บันทึก “Road to the Conclave” พระคาร์ดินัลไปเลือกตั้ง

 
บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
บันทึก “Road to the Conclave”
 
 (อังคาร 5 เมษายน 2005)
เช้าตรู่วันอังคารที่ 5 เมษายน 2005 เวลา 00.15 น. ผมมีโอกาสติดตามพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ไปกรุงโรม ด้วยเที่ยวบิน TG 940 เที่ยวบินนี้ไม่ได้บินตรงไปโรม แต่ไปมิลาน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องต่อเครื่องบิน AZ 1027 เพื่อไปโรม บนเที่ยวบิน TG 940 พระคุณเจ้าได้พบกับคุณพิชัย รัตตกุล และคุณพิจิตร รัตตกุล พร้อมทั้งครอบครัว ซึ่งเดินทางไปมิลาน พระคุณเจ้าจำทุกคนได้ดี เพราะเคยพบกันมาแล้ว 2-3 ครั้ง และครอบครัวของคุณพิชัย และคุณพิจิตร อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ก็จำพระคุณเจ้าได้ดีเช่นกัน เข้ามาไหว้ทักทายและคุยกันอย่างคนคุ้นเคย ผมยังนึกเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ นอกจากนี้ พระคุณเจ้ายังใช้โอกาสบนเครื่องบิน พูดคุยกับนักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียนที่อยู่ใกล้ๆ อย่างเป็นกันเอง ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถฝึกฝนภาษาอิตาเลียนค่อยๆ ฟื้นความรู้ทางภาษาได้อีกด้วย และผมก็พบว่า พระคุณเจ้ายังใช้ภาษาอิตาเลียนได้อย่างดี ที่ว่าดีก็เพราะว่า สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และเรียกเสียงฮาได้อีกด้วย ผมฟังแล้วก็คิดว่าต้องไปปรับปรุงภาษาอิตาเลียนของเราอีกเยอะ
 
ที่มิลาน ในขณะที่กำลังรอเครื่อง AZ 1027 การรอครั้งนี้มีเวลารอประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง พระคุณเจ้าก็ได้พบกับพระสังฆราช Isaac Mar Cleemis และพระสังฆราชอีกองค์หนึ่ง แต่ผมไม่ได้ถามชื่อไว้ อยู่ๆ ไปถามชื่อท่านก็เกรงใจ ทั้งสององค์เป็นพระสังฆราชจารีตนักบุญโทมัส ที่ Kerala ประเทศอินเดีย กำลังรอเครื่องจะไปโรม เพื่อพิธีปลงพระศพของพระสันตะปาปาเช่นเดียวกัน จารีตของนักบุญโทมัสนี้มีลักษณะคล้ายๆ ไปทางพระศาสนจักรตะวันออก เช่น ทาง Syria และ Antioch ผมถามพระคุณเจ้า Isaac ว่าต่างกันอย่างไร ท่านก็ตอบว่า ลำดับของมิสซาก็ไม่เหมือนกัน มีลำดับเฉพาะของจารีต บทอ่านวันอาทิตย์ก็มีบทมากกว่า และมิสซาก็มีเวลา อ้อ! ใช้เวลามากกว่า คือนานกว่านั่นแหละ การแต่งกายของพระคุณเจ้าทั้งสองมีเอกลักษณ์มาก ไปที่ไหนใครๆ ก็ต้องมอง แต่งตัวคล้ายๆ กัน เสื้อหล่อสีเหลืองส้ม มีหมวกแบบพวก Patriarch กางเขนใหญ่ๆ แขวนคอ และยังไว้หนวดและเคราอีกด้วย ไม่รู้ว่าบังคับหรือเปล่า แต่ต่อมาเห็นพระสงฆ์ของนิกายจารีตนี้ เขาก็มีหนวดเคราทุกคนเลย ที่จริง เราทั้งสี่คนก็เคยเรียนที่โรมกันทั้งนั้น แต่เวลาคุยกัน ใช้ภาษาอังกฤษ คงจะถนัดกว่า เข้าใจกันง่ายกว่านั่นเอง เมื่อจะอำลากัน ก็ทราบว่าพักที่เดียวกันที่โรม ก็เลยบอกว่า อย่างนั้นอีกไม่นานพบกันที่โรม
 
เที่ยวบินจากมิลานมาโรมราบรื่นดีมาก แต่พระคุณเจ้าเป็นห่วงเรื่องกระเป๋าเดินทาง เพราะ Check Through จากกรุงเทพฯมาโรมเลย ไม่แน่ใจว่าจะถึงหรือไม่ เพราะว่าถ้าไม่ถึงต้องยุ่งแน่ๆ เครื่องใช้ เสื้อผ้า ที่ต้องใช้ในพิธีอยู่ในนั้นหมดเลย ที่สุด กระเป๋าเดินทางก็ออกมาครบทุกใบ แต่ในสภาพที่สะบักสะบอมมากเลย กระเป๋าของพระคุณเจ้าเก่ามาก แต่พระคุณเจ้าก็ว่าของท่านแข็งแรงดี ปรากฏว่า ที่เปิด-ปิดกระเป๋าเสียหาย ส่วนของผม ด้ามที่ใช้ลากกระเป๋าหักไม่มีเหลือเลย แต่กระเป๋ามาครบก็ดีมากแล้ว การมาครั้งนี้ไม่ได้บอกพวกคุณพ่อที่กำลังเรียนที่โรม พวกเราก็เลยใช้บริการ Taxi พอเราบอก Taxi ว่าจะไปที่ Via della Traspontina คนขับรถก็บอกทันทีเลยว่าเข้าไม่ได้ เพราะมีฝูงชนเข้าแถวยาวมากเพื่อไปคำนับพระศพของพระสันตะปาปา และเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดถนนบริเวณนั้นทั้งหมด แต่สามารถเข้าไปจอดใกล้ๆ ที่สุดเท่าที่ถนนจะอำนวย จากนั้น เราก็ต้องเดินไป โอ้โฮ! ได้ยินแล้วใจหายเลย เพราะกระเป๋าเรามีหลายใบ เรามีแค่สองคน กระเป๋าก็เสียหาย ถนนของโรมก็เดินไม่ง่าย เพราะไม่เรียบเหมือนบ้านเรา เป็นถนนแบบโรมัน คือเอาหินก้อนมาเรียง และทำให้เรียบที่สุด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรได้ เราไม่มีทางเลือก สิ่งที่ทำให้อึดอัดหน่อยก็คือ ตั้งแต่ขึ้นรถ Taxi คนขับไม่เปิด Meter เรื่องอย่างนี้ผมเจอมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ ผมบอกพระคุณเจ้าว่า คราวนี้ต้องถูก Taxi คนนี้เรียกแพงกว่าปกติที่เรียกเกินอยู่แล้ว ดีนะที่เราพูดภาษาไทยกัน คนขับเลยฟังไม่รู้เรื่อง ปกติใช้ Taxi จากสนามบินมาที่วาติกันก็จะประมาณ 35-40 ยูโร แล้วเรื่องก็เป็นจริง Taxi พาเรามาจอดห่างจากที่พักเราประมาณ 100 เมตร อาจจะกว่าๆ เล็กน้อย ที่สุด เราจ่ายไป 65 ยูโร ตกเป็นเงินไทยประมาณ 3 พันกว่าบาท ใช้เวลาจากสนามบินประมาณ 30 นาทีเท่านั้น นึกอยู่แล้ว โอกาสอย่างนี้ Taxi อิตาเลียนไม่เลี้ยงเราแน่ เพราะผู้คนหลั่งไหลมามากมาย เรียกว่า มืดฟ้ามัวดินก็ว่าได้ ลงจากรถ Taxi สิ่งที่เราไม่เคยเห็นเลยก็คือ ฝูงชนที่มาจากทั่วทุกทิศทุกทาง ล้อมรอบพวกเราไปหมด ทุกคนมุ่งหน้าเข้าแถวตรงไปยังมหาวิหารนักบุญเปโตร ตอนนี้คิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้ ต้องคิดถึงกระเป๋าก่อน พระคุณเจ้าเห็นแล้วว่าผมคนเดียวไม่มีทาง พระคุณเจ้าก็เข้ามาช่วย ผมบอกว่า งั้นพระคุณเจ้าถือกล้วยไม้และกระเป๋าถือ ส่วนผม มีกระเป๋าสะพายข้างซ้าย 1 กระเป๋า ข้างขวาอีก 1 กระเป๋า มือซ้ายลาก 1 กระเป๋าใหญ่ และมือขวาลากอีก 1 กระเป๋าใหญ่ เพราะถือว่าหนุ่มกว่า แข็งแรงกว่า ก็อย่างที่บอก ถนนแบบนี้ลากกระเป๋ายากมาก อีกทั้งกระเป๋าของผม ด้ามที่ใช้ลากก็หักหมด ในที่สุด ก็ต้องใช้ระบบยกเอา ค่อยๆ เดินฝ่าฝูงชน แทรกฝูงชน เบียดกันเข้าไป พักบ้าง เดินบ้าง พระคุณเจ้าก็เป็นห่วงผมตลอดเวลา หันมาดู มาถาม และบอกให้หยุดพักบ้าง ระหว่างทางเสมอ จนกระทั่งมาถึงเกาะกลางถนน พระคุณเจ้าก็ยังถาม ในขณะที่ถามนั้นก็เลยไม่ได้ระวัง ทำให้ล้มลงไปบนถนน โชคดีนะครับที่ตอนนั้นมีคนนั่งพักอยู่ที่ขอบถนนด้านล่าง พระคุณเจ้าก็เลยล้มลงไปเหมือนกับล้มลงบนฟูกอย่างนั้น โอ้โฮ! เล่นเอาผมใจคอไม่ดีเลย ถามว่า พระคุณเจ้าเป็นยังไงบ้าง พระคุณเจ้าก็ตอบว่าไม่เป็นไร! เนี่ยแหละ! ทำให้ผมเห็นว่า พระคุณเจ้าเป็นห่วงคนอื่นมากจนบางทีไม่ได้ห่วงตัวเองเลย อย่างนี้น่าเป็น Pope มั๊ยล่ะ? นี่ถ้าพระคุณเจ้ารู้ว่าผมเขียนอย่างนี้ มีหวังเล่นงานผมอานแน่ๆ แต่ก็ผ่านไปด้วยดี อุณหภูมิตอนนั้นที่โรม 12°C ค่อนข้างหนาว แต่ไม่รู้ทำไม เหงื่อท่วมตัวผมไปหมด
 
ที่พักของเรา ชื่อว่า Domus Romana Sacerdotalis เป็นภาษาลาติน แปลว่า บ้านโรมันของบรรดาพระสงฆ์ ฟังคำแปลของผมก็ออกจะแปลกๆ นะครับ ผมใช้ตำราแปลตรงตัวเลย ประดิษฐ์ศัพท์เพราะๆ ไม่เป็น ตอนที่ติดต่อมา คุณพ่ออธิการที่นั่นเขาก็บอกว่า ห้องสำหรับพระคาร์ดินัลนั้นไม่มีปัญหา มีให้แน่นอน แต่ห้องสำหรับเลขาฯพระคาร์ดินัลนี่สิมีปัญหา แถมยังบ่นอีกนิดหน่อยด้วยนะว่า เลขาฯนี่ทำให้เรื่องซับซ้อนขึ้นอีก เรียกง่ายๆ ว่าลำบากใจ ที่จริง คุณพ่ออธิการคนนี้ก็รู้จักผมดี ตอนโทรศัพท์มาก็เรียกชื่อผมได้เลย ผมก็บอกว่าช่วยหน่อยเถอะ ในที่สุด ท่านก็ยอมเจียดมาให้ 1 ห้อง โชคดีจริงๆ ที่โรมตอนนี้หาที่พักยากมากๆ ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า เงินทำไม่ได้ทุกอย่าง ตอนนี้มีเงินก็ไม่ใช่จะหาห้องพักที่โรมได้ เรื่องที่น่าแปลกก็คือ ห้องพระคุณเจ้าอยู่ชั้นที่ 1 (ถ้าเมืองไทยจะเรียกว่าชั้น 2) เป็นห้องเล็กๆ กะทัดรัด ซึ่งปกติพระคุณเจ้าจะได้ห้องใหญ่ คือ มีห้องนอน 1 ห้อง และห้องทำงานอีก 1 ห้อง ส่วนห้องผมอยู่ชั้น 5 กลับเป็นห้องใหญ่ ผมก็เลยคิดว่า สงสัยเกิดเข้าใจผิดหรือเปล่า คิดว่าผมเป็นพระคาร์ดินัลหรือเปล่าเนี่ย ผมรีบไปหาพระคุณเจ้า บอกว่าแลกห้องกันเถอะ พระคุณเจ้ากลับบอกว่าอยู่ชั้นนี้ดีแล้ว ขึ้น-ลงสะดวก เลยให้ผมนอนห้องใหญ่ ขึ้น-ลงใช้ลิฟท์ ดูสิครับ จะเรียกว่าบุญหรือบาปดีล่ะ!
 
ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร เวลานี้ต้องบอกว่า ถ้าใครไม่มาเห็นด้วยตาตนเอง หรือไม่ได้ดูถ่ายทอดทางทีวี จะไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากเขานำพระศพของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ไว้ด้านหน้าที่ตั้งพระศพของนักบุญเปโตรภายในมหาวิหาร แล้วให้ประชาชนเข้าแถวมาคำนับพระศพ โดยใช้ไม้ขวางวางเป็นแนว ทำเหมือนถนนให้คนเดินตามทางที่กำหนดไว้ ถนนนี้ยาวออกมาจากมหาวิหาร และแยกออกไปตามซอกซอยต่างๆ ทุกคนที่จะเข้ามหาวิหาร ต้องเข้ามาที่ช่องทางที่กำหนดไว้เท่านั้น ด้วยความตื่นตะลึงในภาพที่เห็น ผมก็ลงมือถ่ายรูปเท่าที่จะทำได้ และก็สอบถามข้อมูลจากผู้คนที่นั่น และฟังจากการบรรยายข่าวทางโทรทัศน์ ซึ่งถ่ายทอดสดตลอดเวลา พร้อมทั้งมีมอนิเตอร์ขนาดยักษ์อยู่ทั่วไปตลอดถนนอันแสนยาวนี้ วาติกันเปิดให้ผู้คนเข้าคำนับพระศพตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 เมษายน เขาประมาณกันว่า มีทั้งหมด 4 แสนคน แต่บางแห่งก็บอกว่า 8 แสนคน โดยให้เข้าคำนับพระศพได้ตั้งแต่เวลาตีห้าจนถึงเวลาตีสามของวันต่อไป วันอังคารที่ 5 เมษายน มีผู้คนเข้าคำนับพระศพแล้วประมาณ 1 ล้านคน เขาเฉลี่ยว่าชั่วโมงละ 2 หมื่นคนได้คำนับพระศพ และคำนับได้ตั้งแต่เวลาตีห้าจนถึงตีสามเช่นเดียวกัน   2 ชั่วโมงที่เหลือนั้นเอาไว้ทำความสะอาดบริเวณ เหลือเชื่อจริงๆ ถนนทุกถนนมีผู้คนเต็มไปหมด มาจากทั่วทุกทิศทุกทางของประเทศอิตาลี รวมทั้งชาวต่างชาติต่างๆ อีกมากมาย ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง กว่าจะเข้าไปถึงมหาวิหาร เบียดเสียดกัน ร้องเพลงบ้าง สวดบ้าง ถึงบ่าย ถือผ้าที่เขียนข้อความต่างๆ ป้ายก็จะบอกว่าเป็นกลุ่มคริสตชนที่มาจากวัดใด ที่น่าสังเกตก็คือ มีเยาวชนที่มาครั้งนี้มากมายมหาศาล ทางผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ให้ข้อสังเกตว่า การรอครั้งนี้น่าทึ่งมากที่ไม่มีใครบ่น ไม่มีการผลักกันหรืออารมณ์เสีย แต่กลับสดชื่นและสนุกที่จะรอด้วย ผมได้ยินเด็กวัยรุ่นผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนตลอดเวลาเลยว่า หัวเราะหน่อย หัวเราะ ยิ้มหน่อย ผู้คนที่เดินไปมา หรือในกลุ่มชนที่กำลังรอ จะพูดให้ได้ยินเสมอว่า ไม่น่าเชื่อเลย เหลือเชื่อจริงๆ นี่เป็นเหตุการณ์ที่พิเศษที่สุดจริงๆ ไม่เคยพบเห็นมาก่อน บางคนบอกว่า เวลานี้ Pope John Paul II รู้แล้วว่าผู้คนรักพระองค์มากเพียงใด ผมชอบแผ่นผ้าที่เขียนในขบวนของประชาชนอยู่ 2-3 ป้าย เขียนว่า Il Grande Giovanni Paolo II หมายความว่า ยอห์น ปอล ที่ 2 มหาราช อีกแผ่นหนึ่งเขียนว่า Grazie Il Santo Padre แปลว่า ขอบคุณมาก บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ สังเกตได้ว่ามีคริสตชนหลายคนทีเดียวร้องไห้ แม้อยู่ในขบวนแถว ยิ่งเข้าไปถึงพระศพแล้ว ก็จะเห็นผู้คนร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งและขอบพระคุณต่อพระสันตะปาปาพระองค์นี้ กลุ่มเยาวชนที่โรมจัดพิมพ์แผ่นพับเกี่ยวกับคำภาวนาของพระสันตะปาปา และเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันสวดภาวนา จำนวน 1 ล้านฉบับ และมีอาสาสมัครมาแจก ผมเห็นผู้คนไม่ปฏิเสธแผ่นพับเหล่านี้เลย เยาวชนก็ขยันแจกจริงๆ เจอผม 10 กว่าครั้ง ก็จะให้ผมทุกครั้ง เพราะเขาใช้หน้าบ้านพักผมนี่แหละเป็นจุดที่แจก ผมต้องบอกว่า ผมรับมาแล้วทุกที ทางการของโรมก็จัดน้ำขวดมาแจกให้ทุกคนฟรี ผมก็ยังอุตส่าห์เข้าไปรับมา 1 ขวด กลัวเสียเปรียบ เหตุการณ์อย่างนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ ครับ ผมเห็นผู้สื่อข่าวต่างๆ จากทั่วโลกอยู่ทุกแห่ง กระจัดกระจายไปสัมภาษณ์ผู้คน ประชาชนถือกล้องและโทรศัพท์มือถือกันเต็มไปหมด ทหาร-ตำรวจเข้าจัดระเบียบมากมายจริง ๆ ผมจึงบอกว่า ผมช่างมีบุญจริงๆ ที่ได้มาเห็นภาพอย่างนี้ด้วยตาตนเอง
 
