พระราชพิธีแรกนาขวัญ

การฟื้นฟูขนบประเพณีสมัยโบราณขึ้นมา ประกอบพระราชพิธีขึ้นใหม่อีกครั้งในยุคนี้ ได้นำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ประชาชนชาวไทยอย่างมากมายเพียงใด ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว เพราะสิ่งใดที่เป็นขนบธรรมเนียมเก่าแก่แต่ครั้งบรรพบุรุษ สิ่งนั้นชาวไทยก็ย่อมปรารถนาที่จะให้ยั่งยืนอยู่ ได้กระทำสืบเนื่องกันมาเพื่อให้ประเพณีโบราณนั้นไม่เสื่อมสลายไปกับวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่แทรกแซงเข้ามา และทำท่าว่าจะลบเลือนแบบแผนอันแสนดีของไทยเรา
 
จากการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จทอดพระกฐินโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ราษฎรที่เฝ้าชมพระบารมีอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็แสดงความยินดีปรีดาอย่างทั่วหน้า เพราะการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือสุพรรณหงส์นี้ได้ว่างเว้นมาเกือบสามสิบปีแล้ว แม้แต่ชาวต่างชาติก็แสดงความสนใจประเพณีที่งดงามไปด้วยศิลปะของไทยแท้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ
 
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ นี้ ก็ได้มีการประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญขึ้นอีกวาระหนึ่ง ซึ่งพระราชพิธีนี้ก็ได้เว้นมาเป็นเวลานับสิบปีแล้วเช่นเดียวกัน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นผู้แรกนาขวัญ
 
พระราชพิธีนี้มีชื่อเป็นสองชื่อควบคู่กัน คือ พระราชพิธีมงคลและจรดพระนังคัล การที่มีชื่อเรียกรวมกันเช่นนั้น ก็เป็นเพราะการแบ่งเป็นวันสวดมนต์เป็นวันพืชมงคล ทำขวัญพืชต่างๆ อันมีข้าวเปลือก เป็นต้น แต่จรดพระนังคัล หรือแรกนาขวัญนั้นเป็นพิธีในตอนเช้า คือ ลงมือไถ
 
พระราชพิธีมงคลเป็นพิธีสงฆ์ กระทำกัน ณ ท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์ กระทำกัน ณ ทุ่งส้มป่อย ซึ่งขณะนี้เราเรียกกันว่า ทุ่งพญาไท เนื่องด้วยพิธีทั้งสองนี้ได้กระทำพร้อมกันในคืนวันเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อคู่กันว่า พระราชพิธีมงคลและจรดพระนังคัล 
 

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในรัชกาลที่ ๕
 
การแรกนาขวัญนั้นในสมัยโบราณกาลนั้นเป็นภารกิจของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว เช่นในเมืองจีนเมื่อสี่พันปีที่ล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเหตุ เรื่องราวที่ปรากฏต่อมาของไทยเรานั้น ที่มีปรากฏในการแรกนาขวัญที่มีอยู่มิได้ว่างเว้น และเป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดินทรงนำมาก่อนเช่นนั้น ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั้งหลาย เป็นการชักนำให้มีใจหมั่นในการทำนา  เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต  เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและเจริญไพบูลย์ แต่การที่มีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เพียงแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนเช่นชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาตามปกตินั้นก็ด้วยเกรงอันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่าที่อาจจะมากไปหรือน้อยไป และศัตรูของพืชต่างๆ เช่นตัวเพลี้ยหรือสัตว์ต่างๆ ที่จะลงทำลายพืชนั้น
 
การแรกนาขวัญซึ่งมีมาแต่โบราณกาลในเมืองไทยเรานั้น ในหนังสือ นพมาศ ครั้งกรุงสุโขทัยมีข้อความว่า
 
“...ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาลจรดพระนังคัลพราหมณ์ประชุมกันผูกพรตเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้างเขา กำหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศทรงม้าพรตที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์พระสนมกำนัล เลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัยขึ้นรถพระประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลัง ประทับที่ตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิงบังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์ โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้งเมื่อถึงมณฑลท้องละหานก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียบไถทอง พระครูพิธีมอบยาไถนาและประตักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถ ซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเองแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ถือไถเงิน เทียมด้วยพระโคเศวตพรเดินไถเป็นที่สอง พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างคหบดีถื อไถหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดงเทียมด้วยโคกระวินทั้งไม้กระตัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์โปรยข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดหมวกสาน ถือกระเช้าดอกไม้โปรยปรายหว่านพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบำโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลอดบ่วงรำแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญแล้ว จึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเลี้ยงเลี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโ หรพราหมณ์ก็ทำนายตามรับไตรเทพ ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง”
 
ตามพระราชพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งมีมาในเรื่อง นพมาศ และมีที่มาในกฎมณเฑียรบาลว่า
 
“เดือนไพศาลจรดพระนังคัล เจ้าพระยาจันทกุมารถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค์ พระพลเทพถวายบังคมสั่งอาญาสิทธิ์ ทรงพระกรุณาลดพระบรมเดชมิได้ไขน่า ละอองมิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสด็จออก ส่วนเจ้าพระยาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาสขัดแห่ขึ้นช้าง แต่นั้นให้สมโภชสามวัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา นาร้อย นาหมื่น กรมการในกรมหน้าเฝ้า และขุนหมื่นชาวศาลทั้งปวงเฝ้าตามกระบวน”
 
ตามความในกฎมณเฑียรบาลได้ว่าไว้เพียงนี้ ไม่ได้ชี้แจงให้ละเอียดการไปแรกนาขวัญทำอย่างไรบ้างก็ไม่ได้กล่าวถึงวิธีนี้จัดการพระราชพิธีต่างกันกับที่สุโขทัย ช้างสุโขทัยนั้นการพระราชพิธีเหมือนออกสนามใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินถืออำนาจเต็ม ออกญาพลเทพเป็นแต่ผู้ที่จะลงถือไถ ทางฝ่ายกรุงเก่ายกเอาเจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระยาพลเทพเป็นตำแหน่งเสนาบดีผู้ออกหมายตามกระทรวง พระเจ้าแผ่นดินเสมือนหนึ่งออกจากอำนาจจำศีลเสียสามวัน การที่ทำเช่นนี้ก็คงประสงค์ว่าเป็นผู้ได้รับสมมติเสียสามวัน เหมือนหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปแรกนาเอง ช่วยให้การนั้นขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
 
วิธีนี้เข้าใจว่าจะได้ใช้กันมาจนปลายยุคกรุงเก่า จากจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด  ข้อความก็คล้ายกันกับกฎมณเฑียรบาล เป็นแต่ตัดความไปว่าถึงเวลาไปทำพิธีนั้นชัดเจนขึ้น คือ พระอินทรกุมารฉลองพระองค์  ส่วนพระมเหสีนั้น  นางเทพีฉลองพระองค์นั่งเรือคฤหสองตอนไปถึงทุ่งแก้ว ขึ้นจากเรือพระอินทกุมารสวมมงกุฎอย่างเลิศไม่มียอดขี่เสลี่ยงเงิน แห่มีสัปทนบังสูรย์เครื่องตามยศ บรรดาคนตามนั้นเรียกว่ามหาดเล็ก แต่มีขุนนางถือหวายห้ามสูงสุด ครั้นเมื่อถึงโรงพิธีแล้ว พระอินทกุมารจับคันไถเทียมโคอุสุภราชโคกกระวิน พระยาพลเทพถือเชือกจูงโค นางเทพีหาบกระเช้าหว่านข้าว ครั้นไถได้สามรอบแล้ว จึงปลดโคออกกินข้าวสามอย่าง ถั่วสามอย่าง  หญ้าสามอย่าง ถ้าโคกินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่างๆ ซึ่งชื่อผู้แรกนาต่างไปกับในกฎมณเฑียรบาลช้างหนึ่งเป็นจันทกุมาร ข้างหนึ่งเรียกเจ้าพระยา ข้างหนึ่งเรียกพระ การที่ชื่อแตกต่างกันนั้นปรากฏในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด
 
การแรกนาขวัญในกรุงเทพฯ นี้ ได้มีเสมอมาตั้งแต่ปฐมรัชกาลแต่ถือว่าเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพ แรกนายืนชิงช้าผู้เดียวไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วยก็โปรดพระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย
 
