วัดซางตาครู้ส (วัดกุฎจีน)

  • Print
 

วัดซางตาครู้ส (วัดกุฎีจีน)
 
112 ซอยกุฎีจีน  ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี
กรุงเทพฯ 10600  โทร.0-2472-0153 ถึง 4   โทรสาร 0-2465-0930
 
เมื่อทหารพม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาใน ปีค.ศ.1767 คริสตังที่กรุงศรีอยุธยาต่างก็หลบหนีกระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว คุณพ่อกอรร์ (Corre) ซึ่งลี้ภัย ไปอยู่ประเทศเขมรจึงได้เดินทางกลับมายังเมืองบางกอก  วันที่ 4 มีนาคม  ค.ศ. 1769  พร้อมด้วยคริสตัง  4  คน เป็นญวน 3 คน และไทย 1 คน  ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งที่บางกอกได้รับ  คุณพ่อที่บ้านของตน  ในวันรุ่งขึ้น คุณพ่อกอรร์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้รับการต้อนรับอย่างดี พระองค์ได้ประทานเงิน 20 เหรียญ (กษาปณ์)  กับเรือหนึ่งลำ แก่คุณพ่อ และยังสัญญาจะพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้างวัด
 
คุณพ่อกอรร์เป็นพระสงฆ์ที่ขยัน เข้าใจการทำงาน และมีใจร้อนรนเพื่อการศาสนาโดยแท้ คุณพ่อได้พบคริสตังจำนวน  14 คน รวมกันอยู่ใกล้ๆ ป้อมแห่งหนึ่งที่บางกอก  และคริสตังจากที่อื่นๆ อีก  108  คน  ได้มาหาคุณพ่อ  คุณพ่อกอรร์คาดหวังว่าถ้ารวบรวมคริสตังที่หนีกระจัดกระจายกลับมาแล้ว คงจะรวบรวมได้ราว 400  คน  ซึ่งคริสตังเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวโปรตุเกส
 

ในที่สุด คุณพ่อกอรร์ก็ได้รับพระราชทานที่ดินซึ่งเป็นที่ดอนแห่งหนึ่งตามที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสัญญาไว้  และการโอนที่ดินได้ทำสำเร็จเด็ดขาด เมื่อวันที่ 14 กันยายน  ค.ศ.1769 คุณพ่อกอรร์จึงตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “ค่ายซางตาครู้ส” เพื่อระลึกถึงวันที่ได้รับพระราชทานที่ดิน  ซึ่งตรงกับวันฉลองเทิดทูนไม้กางเขน และคุณพ่อกอรร์ก็ได้จัดสร้างวัดน้อยชั่วคราวขึ้นหลังหนึ่งบนที่ดินผืนนี้  พร้อมกับตั้งชื่อวัดนี้ว่า  “วัดซางตาครู้ส”  ในเวลานั้นสัตบุรุษที่นี้ส่วนมาเป็นเชื้อสายโปรตุเกส
 
เนื่องจากปี  ค.ศ.1767-1769 ไม่มีพระสงฆ์อยู่ในเมืองไทย  จึงทำให้ชีวิตคริสตังตกต่ำลงอย่างมาก เมื่อคุณพ่อกอรร์กลับมาจากประเทศเขมร คุณพ่อจึงพบว่าบ้านเมืองไม่เพียงแต่ถูกข้าศึกทำลายเท่านั้น แต่ยังมีความอดอยากด้วย  เพราะฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล คุณพ่อจึงได้ให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่คุณพ่อจะช่วยได้ ความช่วยเหลือดังกล่าวได้ทำให้หลายคนมาเรียนคำสอนกับคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อก็ยอมรับพวกเขาเข้าศาสนา แต่ก็ต้องเฝ้าระวังดูพวกเขาไว้ ดังคำกล่าวของคุณพ่อที่ว่า “เราคอยระวังเล่ห์ และการโกงของเขา เราใช้มาตรการที่เที่ยงธรรมที่สุดเพื่อมิให้ถูกหลอก” จากความเมตตาของคุณพ่อเช่นนี้ ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ตรัสอย่างเปิดเผยในวันหนึ่งว่า “ไม่มีศาสนาใดเหมือนศาสนาคริสตัง  และไม่มีคุณพ่อองค์ใดเหมือนคุณพ่อของเขา”  คุณพ่อได้รีบบันทึกถ้อยคำนี้ไว้  เพราะทำให้คุณพ่อมีความหวังมากขึ้น
 

วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1770  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จเยี่ยมคุณพ่อกอรร์ที่วัด นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยได้ยินได้เห็นตั้งแต่พระศาสนาคาทอลิกเข้ามาในเมืองไทย และยังผิดกฎราชสำนักด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสั่งให้รื้อกระต๊อบหลังหนึ่งลงเพื่อขยายสนามที่คุณพ่อกอรร์จะใช้ให้กว้างขวางขึ้น และพระองค์ยังทรงรับสั่งให้สร้างกำแพงวัด ซึ่งขณะนั้นมีแค่เสาและหลังคาเท่านั้น  ในสมัยที่กล่าวถึงนี้ดูเหมือนว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงมีพระเมตตาและมีความไว้ใจพวกคริสตัง พระองค์จึงทรงเรียกให้ไปทำงานในพระราชวัง พระองค์โปรดให้คริสตังหลายคนรับราชการในกองทหารรักษาพระองค์  ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดเวลาออกศึกด้วยการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงวางพระทัยพวกคริสตังเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากด้วยเหมือนกันเพราะหลายครั้งที่ทรงใช้ให้พวกคริสตังทำกิจการนอกรีต (ซูแปร์ตีซัง)
 
ในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ.1771 พระสังฆราชเลอ บ็อง (Mgr. Le Bon) เดินทางถึงเมืองบางกอก พระสังฆราชได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถวายของกำนัลจากผู้สำเร็จราชการเมืองปอนดีเชอรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต้อนรับพระสังฆราชเป็นอย่างดี และเพื่อขอบใจสำหรับของขวัญที่ผู้สำเร็จราชการฝากมา  พระองค์จึงทรงพระราชทานที่ดินให้วัดซางตาครู้สเพิ่มขึ้น  และเรืออีก  2  ลำให้แก่มิสซัง
 
ในวันที่  25  กรกฎาคม  ค.ศ.1773 คุณพ่อกอรร์ถึงแก่มรณภาพ  ซึ่งนับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่สำหรับวัดซางตาครู้สเท่านั้น  แต่ยังสำหรับมิสซังด้วย  เพราะคุณพ่อเป็นคนทำงานที่เข้มแข็ง  และเป็นธรรมทูตคนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ หลังจากที่คุณพ่อกอรร์ได้มรณภาพแล้ว พระสังฆราช เลอ  บ็อง  จึงรับหน้าที่ดูแลวัดซางตาครู้ส  ผลัดกันระหว่างคุณพ่อการ์โนลต์  (Garnault)  และคุณพ่อกูเด (Coudé)  เนื่องจากขณะนั้นในสยามมีมิชชันนารีเหลืออยู่เพียง  3 คนเท่านั้น คุณพ่อกูเดเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดอ่าน  ปฏิภาณเฉียบแหลมเกินอายุ  หนึ่งปีหลังจากคุณพ่อมาถึงเมืองไทย  คุณพ่อได้เขียนถึงสภาพมิสซังไว้ว่า  “คริสตังในสยามมีจำนวนน้อยมาก  เกือบทุกคนเป็นเชื้อสายโปรตุเกส  และเข้ากับธรรมทูตฝรั่งเศสได้ไม่ดีนัก  ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาคงชอบพระสงฆ์โปรตุเกสมากกว่า”  อย่างไรก็ตาม  คุณพ่อการ์โนลต์ได้บอกว่า สภาพเช่นนี้กำลังจะเปลี่ยนไป  และ...“พวกนี้เริ่มไว้ใจเรามากขึ้น  ไม่จำเป็นแล้วที่ต้องรู้ภาษาโปรตุเกส  เพราะเกือบทุกคนเข้าใจภาษาไทย และในไม่ช้าทุกคนก็จะเข้าใจ เราสอนคำสอนทั้งหมดเป็นภาษาไทย  และเด็กๆ เรียนภาษาไทย  เพื่อเรียนคำสอน...”  คุณพ่อกูเดยังให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับงานธรรมทูต  ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีใครคิดถึง  คุณพ่อเขียนไว้ว่า  “ที่นี่  (ซางตาครู้ส) มีคนจีนอยู่มาก ดูเหมือนจะสอนคนจีนให้กลับใจได้ง่ายกว่าคนไทย พวกนี้อยู่ในประเทศสยามเหมือนกับคนไม่มีศาสนา เขาถือศาสนาของคนไทยเป็นพิธีมากกว่า  พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ห้ามเขาเป็นคริสตัง  และถือว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างด้าว มิชชันนารีที่รู้จักภาษาจีนจะทำประโยชน์ได้มากในเมืองสยาม” ข้อสังเกตของคุณพ่อกูเดเกี่ยวกับการกลับใจของคนจีนนั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะการกลับใจของคนไทยนับวันมีแต่จะยากขึ้น อุปนิสัย การอบรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ล้วนแต่กีดกันไม่ให้คนไทยมาถือศาสนาคาทอลิก มิหนำซ้ำสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงชอบใช้อำนาจบังคับ อุปสรรคในการเข้านับถือศาสนาจึงยิ่งทวีมากขึ้น
 
