สถาบันพระคาร์ดินัล

เรียบเรียงโดย คุณพ่อ ทัศไนย์ คมกฤส
 
ตำแหน่ง “พระคาร์ดินัล” เป็นสมณศักดิ์สูงสุดในพระศาสนจักร(โรมัน)คาทอลิก รองจากสมเด็จพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัล มีหน้าที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำแก่พระสันตะปาปาในงานปกครองพระศาสนจักร เปรียบเสมือนวุฒิสมาชิกหรือองคมนตรีของพระสันตะปาปา นอกจากนั้นยังเป็นหัวหน้าบริหารสมณกระทรวงสมณองค์การ และหน่วยงานอื่นๆ ของพระศาสนจักร เปรียบเสมือนรัฐมนตรี ของพระศาสนจักรและของรัฐวาติกันบางครั้ง พระคาร์ดินัลอาจรับแต่งตั้งเป็นผู้แทนองค์พระสันตะปาปา ไปต่างประเทศในโอกาสสำคัญพิเศษได้อีกด้วย“คณะพระคาร์ดินัล”ซึ่งรวมเรียกว่า“TheSacred College of Cardinals” ยังมีหน้าที่บริหารพระศาสนจักรในระหว่างที่ตำแหน่งพระสันตะปาปาว่างลง (Sede Vacante) อีกด้วย หลังจากที่พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ คณะพระคาร์ดินัลจะต้องมาประชุมกันเพื่อทำการเลือกตั้งพระคาร์ดินัลองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระสันตะปาปาแทนต่อไป   
 
คำว่า “คาร์ดินัล” (ภาษาอังกฤษ“Cardinal” ภาษาลาติน “Cardinalis”) มาจากคำภาษาลาตินว่า “cardo” ซึ่งแปลว่า บานพับ “แกนหมุนอยู่กับที่” “เดือยประดู” ตำแหน่งคาร์ดินัล จึงหมายถึง “บุคคลหลัก” ของงานบริหารในคริสตจักรแต่ละแห่ง หรือที่ดำรงตำแหน่งบริหารงานสำคัญ   ในพระศาสนจักรเป็นการถาวร
 
สถาบัน “คาร์ดินัล” ไม่มีกล่าวถึงเลยในพระคัมภีร์ ทั้งในพันธสัญญาเดิมและในพันธสัญญาใหม่ เพราะเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นภายในพระศาสนจักรกรุงโรมเอง หลักฐานกล่าวถึง ”คาร์ดินัล” มีปรากฏอยู่ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 5 ตั้งแต่แรกตำแหน่งนี้ หมายถึง พระสงฆ์ ซึ่งประจำอยู่กับเขตวัด (tituli) ต่างๆ ของกรุงโรม ในอาณัติของพระสันตะปาปา (ในใจความนี้ตำแหน่ง คาร์ดินัล จึงยังใช้กับพระสงฆ์ประจำในอาสนวิหารสำคัญบางแห่งนอกกรุงโรมอีกด้วย เช่นที่ คอนสแตนติโนเปิล มิลาน ราเวนนา ฯลฯ แต่ในที่สุดตำแหน่งดังกล่าวนอกกรุงโรมก็เลิกไป พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1567 ได้ทรงกำจัดตำแหน่ง คาร์ดินัล ไว้สำหรับกรุงโรมเท่านั้น) แต่ผู้ที่มีตำแหน่ง คาร์ดินัล คือ หัวหน้าคณะสงฆ์ในเขตวัดแต่ละแห่งเท่านั้น (ดังนั้น คำว่า คาร์ดินัล  จึงมีความหมายว่า  “ประมุข”  “หัวหน้า” ด้วย)  คาร์ดินัลหัวหน้าสงฆ์ในเขตวัดของกรุงโรมเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า “พระคาร์ดินัล-สงฆ์” (Cardinal Priests) จำนวนเขตวัดที่มี คาร์ดินัลประจำนี้ แต่เดิมมีจำนวน 25 เขต ในศตวรรษที่ 6 และต่อมาได้เพิ่มเป็น 28 โดยแบ่งขึ้นกับพระมหาวิหารทั้งสี่คือ พระวิหารนักบุญเปโตร, พระวิหารนักบุญเปาโล, พระวิหารนักบุญลอเรนซ์ และพระวิหารสันตะมารีอา มาเจอเร มหาวิหารละ 7 เขต โดยที่คาร์ดินัล เหล่านี้มีหน้าที่มาร่วมศาสนพิธีในมหาวิหารดังกล่าว ตามที่มีกำหนดไว้อีกด้วย
 