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นก็เป็นพวกแรกนาขวัญด้วย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) แรกนา  บังเอิญดินฟ้าอากาศวิปริต  ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ ฝนแล้ง ราษฎรพากันติเตียนอย่างหยาบคายต่างๆ นานา ฝนแล้งในระหว่างปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ฝนแล้งติดต่อกันสามปี
 
ต่อมาจึงโปรดให้เจ้าพระยาภูธราภัย ได้แรกนาซึ่งโชคดีที่ดินฟ้าอากาศไม่วิปริต ฝนตกมาตามฤดูกาล ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้แรกนาจะถูกกล่าวขวัญอย่างชื่นชมจากราษฎรทั่วหน้า การนี้จึงติดตัวเจ้าพระยาภูธราภัยไปจนตลอดชีวิต
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งยกย่องว่าเป็นผู้แรกนาดี และต่อไปภายหน้าถึงเจ้าพระยาภูธราภัยจะเจ็บป่วยมาแรกนาไม่ได้ ก็โปรดให้ผู้ที่เป็นวงศ์ญาติของเจ้าพระยาภูธราภัยไปแรกนาแทน ครั้นเมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยถึงอสัญกรรมแล้ว จึงมอบหน้าที่ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นผู้แรกนาตามพระกระแสรับสั่งเดิม เมื่อพระยาอภัยรณฤทธิ์ป่วยมาแรกไม่ได้  จึงได้ให้พระยาภาสกรวงศ์ ที่เกษตราธิบดี ผู้เป็นเจ้าของตำแหน่งเป็นผู้แรกนา
 
การแรกนาที่กรุงเทพฯ มิได้เป็นการแรกนาหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่จะมีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรเมื่อใด เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ เมื่อปีมะแมเบญจศก ศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๖) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการนี้ทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไม่ให้เผาศพ ฝังศพในที่นั้น
 
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแรกนาขวัญที่ทุ่งส้มป่อย (พญาไท) ครั้งหนึ่งภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและเพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง
 
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง
 
การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีพิธีพราหมณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทรงเริ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้เป็นพระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมปวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ มิได้มีนางเทพีเหมือนในครั้งต่อมา เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้นจึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะพอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอย ติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคลก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนาให้เป็นสวัสดิมงคลชนอีกชั้นหนึ่ง
 
 
การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ มีกระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระบวนแห่นี้เกิดขึ้นก็ด้วยเรื่องแห่เทวรูปออกไปที่โรงพระราชพิธีทุ่งส้มป่อยอันเป็นธรรมเนียมแต่เดิม พระพุทธรูปจะไม่มีกระบวนแห่ก็ดูจะต่ำไปกว่าเทวรูป จึงได้มีการจัดกระบวนแห่ โดยกำหนดธงมังกร ๑๐๐ ธงตะขาบ ๑๐๐  ธงชนะ ๒๐ จ่าปี่จ่ากลอง แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๘ สังข์ ๒ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง คู่แห่ ๑๐๐ พิณพาทย์ ๒ สำรับ กลองแขก ๒ สำรับ ราชยานกง ๑ เสลี่ยงโถง ๑ คนหาบ พร้อมมีราชบัณฑิตประคองและภูษามาลาเชิญพระกลด
 
พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการพิธีแห่ออกไปจากพระราชวังคือ “พระคันธารราษฎร์นั่ง” กาไหล่ทององค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ที่หอในวัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์ ๑ พระคันธารราษฎร์ยืนกาไหล่ทององค์ ๑ พระคันธารราษฎร์อย่างพระชนมพรรษาเงินองค์ ๑ พระทรมาณเข้าอยู่ในครอบแก้วสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ องค์ ๑ พระชัยประจำแผ่นดินองค์ ๑ พระชัยเนาวโลหะน้อยองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญไปจากหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวัง เทวรูป ๖ องค์ นั่งแท่นเดียวกัน ๑ รูป พระโต, แล้วเชิญพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์จีนกาไหล่ทอง ซึ่งไว้ที่หอพระท้องสนามหลวงลงมาอีกองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะทองใหญ่ ในพระแท่นมณฑลองค์น้อย มีเชิงเทียนราย ๔ เชิงพานทองคำดอกไม้ ๒ พาน กระถางธูปหยกกระถาง ๑ ตามรอบม้าทองที่ตั้งพระบนพระแท่นมณฑลและใต้ม้าทองไวพันธ์เครื่องเพาะปลูกต่างๆ คือข้าวเหนียว ข้าวเจ้าต่างๆ ตามแต่จะหาได้ เมล็ดน้ำเ ต้า แมงลัก แตงต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา ของเหล่านี้กำหนดสิ่งละ ๒ ทะนาน เผือก มันต่างๆ สิ่งละ ๑๐ หัว สิ่งที่ควรกรอกลงขวดอัดก็กรอกลงขวดตั้งเรียงรายไว้รอบๆ มีเครื่องนมัสการทองทิศสำรับ ๑ ที่พลับพลาโถงมุมกำแพงแล้วซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรนา
 
