พระเกียรติยศ

  • Print
นับเนื่องเข้าสู่ปีที่ ๖๓ แล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปรียบเสมือนดั่งพ่อผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกายเพื่อที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอันยั่งยืน ทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยมิได้ทรงละทิ้งเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่มีอยู่คู่แผ่นดินไทยด้วยน้ำพระทัยที่พร่างพรมไปทั่วทุกหลังคาเรือน และพระปรีชาสามารถซึ่งเป็นที่ประจักษ์ตลอดระยะเวลาแห่งการปกครองแผ่นดินโดยธรรมเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้ทรงเป็นเพียงที่เคารพรักและเทิดทูนไว้เหนือเกล้าของปวงชนชาวไทยผู้เป็นพสกนิกรภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์เท่านั้น หากแต่ในสายตาของชาวต่างชาติ พระองค์ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทรงได้รับการยอมรับไปทั่วโลกด้วยเช่นกันนอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงได้รับการประกาศสดุดีพระเกียรติคุณอีกมากมาย ดังประมวลคำประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ ดังนี้
 
ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปเยือนที่แห่งใดในโลกนี้ จึงทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นสมพระเกียรติโดยมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็ จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย จำนวนถึง ๒๗ ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศทั้งหลาย รวมถึงได้ทรงนำความปรารถนาดีของชาวไทยไปมอบให้แก่ประชาชนในประเทศต่างๆ เหล่านั้นด้วย เป็นที่แน่นอนว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มิได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวเท่านั้นที่ทำให้ทั่วโลกต่างยกย่องพระองค์หากแต่พระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านต่างๆ ที่สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทยก็ขจรขจายไปทั่วมุมโลกด้วย
 

จึงไม่มีข้อกังขาใด หากสายตาอันเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากชาวต่างชาติจะนำมาสู่การถวายรางวัลและเกียรติยศต่างๆ มากมายกว่าร้อยรางวัล อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอธัยาศัยในการแสวงหาความรู้ของพระองค์ ที่สำคัญอาทิ 
 
พ.ศ.๒๕๑๙ ประธานรัฐสภายุโรปและสมาชิกร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรัฐสภายุโรป” 
 
พ.ศ. ๒๕๒๙ ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสันติของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลสันติภาพ” 
 
พ.ศ. ๒๕๓๐ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้พัฒนา” 
 

พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม“ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน”
 
พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะกรรมการสมาคมนิเวศวิทยาเชิงเคมีสากล (International Society of Chemical Ecology) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ“ และหัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลกทูลเกล้าฯถวาย “รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด” สดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ
 
พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นดีซีพี (UNDCP) แห่งสหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด“ 
 
พ.ศ. ๒๕๓๙ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯถวาย “เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร”
 

พ.ศ. ๒๕๔๙ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย     และทรงพระวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อยังประโยชน์และความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศมาโดยตลอด
 
นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าวไว้ว่า “หากการพัฒนาคน หมายถึงการให้ความสำคัญประชาชนเป็นลำดับแรก ไม่มีสิ่งอื่นใดแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคนภายใต้แนวทางการพัฒนาคนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกายทรงงาน โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของพระองค์ทำให้นานาประเทศตื่นตัวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเดินสายกลาง รางวัลความสำเร็จสูงสุดครั้งนี้เป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ” 
 

ล่าสุด พ.ศ. ๒๕๕๑ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล WIPO Global Leaders Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องด้วยงานทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมและพัฒนาประเทศรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเป็นที่ ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อีกทั้งยังทรงเป็นผู้นำประเทศพระองค์แรกที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้ นอกจากนี้ จากการหารือกันของส
หพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (International Federal Inventor Association : IFIA) ซึ่งมีสมาชิก ๘๔ ประเทศทั่วโลกยังมิได้มีมติให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทรงได้รับการจดสิทธิบัตรกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นวันนักประดิษฐ์โลกด้วย
 
ไม่ใช่เพียงแค่นั้นเพราะหากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล และประกาศนียบัตรต่างๆ แด่พระองค์มากมาย ได้แก่ IFIA ประเทศฮังการีทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัล IFIA Cup ๒๐๐๗ สำหรับผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนา เหรียญ Genius Prize สำหรับผลงานทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง และสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (korea Invention Promotion Association : KIPA) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Special Prize พร้อมประกาศนียบัตร ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกีรยติของนักประดิฐ์ในระดับโลก
 

ถึงแม้ว่ารางวัลเกียรติยศต่างๆ เหล่านี้จะมิใช่เป้าหมายสำคัญในการตรากตรำทรงงานอย่างหนักของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประกาศเกีรยติคุณจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทรงได้รับมาตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์จะเทียบมิได้กับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนคนไทย แต่ก็มิอาจมีใครปฏิเสธได้ว่าพระองค์ทรงเป็นองค์พระประมุขที่นำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้โลกหันมามองประเทศไทยในแง่มุมใหม่ที่มีเสน่ห์แลความงดงามล้ำค่าตามแบบฉบับของตนเองมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งบนแผ่นที่ของภูมิภาคเอเ ชียตะวันออกเฉียงใต้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทยและในโลกปัจจุบันประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจำนวน ๒๕ ประเทศ จากทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศทั่วโลก ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลไทยมาร่วมเป็นเกียรติในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ นอกจากจะนับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆมากที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่านานาประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่ชื่นชมในพระบารมีอันแผ่ไพศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและไม่ใช่เพียงแต่บุคคลระดับประมุขของประเทศต่างๆ เท่านั้น จากบทความและข่าวต่างประเทศจำนวนมากมายที่ปรากฏสู่สาธารณชนก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า มิได้มีแต่ราษฎรของพระองค์เท่านั้นที่ประจักษ์แจ้งในน้ำพระทัยอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว