จารึกวัดศรีชุม มรดกความทรงจำจากยุคสุโขทัย

  • Print
อาณาจักรสุโขทัย มีพัฒนาการของการสร้างบ้านแปลงเมืองมาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เริ่มตั้งแต่ขับไล่ขอมสมาสโขลนลำพง ผู้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณกษัตริย์ขอมที่เมืองพระนคร ออกไปจากราชอาณาจักรสุโขทัย ที่ตั้งผู้ปกครองกลุ่มชนคนไท ขึ้นเป็นอิสระทางภาคกลางตอนเหนือ ในขณะที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ทางตอนล่าง ยังคงอยู่ในปกครองของผู้ว่าราชการ ต่างพระเนตรพระกรรณกษัตริย์ขอม เมืองพระนคร และตั้งศูนย์การควบคุมชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ภาคกลางตอนล่าง อยู่ที่เมืองลพบุรี
 
กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยตั้งแต่ราวพุทธศักราช ๑๘๐๐ กระทั่งถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๑๙๘๓ กรุงสุโขทัยก็ร่วงโรยลงโดยลำดับ ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งของกรุงสุโขทัยคือในพุทธศักราช ๒๑๑๒ ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ พม่ากวาดต้อนพลเมืองชาวกรุงศรีอยุธยาไปเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติโปรดเกล้าฯ ให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง ลงมายังกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัยน่าจะตกอยู่ในสภาพที่มีผู้คนเบาบางหรือเกือบเป็นเมืองร้าง ชุมชนและวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงสุโขทัย รวมถึงวัดศรีชุมน่าจะร่วงโรยมาแต่ครั้งนั้น
 

วัดศรีชุมก่อนการบูรณะ
 
วัดศรีชุมเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งของอาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่า น่าจะมีมาก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี อาณาจักรสุโขทัยเคยอยู่ในปกครองของขอมมาก่อน กระทั่งพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ร่วมกันขับไล่ขอมและสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
 
วัดศรีชุมปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ราวพุทธศักราช ๒๑๒๗) เมืองพิชัยกับเมืองสวรรคโลกร่วมกันก่อการกบฏ สมเด็จพระนเรศวรพระราชโอรสยกกองทัพไปปราบ    เมื่อเสด็จถึงเมืองสุโขทัยได้ตั้งทัพหลวงที่ “วัดฤาษีชุม” ให้แม่ทัพนายกองถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่นั่นก่อนที่จะยกทัพหลวงไปยังเมืองสวรรคโลก หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบ่งชี้ว่า วัดศรีชุม เคยเรียกว่า วัดฤาษีชุมมาก่อน ความหมายของคำว่า “ศรีชุม” แปลแยกศัพท์ได้ดังนี้ ศรี เป็นคำสันสกฤต แปลว่า สิริมงคล ชุม เป็นคำเขมร แปลว่า รวม ดังนั้น “ศรีชุม” จึงมีความหมายว่า ที่ประชุมหรือที่รวมอันเป็นสิริมงคล ซึ่งนามดังกล่าวอาจมาจากการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประชุมทัพที่วัดนี้ก็เป็นได้
 


พระอัจนะในวิหารวัดศรีชุมก่อนการบูรณะ


พระอัจนะในวิหารวัดศรีชุม ภายหลังบูรณะ
 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุโขทัยเมื่อยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระโอรสาธิราชฯ ในพุทธศักราช ๒๔๕๐ เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณุโลก ทรงตรวจตราโบราณวัตถุ โบราณสถาน และได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง เนื้อความตอนหนึ่งทรงอธิบายถึงวัดศรีชุม และสถานที่พบจารึกชาดกภายในพระอุโมงค์วัดศรีชุมว่า
 