ในที่สุด พระสังฆราชอินเดีย 2 องค์ที่เราพบที่มิลานก็มาถึงบ้านพัก เราก็ทักทายกันเล็กน้อย ที่นี่เองผมถึงเจอกับบรรดาพระสงฆ์ของเขาที่เรียนที่โรม ทุกคนมีหนวดเคราอย่างที่บอก จากนั้นอีกประมาณ 20 นาที ผมก็มานั่งดูทีวีที่ห้องทีวีของบ้าน ปรากฏว่าพระสังฆราช 2 องค์นี้ และพระสงฆ์ของท่าน กำลังสวดภาวนาข้างๆ พระศพพระสันตะปาปาแล้ว  ความคิดแรกที่เกิดขึ้นก็คือ เขาทำได้อย่างไร เข้าไปถึงพระศพภายใน 20 นาที แสดงว่าต้องมีทางพิเศษที่จะเข้าไปได้สำหรับพระสังฆราช ผมก็เริ่มสอบถามทางนั้นไว้เลย ตั้งใจว่าหากพระคุณเจ้าจะเข้าไปที่มหาวิหารเมื่อไร ก็สามารถจะนำไปได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าแถวรอ
 
(พุธ 6 เมษายน 2005)
ที่โรมตอนนี้ สื่อมวลชนก็กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ หรือที่เรียกว่า Conclave กันมาก คำว่า Conclave แปลตามรากศัพท์ภาษาลาติน ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ก็แปลว่า การประชุมด้วยกุญแจ หรือพร้อมกับกุญแจ หมายความว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะอยู่ภายในประตูที่ถูกล็อคกุญแจไว้เพื่อมิให้ติดต่อกับใครเลย ต้องมีสมาธิในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่เท่านั้น ที่จริง แม้ภายในนั้น บรรดาพระคาร์ดินัลก็ไม่สามารถพูดคุยกันหรือติดต่อกันด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การประชุม Conclave นี้ เป็นชื่อเรียกเฉพาะสำหรับการประชุมเลือกพระสันตะปาปาเท่านั้น อย่าเอาไปใช้เพื่อเรียกการประชุมที่คล้ายๆ กัน คนที่นำไปใช้อาจจะถูกถือว่า “ไม่ฉลาด” สื่อมวลชนที่นี่ให้ความสนใจเรื่องนี้กันมาก พยายามสัมภาษณ์บรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลายที่พบเห็น พระคุณเจ้าของเราก็ถูกถามหลายครั้ง และพระคุณเจ้าก็จะตอบเสมอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของพระจิตเจ้าที่จะเป็นผู้ทำงาน ที่โรม เขามีศัพท์เฉพาะเรื่องนี้ Papabile ก็คือ แปลว่า ผู้ที่จะเป็นพระสันตะปาปาได้ หมายถึง พระคาร์ดินัลที่อยู่ในเกณฑ์ คือ อายุไม่เกิน 80 ปี แต่ละวัน หนังสือพิมพ์ก็เสนอชื่อพระคาร์ดินัลองค์นั้นองค์นี้ บางฉบับก็ 4 องค์ บางฉบับก็ 6 องค์ แล้วแต่ใครจะนั่งเทียนเขียนได้นานกว่ากัน บางฉบับก็เสนอองค์ที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียน สงสัยนักข่าวไม่ชอบสปาเก็ตตี้ บางฉบับก็เสนอเฉพาะชาวอิตาเลียน บางฉบับเจาะจงลงไปเลยว่าเป็นชาวอเมริกัน หรือไม่ก็อเมริกาใต้ แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครเสนอชัดๆ องค์ที่เป็นชาวเอเชีย จะมีก็เฉพาะแค่พระคาร์ดินัลชาวอินเดียองค์หนึ่งที่พูดถึงอยู่บ้างเท่านั้น เรื่องนี้ก็พูดกันไป และที่แน่ๆ ก็คือ ไม่มีใครรู้ได้เลยจนกว่าจะประชุม Conclave เสร็จสิ้น ระยะเวลาของการประชุม Conclave นี้ก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า ได้คะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุมแล้วหรือยัง ที่ผ่านมา 6 องค์หลังสุด ประชุมนานที่สุดก็แค่ 4 วันเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 3 วัน หวังว่าครั้งนี้คงไม่นานเกินไป ผมก็อยากกลับบ้านเร็วๆ เหมือนกัน
 
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา บรรดาพระคาร์ดินัลก็มีประชุมกันเวลา 10.00 น. เช้าทุกวันจนกว่าจะถึงวันประชุม Conclave เป็นห้องประชุมใหญ่ที่อยู่ภายใน Sala Paolo VIเพราะฉะนั้น พระคุณเจ้าก็ต้องเข้าร่วมประชุมในวันนี้ด้วย ก็เหตุด้วยกลัวฝูงชน ไม่ใช่กลัวแบบน่ากลัว แต่กลัวว่าผู้คนมากมายขนาดนี้จะเดินทางไปได้อย่างไร ยังไงก็ต้องไป ผลปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเมื่อเห็นพระคาร์ดินัล ก็จะอำนวยความสะดวกให้ โดยการเปิดช่องทางทุกทางเท่าที่เป็นไปได้ ทำให้สามารถไปถึงที่ประชุมได้ภายใน 10 นาทีเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่เตรียมตัวที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง นึกถึงตัวเองว่าทำเป็นกระต่ายตื่นตูมไปเองแท้ ๆ เรามาถึงที่ประชุมก่อนเวลามาก อีกทั้งที่ประชุมอยู่ใกล้ๆ กับทางเข้ามหาวิหารด้านหลัง เราก็เลยเข้าไปในมหาวิหารเพื่อคำนับพระศพของพระสันตะปาปา พระคุณเจ้าได้เข้าไปถึงข้างๆ พระศพเลย ส่วนผมอยู่ด้านหลัง แต่ก็ใกล้ใช้ได้ ได้เห็นบรรยากาศ เห็นการจัดการ ภายในมหาวิหารจะมีการขับร้องและสวดตลอดเวลา ทุกคนจะร่วมสวดภาวนาในขณะที่กำลังเดินเข้ามาคำนับพระศพ ต้องยอมรับว่า ที่นี่เขาร้องเพลงได้ไพเราะมากๆ กลมกลืน การสวดภาวนาก็เป็นไปด้วยความศรัทธา จนกระทั่งผู้ที่เข้ามาหลายคน อดที่จะซาบซึ้งจนน้ำตาไหลไม่ได้ บรรดาพระสังฆราช พระคาร์ดินัล มีที่เฉพาะที่จะสวดภาวนา พระสันตะปาปาได้รับการแต่งองค์ด้วยกาซูลาสีแดง ทรงสวม Pallium และถือไม้เท้าด้านซ้าย แต่งเต็มยศของพระสันตะปาปา สวยงามและสง่างามมาก จัดตั้งไว้ในที่เด่นสง่าสมพระเกียรติ ทุกคนที่เข้ามาก็ให้เกียรติและให้ความเคารพอย่างมาก แม้ว่าจะมีเวลาให้แต่ละคนเพียงไม่กี่วินาที หลังจากที่ต้องเข้าแถวรอนานถึง 10-12 ชั่วโมงก็ตาม ตอนต้นผมคิดว่ารอในแถวก็คงประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่ฟังจากข่าวทีวี ปรากฏว่า ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่า เขารอทั้งหมด 12 ชั่วโมง แต่ได้เข้าใกล้ชิดพระสันตะปาปาเพียง 12 วินาที เขาก็มีความสุขใจที่ได้มีโอกาสขอบคุณ Pope องค์นี้อย่างใกล้ชิด การเข้าคำนับพระศพของคนพวกนี้มีค่ามากกว่าของผมเยอะ เพราะผมเข้ามาใกล้ชิดกว่า ง่ายกว่า ง่ายจนกระทั่งวันนี้ผมเข้าออกที่ตรงนี้ถึง 3 ครั้ง แม้จะได้สวดใกล้ๆ แต่ผมก็คิดว่า เทียบกับเวลาของประชาชนเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ผมได้ ไม่อาจเปรียบกับสิ่งที่พวกเขาได้รับเลยแม้แต่น้อย พวกเขาได้เข้ามาถึงตรงนี้ด้วยความรัก ความอดทน และคำภาวนาอย่างแท้จริง อะไรที่ได้มาง่ายๆ ก็ไม่ค่อยจะมีค่าหรอกครับ เชื่อผมเถอะ
 
สวดภาวนาได้สักพักหนึ่ง เราก็เดินกลับไปที่ที่ห้องประชุมของพระคาร์ดินัล วันนี้ ผมพบกับพระคาร์ดินัลมากมายจริง ๆ จับมือกับองค์นี้องค์นั้น จนอดที่จะคิดไม่ได้ว่า ต้องมีสักองค์หนึ่งที่เราจับมือต้องเป็นโป๊ปองค์ใหม่ ก็เลยคุยให้เพื่อนฟังว่า ผมจับมือกับโป๊ปองค์ใหม่เรียบร้อยแล้ว ว่าไปนั่น คราวนี้จะปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปก็ไม่ดี ก็เลยหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูป เผื่อมีรูปโป๊ปองค์ใหม่ไว้ล่วงหน้า กดเอาๆ ตามใจชอบสักพักหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินเข้ามาหาผม บอกว่า ที่ตรงนี้เขาห้ามถ่ายรูป โดยเฉพาะรูปของบรรดาพระคาร์ดินัล ผมก็เชื่อฟังทันที เพราะถ่ายรูปไปมากจนพอใจแล้ว ได้พบกับพระคาร์ดินัลที่รู้จักกันแล้ว และท่านก็ยังจำผมได้ด้วย แต่บางองค์ทักแล้ว ท่านก็ไม่ได้ยิน ยื่นมือไปจับแล้วท่านไม่เห็นก็มีเหมือนกัน พระคุณเจ้าของเราก็ใจดีกับผมมากเลย บอกผมว่า ให้ลองขอเจ้าหน้าที่ดูว่าจะเข้าไปฟังและจดบันทึกการประชุมที่สำคัญๆ ได้หรือไม่ ผมก็ไปถาม อยากทราบคำตอบมั้ยครับ คำตอบก็คือ ...... (เชื่อว่าผู้อ่านคงรู้คำตอบอยู่แล้ว)  ผมต้องรออยู่ด้านนอกจนกว่าการประชุมเสร็จ ก็ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ผมจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในมหาวิหารอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสวด ทั้งเดิน ถ่ายรูป ดื่มด่ำกับบรรยากาศที่พบเห็นอีกครั้งหนึ่ง ต้องบอกว่า นี่เป็นบรรยากาศแบบที่จะหาที่ไหนเหมือนไม่ได้อีกแล้ว คำว่าประทับใจไม่เพียงพอ ประชาชนที่ถูกสัมภาษณ์หลายคนพูดว่า คำพูดไม่สามารถนำมาใช้อธิบายได้เลย ในมหาวิหารนี่เอง ผมได้รับโทรศัพท์เรื่องสำคัญมากจาก ฯพณฯ สมณทูต Salvatore Pennacchio แจ้งให้พระคาร์ดินัลทราบว่า ฯพณฯ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีไทย จะเป็นผู้แทนพระองค์และผู้แทนรัฐบาล จะนำพวงมาลาคำนับพระศพพระสันตะปาปา ซึ่งเรื่องนี้ พระคุณเจ้าเองทราบดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เมื่อทางรัฐบาลขอร้องมา ก็ขอให้ลองติดต่อขอดู ทูตไทยประจำสันตะสำนักคือ ฯพณฯ ประดาป พิชัยสงคราม ได้รับเบอร์โทรศัพท์ของผมจากพระสมณทูต ก็โทรมาติดต่อทันที ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกันดี เรื่องนี้ยังไงๆ ก็ต้องให้พระคาร์ดินัลช่วย พอตอนหลังจากประชุมพระคาร์ดินัลแล้ว พระคุณเจ้าทราบเรื่องแล้วก็บังเอิญ พระคาร์ดินัล Sepe เจ้าสมณกระทรวง Propaganda Fide เข้ามาคุยด้วยพอดี ท่านเพิ่งมาเยี่ยมประเทศไทย และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯด้วย ท่านได้แนะนำให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีการ การติดต่อเรื่องนี้ต้องผ่านเจ้าหน้าที่หลายคน จนผมขี้เกียจจะเล่า ในที่สุด ผมได้โทรศัพท์นัดหมายกับพระสังฆราช Boccardo ซึ่งจะเป็นคนสุดท้ายที่จะตัดสินใจ นัดหมายเวลา 18.00 น. แต่เนื่องจากท่านยุ่งมากเกี่ยวกับเรื่องที่ฝังพระศพพระสันตะปาปา (Sepoltura) กว่าจะมาพบเราได้ก็ตก 19.40 น. การรอท่านนานๆ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ท่านมาถึงก็ขอโทษขอโพย คุกเข่าต่อหน้าพระคาร์ดินัลเป็นการขอโทษ ทำให้การติดต่อเรื่องนี้ง่ายขึ้นมาก ท่านก็อนุญาตให้นำพวงมาลามาได้เวลา 20.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2005 ได้ความแล้ว ผมก็โทรศัพท์บอกกับท่านทูตประดาป ซึ่งข่าวนี้ทำให้ท่านดีใจมาก แม้ว่าจะยังไม่รู้รายละเอียดของพิธีการมากนักก็ตาม ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างไร พระคุณเจ้าก็ได้พยายามอย่างดีที่สุด เพื่อให้เรื่องนี้เป็นไปอย่างสมเกียรติ
 