ในปี ค.ศ.1775  พระสังฆราชเลอ  บ็อง  ตัดสินใจไม่ส่งเณรไปบ้านเณรที่ปอนดีเชอรี  จึงได้เปิดบ้านเณรที่บางกอก  คือ บ้านเณรซางตาครู้ส ซึ่งมีเณร 6 คน  และท่านพระสังฆราชตั้งใจจะเรียกเณรจากปอนดีเชอรีกลับมาด้วย  ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการส่งเณรไปแพงมากเกินไปสำหรับมิสซังซึ่งยากจน โดยพระสังฆราชได้มอบหน้าที่ให้คุณพ่อการ์โนลต์เป็นอธิการบ้านเณร
 
ทุกปีในเดือนกันยายน  มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  เป็นธรรมเนียมการสาบานของบรรดาข้าราชการต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นการทำกิจการนอกรีต (ซูแปร์ติซัง) พระสังฆราชจึงห้ามข้าราชการคริสตังกระทำในเดือนมีนาคม  ค.ศ.1773 พระสังฆราชเลอ บ็อง ได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ทูลขออนุญาตให้พวกคริสตังทำพิธีสาบานตนตามจารีตในศาสนาของตนแทนทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงตอบ อีกไม่กี่เดือนต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เรียกประชุมพระภิกษุ ชาวมุสลิม และมิชชันนารีองค์หนึ่ง เพื่อถกเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามที่พุทธศาสนาสอน  ซึ่งพระภิกษุได้อภิปรายแสดงว่าการห้ามนั้นถูกต้อง แต่ชาวมุสลิมและมิชชันนารีได้โต้แย้ง จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงไม่พอพระทัยอย่างมาก ในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1774 พระองค์ได้ทรงประกาศกฤษฎีกาห้ามคนไทย  และคนมอญนับถือคริสต์ศาสนาคริสต์และอิสลาม  พระองค์สั่งว่า... “ถ้าสังฆราช มิชชันนารี  หรือคริสตัง  หรือมุสลิมคนใดทำคนไทยหรือคนมอญ แม้แต่คนเดียวไปเข้ารีตมุสลิม  หรือคริสตัง ก็ให้จับกุมสังฆราชหรือมิชชันนารีหรือคริสตัง  หรือชาวมุสลิมคนนั้น  และให้ถือว่าสมควรจะต้องตาย ให้จับกุมคนไทยหรือคนมอญที่อยากเข้ารีตมุสลิมหรือคริสตัง  และให้ถือว่าสมควรจะต้องตายด้วย”
 
 
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1775 มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยากันอีก  นายทหารคริสตังสามคนได้ไปในวัดซางตาครู้ส  คุกเข่าลงหน้าพระแท่นต่อหน้าสัตบุรุษเป็นอันมาก แล้วได้กล่าวสาบานโดยอ้างพระวรสารเป็นพยานต่อหน้าพระสังฆราช ซึ่งได้ให้หนังสือสำคัญแสดงว่าเขาได้ทำพิธีสาบานเช่นนั้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเห็นเป็นการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ และเป็นการคิดร้ายต่อพระราชอำนาจโดยตรง  ทรงกริ้วและมีบัญชาให้จับนายทหารจำคุกในวันที่  22  กันยายน  และในวันที่  25 กันยายน  พระองค์ยังทรงสั่งให้จับพระสังฆราชเลอบ็อง  กับคุณพ่อกูเด  และคุณพ่อการ์โนลต์ไปเข้าคุกด้วย เจ้าพนักงานได้พยายามให้ท่านทั้งสามสำนึกผิดและยอมรับว่าได้ทำผิดพวกเขาได้พยายามบังคับให้ท่านทั้งสามขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระเจ้าแผ่นดิน แต่ทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติตาม นอกนั้น พวกเขายังได้ใส่ความท่านทั้งสามว่าได้ทำการอาชญากรรมต่อความมั่นคงของประเทศ  พวกท่านก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ  แม้ว่าพวกท่านจะยังไม่ได้รับอิสรภาพ  แต่ก็ได้รับการเอาโซ่ออกบางส่วน ด้วยเหตุนี้  พระสังฆราชเลอบ็อง  จึงเขียนจดหมายถึงคุณพ่อชไตนเนอร์ (Steiner) เหรัญญิก มิสซังต่างประเทศที่เมืองมาเก๊า เมื่อวันที่  11 เมษายน  ค.ศ.1776  ว่า “เราเขียนถึงคุณพ่อจากที่นอนอันทุกข์ลำบากของเรา  เราถูกล่ามโซ่มา 7 เดือนแล้ว  ยังดีที่เวลานี้เขาปล่อยมือเราเป็นอิสระเวลากลางวัน”  วันที่ 14  สิงหาคม  ค.ศ.1776 เขาได้นำท่านทั้งสามไปต่อหน้าสมุหนายก ซึ่งบังคับให้ท่านทั้งสามสารภาพว่าได้ทำผิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านทั้งสามก็ได้ปฏิเสธอีก ที่สุดในวันที่ 2 กันยายน เขาก็ได้ปล่อยมิชชันนารีทั้งสามออกจากคุกโดยไม่พูดถึงสัญญาที่เคยบังคับให้ท่านทั้งสามทำนั้นเลย พระสังฆราชเสริมว่า “และเขาก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากข้อห้ามเรื่องศาสนาก่อนๆ นั้นเลย”
 
ในปี ค.ศ.1778  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรับสั่งให้มีการแห่ในแม่น้ำเป็นเวลา 3 วัน เป็นการเฉลิมฉลอง  ประมวลข้อเชื่อถืองมงายที่ทรงแต่งขึ้น ในพิธีดังกล่าวไม่มีคริสตังไปร่วมงานด้วย จึงทำให้พระองค์ทรงกริ้วพวกคริสตัง ร้องว่า “ข้ารู้หรอกว่า เพราะเหตุใดพวกคริสตังจึงไม่มา  แต่ข้าจะต้องบังคับให้พวกนี้เชื่อฟังให้จงได้  ถ้าพระสังฆราช และพวกมิชชันนารีขัดสู้ข้า ข้าจะฆ่าเสีย แต่เขาคงยอมให้ฆ่าเหมือนกับสัตว์” จากการกระทบกระทั่ง และการยุแหย่ต่างๆ ที่สุด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1779 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงมีบัญชาให้ขับพระสังฆราช  และพวกมิชชันนารีทั้งสองออกไปจากราชอาณาจักร  เพราะพวกมิชชันนารีขัดขวางไม่ให้คริสตังไม่ให้เข้าร่วมพิธีศาสนาของคนไทย  ในวันที่ 1 ธันวาคม พระสังฆราชและมิชชันนารีทั้งสองได้ลงเรือไปยังมะละกา คุณพ่อกูเดเขียนว่า “เราได้พยายามทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้  เพื่ออยู่กับคริสตังของเราต่อไป  แต่ก็ไร้ผล...”
 
