การย้ายวิทยาลัยไปอยู่ที่อยุธยา

  • Print
 
สมัยพระสังฆราชแตสซีเอร์ เดอ เกราเล
พระสังฆราชแตสซีเอร์ เดอ เกราเล ได้สืบตำแหน่งต่อจากพระสังฆราชเดอ ซีเซ แต่อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราชไม่นานนัก สมัยของท่านมีเหตุการณ์ปั่นป่วนพอสมควร และไม่มีผลงานมากนัก งานแรกที่ท่านทำเป็นการกระทำที่น่าเสียดาย หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เป็นการกระทำซึ่งเป็นที่เสียดายของพวกมิชชันนารีผู้ได้รับความลำบากเพราะการกระทำนั้น และยังเป็นการกระทำซึ่งเป็นที่เสียดายของผู้ที่ต่องานได้แก้ไขงานที่ทำไปด้วยงานดังกล่าวก็คือย้ายวิทยาลัยกลางจากมหาพราหมณ์ไปอยู่ที่อยุธยา
 
วิทยาลัยกลางเจริญรุ่งเรืองในสมัยที่คุณพ่อรุสต์ เป็นอธิการ ครั้นถึงปี ค.ศ.1727 อธิการ ที่ประเสริฐผู้นี้หมดแรง แต่ยังประจำอยู่ และอาศัยคุณธรรมและคุณสมบัติของคุณพ่อเลอแมร์ ซึ่งเป็นอาจารย์สำคัญ วิทยาลัยกลางยังดำรงอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่พระสังฆราชแตสซีเอร์ เดอ เกราเล ใคร่จะให้สามเณรทุกคนมาอยู่ใกล้ท่าน ท่านไม่ฟังคำทักท้วงของประมุขมิสซังโคจินจีน ประมุขมิสซังตังเกี๋ย คุณพ่อเลอแมร์ และคุณพ่อรุสต์ “ซึ่งเสียใจในเรื่องนี้จนกระทั่งวันตาย” ได้สั่งให้ย้ายสามเณรทุกคนมาที่อยุธยาและให้อยู่ที่สามเณราลัย ท่านเองเป็นผู้เอาใจใส่การอบรมสามเณรทางวิญญาณเวลาเช้า ท่านภาวนาและรำพึงกับเขา แล้วประกอบพิธีมิสซาซึ่งเขาร่วมในพิธีด้วย เวลาค่ำ ท่าน “เทศน์เตือนใจเขา” แล้วรวบรวมเขาอีกครั้งหนึ่งให้มาภาวนา และอ่านหัวข้อรำพึงของวันรุ่งขึ้นให้เขาฟัง ท่านกล่าวว่า “กิจปฏิบัตินี้ทำให้ข้าพเจ้าพอใจมาก” 
 
แน่นอน การกระทำทั้งหลายนี้เป็นของดีและเป็นความรู้สึกที่ดีมาก แต่คุณพ่อเลอแมร์ เห็นว่าไม่ควร คือ ท่านเห็นเหมือนกับที่คนอื่นเห็นในศตวรรษที่ 17 ว่า สามเณราลัยเป็นคล้ายบ้านพักพระสงฆ์มากกว่าสถานศึกษาและอบรม มีคริสตังและคนต่างศาสนาไปๆ มาๆ มากเกินไป พูดสั้นๆ ก็คือ ไม่อำนวยความสงบและความสำรวมใจ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอบรมผู้ฝึกจะเป็นพระสงฆ์ เป็นธรรมดาที่คุณพ่อรุสต์ต่างมีความเห็นเช่นเดียวกัน และยังมีความเห็นอย่างหนักหน่วงอีก อันที่จริง อธิการน่าสงสารที่เคยครองวิทยาลัยกลางที่มหาพราหมณ์ อาลัยอาวรณ์ที่กิจการของท่านเสื่อมโทรมลง ไม่นานนักก็ถึงมรณภาพในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1729 ที่กรุงศรีอยุธยา
 