“นอกกำแพงเมือง ค่อนไปทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือและไม่ไกลจากกำแพงนัก มีวัดสำคัญอยู่วัดหนึ่งเรียกว่า วัดศรีชุม ในวัดนี้มีชิ้นสำคัญคือวิหารมีพระใหญ่ก่อด้วยแลงเป็นพระมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๖ วา ส่วนวิหารเองนั้นดูภายนอกรูปเป็นสี่เหลี่ยม มีผนังสูงเกลี้ยงๆ ขึ้นไปสูง ๗ วา มีฐานเป็นบันได ๓ ชั้นรอบตัวที่ขอบผนังข้างบนมีเป็นบัว ใต้บัวลงมามีลวดลายเป็นเฟื่องย้อยลงมาเป็นพวงๆ ด้านหน้ามีบันไดขึ้น และรอยซุ้มประตูซึ่งพังลงมาแล้วยังพอแลเห็นได้ ตัวประตูเองรูปชอบกล ดูส่วนสูงเกินกว่าส่วนกว้างมากเหลือเกิน ประตูนั้นกว้างพอคน ๒ คนจะเดินหลีกกันได้อย่างยัดเยียดหน่อยเท่านั้น แต่ทางส่วนสูงนั้นยอดคูหาเกือบถึงบัวบน คือในช่องประตูนั้นถ้าจะคิดส่วนสูงตั้งแต่ธรณีขึ้นไปจนถึงยอดคูหาเห็นจะกว่า ๖ วา รูปช่องนั้นก็ตรงๆ ขึ้นไปเฉยๆ ก่อน แล้วจึงไปสอบเข้าเป็นซุ้มมียอดออกจะเรียว ดูรูปร่างแปลกนัยน์ตามาก  ข้างในวิหารนั้นมีที่รักแร้ก่อเป็นมุมไม้สิบสอง ผนังก่อเป็นสองชั้น มีช่องเข้าไปได้ทางประตูซีกข้างซ้าย ได้ส่งคนเข้าไปทางช่องนั้นเพื่อตรวจดู ได้ความว่าในชั้นแรกๆ เข้าไปลำบากต้องคลานหรือเดินย่อๆ เพราะอิฐปูนทลายลงมากองอยู่ที่พื้นมาก แต่พอเลี้ยวมุมหนึ่งก็ถึงบันไดขึ้นได้สบาย   เดินวนเวียนไปในระหว่างซอกผนังจนถึงที่บัวบน ผนังมีช่องทะลุอยู่แห่งหนึ่ง พระพยุหาภิบาลได้ให้จัดการทำบันไดขึ้นไปถึงที่นั่น ผู้ที่ขึ้นไปคราวหลังจึงไม่ต้องคลานมุดเข้าทางซ้ายประตูตรงขึ้นถึงชั้นบนที่มีบันไดนั้นได้ทีเดียว ในซอกผนังนั้นคนธรรมดาเดินต้องตะแคงตัว ที่ผนังมีลวดลายเขียน บนเพดานมีรูปสลักบนแผ่นศิลาอยู่ข้างจะเลือนๆ และทั้งต้องแหงนและมองเอียงๆ จึงเป็นการลำบากที่จะดูรูป แต่พอเห็นได้ว่ามีรูปคนใส่ชฎาเทริดอยู่ในรูปเหล่านั้นมาก มีอิริยาบถต่างๆ ที่ขี่รถขี่ม้าก็มี เข้าใจว่าจะเป็นภาพเรื่องชาดกและปฐมสมโพธิ์ หนังสือก็ลบๆ เลือนๆ เสียมาก”
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเพิ่มเติมพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงตอนที่เกี่ยวกับพระอัจนะ ซึ่งประดิษฐานที่วัดศรีชุมในพระนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ไว้ในภาคท้ายที่กล่าวถึงเมืองสุโขทัยว่า
 
“พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดศรีชุม ตรงกับที่เรียกว่าพระอจนในจารึกพ่อขุนรามคำแหง สันนิษฐานว่าเดิมจะเป็นวิหารโถงสร้างด้วยเครื่องไม้ สร้างวิหารก่ออิฐต่อรัชกาลหลัง ข้อนี้สังเกตเห็นฝาผนังตรงเข่าพระพุทธรูปก่อลุ้งออกไป ถ้าสร้างพระวิหารกับพระพุทธรูปคราวเดียวกันก็หาจะเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธรูปก็มีรอยปั้นพอกแก้ไขหลายครั้ง สันนิษฐานว่าองค์เดิมเห็นจะพังเสียครั้งหนึ่ง องค์ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้สร้างขึ้นภายหลังสร้างวิหาร”
 

ศิลาจารึกลายดอกบัว เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม
รูปแบบของลายมีลักษณะคลี่คลายมาจากศิลปะอินเดีย
 
