่างน้อยในวันอาทิตย์ กล่าวโดยย่อ วิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการจัดให้มีระเบียบเหมือนสถาบันที่คล้ายคลึงกันในประเทศฝรั่งเศสอธิการองค์แรกของวิทยาลัยดังกล่าวคือ บาทหลวง ลาโน ซึ่งท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม๊อต กล่าวว่า “ค่านิยมยกย่องที่สุดคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ท่านทำงานด้วยความเอาใจใส่และตั้งอกตั้งใจอย่างเหลือเชื่อ
 
        ในปี ค.ศ. 1668 วันที่ 31 มีนาคม ฟรังซิส เปเรส บุตรของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ โดยอยู่ในความอุปการะของมิสซัง เขาได้เริ่มเรียนที่เมืองกัวแล้วมาเรียนต่อจนจบที่วิทยาลัยกลางโดยมีพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม๊อต เป็นจิตตาธิการ พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม๊อต   เป็นผู้ประกอบพิธีบวช ให้กับคุณพ่อเปเรส  
 
บาทหลวง ลังคลัง (Lanhlois) เป็นอธิการ
        ในปี ค.ศ.1670-1671 คุณพ่อลาโนได้รับมิชชันนารีผู้หนึ่งที่เพิ่งเดินทางมาจากฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วยคือ คุณพ่อปีแอร์ ลังคลัว คุณพ่อองค์นี้เป็นคนขยันขันแข็ง  สติปัญญาเฉียบแหลมไม่มีความคิดฟุ้งซ่านเพ้อฝัน คิดแต่ในเรื่องที่ปฏิบัติได้เรียนรู้ภาษาโปรตุเกส  ภาษาอิตาเลียนและภาษาสยามได้อย่างรวดเร็วยังเริ่มเรียนภาษาญวนและแต่งพจนานุกรมภาษาญวนที่บรรจุคำได้มากกว่าของคุณพ่อเดอ โร๊ดส์ (de Rhodes) ถึง 1500 คำ นอกนั้นยังได้แต่งไวยากรณ์ซึ่งมีผู้ถือว่าเป็นงานชิ้นเอก ประวัตินักบุญ และคำอธิบายพระวรสารประจำวันอาทิตย์  และวันฉลองต่างๆ “ท่านทำงานในลักษณะที่เราจะปรารถนาให้ทำเร็วกว่านั้นไม่ได้ เพราะท่านทำแบบเกือบไม่ได้พักผ่อนเลย” 
 
        ในปี ค.ศ. 1672 คุณพ่อได้เป็นอธิการวิทยาลัยกลาง สืบตำแหน่งแทนคุณพ่อลาโน และทันที่ความคิดต่างๆ ของท่านซึ่งมุ่งไปในทางปฏิบัติตามที่เคยนั้น ก็พัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
 
        คุณพ่อลังคลัว ขอให้เขาส่งหนังสือวิชาครูมาจากประเทศฝรั่งเศส   คิดโครงการจะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น  “เพราะในกรุงสยาม กระดาษราคาต่ำมาก คนงานจ้างได้ในราคาถูกๆ คนแต่งหนังสือก็อยู่ในมิสซังเหล่านี้แล้ว และเป็นการไม่สมควรจะส่งหนังสือที่เขียนด้วยมือไปพิมพ์ในทวีปยุโร ป” ท่านยังอยากได้ช่างแกะ “เพื่อเขียนบนแผ่นทองแดง เหมือนเขียนบนแผ่นหนังสือ จะได้พิมพ์คำสอนคริสตังเป็นตัวอักษรของประเทศนี้ บนหนังสือนั้น” คุณพ่อลังคลัวเป็นผู้นำหน้าคนอื่นๆ แต่ความคิดต่างๆ ของคุณพ่อ ถึงแม้ทุกวันนี้เราจะเห็นดีสักเพียงใด แต่ในสมัยนั้น ไม่มี คนเห็นดีด้วยมากนัก และไม่มีการนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงทำงานต่อไปอย่างเข้มแข็งภายในเวลาสามปีศิษย์ของท่าน 12 คน ได้รับการวินิจฉัยว่า   เริ่มเรียนปรัชญาได้ ท่านมีผู้ช่วยคนเหนึ่ง เป็นฆราวาสซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ กับผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง เป็นสงฆ์ฟรังซิสกัน ชื่อ คุณพ่อหลุยส์ แห่งพระมารดาพระเจ้า “ผู้มีความสามารถเยี่ยมยอดในการสอน   มีคุณวุฒิอย่างประหลาดในการแนะนำเยาวชน นอกเหนือจากการถือวินัยอย่างเคร่งครัด และมีจิตตารมณ์ถือความยากจน”
 
