เรื่องยุ่งๆ เมื่อแรกตั้งไปรษณีย์

  • Print
 
การเริ่มกิจการไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕  เจ้าหมื่นเสมอใจ (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง) ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขอให้ทรงมีพระราชดำริเริ่มจัดตั้งขึ้น แต่ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ควรศึกษาให้รอบคอบก่อน จึงทรงส่งเจ้าหมื่นเสมอใจไปดูงานที่จีนและญี่ปุ่น  เมื่อกลับมาจึงให้ร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งมีประสบการณ์ในการส่งหนังสือ “ข่าวราชการ” ให้สมาชิก มีการพิมพ์  “แสตมป์” ขึ้นปิด และมี  “โปสต์แมน”  เดินส่ง
 



ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรก

การวางรูปแบบไปรษณีย์เป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่ความยากอยู่ที่ตอนนั้นคนไทยยังไม่มีเลขบ้าน ไม่มีนามสกุล อีกทั้งชื่อก็ซ้ำๆ กัน เลยไม่รู้ว่าจะส่งไปรษณีย์กันได้อย่างไร
 
กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดชจึงทรงเริ่มที่จัดทำเลขที่บ้านเป็นอันดับแรก ออกการประกาศทำความเข้าใจเป็นระยะถึงประโยชน์ของการมีไปรษณีย์ ขอความร่วมมือให้บอกความจริงแก่พนักงานที่ไปจดชื่อ บ้าน ชื่อคน  ตลอดจนชื่อบิดามารดาและอาชีพ เพราะการส่งไปรษณีย์ต้องมีเลขที่บ้าน ตรอก ถนน ตำบล บ้าน คลอง บาง และชื่อที่ชัดเจน  
 
ที่ให้จดชื่อบิดาด้วยนั้น ได้ประกาศทำความเข้าใจว่า
 
“...ชื่อจึ่งซ้ำกันมาก เหมือนดังชื่อ  อิน จัน มั่น คง เป็นต้น ถ้าไม่จดชื่อบิดากำกับด้วย ก็ไม่ทราบว่า อิน จัน มั่น คง คนใด จึงต้องถามชื่อบิดาด้วย จะได้ลงชื่อบิดากำกับไม่ใช่ชื่อซ่ำกัน เหมือนดังชื่อธรรมเนียมจีน ธรรมเนียมยุโรปอื่นๆ นั้น เหมือนกับนายอินบุตรนายอ้น นายจันบุตรนา ยจร  นายมั่นบุตรนายม่วง  นายคงบุตรนายคำ ดั่งนี้เป็นต้น”
 
เมื่อลงชื่อบิดากำกับแล้ว ชื่อบิดาก็อาจซ้ำกันอีก จึงได้ทำความเข้าใจเรื่องให้ถามอาชีพว่า
 
“การซึ่งถามถึงสังกัดและการทำมาค้าขายนั้นก็เหมือนกัน พอให้เปนที่มั่นคง เครื่องหมายที่จะให้ผิดชื่อกันเท่านั้น แลจะได้ทราบว่าผู้นั้นมีวิชาการสิ่งไร แลทำการค้าสิ่งอันใด เพราะเมื่อราษฎรลูกค้าพานิชชาวต่างประเทศ จะมีความประสงค์ในการวิชาของผู้นั้น ฤามีธุระเกี่ยวข้องในวิช าแลการค้าขายสิ่งใดก็ดี ก็จะได้ทราบว่าผู้นั้นเปนคนอย่างไร แลทำมาค้าขายสิ่งอันใด ราษฎรลูกค้าพานิชจะได้ซื้อส่งสินค้าได้คล่องแคล่ว โดยสะดวก ไม่ว่าต่างเมืองทางไกลแลใกล้ มิใช่จะจดทะเบียนไว้สำหรับเก็บภาษี ฤาคิดค่าหลังคาเรือน...”
 
