องค์ที่ 182 สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 4 (Pope Urban IV ค.ศ.1261-1264)


สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 4
 
(Pope Urban IV ค.ศ. 1261-1264)
 
พระองค์เป็นชาวฝรั่งเศส เดิมชื่อ ชาค์ส ปองตาเลออง เกิดที่หมู่บ้านตรอย (Troyes) เป็นบุตรของช่างทำร้องเท้า ได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยปารีส ภายหลังได้บวชเป็นพระสงฆ์ประจำอาสนวิหาร (Cannon) ที่เมืองลาโอน และได้บวชเป็นรองสังฆานุกรที่เมืองลีเอ็จ ท่านได้รับหน้าที่ผู้แทนของพระสันตะปาปาไปเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1253 และทำงานอย่างดี จนได้รับอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชแห่งแวร์ดุนในปี ค.ศ. 1255 โดยบังเอิญพระองค์ได้มาที่วิแตร์โบ ตอนที่พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ และขณะที่พระคาร์ดินัลทั้งแปดกำลังประสบปัญหาตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นพระสันตะปาปาดี ที่สุดพวกเขาเลือกท่านชาค์สซึ่งขณะนั้นมีศักดิ์เป็นพระอัยกาแห่งเยรูซาเล็ม ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1261 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาอูรบันที่ 4
 
ตลอดสมัยปกครองของพระสันตะปาปาอูรบัน พระองค์ได้อุทิศตนเพื่อปฏิรูประบบการเงิน และความสัมพันธ์กับรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของราชวงศ์โฮเฮนสเตาเฟินที่มักจะสร้างปัญหากับสันตะสำนักเสมอ พระสันตะปาปาอูรบันเลือกที่จะประทับอยู่ที่วิแตร์โบและที่ออร์วิเอโตมากกว่าที่จะไปโรม พระองค์ได้มอบอำนาจดูแลโรมกับเจ้าหน้าที่จากตระกูลกัลฟ์ เพราะที่โรมเองปัญหาความรุนแรงยังปะทุขึ้นอยู่บ่อยๆ แทนที่จะสนับสนุนเมนเฟรดผู้มีฐานะเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งให้ขึ้นสู่อำนาจ พระองค์เลือกที่จะสนับสนุนชาร์ลแห่งอันจู ซึ่งเป็นน้องชายพระเจ้าหลุยส์ ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสมากกว่า พระองค์ได้มอบซิซิลีให้ชาร์ลดูแลและภายหลังไม่กี่ปีชาร์ลแห่งอันจู ก็ได้กำจัดอำนาจขางราชวงศ์โฮเฮนสเตาเฟินให้หมดไปได้
 
พระสันตะปาปาอูรบันเป็นที่ชื่นชอบของนักบุญโธมัสเป็นอย่างยิ่ง และพระองค์เองก็ชื่นชอบนักบุญโธมัสและสนับสนุนงานเขียนของท่านอย่างมากเช่นกัน พระสันตะปาปาอูรบันที่ 4 ทรงประกาศใน ค.ศ. 1264 แก่พระศาสนจักรทั่วโลก กำหนดให้สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า (Feast of Corpus Christi) เพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ในวันพฤหัสหลังอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 ตุลาคม ที่เมืองเปรูยา คำสั่งดังกล่าวจึงถูกละเลยในหลายประเทศ จนกระทั่งสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 5 พระองค์ทรงยืนยันคำสั่งนี้ในการประชุมสังคายนาที่เวียนนาระหว่าง ค.ศ. 1311-12