        เมื่อทราบข่าวว่าวิทยาลัยที่กรุงศรีอยุธยาได้ตั้งขึ้น และดำเนินไปด้วยดี สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มอบเงินในชั้นแรก 1,100 เอกูโรมัน และต่อไปเป็นเวลานานพอควร จึงให้เงินอุดหนุนปีละ 1,000 เอกู
 

พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต
       นี่แหละคือ กิจการสำคัญประการแรกของบรรดาสงฆ์แห่งคณะมิสซังต่างประเทศในกรุงสยาม กิจการนี้ตั้งขึ้นอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่ต้นก็บังเกิดผลเกือบครบถ้วนตามที่บรรดาผู้แรกตั้งมุ่งหวังและแน่นอน บังเกิดผลมากกว่าที่พวกชอบพูดทับถมใส่ร้ายคิดมากนักคนพวกนี้มีความคิดเห็นว่า ชาวตะวันออกนั้น เป็นพวกที่พอจะเรียนได้ว่าไม่มีความสามารถจะบวชเป็นพระสงฆ์ได้เลย
 
        เมื่อพระสังฆราชปัลลือ กลับจากกรุงโรมและประเทศฝรั่งเศส ซึ่งท่านได้กลับไปในปี ค.ศ.1665  ท่านเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1673 และได้ปรึกษากับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เรื่อง การเลือกประมุขมิสซังกรุงศยาม ท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เสนอคุณพ่อลาโน แต่ท่านปัลลือเห็นว่าคุณพ่อ เชอเวรย์ ดีกว่า ทั้งสองท่านเชื่อ และตระหนักในคุณค่าของแต่ละฝ่าย ต่าง ไม่ยอมสละผู้ที่ตนเลือก ดังนั้น เพื่อจะตกลงกันให้ได้ ท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต  เตือนให้ระลึกถึงตัว อย่างที่พวกอัครสาวกได้กระทำ คือ เมื่อลังเลใจ ไม่รู้จะเลือกเอานักบุญมัตธีอาส หรือ โยเซฟ เขาก็เอาชื่อของทั้งสองมาจับฉลาก ดังนั้นท่าน จึงเขียนชื่อของคุณพ่อลาโนบนกระดาษแผ่นหนึ่ง และเขียนชื่อคุณพ่อเชอเวรย์บนกระดาษอีกแผ่นหนึ่งพับกระดาษทั้งสองเป็นแบบเดียวกัน เอาวางลงในหมวกแล้วเมื่อภาวนาวอนขอพระจิตเจ้า ก็ยื่นกระดาษทั้งสองแผ่นให้ท่านปัลลือจับ ท่านปัลลือจับได้กระดาษที่เขียนชื่อคุณ พ่อลาโน ถึงสองครั้งสองครา ที่สุดแล้ว พระสังฆราชทั้งสองได้ปรึกษากับบรรดามิชชันนารีที่อยู่ด้วยกัน 14 องค์ และได้ตัดสินว่าให้คุณพ่อลาโนเป็นประมุขมิสซังสยาม
 
          คุณพ่อลาโนได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1674 จากพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต โดยมีพระสังฆราช ปัลลือ และคุณพ่อเชอเวรย์เป็นผู้ช่วย ท่านมีสองตำแหน่งคือเป็นประมุขมิสซังกรุงสยาม และเป็นประมุขมิสซังนานกิงอีกทั้งเป็นผู้ปกครองหลายมณฑลในประเทศจีน
 