พลับพลาและหอพักในท้องสนามหลวงรื้อเมื่อต้องทำสนาม เดิมสนามหลวงก็มีสภาพอย่างท้องนา  หน้าแล้งแผ่นดินแห้ง  จึงใช้ปลูกพระเมรุ ถึงฤดูฝนปิดน้ำขังไว้ทำนาในท้องสนามหลวงจึงมีพลับพลาสำหรับเสด็จประทับทอดพระเนตรนาการที่ทำนาในท้องสนามหลวง เล่ากันมาว่าด้วยประสงค์จะให้แขกเมือง คือ ทูตญวน เป็นต้น ได้เห็นว่า เมืองไทยข้าวปลาอาหารบริบูรณ์แม้จนชานพระราชวังก็เป็นที่ไร่นาเพาะปลูกได้
 
คำอธิษฐานในพระราชพิธี ซึ่งจะให้เกิดสวัสดิมงคลพระคาถาภาษิตซึ่งมีในการทราชสูตรนั้นมีว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ กสิภารัทวาชะ ไปทำนา อยู่ในนาของตน พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต ทรงเห็นอุปนิสัยว่าจะได้มรรคผลจึงเสด็จไปยังที่พราหมณ์ไถนาอยู่แล้วตรัสปราศรัย
 
พราหมณ์กล่าวติเตียนว่า “สมณะนี้ขี้เกียจ เที่ยวแต่ขอทานเขากิน ไม่รู้จักทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิตเหมือนเช่นเรา”
 
พระองค์จึงตอบว่า “การทำนาเราก็เข้าใจ เราได้ทำนาเสร็จแล้ว แต่การนาของเราไม่เหมือนอย่างของท่าน เครื่องที่อุปการะในการนาของเรามีครบทุกสิ่ง คือ ศรัทธาความเชื่อเป็นพืชข้าวปลูก ตบะธรรมซึ่งเผากิเลสให้เร่าร้อนและอินทรีย์สงบ ความระวังรักษาอินทรีย์กับทั้งโภชนะมัตตัญญู รู้ประมาณในโภชนาหารเป็นน้ำฝน ปัญญาเป็นคู่แอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติเป็นปฏักสำหรับเตือน ความสัตย์เป็นท่อสำหรับไขน้ ำ ความเพียรที่กล้าหาญสำหรับชักแอกไถ ความสำรวมใจเป็นของสำหรับปลดแอกไถนำไปบรรลุที่อันเกษมจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ ย่อมไปยังสถานที่ไม่รู้กลับ เป็นสถานที่ไม่เศร้าไม่โศก มีแต่ความสุขสำราญ การไถนาของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะไม่รู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ”
 
ใจความในพระสูตรนั้น ดังนี้พระพุทธเจ้าตรัส ขออำนาจความสัตย์นั้นให้ข้าวที่หว่านงอกงามทั่วชนบท และให้ฝนอุดมดี คำอธิษฐานนี้ นับเป็นข้อที่ ๒ ต่อนั้นไปยกคาถาซึ่งมีมาในเตมียชาดก มีเรื่องราวว่า
 
