แรกมีรถไฟ

 
 
สถานีรถไฟสายแรก 
 
ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นวันที่มีพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงครั้งแรก จากสถานีหัวลำโพงไปสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนแรกของทางรถไฟสายอีสานและสายเหนือ จึงถือว่าเป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทย
 
แต่ในวันนั้น มีรถไฟอีกสายหนึ่งเปิดให้บริการมาแล้ว ๓ ปี หากแต่เป็นรถไฟของบริษัท เอกชน
 
 ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ รัฐบาลได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ก คือนาย เอ.ดู เปลซี เดอ ริเชอเลียว กัปตันเรือเวสาตรีกับพวกสร้างทางรถไฟสายปากน้ำ จากหัวลำโพงไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธี เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ทั้งได้เสร็จพระราชดำเนินไปทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ มีพระราชดำรัสในครั้งนั้นความตอนหนึ่งว่า
 
 “...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆ ไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆ นี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”
 
รถไฟสายปากน้ำมี ๑๒ สถานี คือ
๑. บางกอก
๒. ศาลาแดง
๓. คลองเตย
๔. บ้านกล้วย
๕. พระโขนง
๖. บางจาก
๗. บางนา
๘. สำโรง
๙. จรเข้ (จระเข้)
๑๐. บางนางเกรง (บางนางเกร็ง)
๑๑. มหาวง (มหาวงศ์)
๑๒. ปากน้ำ
 
โดยสถานีบางกอก ต้นทางตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง ตรงข้ามกับสถานีรถไฟหัวลำโพง ริมถนนพระราม ๔ ในปัจจุบัน สถานีปลายทาง คือ สถานีปากน้ำ อยู่ตรงท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์
 
กิจการรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำประสบกับการขาดทุน ทางราชการได้ให้กู้ยืมเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รถไฟสายแรก ของไทยต้องล้มเหลว  ทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็นสายยุทธศาสตร์ด้านป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา ในคราวที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าการป้องกันของป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาได้เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
 
ซึ่งรถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้นถูกลูกหลง ไม่ทราบว่าของฝ่ายไหน มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และแม่เฒ่าตกใจตายไปอีกหนึ่งราย นาย เอ.ดู เปลซี เดอ ริเชอเลียว ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พล.ร.ต.พระยาชลยุทธโยธิน ผู้อำนวยการป้องกันปากแ ม่น้ำ ได้ขึ้นรถไฟสายปากน้ำตามเรือรบฝรั่งเศสเข้ามา หวังจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งชน แต่ทางการไทยไม่ต้องการจะก่อปัญหากับฝรั่งเศสอีก จึงใช้วิธีเจรจาแทน
 
ต่อมารถไฟสายนี้ได้เลิกใช้หัวรถจักรไอน้ำ  เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถรางในกรุงเทพฯ ซึ่ง นาย เอ.ดู เปลซี เดอ ริเชอเลียวกับพวกได้รับสัมปทานเช่นกัน
 
หลังสิ้นสุดสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓  ในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รื้อทางรถไฟขยายถนนพระราม ๔ ออกไป  บางช่วงก็สร้างเป็น  “ถนนทางรถไฟสายเก่า” ในปัจจุบัน.