มาคุยถึงเรื่องการประชุมของพระคาร์ดินัลกันบ้างดีกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญมาก และดักรอพระคาร์ดินัลองค์ไหนก็ได้ที่ผ่านมา จะเข้าไปสัมภาษณ์ทันที พระคาร์ดินัลองค์อื่นๆ หลายองค์มีรถยนต์ใช้กัน ก็เลยไม่ต้องเดินฝ่าฝูงชนแบบของเรา ที่จริงผมก็สอบถามเหมือนกันว่า หากเราจะใช้รถยนต์ต้องทำยังไง คำตอบง่ายๆ ก็คือ พระคาร์ดินัลมีสิทธิใช้รถของวาติกันแน่นอน แต่ต้องจ่ายตังเอง ตกเที่ยวละ 75 ยูโร ผมกับพระคุณเจ้าตกลงทันทีว่า เดินดีกว่ากันเยอะเลย ได้ออกกำลังด้วย ว่าไปนั่น พอเดินผ่านนักข่าว นักข่าวก็จะกรูกันเข้ามาสัมภาษณ์ อย่าลืมนะครับว่า เวลานี้ นักข่าวจากทั่วโลกอยู่ที่นี่ ไปที่ไหนก็มีแต่นักข่าวทั้งนั้น เรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งของการประชุมวันนี้ก็คือมีการเตือนพระคาร์ดินัลเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ว่าจะต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง Next Pope และเรื่อง Cardinal in pectore นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับวันเริ่มต้นประชุม Conclave ว่าเป็นวันใดกันแน่ ที่รู้มา บรรดาพระคาร์ดินัลตกลงกันแล้วว่า การประชุม Conclave เริ่มต้นวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2005 เรื่องอื่น ๆ ของการประชุม พวกเราไม่มีทางรู้ได้หรอกครับ เพราะเขาถือเป็นความลับ และบรรดาพระคาร์ดินัลทุกองค์ต้องทำการสาบานก่อนการประชุมทุกองค์ จะบอกได้ก็เฉพาะเรื่องบางเรื่อง เช่น พิธีศพจะจัดที่ไหน จัดอย่างไร อะไรทำนองนี้ นอกนั้น อย่าหวังเลยว่าจะหลุดออกจากปากของบรรดาพระคาร์ดินัล
 
ข่าวสำคัญวันนี้ก็คือ ประธานาธิบดี George W. Bush และภรรยา, Bush ผู้พ่อ และ Bill Clinton เดินทางมาถึงโรมแล้ว คืนนี้เดินทางมาถึงมหาวิหารก็คำนับพระศพเลย ใช้เวลาในการภาวนาประมาณ 5 นาที แต่ต้องทำให้โรม ซึ่งเป็นอัมพาตอยู่แล้ว ถึงกับเข้าขั้นโคม่าก็ว่าได้ ฝูงชนต่างหยุด ถนนหนทางถูกปิดหมด ไม่รู้ว่าประชาชนจะนึกด่าหรือนึกชมกันแน่ แต่ก็ต้องบอกว่า พระสันตะปาปาพระองค์นี้มีความสำคัญต่อโลกของเราอย่างยิ่ง และได้รับเกียรติอย่างที่ไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อนเลย
 
ขอพูดถึงการประชุม Conclave อีกหน่อย เพิ่งอ่านพบจากสถิติในหนังสือพิมพ์ เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ ก็เลยนำมาลงไว้ เพื่อว่า จะได้เป็นความรู้
 
- Conclave เพื่อเลือก Pope Pio X ในปี 1903 (1903-1914) ใช้เวลา 4 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope Benedict XV ในปี 1914 (1914-1922) ใช้เวลา 3 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope Pio XI ในปี 1922 (1922-1939) ใช้เวลา 4 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope Pio XII ในปี 1939 (1939-1958) ใช้เวลา 1 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope John XXIII ในปี 1958 (1958-1963) ใช้เวลา 3 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope Paul VI ในปี 1963 (1963-1978) ใช้เวลา 2 วัน
- Conclave เพื่อเลือก Pope John Paul I ในปี 1978 (1978-1978) ใช้เวลา 26 ชั่วโมงครึ่ง
- Conclave เพื่อเลือก Pope John Paul II ในปี 1978 (1978-2005) ใช้เวลา 3 วัน
 
(พฤหัสบดี 7 เมษายน 2005)
มาพูดถึงเรื่องการประชุม Conclave กันต่ออีกนิดหน่อย ต้องบอกว่า บรรดาพระคาร์ดินัลที่มีอายุไม่เกิน 80 ปี ที่เรียกกันว่า Electors นั้น ถ้าหากนับกันดีๆ จะเห็นว่าอาจมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยประชุมแบบนี้มาก่อน นอกนั้น มือใหม่ทั้งหมด เพราะว่า เกือบทั้งหมดได้รับการสถาปนาโดย Pope John Paul II แต่แม้ว่าจะมือใหม่ ก็สามารถดำเนินไปได้ เพราะถือตามคู่มือที่มีมานานและสืบทอดกันมาอย่างเป็นระบบ จำนวนพระคาร์ดินัลทั้งหมดนั้นมีประมาณ 170-180 องค์ แต่ผู้ที่สามารถเข้า Conclave ครั้งนี้ได้ มี 117 องค์ เวลานี้ พระคาร์ดินัล Sin แห่งฟิลิปปินส์มาไม่ได้เพราะป่วย และต้องพึ่งการรักษาทางการแพทย์ตลอดเวลา ก็จะเหลือ 116 องค์ แต่ถ้าหากพระคาร์ดินัล in pectore มีจริง จำนวนก็จะเป็น 117 องค์เหมือนเดิม อันที่จริง ก่อนที่ Pope จะสิ้นพระชนม์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่ตั้ง 30 กว่าองค์ เพื่อให้จำนวน Electors มีถึง 120 องค์ แต่ก็ไม่ทันได้แต่งตั้ง พระคาร์ดินัลองค์อื่น ๆ ที่อายุเกิน 80 ปีบริบูรณ์ สามารถเข้าร่วมประชุมปกติของบรรดาพระคาร์ดินัล เพียงแต่ไม่สามารถเข้า Conclave ได้เท่านั้น ถ้าหากเข้าได้ ก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน เพราะว่า ต้องเข้าไปอยู่ในตึก S. Martha โดยไม่สามารถติดต่อกับใครได้เลย จนกว่าจะได้โป๊ปองค์ใหม่ อายุก็มาก จะทำอะไรก็ไม่สะดวก เดินทางไปลงคะแนนแต่ละครั้งคงจะย่ำแย่พอสมควร เกิดเป็นอะไรขึ้นมาละก็จะลำบากมิใช่น้อย ได้ยินว่า สมัยก่อน เคยมีพระคาร์ดินัลเสียชีวิตในขณะที่อยู่ใน Conclave ด้วยซ้ำไป วันก่อน ขณะที่บรรดาเลขาฯพระคาร์ดินัลกำลังรอเจ้านายอยู่หน้าห้องประชุม ผมก็ได้รู้จักกับเลขาฯ ส่วนตัวของพระคาร์ดินัลแห่งฮอลแลนด์ ชื่อ Simonist แต่เลขาฯเป็นชาวอิตาเลียน พ่อองค์นี้บอกผมว่า ระหว่าง Conclave เลขาฯสามารถเข้าไปอยู่ในตึก S. Martha ได้ด้วย ผมเริ่มรู้สึกว่าได้ยังงั้นก็ดีสิ จะได้เข้าไปภายใน รู้ถึงบรรยากาศและอื่นๆ แต่ผมก็รู้สึกว่าคงจะไม่ใช่อย่างนั้นหรอก เพราะเท่าที่ทราบมา เลขาฯไม่เกี่ยวจริงๆ เราก็เลยตัดสินด้วยการเข้าไปถามผู้รู้ที่อยู่ด้านหน้าหอประชุมเช่นกัน คำตอบก็คือ Impossible ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าโล่งอก เพราะหากต้องเข้าไปอยู่ในนั้นโดยไม่สามารถจะพูดหรือติดต่อกับใคร ผมขออยู่ข้างนอกดีกว่า แต่ถ้าหากอยู่ข้างในและพูดได้ด้วย ก็น่าสน เรื่องนี้คงจบเพียงแค่นี้ดีกว่า
 
วันนี้ พระคาร์ดินัลก็มีการประชุมร่วมกันเหมือนเดิม พอเรามาถึงที่ประชุมก็มีพระคาร์ดินัลทะยอยมากันมากมาย ผมก็เริ่มถ่ายรูปอีกแล้ว และก็เหมือนเดิม ถ่ายจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยมาบอกให้หยุด ผมก็หยุดตามคำสั่ง ความรู้สึกวันนี้แตกต่างจากวันก่อน เพราะเวลาเห็นพระคาร์ดินัลก็เริ่มรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับเป็นภาพปกติ พระคาร์ดินัลบางองค์ก็ดี ไม่ถือตัว บางองค์ก็เฉยๆ พระคาร์ดินัลของเราค่อนข้างจะเป็นกันเองกับทุกๆ คน ระหว่างที่รอ เลขาฯ Simonist ก็พาผมเข้าไปในมหาวิหาร ลำพังผมคนเดียวเข้าไม่ได้หรอก แต่พ่อองค์นี้เขามีวิธีของเขา พาผมเข้าไปข้างในจนได้ ผมก็เลยเข้าไปสวด และก็เดินไปเดินมา ร่วมฟังมิสซาที่แท่นพระจิตเจ้าในมหาวิหาร วันนี้มีพระสงฆ์ร่วมถวายมิสซานี้ประมาณ 200 คน และพระสังฆราชประมาณ 20 กว่าองค์ได้ เสียดาย ไม่รู้จักประธานว่าเป็นใคร? มิสซานี้เขาขับ Requiem ฟังแล้วไพเราะมาก เพราะร้องแบบที่ต่างจากเมืองไทยร้อง พวกเราร้องกันโดยใช้เสียงดังเป็นหลัก เรียกง่ายๆ ว่าเปล่งเสียงให้ดังที่สุด แต่ที่นี่ทุกคนร้องให้เสียงออกมากลมกลืน คือ ต่างคนต่างค่อย ๆ ร้อง ไม่เปล่งเสียง ไม่ตะโกน ไม่แหกปาก แต่เขาบีบปากร้อง หรือห่อคอร้อง ทำให้เสียงที่ร้องมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ผมรักเพลง Gregorian ขึ้นอีกมาก พอถึงตอนเทศน์ ผมก็ฟังนิดหน่อย ฟังรู้เรื่องซะส่วนใหญ่ แต่ไม่มีใจศรัทธา ก็เลยออกมาดีกว่า หาหนังสือพิมพ์อ่านแล้วก็รอพระคุณเจ้า ระหว่างนั้นก็หาเพื่อนคุยไปเรื่อย ๆ พอประชุมเสร็จ เราก็กลับบ้านด้วยการเดินฝ่าฝูงชน และนักข่าว ที่มีทั้งมาสัมภาษณ์ ทั้งถ่ายรูป ไม่รู้ว่าติดรูปผมไปด้วยรึเปล่า เพราะผมก็พยายามเดินให้ใกล้พระคุณเจ้ามากที่สุด ก็น่าจะติดไปบ้างเหมือนกันแหละ
 
ตอนบ่ายมีโทรศัพท์มาหาผม โดยใช้เบอร์บ้านที่บ้านพัก บอกว่าโทรมาจากลอนดอน สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย จะขอสัมภาษณ์พระคุณเจ้าเกี่ยวกับพิธีปลงพระศพพระสันตะ ปาปาในวันพรุ่งนี้ ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ฟังภาษาไทย ก็เลยตกลงว่า บ่าย 4 โมงครึ่งให้โทรมาสัมภาษณ์ได้ ต้องขอชมเชยจริงๆ ว่า พวกนักข่าวนี่เก่งจริงๆ ไม่รู้ว่าไปได้เบอร์โทรศัพท์ที่บ้านที่เราพักที่โรมได้อย่างไร แถมรู้ชื่อผมซะด้วย ผมกับพระคุณเจ้าก็เลยเดากันว่า สงสัยสอบถามจากใครซักคนที่เมืองไทย ผมก็เลยชมไปว่า คนที่ให้ข่าวนี้ก็ดีหลาย ให้ละเอียดจริง ๆ ทั้งชื่อ ทั้งเบอร์โทรศัพท์ ผมลงไปบอกกับที่ Front บ้านพักว่า หากมีโทรศัพท์ถึงผมก็ขอให้โอนสายไปห้องพระคาร์ดินัลเลย แล้วผมก็เลยไปอยู่ในห้องพระคุณเจ้า คุยกันเรื่องนี้เรื่องนั้น รอเวลาโทรศัพท์ พระคุณเจ้าก็ให้ผมอ่านเอกสารหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ผมรู้แล้วก็ได้แต่รำพึงอยู่แต่ในใจ เพราะจะพูดอะไรให้ใครฟังไม่ได้ ที่ทำให้ผมทึ่งก็คือเขาแจกหนังสือพิธีปลงพระศพของพระสันตะปาปาแก่พระคาร์ดินัลทุกองค์ เป็นหนังสือที่มีระเบียบ ระบบและการจัดการขั้นตอนต่างๆ ละเอียดมาก จนบอกได้ว่าต้องชมพระศาสนจักรคาทอลิกที่วางบรรทัดฐานเรื่องต่างๆ ไว้อย่างดี จนกระทั่งว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปนานสักแค่ไหน ก็สามารถที่จะดำเนินรอยตามได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนทีเดียว ที่สุด โทรศัพท์ก็เข้ามาเวลา 17.00 น. พระคุณเจ้าได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และก็คงออกอากาศทั่วประเทศไทย แต่ก็เฉพาะผู้ที่ฟังบีบีซีเท่านั้น และผมก็ไม่รู้ด้วยว่าจะออกอากาศเวลาใด?
 
ผมกับพระคุณเจ้านัดกันว่า เวลา 19.00 น. จะไปที่มหาวิหาร เพื่อไปรอรับ ฯพณฯ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งจะเป็นผู้นำพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระเทพฯ และเจ้าฟ้าชาย เป็นการไว้อาลัยต่อโป๊ป พิธีการครั้งนี้ค่อนข้างจะสับสนและซับซ้อนพอสมควร เนื่องจาก เวลาที่กำหนดไว้ คือ 20.00 น. แต่ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีผู้บริหารประเทศออสเตรียมาคำนับพระศพ และที่สำคัญก็คือ กษัตริย์และราชินี Sofia ของ Spain ก็มาคำนับพระศพด้วย ทำให้มีพิธีการค่อนข้างมาก ฝ่ายเราก็มีการนำเอาพวงมาลามาก่อนเพื่อเตรียมตัว โดยมีเจ้าหน้าที่จาก Secretary of State มาประสานงาน รวมทั้งหัวหน้าองครักษ์ Swiss Guard มาช่วยอำนวยความสะดวก พิธีการมอบพวงมาลานี้ ทางวาติกันไม่เคยให้ใครทำได้มาก่อนเลย แต่เนื่องจากพระคาร์ดินัลได้ติดต่อโดยตรง และชี้แจงว่า นี่เป็นเกียรติสูงสุดที่พระเจ้าแผ่นดินของเราทรงมอบให้แด่องค์พระสันตะปาปา ทางวาติกันจึงอนุญาตและให้วางพวงมาลาได้ โดยมี ฯพณฯ สุรเกียรติ์ เป็นผู้วางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับพระคุณเจ้า ต่อหน้าพระศพของพระสันตะปาปา เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก ผู้มาร่วมพิธีนี้ก็มีทูตไทยประจำสันตะสำนัก ทูตไทยประจำอิตาลี และเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ถ่ายทอดออกอากาศทาง T.V. RAI ของอิตาลี ไม่แน่ใจว่า CNN ได้ถ่ายทอดหรือเปล่า เพราะต่อมา บรรดาพระสงฆ์บ้านที่ผมพักอยู่ ก็บอกผมว่าเห็นผมอยู่ในโทรทัศน์ด้วย ผมก็เลยบอกว่า ตอนนี้ผมเป็นพระเอกหนังอยู่ หลังจากพิธีแล้ว ท่านทูตไทยประจำประเทศอิตาลียังได้เชิญพระคาร์ดินัลและผมด้วยให้ไปเยี่ยมสถานทูตไทยและรับประทานอาหาร ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปได้วันใด พิธีวันนี้ก็ผ่านไปด้วยดี แถมขากลับบ้านเจ้าหน้าที่วาติกันยังจัดเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนำทางไปส่งบ้านเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
 