จากนั้นอีกเดือนเศษ เมื่อทำบัญชีบ้านเสร็จ เจ้าพนักงานก็นำเลขที่บ้านไปติด ปรากฏว่า มีความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา บางคนก็เข้าใจ บางคนก็หาว่าการติดเลขที่บ้านก็เพื่อจะเก็บภาษี
 
ในที่สุดการไปรษณีย์ไทยก็เปิดได้ในวันที่ ๔ สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๒๖ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีกฎหมายสำหรับการไปรษณีย์ขึ้น มีใจความว่า
๑. ให้อำนาจกรมไปรษณีย์จัดการไปรษณีย์
๒. ให้จัดทำตราไปรษณีย์ขึ้นใช้  ใครปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย
๓. กรมไปรษณีย์และพนักงานไม่ต้องรับผิดชอบ หากจดหมายสูญหาย ล่าช้า หรือ ส่งผิด
๔. ใครเอาของสกปรกหรืออันตรายใส่ในตู้ไปรษณีย์ มีความผิดตามกฎหมาย
๕. ห้ามจับกุมคุมขังบุรุษไปรษณีย์ขณะส่งจดหมาย
๖. หากมีการจับกุมคนหรือปิดร้านไปรษณีย์ ห้ามแตะต้องตู้ไปรษณีย์และจดหมายในตู้ไปรษณีย์
 
ทางกรมพระนครบาลได้ท้วงติงข้อ ๕ เกรงว่าจะขัดกับกฎหมายที่ใช้อยู่  เพราะไม่เคยมีบทกำหนดให้อำนาจแก่บุคคลใดเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีฯ แก้ไขกำหนดข้อบังคับสำหรับกรมพระนครต่อบุรุษไปรษณีย์ดังนี้
 
- ห้ามจับกุมบุรุษไปรษณีย์ขณะนำส่งหนังสือในความผิดเล็กน้อย แต่หากความผิดอุกฉกรรจ์ให้จับกุมได้ โดยแจ้งให้กรมไปรษณีย์ทราบทันที 
- ถ้ามีเหตุต้องจับกุมคนในร้านไปรษณีย์ ปิดหรืออายัดร้านไปรษณีย์ที่มีตู้ไปรษณีย์หรือจดหมายที่ผนึกตราไปรษณีย์ยากร ให้เจ้าหน้าที่นครบาลรักษาจดหมายและตู้ไปรษณีย์นั้นๆ ไว้อย่างดี รอพนักงานไปรษณีย์มารับ 
-  ถ้าเจ้าหน้าที่นครบาลหรือผู้ใดมีเหตุจับต้องตัวบุรุษไปรษณีย์ ห้ามจับต้องกระเป๋าใส่จดหมายหรือจดหมายนั้นๆ 
- ให้เจ้าหน้าที่นครบาลช่วยสอดส่องดูแลผู้ทำตราไปรษณียากรปลอม
 
นับว่ากฎหมายไปรษณีย์ได้ให้ความสำคัญกับจดหมายอย่างมาก
 
การไปรษณีย์เมื่อเริ่มแรกนั้นส่งเฉพาะในแขวงกรุงเทพฯ และมีการขยายออกไปเปิดที่สมุทรปราการ และนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘  และได้ทบทวนกฎหมายไปรษณีย์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประกาศใช้  “พระราชบัญญัติกรมไปรษณีย์สยามจุลศักราช ๑๒๔๗”  ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๘
 
ในการประชุมใหญ่ของสหภาพสากลไปรษณีย์ ที่กรุงลิสบอนประเทศโปรตุเกส  ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุม และมีโอกาสปราศรัยต่อที่ประชุมด้วย ทั้งยังขอข้าราชการไปรษณีย์เยอรมันจาก ดร.สเตฟาน อธิบดีกรมไปรษณีย์เยอรมัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์ ซึ่งได้ยืมตัวนายปัง เกา ผู้ตรวจการไปรษณีย์เมืองฮัมบรูกมา ๑ ปี จนไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๘  ทำให้ประเทศต่างๆ ยอมรับการไปรษณีย์ของไทย ส่งจดหมายจากไทยไปได้ทั่วโลก.