รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3
(พ.ศ. 2367-2394)

 
 
ระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
 
เมื่อเสด็จพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ ยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังได้ัรับการสถาปนาพระอิสริยศัีกดิ์ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ทรงเป็นพระราชชนนี
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติราชการและหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณในตำแหน่งสำคัญ เช่น ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา เป็นต้น
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต ที่ประชุมเสนาบดีเห็นว่าทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาช้านานจึงพร้อมใจกันเชิญเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2367
 
การป้องกันพระราชอาณาจักร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การทำศึกสงครามกับพม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้สิ้นสุดลง แต่ยังมีศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพขึ้นไปในหัวเมืองในดินแดนสิบสองปันนาและความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีกับลาว เขมร และญวน เริ่มมีข้อขัดแย้งถึงขั้นต้องทำสงครามต่อกัน เช่น เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์เป็นกบฏเมื่อ พ.ศ. 2369 เกิดจลาจลในเมืองญวน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยขึ้นไปสู้รบเืมื่อ พ.ศ. 2376 และเขมรเป็นกบฏในปีเดียวกัน รวมทั้งได้ทรงปราบปรามหัวเมืองตะวันตก หัวเมืองปักษ์ใต้ให้อยู่เป็นปกติสุขด้วย
 
 
เมื่อการศึกสงครามเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองชายพระราชอาณาเขต คือเมืองจันทบุรี สร้างป้อมสำหรับหัวเมืองชายทะเล เช่น ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อกำปั่นเรือรบ กำปั่นลาดตระเวนรักษาพระนครและใช้ค้าขาย กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือพระที่ันั่งขึ้นไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านขึ้นเป็นเมืองขึ้นมหาดไทย และขึ้นกรมพระกลาโหมขึ้นหลายเมือง ทำให้บ้านเมืองขยายอาณาเขตกว้างขวางและเจริญรุ่งเรืองขึ้น
 
การทะนุบำรุงพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
การทะนุบำรุงพระศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่อย่างยิ่ง คือ การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบูรณะพระอารามขึ้นมากมายทั้งในพระนครและหัวเมือง กับทั้งยังทรงสนับสนุนให้พระบรมวงศานุวงศ์ฺ ข้าราชบริพาร คหบดี ช่วยกันสร้างวัดเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติศาสนกิจทั้งของพระสงฆ์และอาณาประชาราษฎร์
 
 
พระอารามในรัชกาลนี้ ล้วนตกแต่งด้วยฝีมือชางศิลป์ฝีมือประณีตที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ส่งเสริมฟื้นฟูขึ้นหลายสาขา ซึ่งมีทั้งงานช่างอย่างโบราณ และแบบที่ทรงพระราชดำริขึ้นใหม่่ คือ การนำศิลปะจีนผสมสานกับศิลปะไทย เพื่อความสวยงาม คงทนถาวร รวมทั้งเขียนภาพจิตรกรรมตกแต่งฝาผนัง และสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานประจำพระอารามไว้ทุกแห่ง
 
 
พระอารามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์ เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติ ทรงสร้างอุทิศพระราชทานพระชนก พระชนนีของพระราชมารดา ที่นนทบุรี
 
วัดจอมทอง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์เมื่อครั้ง
ยังดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอยกกำลังไปขัดตาทัพที่เมืองกาญจนบุรี 
และเสด็จฯกลับมาโดยสวัสดิภาพ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงพระราชทานนามว่า “วัดราชโอรสาราม”
 

วัดเทพธิดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทาน
เป็นพระเกียรติยศพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
 
 
วัดราชนัดดาราม ทรงสร้างพระราชทานเป็นพระเกียรติยศ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
เศรษฐกิจในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจการคลัง มาแต่ยังมิได้เสด็จทรงครองสิริราชสมบัติ ได้เคยทรงกำกับราชการ กรมพระคลังมหาสมบัติและกรมท่าในสมัยรัชกาลที่ 2 ทั้งได้ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายยังเมืองจีนจนทรงได้รับพระนามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเรียกยกย่องว่า เจ้าสัว
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขวิธีการเก็บภาษีนายอากรรับประมูลไปจัดเก็บภาษีส่งแก่ราชการ ทำให้รายได้แผ่นดินสูงขึ้นมาก
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระราชทรัพย์ไว้ใช้ในราชการแผ่นดินเมื่อจำเป็น เรียกกันว่า “เงินถุงแดง”
  
พระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสแสดงความที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองไว้ว่า
 
...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2394 พระชนมพรรษา 64 พรรษา
 
จากหนังสือเหนือเกล้าชาวไทย