พรุ่งนี้ จะเป็นวันที่สับสนวุ่นวายที่สุดวันหนึ่งของโรมและวาติกัน โรมกำลังปวดหัวเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้นำประเทศต่าง ๆ และเกี่ยวกับการจราจร รวมทั้งบรรดาผู้แสวงบุญ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 4 ล้านคน ส่วนวาติกันก็กำลังปวดหัวเกี่ยวกับพิธีมิสซาปลงพระศพ การจัดสถานที่ และพิธีการต่างๆ ผมอยู่ที่นี่ก็มองเห็นว่า น่าปวดหัวจริงๆ ไม่โกหก แต่ก็บรรยายไม่ถูก หลังอาหารเย็น ทางวาติกันติดต่อมาเพื่อบอกพระคุณเจ้าว่า พรุ่งนี้จะส่งรถมารับพร้อมรถตำรวจนำหน้าไปที่วาติกัน เวลา 07.30 น. ทั้งๆ ที่มิสซาเวลา 10.00 น. นี่ขนาดบ้านเราอยู่ห่างวาติกันเพียง 10 นาทีเดินเท่านั้น ยังต้องทำกันขนาดนี้ เขาบอกว่า พรุ่งนี้กลัวว่าจะไม่สามารถเดินไปถึงที่ได้ คิดดูก็แล้วกัน
 
(ศุกร์ 8 เมษายน 2005)
พระคาร์ดินัลที่พักที่บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 7 องค์ ผมก็เพิ่งจะรู้ เพราะบางทีเราก็คิดว่าเขาเป็นพระสังฆราช คนที่อยู่ที่นี่มีกันหลายคน กว่าจะรู้ว่าใครเป็นใครก็ใช้เวลาเหมือนกัน มีพระสังฆราชที่นี่ 2 องค์ ที่คุยกับผมเหมือนกับว่าเป็นพระสงฆ์ แต่ที่ไหนได้ เป็นพระสังฆราชก็มี ทั้ง 7 องค์ได้รับการปฏิบัติอย่างดี วันนี้มีรถไปส่งที่วาติกัน ปกติ จากบ้านเราเดินไม่น่าเกิน 5 นาทีก็ถึงแล้ว แต่วันนี้เป็นวันไม่ปกติ ที่จริง จะมีรถตำรวจนำทางเข้าไปด้วย รอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นมา คุณพ่ออธิการที่นี่ก็เลยตัดสินใจขับรถเข้าไปเลย ผมยังนึกสงสัยว่า เวลาไปคงไม่มีปัญหา แต่เวลากลับนี่สิจะกลับได้ยังไง ตกลงพระคุณเจ้าก็ออกเดินทางไปวาติกัน ตั้งแต่เวลา 07.30 น. โดยไม่ได้ทานอาหารเช้าเลย และที่วาติกันก็ไม่มีอะไรให้ทานซะด้วย นี่ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเจอ ผู้น้อยนั้นจะทำอะไรก็ได้ แต่ผู้ใหญ่จะทำอะไรตามใจคงไม่ได้ พิธีปลงพระศพพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จะเริ่มเวลา 10.00 น. พอผมทานอาหารเช้าเสร็จก็รีบออกไปดูที่ถนนกลางที่เรียกว่า Conciliazione ปรากฏว่า ฝูงคนแน่นขนัด ธงประเทศต่างๆ ปลิวไสวท่ามกลางฝูงชน มากหน่อยก็คือธงของประเทศโปแลนด์ บรรยา กาศดีมาก ทุกคนดูสดชื่นและมุ่งมั่น ที่จริงผมก็ตั้งใจจะไปร่วมถวายมิสซาที่ลานมหาวิหารด้วย แต่เนื่องจากการเดินเรื่องขออนุญาตนั้นค่อนข้างซับซ้อน การเดินทางไปติดต่อก็ลำบาก ผมก็เลยตัดสินใจอยู่บ้านดูทางโทรทัศน์ดีกว่า เพราะรู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่า พิธีกำหนดจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้ารวมเวลาที่จะต้องรอ รวมทั้งเวลาขากลับ ก็ต้องมีไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ทำให้นึกถึงบรรดาพระคาร์ดินัล พระสังฆราช และพระสงฆ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้อาวุโส ที่อาจจะจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ เวลาขนาดนี้ไม่ง่ายนักหรอกครับที่จะทนเอาไว้ได้ ผมโชคดีที่อย่างน้อยแม้ไม่ได้เข้าร่วมถวายมิสซา แต่ผมก็มีคู่มือพิธีกรรมวันนี้ ซึ่งพระคุณเจ้าให้ผมไว้ดู รวมทั้งกำหนดการต่างๆ อย่างละเอียด ทำให้ผมรู้ตารางเวลาว่าจะทำอะไรกันบ้าง โดยใคร พิธีวันนี้เป็นพิธีที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมากๆ
 
การจัดพิธีทำได้อย่างสง่างาม ผู้เข้าร่วมพิธีก็เป็นบุคคลสำคัญของโลก ฝูงชนก็ร่วมมือในพิธีกรรมอย่างน่าชมเชย อากาศก็ดีมากๆ ทางสถานีโทรทัศน์เขาได้พยายามตัดต่อภาพไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงโรม และเมืองใหญ่ของประเทศอิตาลี ให้เห็นคนมากมายชุมนุมกันอยู่ ดูจอยักษ์ และร่วมสวดภาวนา เวลาที่โรมเขาตบมือ ตามเมืองต่างๆ ก็ตบมือตามไปด้วย คนถ่ายภาพก็พยายามตัดต่อภาพผู้คนที่กำลังร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งใจ สำหรับเรื่องพิธีปลงพระศพนี้ ผมคงไม่อธิบายมาก เพราะมีการถ่ายทอดสดไปยังเมืองไทยด้วย ได้ฟังจากพ่อวรยุทธว่ามีถ่ายทอดสดหลายช่องซะด้วย คริสตชนชาวไทยคงได้ติดตามเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว ส่วนที่นี่ ผมได้เห็นภาพจากสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงโรม ผมเห็นชาวโปแลนด์ที่ต้องพักตามสถานที่ต่างๆ โดยอาศัยถุงนอน-ผ้าห่มที่ได้เตรียมมา คนที่ไม่สามารถไปที่มหาวิหารได้ ก็ดูจอยักษ์ตามที่ต่างๆ ที่ผมสามารถเห็นอย่างหนึ่งก็คือ เวลารับศีล จะมีพระสงฆ์ออกมาแจกศีลตามที่ต่าง ๆ นั้นด้วย โดยเหมือนกับว่า โดยผ่านทางมิสซาไฮเทค (Hi-tech) ก็เป็นมิสซาเหมือนกัน บางแห่งไม่มีมิสซา ก็มีสุภาพสตรีผู้หนึ่งกำลังแจกศีล ไม่รู้เหมือนกันว่าที่นี่เขาตกลงกันอย่างไร หรือมีข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ ในระหว่างพิธี ผมก็เห็นพระคุณเจ้าในการถ่ายทอดสด 2-3 ครั้งด้วยกัน ทำให้เกิดความรู้สึกว่า แม้ว่าเราจะเป็นพระศาสนจักรเล็กๆ แต่ก็เข้ามามีส่วนในเรื่องระดับโลกได้เหมือนกัน ที่จริง บ้านที่พักเขาก็มีจอยักษ์อยู่ภายในบ้านให้ดูด้วย แต่มีคนดูอยู่หลายคน ผมก็เลยไปดูที่ห้องโทรทัศน์ธรรมดา ซึ่งไม่มีใครดูเลย ผมจึงได้อยู่คนเดียว ดูตามใจชอบ ไม่ใช่ดูเพียงช่องเดียว ทำให้เห็นบรรยากาศหลายๆ แห่งพร้อมๆ กัน พิธีมิสซาปลงพระศพนี้ ทางวาติกันให้เกียรติชาวโปแลนด์ค่อนข้างมาก เพราะให้มีผู้แทนชาวโปแลนด์เข้าร่วมพิธีได้ถึง 3 พันคน ป้ายที่พวกเขาแห่เข้ามาในพิธี เขียนไว้ว่า Santo Subito หมายถึง ให้ ยอห์น ปอล ที่ 2 เป็นนักบุญโดยทันที เพราะเชื่อเหลือเกินว่าพระองค์อยู่ในสวรรค์แล้ว ในบทเทศน์ของพระคาร์ดินัล Ratzinger เอง ก็พูดไว้เช่นเดียวกันว่า ยอห์น ปอล ที่ 2 เคยประทับที่หน้าต่างห้องทำงานและอวยพรเรา เวลานี้พระองค์ประทับที่หน้าต่างในบ้านบนสวรรค์ กำลังดูเรา อวยพรเราเช่นเดียวกัน ทำให้ผมเริ่มคิดว่า อีกไม่นาน พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จะได้รับการดำเนินเรื่องเป็นบุญราศีและนักบุญในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ต้องการอัศจรรย์เช่นเดียวกัน ในที่สุด พระคุณเจ้าของเราก็กลับมาถึงบ้านพักได้ ผมรออยู่หน้าบ้าน เห็นมีพ่อองค์หนึ่งนำทางมาด้วย พิธีปลงพระศพพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 จบสิ้นลงอย่างสง่างามที่สุด เท่าที่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติจะมีได้ เป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ที่น่าเคารพรักจากทุกมุมของโลกใบนี้ เรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งก็คือ บ่ายวันนี้ฝนตกลงมามากมาย จนกระทั่งอดคิดไม่ได้ว่า หากฝนตกมาในระหว่างพิธีจะทำกันอย่างไร และถ้าหากว่าพรุ่งนี้ฝนตกมาตอนเช้า ก็ต้องบอกว่าเป็นอัศจรรย์จริงๆ
 
เวลานั้น พระคุณเจ้านัดกับพระสงฆ์ของกรุงเทพฯที่กำลังเรียนอยู่ที่โรม ซึ่งมีทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน คือ :
 
1. คุณพ่อ อนุสรณ์ แก้วขจร ซึ่งเรียนพิธีกรรมปีสุดท้าย และกำลังจะจบแล้ว
2. คุณพ่อ เอกรัตน์ หอมประทุม เรียนวิชาคำสอน เพื่อจะได้ไปช่วยพ่อวีระต่อไป
3. คุณพ่อ ยอดชาย เล็กประเสริฐ เรียนวิชาสังคมศาสตร์ เพื่อจะได้ไปช่วยงานด้านสังคม
4. คุณพ่อ สมหมาย มธุรสสุวรรณ เรียนปรัชญา เพื่อจะได้ไปสอนบ้านเณรใหญ่
5. คุณพ่อ ทัศนุ หัตถการกุล เรียนวิชาพระคัมภีร์ เพื่อจะได้ไปสอนเช่นเดียวกัน
 
และก็ยังเชิญคุณพ่อจากสังฆมณฑลจันบุรีอีกองค์หนึ่งมาด้วย คือ คุณพ่อ ธรรมรัตน์ เรือนงาม ทั้งหมดนี้ก็ได้มาพบพระคุณเจ้า และได้คุยกันจนกระทั่งอาหารค่ำที่ภัตตาคารจีนเสร็จสิ้นลง และก็เพิ่งจะรู้ว่า คุณพ่อ เอกรัตน์ หอมประทุม และคุณพ่อ สมหมาย มธุรสสุวรรณ ได้ไปผจญภัยด้วยการต่อแถวเพื่อจะได้เข้าไปคำนับพระศพ รวมทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง ได้ยินแล้วก็นึกอดชม 2 คนนี้ไม่ได้ เพราะไม่ได้นอนเลย และก็มีเรื่องสนุกๆ หลายเรื่อง ซึ่งได้ยินว่าได้ส่งเรื่องนี้มาลงอุดมศานต์ไปเรียบร้อยแล้วด้วย อยากรู้ว่าสนุกยังไง ก็คงต้องไปหาอ่านเอาเองแล้วละครับ
 
(เสาร์ 9 เมษายน 2005)
ตื่นขึ้นมาก็พบว่ามีฝนตก และท้องฟ้าก็ดูเหมือนว่าจะมีฝนตกทั้งวัน เชื่อเหลือเกินว่า ใครๆ ก็คงต้องคิดว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาด เพราะหากว่าตกเมื่อวานนี้ มิสซาปลงพระศพของโป๊ปก็คงจะต้องมีความยุ่งยากอย่างมากทีเดียว อัศจรรย์หรือไม่อัศจรรย์ สำหรับผม นี่คืออัศจรรย์อย่างหนึ่งทีเดียว พ่ออนุสรณ์เล่าให้ฟังว่า มีเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ที่กรุงโรม ฝนจะตกหลังจากพิธีสำคัญๆ ผ่านพ้นไปแล้ว วันนี้ พระคุณเจ้าจะมีประชุมบรรดาพระคาร์ดินัลเวลา 10.00 น. ต้องนั่งรถแท็กซี่จากบ้านเพื่อไปที่ประชุม เพราะฝนตกมากเกินกว่าที่จะเดินไป ปกติ หากเดินไปก็ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีก็ถึงแล้ว นั่งแท็กซี่ไปก็จ่ายไปเพียง 7 ยูโร ประมาณ 3 ร้อยกว่าบาท ผมส่งพระคุณเจ้าแล้วก็ว่าง ก็เลยเดินดูศาสนภัณฑ์ และซื้อเสื้อกันหนาวและเสื้อ Clergy ให้พระคุณเจ้า ตามที่ท่านต้องการ จากนั้น ก็ไปรอรับพระคุณเจ้ากลับบ้าน คราวนี้ใช้เดินกลับ เพราะเห็นว่าฝนเริ่มบางมากแล้ว ส่วนตอนบ่ายก็ไม่มีอะไรพิเศษ อยู่บ้านก็น่าเบื่อ เลยออกไปดูของอีก คราวนี้ไปพบกางเขนอันหนึ่ง เป็น Crystal ดูสวยมากทีเดียว แต่พอถามราคาแล้ว เขาบอกว่าราคา 205 ยูโร นั่นก็คือหมื่นบาทเศษ ๆ เลยตัดสินใจไม่เอาดีกว่า ร้านนี้แพงเกินไป (Ancora) จึงเดินดูไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าไปดูตามร้านที่เขียนว่า Ricordi di Roma ซึ่งก็มีอยู่หลาย ๆ ร้านในบริเวณนั้น ก็ไปพบกางเขนนี่อีก เหมือนกันทุกอย่าง แต่ที่นี่ติดราคา 184 ยูโร ถูกขึ้นมาอีก ผมก็ยังไม่ซื้อ เดินมาถึงร้าน Commandini ก็เจอเหมือนกัน ครั้งนี้ราคา 120 ยูโร ผู้อ่านก็คิดดูเอาเองก็แล้วกัน แต่ผมก็ยังไม่ซื้อนะ บ่ายนี้ดูอย่างเดียวก่อน ร้านค้าต่างๆ ที่เคยไปซื้อของก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงก็คือ ร้าน Soprani ร้านที่สองที่เคยมี เวลานี้ไม่เห็นมีแล้ว
 