           วิทยาลังกลางดำเนินการเป็นที่พอใจผู้ตั้งทุกประการแบ่งเป็น 2 แผนก แผนกหนึ่งมีสามเณรใหญ่ คือ อุปสังฆานุกรคนหนึ่งจากสังฆมณฑล มาเก๊า อายุ 42 ปี ผู้รับศีลน้อย หรือพิธีโกน 11 คน เป็นชาวโคจินจีน  กับมีมอญอีกคนหนึ่ง แผนกที่สองมีไว้สำหรับสามเณรเล็ก แบ่งเป็น สามชั้น คือ ชาวญวนอยู่ชั้นที่หนึ่ง ชาวจีน ญี่ปุ่น มลายู อินเดีย และโปรตุเกสอยู่ชั้นที่สอง และชาวสยามอยู่ชั้นที่สาม รวมทั้งหมดมีเณรอยู่ราว 50 คน
 
            ปี ค.ศ. 1675 วันที่ 13 เมษายน พระสังฆราชลาโนประกอบพิธีศีลบวช  ซึ่งได้มีผู้บวชเป็นพระสงฆ์หนึ่งองค์ กับผู้รับศีลบวชขั้นต้น หรือ พิธีโกนอีก 12 คน   ผู้บวชเป็นพระสงฆ์ชื่อ ยวงบัปติสตา ปันคายานา (Bangayana) เป็นคนมีพื้นเพมาจากการฟิลิปปินส์ อายุ 33 ปี อยู่ สามเณราลัยมา 5 ปีแล้ว เขาพูดภาษาสเปน โปรตุเกส และญวนได้ “ภาษาลาตินก็พูดได้พอสมควร” เขาผูกมัดตนด้วยการปฏิญาณว่าจะทำงานอยู่ในมิสซังของประมุขมิสซังจนตลอดชีวิต เขาจึงได้รับการบวช “โดยอยู่ในความอุปการะของมิสซัง”
 
        วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1678 สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ออกกฤษฎีกาห้ามมิให้สามเณรในวิทยาลัยกลางเข้าคณะนักบวชโดยไม่ได้ รับอนุญาตจากพระสันตะปาปา และสั่งให้เขาสาบานจะซื่อสัตย์ต่อมิสซัง เหมือนอย่างที่สามเณรในวิทยาลัยของสมณกระทรวงเองต้องทำที่กรุงโรม ตามกฤษฎีกาลงวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1660
 
          วันที่ 28 สิงหาคม และ 5 ตุลาคม ปีเดียวกัน กรุงโรมได้ประกาศย้ำให้ประมุขมิสซัง มีอำนาจที่จะบวชชาวตะวันออกที่รู้จักแค่อ่านภาษาลาติน แต่ไม่เข้าใจ โดยให้อยู่ในความอุปการะของมิสซัง และโดยไม่ต้องรับหนังสือจากสมณะผู้ปกครองท้องถิ่นของเขา 
 
        สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อให้เงินอุดหนุน 1,000-1,200 เอกู แก่วิทยาลัยกลางหลายครั้ง พระสังฆราชปัลลือได้รับเงินช่วยเหลือจากมิตรของท่าน แต่เงินก็ไม่พออยู่เสมอ ในปี ค.ศ.1677 ท่านลาโนบ่นว่าขาดวัตถุปัจจัย
 
         คุณพ่อ ชังเดอยัว ตั้งสาขาวิทยาลัยขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองบางกอก ในปี ค.ศ.1677 สาขาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีนักเรียน 12 คนทุกคนเป็นชาวญวน มาจากตังเกี๋ย หรือโคจินจีน อาจารย์ของนักเรียนเหล่านี้คือ  คุณพ่อ เลอนัวร์ กับคุณพ่อวาเชต์ คุณพ่อวาเชต์   เป็นคนนิยมชมชอบคนง่าย กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความประทับใจในความสงบเสงี่ยมและความว่านอนสอนง่ายของนักเรียน ท่านพอใจในการทำงานของเขาจนเป็นการยากที่จะทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมปิติมากกว่านี้”
 
                                                   **********************************************************