เป็นอันว่าตั้งแต่ปี  ค.ศ.1779 ไม่มีพระสงฆ์  มิชชันนารีสักองค์เดียวในพระราช อาณาจักรไทย  บ้านเณรที่ซางตาครู้สก็ล่มสูญในปีค.ศ. 1780  คุณพ่อการ์โนลต์และคุณพ่อกูเดได้เดินทางไปยังเมืองปอนดีเชอรี  เพื่อหาเรือเดินทางไปเมืองถลาง (ภูเก็ต) ส่วนพระสังฆราชเลอบ็อง ถึงแก่มรณภาพที่เมืองกัว ในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1780 คุณพ่อกูเดจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเรชี  (Rhési) และเป็นประมุขมิสซังสยาม  เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1782
 
วันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1782 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งมีพระสติวิปลาส และได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  พระองค์ทรงแสดงน้ำพระราชหฤทัยดีต่อชาวต่างประเทศและพวกคริสตัง  ในขณะเดียวกัน  พระองค์ทรงยกเว้นให้ทหารคริสตังไม่ต้องถือน้ำพิพัฒฯสัตยา เมื่อทรงทราบว่าพระสังฆราชกูเด ซึ่งทรงรู้จักเป็นส่วนพระองค์อยู่ที่ตะกั่วทุ่ง (ภูเก็ต) จึงทรงมีพระบัญชาให้ไปเชิญพระสังฆราชมาบางกอก เพื่อปกครองพวกคริสตังที่วัดซางตาครู้ส  แต่ท่านพระสังฆราชกูเดก็มิได้มาโดยทันที  ต้องรอไปอีก 2 ปี  ในระหว่างที่พระสังฆราชยังไม่ได้มาที่บางกอกได้มีคนขอกลับใจเป็นอันมากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงส่งทูตไปเจรจากับเจ้าเมืองมาเก๊า เพื่อขอมิชชันนารีโปรตุเกสมาปกครองคริสตังที่วัดซางตาครู้ส  ในวันที่ 11 มีนาคม  ค.ศ.1784  มีคุณพ่อฟรังซิสโก  พระสงฆ์คณะโดมินิกันองค์หนึ่งเป็นชาวโปรตุเกส เดินทางมาบางกอก ซึ่งเป็นเหตุทำให้คริสตังชาวโปรตุเกสมีความหวังว่าจะมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครองพวกเขาพวกเขาจึงยุยงให้พวกคริสตังวัดซางตาครู้ส ปฏิญาณตนจะเชื่อฟังกษัตริย์โปรตุเกสตามลัทธิ Padroado  และกระพือข่าวว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสจะไม่กลับมากรุงสยามอีกแล้ว เมื่อพระสังฆราชกูเดมาถึงบางกอกในวันที่ 4 เมษายน  ค.ศ.1784 ได้เห็นสภาพที่น่าเศร้านี้  พระสังฆราชก็ได้แสดงพระสมณสาสน์แต่งตั้งท่านเป็นประมุขมิสซัง ซึ่งทำให้พวกคริสตังวัดซางตาครู้สส่วนมากต้อนรับท่านด้วยความยินดี  เนื่องจากท่านเป็นเจ้าอาวาสเก่าของพวกเขา แต่ก็มีบางคนหัวดื้อต่อต้านอย่างเดียวกับที่พวกโปรตุเกสได้ทำ
 
ตลอดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ในปีนั้น พวกโปรตุเกสไม่มาร่วมศาสนพิธีเลยแต่ในวันอาทิตย์ปัสกา แต่ละฝ่ายขอร่วมพิธีมิสซา เฉพาะของพระสงฆ์ที่ยอมรับนับถือว่าเป็นผู้ปกครองของตนเท่านั้น พวกโปรตุเกสได้นำเรื่องขึ้นร้องทูลกับพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงมีพระบัญชาให้พระสังฆราชกูเดมอบวัดซางตาครู้สแก่พวกโปรตุเกส พระสังฆราชกูเดจึงเรียกพวกคริสตังมาประชุมพร้อมกันและประกาศว่า ท่านจะปฏิบัติตามคำสั่งของพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน คือ จะสละวัดซางตาครู้ส และท่านจะสร้างโรงสวดใหม่ แต่จะไม่ยอมให้อำนาจใดๆ แก่นักบวชโดมินิกันองค์นั้นกับชาวโปรตุเกสทั้งหมด การที่พระสังฆราชกล่าวเช่นนี้ก็มิได้มุ่งหมายเล่นงานคุณพ่อฟรังซิสโก ความจริงคุณพ่อก็ไม่กล้าเข้าครอบครองวัดซางตาครู้ส และปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประมุขมิสซัง เมื่อเกิดการแตกแยกกันขึ้นเช่นนี้ คุณพ่อฟรังซิสโกจึงเดินทางกลับมาเก๊าในปี ค.ศ.1785 และเพื่อเป็นการขจัดปัญหาความขัดแย้งในปีค.ศ.1786 พระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดให้พวกคริสตังโปรตุเกส วัดนี้มีชื่อว่า วัดกาลหว่าร์ พวกคริสตังเหล่านี้มีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครองพวกเขา แต่แม้ว่าจะมีผู้แทนไปมาเก๊าหลายครั้ง เพื่อขอให้ส่งพระสงฆ์โปรตุเกสมาปกครองที่วัดกาลหว่าร์ แต่ก็ไม่มีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาที่บางกอกอีกเลย ตามเหตุผลที่เจ้าเมืองมาเก๊าได้ให้ว่า พวกเขามีผู้ปกครองอยู่แล้ว คือ พระสังฆราชชาวฝรั่งเศส ซึ่งพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง ที่สุดในปี ค.ศ.1808  เมื่อพวกคริสตังขาวโปรตุเกสเห็นว่าพวกตนไม่สามารถมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครองแน่แล้วจึงค่อยๆ กลับใจยอมรับอำนาจการปกครองของมิชชันนารีฝรั่งเศส  เมื่อพระสังฆราชกูเดถึงแก่มรณภาพในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1785 คุณพ่อวิลล์แม็ง  (Willemin)  จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สและบ้านเณรซางตาครู้สด้วย  และคุณพ่อการ์โนลต์ก็ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชสืบต่อมาเมื่อวันที่  15 เมษายน  ค.ศ.1787 ในปีค.ศ.1788 พระสังฆราชการ์โนลต์ได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สแทนคุณพ่อวิลล์แม็ง ซึ่งเดินทางไปปกครองคริสตังที่ไทรบุรีตั้งแต่  ปี ค.ศ.1786  จึงทำให้วัดซางตาครู้สไม่มีพระสงฆ์ปกครองอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ยังโชคดีที่มีคุณพ่อลีโอต์ (Liot) ซึ่งหนีมาจากแคว้นโคชินจีน  ได้มาอยู่ที่จันทบุรีชั่วคราวแวะมาที่บางกอก  พวกคริสตังที่วัดซางตาครู้สจึงยังมีโอกาสได้รับศีลแก้บาปและทำปัสกา คุณพ่อฟลอรังส์ไม่เพียงแต่ดูแลวัดซางตาครู้สเท่านั้น คุณพ่อยังได้เดินทางไปดูแลที่จันทบุรีด้วย  คุณพ่อจึงได้ร่วมงานกับคุณพ่อลีโอต์ ผลัดเปลี่ยนกันดูแลวัดทั้งสอง
 
ในประมาณปลายปี ค.ศ.1795 หรือต้นปี ค.ศ.1796  พระสังฆราชการ์โนลต์ได้เดินทางมาถึงบางกอก ท่านพระสังฆราชได้รวบรวมสามเณรทั้งเล็กและใหญ่ให้มาอยู่ที่บ้านเณรซางตาครู้ส นอกจากนั้น  ท่านพระสังฆราชยังได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดซางตาครู้สด้วย โรงพิมพ์แห่งนี้ได้พิมพ์หนังสือคำสอนซึ่งนับเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในสยาม หนังสือเล่มนี้พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน  แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย หรือเรียกว่า “ภาษาวัด” (Romanized  Siamese  Language) หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Khamson Christang”  (คำสอนคริสตัง)  พระสังฆราชการ์โนลต์กับคุณพ่อฟลอรังส์ได้ช่วยกันปกครองดูแลวัดและบ้านเณรซางตาครู้สจนถึงปี ค.ศ.180 คุณพ่อฟลอรังส์  จึงเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สองค์เดียว  ซึ่งคุณพ่อได้มีคุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาส  คือ คุณพ่อราโบ  (Rabeau)  คุณพ่อปาสกัลป์  และคุณพ่อเยเรมิอัส
 
เมื่อพระสังฆราชการ์โนลต์มรณภาพในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1811  คุณพ่อฟลอรังส์จึงเป็นผู้ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชสืบต่อมา โดยคุณพ่อไปรับการอภิเษกที่เมืองโคชินจีนพิธีอภิเษกกระทำในวันที่ 12 เมษายน  ค.ศ.1812  ในระหว่างที่คุณพ่อเดินทางไปรับอภิเษก  คุณพ่อเยเรมิอัสซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ก็ได้ทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาส และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สจนถึงปี ค.ศ.1814 จึงถึงแก่มรณภาพ พระสงฆ์ที่ปกครองวัดซางตาครู้สสืบต่อจากคุณพ่อเยเรมิอัส คือ คุณพ่ออันเดร  ตู๊ (André Tu) ในปี ค.ศ.1814-1819  คุณพ่อรอดริเกส ในปี  ค.ศ.1819-1823 และคุณพ่อกราซิอานูส เดอแซงต์  ซาวีเอร์ ในปี  ค.ศ.1823-1834 
 