เดินจนเมื่อย ก็ยังมีเวลาอีกเยอะ ผมก็เลยเดินเข้าไปที่ขายรูปของ Osservatore Romano ไปดูรูปงานศพโป๊ปเมื่อวาน ซึ่งมีมากมายให้เราเลือกที่จะสั่ง ที่นี่สั่งแล้วจ่ายเงินเลย มีรูปที่เกี่ยวข้อง แม้บางทีไม่ได้ถ่ายทอดโทรทัศน์ ก็มีรูปด้วย เช่น รูปที่กำลังบรรจุพระศพลงในโลงศพ และรูปที่เกี่ยวกับการปลงพระศพ เอาพระศพฝังในดินข้างล่าง (Grotta) รูปเหล่านี้เราไม่ได้เห็นในโทรทัศน์ ผมได้เห็นรูปของ ฯพณฯ สุรเกียรติ ผู้แทนจากประเทศไทยด้วย ผมพยายามหารูปพระคุณเจ้าก็ยังไม่เห็น ผมก็มองๆ เอาไว้ก่อน ตั้งใจว่าจะมาสั่งวันจันทร์ แล้วผมก็เดินไปที่ CTV เพื่อจะขอซื้อ Beta สำหรับสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย แต่ Office ก็ปิด ต้องรอวันจันทร์จึงจะไปซื้อใหม่ วันนี้ พ่อยอดชายได้จัดการส่งรูปถ่ายที่อยู่ในกล้องของผมไปให้สื่อมวลชนรอบหนึ่งแล้ว เป็นรูปที่พยายามถ่ายมา โดยเฉพาะรูปถ่ายบรรดาพระคาร์ดินัลที่ผมเล่าให้ฟัง ไม่แน่นะครับ หนึ่งในนั้นอาจเป็นโป๊ป ซึ่งผมได้จับมือมาแล้วก็ได้ เรื่องเล่าวันนี้ก็ไม่มีอะไรมากนัก ที่โรมก็ยังมีนักท่องเที่ยวชาวโปแลนด์อยู่มาก วันนี้ได้พบซิสเตอร์กลุ่มหนึ่งพาเด็กๆ ชาวโปแลนด์มาด้วย เดินร้องเพลงตามถนน เดินไปไหนก็ร้องเพลง ทำให้ทุกคนดูสดชื่นขึ้นพอสมควร วันนี้ 17.00 น. ใน Basilica มีมิสซาสำหรับโป๊ปด้วย พระคาร์ดินัลที่เป็นประธานถวายมิสซาที่แท่นกลาง ซึ่งเป็นแท่นที่เฉพาะโป๊ปเท่านั้น คือแท่นเหนือพระศพของนักบุญเปโตรนั่นแหละครับ เดี๋ยวต้องถามผู้รู้ซะหน่อยว่านี่เป็นเรื่องปกติหรือพิเศษกันแน่ ซึ่งนับจากเมื่อวาน จะต้องมีมิสซาอุทิศให้โป๊ป 9 วัน
 
เกี่ยวกับเรื่องประชุมของพระคาร์ดินัลวันนี้ พระคุณเจ้าก็เล่าให้ฟังเท่าที่จะเล่าได้ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  รายละเอียดที่ควรรู้เกี่ยวกับการประชุม Conclave เพราะว่า เกือบทุกคนที่จะเข้า Conclave เป็นคนที่ไม่เคยเข้ามาก่อนเลย จึงต้องตกลงกันดีๆ เพื่อมิให้ผิดพลาดได้ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ตึก S. Martha คือตึกซึ่งบรรดาพระคาร์ดินัลจะต้องอยู่ประจำในขณะที่ประชุม Conclave  พระคาร์ดินัลหลายองค์ก็เข้ามาอยู่แล้ว ประมาณ 60-70 องค์ เพราะคิดว่าไหนๆ ก็จะต้องมาอยู่แล้ว ก็อยู่ซะเลย จะได้ไม่ต้องหาที่พักในโรม ที่ไหนได้ ทุกคนที่อยู่ในตึก S. Martha มีคำสั่งให้ออกจากที่พักภายในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะได้จัดเตรียม Conclave ห้องของบรรดาพระคาร์ดินัลจะกำหนดไม่ได้ เขาจะใช้วิธีจับฉลาก พระคาร์ดินัลที่อยู่ก่อนนี่แหละ ก็เลยต้องลำบากเพิ่มขึ้น แทนที่จะสบาย เพราะตอนนี้ต้องหาที่พักประมาณ 1 อาทิตย์ภายในโรม ส่วนพระคุณเจ้าของเรามีที่พักอยู่แล้ว ก็เลยค่อยยังชั่วหน่อย และก็คงมีการตกลงเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กันบ้างเหมือนกัน พรุ่งนี้วันอาทิตย์ไม่มีประชุม จะเริ่มประชุมใหม่วันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2005
 
(อาทิตย์ 10 เมษายน 2005)
วันนี้วันอาทิตย์ พระคุณเจ้าไม่มีประชุม เหตุการณ์ทุกอย่างปกติดี ฝนตกทั้งวัน เบาบ้างหนักบ้าง ตอนเที่ยง Ma Mère Miriam และพ่ออภิสิทธิ์ กฤษราลัมณ์ เจ้าคณะพระมหาไถ่ มาพบพระคุณเจ้า ทานอาหารเที่ยงด้วยกันที่บ้านพักเลย เพราะฝนตก ไปทานข้างนอกลำบาก ตอนบ่าย ผมก็ออกไปเดินเล่นตามที่ต่างๆ ที่รู้จัก เดินดูของบ้าง บรรยากาศบ้าง ไม่มีอะไรพิเศษเลย พรุ่งนี้คงจะมีอะไรให้ทำมากกว่านี้
 
(อังคาร 12 เมษายน 2005)
เมื่อวานนี้ไม่มีอะไรพิเศษ นอกจากไปต่ออายุ Passport Diplomatique ของพระคุณเจ้า ไปกับพ่ออนุสรณ์ กว่าจะไปถึงเจ้าหน้าที่ได้ก็ใช้ขั้นตอนเยอะเหลือเกิน ในที่สุด ก็ส่ง Passport ให้เขาไป เสร็จแล้วเขาก็จะโทรศัพท์มาบอกเองว่าให้ไปรับ ส่วนตอนบ่าย ก็ไปเดินเล่นกับพ่อเอกรัตน์ เพราะพ่อเขาเอาบัตรโทรศัพท์มาให้ เป็นบัตรที่สามารถโทรได้นานแต่ราคาถูก บัตรใบละ 4 ยูโร แต่สามารถคุยกับเมืองไทยได้ 90 นาที เดินเล่นไปถึง Piazza Navona พอกลับมาถึงก็รู้สึกว่าอาการไม่ดี มีไข้ พอตกเย็นมากๆ ทานอาหารเสร็จ ก็กินยา แล้วเข้านอนเลย นี่ก็เป็นเรื่องของเมื่อวาน ส่วนวันนี้ พ่อวรยุทธโทรศัพท์มาสัมภาษณ์อัดเทปรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนที่นี่ เราก็อธิบายไปว่า ความรู้สึกของคนทั่วไปแสดงออกมาด้วยคำ 3 คำ คือ “Grazie” ขอบคุณโป๊ป มิได้บอกเลยว่าจะสวดภาวนาให้โป๊ป เพราะเชื่อเหลือเกินว่าโป๊ปอยู่ในสวรรค์ ด้วยกิจการดีมากมายที่พระองค์ทรงกระทำ “Santo Subito” หมายถึง ให้พระองค์เป็นนักบุญโดยทันที และคำสุดท้ายที่เห็นก็คือ “Il Grande” ผู้ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ความเรียบง่ายของพิธีแต่สง่างาม หีบพระศพซึ่งเป็นหีบศพเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจมากขึ้น นอกจากนี้ พ่อวรยุทธยังถามถึงเรื่องการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ผมก็อธิบายไปเท่าที่จะสามารถทำได้ ตกตอนเย็น พระคาร์ดินัลมีการถวายมิสซาร่วมกันในมหาวิหารนักบุญเปโตร ผมไปส่งพระคุณเจ้าแล้วก็ไปรอต่อ ซื้อแสตมป์ซึ่งออกวันนี้เป็นวันแรก ชื่อว่า Sede Vacante เป็นรูปเทวดาถือร่ม ชุดหนึ่งมี 3 ดวง 3 ราคา แต่รูปเดียวกัน ต่างกันตรงราคาและก็สี ตอนแรกผมก็เข้าใจว่าจะมีรูปโป๊ปบ้าง แต่เจ้าหน้าที่เขาอธิบายว่า Sede Vacante จะมีรูปโป๊ปไม่ได้
 
(พุธ 13 เมษายน 2005)
วันนี้เป็นวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย พระคุณเจ้าก็ไปประชุมตามปกติ แต่ว่า หลังจากประชุมแล้ว ท่านทูตไทยประจำอิตาลีได้เชิญพระคุณเจ้าไปทานอาหารเที่ยงที่สถานทูตไทย โดยให้คุณชัชวาล ซึ่งเคยเป็นเณรรุ่นเดียวกับพ่อสำรวย และทำงานอยู่ที่สถานทูตไทย ขับรถมารับที่บ้านพัก ซึ่งก็พอดีคุณนกและคุณ Enrico ก็ได้มาคำนับและขอพรปีใหม่จากพระคุณเจ้าด้วย อาหารที่ท่านทูตเลี้ยงนั้นก็เป็นอาหารไทย ซึ่งพวกเรากำลังอยากทานพอดี การสนทนากับท่านทูตและคณะครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ทูตท่านนี้ให้ความสนใจเรื่องราวต่างๆ ในอดีต และหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ท่านชื่อวราพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านรู้จักกับพระอัครสังฆราช Luigi Bressan แห่ง Trento และยังได้ติดต่อเพื่อศึกษาใน Archivio Segreto Vaticano อีกด้วย นับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่ได้ท่านสนับสนุนงานด้านนี้อีกผู้หนึ่ง ก็ถือว่า งานเลี้ยงนี้เป็นงานเลี้ยงปีใหม่ไทย ซึ่งก็ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจมิใช่น้อย ตกเย็น กลุ่มพระสงฆ์ไทยและครูคำสอนก็มาร่วมคำนับที่บ้านพักพระคุณเจ้าเพื่อขอพรปีใหม่ ก็เลยไปทานอาหารเช่นกันที่ร้านอาหารจีนกันตามระเบียบ และที่ร้านนี้เอง ก็ได้พบกับพระคาร์ดินัลอีกองค์หนึ่งที่มาจากอเมริกาใต้ แต่ไม่ทราบชื่อ ก็มาทานอาหารด้วย
 
ลืมเล่าไปว่า ตอนบ่าย ผมไปยืนเข้าแถวเพื่อขอซื้อแสตมป์ชุด Sede Vacante อีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ ได้ซื้อของและนำไปปั๊มตราวาติกัน ลงวันที่ 12 เมษายน ซึ่งออกวันแรกด้วย ทั้งหมด 10 ชุด เพราะคนสะสมแสตมป์เขาชอบที่จะมีแสตมป์ที่ใช้แล้ว และลงวันที่ออกวันแรก เขาว่าจะมีราคาดีมากในอนาคต
 
(พฤหัสบดี 14 เมษายน 2005)
ไปส่งพระคุณเจ้าเข้าห้องประชุมแล้ว ผมก็ไปเข้าแถวเพื่อเข้าไปคำนับพระศพ Pope John Paul II รอคิวอยู่พอสมควร ระหว่างทางก็ผ่านหลุมศพของโป๊ปหลายๆ องค์ ก็พยายามถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อเปรียบเทียบดูว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร รูปแบบของหลุมศพโป๊ปองค์นี้เป็นแบบเดียวกับ Pope Paul VI แต่มีการตกแต่งมากกว่านิดหน่อย เรียบง่าย ระดับเกือบเสมอพื้นดิน เนื่องจากมีคนมามากพอสมควร เจ้าหน้าที่จึงไม่ค่อยให้อยู่นาน ผมก็สวดภาวนาถึงโป๊ป พร้อมกับระลึกถึงคนหลายๆ คนที่มีพระคุณที่รู้จักต่างๆ และที่ฝากมาสวดด้วย ผมก็ได้ทำให้แล้ว จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ให้ออก ซึ่งทางออกก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเข้าไปในมหาวิหารก็ไม่ได้ ถ้าจะเข้าในมหาวิหาร ก็ต้องไปเข้าคิวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผมก็เลยไปซื้อของกับพ่ออนุสรณ์และพ่อยอดชาย ที่ร้าน Comandini และก็สั่งให้ส่งไปเมืองไทยด้วย โดยที่เราไม่ต้องขนเอง
 
หลังการประชุม พระคุณเจ้ามีนัดทานอาหารกับ Monsignor Pinto ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัย Urbaniana เป็นอาจารย์ของพวกพ่อเราหลายคน เช่น พ่อวิษณุ พ่อวิชา พ่อเอกพร ไม่แน่ใจว่าเป็นอาจารย์ของพ่ออดิศักดิ์และพ่อทวีศักดิ์ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ใน Rota Romana อีกด้วย เวลานี้ เขียนหนังสือ Comment เรื่องกฎหมายไว้ 3 เล่มใหญ่ ท่านก็เลยถือโอกาสนี้มอบให้พระคุณเจ้าด้วย 1 ชุด ท่านพาเราไปทานอาหารที่บ้านพักของท่านที่ S. Callisto อยู่บริเวณ Trastevere เป็นบ้านพักและที่ทำงานของหน่วยงานหลายฝ่ายของพระศาสนจักร มีพระคาร์ดินัลอาศัยอยู่ที่นี่ 7 องค์ด้วยกัน เป็น Apartment ที่อาศัยที่หรูหรามาก ภายในตกแต่งอย่างดีและกว้างขวาง เพราะที่นี่เคยเป็นที่อยู่ของพระคาร์ดินัลชาวเวียตนามมาก่อน การสนทนาวันนี้ก็สังเกตว่า Msgr. Pinto ไม่ค่อยชอบและไม่เห็นด้วยกับองค์กรใหม่หรือขบวนการใหม่ๆ ที่มีในพระศาสนจักร และก็เล่าให้ฟังว่า พระคาร์ดินัลเวลานี้ทำอะไรกันบ้าง และยังเสริมด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คงใช้เวลานาน เพราะว่า พระคาร์ดินัลแบ่งเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม ซึ่งกว่าจะลงตัวก็คงใช้เวลานานกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา พูดง่ายๆ ก็คือ เชิญพระคุณเจ้ามาเพื่อแสดงความคิดเห็นเรื่อง Conclave นั่นแหละ เพราะพระคุณเจ้าก็บอกว่า ท่านก็ไม่ได้สนิทอะไรกับ Msgr. Pinto มาก่อนเลย พระคุณเจ้าก็จะเลี่ยงเรื่องนี้ออกไป โดยจะบอกเสมอว่า นี่จะเป็นงานของพระจิตเจ้า คุณพ่อผู้ช่วย Msgr. Pinto ชื่อ P. Meunier เป็นชาวฝรั่งเศส ก็มีความเห็นเดียวกับ Msgr. Pinto เล่าให้ฟังหลายเรื่องเกี่ยวกับ Movement ต่าง ๆ ในพระศาสนจักร ซึ่งทำตัวอยู่นอกอำนาจโป๊ป ส่วน Msgr. Pinto มักจะบอกว่า พวกเหล่านี้เห็นเงินเป็นใหญ่กว่าคนจน ซึ่งพระศาสนจักรต้องอยู่เคียงข้างด้วยเสมอ นอกจาก Msgr. Pinto แล้ว วันนี้ ยังมีอาจารย์คนหนึ่งแห่งสถาบันวัฒนธรรม Lepanto ส่งจดหมายมายังบรรดาพระคาร์ดินัลที่อยู่บ้านเราทั้งหมด อาจจะส่งที่อื่นๆ ด้วยก็ได้ พยายามที่จะขอให้เลือกโป๊ป ชาติที่สามารถต่องานของ Pope John 23 ให้ได้ สื่อมวลชนต่างๆ ก็วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา จนไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ที่จริง ก็ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาอะไรได้ทั้งนั้น บรรดาพระคาร์ดินัลก็พยายามให้มีกลุ่ม เพื่อพิจารณาสถานการณ์ของพระศาสนจักรโดยส่วนรวม และนำมาถกเถียงกัน เพราะนอกจากจะเรียนรู้พระศาสนจักรมากขึ้นแล้ว ยังสามารถรู้จักกันมากขึ้นด้วย ก่อนที่จะมี Conclave พระคุณเจ้าเอง ระหว่างนี้จะพูดอะไรมากก็ไม่ได้ รู้สึกกดดันไปหมด ต้องระมัดระวังเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง น่าเห็นใจมาก มิน่า วันนี้ พระคุณเจ้าถึงบอกว่า อยากกลับบ้านเร็วๆ แล้ว อยู่ที่นี่อึดอัด จะทำอะไร ไปไหนมาไหนไม่สะดวก อยู่บ้านเรายังสามารถทำอะไรได้บ้าง
 