วิหารหรือมณฑปที่ประดิษฐานพระอัจนะ ก่อด้วยอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกฐาน ๔ ชั้น ฐานชั้นล่างกว้าง ๔๘ เมตร ผนังวิหารสูงประมาณ ๓๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วงว่า วิหารหรือมณฑปพระอัจนะ “มีหลังคาเป็นรูปชามคว่ำ” ผนังของอาคารมีความหนามาก ริมผนังประตูเข้าวิหารด้านซ้ายมือมีช่องอุโมงค์ลึกเข้าไประหว่างผนัง มีคำชาวบ้านเล่าลือกันมาแต่โบราณว่า อุโมงค์ดังกล่าวมีทางเดินลึกลงไปใต้ดินและไปโผล่ขึ้นที่เมืองศรีสัชนาลัย  ช่องอุโมงค์ระหว่างผนังวิหารเป็นช่องไปทะลุที่ด้านหลังของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พระอัจนะ) ผนังด้านข้างของอุโมงค์มีภาพเขียนสีด้วยสีแดง ดำ เหลืองและสีขาว  แต่ภาพจิตรกรรมดังกล่าวอยู่ในสภาพชำรุดลบเลือนไปตามกาลเวลา ที่เพดานอุโมงค์กรุด้วยแผ่นหินชนวนจำหลักลายและภาพเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนา มีจารึกอักษรไทยบอกชื่อเรื่องราวของชาดกประมาณ ๘๘ แผ่น บางแผ่นจำหลักชาดกเพียงเรื่องเดียว บางแผ่นจำหลักถึง ๔-๕ เรื่อง นอกจากภาพหินชนวนจำหลักเรื่องชาดกแล้วภายในอุโมงค์ดังกล่าวยังพบศิลาจารึกขนาดใหญ่ทำด้วยหินชนวนมีคำจารึกทั้ง ๒ ด้านด้านหน้ามี ๑๐๘ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๙๕ บรรทัด ศิลาจารึกดังกล่าวเรียกกันว่า “ศิลาจารึกหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุม” 


เสริววานิชชาดก รูปทรงศิราภรณ์ประดับศีรษะ
มีลักษณะเหมือนเครื่องทรงกษัตริย์ในศิลปะลังกา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเพิ่มเติมพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ไว้ในภาคท้ายของตอนที่ ๙ ว่า 
 
“อนึ่ง ราชบัณฑิตยสภาได้ให้ขุดขนกากอิฐปูนที่พังออกจากช่อง ในผนังเดี๋ยวนี้เดินได้แต่ข้างล่าง มิต้องคลานดังแต่ก่อน ได้ตรวจดูด้วยแสงไฟฟ้าเห็นผนังที่ในช่องนั้นมีรอยเขียน ลวดลายประสานสีเป็นพระพุทธรูปเรียงเป็นแถวแต่ลบเลือนเสียมากแล้ว ศิลาจำหลักภาพที่ทับข้างบนเป็นเพดานนั้น เป็นภาพพระโพธิสัตว์ปางต่างๆ ในเรื่องนิบาตชาดก มีตัวหนังสือไทยบอกเรื่องด้วยทุกแผ่น (ได้เอาลงมาไว้หอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแผ่น ๑) เรื่องตำนานของศิลาชาดกเหล่านี้ ได้ความในจารึกซึ่งพบซ่อนอยู่ในซอกผนังนี้ (เดี๋ยวนี้อยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ว่าเดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วยกันกับศิลาจารึกนั้น เป็นเค้าเงื่อนให้สันนิษฐานว่า ศิลาชาดกแต่เดิมเห็นจะสร้างเป็นเครื่องประดับพระเจดีย์ในวัดมหาธาตุหรือประดับพระเจดีย์ที่เมืองอื่น ได้มาโดยพระเดชานุภาพ ให้จารึกอักษรไทยแถลงเรื่องลงไว้ทุกแผ่น แล้วรักษาไว้ที่วัดมหาธาตุ ครั้นนานมา ศิลาชาดกนั้นตากแดดกรำฝนชำรุดปรักหักพังไป กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงองค์ใดองค์หนึ่งจะทรงสร้างวิหารวัดศรีชุม จึงให้ทำฝาผนังวิหารเป็นช่องและเอาศิลาชาดกกับศิลาจารึกเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยไปไว้ในนั้น เพื่อรักษามิให้เป็นอันตราย ว่ามานี้ตามความสันนิษฐาน”
 
สมมุติฐานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าจารึกวัดศรีชุมทั้งจารึกเรื่องชาดกและศิลาจารึกหลักที่ ๒ เคยอยู่ที่วัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัยมาก่อน เพราะความในจารึกหลักที่ ๒ ระบุถึงการปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุอย่างละเอียดและบอกชัดเจนว่า “พระเจดีย์สูงใหญ่ รอบนั้นฉลักหินห้าร้อยชาติ ติรเทศ งานพิจิตรหนักหนาแก่กม ตรุกมล้างเอาทองตรธาน” (นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ศิลาจารึกเรื่องชาดกวัดศรีชุม น่าจะอยู่ที่วัดศรีชุมมาแต่เดิม มิได้ย้ายมาจากวัดมหาธาตุ) ภาพลายเส้นจำหลักบนแผ่นหินเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่างๆ ที่ประดับไว้ในเจดีย์ “...ฉลักหินห้าร้อยชาติ ตินเทศ งามพิจิตรหนักหนา...” นั้นควรจะตั้งอยู่ในที่อันคนทั่วไปจะได้ชมความ “งามพิจิตรหนักหนา” แต่เพดานอุโมงค์วิหารวัดศรีชุมนั้นเป็นที่มืด อับทึบ ไม่สามารถมองเห็นความงดงามของภาพจารึกดังกล่าวได้แม้ในเวลากลางวัน ประกอบกับศิลาจารึกหลักส่วนใหญ่ที่เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๒ นั้น เป็นสิ่งที่ผู้สร้างจารึกต้องการประกาศแก่สาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์ไม่เหตุผลอันใดที่ผู้สร้างจารึกเรื่องชาดก และพงศาวดารกรุงสุโขทัยจะนำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุมซึ่งเป็นที่ลี้ลับไม่สามารถมองเห็นหรืออ่านได้ จารึกดังกล่าวจึงน่าจะอยู่ที่วัดมหาธาตุมาก่อนตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐาน
 

วาตมิคชาดก พระโพธิสัตว์เป็นพระยาพาราณสี
โปรดสังเกตรูปทรงของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย
 
จารึกเรื่องชาดกวัดศรีชุม เป็นจารึกเรื่องราวจากนิบาตชาดกของพระพุทธศาสนา จารึกดังกล่าวนี้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๔ ลูเซียง ฟูเนอโร (Lucien Fournereau) สถาปนิกและนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปสำรวจทำแผนผังไว้และพิมพ์เผยแพร่ใน Le Siam Ancien ก่อนหน้านี้พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ได้เคยเข้าไปสำรวจแล้ว
 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นพระพุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาก พระสงฆ์ไทยและประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า ล้านนาและมอญ นิยมเดินทางไปศึกษาและแสวงบุญยังลังกาทวีปและนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์กลับมาเผยแผ่ในดินแดนของตน อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ประธานคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงอิทธิพลของศิลปะลังกาที่ปรากฏในจารึกเรื่องชาดกวัดศรีชุมไว้ในคำนำหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๕ ว่า
 

โคชานิยชาดก พระโพธิสัตว์เป็นม้าเทศนาธรรมแก่พระยาเจ็ดคน
ท่วงท่าของม้าเป็นลีลาของศิลปะไทย
 
“...วัดศรีชุมนั้นคงจะสร้างมานานแต่ครั้งชนชาวไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา และต้องมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับลังกาทวีปแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะถ้าสังเกตดูภาพจำหลักให้ดี จะเห็นว่าแต่ละภาพมีลีลาจิตศิลปแห่งลังกาทวีปแฝงอยู่ทุกภาพทุกแผ่น แม้รูปกษัตริย์ในชาดกที่ทรงมงกุฎศีโรเพฎ เมื่อเปรียบเทียบดูก็เหมือนการแต่งองค์ทรงเครื่องของกษัตริย์ลังกา โดยเฉพาะรูปสถาปัตยาคารในชาดกเรื่อง วาตมิคชาดก พิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่าไม่ใช่รูปทรงอาคารปราสาทราชวังสุโขทัยหากเป็นแบบอย่างที่คล้ายสถาปัตยกรรมของอินเดีย...ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีพระภิกษุไทยจากกรุงสุโขทัยไปลังกาทวีปและได้อุปสมบทในลัทธิลังกาวงศ์ ดังปรากฏอยู่ในประวัติพุทธศาสนาครั้งกรุงสุโขทัยก็มาก เฉพาะภาพที่เห็นเด่นชัดในจิตรศิลปทางลังกา และอินเดียใต้ผสมกัน ซึ่งจำหลักลงในศิลาแต่ละแผ่น ดังได้ถ่ายภาพมานี้ สันนิษฐานว่า อาจเป็นรูปลักษณะที่พระภิกษุชาวลังการ่างลงบนแผ่นหินแล้วให้ช่างไทยจำหลักไปตามลายเส้นที่เขียนนั้นและจากการร่วมมือของช่างไทยในการจำหลักภาพลงบนแผ่นหิน ช่างไทยก็คงจะเขียนภาพเป็นองค์ประกอบลงไว้ด้วย ภาพเหล่านั้นได้แก่ รูปสัตว์ รูปคน และรูปยักษ์ รูปลิง เป็นต้น มีลีลาเยื้องกรายเป็นท่าทีทำนองของไทยรวมอยู่ด้วย...”
 
