เทศกาลตรุษจีนและชาวจีนในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

“...รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไรเจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกินกับข้าวไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเข้าบ้าง...”
 
เป็นคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสภาพของสังคมในสมัยนั้น ว่าการค้าขายแทบทั้งหมดอยู่ในมือของชาวจีนเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลอันเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีน ร้านค้าของชาวจีนทั้งหมดจะหยุดดำเนินกิจการ เป็นเหตุให้เกิดความลำบากโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน
 

บรรยากาศร้านขายข้าวต้มของชาวจีนในสยาม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕
 
ในอดีตชาวจีนอพยพหนีความลำบากยากแค้นในประเทศจีน ซึ่งมีทั้งภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งซ้ำเติมด้วยภัยสงคราม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนโดยเฉพาะผู้ที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ยิ่งลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ   หัวหน้าครอบครัวหรือคนหนุ่มที่ยังมีกำลังวังชาจำเป็นจะต้องละทิ้งครอบครัวและแผ่นดินเกิด เดินทางไปแสวงโชคตามดินแดนต่างๆ ที่สงบสุขและอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัว ดินแดนแห่งหนึ่งที่ชาวจีนนิยมเข้ามาแสวงโชคก็คือสยาม ชาวจีนเดินทางมายังสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา บางคนเดินทางไปมาเพื่อนำสินค้าจากเมืองจีนมาขาย และบรรทุกสินค้าไทยกลับไปขายเมืองจีน อีกส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาคือ ส่วนใหญ่ เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในสยามอย่างถาวร ชาวจีนเหล่านี้เมื่อแรกเดินทางเข้ามาจะประกอบอาชีพโดยไม่เลือกงานหนักเบา สะอาดสกปรก อาชีพที่คนจีนซึ่งเดินทางเข้ามาในไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมทำกันเมื่อแรกมาถึงก็คือ เป็นกุลีขนสินค้าที่ท่าเรือลากรถรับจ้างจนเรียกกันติดปากว่า เจ๊ลากรถ แม้กระทั่งการตั้งบริษัทขนอุจจาระไปทิ้ง ชื่อบริษัทออนแหวง ก็มีชาวจีนเป็นคนงานขนอุจจาระ อุปนิสัยสำคัญของคนจีนที่ทำให้คนจีนเจริญรุ่งเรืองในทุกอาชีพ คือ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน ทำให้คนจีนพบโอกาสการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ดีกว่าถนัดกว่า และทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองกว่า
 
โดยเฉพาะอาชีพค้าขาย ซึ่งคนจีนมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือ ความอดทนมุ่งมั่นเฉพาะงานที่ทำ ใครจะด่าว่าอย่างไร จะทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่โต้ตอบ ทำหูทวนลม ขอให้ได้เงินเท่านั้นเป็นพอ ไม่เหมือนแม่ค้าคนไทยที่ปากร้าย ไม่อดทน หากไม่พอใจก็จะโต้ตอบกลับ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่พอใจที่ซื้อของของคนจีนมากกว่า คุณสมบัติอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ค่อนข้างขอดของคนไทย แต่เป็นคุณสมบัติที่ทำให้คนจีนร่ำรวยอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ความมัธยัสถ์ มีเรื่องเล่าซึ่งไม่แน่ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการเล่าเปรียบเปรยเหน็บแนม ที่ว่าเวลาคนจีนกินข้าวต้มจะมีกรวดแช่ในน้ำซีอิ๊ว ใช้ดูดให้ได้รสเค็มๆ แทนกับข้าว หรือเรื่องที่แขวนปลาทูเค็มไว้ดูส่วนข้าวต้มกินกับเกลือ เล่ากันขำๆ ว่าหากเด็กคนใดมองปลาเค็มนาน ผู้ใหญ่จะดุว่า อย่ามองนานเดี๋ยวจะจืด
 

ชาวจีนกับอาชีพลากรถรับจ้างในสยาม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๗
 