พ่ออนุสรณ์และพ่อเอกรัตน์เอาแสตมป์เก่าของ Sede Vacante รุ่นเก่ามาให้ดู ก็เป็นรูปร่มทั้งหมด โดยมีแต่กุญแจไขว้กันอยู่ที่ใต้ร่ม ซึ่งแสดงถึงการปกป้องในระหว่างที่ไม่มีโป๊ปหรือตำแหน่งโป๊ปว่างลง แสดงว่า เป็นธรรมเนียมที่จะต้องใช้สัญลักษณ์ร่มแทนตำแหน่งที่ว่างลง
 
พระคุณเจ้าเล่าให้ฟังว่า วันนี้ พระคาร์ดินัลมีการจับฉลากห้องพักกันแล้ว พระคุณเจ้าจับได้เบอร์ 520 และจะเข้าไปพักที่ตึก S. Martha วันอาทิตย์นี้
 
(ศุกร์ 15 เมษายน 2005)
ส่งพระคุณเจ้าเข้าห้องประชุมเสร็จแล้ว ก็ใช้เวลาสบายๆ เข้าไปที่มหาวิหารอีกครั้งหนึ่ง ได้เข้าไปคำนับพระศพ Pope John Paul II ผู้คนก็ยังคงเข้าแถวมาคำนับพระศพอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ก็พยายามเร่งรัดคนให้ใช้เวลาน้อยๆ น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ ผมเห็นเขามีเขตพิเศษหน้าหลุมพระศพ ให้คนที่ต้องการสวดภาวนาจริงๆ เข้าไปสวด ในบริเวณนั้นก็มีซิสเตอร์คุกเข่าสวดอยู่ มีพระสงฆ์และฆราวาสบางคนอยู่ด้วย ผมก็เลยเข้าไปขอสวดข้างในด้วย เจ้าหน้าที่ก็เปิดเชือกให้เข้าไป ก็เลยได้มีเวลาพิจารณาดูหลายๆ อย่างละเอียดมากขึ้น เห็นความสนใจของคนที่เข้ามา หลายคนขอให้เจ้าหน้าที่เอาสายประคำ รูปพระของตน ไปแตะต้องหลุมพระศพให้ ทำให้เข้าใจว่าพวกเขาเคารพรักโป๊ป เช่นเดียวกับนักบุญองค์หนึ่ง หลายคนเห็นทำอย่างนี้ก็เลยเอากันใหญ่ บางคนอาจสงสัยว่า ผมเข้าไปดูหรือสวดกันแน่ ต้องเดาไม่ถูกแน่ๆ ว่า ผมสวดสายประคำไป 1 สาย คิดถึงหลายๆ คนในคำภาวนา และก็สวดขอโป๊ปด้วย ผมเองก็เชื่อว่าคนที่ทำงานถึงขนาดนี้ อุทิศตนขนาดนี้ อาจจะมีความอ่อนแอบ้าง แต่ยังไงก็ควรได้รับสวรรค์เป็นรางวัลแน่นอน และทันที เชื่อว่า ตอนนี้ท่านฟังภาษาไทยชัดเจนทีเดียว จากนั้น ผมก็เดินเข้าไปภายในมหาวิหาร วันนี้ ถ่ายรูปที่ฝังพระศพโป๊ปต่างๆ ไว้หลายองค์ ไม่แน่ใจว่ารูปจะออกมาชัดเจนหรือไม่ แต่ก็ลองดู เชื่อว่าจะมีประโยชน์ในภายหลัง
 
พูดถึงความรู้สึกของผู้คนตอนนี้ที่มีต่อโป๊ปก็น่าสนใจ เดินไปตามร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ก็เห็นผู้คนซื้อหาหนังสือเกี่ยวกับโป๊ป ของที่ระลึก รูปภาพต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่น่าเชื่อเลยว่า เวลานี้ มีหนังสือออกมาใหม่ 2 เล่มที่พูดถึงโป๊ปจนถึงนาทีสุดท้าย อีกเล่มหนึ่งพูดถึงพิธีมิสซาปลงพระศพโป๊ปด้วย ยังเห็นกลุ่มคนมากมายเข้าไปเยี่ยมพระศพโป๊ป พูดถึงโป๊ป หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ก็ยังออกข่าวเกี่ยวกับโป๊ปอยู่เสมอ ดังนั้น นอกจากเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่แล้ว ซึ่งก็ต้องเดากันไปต่างๆ นานา เรื่อง Pope John Paul II ดูเหมือนว่า จะเป็นเรื่องที่พูดกันได้ไม่มีสิ้นสุดเหมือนกัน ตามร้านหนังสือ เวลานี้ ก็จะมีหนังสือมากมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เวลาเดียวกัน ก็มีหนังสือไม่น้อยที่เกี่ยวกับบรรดาพระคาร์ดินัล และที่พระคาร์ดินัลเขียนขึ้นมา ก็ดูจะคล้าย ๆ Promote พระคาร์ดินัลอิตาเลียนกันกลายๆ เพราะส่วนใหญ่ที่เขียนล้วนเป็นชาวอิตาเลียน เห็นจะมีพระคาร์ดินัล Walter Kasper องค์เดียว ที่มีหนังสือออกมาด้วย  อ้อ! ยังมีพระคาร์ดินัล Ratzinger อีกองค์หนึ่ง ทั้งคู่เป็นชาวเยอรมัน หนังสืออีกชุดหนึ่งที่น่าจะดีคือ หนังสือบทเทศน์ของพ่อ Raniero Cantalamessa เป็นพระสงฆ์ O.F.M. Capuchin มีชื่อเสียงมากเรื่องการเทศน์ เป็นที่รู้จักทั่วไป จะได้รับเชิญให้มาเทศน์ให้บรรดาพระคาร์ดินัลด้วย พระคุณเจ้ายังกล่าวชมว่าเทศน์ได้ดีมากๆ
 
(เสาร์ 16 เมษายน 2005)
ฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา อากาศวันนี้ก็เลยดูไม่น่ารื่นรมย์ แต่ก็สดชื่นไปอีกแบบหนึ่ง พระคุณเจ้ามีประชุมวันนี้เป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะต้องเข้าไปพักประจำที่ตึก S. Martha ภายในรัฐวาติกันในวันอาทิตย์ และจะเริ่มประชุม Conclave ในวันจันทร์ที่ 18 เมษายน ส่งพระคุณเจ้าแล้ว ผมก็เดินเข้าไปในมหาวิหารนักบุญเปโตรอีกครั้งหนึ่ง เวลาเดินผ่านมหาวิหาร สังเกตเห็นว่า เขากำลังตกแต่งระเบียงกลาง (Balcony) ซึ่งจะเป็นสถานที่จะประกาศพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยใช้ผ้าแดงผืนใหญ่เป็นพื้นหลัง วันนี้ มีคนเข้ามาคำนับหลุมพระศพโป๊ปกันมากเหมือนเดิม ส่วนภายในมหาวิหารก็มีการเตรียมการสำหรับมิสซาในเย็นวันนี้ ซึ่งบรรดาพระคาร์ดินัลจะถวายร่วมกันเวลา 17.00 น.
 
ในระหว่างมิสซาตอนเย็น ผมดูถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน มิสซานี้จะเป็นมิสซาครบ 9 วันสำหรับโป๊ป จบจากวันนี้แล้ว วัดต่างๆ ในกรุงโรมทั้งหมดจะถวายมิสซาในวันพรุ่งนี้เพื่อการเลือกโป๊ปองค์ใหม่ มหาวิหารลาเตรันจะเป็นผู้เชิญพระคาร์ดินัลที่ไม่สามารถเข้า Conclave ได้ ไปถวายมิสซาแต่ละวันๆ เป็นกรณีพิเศษ สถานีโทรทัศน์วาติกันจะถ่ายทอดสดมิสซาเหล่านี้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ด้วย ส่วนวันจันทร์ จะมีพิธีการถ่ายทอดสดการเผาหญ้าครั้งแรกที่จะออกมาทางปล่องไฟของโบสถ์ซิสตินเวลา 18.55 น. ทำไมต้องกำหนดเป็นเวลานี้ก็ไม่รู้ และจะตรงเวลาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตั้งใจว่า วันแรกนี้จะไปดูสักหน่อยว่าจะมีคนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน
 
ข่าวดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ พ่อ Giulio อธิการที่นี่อาสาจะไปส่งบรรดาพระคาร์ดินัลเข้า Conclave ในวันพรุ่งนี้ พระคุณเจ้าของเราจะออกจากบ้านนี้เวลา 17.30 น. เพราะตามกำหนด เขาให้เข้าตั้งแต่ 16.00 น. – 19.00 น. และเวลา 20.00 น. บรรดาพระคาร์ดินัลจะทานอาหารเย็นร่วมกัน ภายในเขาเตรียมหมอไว้ 3 คน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะพร้อมแล้ว หลาย ๆ คนที่เดินทางมาที่นี่ ก็เริ่มอยากจะกลับบ้านกันแล้ว ผมคุยกับเลขาฯพระคาร์ดินัลหลาย ๆ ชาติที่เดินทางมา ก็มีความรู้สึกเดียวกัน คือ อยากให้เสร็จเร็วที่สุด และจะได้กลับบ้านซะที
 
อาจารย์ ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ติดต่อมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่าจะมาถึงเย็นวันนี้ ตอนนี้ก็ยังมาไม่ถึงเลย อย่างไรก็ตาม ผมได้เชิญอาจารย์ให้มาร่วมมิสซาพรุ่งนี้ 10.00 น. ที่บ้านพักพระคุณเจ้า และได้ให้พระสงฆ์และคนไทยที่อยู่โรมมาร่วมด้วย เพื่อภาวนาเป็นพิเศษสำหรับการ Conclave ของบรรดาพระคาร์ดินัล โดยเฉพาะสำหรับพระคาร์ดินัลของเรา
 
(อาทิตย์ 17 เมษายน 2005)
วัดทุกวัดในกรุงโรม จะถวายมิสซาเพื่อการเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่ คนไทยในโรมจึงมารวมตัวกันที่บ้านพักพระคุณเจ้า เพื่อร่วมมิสซาตามจุดประสงค์นี้ มิสซาเริ่มต้นเวลา 10.00 น. มีพ่อคนไทยมากันหลายคน รวมทั้งพ่ออภิสิทธิ์ กฤษราลัมณ์ เจ้าคณะพระมหาไถ่ พ่อวสันต์ ที่ปรึกษาคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งฆราวาส มาเซอร์ อาจารย์ชัยณรงค์ รวมแล้วก็ประมาณ 20 คน ทำให้มิสซาวันนี้คึกคักเป็นพิเศษ หลังมิสซาแล้ว พระคุณเจ้าก็ได้พบปะกับคนไทยที่นี่ทุกคน พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ทำให้ทุกคนได้รับความรู้ และรู้สึกว่าใกล้ชิดกับพระคุณเจ้ามากขึ้น คุยกันจนถึงเที่ยง พระคุณเจ้าก็เลยชวนทุกคนไปทานอาหารด้วยกันที่ภัตตาคารจีน
 
กลับจากทานอาหารกันแล้ว ผมกับพ่ออนุสรณ์และพ่อยอดชาย ก็มาช่วยพระคุณเจ้าจัดของลงกระเป๋า เพราะวันนี้ พระคุณเจ้าจะต้องเข้าพักที่ตึก S. Martha โดยกำหนดว่า พระคุณเจ้าจะเข้าเวลา 17.30 น. ดู ๆ พระคุณเจ้าออกจะเครียดๆ นิดหน่อย ไม่ตื่นเต้น แต่ก็คงรู้สึกอึดอัดพอดู พอถึงเวลา ผมก็นั่งรถไปส่งพระคุณเจ้าด้วย พ่ออธิการที่นี่ Don Giulio ขับรถไปส่ง เวลาที่รถผ่านประตู S. Ufficio ที่นั่นก็จะมีบรรดานักข่าวเต็มไปหมด ถ่ายรูปพระคาร์ดินัลทุกองค์ที่นั่งรถเข้าไป ทุกคนรู้ดีว่า วันนี้พระคาร์ดินัลทุกองค์ต้องเข้าพักในที่เร้นลับนี้ ที่จะเรียกในวันพรุ่งนี้ว่า Conclave พอรถเราไปถึง ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาที่รถ เปิดท้ายรถ ถามจำนวนกระเป๋า และจัดการยก พาพระคุณเจ้าเข้าไปข้างใน พวกเราไม่ต้องทำอะไรเลย Don Giulio และผมก็ทำการจับมืออำลาพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าก็ขอให้พวกเราสวดให้ด้วย และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขอสารภาพตรงๆ ว่าผมมีความรู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกันที่อยู่กรุงโรม แต่เหมือนไม่ได้อยู่ด้วยกัน คล้ายๆ กับมีความหมายว่าจากกัน อะไรทำนองนี้แหละ
 
วันพรุ่งนี้ก็นัดกับบรรดาคุณพ่อที่โรมว่า เวลาเย็นจะมาดูปล่องไฟของโบสถ์ซิสตินด้วยกัน เพราะอยู่ที่นี่ไม่ไปดูก็ขายหน้าคนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยากจะดู ทั้งๆ ที่รู้ว่า ครั้งแรกนี้ ควันจะออกมาเป็นสีดำแน่นอน นี่แหละครับ ที่เราเรียกว่าบรรยากาศ
 
ดูรายการโทรทัศน์ถ่ายทอดสดที่เมือง Viterbo อันเป็นเมืองเก่าแก่ที่โป๊ปเคยประทับอยู่นานในอดีต วันนี้เขามีมิสซาพิเศษระลึกถึงการที่เคยมีประชุมเลือกโป๊ปที่นี่ ถ้าฟังไม่ผิด ในปี 1258 และที่นี่เองที่เป็นที่กำเนิดคำว่า Conclave ขึ้น และใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนที่โบสถ์ซิสตินนั้น เขาก็ถ่ายทอดการจัดเก้าอี้-โต๊ะที่จะใช้ในการเลือกตั้ง รวมทั้งถ่ายให้เห็นท่อทองแดงที่ทำยื่นขึ้นไปถึงปล่องไฟ ตอนแรกผมเข้าใจว่าเผาหญ้าที่เตาไฟที่มีอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า เป็นท่อที่ต้องทำขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
 
(จันทร์ 18 เมษายน 2005)
วันนี้ เป็นวันเริ่มต้นการประชุมแบบ Conclave 10.00 น. เริ่มด้วยมิสซา โดยมีพระคาร์ดินัล Ratzinger เป็นประธาน มีการถ่ายทอดสดด้วย ผมเองมีเวลามากหน่อยวันนี้ ก็ออกเดินซื้อของฝากต่าง ๆ เท่าที่ได้ ตอนบ่ายก็ออกไปหาซื้อของอีกตามเคย รอเวลาจนกระทั่งถึงเวลาที่เขาประกาศว่า จะมีผลการเลือกตั้งครั้งแรก คือเวลา 18.55 น. พวกเราก็ไปรอกันที่มหาวิหาร คอยดูปล่องควันว่า ควันที่จะออกมานั้นเป็นสีอะไร ผู้คนก็ทะยอยมากันเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบเต็มลานมหาวิหาร กล้องจากสำนักข่าวต่างๆ อยู่เต็มไปหมด มีการถ่ายทอดสดปล่องควันด้วยว่าจะออกผลเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นสีดำ เพราะเลือกรอบแรกคงไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ก็ยังมีความหวังกันอยู่ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ เขาคำนวณออกมาแล้วว่า ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 77 องค์ จาก 115 องค์ จึงจะได้โป๊ปองค์ใหม่ พวกเรารออยู่จนกระทั่งเวลา 20.04 น. ควันก็เริ่มออกมาจากปล่อง ก่อนหน้านั้น ผู้คนที่รอคอยต่างก็ปรบมือ เรียกร้องให้ดำเนินการเร็ว ๆ หน่อย เพราะรอมานานมากแล้ว ในที่สุด เวลาระทึกใจก็มาถึง ควันที่ออกมาครั้งแรกนี้สีขาว ผู้คนแตกตื่นกันมาก ทั้งวิ่ง ทั้งเดิน โกลาหลกับอึกทึกไปหมด แต่ว่า ต่อมาอีก 4-5 วินาที ควันก็เริ่มเป็นสีดำ และยิ่งทียิ่งดำจนเห็นได้ชัด ทุกคนก็รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำเร็จ ต่างคนต่างก็เดินกลับบ้านกัน โชคดีที่อากาศเย็นนี้ดีมาก เลยทำให้รู้สึกสนุกกับการยืนรอดู และอยู่ในบรรยากาศร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ทางสถานีโทรทัศน์ก็ออกข่าวว่า ตอนแรกควันเป็นสีขาว ต่อมาก็ดำ เพราะฉะนั้น หลังจากควันแรกออกมา ต้องใช้เวลาอีก 4-5 วินาที รอดูว่าควันเป็นสีอะไรกันแน่
 