นอกจาก พระคาร์ดินัล- สงฆ์ แล้ว ตำแหน่ง คาร์ดินัล ยังเป็นตำแหน่งที่ให้กับ สังฆานุกร (Deacons) ผู้มีหน้าที่เอาใจใส่ดูแลคนยากจนในเขตต่างๆ ทั้ง 7 เขตของกรุงโรมอีกด้วย ต่อมาในสมัยกลาง (Middle Age) การแบ่งเขตดังกล่าวได้ยกเลิกไป แต่ตำแหน่ง พระคาร์ดินัล-สังฆานุกร ยังคงมีอยู่ต่อมา แต่เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งประจำวัดที่เคยเป็น “Diaconia” หรือ สำนักงานเมตตาสงเคราะห์ ที่สังฆานุกรแต่ละท่านเคยปฏิบัติงานอยู่แต่เดิม วัดหรือ Diaconia ดังกล่าวมีจำนวน 7 แห่ง ตามจำนวนเขต ต่อมาจำนวน พระคาร์ดินัล-สังฆานุกร   เพิ่มขึ้นเป็น 16 ในศตวรรษที่ 8 และเป็น 18 ในศตวรรษ ที่ 12 ในจำนวนนี้ 6 ท่าน มีหน้าที่ช่วยศาสนพิธีของพระสันตะปาปาที่มหาวิหารลาเตรันและได้ชื่อว่า “palatine deacons” (สังฆานุกรประจำวัง) แยกจากสังฆานุกรอื่นๆ ที่เรียกว่า regionary deacons (สังฆานุกรประจำเขต) ประมุขของพระคาร์ดินัล-สังฆานุกร เรียกว่า “Arch deacon” (อัครสังฆานุกร) มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยในกรุงโรม และดูแลทรัพย์สินของพระสันตะปาปา จึงนับเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในพระศาสนจักรกรุงโรม รองจากพระสันตะปาปาในสมัยกลาง
 
ในศตวรรษที่ 8 สมัยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 3 (ค.ศ.768-772) เป็นอย่างช้า พระสังฆราชประจำสังฆมณฑล 7 แห่งที่อยู่รอบๆ กรุงโรม คือออสตีอา, ปอร์โต, ซันตา-รูฟีนา (ซิลวา-กันดิดา), อัลบาโน, ซาบีนา, ตุสกุลุม(ฟรัสกาตี) แล ะปาเลสตรีนา ต้องมีหน้าที่พลัดกันมา ประกอบศาสนพิธีที่พระมหาวิหารลาเตรัน  แทนองค์พระสันตะปาปาพระสังฆราชเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า  พระคาร์ดินัล-สังฆราช (Cardinal- Bishops) เพราะทำหน้าที่นอกเขตสังฆมณฑลของตน
 