ในปี ค.ศ. 1820  พระสังฆราชฟลอรังส์ ได้ย้ายบ้านเณรจากวัดซางตาครู้สมาอยู่ที่อัสสัมชัญ  และดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรด้วย  ต่อมาท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งติดกับบ้านเณร  และได้สร้างวัดอัสสัมชัญขึ้น  พระสังฆราชฟลอรังส์ถึงแก่มรณภาพในวันที่  30  มีนาคม  ค.ศ.1834  ศพของท่านได้ถูกฝังไว้ในวัดซางตาครู้ส  
 
พระสังฆราชองค์ต่อมาคือ พระสังฆราชกูรเวอซี  (Mgr.  Courvezy) ได้รับการอภิเษกที่กรุงเทพฯในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1833 และสืบตำแหน่งประมุขมิสซังสยามในวันที่  30 มีนาคม ค.ศ.1834  พระสังฆราชกูรเวอซี  ได้เห็นว่า วัดซางตาครู้สมีสภาพคล้ายโรงชื้นๆ เป็นที่อยู่ของอสรพิษ ในปี ค.ศ.1834 ท่านจึงมอบหมายให้คุณพ่อปัลเลอกัว (Pallegoix) เป็นผู้ดำเนินการสร้างวัดใหม่หลังที่สอง และพระสังฆราชได้ทำพิธีเสกวัดใหม่ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1835 เมื่อการสร้างวัดเสร็จสิ้นแล้วในปี ค.ศ.1836 คุณพ่อปัลเลอกัว ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ส่วนที่วัดซางตาครู้สมีคุณพ่อกรางยัง (Grandjean)  เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
 
ในปี ค.ศ.1841 กรุงโรมได้แบ่งมิสซังสยามเป็นมิสซังสยามตะวันตกและมิสซังสยามตะวันออก  โดยพระสังฆราชกูรเวอซี  เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตก (มิสซังมะละกา) และพระสังฆราชปัลเลอกัว ซึ่งได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยในวันที่  3 มิถุนายน ค.ศ.1838 เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก  (มิสซังสยาม) ในเดือนกรกฎาคม  ค.ศ.1849 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาด ทำให้ชาวบางกอกล้มตายเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ขอให้พระสังฆราชปัลเลอกัวถวายสัตว์บางอย่างแด่พระองค์ แต่บรรดามิชชันนารีคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวใคร่จะเลี้ยงสัตว์เหล่านี้สำหรับรักษาชีวิตของพระองค์เอง ซึ่งถือว่าเป็นกิจการนอกรีต (ซูแปร์ติซัง) จึงได้คัดค้านไม่ให้พระสังฆราชทำตามพระราชประสงค์ พระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วมาก จึงทรงสั่งให้จับมิชชันนารีทุกองค์ และให้ทำลายวัดทั้งหมด รวมทั้งบังคับให้พวกคริสตังละทิ้งศาสนา พระสังฆราชปัลเลอกัวพอทราบถึงพระบรมราชโองการ ก็ได้ตัดสินใจนำนกยูงหนึ่งตัว แพะ 2 ตัว กับห่าน 2 ตัว ไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน  พระองค์จึงทรงสั่งให้ยกเลิกพระบรมราชโองการนั้น  แต่ทรงสั่งในเนรเทศมิชชันนารีอื่นๆ อีก 8 คนที่คัดค้านพระสังฆราชไม่ให้ทำในสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประสงค์ออกจากแผ่นดินสยาม  ดังนั้นคุณพ่อกรางยัง เจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สก็ถูกเนรเทศด้วย
 
ในปี ค.ศ.1851 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตและเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์แทนโดยทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีสัมพันธภาพอันดีกับพระสังฆราชปัลเลอกัวพระองค์จึงทรงอนุญาตให้บรรดามิชชันนารีที่ถูกเนรเทศกลับเข้าสู่ประเทศสยามได้  พร้อมกันนั้น  พระองค์ยังได้ทรงยกเว้นข้าราชการที่เป็นคริสตังทุกคนไม่ต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  ในวันที่  28 กรกฎาคม ค.ศ.1851  บรรดามิชชันนารีจึงได้กลับบางกอก  ยกเว้นคุณพ่อกรางยังซึ่งสุขภาพไม่ดี ในระหว่างนี้ได้มีคุณพ่อปอล ฮอย  (Paul  Hoi)  เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สแทนจนถึงปี ค.ศ. 1854  จากนั้นมีคุณพ่อดือกาต์เป็นเจ้าอาวาสจนถึงปี  ค.ศ.1862 แต่ยกเว้น  2  ปี คือ ในปี  ค.ศ.1856-1857 เพราะคุณพ่อดือกาต์ต้องเดินทางไปแพร่ธรรมที่เมืองถลาง จึงมีคุณพ่อแต๊สซิเอร์เป็นเจ้าอาวาสแทนในปี ค.ศ.1857 ในปี  ค.ศ.1862 ได้เกิดอัคคีภัยร้ายแรงทำลายหมู่บ้านและวัดซางตาครู้สคุณพ่อดือกาต์จึงได้สร้างที่พักชั่วคราว และพยายามจัดหาเสื้อผ้าและเสบียงให้พวกคริสตัง หลังจากนั้นคุณพ่อดือกาต์ก็เริ่มเสาะหาคนวางเพลิง  ในขณะที่สืบหาคนวางเพลิงอยู่นี้  คุณพ่อถูกผลักตกแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแก่ความตาย
 
ในปี ค.ศ.1862 พระสังฆราชดือปองค์  (Mgr.  Dupond) ได้แต่งตั้งคุณพ่อเกี๊ยฟแฟร์ (Kieffer) เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส แต่เนื่องจากคุณพ่อไม่สบายจึงต้องกลับฝรั่งเศส  เจ้าอาวาสองค์ต่อมา คือ คุณพ่อรุสโซ  (Rousseau)  แต่คุณพ่อไม่ชอบอยู่ที่กรุงเทพฯ ฉะนั้นในปี  ค.ศ.1871  จึงแต่งตั้งคุณพ่อเชอวิญารด์ (Chevillard)  เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ในขณะเดียวกันคุณพ่อก็เป็นเจ้าอาวาสวัดหาดสะแกด้วย
 
ในปี  ค.ศ.1900  คุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น  ดา ครู้ส  (Gulielmo  Kinh  Da  Cruz)  ได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชหลุยส์  เวย์ (Mgr. Louis  Vey)  ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ในปี ค.ศ.1906 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้สร้างโรงเรียนหลังหนึ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆ ตัววัดซางตาครู้ส คือโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ โดยเชิญคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาจัดการศึกษาในโรงเรียน  โดยมี  เซอร์อองแชล  ลากรองซ์  (Sr. Angelè  Lagrange)  เป็นอธิการิณีผู้ดูแลโรงเรียนคนแรก  มีนักเรียนรุ่นแรกประมาณ 30 คน  สอนวิชาศิลปหัตถกรรม  ภาษาฝรั่งเศส  และภาษาอังกฤษ
 
ในปี ค.ศ.1913 คุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส เจ้าอาวาสได้เล็งเห็นว่าตัวอาคารวัดซางตาครู้สได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และจะทำการบูรณะได้ยาก คุณพ่อจึงตัดสินใจสร้างวัดหลังใหม่ขึ้น  โดยคุณพ่อได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นที่โรงเรียนหน้าวัด แล้วลงมืรื้อตัวอาคารวัดหลังเก่าลงเมื่อวันที่  8 เมษายน ค.ศ.1913 และเริ่มสร้างวัดหลังใหม่ขึ้นวัดหลังใหม่ซึ่งเป็นวัดปัจจุบันได้สร้างแล้วเสร็จและเข้าถวายมิสซาในวัดใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่  28 กรกฎาคม  ค.ศ. 1916 วัดหลังใหม่ได้รับการเสกอย่างสง่าโดยพระสังฆราชแปร์รอส  (Mgr.René  Perros) ในวันที่ 17 กันยายน  ค.ศ.1916 นอกจากนั้น  คุณพ่อยังได้สนใจเกี่ยวกับด้านดนตรี  คุณพ่อจึงได้ตั้งวงซอและวงขับร้องของวัดขึ้น  โดยมีครูนันท์  ทรรทรานนท์  เป็นผู้ประสานงาน  และสอนเรื่องดนตรี  ที่สุดตั้งวงซอเป็นวงชื่อ “วงนันทสังคีต”  แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นครูนันท์ได้สิ้นชีวิต  ทำให้วงนันทสังคีตต้องสลายวง
 