ศิลาจารึกวัดศรีชุม
 
ศิลาจารึกหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุมพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ตรวจพบในอุโมงค์วัดศรีชุมเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ แล้วส่งเข้ามายังหอพระสมุดวิชรญาณ นับเป็นจารึกที่มีความสำคัญยิ่งที่ทำให้เราได้ทราบประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุโขทัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศิลาจารึกหลักที่ ๒ นี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะจารึกขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ศาสตราจารย์ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่าจารึกขึ้นประมาณพุทธศักราช ๑๘๔๔-๑๙๑๐ นับเป็นศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ สูง ๒๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๖๗ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร
 
เนื้อหาในจารึกวัดศรีชุม หรือศิลาจารึกหลักที่ ๒ เป็นการเล่าประวัติของพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนี เจ้านายพระองค์หนึ่งในราชวงศ์ศรีนาวนำถุม พระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีเป็นหลานปู่ของพระยาศรีนาวนำถม เป็นพระบิดาของพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ต่อมาพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ร่วมกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงไปจากกรุงสุโขทัยและอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกกับนางสุขรมหาเทวี ธิดากษัตริย์ขอมแห่งเมืองศรียโสธรปุระ ได้รับพระราชทานนามว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย พ่อขุนผาเมืองได้ยกพระนามดังกล่าวให้แก่พระขุนบางกลางหาว จากนั้นกล่าวถึงพระประวัติของพระมหาเถรศรีสรธาราจุฬามุนีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงสละทรัพย์ศฤงคารต่างๆ ออกผนวชเมื่อพระชนม์ได้ ๓๑ ปี ได้ทรงก่อพระศรีรัตนมหาธาตุ สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง ทรงบูรณะพระมหาธาตุหลวงซึ่งขอมเรียกพระธมอยู่ท่ามกลางนครพระกฤษณ์ (คือพระประธม หรือพระปฐมเจดีย์องค์เดิม) พระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีทรงเล่าถึงการเดินทางไปแสวงบุญยังชมพูทวีปและลังกาทวีป ทรงปฏิสังขรณ์พระทันตธาตุที่ลังกา ข้อความในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ นี้ ใช้ภาษางดงามนับเป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัยอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างความตอนที่พระมหาเถรศรีสรธายังอยู่ในวัยหนุ่มได้กระทำยุทธหัตถีกับขุนจัง ดังนี้
 
 
“เจ้าศรีสรธาราชจุฬามุนีนั้นเจ็บใจต่างพ่อตนหนักหนา เสมอดังเอค้อนตีหางนาคราชนั้น ช้างชื่อทวงท.ลชั้นขับแล่นด้วย..น แม่ช้างแลช้างสรายลงมันชำเชิง ท..นช้างสรายเอางวงมันคลำนำลางใน...อันย้อยถูกหัวเจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนีหันหน้าไม้ ปักปืนปากจอบยิงถูกรูน้ำมัน ช้างสรายนั้นเดินเจ็บหนักหนาคนหนดินก็ยังช่อยแทงช้างสราย มุดป่าพงหนี เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนี จึงขับแม่ช้างไล่ตามตี บ่หย่าค้านบ่ทานเมือ...”
 
ศิลาจารึกวัดศรีชุมทั้งจารึกเรื่องชาดกและพระประวัติพระมหาเถรศรีสรธาราชจุฬามุนีนับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นพัฒนาการทางศิลปะ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของชาติไทยทั้งที่เกี่ยวกับกรุงสุโขทัยและพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์ของชาติไทยทั้งที่เกี่ยวกับกรุงสุโขทัยและพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับลังกาทวีปอันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน.
 
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 47-51