การแห่ของคนต่างศาสนา (พระสังฆราช เดอ โลเลียร์ ขัดสู้)

 
 
ปี ค.ศ.1748-1749 ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรง และเป็นผลเสียหายแก่พระศาสนจักรเป็นอย่างมากกล่าวคือ เนื่องในโอกาสที่ขุดพบบ่อทองคำที่บางสะพาน พระเจ้าบรมโกศ ทรงมีรับสั่งให้หล่อพระพุทธบาทข้างหนึ่งกับดอกบัวดอกหนึ่งที่เป็นทอง และให้ทำการแห่แหนอย่างสง่างาม
 
ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1748  มีคนมาเรียนพระสังฆราชโลเลียร์ว่า โดยพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินพวกคริสตังต้องไปร่วมพิธีแห่ด้วย พระสังฆราชโลเลียร์ตอบกลับไปว่า ไปร่วมแห่ด้วยไม่ได้  ทางการก็เกิดความขัดแย้งเริ่มรังแกพวกคริสตัง ขัดขวางมิให้ไปร่วมพิธีมิสซาบังคับให้ทำงานหนัก และโดนขู่ที่จะถูกจับใส่คุก
 
เจ้าพระยาคลังสั่งให้เรียกพระสังฆราชไปพบกล่าวว่า “ในการแห่นี้ เราไม่ได้บังคับให้พวกท่านไหว้พระของเรา   หรือสวดวิงวอนพระของเราดอก  ท่านจะสวดวิงวอนพระของพวกท่านก็ได้ เราขอให้พวกท่านทำแต่กิจการภายนอกเท่านั้น  ส่วนความตั้งใจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญนั้นให้ท่านมุ่งไปทางอื่นตามใจเถิด”
 
เป็นที่เห็นได้ชัดว่า บุคคลที่พูดเช่นนี้หารู้ไม่ว่า มโนธรรมของคริสตังเป็นอย่างไรแต่เหตุผลที่เขาอ้างนั้น มิใช่ว่ามีแต่เขาที่อ้าง หรือมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  เหตุผลที่อ้างเช่นนี้มีในประเทศ คนต่างศาสนาทั่วไป  และเราเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้จากปากของขุนนางจีนและญวน ตลอดจน เสนาอำมาตย์ชาวโรมัน เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าความจริงนั้นบังคับให้ต้องทำสิ่งใด
 
พระสังฆราช โลเลียร์ ตอบว่า “เมื่อกิจการอันหนึ่งต้องห้าม และไม่ดีในตัวของมันแล้ว ความตั้งใจก็ไม่พอสำหรับกิจการนั้นดีได้” เมื่อเห็นพระสังฆราชชี้แจงอย่างจริงจังดังนี้ รัฐบายสยามจึงอ่อนข้อไม่บีบบังคับให้คริสตังไปร่วมในการแห่งครั้งแรก แต่ได้สั่งอีกครั้งหนึ่งมิให้คนสยามและมอญนับถือศาสนาคริสตัง ครั้นเมื่อจะทำการแห่อีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม ค.ศ.1749 ทางการได้รบเร้าจะให้พวกคริสตังไปร่วมในการแห่อีก เขาไม่ยอม ข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งได้สั่งให้จับคริสตังหลายคนไปทำงานหนัก แต่รัชทายาทได้ทรงทักท้วง เขาจึงปล่อยคริสตังไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคริสตังยังคงถูกขู่เข็ญ และรบกวนอยู่เสมอ พระสังฆราชจึงนำรูปภาพชาวยุโรปสี่ภาพ กระจกส่องหน้าหนึ่งบาน กับของเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ไปถวายเอาใจเจ้าพระยาคลัง เรื่องก็จะดูเหมือนเลิกแล้วกันไป แต่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทางการได้สั่งเขียนย้ำถ้อยคำที่จารึกบนหินแห่งความอัปยศและได้ลบเลือนไปบ้างเสียใหม่.