พระเจ้าพาราณสีมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งชื่อเตมียกุมาร เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ พระบิดาอุ้มประทับในพระเพลา เมื่อเวลาเสด็จออกว่าราชการ สั่งให้ลงทัณฑ์แก่ผู้มีความผิดต่างๆ พระเตมียกุมารได้ฟังก็มีพระทัยท้อถอยไม่อยากจะรับราชสมบัติจึงแกล้งทำเป็นใบ้ เป็นง่อยเปลี้ยวิกลจริ ตจนทรงพระเจริญใหญ่ขึ้นพระบิดาสั่งให้นายสุนันทสารถีนำพระเตมีย์ไปฝังเสียในป่า พระเตมียกุมารจึงกล่าวคาถาแสดงผลที่บุคคลไม่ประทุษร้ายต่อมิตร สิบคาถา แต่ที่ยกมาใช้เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธีนี้แต่สองคาถา เริ่มตั้งแต่ภาสิตา จยิมา คาถา มีเนื้อความว่า ศาสดาผู้เป็นใบ้และเป็นง่อยได้ภาษิตไว้ว่า
 
“ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร โคที่จะเป็นไถหว่านของผู้นั้น จะมีแต่เจริญไม่รู้เป็นอันตราย พืชพันธุ์ใดๆ ที่ผู้นั้นได้หว่านลงในไร่นาแล้ว ย่อมงอกงามดีมีผลสำเร็จประโยชน์ ผู้นั้นย่อมจะได้บริโภคผลของพืชพันธุ์นั้นสมประสงค์ไม่มีพิบัติอันตราย”
 
อีกพระคาถาหนึ่งว่า “ข้อหนึ่งผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร ผู้นั้นจะไม่รู้เป็นอันตรายด้วยข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรจะคิดทำร้ายไม่ก็อาจครอบงำย่ำยีได้ เปรียบประหนึ่งต้นนิโครธใหญ่มีสาขากิ่งก้านรากย่านหยั่งลงกับพื้นแผ่นดิน มั่นคงแน่นหนา แม้ถึงลมพายุใหญ่จะพัดต้องประการใด ก็ไม่อาจเพิกถอนต้นไทรใหญ่ให้กระจัดกระจายไปได้ ฉันนั้น”
 
ในการแรกนาขวัญ เมื่อพระยาแรกนาขวัญโปรยหว่านข้าว แล้วไถกลบอีกสามรอบ จึงกลับเข้ามายังที่พักปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะบริบูรณ์
 
พระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้ จะมีประชาชนมาประชุมกันเป็นจำนวนมากมาย แม้จะอยู่ในที่ไกลๆ ก็จะเดินทางมาในงานแรกนาขวัญนี้ เพราะนอกเหนือไปจากความต้องการเข้ามาชมแล้ว เมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนาเสร็จจากพิธี พระยาแรกนาขวัญกลับแล้ว ผู้ที่มาชมงานก็จะกรูกันเข้าเก็บข้าวที่แรกนานั้น จนไม่เหลืออยู่ในนาเลย
 
เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ไปพิสูจน์หลายครั้งว่า จะมีข้าวงอกบ้างหรือไม่นั้น ปรากฏว่าไม่มีข้าวงอกเลย คราวทอดพระเนตรการแรกนาที่เพชรบุรี เมื่อผู้คนที่เข้ามาแย่งเก็บพันธุ์ข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตำรวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะมีเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า ก็ไม่ได้มาแม้แต่เมล็ดเดียว
 
พันธุ์ข้าวจากพิธีแรกนานั้น ผู้ที่แย่งกันไปเก็บนั้น ก็เพื่อนำไปปนกับพันธุ์ข้าวของตน ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นา ใช้ปนลงไว้ในถุงให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นประเพณีนิยมของคนทั้งปวง
 
ตามหัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทาน ครั้นกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งมีการทำนามาแต่เดิมโดยไม่มีของหลวงพระราชทานคือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา สองเมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ พราหมณ์จึงเป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองมิได้ลงมือแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนางเป็นผู้แรกนาแทน เมืองสุพรรณบุรีเมืองหนึ่งก็ว่ามีการแรกนาไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน
 
การแรกนา จึงเป็นเหมือนมิ่งขวัญของพืช อันมีข้าวซึ่งเป็นธัญญาหารอันสำคัญที่สุดในชีวิต พิธีการแรกนาขวัญซึ่งกลับมาฟื้นฟูอีกวาระหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๑๕๐๓ ของไทยเราจึงเป็นนิมิตดันดีงามที่ดินฟ้าอากาศ... พืชพันธุ์ ธัญญาหารในแผ่นดินไทยจะสมบูรณ์ด้วยข้าวกล้าและพืชที่งอกงามขึ้นตามพระราชพิธีแรกนาขวัญนี้