คุณพ่อเลอแมร์เป็นอธิการปกครองมิสซัง
ก่อนที่พระสังฆราชเกราเล จะถึงแก่มรณภาพ ท่านก็ได้แต่งตั้งให้ คุณพ่อเลอแมร์ เป็นอธิการปกครองมิสซังกรุงสยาม ท่านผู้นี้ออกเดินทางจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1722 ขณะนั้นเป็นพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสองค์เดียวที่เหลืออยู่ในมิสซัง กับคุณพ่อโอม็องต์ อีกองค์หนึ่ง เมื่อท่านมาแพร่ธรรมอยู่ที่สยาม ท่านก็อยู่แต่ที่วิทยาลัยกลาง ที่นั่น เณรทั้งหลาย “ถือท่านเป็นนักปราชญ์ที่ดี และนักเทวศาสตร์ที่สำคัญและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นนักพูดชั้นยอด เขียนและแต่งภาษาลาตินได้อย่างเชี่ยวชาญ” 
 
คุณพ่อลาแซร์ เป็นอธิการวิทยาลัยกลางที่มหาพราหมณ์ 
คุณพ่อลาแซร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการวิทยาลัยกลาง ได้คุณพ่อกาบาน เดอ โกนา เป็นผู้ร่วมมือ และด้วยความยินยอมเห็นชอบของคุณพ่อเลอแมร์ ได้เปิดอาคารที่มหาพราหมณ์เสียใหม่ เณรทุกคนเว้นแต่ 8 คน ที่อยุธยาต่อไป เพื่อเรียนเทวศาสตร์กับคุณพ่อเลอแฟฟาร์ กลับไปอยู่ที่สำนักที่คุณพ่อรุสต์ได้สร้างขึ้น อาคารต่างๆ ถูกทอดทั้งมากกว่าสิบปี อยู่ในสภาพทรุดโทรมพอสมควร เขาจึงต้องล้างขัดถูและซ่อมแซมเท่าที่จะทำได้ ส่วน “กฎวินัยที่ถือกันในสมัยคุณพ่อรุสต์” นั้น ได้นำกลับมาใช้อีก เว้นแต่บางข้อที่ไม่สู้สำคัญ ชั้นต่างๆ ได้เริ่มเรียนใหม่ โดยมีเณร 19 คน หนังสือที่เขานิยมและนำกลับมาเรียนใหม่ คือ หนังสือของเอรัสมุส ที่แก้โดยคุณพ่อป๊อกเกต์ คำสอนใหญ่ของเฟลอรี่ ซึ่งคุณพ่อเลอแมร์แปลเป็นภาษาลาติน หนังสือของบาโรนีอุส ที่ย่อให้สั้นลง ฯลฯ
 
เมื่อพระสังฆราชเดอ เกราเล ถึงแก่มรณภาพได้สองปีแล้ว ข่าวการมรณภาพของท่านจึงทราบไปถึงสามเณราลัยมิสซังต่างประเทศในปีค.ศ. 1738 ทันทีที่บรรดาคณาจารย์เขียนถึงกรุงโรม และเสนอผู้สมควรจะเป็นพระสังฆราชสองคน คือ คุณพ่อเลอแฟฟวร์ กับคุณพ่อเดอ โลเลียร ทางกรุงโรมเลือกเอาคุณพ่อเดอ โลเลียร และแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งยูลีโอโปลีส ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1738
 