(อังคาร 19 เมษายน 2005)
ออกเดินไปซื้อของในช่วงเช้า พอใกล้เวลา 12.00 น. ผมก็ไปที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์เพื่อดูควันว่าจะออกมาเป็นสีอะไร ตามเวลากำหนดก็คือเวลา 12.00 น. แต่พอเวลา 11.55 น. ควันก็เริ่มออกมาแล้ว เป็นสีขาวซะส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากลมแรงมาก เลยทำให้ไม่แน่ใจว่าขาวหรือดำกันแน่ ทุกคนต่างก็ลังเลใจกันพักหนึ่ง พอตอนสุดท้าย ทุกคนบอกว่าระฆังไม่ตี ก็แสดงว่าเป็นสีดำ ที่จริง เขาเผาถึง 2 ครั้งติดกันด้วย เพราะคงรู้ว่าข้างนอกลังเลใจ ภาคบ่ายผมก็ออกไปเดินเล่นรอเวลา จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ผมก็กลับมาที่พักดูโทรทัศน์ เพราะคนแน่นมาก และเท่าที่รู้ กว่าจะเผาหญ้าก็ตกเวลา 19.00 น. ขณะที่ดูโทรทัศน์อยู่ เวลา 17.45-17.50 น. ควันก็เริ่มออกมาจากปล่องไฟ ผมผิดสังเกตทันที เพราะหากเผาช่วงก่อนเวลากำหนด แสดงว่าต้องมีอะไรพิเศษ ผมรีบวิ่งออกจากห้องโทรทัศน์ วิ่งไปที่ลานมหาวิหาร พอออกมา ก็เห็นคนวิ่งกันเต็มไปหมด พากันไปที่มหาวิหาร ผมบอกพ่ออธิการบ้านว่า ดูเหมือนว่าควันขาว พ่อบอกว่า ไม่ใช่ๆ ดำ ผมก็ไม่เชื่อแก วิ่งไปที่มหาวิหาร ผู้คนมาจากทุกทิศ ตำรวจปิดถนน Conciliazione พอไปถึง ควันที่ออกอยู่ตลอดเวลา เป็นควันสีขาว แต่ก็ไม่แน่ใจ ทางโทรทัศน์เขาบอกว่าเป็นควันสีเทา ทีนี้ทุกคนก็คอยดูที่ระฆัง หากมีการตีระฆัง ก็แสดงว่าได้โป๊ปแล้ว รออยู่พักใหญ่ ควันก็ยังคงออกมา ประมาณเวลาว่า 18.10 น. ระฆังก็เริ่มตี คราวนี้ มีการตบมือโห่ร้องกันขนานใหญ่ ผู้คนโทรศัพท์ ถ่ายรูปกันเซ็งแซ่ไปหมด รอคอยเวลาประกาศอย่างเป็นทางการ คราวนี้ คนก็ยังแน่นมากขึ้นๆ ธงประเทศต่างๆ ปลิวไสว เพราะยังไม่รู้ว่าใครเป็นโป๊ป บรรยากาศแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะจริงๆ บางคนสวด บางคนโห่ร้อง บางคนส่งข่าว แต่ทุกคนตื่นเต้นดีใจมากๆ ที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงแล้ว พอประมาณเวลา 18.40 น. เจ้าหน้าที่ก็เปิดประตูที่ระเบียงกลางมหาวิหาร แค่เปิดประตู ทุกคนก็โห่ร้องต้อนรับแล้ว จากนั้นไม่นานเท่าไร พระคาร์ดินัลผู้ที่ถูกกำหนดไว้ ก็ออกมาประกาศ Habemus Papam ชื่อ Josephus พระคาร์ดินัล Ratzinger เท่านั้นแหละ ก็มีการปรบมือโห่ร้องอยู่พักหนึ่ง และที่สุด ก็ประกาศว่า พระองค์ใช้นามว่า Benedict 16 ก็มีการโห่ร้องอีก สักพักหนึ่ง โป๊ปองค์ใหม่ก็ออกมาที่ระเบียง ทุกคนซาบซึ้งใจมาก พวกอิตาเลียนที่อยู่ข้างหน้าผม พร้อมกันตะโกนออกมาว่า Benedetto ๆๆๆๆ ทำให้เห็นว่า เขายอมรับได้โดยทันที ชาวโปแลนด์เองก็เขียนไว้ที่ผ้าว่า พวกเราเป็นผู้จงรักภักดีเสมอ จากนั้น โป๊ปองค์ใหม่ก็กล่าวปราศรัย :
 
“หลังจาก Pope John Paul II the Great   บรรดาพระคาร์ดินัลได้เลือกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนงานที่ต่ำต้อยและสุภาพ ให้มาทำงานในสวนองุ่นของพระองค์ สิ่งที่บรรเทาใจข้าพเจ้าก็คือ พระองค์ทรงรู้ว่าจะทำอะไร และจะใช้เครื่องมือของพระองค์อย่างไร ข้าพเจ้ารอพึ่งองค์พระผู้ไถ่ และพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับการทำหน้าที่นี้”
 
จากนั้น พระองค์ก็ประทานพรเป็นภาษาลาติน ซึ่งเท่าที่ผมจะเข้าใจได้ พระองค์ให้พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ อภัยบาปและโทษบาปทั้งสิ้น เรื่องนี้ผมต้องไปขอคำอธิบายจากผู้รู้ก่อน เพราะไม่ค่อยแน่ใจ
 
เชื่อหรือไม่ หลังจากนี้แล้ว การติดต่อทางโทรศัพท์มือถือเป็นไปไม่ได้เลย สัญญาณเต็มหมด ไม่สามารถใช้การได้ ก็คิดดู คนเกือบทั้งจตุรัสกำลังติดต่อใครบางคนอยู่
 
ค่ำนี้ เราพระสงฆ์ไทยไปทานอาหารจีนกันฉลอง Pope ใหม่ Habemus Papam
 
(พุธ 20 เมษายน 2005)
สิ่งแรกที่คิดถึงวันนี้ก็คือ พระคุณเจ้าจะออกมาอย่างไร จะให้เรารู้อย่างไร และเราจะไปรับอย่างไร เพราะพระคุณเจ้ายังอยู่ในตึก S. Martha ผมก็ไปถาม Don Giulio ซึ่งก็โทรศัพท์ทันทีเข้าไปในตึก S. Martha ปรากฏว่า ต้องหลังจากมิสซาของบรรดาพระคาร์ดินัลในโบสถ์ซิสตินจบซะก่อน นั่นก็คือ ราว ๆ 11.30 น. Don Giulio บอกว่า หากมีเวลาก็จะเข้าไปรับพระคาร์ดินัลด้วย ผมก็ออกไปเดินนอกบ้าน ตั้งใจจะไปหารูปถ่ายโป๊ปองค์ใหม่ และข่าวคราวเกี่ยวกับโป๊ปองค์ใหม่ด้วย ก็ไปเจอพ่ออนุสรณ์ในที่ ๆ ขายรูปถ่ายของ Osservatore Romano ผมซื้อรูปถ่ายมา 2 ภาพ เผื่อจะต้องใช้ในโอกาสข้างหน้า แล้วก็เดินหาซื้อของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ
 
กลับมาถึงบ้าน พระคุณเจ้าก็โทรศัพท์มาให้ไปรับที่ S. Martha แต่ Don Giulio ไม่อยู่ ไปว่ายน้ำ เนื่องจาก มีอาการเจ็บหลัง และหมอแนะนำให้ทำ ผมก็เดินไปรับพระคุณเจ้า แต่ต้องเดินอ้อมไปด้านหลังตึก S. Martha เพราะทางที่เข้าประจำ ทหารยามไม่ให้เข้า และนักข่าวก็มีอยู่เต็มไปหมด รอพระคุณเจ้าอยู่พักหนึ่ง ก็พาพระคุณเจ้าเดินออกมาทางข้างๆ พระวิหาร กลมกลืนไปกับฝูงชน ผ่านพ้นพวกนักข่าวไปได้หมด พระคุณเจ้าก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟังบ้างเท่าที่จะเล่าได้ เพราะหลายอย่างนั้นเป็นความลับ จะเปิดเผยไม่ได้ ผมเองก็ต้องระวังที่จะถามเหมือนกันว่า อะไรควรถามหรือไม่ควรถาม
 
ตอนบ่าย พระคุณเจ้าให้จัดการนัดหมายกำหนดการต่างๆ ภายในไม่กี่วันนี้ โดยให้นัด Mère Miriam ว่า พรุ่งนี้จะไปเยี่ยมบ้าน Mère Miriam ก็บอกว่ายินดี และจะให้รถไปรับ ส่วนตอนเที่ยง ผมก็นัดกับพระคาร์ดินัล Sepe ว่า จะไปเยี่ยม และจะทานอาหารเที่ยงด้วย วันศุกร์นัดกับ Monsignor Giuseppe Saia ผู้ดูแลวัด Lorenzo เวลา 8.30 น. จะไปถวายมิสซาและเยี่ยมวัด ส่วนวันเสาร์นัดกับ Bro. Brunelli จะไปเยี่ยมบ้าน Don Calabria และทานอาหารเที่ยงพร้อมกับสงฆ์กรุงเทพฯ  วันอาทิตย์เป็นวันกำหนดขึ้นรับตำแหน่งของโป๊ป มิสซาเวลา 10.00 น. กำลังหาทางว่า จะเข้าไปร่วมถวายมิสซาอย่างไรกันดี วันจันทร์เป็นวันกำหนดกลับบ้าน กำลังจะจัดการเรื่องตั๋ว คิดแล้วก็ดีใจที่จะได้กลับบ้านซะที
 
เรื่องหนึ่งที่พระคุณเจ้าเล่าให้ฟัง ก็คือ ท่านถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่ขานนับคะแนนการเลือกตั้ง บอกว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก และประทับใจมาก พระศาสนจักรเป็นทั้ง Human และ Divine จริงๆ ทำให้ผมพอเข้าใจได้ว่า ภายในนั้นก็คงมีรูปแบบของประสามนุษย์อยู่ด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ พระคุณเจ้ายังชมเกี่ยวกับระเบียบและวิธีการจัดการว่าทำได้ดีมากและชัดเจนทุกขั้นตอน แม้เกือบทุกคนจะเป็นมือใหม่ แต่ก็ทำได้ดีตามธรรมเนียมปฏิบัติ และผลที่เกิดขึ้นก็ดีมาก
พระสันตะปาปาองค์นี้เป็นชาวเยอรมัน คนที่ 7 ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร องค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ปี 1058 เรียกว่าเกือบพันปีที่ผ่านมา และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า Pope ชาวเยอรมันทั้ง 6 องค์นั้นอยู่ในสมณสมัยที่สั้นมากทุกองค์ ที่ยาวสุดก็ได้แก่ เลโอ ที่ 9 อยู่ได้ 5 ปี นอกนั้นก็ 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี กล่าวกันว่า องค์นี้พูดได้ถึง 10 ภาษา ได้รับเลือกตอนอายุ 78 ปี
 
(พฤหัสบดี 21 เมษายน 2005)
Ma Mère Miriam เอารถมารับพระคุณเจ้าเพื่อขึ้นไปเยี่ยมศูนย์กลางคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ที่โรม โดยมี Sr. Bernadette ชาวเกาหลี เป็นผู้ขับรถ ที่นั่น ก็ได้พบกับ Sr. Paul ซึ่งเคยอยู่เมืองไทย ได้สนทนากันเรื่องเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมในลาว เขมร และในประเทศไทย เยี่ยมชมวัดของศูนย์กลาง และก็กลับมาที่บ้านพัก เนื่องจากเวลา 13.00 น. พระคุณเจ้ามีนัดกับพระคาร์ดินัล Sepe ที่บ้านพัก เพื่อทานอาหารเที่ยง
 
ที่บ้านพักของพระคาร์ดินัล Sepe มีซิสเตอร์ชาวฟิลิปปินส์ดูแลอยู่ 2 คน ท่านก็ให้ความเป็นกันเองดี คุยเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง พระคุณเจ้าก็พยายามพูดคุยหลาย ๆ เรื่อง เรียกง่าย ๆ ว่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็แล้วกัน
 
วันนี้ ผมได้จองที่นั่งกลับเมืองไทยทางโทรศัพท์ เราจะกลับกันวันจันทร์ที่ 25 แต่ก่อนจะต้องไปที่ออฟฟิศเพื่อติด Sticker แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว สะดวกขึ้นมาก โทรศัพท์จองก็พอแล้ว ดีใจที่อย่างน้อยก็รู้วันกลับ และก็ไม่ช้าเกินไปด้วย
 
(ศุกร์ 22 เมษายน 2005)
เช้าวันนี้ โป๊ปเรียกประชุมบรรดาพระคาร์ดินัล แต่พระคุณเจ้าบอกว่าไม่มีจดหมายหรือโทรศัพท์มาบอก ก็คิดว่า น่าจะเรียกเฉพาะผู้ทำงานที่โรม พระคุณเจ้าก็เลยตั้งใจว่าจะไม่ไป ทำให้เช้าวันนี้อาจจะว่าง ๆ ก็เป็นได้ วันนี้ก็เลยไปซื้อรูปโป๊ปได้อีก 2-3 รูปที่ดูดี
 
บ่าย 16.00 น. Monsignor Giuseppe Saia ซึ่งเป็น Cappellano ของ Polizia de Stato เอารถตำรวจมารับพระคุณเจ้าไปที่ S. Lorenzo เพื่อเยี่ยมเยียนวัด และถวายมิสซา วัดนี้เปลี่ยนมือมา 3 ครั้งแล้ว ครั้งแรก จนถึงปี 1992 พวก Franciscan เป็นผู้ดูแลวัดนี้ จากนั้น 1992-2002 เป็น Monsignor Giraldi กับคณะที่เกี่ยวกับการ อบรมพระสงฆ์ดูแล เวลานี้ตกเป็นของกรมตำรวจ เวลาเดียวกันก็มีซิสเตอร์คณะ Augustiana อยู่ประจำที่นี่ด้วย คุณพ่อผู้ช่วยชื่อพ่อ Nicola การสนทนาก็เป็นไปได้ด้วยดี เวลาทำมิสซา พระคุณเจ้าก็เทศน์เป็นภาษาอิตาเลียนด้วย ซึ่งท่านก็ทำได้ดี พระคุณเจ้าจะได้รับคำชมมากเกี่ยวกับการเป็นกันเอง Simpatico และ Simplicità ความเรียบง่าย พระคุณเจ้าก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับโป๊ปให้ฟัง ซึ่งก็ทำให้ทุกคนสนุกสนาน และก็ดูมีความสุขดีมาก
 