จึงเห็นได้ว่าในสมัยแรกตำแหน่งคาร์ดินัล เป็นตำแหน่งเฉพาะของคณะสงฆ์แห่งกรุงโรม (ประกอบด้วยพระสงฆ์ สังฆานุกร และพระสังฆราช) ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับพระสันตะปาปา ทั้งในการบริหารและศาสนพิธี   ต่อมาในสมัยพระสันตะปาปาเลโอที่ 9 (ค.ศ.1048-1054) ที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระสันตะปาปา ในงานปฏิรูปพระศาสนจักรที่พระสันตะปาปาทร งเรียกมาจากที่อื่นนอกกรุงโรม ( เยอรมัน ) ก็ได้รับตำแหน่ง คาร์ดินัล ด้วย บุคคลที่รับตำแหน่งนี้จึงไม่จำกัดอยู่แต่แวดวงคณะสงฆ์ชาวโรมเท่านั้น นอกจากนั้นอำนาจหน้าที่ของพระคาร์ดินัลยังแผ่กว้างออกไปนอกกรุงโรมและคาบสมุทรอิตาลีอีกด้วย ในเมื่อ พระสันตะปาปาทรงใช้พระคาร์ดินัลเหล่านี้ ให้เดินทางแทนพระองค์ไปปฏิบัติภารกิจในที่ต่างๆ ทั่วยุโรป แม้ว่าพระคาร์ดินัลชา ติอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้ง  จำนวนพระคาร์ดินัลชาวอิตาเลียน ก็ยังมีจำนวนมากกว่าชาติอื่นๆ ตลอดมายกเว้นในสมัยที่พระสันตะปาปาทรงย้ายสำนักไปอยู่ที่เมืองอาวีญอง ประเทศฝรั่งเศสตอนใต้ ในระยะนั้นพระคาร์ดินัลส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสเช่นเดียวกับพระสันตะปาปา
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1150 คณะพระคาร์ดินัล ( Sacred college of Cardinals ) กลายเป็นองค์การหลัก ในการบริหารงานของพระศาสนจักรในฐานะที่ปรึกษาของพระสันตะปาปา และมีพระคาร์ดินัล-สังฆราชแห่งออสตีอาเป็นหัวหน้า (Dean) คณะพระคาร์ดินัลประกอบด้วยพระคาร์ดินัลทั้ง 3 ขั้นคือ พระคาร์ดินัล-สังฆราช, พระคาร์ดินัล-สงฆ์  และพระคาร์ดินัล-สังฆานุกร นอกจากพระคาร์ดินัล-สังฆราชแห่งออสตีอาที่เป็นหัวหน้าคณะแล้ว พระคาร์ดินัลอีกองค์หนึ่งยังมีตำแหน่ง “Carmerlengo” มีหน้าที่บริหารงานเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระศาสนจักรอีกด้วย
 
ขั้นทั้งสามของพระคาร์ดินัล แต่แรกก็ตรงกับขั้นศีลบวชที่พระคาร์ดินัลแต่ละท่านได้รับนั่นเอง แต่ต่อมาขั้นดังกล่าวอาจไม่ตรงกับความจริงเสมอไป เพราะมีการแต่งตั้งพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลอื่นๆ ให้ดำรงตำแหน่ง “พระคาร์ดินัล-สงฆ์” ประจำวัดในกรุงโรมเป็นเพียงเกียรตินามเท่านั้น จำนวนวัดประจำตำแหน่งจึงเพิ่มจำนวนขึ้นด้วยส่วนตำแหน่ง “พระคาร์ดินัล-สังฆานุกร” ก็มักจะได้แก่พระสงฆ์ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานบริหารต่างๆ ของพระศาสนจักร
 