ในปี ค.ศ. 1743 คุณพ่อดีดีโม ล้มป่วย แต่ท่านจะถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 1748 ฝ่ายพระสังฆราช เดอ โลเลียร ไม่มีใครช่วยที่อยุธยา ก็เรียกคุณพ่อลาแซรมา แต่ท่านจะทิ้งเณรไว้ตามลำพังที่มหาพราหมณ์ไม่ได้  เพราะคุณพ่อเดอ โกนา ก็ไปแล้ว ท่านจึงพาเณรมาที่อยุธยา และอยู่กับเขาที่สามเณราลัย การกระทำเช่นนี้ ก็เท่ากับทำความผิดที่พระสังฆราชเดอ เกราเล ทำมาแล้วซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่เดชะบุญทำผิดได้ไม่นาน พระสังฆราชก็ยอมรับว่า “การพักอยู่ที่อยุธยาเป็นผลร้ายต่อเณร” ท่านจึงส่งเขากลับไปมหาพราหมณ์ แต่ไม่อีกกี่ปีต่อมา คือ ในปี ค.ศ.1749 ท่านก็เรียกเขากลับมาที่อยุธยาอีก แต่แล้วท่านก็ให้เขากลับไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ตามเจตจำนง อันแสดงออกมาอย่างแน่วแน่ของคุณพ่อเลอบ็อง ซึ่งเป็นอธิการอยู่ในขณะนั้น
 
การเปลี่ยนย้ายสถานที่บ่อยๆ เช่นนี้ ย่อมทำให้สำนักศึกษาเจริญก้าวหน้าไม่ได้  การเปลี่ยนอธิการบ่อยๆ ก็ยิ่งร้ายกว่าอีก เมื่อย้ายคุณพ่อลาแซร ไปแล้ว คุณพ่อเลอบ็อง มาแทน ครั้นย้ายคุณพ่อเลอบ็อง ไปอีก คุณพ่อเดอ โกนา ก็มาเป็นอธิการอีกไม่กี่เดือน คุณพ่อเลอบ็อง กลับมาอีก และอยู่จนกระทั่งย้ายไปเป็นเหรัญญิกที่เมืองมาเก๊า ผู้ที่มาเป็นอธิการสามเณราลัยองค์ต่อมายังมีคุณพ่ออังดรีเออ คุณพ่อบรีโกต์ และคุณพ่อแกแอรเว “ซึ่งองค์หลังดูเหมาะสมและพูดภาษาไทยได้ดี”  จำนวนสามเณรอยู่ระหว่าง 20 ถึง 35 คน 
 
ในวงการรัฐบาล บางครั้งก็ยังมีความสนใจเรื่องที่ดินของมิสซังอยู่ที่มหาพราหมณ์อยู่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1744 ได้มีข้าราชการมาถามพระสังฆราชเรื่องหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินรายนี้ของมิสซัง พระสังฆราชเดอ โลเลียร เล่าเรื่องสมเด็จพระนารายณ์พระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้ฟัง “เพื่อใช้พิเศษช่วยการเรียนของชาวเอเชียอาคเนย์ในวิทยาลัยกลาง และสามเณราลัยในกรุงสยาม” มาดาม ดือแปล๊กส ก็ถวายเงิน 1,200 เปียสตร์ ในปี ค.ศ.1751 โดยมีเจตนาเช่นเดียวกัน
 
พระสังฆราชเดอ โลเลียร อาพาธเป็นเวลานาน สามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศ จึงตัดสินใจให้ท่านมีพระสังฆราชผู้ช่วยองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อบรีโกต์ มิชชันนารีที่เข้ามากรุงสยามตั้งแต่ปี ค.ศ.1741 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งตาบรากา และประมุข มิสซังสยามในเวลาต่อมา ท่านต้องเดินทางไปรับการอภิเษกที่กรุงมะนิลา ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1755 เพราะว่าท่านถูกพวกสงฆ์ฟรังซิสกันชาวโปรตุเกสขัดขวางมิให้พระสังฆราชปัลลุส ประมุขมิสซังฟูเกี้ยน ผู้เดินทางผ่านมากรุงศรีอยุธยามาอภิเษกท่านเป็นพระสังฆราช
  