ในปี  ค.ศ.1918  พระสังฆราชแปร์รอส  เห็นว่านักเรียนที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ มีเพิ่มขึ้นมาก  จึงได้ย้ายโรงเรียนไปสร้างในสถานที่ใหม่  ตรงด้านหลังวัดซางตาครู้ส  ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน  ในสมัยที่คุณพ่อกูเลียลโมเป็นเจ้าอาวาส  ได้มีคุณพ่อยาโกเบ  แจง  เกิดสว่าง เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1940-1941  ภายหลังก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราชชาวไทยองค์แรก และดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งสังฆมณฑลจันทบุรี ในปี ค.ศ.1942  คุณพ่อกูเลียลโมได้เกษียณอายุ  เพราะชราภาพมากแล้ว พระสังฆราชแปร์รอสจึงได้แต่งตั้งคุณพ่ออังแซล์  เสงี่ยม  ร่วมสมุห์ เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส  
 
ในวันที่  14  เมษายน  ค.ศ.1955  คุณพ่อกูเลียลโมได้ถึงแก่มรณภาพ  และได้บรรจุศพของคุณพ่อไว้ที่ด้านหลังของวัด ในปี ค.ศ.1954 คุณพ่ออังแซลม์ ได้ก่อตั้งโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งเป็นโรงเรียนของวัด ชื่อโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา  ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเดิมของโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ได้เริ่มเปิดสอนในระดับประถมศึกษาในปี ค.ศ.1955  มีนักเรียนรุ่นแรกเป็นชายและหญิง  จำนวน 258  คน  โดยมีนางลมัย  รัตนไพบูลย์  เป็นผู้จัดการและครูใหญ่คนแรก  ในปี  ค.ศ.1956  คุณพ่อลออ  สังขรัตน์  เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ได้มีการบูรณะทาสีวัดใหม่  โดยได้มีการขอบริจาคเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน  ได้เป็นเงินหนึ่งหมื่นสองพันบาท  
 
ต่อมาในปี ค.ศ.1958 คุณพ่ออังแซลม์จึงได้ขยายชั้นเรียนของโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  ในปี ค.ศ.1977 คุณพ่อถาวร  กิจสกุล  เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส  จึงได้เชิญคณะภคินี  เซนต์ปอล  เดอ  ชาร์ตร มาจัดการศึกษาในโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา
 
ในปี ค.ศ.1983 คุณพ่ออดุลย์  คูรัตน์  เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส  ต่อจากคุณพ่อเสวียง  ศุระศรางค์ ซึ่งในปีนั้นได้เกิดอุทกภัยใหญ่เป็นเวลาประมาณ 3  เดือน คุณพ่อได้พยายามจัดระบบทางระบายน้ำรอบวัด  และภายในโรงเรียนซางตาครู้สศึกษาใหม่ทั้งหมด ทำการขุดลอกคูคลอง สร้างเขื่อนประตูน้ำ  และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ  จนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เป็นผลสำเร็จ
 
ใน ปี ค.ศ.1985 เกิดอุทกภัยใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้รอบวัดน้ำไม่ท่วม  แต่กำแพงสุสานด้านซ้ายถูกแรงดันของน้ำ ทำให้พังลงมาทับกุฏิบางกุฏิพังลงมาด้วย น้ำทะลักเข้าเต็มสุสาน   คุณพ่ออดุลย์รีบปิดประตูสุสาน เทปูนปิดตายทันที  จัดการดูดน้ำออกหมดจนแห้ง  และเริ่มเก็บศพจากกุฏิที่พังเข้าช่องเก็บไว้ จากนั้นได้ขออนุญาตญาติของศพที่อยู่ริมกำแพงด้านที่พังลงมา  ย้ายมาไว้อีกด้านหนึ่งเพื่อสะดวกในการทำงาน
 
คุณพ่อคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างที่ฝังศพเป็นช่องเก็บศพ โดยสร้างครั้งแรก  1 แถว 4 ชั้น 80  ช่อง  เริ่มจากด้านที่กำแพงพังลงมา  ทำกำแพงใหม่ให้แข็งแรงโดยใช้เป็นด้านหลังของช่องเก็บศพด้วย  ก่อนที่คุณพ่อจะเริ่มขุดศพ  คุณพ่อได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบหลายครั้ง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  แต่ก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วย และต่อต้านการปรับปรุงสุสานของคุณพ่อ คุณพ่ออดุลย์คาดหวังที่จะปรับปรุงสุสานใหม่ให้สวยงาม  สงบ  เหมาะสำหรับเป็นที่สวดภาวนา  และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ  เมื่อปรับปรุงสุสานเสร็จแล้วจะได้มีทางสำหรับรถดับเพลิงที่จะเข้าถึงหมู่บ้านได้ถ้าหากเกิดอัคคีภัย  เนื่องจากซอยเดิมที่ใช้เป็นทางเข้าวัดข้างสุสาน  เป็นซอยเล็กๆ  คุณพ่อจึงได้ดำเนินการล้างสุสาน  ปรับพื้นที่สร้างช่องเก็บศพด้านซ้ายและขวา  ส่วนตรงกลางทำเป็นทางเดินกว้างประมาณ 3  เมตร  ได้ปลูกต้นไม้และหญ้าบริเวณหน้าช่องเก็บศพ  เพื่อให้เกิดความร่มรื่นสวยงาม
 
ในปี  ค.ศ.1989 คุณพ่อศวง  ศุระศรางค์  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สต่อจากคุณพ่ออดุลย์  คูรัตน์  โดยมีคุณพ่อประเสริฐ  ตรรกเวศม์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ในเดือนกรกฎาคม  ค.ศ.1989  คุณพ่อศวงต้องไปประชุมที่บ้านอภิรติถชน ซาเลเซียน  หัวหิน  เป็นเวลาประมาณ  6  เดือน ในขณะนั้น คุณพ่อประเสริฐ ตรรกเวศม์  จึงรักษาการแทนเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ปรับปรุงชั้นล่างของตึกบ้านพักพระสงฆ์ ซึ่งเดิมเป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆ ให้เป็นสำนักงานของวัด  สำนักงานของเครดิตยูเนี่ยน และเป็นห้องทำงานของคุณพ่อ หลังจากนั้น คุณพ่อประเสริฐก็ได้เริ่มปรับปรุงพื้นที่ภายในสุสานในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย  โดยคุณพ่อได้ทำกำแพงด้านหน้าสุสานติดกับซอยเทศบาลสายหนึ่ง 1 ทำประตูให้รถวิ่งผ่านเข้าสุสานได้  และได้ถมดินในส่วนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเมื่อคุณพ่อปรับพื้นที่ภายในสุสานเรียบร้อยพอสมควรได้มีชาวบ้านและผู้ปกครองนักเรียนมาร้องขออนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดในบริเวณสุสาน  ภายใต้เงื่อนไขให้เป็นการจอดเพียงชั่วคราวจนกว่าทางวัดจะประกาศยกเลิก
 
 
ในปี ค.ศ.1990 เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตธนบุรีได้มาพบคุณพ่อศวง และขอความร่วมมือจากคุณพ่อให้จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนกุฎีจีน เพื่อเป็นตัวแทนชาวบ้านรับรู้ระเบียบการทางราชการ และเป็นตัวแทนของทางการที่จะช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านให้ดีขึ้น ในปีนั้นจึงมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนกุฎีจีนเป็นปีแรก และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการชุมชนกุฎีจีนคนแรก คือ คุณมงคล บุญเต็ม  คุณพ่อศวงจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนกุฎีจีนให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสภาอภิบาลของวัดซางตาครู้ส  จะได้ร่วมมือกันพัฒนาวัดและหมู่บ้าน
 
วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991 ประมาณเที่ยงวัน  ได้เกิดเพลิงไหม้หมู่บ้านในบริเวณกำแพงด้านขวาของสุสานติดทางด้านหลังของโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์  คุณพ่อศวงจึงได้สร้างแฟลตขึ้น 2 หลัง  บนพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้  ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุสาน เพราะชาวบ้านนำรถเข้ามาจอดในบริเวณสุสานมากขึ้น  และมีกองขยะที่ชาวบ้านนำมาทิ้งในบริเวณสุสาน ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่น่าดู ทางวัดจึงมีโครงการย้ายสุสานไปอยู่ด้านหลังวัด ซึ่งคุณพ่อศวงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาอภิบาลของวัด  คณะกรรมการสภาอภิบาลส่วนใหญ่ได้รับรู้และยอมรับในหลักการ  แต่ก็มีบางคนไม่เห็นด้วย คุณพ่อศวงจึงได้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตธนบุรี ทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่าสามารถย้ายสุสานได้ คุณพ่อศวงจึงได้เริ่มสร้างกำแพงในบริเวณที่จะทำสุสานใหม่และตอกเสาเข็มเพื่อทำช่องเก็บศพ ในเวลาเดียวกันได้มีชาวบ้านบางคนไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตธนบุรีเมื่อมีชาวบ้านไปร้องเรียนจึงทำให้เกิดปัญหา  คุณพ่อศวงจึงได้นำเรื่องเสนอต่ออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในขณะนั้น  ทางอัครสังฆมณฑลฯ มีโครงการสร้างสุสานรวมของอัครสังฆมณฑลฯที่สามพราน  และเนื่องจากทางสำนักงานกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะไม่ให้มีสุสานอยู่ในกรุงเทพฯ ทางอัครสังฆมณฑลฯ  จึงเห็นว่าถ้าเรื่องสุสานของวัดซางตาครู้สมีปัญหาเช่นนี้  ก็ให้ย้ายศพและอัฐิไปยังที่สุสาน สามพราน  เพราะสุสานของวัดมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะเป็นสุสานอีกต่อไปแล้ว  ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยและให้ความร่วมมือในการขนย้ายเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกบางคนที่ยังคัดค้านอยู่  ในวันฉลองวัดปี  ค.ศ.1992 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู มาเป็นประธานในวันฉลอง หลังพิธีจบแล้วได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าพบเพื่อปรึกษาพูดคุยถึงเรื่องสุสานเป็นเวลาประมาณสามชั่วโมง  แต่ก็ยังหาข้อสรุปตกลงกันไม่ได้
 
 
ในปี  ค.ศ.1993  คุณพ่อศวงได้เห็นตัวอาคารวัดหลังปัจจุบันซึ่งมีอายุเกือบ  80  ปีแล้ว  ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คุณพ่อจึงได้เสนอโครงการบูรณะวัดต่ออัครสังฆมณฑลฯ  ซึ่งทางอัครสังฆมณฑลฯได้อนุมัติโครงการ คุณพ่อจึงได้ติดต่อให้บริษัท มรดกโลก  จำกัด  เป็นผู้รับเหมาดำเนินการบูรณะวัด  แต่คุณพ่อยังไม่ทันได้เริ่มทำการบูรณะวัด  ในปี  ค.ศ.1994  ต่อมาคุณพ่อศวงก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นจิตตาธิการคณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ  (คลองเตย)  และคุณพ่อสมศักดิ์  ธิราศักดิ์  ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สแทนคุณพ่อศวง   คุณพ่อสมศักดิ์ก็ได้สานต่อนโยบายของอัครสังฆมณฑลฯ  ซึ่งคุณพ่อศวง ยังทำไม่เสร็จสิ้น  ในวันที่  5  มิถุนายน  ค.ศ.1994 ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้มาขอพบ คุณพ่อในฐานะเจ้าอาวาสวัดคนใหม่  เพื่อคัดค้านเรื่องการย้ายสุสาน  คุณพ่อจึงได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่จะต้องย้ายสุสาน พร้อมทั้งแจ้งถึงสวัสดิการที่ได้รับในการโยกย้าย แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ยังไม่พอใจ จึงได้มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านโครงการย้ายสุสาน  และยังมีการแพร่ข่าวประท้วงตามหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย  ชาวบ้านจึงแตกแยกเป็นสองกลุ่ม  คือ พวกที่เห็นด้วย  ก็ให้ความร่วมมือในการย้ายเป็นอย่างดี  กับพวกที่ไม่เห็นด้วย  ก็ได้ติดใบปลิวโจมตี  เพื่อหาแนวร่วมต่อต้านโครงการนี้นับแต่นั้นมา ในวันที่  31 กรกฎาคม ค.ศ.1994  ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนของอัครสังฆมณฑลกับผู้แทนชาวบ้าน  เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องการย้ายสุสาน โดยทางวัดยอมให้ผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะย้ายศพไปสุสานที่สามพรานยังคงฝากฝังศพไว้ที่สุสานของวัดได้จนกว่าจะมีการปิดสุสานเป็นทางการ
 
ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1995 โรงเรียนซางตาครู้สศึกษา  ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด  ได้นำครูไปสัมมนาที่โรงเรียนภัทรวิทยา จังหวัดตาก  เพื่อพัฒนาบุคลากรและดูงานชีวิตชาวเขา  เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางด้านการศึกษา  พร้อมทั้งนำเงินบริจาคให้แก่โรงเรียนดังกล่าว  ขณะที่กำลังเดินทางกลับ รถบัสที่นำคณะครูไปนั้น  ได้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำที่บริเวณโรงเรียนหม่อนหินเหล็กไฟ  อำเภอพบพระ  จังหวัดตาก  ได้ทำให้มีครูเสียชีวิต  16  คน นักเรียน 1 คน และมีครูที่ได้รับบาดเจ็บ 17 คน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเศร้าเสียใจต่อทางวัด บรรดาญาติพี่น้อง  เพื่อนครู และนักเรียน  จากเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดนี้ ทางโรงเรียนซางตาครู้สศึกษาก็ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างดี  รวมทั้งได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากโรงเรียนต่างๆ  เป็นต้น  โรงเรียนในเครือเซนต์ปอล  เดอ  ชาร์ตร
 
 
 
ส่วนงานเกี่ยวกับการย้ายสุสาน  ประมาณเดือนกรกฎาคม  ค.ศ. 1995 คุณพ่อสุพัฒน์  สรรค์สร้างกิจ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสุสานวัดได้ทำการย้ายกระดูกจากช่องเก็บกระดูกทางด้านขวาของสุสานไปไว้ทางด้านซ้าย และได้ติดต่อขอยืมรั้วตาข่ายจากโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์มาล้อมให้เป็นสัดส่วน  และได้รื้อช่องเก็บกระดูกทางด้านขวาของสุสานลง ที่สุดในวันที่  29  มกราคม ค.ศ.1996  คุณพ่อสุพัฒน์ได้แจ้งเลิกการเป็นสุสานต่อสำนักงานเขตธนบุรี  ซึ่งทางสำนักงานเขตธนบุรีได้อนุมัติ และประกาศยกเลิกการเป็นสุสานในวันที่  1 กุมภาพันธ์  ค.ศ.1996  สุสานของวัดจึงไม่สามารถใช้เก็บหรือฝังศพของผู้ตายได้อีกต่อไป  ในวันที่  27  มีนาคม ค.ศ.1996   ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯมีประกาศยกเลิกสุสานวัดซางตาครู้สอย่างเป็นทางการ  โดยให้เวลาในการจัดย้ายศพออกจากสุสานให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี โดยให้ทางวัดเป็นผู้จัดการในการย้าย  ให้บริการและสวัสดิการตามความเหมาะสม
 
ในปี  ค.ศ.1996 ประมาณเดือนเมษายน  บริษัท  มรดกโลก  จำกัด  ได้ส่งเจ้าหน้าที่และคนงานเข้ามาที่วัดเพื่อเริ่มดำเนินการบูรณะวัดหลังปัจจุบัน  ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาให้ดีขึ้นและสวยงาม  แต่ยังคงไว้ซึ่งศิลปกรรมของตัวอาคารวัดให้ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์สืบต่อไป  พร้อมๆ กับการบูรณะวัด ทางอัครสังฆมณฑลฯ ได้ปรับพื้นที่โรงเรียนซางตาครู้สศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด  สร้างอาคารเรียนใหม่  โดยมีบริษัท  ช.นนทชัยก่อสร้าง  เป็นผู้รับเหมาสร้างอาคารเรียนห้าชั้น เพื่อเป็นการขยายงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน  ส่วนงานบูรณะวัด  นอกเหนือจากการบูรณะซ่อมแซมตัวอาคารวัดแล้ว  ยังได้มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่รอบวัดด้วย  โดยมีการสร้างถ้ำแม่พระใหม่  และสร้างพระสัญลักษณ์ของวัด  คือ 
 
ปลูกต้นไม้  ทำสวนหย่อม  เพื่อความสงบ  เรียบร้อย  เหมาะที่จะเป็นสถานที่สักการะพระเป็นเจ้า
 
ในปี  ค.ศ.1996-1997  เป็นปีที่ตัวอาคารวัดซางตาครู้สหลังปัจจุบัน  ซึ่งเป็นหลังที่สามมีอายุครบ 80 ปี  คุณพ่อสมศักดิ์  ธิราศักดิ์  พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงานฉลองวัด 80  ปี  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ  เพื่อเป็นการเทิดเกียรติและโมทนาคุณพระเป็นเจ้าสำหรับพระพรต่างๆที่พระเป็นเจ้าได้โปรดประทานให้แก่วัดและหมู่บ้านตลอดมา ได้มีการจัดงานฉลองวัด  และรื้อฟื้นการเสกวัดที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่  โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล  มีชัย  กิจบุญชู  ในวันอาทิตย์ที่  14  กันยายน  ค.ศ.1997
 