มิไยใครจะเปรียบเปรยเย้ยหยันคนจีนที่เข้ามาหากินในแผ่นดินไทยก็จะไม่ให้ความสนใจ คงตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินโดยเฉพาะการค้าขาย เริ่มต้นจากหาบเร่ขายอาหารที่ตนมีฝีมือไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เกี๊ยว เย็นตาโฟ กระเพาะปลา ตือฮวน จุ๊ยก้วย และอื่นๆ อีกมาก เล่ากันว่า หาบเร่ที่ขายก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เย็นตาโฟ ของคนจีนนั้น หนักมากเหมือนหาบเอาร้านขายก๋วยเตี๋ยวทั้งร้านมาเสนอขายถึงบ้าน เพราะมีเครื่องประกอบเครื่องปรุงทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสรรพพร้อมมูล แถมด้วยรสอร่อยจนแทบทุกบ้านเรือนที่ก๋วยเตี๋ยวหาบไปถึงนั้นล้วนเป็นเจ้าประจำที่ต้องนั่งรอเวลาหาบก๋วยเตี๋ยวจะมาขาย และมิใช่เพียงก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น หาบบะหมี่ เกี๊ยว ตือฮวน เต้าหู้ทอด เครื่องในต้ม ต่างก็ทยอยกันเข้ามาให้เลือกกินทั้งวันไม่ได้ขาด
 
เหล่าคนจีนหาบเร่นี้จะดำเนินกิจการหาบเร่อยู่ไม่นาน ก็สามารถที่จะรวบรวมทุนตั้งร้านขายสินค้าของตนเป็นหลักแหล่งถาวร เลิกการหาบเร่ถึงเวลาที่ลูกค้าคนไทยจะต้องเดินทางออกไปเสาะแสวงหาของกินที่ตนติดใจถึงขั้นเรียกว่าไกลแค่ไหนก็ต้องดั้นด้นไป แหล่งที่ชาวจีนตั้งร้านอาหารอร่อยเป็นการถาวรส่วนใหญ่จะอยู่แถวย่านเยาวราช ซึ่งครอบคลุมไปถึงจักรวรรดิ ราชวงศ์ เจริญกรุง ซึ่งมีทั้งร้านเล็ก ร้านที่ขยายใหญ่เป็นภัตตาคาร ขายอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน ย่านเยาวราชจะสว่างไสวคึกคัก โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเวลานั้นในสังคมชนชั้นสูงเมื่อสิ้นสุดงานราตรีสโมสรซึ่งมีอยู่เป็นประจำ หรือเมื่อโรงหนัง โรงละครเลิก หนุ่มสาวที่ดำเนินชีวิตทันสมัยก็จะพากันขับรถมาเยาวราชเพื่อรับประทานอาหารรอบดึกก่อนที่จะหลับไปนอน รถเก๋งจะจอดเรียงกันเป็นแถวอยู่ริมถนน ร้านอาหารอร่อยตั้งอยู่เรียงรายกันมีทั้งโจ๊กร้อนๆ บะหมี่เกี๊ยว หูฉลาม หอยทอด มีการบริการอาหารส่งมาให้รับประทานในรถสำหรับผู้ที่ยังขัดเขินกับการไปเสวยหรือรับประทานอาหารตามร้าน
 
นอกจากอาหารสำเร็จรูปที่เกือบทั้งหมดอยู่ในมือของคนจีนแล้ว ยังจำพวกอาหารสดที่ขึ้นชื่อว่าสดจริง และมีคุณภาพดีนั้นจะต้องหาซื้อกันที่เยาวราชตลาดเก่า ซึ่งมีทั้งปลาสด ปูสด เนื้อสด หมูสด ไก่สด แม้กระทั่งผักสด และยังมีอาหารที่เป็นผลิตผลของคนจีน ไม่ว่าจะเป็นหมูหย็อง หมูแผ่น กุนเชียง เป็ดย่าง เต้าหู้นานาชนิด มีขายที่นี่โดยชาวจีนทั้งสิ้น ในส่วนอาหารที่ส่งมาจากเมืองจีน มีทั้งผลไม้สด ผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง เต้าหู้ยี้ หนำเลี้ยบ เต้าเจี้ยว จะบรรจุใส่ไหมาจากเมืองจีน สินค้าเหล่านี้ลงที่ท่าเรืออยู่ไม่ไกลจากเยาวราชนัก ทุกสิ่งที่กล่าวนี้มีขายอยู่ในตลาดคนจีนที่นี่ ไม่ว่าจะที่ตลาดตรอก เจ้าสัวเนียม (เล่งบ๊วยเอี๊ยะ) ตลาดเก่า (เล่าตั๊กลัก) ตลาดใหม่กรมภู (ชิงตั๊กลัก) และตลาดน้อย (ตั๊กลักเกี๊ยะ)
 

คนจีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย ประกอบอาชีพอย่างอดทนมุ่งมั่น นี้เป็นรูปบางส่วน
เช่น หาบเร่ขายของต่างๆ  กุลีขนสินค้า ที่ปรากฏในรูปยาซิกาแร็ตชุดอาชีพต่างๆ ในเมืองไทย
พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ (ภาพจาก "สิงพิมพ์สยาม" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์,๒๕๔๒) 
 