และในสมัยของท่านนี้เอง ที่พวกพม่าได้ยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา และท่านพระสังฆราชก็ได้รับคำขอร้องจากกษัตริย์ให้ช่วยชักชวนคริสตังช่วยทำการรบกับพม่า ซึ่งท่านตอบว่า “คำร้องขอของพระเจ้าแผ่นดินถูกต้อง เพราะเป็นหน้าที่ของคริสตังที่จะต้องทำการสู้รบเพื่อป้องกันปิตุภูมิของตน” เมื่อทำการรบไปได้ไม่นาน จู่ๆ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ พม่าหยุดล้อมเมืองและยกทัพกลับ ต่อมาทราบภายหลังว่า กษัตริย์ของเขาเพิ่งสวรรคต และตามประเพณีต้องกลับไปถวายบังคมพระบรมศพครั้ง สุดท้ายในประเทศของตน โดยสู้ยอมทั้งผลชัยชนะทั้งหมด แต่ในขณะที่ถอยกลับนั้น พวกพม่าได้เผาวิทยาลัยกลางทิ้งเสีย 
 
วิทยาลัยกลางซึ่งถูกพวกพม่าทำลายเสียเศษหนึ่งส่วนสามนั้น ได้รับการซ่อมแซมเล็กน้อย พวกสามเณรเข้ามาอยู่ได้ไม่กี่เดือน คุณพ่อซีรู ก็มาถึงมรณภาพที่นั่นเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1761 แต่ “เนื่องจากคลองซึ่งเชื่อมที่ดินของวิทยาลัยให้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งลง เพราะสร้างทำนบปิดน้ำ จึงให้สามเณรอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีตลาด และเครื่องอุปโภคบริโภค ทุกอย่างต้องไปบรรทุกมาทางน้ำแต่ไกลๆ” คุณพ่อแกแอรเว และคุณพ่อมาแต็ง พร้อมกับสามเณรจำนวน 25-30 คน จึงจำใจต้องอพยพสามเณราลัยไปอยู่ที่อยุธยา พระสังฆราชขอพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งไม่ไกลจากแม่น้ำ “อยู่เหนือโรงภาษีขึ้นไปเล็กน้อย” สำหรับตั้งโรงเรียน เมื่อขอพระราชทานได้แล้ว ท่านก็สร้างอาคารขึ้นหลายหลังเป็นไม้ไผ่ คุณพ่อแกแอรเว แต่งกฎวินัยใหม่ เพราะฉบับเก่าๆ ถูกไฟเผาหมด คุณพ่ออารโตด์ เป็นอธิการของสำนักนี้ ท่านปกครองด้วยความพากเพียรและอ่อนโยนมาก จนกระทั่งเมื่อท่านเป็นอธิการหนึ่งปีแล้ว ท่านกล่าวได้ว่า “ข้าพเจ้ายังไม่เคยลงโทษใครสักคนเดียวเลย” 
 
ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้ามาเป็นครั้งที่สอง คราวนี้ถึงคราวต้องสูญเสียเป็นอย่างมาก  กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก พม่าเข้ายึดกรุงได้ พระสังฆราชบรีโกต์ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก และพม่าได้เผาหมู่บ้านนักบุญโยเซฟ โบสถ์นักบุญโยเซฟ และเข้าปล้นสามเณรและจับพระสงฆ์และสามเณรและสัตบุรุษเข้าไปในค่ายของพม่า เมื่อพม่ารบชนะเรียบร้อยแล้ว บรรดาคริสตังค์หลายคนถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่ในกองทัพของพม่า บางคนหนีไปประเทศเขมร พระสังฆราชก็ได้ไปที่ประเทศพม่าด้วยความช่วยเหลือของกัปตันเรืออังกฤษคนหนึ่ง พาท่านไปส่งถึงย่างกุ้ง
 