ชีวประวัติ  คุณพ่อกูเลียลโม  
 
ผู้สร้างวัดซางตาครู้สหลังปัจจุบัน
คุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส  (Gulielmo Kinh Da Cruz) เกิดที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่  9 สิงหาคม ค.ศ.1860 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  4  แห่งราชวงศ์จักรี)  ตรงกับแรม  9  ค่ำ  เดือน  9  ปีวอก จุลศักราช 122  คุณพ่อกูเลียลโมเป็นบุตรหัวปีของนายอันตน ดาครู้ส  สัตบุรุษวัดคอนเซ็ปชัญ  และนางกาทารีนา  ลี สัตบุรุษวัดพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี  คุณพ่อมีพี่น้องทั้งหมด 7  คน คือ คุณพ่อซึ่งเป็นเป็นบุตรหัวปี  และนายแก้ว  นายหย้าน  นายซอย  นางแอ๋ว  นางเน็บ  นายแซน  หลังจากที่คุณพ่อเกิดได้ไม่นานบิดาได้ย้ายครอบครัวจากจันทบุรี มาอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ  และบิดาของ  คุณพ่อก็ได้เป็นครูสอนหนังสือที่วัดคอนเซ็ปชัญด้วย
 
ในขณะที่คุณพ่อกูเลียลโมยังเป็นเด็ก  คุณพ่อเป็นผู้ที่ขยันหมั่นเรียน  และมีความศรัทธาในการปรนิบัติต่อพระเป็นเจ้าอย่างดียิ่ง เมื่อคุณพ่ออายุ  11 ปี จึงได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่วัดคอนเซ็ปชัญ  โดยคุณพ่อยวง  มาร์แตง เป็นผู้โปรดให้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน  ค.ศ.1871  และรับศีลกำลังเมื่อวันที่  8 ธันวาคม  ค.ศ.1871 โดยพระสังฆราชดือปองค์  (Mgr.  Dupond) เป็นผู้โปรด นายอันตน  บิดาของคุณพ่อกูเลียลโมได้เฝ้าสังเกตเห็นว่าคุณพ่อเป็นผู้มีความศรัทธา  และมีใจรักในการปรนนิบัติพระ ท่านจึงเห็นสมควรที่จะเสียสละ และยกคุณพ่อให้เป็นข้าปรนนิบัติของพระเป็นเจ้า  ท่านจึงได้ส่งคุณพ่อเข้าบ้านเณร  วันที่ 22 มกราคม  ค.ศ.1872 ซึ่งบ้านเณรในขณะนั้นได้ตั้งอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ  โดยมีคุณพ่อยัง  หลุยส์  เวย์  (Jean  Louis  Vey) เป็นอธิการบ้านเณร คุณพ่อกูเลียลโมมักจะเล่าเรื่องการเดินทางของท่านให้ผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดฟังเสมอว่า... การเดินทางจากบ้านไปบ้านเณรในขณะนั้น  ต้องไปทางเรือจ้างเพียงทางเดียวเท่านั้น  ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหนึ่งวันเต็มๆ  และอาหารบางมื้อก็ต้องรับประทานในเวลาเดินทางนั้นเอง...แต่เนื่องจากบรรดาเณรไม่มีความสงบเพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่กำลังขยายตัวเมือง จึงพบแต่ความวุ่นวาย  พระสังฆราชจึงตัดสินใจย้ายบ้านเณรไปอยู่ที่บางช้าง  ฝั่งตรงข้ามวัดแม่พระบังเกิด  (วัดบางนกแขวก)  ซึ่งเป็นที่สงบ  มีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล  อาหารการกินหาง่าย  และมีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์  คุณพ่อจึงได้เรียนอยู่ที่บ้านเณรอัสสัสมชัญแค่  3 เดือน ก็ต้องย้ายไปเรียนที่บ้านเณรบางช้างในเดือนเมษายน  ค.ศ.1872 (หมายเหตุ -บ้านเณรบางช้างเป็นบ้านเณรของมิสซังสยาม มีทั้งสามเณรเล็กและสามเณรใหญ่เรียนร่วมกันจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1934  มิสซัง  กรุงเทพฯ จึงได้แยกบ้านเณรได้ตั้งที่ศรีราชา  ทางมิสซังราชบุรีก็รับบ้านเณรบางช้างมาเป็นบ้านเณรของมิสซังราชบุรี  โดยเรียกชื่อใหม่ว่า “บ้านเณรบางนกแขวก” จนกระทั่งถึงปี  ค.ศ.1959  จึงได้ย้ายบ้านเณรไปอยู่ที่ราชบุรี
 
คุณพ่อกูเลียลโมเรียนอยู่ที่บ้านเณรบางช้างได้  8  ปี 7 เดือน  ก็สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของบ้านเณรเล็กในขณะนั้นในปี  ค.ศ.1879  คณะอาจารย์ผู้ปกครองเห็นควรที่จะตั้งคณะเดินทางขึ้นคณะหนึ่งมุ่งตรงไปสงขลา  เพื่อสำรวจที่ทางเพื่อเปิดมิสซังใหม่  คณะอาจารย์จึงได้จัดตั้งคณะเดินทาง โดยมีคุณพ่อซาลาแด็ง  (Saladin)  เป็นหัวหน้า  คุณพ่อแย  ครูเณรเฮียง  และ  คุณพ่อกูเลียลโม ซึ่งเป็นครูเณรในขณะนั้น จากการสำรวจ คณะเดินทางไม่ได้ตั้งมิสซังขึ้นใหม่ คงเป็นเพราะไม่เหมาะสมดังความตั้งใจ  คณะเดินทางจึงได้หาเช่าช้างเดินทางต่อไปยัง เคดาห์  แล้วลงเรือไปขึ้นที่เกาะหมาก  (ปีนัง)  ซึ่งคุณพ่อกูเลียลโมกับครูเณรเฮียงได้พักอยู่ที่บ้านเณรที่นั่น  เพื่อศึกษาในวิชาชั้นสูงต่อไป
 
ในวันที่  5 ธันวาคม  ค.ศ.1875  คุณพ่อยัง  หลุยส์  เวย์  อธิการของคุณพ่อได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช ใน ปี ค.ศ.1880 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์  ท่านพระสังฆราชได้เดินทางไปปีนัง  และรับคุณพ่อกลับกรุงเทพฯโดยทางเรือ ตอนขากลับนี้ได้ผ่านช่องมะละกา  และคุณพ่อมีโอกาสแวะขึ้นชมวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์  ที่เมืองมะละกา  รวมทั้งได้แวะชมภูมประเทศที่สิงคโปร์ด้วย
 
ในวันที่ 26 มิถุนายน  ค.ศ.1880  พระสังฆราชยัง หลุยส์  เวย์  ได้ส่งคุณพ่อกูเลียลโมไปช่วยเป็นครูที่วัดแม่พระบังเกิด  (บางนกแขวก)  เป็นเวลา 2 ปี  ในปีค.ศ.1882  คุณพ่อจึงได้กลับมาเรียนในหลักสูตรของบ้านเณรใหญ่ต่อที่บ้านเณรบางช้างอีก 6  ปี  จึงเรียนสำเร็จได้บวชเป็นพระสงฆ์  โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่น่าบันทึกดังนี้
 
ปี  ค.ศ.1883 เรียนวิชาปรัชญา (Philosophy)
วันที่ 27 มกราคม  ค.ศ.1884 รับศีลโกน (Tonsura) ที่วัดอัสสัมชัญ
วันที่ 12  มิถุนายน ค.ศ.1885 รับพิธีแต่งตั้งเป็นผู้เปิดประตู (Ostiatius)  
และผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector)  ที่บ้านเณร
วันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1886 รับศีลขับไล่ผี (Exorcista)  
และผู้ช่วยพิธีกรรม (Acolythus)  ที่บ้านเณร
วันที่ 25  กุมภาพันธ์ ค.ศ.1888 รับศีลบวชเป็นอุปานุสงฆ์  หรือ รองสังฆานุกร (Subdiaconatus) ที่วัดอัสสัมชัญ               
วันที่ 18  มิถุนายน ค.ศ.1888   รับศีลบวชเป็นอนุสงฆ์  หรือสังฆานุกร  (Diaconatus)  ที่วัดแม่พระบังเกิด  (บางนกแขวก)(หมายเหตุ : ปัจจุบันพระศาสนจักรได้ยกเลิกพิธีหรือพิธีศีลน้อยบางศีลก่อนบวชเป็นพระสงฆ์ออกไป คงเหลือแต่พิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์  (Lector)  แต่งตั้งผู้ช่วยพิธีกรรม  (Acolythus) และพิธีบวชสังฆานุกร  (Diaconatus)  เท่านั้น)
 
