พระสังฆราช อาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์

  • Print
 
พระสังฆราช อาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์ ประมุขมิสซังสยาม เกิดปี ค.ศ.1745 ที่เมืองตูลูส แขวงโฮ๊ตกาโรน ท่านออกจากบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศเดือนธันวาคม ค.ศ.1769 ท่านได้รับมอบหมายให้ไปมณฑล เสฉวน แต่สภาพการณ์ทำให้ท่านมาถึงกรุงสยาม ตอนแรก ท่านได้เป็นอธิการบ้านเณร ที่พระสังฆราชเลอบ็อง พยายามจัดตั้งขึ้นมาแทนบ้านเณรซึ่งพวกพม่าทำลายไปแล้ว 
 
ในปี ค.ศ.1775 ท่านถูกจับเข้าคุก พร้อมกับ พระสังฆราชและคุณพ่อกูเด  เพราะข้าราชการคริสตังสามคนปฏิเสธไม่ยอมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งพระภิกษุได้จัดเตรียมไว้ในวันสาบานตัวถือซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในปี ค.ศ.1779 ท่านถูกขับไล่ออกจากกรุงสยามด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน ไปอยู่ที่ปีนัง
 
ปี ค.ศ.1782 ท่านไปรัฐเกดาห์ และที่นั่น ท่านพบว่ามีคริสตังบางคนไม่รู้เรื่องศาสนา และมีพวกมะหะหมัด ซึ่งไม่แยแสต่อความร้อนรนแพร่ธรรมของท่าน
 
ปี ค.ศ.1785 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองประมุขมิสซัง แล้วในปีเดียวกันนี้ ท่านได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิส และประมุขมิสซังสยาม ท่านได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่เมืองปอนดิเชรี วันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1787 จากพระสังฆราชชังเปอนัว ต่อจากนั้น ท่านไปที่เกาะปีนัง ซึ่งเพิ่งตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ ท่านเรียกพวกคริสตังวัดนักบุญมีคาแอล  แห่งรัฐเกดาห์ มาอยู่ที่นั่น และเรียกพวกศิษย์เก่าจากบางกอก มาให้การอบรมต่อไป  ท่านจัดตั้งโรงพิมพ์เล็กๆ ขึ้นโรงหนึ่ง และจัดสร้างวัดหลังหนึ่ง ให้ชื่อว่า วัดอัสสัมชัญ เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นบนเกาะนี้ 
 
เนื่องจากยังกลัวปัญหายุ่งยากกับรัฐบาลสยามที่บางกอก ท่านจึงยังไม่กลับไป ทั้งยังไม่ส่งมิสชันนารีไปด้วย ท่านคิดจัดตั้งวัดสำคัญต่างๆ ของมิสซังที่ปีนัง ที่เกดาห์ และที่มะริด 
 
ปี ค.ศ. 1791 ท่านออกเดินทางไปเกาะถลาง (ภูเก็ต)  เวลานั้นอยู่ในการดูแลปกครองของคุณพ่อราฟาแอล ท่านกลับไปที่นั่นอีกในปี ค.ศ.1793  และโปรดศีลล้างบาปให้น้องสาวของท่านผู้ว่าฯ ท่านตั้งใจไว้ว่าจะไปที่นครศรีธรรมราช แต่สงครามไม่เอื้ออำนวยให้ไปได้ พระสังฆราชมอบหมายให้คุณพ่อแร็กตังวัลด์ อยู่ที่เกาะปีนัง ให้คุณพ่อกาเว อยู่ที่เกาะถลาง (ภูเก็ต) ให้คุณพ่อฟลอรังส์  ไปอยู่ที่จันทบุรี ส่วนท่านเองไปที่บางกอก  เมื่อปี ค.ศ.1794 ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส และอธิการบ้านเณร และดูแลบริหารงานทั่วไปของมิสซัง ต้องต่อสู้กับชาวโปรตุเกสบางคนที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจของท่าน แต่ร้องเรียนไปยังพระสังฆราชแห่งมาเก๊า ปัญหายุ่งยากเหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในปี ค.ศ.1798 เพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นปรปักษ์ แล้วพวกขุนนางโกรธที่ไม่สามารถลักพาตัวหญิงสาวคริสตังสองคนไปได้ จึงหาเรื่องกับพระสังฆราช
 
ช่วงปีหลังๆ ของท่านน่าเศร้า เพราะขาดแคลนพระสงฆ์และทุนทรัพย์เป็นอย่างมาก เพราะมีการปฎิวัติในฝรั่งเศส ท่านคิดถึงวิธีการเพิ่มจำนวนผู้สนใจเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศเท่าที่สามารถรับได้ด้วย กระนั้นหรือ  น่าประหลาดใจที่พบว่า ในจดหมายของท่านลงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1807  มีการระบุอย่างชัดแจ้งถึงวิธีการต่างๆ  ซึ่งเขาจะใช้ในภายหลังดังนี้ : “ควรจัดการแบบที่ให้บ้านเณรสามารถรับทั้งผู้ที่เป็นพระสงฆ์แล้ว และผู้ที่ได้รับศีลบวชน้อย หรือแม้แต่ผู้ที่ยังเป็นฆราวาส เพื่อให้การอบรมในบ้านเดียวกัน นอกเสียจากว่าเราสนใจจัดตั้งสถาบันอีกแห่งหนึ่ง สำหรับเยาวชน ข้าพเจ้าพอใจการจัดตั้งเช่นนี้มาก ข้าพเจ้าหมายความว่า ถ้าพวกเณรแยกกันอยู่พวกละบ้าน หรืออย่างน้อยก็แยกเป็นแผนก.” ในช่วงเกือบ 25 ปี ที่เป็นพระสังฆราช ท่านได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์พื้นเมือง 8 องค์
 
ในปี ค.ศ. 1810 ท่านได้เลือกคุณพ่อฟลอรังส์  เป็นพระสังฆราชผู้ช่วย ขณะที่ท่านไปจันทบุรี เพื่อรับคำปฏิญาณของภคินีชาวญวณบางรูป  ท่านก็ถึงแก่มรณภาพที่วัดนี้ ในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1810 ท่านได้เขียนหนังสือภาษาไทยหลายเล่ม “เพื่อใช้สอนศาสนา และเพื่อบำรุงความศรัทธา.” ที่มีหนังสือคำสอนพิมพ์ขึ้นที่บางกอก ในปี ค.ศ.1796 นั้น  คงจะเป็นท่านจัดทำทั้งหมดหรือไม่ก็บางส่วน.