ตอนเย็น 19.00 น. Monsignor Neuhaus มารับที่บ้าน และพาไปทานอาหารเย็นที่ร้านเดิม คือ ร้าน Tre Pupazzi ที่บอกว่าร้านเดิมก็เพราะว่า แกก็พามาทานที่ร้านนี้เสมอ รู้จักกันมานานแล้ว และจะว่าไป อาหารก็อร่อยใช้ได้ทีเดียว Msgr. Neuhaus มีความสุขมากที่ได้โป๊ปเป็นชาวเยอรมัน และเคยเป็นอาจารย์สอนเขามาก่อน เคยมาถวายมิสซาที่บ้านแกหลายครั้ง ยิ่งทำให้แกปลื้มมาก ๆ และยังบอกอีกว่า เป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในยุคนี้ Msgr. Neuhaus เล่าให้ฟังว่า คำพูดของโป๊ปในพิธีปลงพระศพประทับใจคนทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น พูดว่า Santo Padre เคยอยู่ที่หน้าต่างและอวยพรพวกเรา เวลานี้ พระองค์อยู่ที่หน้าต่างในบ้านพระบิดา มองและอวยพรเรา จากนั้น ก็เรียกพระองค์ว่า Padre Santo อวยพรเราด้วย แต่สลับคำกันเท่านั้น ความหมายก็เปลี่ยนไปมาก ทำให้เห็นว่า โป๊ป องค์ใหม่นี้เป็นผู้ช่างคิด และคิดได้ดีซะด้วย เวลาที่พระคาร์ดินัล Meisner ของ Köln เข้าไปถวายความนบนอบ ท่านพูดอะไรไม่ออกเลย โป๊ปต้องพูดว่า “I will go to see you at Köln” ทำให้พระคาร์ดินัล Meisner มีความสุขจนแทบจะตัวลอยทีเดียว
 
ที่โต๊ะอาหาร ได้พบกับชาวอังกฤษและอเมริกันที่เดินทางมาโรม พวกเขาดีใจกันมากที่ได้พบกับพระคาร์ดินัล
 
วันนี้ ท่านประดาปโทรศัพท์มาว่าจะมาถึงโรมพรุ่งนี้ และจะเชิญพระคุณเจ้ามาดื่มน้ำชาด้วยกัน ผมก็บอกว่าพรุ่งนี้มาถึงแล้วค่อยนัดกันอีกครั้งหนึ่ง ท่านประดาปก็คือทูตไทยประจำสันตะสำนัก ประจำอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์
 
(เสาร์ 23 เมษายน 2005)
เช้านี้พระคุณเจ้าเป็นหวัดเล็กน้อย ที่จริง ก็เป็นหวัดมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว อาจเป็นเพราะออกจากบ้านหลายครั้ง ต้องปรับตัวกับอากาศตลอดเวลา ดีที่ยังไม่มีไข้ด้วย วันนี้ก็ต้องออกไปอีกครั้งหนึ่ง
 
เวลา 9.30 น. Rai Vaticano ได้มาขอสัมภาษณ์พระคุณเจ้าเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ปัญหาทางสังคม และความเป็นไปของพระศาสนจักรคาทอลิก คำถามเหล่านี้เขาได้ Fax มาให้แล้วตั้งแต่เมื่อวาน ผมก็เลยถือโอกาสขอทางเจ้าหน้าที่ Rai Vaticano ว่า ไหน ๆ ก็เอากล้องมาแล้ว ผมจะขอให้ถ่ายการสัมภาษณ์ภาษาไทยด้วย โดยขอให้ไปที่หน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งเขาก็ยินดีอย่างยิ่ง ดังนั้น ผมก็ขอให้พ่ออนุสรณ์เป็นผู้สัมภาษณ์ และก็ทำการถ่ายทำที่หน้ามหาวิหาร มีผู้ให้ความสนใจมากพอสมควรทีเดียว และพ่ออนุสรณ์ก็ทำได้ดีมาก เจ้าหน้าที่ Rai Vaticano เขาก็จัดทำ Betacam และ VDO ให้เรา ตอนบ่ายเขาก็นำมาส่งให้เลย ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย ต่างคนต่างก็ได้ประโยชน์
 
หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้ว พ่อเอกรัตน์ก็มาพาเราไปเยี่ยมบ้าน Opera Don Calabria ซึ่งเป็นที่พักของพ่อเอกรัตน์และพ่อยอดชาย ไปทานอาหารเที่ยง สนทนาเล็กน้อยและก็กลับมาบ้านพัก วันนี้ก็เป็นวันที่ว่างพอสมควร ก็เลยชวนพ่อเอกรัตน์ พ่อสมหมาย พาเพื่อนที่เป็นทหารสวิสไปทานเบียร์ด้วยกัน ชื่อ Stefano เขามีแฟนเป็นคนไทย ทำงานที่สายการบิน Emirates เพิ่งจะรู้จักกัน และก็อยากจะไปเมืองไทย จากนั้น พอดีร้านที่เราทานเบียร์อยู่ติดกับ Apartment ของโป๊ป พระองค์มาที่นี่เพื่อเก็บของบางส่วน ผู้คนมากมายมุงรออยู่ พวกเราก็เลยเข้าไปมุงดูด้วย แต่ที่สุด ก็ไม่ได้เห็นอะไรเลย เพราะผู้คนมุงดูมากเหลือเกิน เย็นนี้ พ่อเอกรัตน์กับพ่อสมหมายก็ทานอาหารเย็นกับพระคุณเจ้าที่บ้านพัก
 
พรุ่งนี้จะเป็นวันที่น่าระทึกใจ เพราะจะมีผู้คนมากมาย ประมาณกันว่าห้าแสนคน ท่านประดาปโทรศัพท์มานัดพระคุณเจ้าทานอาหารเที่ยง หลังพิธีพรุ่งนี้ ท่านก็ตกลง
 
(อาทิตย์ 24 เมษายน 2005)
เช้าวันนี้อากาศดี หลังอาหารเช้า ผมออกมาเดินดูประชาชน ซึ่งเดินแถวเข้าไปที่ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร ดูแน่นขนัดไปหมด โบกธงของชาติต่าง ๆ ว่ากันว่า วันนี้ จะมีชาวเยอรมันประมาณ 1 แสนคนมาร่วมพิธี แต่ก็ยังคงเห็นชาวโปแลนด์มากมายอยู่ร่วมพิธี และแสดงน้ำใจกับโป๊ปองค์ใหม่ พิธีจัดได้ยิ่งใหญ่มาก เวลาประมาณ 9.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มานำพระคุณเจ้าไปที่พิธี ส่วนผมอยู่ที่บ้านดูบรรยากาศข้างนอก และติดตามข่าวจากโทรทัศน์ทางประเทศไทย โดยพ่อวรยุทธก็ได้โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ออกอากาศเกี่ยวกับพิธีวันนี้ บรรยา กาศ และความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วย พิธีวันนี้จะมีการมอบ Pallium เครื่องหมายแห่งการแบกภาระต่าง ๆ แบบลูกแกะที่หลงทาง และรวบรวมฝูงแกะ ส่วนการมอบแหวนชาวประมง Fisherman’s Ring นั้น หมายถึงอำนาจของพระองค์ในการปกครอง นอกจากนี้ ในพิธียังมีผู้แทนฐานันดรต่าง ๆ เข้ามาแสดงความนอบน้อมเชื่อฟังต่อโป๊ป จบด้วย Regina Coeli ครั้งแรกของโป๊ป หลังพิธี โป๊ปนั่งรถออกมาพบปะประชาชนโดยรวม พิธีก็สิ้นสุดลง รายละเอียดติดตามได้จากวีดีโอซึ่งมีการถ่ายทำไว้มากมาย
 
พระคุณเจ้าได้รับเชิญจากท่านประดาป ทูตประจำสันตะสำนัก ทานอาหารเที่ยง แต่กว่าจะได้ทานก็ประมาณ 14.30 น. ทูตประจำอิตาลีก็มาร่วมด้วย บรรยากาศการสนทนาก็เป็นไปได้ด้วยดี ตอนเย็น พระคุณเจ้านัดเลี้ยงพระสงฆ์-นักบวชที่โรม ที่ร้านอาหารจีน มากันทั้งหมดประมาณ 16-17 คน และพวกพระสงฆ์นัดกันว่า พรุ่งนี้จะไปส่งพระคุณเจ้าที่สนามบินด้วย
 
(จันทร์ 25 เมษายน 2005)
วันสุดท้ายของการเดินทางมาโรมอันน่าประทับใจ และก็เป็นวันที่ผมอยากจะให้มาถึงเร็วๆ เครื่องบินของเรา เที่ยวบิน TG 942 จะออกจากโรมเวลา 15.50 น. ทำให้เรามีเวลาพอสมควรในภาคเช้า ผมก็เลยออกไปหาซื้อรูปพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หวังว่า จะมีรูปพระองค์ที่ทรงสวม Pallium และเห็นแหวนของพระองค์เต็มยศด้วย แต่ก็ไม่เห็น คงจะพิมพ์ไม่ทัน ไม่เป็นไร ผมเคยเล็งๆ รูปพระไว้รูปหนึ่ง ตั้งใจว่าวันสุดท้าย คำนวณสตางค์ดูก่อนว่าพอซื้อหรือไม่ คำนวณดูแล้วว่ามีสตางค์พอซื้อได้ ก็ไปซื้อ รูปนี้เห็นมีขายเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เชื่อมั๊ยครับท่านผู้ชม ร้านปิดครับ ร้านอื่นเขาเปิดกันหมด แต่ร้านที่มีรูปพระที่ผมตั้งใจจะซื้อวันสุดท้ายนี้กลับปิด เป็นคนไทยก็พูดคำว่าไม่เป็นไร ผมก็ไปหาซื้อของฝากเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ได้ และก็กลับบ้านจัดกระเป๋าเตรียมตัวเดินทาง รถออกจากบ้านพักเวลา 12.00 น. เดินทางไปสนามบินครั้งนี้ เราใช้บริการ Auto Parco Vaticano ซึ่งบริการพิเศษสำหรับพระสังฆราชและพระคาร์ดินัลในราคาพิเศษ ใช้รถมินิบัส เพราะมีคุณพ่อหลายองค์จะไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยได้มาก ทั้งเรื่องกระเป๋า การจัดการ พระสงฆ์ที่กรุงโรมมักจะเก่งในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว อยู่กรุงโรมก็ต้องให้บริการสัตบุรุษผู้มาเยือนอยู่เสมอ พระคุณเจ้าก็ขอบใจพ่อทุกองค์ และยังได้ให้ค่าขนมจำนวนหนึ่งสำหรับพ่อทุกองค์ อย่างที่พระคุณเจ้าได้ทำเสนอมา ไม่เคยขาดเลย ที่สนามบินเราได้รับการบริการอย่างดีจากเจ้าหน้าที่การบินไทย ทางสถานทูตไทยประจำอิตาลีได้อำนวยความสะดวกด้วยการประสานงานมาทางสนามบินก่อนหน้านี้แล้ว
 
พระคุณเจ้าได้พบกับพระคาร์ดินัล Julius Darmaatmadja แห่ง Jakarta บนเครื่องบินด้วย แต่พระคุณเจ้าก็ไปนั่งคุยด้วยไม่นาน เจ้าหน้าที่การบินไทยก็มาเชิญพระคุณเจ้าไปนั่งที่ชั้น 1 ของเครื่องบิน พระคุณเจ้าก็พยายามขอให้ทางการบินไทยเชิญพระคาร์ดินัลแห่ง Jakarta มาด้วย แต่ก็ไม่มีใครสามารถอนุญาตให้ได้อีก เพราะเขาขอไว้เพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น
 
เครื่องบินถึงเมืองไทยตามเวลาที่กำหนดไว้ สิ่งที่ไม่เคยนึกถึงเลยก็เกิดขึ้นแล้ว ท่านสมณทูต Salvatore Pennacchio มายืนรอรับพระคาร์ดินัลที่ทางออกของเครื่องบิน พร้อมกับคุณพ่อ วรยุทธ กิจบำรุง ได้นำช่างกล้องและนักข่าวมาติดตามการกลับมาของพระคุณเจ้าที่สนามบินด้วย
 
นี่แหละครับ เหตุการณ์ทั้งหมดเท่าที่ผมจำได้ และผมถือว่า เป็นความทรงจำที่มีค่าสำหรับผมอย่างมาก ขอบพระคุณพระคุณเจ้าสำหรับโอกาสที่มอบให้แก่ผมในครั้งนี้
 
Arrivederci, il Santo Padre Giovanni Paolo II
Habemus Papam, il Santo Padre Benedetto XVI
 
คำนำ
สำหรับผมแล้ว พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นพระสันตะปาปาที่ใกล้ชิดกับชีวิตสงฆ์ของผมมากที่สุด เป็นพระสันตะปาปาผู้ที่ผมออกนามเกือบทุกวันในบูชามิสซาตลอด 24 ปีของชีวิตสงฆ์ จนกระทั่งตอนนี้ เรามีพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ผมก็ยังคงเอ่ยนามพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ออกมาโดยไม่รู้ตัว มาเซอร์ที่อารามคาร์แมลจึงต้องเขียนกำกับเอาไว้ให้ผมอ่าน เชื่อว่า พระสงฆ์หลายองค์ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน โอกาสที่ได้ติดตามพระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู ไปกรุงโรม ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง ร่วมถวายมิสซาในวัดน้อยส่วนตัวกับพระองค์ก็หลายครั้ง มีโอกาสช่วยมิสซาพระองค์ 1 ครั้ง และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับพระองค์ 1 ครั้ง คิดถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว ผมก็อดที่จะขอบพระคุณพระคาร์ดินัลไม่ได้ที่ให้โอกาสนี้แก่ผม การเดินทางไปกรุงโรมครั้งนี้ของผมจึงมีความหมายมากและน่าจดจำ ผมจึงเขียนบันทึกนี้ไว้กันลืม ทั้งนี้ เพื่อให้ผมสามารถระลึกถึงพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ให้ผมระลึกถึงพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ และให้ผมได้มีโอกาสขอบ พระคุณพระคุณเจ้าของเรา
 
สำหรับพระคาร์ดินัลแล้ว พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เป็นพระสันตะปาปาผู้ที่แต่งตั้งสถาปนาพระคุณเจ้าเป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศไทย เป็นพระสันตะ ปาปาองค์แรกที่เดินทางเสด็จเยี่ยมประเทศไทย 10-11 พฤษภาคม 1984 พระคุณเจ้าเป็นประธานจัดการต้อนรับด้วยความอุตสาหะและเหน็ดเหนื่อย แต่ประสบความสำเร็จด้วยดี อย่างน่าประทับใจยิ่ง นอกจากนี้ ในฐานะพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้งพระสันตะปาปา การเดินทางไปโรมครั้งนี้ย่อมมีความหมายพิเศษจริงๆ เพราะพระคุณเจ้าได้เข้ามามีส่วนในพระศาสนจักรอย่างใกล้ชิดและพิเศษ ไม่ใช่ง่ายที่ใครคนหนึ่งจะมีสิทธิพิเศษนี้ และไม่ง่ายเลยที่จะมีคนไทยคนหนึ่งมีบทบาทอันน่าตื่นเต้นนี้ในพระศาสนจักรสากล
หวังว่า บันทึกนี้จะมีประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับผู้อ่านทุกท่าน
คุณพ่อ สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
 
คำนำผู้จัดพิมพ์
“พระคาร์ดินัลไทยไปเลือกตั้งพระสันตะปาปา” หรือ “Road to the Conclave” เป็นบันทึกประจำวัน ซึ่งคุณพ่อ สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทาง พิธีปลงพระศพพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 และการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ โดยการใช้ภาษาง่ายๆ เบาสมอง แต่เวลาเดียวกัน ก็มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่มีค่าแก่การจดจำ อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของเราคริสตชนไทย เพราะเหตุว่า พระคาร์ดินัลของเราเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปมีส่วนในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลก
 
สำนักมิสซังกรุงเทพฯ จึงเสนอหนังสือเล่มนี้สำหรับทุกท่านที่สนใจ ท่านจะได้พบกับบรรยากาศ เหตุการณ์ที่สำคัญ ผู้คนและการทำงานด้านต่างๆ จากผู้ที่ได้เป็นพยานด้วยตาตนเองที่นครรัฐวาติกัน สำนักมิสซังกรุงเทพฯจึงได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย และยังเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย ขอขอบคุณคุณพ่อ สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ผู้บันทึกเรื่องราวอันมีสาระเหล่านี้ ขอบคุณคุณประภาส เสนะวีณิน ผู้พิมพ์ต้นฉบับจากลายมือที่อ่านค่อนข้างยาก ขอบคุณคุณอภิญญา บุญลาภ ที่ได้ตรวจทาน และแก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้องมากที่สุด นอกจากนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้คำแนะนำ และมีส่วนให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงด้วยดี
คุณพ่อ อดิศักดิ์ สมแสงสรวง
ผู้จัดพิมพ์