จำนวนพระคาร์ดินัลในสมัยกลางมีไม่เกิน 53 แบ่งตามขั้นได้ ดังนี้ พระคาร์ดินัล-สังฆราช 7 (ภายหลังลดเหลือเพียง 6), พระคาร์ดินัล-สงฆ์ 28,  พระคาร์ดินัล-สังฆานุกร 18, แต่ความเป็นจริงแล้วจำนวนพระคาร์ดินัลมีน้อยกว่ากำหนดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังศตวรรษที่ 13 เช่นกัน ในสมัยพ ระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 4 (ค.ศ. 1254-1261) จำนวนพระคาร์ดินัลลดลงเหลือเพียง 7 องค์เท่านั้น  พระสังคายนาที่เมืองคอนสแตนส์ (ค.ศ. 1418) กำหนดจำนวนพระคาร์ดินัลไว้เพียง 24 องค์ ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1586 พระสันตะปาปาซิกตุสที่ 5 (ค.ศ. 1585-1590) ได้ทรงกำหนดจำนวนพระคาร์ดินัลไว้ให้เพียง 70 ท่าน ที่ท่านโมเสสตั้งให้เป็นผู้ช่วยปกครองประชากรอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร (เทียบ กดว 11:16-30) โดยแบ่งจำนวนตา มขั้นต่างๆ ดังนี้คือ พระคาร์ดินัล-สังฆราช 6 องค์ (ประจำสังฆมณฑลออสตีอา, อัลบาโนล, ฟรัสกาตี, ปอร์โต-ซันตารูฟีนา, เวลเลตรี และปาเลสตรีนา) พระคาร์ดินัล-สงฆ์ จำนวน 50 องค์ ส่วนมากเป็นพระอัครสังฆราชหรือพระสังฆราชจากสังฆมณฑลต่างๆ ทั่วโลก และพระคาร์ดินัล-สังฆานุกร จำนวน 14 องค์ แต่พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ได้ทรงยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ จำนวนพระคาร์ดินัลในสมัยของพระองค์ ท่านมีมากกว่า 80 องค์ พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลถึง 27 องค์ ทำให้จำนวนพระคาร์ดินัลเพิ่มถึง 103 องค์ จำนวนพระคาร์ดินัลเมื่อปี ค.ศ. 1969 มีถึง 134 องค์ พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่คราวนี้ (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983) ถึง 18 องค์ ทำให้จำนวนพระคาร์ดินัลเพิ่มขึ้นไปถึง 138 องค์ จากชาติต่างๆ ทุกทวีปน่าสังเกตว่าตำแหน่งพระคาร์ดินัลซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงตำแหน่งโดยเฉพาะของคณะสงฆ์ชาวโรม ได้กลายเป็นคณะบุคคลที่มีสมาชิกจากทุกทวีปในโลกเป็นการแสดงออกถึงสากลของพระศาสนจักร คาทอลิกอย่างแท้จริง ถึงกระนั้นสากลภาพนี้ค่อยๆ แสดงออกทีละน้อย แต่แรกคณะพระคาร์ดินัลประกอบด้วยสมาชิก จากคณะสงฆ์ชาวโรมนั้น ต่อมาก็มีสมาชิกจากชาติต่างๆ ในทวีปยุโรป แต่พระคาร์ดินัลส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวอิตาเลี่ยนอยู่นั่นเอง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1875 จึงมีพระคาร์ดินัล องค์แรกของสหรัฐอเมริกาคือ พระคาร์ดินัลยอห์น แมคคลอสกี้ (John McCloskey) แห่งนิวยอร์ค และต้องรอจงถึงปี ค.ศ. 1946 จึงมีพระคาร์ดินัล ชาวจีนองค์แรกคือ พระคาร์ดินัลเตียน (Thomas Tien) ต่อมาในปีค.ศ.1953 ก็มีพระคาร์ดินัลชาว อินเดียองค์แรกคือ พระคาร์ดินัลกราชีอัส (Valcrian Gracias) และในปีค.ศ. 1960 จึงมีพระคาร์ดินัลชาวอัฟริกาผิวดำองค์แรกคือพระคาร์ดินัลลอเรียนรูกัมวา (Laurean Rugambwa)  
 