อาจารย์และสามเณรแห่งวิทยาลัยกลางไปอยู่ที่จันทบูรณ์ 
ชีวิตของอาจารย์และสามเณราลัยกลางในสมัยนั้นต้องปั่นป่วนเดือดร้อน อย่างน้อยก็เท่ากับชีวิตพระสังฆราชและพวกมิชชันนารีเหมือนกันคุณพ่ออารโตด์ และคุณพ่อแกแอรเว ได้พาสามเณรออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1765 และลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่จันทบูรณ์ ได้รับการต้องรับจากคุณพ่อจาง ซึ่งปกครองวัดที่เมืองนี้ เขาพักอยู่ที่บ้านคุณพ่อจางไม่กี่เดือน ครั้นเห็นว่าเมืองนี้ก็ยังไม่สงบพอ เพราะมีการสงครามและการปล้นสะดม ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน จึงเดินทางต่อไปยังเมืองกังเกา
 
วิทยาลัยกลางไปตั้งที่ฮอนดัต 
เมืองเล็กๆ นี้ ซึ่งแต่ก่อนและแม้ทุกวันนี้คนญวนเรียกว่า “ห่าเตียน” ในสมัยนี้อยู่ในการปกครองของเจ้า ที่พอจะเรียกได้ว่าเอกราชองค์หนึ่ง ชื่อมักเทียนตู เจ้าองค์นี้ต้องรับพระสงฆ์และสามเณรเป็นอย่างดี ให้เขาเลือกเอาที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่งในสามแห่งสำหรับการตั้งวิทยาลัย เขาเลือกเอาบ้านฮอนดัต “เพราะมีน้ำดี สงัดเงียบ อากาศเย็นสบาย อยู่ใกล้หมู่บ้านคริสตังค์ญวนแห่งหนึ่ง”
 
อันว่าบ้านฮอนดัตนี้มิใช่เกาะ ดังที่มีคนชอบเขียนกันบ่อยๆ แต่เป็นเนินเล็กๆ อยู่ปลายแหลมห่างจากห่าเตียนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากหมู่บ้านคริสตังค์ที่ล็อกซอน 5 กิโลเมตร อาศัยเงินทานของขุนนางญวนคนหนึ่งกับคริสตังค์หลายคน คุณพ่ออารโตด์ ปลูกกระต๊อบหลังหนึ่งใช้ไปพลางๆ ก่อน “จนกว่าจะมีเงินสร้างอาคารที่ถาวร” บรรดาผู้ลี้ภัยมีความยากจนข้นแค้น มา “ถึงหลายครั้ง เขามีไก่ตัวเดียวต้องแบ่งกันกินถึง 25-30 คน”
 
คุณพ่อแกเอรเว ถึงแก่มรณภาพ
เมื่อจัดที่อยู่ชั่วคราวเสร็จแล้ว คุณพ่อแกแอรเว เดินทางกลับไปจันทบูรณ์ เพื่อรับสามเณรที่เหลือมา พอถึงจันทบูรณ์ ท่านก็เจ็บ เพราะเดินทางไปมาสองครั้งเหน็ดเหนื่อยมาก และถึงแก่มรณภาพวันที่ 22 มกราคม ค.ศ.1766 ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ท่านพักอยู่ที่วันนี้เมื่อปีก่อน ท่านได้ทำให้คริสตังค์และคนต่างศาสนารักใคร่นับถือมาก เขาทั้งหมดจึงพร้อมใจกันจัดการปลงศพท่านอย่างสง่า “เขาแบกศพของท่านให้เห็นเด่นเหนือฝูงชน ให้เห็นโอ่อ่ามโหฬารอย่างที่ไม่มีใครเคยเห็นในเมืองนี้”
 
