คุณพ่อ เอมิล หลุยส์ ฟรังซัว (ยอแซฟ) ลมบาร์ด

 
 

คุณพ่อ เอมิล หลุยส์ ฟรังซัว (ยอแซฟ) ลมบารด์

Émile LOMBARD

 
 
คุณพ่อ เอมิล หลุยส์ ฟรังซัว (ยอแซฟ) ลมบารด์  เกิดวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1849 ที่หมู่บ้านลองกอง อำเภอเบเนวัง เอ ชาร์บียัก แขวงโฮ๊ตส์อัลปัส  คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1868 คุณพ่อรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1872  และออกเดินทางไปมิสซังสยาม วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1872  เมื่อมาถึง คุณพ่อมุมานะเรียนภาษาไทย เนื่องจากคุณพ่อมีความจำดีเยี่ยม และพลังแรงไม่ค่อยเหมือนใคร คุณพ่อจึงก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และภายในระยะเวลาไม่นาน คุณพ่อก็สามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้
 
คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลวัดซางตาครู้ส ในกรุงเทพฯ และคุณพ่อได้ทำการแพร่ธรรมอยู่ที่นี่เป็นเวลา 2 ปี
 
ต่อจากนั้น ปี ค.ศ. 1974 คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปบางช้างช่วยดูแลพวกเณร ซึ่งคุณพ่อ สามารถเข้ากับพวกเขาได้ทันทีทันใด ด้วยความชอบพอรักใคร่
 
ระหว่างปิดเทอมเดือนมกราคม ค.ศ. 1877 คุณพ่อได้เริ่มทำงานแพร่ธรรมแบบใหม่ บรรดามิชชันนารีที่รับผิดชอบดูแลบ้านเณร อันได้แก่ คุณพ่อรูสโซ อธิการ และคุณพ่อลมบารด์ คิดว่าไม่สามารถใช้เวลาพักผ่อนได้ดี เท่ากับการพาพวกนักเรียนออกเดินทางไปสำรวจทางเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการศึกษาทัศนาจร คุณพ่อทั้งสองใช้โอกาสนี้ในการเยี่ยมเยียนหมู่บ้านคนต่างศาสนาที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ และทำการประกาศข่าวดี ถ้าไม่ได้ด้วยการเทศน์สอนตามระบบ อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาได้รู้จักข่าวดีด้วย การสนทนากัน โดยทั่วๆไป คุณพ่อทั้งสองได้รับการต้อนรับอย่างดี และคำพูดต่างๆ ของคุณพ่อก็มีคนรับฟังด้วยความเคารพ มีสองครอบครัวจากบ้านแป้ง มณฑลเมืองพรหม ทางเหนือของกรุงเทพฯ ขอเข้าศาสนาเป็นคริสตัง
 
ที่นั่น คุณพ่อรูสโซล้มป่วยลง จึงกลับไปกรุงเทพฯ ส่วนคุณพ่อลมบารด์ก็เดินทางออกแพร่ธรรมแต่เพียงผู้เดียวกับพวกเณร  ไปทางเหนือจนเลยเมืองพิษณุโลก ระยะทางกว่า 80 หลักไปทางเหนือของนครหลวง
 
ในระหว่างการเดินทางนี้ คุณพ่อได้เขียนแผนที่ลำน้ำอย่างถูกต้องเท่าที่ทำได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้สอนคำสอนพวกคนลาวซึ่งแสดงความพร้อมดีทุกหนทุกแห่ง นอกจากนั้น คุณพ่อยังได้พบปะคริสตังบางคนที่กระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนา โดยมิได้มีโอกาสพบปะมิชชัน นารีสักองค์เลย และช่วยให้พวกเขากลับคืนดีกับพระ เนื่องด้วยพวกเขามิได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มาเป็นเวลานานปี   
 
เมื่อพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ทราบเรื่องอย่างละเอียด การออกแพร่ธรรมแบบนี้ตามท้องถิ่นซึ่งยังไม่เคยมีมิชชันนารีเดินทางไป และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการเดินทางที่สะดวกง่ายดาย ทางลำน้ำเป็นทางที่สามารถไปถึงได้ทุกฤดูกาล พระสังฆราชจึงมอบหมายให้คุณพ่อลมบารด์ทำงานนี้ของคุณพ่อต่อไป และให้ดำเนินการจัดตั้งวัดแห่งหนึ่งที่ซึ่งคุณพ่อจะได้รวมคริสตังที่กระจัดกระจาย และพวกคนต่างศาสนาซึ่งปรารถนาเข้ามาถือความเชื่อคริสตัง ให้มาอยู่รวมกัน
 