การเลือกผู้หนึ่งผู้ใดให้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัล ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปาโดยตรง พระคาร์ดินัล-สังฆราชจะต้องเป็นสังฆราชประจำสังฆมณฑลรอบๆ กรุงโรม ดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ในปัจจุบันตำแหน่งสังฆราชประจำสังฆมณฑลดังกล่าวก็เป็นเพียงเกียรตินามเท่านั้น เพราะผู้ที่บริหารสังฆมณฑลดังกล่าวจริงๆเป็นพระสังฆราชอีกองค์หนึ่ง พระคาร์ดินัล-สงฆ์ และพระคาร์ดิ นัล-สังฆานุกรซึ่งแต่แรกเลือกมาจากพระสงฆ์และสังฆานุกรนั้นอาจจะเป็นพระสังฆราชอยู่ก่อนแล้วก็ได้ นอกจากนั้นตลอดเวลาหลายศตวรรษที่แล้วมา คณะพระคาร์ดินัลมักจะมีผู้ที่เป็นฆราวาส (คือยังไม่ได้รับศีลบวช) รวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งอยู่เสมอโดยเฉพาะในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) ซึ่งพวกเจ้านาย หรือพระสันตะปาปามักจะแต่งตั้งญาติพี่น้องหรือพรรคพวกของตน ให้มีตำแหน่งคาร์ดินัล เอาไว้ช่วยตัดสินสนับสนุนนโยบายในการบริหารโดยผู้ที่รับตำแหน่งคาร์ดินัลเหล่านี้มีเพียงแต่เจตนา จะรับศีลบวช “สักวันหนึ่งในอนาคต” เท่านั้น ในสมัยนั้นคณะพระคาร์ดินัลจึงมีหลายท่านที่ยังไม่ได้รับศีลบวชเพราะไม่มีเจตนา หรือเพราะอายุไม่ถึงกำหนดคือเป็นเด็กอายุเพียง 10 ขวบ หรือน้อยกว่านั้น นับเป็นเรื่องที่นำความเสื่อมเสียมาให้พระศาสนจัก รอยู่ไม่น้อย พระสังคายนาที่เมืองเตรนต์ ได้ล้มเลิกธรรมเนียมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ และข้อกำหนดของพระสันตะปาปาซิกตุสที่ 5 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะรับเลือกเป็นพระคาร์ดินัลว่า ต้องมีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมความศักดิ์สิทธิ์และดำเนินชีวิตน่าเคารพนับถืออายุ (อย่างน้อยที่สุด) ของพระคาร์ดินัลแต่ละขั้นต้องถือตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับผู้รับศีลบวชขั้นนั้นๆ คือ 22 ปีสำหรับสังฆานุกร, 23 ปีสำหรับพระสงฆ์ และ 30 ปี พระสังฆราช นอกจากนั้นถ้าผู้รับเลือกยังไม่ได้รับศีลบวชเมื่อรับแต่ งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล จะต้องได้รับศีลบวชตามขั้นพระสงฆ์เป็นอย่างน้อย และพระสันตะปาปาบุญราศี ยอห์น ที่ 23 กำหนดให้ พระคาร์ดินัลทุกองค์ที่ยังไม่ได้เป็นพระสังฆราชเมื่อรับแต่งตั้ง ต้องรับศีลบวชเป็นพระสังฆราชเสียก่อน (15 เมษายน ค.ศ. 1962)
 
ตำแหน่งพระคาร์ดินัลไม่ใช่ศีลบวช การแต่งตั้งจึงไม่ใช่พิธีบวชอย่างที่บางท่านอาจจะเข้าใจ แต่เป็นเพียงการเลื่อนสมณศักดิ์เท่านั้น พิธีแต่งตั้งกระทำในการประชุมคณะพระคาร์ดินัลกับพระสันตะปาปา ที่เรียกว่า “Consistory” ซึ่งแยกเป็น “การประชุมภายใน” (Secret Consistory) ที่พระสันตะปาปาทรงแจ้งรายชื่อผู้ที่จะรับตำแหน่งพระคาร์ดินัลให้คณะพระ คาร์ดินัลทราบ การแจ้งนี้ทำให้พระคาร์ดินัลใหม่ได้รับสิทธิที่จะเข้าประชุมเลือกพระสันตะปาปาได้ทันทีรวมทั้งอภิสิทธิ์อื่นๆ ของพระคาร์ดินัล หลังจากนั้นจะมีพิธีมอบหมวกแดง (biretta) ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระคาร์ดินัลในการประชุมภายนอก (Public Consistory) และหลังจากนั้นพระคาร์ดินัล-สงฆ์ (เช่นพระคาร์ดินัลมีชัยของเรา)และพระคาร์ดินัล-สังฆานุกร ก็จะไปกระทำพิธีเข้าครอบครองวัดประจำตำแหน่งในกรุงโรมตามโอกาส
 