ในจดหมายที่พวกมิชชันนารีเขียนถึงใครๆ มีแต่คำชมสรรเสริญคุณพ่อแกแอรเว “ท่านรักและถือความยากจน ท่านมีเสื้อหล่อเก่ามากเพียงตัวเดียว และเมื่อปะไม่ไหวแล้ว ท่านก็เอาเสื้อของเณรมาให้เขาต่อตัวให้ยากออกไป ท่านไม่มีหมวกและไม่ใช้รองเท้า นอกจากเวลาทำมิสซาเท่านั้น” “แม้ท่านมีความรู้ทางวรรณคดีมาก ดังที่เห็นได้จากตำรับตำราที่ท่านแต่งสำหรับอบรมยุวชนของเรา ท่านก็ชอบแปลคำสอนให้เด็กๆ ฟังยิ่งนัก” คุณพ่อมอรวัง เขียนไว้ดังนี้ และใครๆ ที่รู้จักคุณพ่อแกแวรเอ ก็พูดเหมือนกันในทำนองนี้
 
คุณพ่ออังดรีเออ ถึงแก่มรณภาพ 
คุณพ่อจาง ที่จันทบุรีเดินทางไปช่วยคุณพ่ออารโตด์ ที่ฮอนดัต ในประเทศโคจินจีน คุณพ่ออารโตด์ ปลูกบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง มุงด้วยใบไม้  จุนักเรียนได้ 50 คน คุณพ่อบัวเรต์ ได้เป็นอธิการวิทยาลัยกลางแทนท่าน แต่เป็นได้ชั่วระยะเวลาสั้นมากในระหว่างที่เป็นอธิการอยู่นั้น คุณพ่ออังดรีเออ ซึ่งเมื่อครั้งพาสามเณรหนีจากอยุธยาไปจันทบูรณ์ “ต้องอดข้าวอดน้ำและสุขภาพได้ชำรุดทรุดโทรมมาก แม้ร่างกายของท่านล่ำสันแข็งแรง” ก็มาด่วนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1766 พระสังฆราชปีแควล (ประมุขมิสซังโคจินจีน) เขียนไว้ว่า “คุณพ่ออังดรีเออ เป็นแบบฉบับที่เณรทุกคนยกย่องนับถือจนกระทั่งวันตาย มิสซังสยามได้สูญเสียบุคคลที่ทำประโยชน์มากไปผู้หนึ่ง” 
 
กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อกับวิทยาลัยกลาง
ระหว่างที่เป็นอธิการวิทยาลัยกลางที่ฮอนดัตนั้น คุณพ่อบัวเรต์ ได้ทราบว่า สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อคิดจะส่งสามเณรมาศึกษาที่วิทยาลัยกลางของท่าน ทันทีท่านได้มีหนังสือถึงคุณพ่อดารุสต์ เหรัญญิกมิสซังต่างๆ แห่งประเทศตังเกี๋ยที่กรุงโรม ความว่า “ขอท่านโปรดเรียนสมณกระทรวงว่า เราไม่ปรารถนาอะไรยิ่งกว่าจะรับใช้สมณกระทรวงตามแต่จะเห็นควร เพราะเราเป็นมิชชันนารีของสมณกระทรวงนี้ และโปรดเรียนด้วยว่า เรามีความยินดีที่จะเห็นสามเณรของสมณกระทรวงมาเรียนอยู่กับสามเณรของเรา”
 
ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1762 พระสังฆราชบรีโกต์มีหนังสือถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อว่า ท่านอำพาธมาปีกว่าแล้ว จำเป็นต้องขอพระสังฆราชผู้ช่วยสักองค์หนึ่ง ที่สุดสมณกระทรวงก็ได้แต่งตั้งคุณพ่อเลอบ็อง ซึ่ง “เคยอยู่ที่วิทยาลัยกลางกรุงสยามเป็นเวลาเก้าปีหรือสิบปี เคยปกครองวิทยาลัยในฐานะอธิการ เป็นผู้สมควรแก่ตำแหน่ง เพราะมีความประพฤติดี มีความศรัทธาแน่นแฟ้น ความเชื่อมั่นคง ความรู้ดี และมีความสามารถสูงในการอบรมเยาวชน” ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเมเตลโลโปลิส และได้รับการอภิเษกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1766
 
 
**********************************************************