กล่าวได้ว่า คนจีนได้กุมอำนาจการขายทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่อุปนิสัยของคนไทยไม่ชอบการค้าขาย เพราะไม่มีน้ำอดน้ำทนกับงานที่หนักและการเอาใจลูกค้า คนไทยนิยมการเป็นเสมียนหรือรับราชการมากกว่า หรือหากประกอบอาชีพอื่นก็มักเป็นอาชีพอิสระไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ใด เช่น การทำนา การทำสวน เพราะมีที่เป็นของตนเอง จึงสามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก และมีความเป็นอยู่อย่างอิสระสบายๆ เพราะมีลักษณะภูมิประเทศภูมิอากาศช่วยเสียเป็นส่วนใหญ่ การหารายได้จากผลิตผลก็เป็นไปอย่างง่ายๆ เช่น มีคนมาเก็บมารับผลิตผลจากสวนไปขาย หรือหากเก็บผลิตผลเองก็จะนำใส่กระจาดไปขายวันละเล็กละน้อยพอให้กินอยู่อย่างสบายๆ การค้าขายของคนไทยจึงมิได้มีอิทธิพลต่อลูกค้าและสังคมส่วนใหญ่เท่าใดนัก
 
ในขณะที่ชาวจีนยังคงหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยไม่ขาดสาย โดยได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักฐานในไทยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มชนที่ร่ำรวย มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่หวั่นวิตกของผู้บริหารประเทศเรื่อยมา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงแสดงถึงความรู้สึกหวาดระแวงว่าอิทธิพลของคนจีนจะเข้าครอบงำเศรษฐกิจของไทย ดังเช่นชนชาติยิวที่เข้าครอบงำเศรษฐกิจของชาวตะวันตก เพราะทรงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของอำนาจการปกครอง ซึ่งแต่เดิมอำนาจอยู่ที่กำลังพลในกองทัพ แต่ในยุคที่ทรงกำลังเผชิญอยู่นั้น รูปแบบของอำนาจกำลังเปลี่ยนไปสู่กำลังทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็มิได้อยู่ในมือของคนไทย ประการสำคัญอำนาจนี้อยู่ในมือของชาวจีนกว่า ๙๐% เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย อิทธิพลทางเศรษฐกิจของคนจีนก็ยิ่งแผ่กว้างขวางและลงรากหยั่งลึกมั่นคง
 
รัฐบาลในสมัยนั้นต่างตระหนักถึงอันตรายด้านนี้ของชาวจีน โดยเฉพาะรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีนโยบายสร้างชาติด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชาตินิยมจึงพยายามปลุกเร้าให้คนไทยเกิดความตื่นตัวภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย เป็นคนไทย ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย จึงต้องรักษาความเป็นชาติไว้สำหรับคนไทยและเห็นว่าเศรษฐกิจอันเป็นหัวใจของการพัฒนาชาตินั้นส่วนใหญ่อยู่ในมือคนจีน จึงพยายามที่จะดึงเศรษฐกิจจากมือชาวจีนให้มาอยู่ในมือคนไทยบ้าง โดยให้คำขวัญว่า “ไทยทำไทยขาย ไทยใช้ไทยกิน” หรือการที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยกินและขายก๋วยเตี๋ยว ด้วยเหตุผลที่ว่า “...ถ้าทุกซอกทุกมุมพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยว จะทำให้เป็นอาหารของชาติที่ขอแบ่งมาจากพี่น้องชาวจีน ทำให้เรามีงานหากินเพิ่มขึ้น ชาวไร่ขายพืช ชาวประมงหาอาหารจากทะเล ก็จะมีงานทำมากขึ้น วิธีขายก๋วยเตี๋ยวให้เป็นกอบเป็นกำ เป็นล่ำเป็นสันทั่วไป...”
 
แต่ความพยายามในการดึงบทบาททางด้านการค้าขายจากคนจีนมาสู่มือคนไทยนั้น น่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเมื่อมีเทศกาลสำคัญของชาวจีนครั้งใด คนไทยจะเดือดร้อน เพราะไม่อาจหาซื้ออาหารทั้งของสดและอาหารสำเร็จรูปได้ เพราะทั้งร้านค้าทั้งหาบเร่หยุดกิจการหมด อันเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ จอมพล ป.พิบูลสงครามที่ว่า
 
“...รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไร เจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกินกับข้าวก็ไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเขาบ้าง...”
 
ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ หน้า ๓๔-๓๘