เครื่องหมายประจำตำแหน่งของ พระคาร์ดินัล โดยเฉพาะคือ หมวกปีกกว้าง (galero, ซึ่งในปัจจุบันเลิกใช้แล้ว) และหมวก “บีเร็ตต้า” (biretta หมวกทรงสี่เหลี่ยม สันด้านบนเป็นสามแฉก) สีแดง (เลือดนก) ซึ่งเป็นสีของอาภรณ์อื่นๆ ของพระคาร์ดินัลด้วย (สีอาภรณ์ของพระสังฆราชคือ สีม่วง) สีแดงนี้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง โลหิตที่พระคาร์ดินัล จะต้องมีความกล้าหาญถึงกับยอมสละได้ เพื่อป้องกันและเทิดทูนคำสอนที่พระศาสนจักรสั่งสอน เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความสงบสุขของประชากรคริสตชน เพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนจักร ฉะนั้นในพิธีแต่งตั้งพระสันตะปาปาจะกล่าวกับพระคาร์ดินัลใหม่ ขณะที่ทรงมอบหมวกแดงประจำตำแหน่งนี้ว่า “เพื่อเป็นเกียรติแด่พระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและเป็นอาภรณ์ประดับสันตะสำนัก ท่านจงรับหมวกแดงอันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งคาร์ดินัลอันสูงส่ง หมวกแดงนี้หมายความว่า ท่านจะต้องแสดง ตนกล้าหาญ แม้กระทั่งจะต้องหลั่งโลหิตถึงแก่ชีวิต เพื่อยกย่องเทิดทูนความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสันติภาพและความสงบสุขของประชากรคริสตชน เพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เดชะพระนามพระบิดาและพระบุตร และพระจิต”
 
เนื่องจากตำแหน่ง คาร์ดินัล เป็นสมณศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในพระศาสนจักรรองจากพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลแต่ละท่านจึงมีศักดิ์เทียบได้กับ “เจ้าชาย” ในราชวงศ์ พระสันตะปาปาอูรบันที่ 8 (ค.ศ.1630) ทรงอนุญาตให้พระคาร์ดินัลใช้คำนำหน้า ชื่อว่า “Eminence”   (พระสันตะปาปาใช้คำนำหน้านามว่า Holiness เช่น “His Holiness Pope John-Paul II” ส่วนพระสังฆราชใช้ว่า “ Excellency”) นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 พระคาร์ดินัลมีศักดิ์เหนือบรรดาพระสังฆราชและอัครสังฆราชและในศตวรรษที่ 15 ยังมีศักดิ์เหนือบรรดาพระอัยกาด้วย (Patriarch เป็นตำแหน่งประมุขของพระศาสนจักรสำคัญแต่โบราณ โดยเฉพาะจากพระศาสนจักรทางตะวันออก (กลาง) เช่น อเล็กซานเดรีย, เยรูซาเล็ม, คอนสแตนติโนเปิล, เวนิส, ลิสบอน ฯลฯ) นอกจากนั้นพระคาร์ดินัลแม้เป็นเพียงพระสงฆ์ ยังมีสิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมสังคายนาได้ด้วย สิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมสังคายนานี้เป็นสิทธิ์ของพระสังฆราชเท่านั้น
 