คุณพ่อได้เลือกเอาบ้านแป้งเป็นที่ตั้งวัด เพราะที่นั่น มีสองครอบครัวที่เคยขอกลับใจเข้าศาสนา อาศัยความร้อนรน และความขยันขันแข็งของคุณพ่อ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี  ก็ได้จัดตั้งกลุ่มคริสตชนเล็กๆ ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยพวกคริสตังเก่า (ญวนเดิมอยู่สามเสน) และพวกคริสตังใหม่กับพวกที่กำลังเรียนคำสอนอีกด้วย คุณพ่อจึงสร้างวัดไม้ไผ่ หลังแรก ในปี ค.ศ. 1877 
ปี ค.ศ. 1878 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์  ส่งคุณพ่อดาแบง มิชชันนารีมาใหม่ๆ ให้เป็นพ่อปลัดผู้ช่วย
 
เวลานี้  กิจการงานของคุณพ่อก็เจริญก้าวหน้าขึ้น  จึงขยายวัดกว้างใหญ่ขึ้น  และสร้างบ้านพักพระสงฆ์พร้อมด้วยโรงเรียน 2 แห่ง ก็ได้มีการจัดสร้างด้วย มีคริสตัง 200 คน รวมกลุ่มกันอยู่และจัดเป็นกลุ่มคริสตชนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เวลานั้น มีการออกเยี่ยมเยียนคริสตังอื่นๆ ตามริมฝั่งแม่น้ำทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง และก็อยู่ห่างกันไกลพอสมควร ดังนี้ พวกคนต่างศาสนาก็ได้รู้จักความเชื่อที่แท้จริง ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น
 
งานต่างๆ นี้ได้บั่นทอนสุขภาพของคุณพ่อลมบารด์ แต่คุณพ่อก็เคร่งกับตัวเอง  คุณพ่อไม่บ่น และไม่ต้องการถูกบ่นว่า เมื่อคุณพ่อถูกเรียกตัวไปอยู่ที่บ้านเณรบางช้าง สุขภาพของคุณพ่อก็ยังพอไปได้อยู่อีกระยะหนึ่ง แต่โรคหืดประจำตัวซึ่งคุณพ่อทุกข์ทรมานมานานแล้ว ก็เข้าแทรกแซงบ่อยขึ้น จนทำให้สุขภาพของคุณพ่ออ่อนแรงลงมาก
 
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1883 คุณพ่อต้องทรมานอย่างร้ายแรงมากเกือบทันทีทันใด         เป็นการทุกข์ทรมานจากโรคตับอักเสบ เราต้องพาคุณพ่อเข้ากรุงเทพฯ ทันที ที่นั่น การเอาใจใส่ดูแลของพวกเพื่อนมิชชันนารี และของนายแพทย์ชาวยุโรปคนหนึ่ง ก็ไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้
 
เมื่อเราสังเกตเห็นว่าอาการของคุณพ่อหนักมาก พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ก็ได้โปรดศีลเสบียงให้คุณพ่อ โดยมีพวกมิชชันนารีประจำกรุงเทพฯ อยู่ร่วมด้วย คุณพ่อรับศีลนี้ด้วยความเชื่อและความศรัทธา เป็นการพลีชีพด้วยใจกว้างเสียสละ ทุกๆ ครั้งที่เราขอให้คุณพ่อยกจิตใจขึ้นหาพระ คุณพ่อก็ตอบทันทีว่า "พระเจ้าข้า พระเป็นเจ้า!" ความอดทนเป็นเลิศของคุณพ่อท่ามกลางความทุกข์ทรมานอันร้ายฉกรรจ์ ช่วยเสริมสร้างจิตใจทุกคนที่เข้าใกล้ของคุณพ่อ 
 
คืนก่อนมรณภาพ ในขณะที่เราสวดภาวนาเร้าวิงวอนสำหรับผู้ใกล้จะตาย คุณพ่อก็ตอบรับบทเร้าวิงวอน แม้คุณพ่อจะอ่อนแรง และพยายามออกเสียง พูดซ้ำอยู่ไม่หยุดว่า “พระเจ้าข้า พระเป็นเจ้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด!” โดยเน้นเสียงที่มิอาจบรรยายถึงความเชื่ออันร้อนรน
 
คุณพ่อสิ้นใจอย่างราบเรียบ วันศุกร์ที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1883  เวลาประมาณ 3 โมง ล้อมรอบด้วยเพื่อนพระสงฆ์จำนวนมาก หลังจากได้รับการอภัยบาปครั้งสุดท้าย และได้รับพระคุณการุณบริบูรณ์
 
กลุ่มชาวฝรั่งเศสทั้งหมดและคริสตังในกรุงเทพฯ เกือบทุกคน มาร่วมพิธีปลงศพ ซึ่งประมุขมิสซังเป็นประธานประกอบพิธี
 
ร่างอันไร้วิญญาณของคุณพ่อพักอยู่ในวัดซางตาครู้ส ที่บันไดพระแท่น บรรดาสัตบุรุษเก่าของคุณพ่อซึ่งได้ลิ้มรสความร้อนรนของคุณพ่อตอนแรก ได้ขอร้องให้ฝังศพคุณพ่อไว้ท่ามกลางพวกเขา