ในบรรดาหน้าที่และอภิสิทธิ์ต่างๆ ของพระคาร์ดินัลตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรนั้น หน้าที่ที่เห็นได้ชัดเจนกว่าเพื่อนก็คือ การเลือกตั้งและรับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปา แต่เดิมทีเดียวพระสันตะปาปา ในฐานะที่เป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม ได้รับเลือกจากบรรดาสัตบุรุษและคณะสงฆ์ของกรุงโรมให้ดำรงตำแหน่งต่อมา บรรดาพระสังฆร าชของสังฆมณฑลรอบๆ กรุงโรมก็มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาด้วย และเมื่อตำแหน่งคาร์ดินัลเพิ่มความสำคัญขึ้นในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลก็มีสิทธิ์มากขึ้นในการเลือกพระสันตะปาปา  ในปี ค.ศ. 1059 พระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 2 ทรงกำหนดให้พระคาร์ดินัลเท่านั้นมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปาได้ ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดการแทรกแซงของผู้ปกครองบ้านเมือง และพระจักรพรรดิในการกำหนดตัวผู้ที่จะขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ตามกฎนี้ทีแรกพระคาร์ดินัล-สังฆราชทั้ง 6 องค์ จะต้องเลือกและเสนอชื่อพระคาร์ดินัลจำนวนหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมน่าจะเป็นพระสันตะปาปาได้ ให้คณะคาร์ดินัลลงคะแนนตัดสินเลือกท่านหนึ่งจากรายชื่อนี้  แต่ต่อมาในปีค.ศ. 1139 พระสังคายนาลาเตรัน ที่ 2    ได้ยกเลิกการเสนอรายชื่อผู้ควรที่รับเลือกนี้เสีย และในปี ค.ศ. 1179 พระสังคายนาลาเตรัน ที่ 3 ก็กำหนดให้ผู้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนพระคาร์ดินัลที่ออกเสียงได้เป็นพระสันตะปาปาทันที กฎนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ แต่พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ยังกำหนดไว้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 ด้วยว่า พระคาร์ดินัลที่มีอายุเกิน 80 พรรษาแล้วไม่มีสิทธิลงคะแนนและรับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาอีก และจะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ของพระศาสนจักรและของรัฐวาติกันด้วย   
 
การลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปากระทำที่กรุงโรมเป็นการภายในระหว่างพระคาร์ดินัลเรียกว่า “Conclave” (คำว่าภาษาลาตินแปลว่า “ห้อง” ที่ปิดกุญแจ) ไม่มีการติดต่อกับภายนอก จนกว่าจะทำการเลือกตั้งสำเร็จแล้ว ผลการลงคะแนนเลือกตั้งได้รับการประกาศให้ประชาชนที่มาชุมนุมรอคอยทราบ ที่บริเวณลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตร โดยใช้สัญญาณควันทางปล่องไฟ ถ้าการลงคะแนนยังไม่ได้ 2 ใน 3 ที่ต้องการ ควันจะออกมาเป็นสีดำ แสดงว่ายังไม่มีพระสันตะปาปา  สัญญาณควันนี้จะปรากฏให้เห็นวันละ 2 ครั้งแต่ถ้าควันออกมาเป็นสีขาว ประชาชนก็จะทราบว่าการเลือกตั้งสำเร็จได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้วบรรยากาศในลานพระวิหารนักบุญเปโตรระหว่างการเลือกตั้งพระสันตะปาปานับว่าเป็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นระทึกใจอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน
 
เท่าที่บรรยายมานี้ คงทำให้ท่านผู้อ่านทราบเรื่องราวกับความหมายของตำแหน่ง และหน้าที่พระคาร์ดินัลได้บ้าง พอสมควรรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆอาจจะทำให้สับสนยิ่งขึ้น จึงขอจบบทความเรื่อง สถาบันพระคาร์ดินัล เพียงเท่านี้.
                                                                                                                  
                                                                                           ข้อมูลจากหนังสือ บนศิลานี้สมเด็จพระสันตะปาปา