ที่สุด คุณพ่อก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์พร้อมกับเพื่อนอีก 2 องค์ คือ คุณพ่ออัมโบซีโอ  (แก้ว) และคุณพ่อยวง (เฮียง) โดยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์  (Mgr.  Jean Louis  Vey)  เป็นผู้บวชให้  ในวันที่  8  กันยายน  ค.ศ.1888 ซึ่งเป็นวันฉลองวัดแม่พระบังเกิด (บางนกแขวก)
 
เมื่อคุณพ่อกูเลียลโมได้รับศีลบวชแล้ว ก็ได้ไปประจำอยู่ที่วัดพระหฤทัย  (วัดเพลง) เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1888  จึงได้เดินทางมากรุงเทพฯ และได้ถวายมิสซาแรกที่วัดคอนเซ็ปชัญ  ในวันที่  23  กันยายน ค.ศ.1888 ท่ามกลางบิดามารดาพี่น้อง และวงศาคณาญาติของคุณพ่อ เมื่อคุณพ่อถวายมิสซาแรกเสร็จแล้ว ก็ต้องเดินทางไปเป็นผู้ช่วยของคุณพ่อกิยู  (Guillou) ที่วัดพระนามพระเยซู  ชลบุรี  (วัดบางปลาสร้อย) ในวันที่  25 กันยายน  นั้นทันที ในวาระนี้เอง คุณพ่อได้มีโอกาสกลับไปญาติพี่น้องทางมารดาที่จันทบุรีเป็นครั้งแรก  หลังจากที่บิดย้ายครอบครัวเข้ากรุงเทพฯเมื่อ 29 ปี ก่อนหน้านั้น
 
 
ระหว่างที่คุณพ่อกูเลียลโมได้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดพระนามพระเยซู ชลบุรี (วัดบางปลาสร้อย)  คุณพ่อคงจะจัดเจนต่อการอบรมสั่งสอนสัตบุรุษให้ดีขึ้นเป็นลำดับ พระสังฆราชจึงได้มีคำสั่งย้ายคุณพ่อจากชนบทมาเป็นคุณพ่อผู้ช่วยของคุณพ่อปีโอที่วัดซางตาครู้ส  เมื่อวันที่  25 พฤษภาคม  ค.ศ.1890
 
คุณพ่อกูเลียลโมได้ทำงานได้ทำงานร่วมกับคุณพ่อปีโอเป็นเวลา 3 ปี คุณพ่อปีโอก็ได้เดินทางกลับต่างประเทศในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1893 คุณพ่อกูเลียลโมจึงทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาส  ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางบ้านเมืองอย่างรุนแรง คือ วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1893  ได้มีเรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาทางปากน้ำ  และได้เกิดการยิงกันขึ้น ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในสภาวะเสียขวัญและหวาดกลัว
 
วันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1894  คุณพ่อแปร์โรซ์  (Perraux)  ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส  ส่วนคุณพ่อกูเลียลโมได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้คุณพ่อได้ไปช่วยงานที่วัดนักบุญเปโตร  (วัดนครชัยศรี)  สามพราน ประมาณ  1  เดือน ที่สุด ในปี  ค.ศ.1900  คุณพ่อกูเลียลโมก็ได้ถูกย้ายกลับมารที่วัดซางตาครู้สอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งเป็นการย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งคุณพ่อเจ้าอาวาส
 
 
 
เนื่องด้วยตัวอาคารวัดซางตาครู้สซึ่งมีอายุเก่าแก่ ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  จำเป็นต้องได้รับการบูรณะอย่างเร่งด่วน  คุณพ่อกูเลียลโม  ได้เล็งเห็นว่าการบูรณะวัดหลังเก่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คุณพ่อจึงได้ตัดสินใจสร้างวัดขึ้นใหม่  โดยคุณพ่อได้พยายามสะสมเงินทองให้ได้ตามมีตามเกิด เมื่อรวบรวมได้พอสมควรแล้ว คุณพ่อจึงได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นที่โรงเรียนหน้าวัด  แล้วลงมือรื้อวัดหลังเก่าลงเมื่อวันที่  8  เมษายน  ค.ศ.1913 ในวันที่  25 เดือนเดียวกัน  พระสังฆราชได้มอบหน้าที่ให้คุณพ่อดูแลวัดนักบุญอันนา  (วัดท่าจีน)  ด้วย  ซึ่งทำให้คุณพ่อ มีภาระเพิ่มขึ้นอีก  แต่ถึงกระนั้น  คุณพ่อก็มิได้ละทิ้งงานสร้างวัดใหม่  หรือทำให้งานสร้างวัดใหม่ล่าช้าแต่ประการใด  คุณพ่อกูเลียลโม  ได้บันทึกเหตุการณ์การสร้างวัดใหม่ในบันทึกของวัดไว้ว่าดังนี้  :
 
“ขุดราก วันที่  30  เมษายน  ค.ศ.1914
 ตอกเสาเข็ม วันที่  30  กรกฎาคม  ค.ศ.1914
 ก่ออิฐ วันที่  12  สิงหาคม  ค.ศ.1914...”
 
โครงสร้างวัดใหม่นี้  มิได้มีนายช่างสถาปนิกเขียนแบบรูปร่างวัดไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด  เพียงแต่ทำกันเป็นตอนๆไป  สุดแต่ว่าจะเห็นรูปแบบอย่างใดดี ควรวางไว้ตรงไหน ก็ให้ช่างถอดแบบนั้นลงมาวางไว้ในที่ที่กำหนด แล้วก็ก่อประติดปะต่อกันไปเรื่อยๆ จนเสร็จเป็นรูปทรงของวัดหลังปัจจุบันที่เห็นกันอยู่ (แม้ในปี  ค.ศ.1996  วัดหลังปัจจุบันจะได้รับการบูรณะขึ้นใหม่  แต่ก็ยังคงอนุรักษ์รูปทรงเดิมของวัดไว้เท่าที่ทำได้  รูปทรงของวัดหลังจากบูรณะจึงไม่แตกต่างอะไรไปจากสมัยที่คุณพ่อกูเลียลโม ได้สร้างไว้เท่าไรนัก)  เป็นความประหลาดใจไม่น้อยที่คุณพ่อกูเลียลโมจะสามารถสร้างวัดที่ใหญ่โตได้ด้วยวิธีการดังกล่าว และด้วยวิธีการสร้างเช่นนี้ ทำให้คุณพ่อสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงเป็นอันมาก  แต่ถึงกระนั้นคุณพ่อยังคอยเอาใจใส่ในการก่อสร้างอย่างละเอียดลออไม่ให้วัสดุก่อสร้างสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านอาวุโสของวัดที่เกิดทันสมัยคุณพ่อกูเลียลโมคงยังจะจำภาพของคุณพ่อได้...ในลักษณะที่เอาผ้าคลุมศีรษะขณะฝนตก เที่ยวเดินไปตามบริเวณที่ก่อสร้างในเวลาเย็น  และก้มลงเก็บตะปูที่ช่างไม้ทิ้งเรี่ยราดไว้ เพื่อรวบรวมเอาไว้ใช้ในวันรุ่งขึ้น... งานสร้างวัดนี้เป็นงานที่เรียกร้องความอดทนและความเสียสละเป็นอย่างมาก  ซึ่งคุณพ่อกูเลียลโมก็ได้เอาชนะและสามารถสร้างวัดขึ้นมาได้จนสำเร็จ
 
วัดใหม่ได้สร้างเสร็จแล้ว  และเข้าถวายมิสซาในวัดใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28  กรกฎาคม  ค.ศ.1916  รวมระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นเวลา 2 ปี กับ 3 เดือน  พระสังฆราชแปร์รอสได้พิธีเสกวัดหลังใหม่นี้ในวันฉลองวัดปีเดียวกัน คือ วันที่ 17 กันยายน  ค.ศ.1916  ในพิธีเสกวัดและฉลองวัดนี้ ได้จัดเป็นงานใหญ่มโหฬาร ได้เชิญคณะขับร้องจากวัดอัสสัมชัญมาขับร้อง ภายใต้การนำของภารดาไมเกิ้ล  และมีคณะเครื่องสาย  “เซ็นต์เซซีลีอา” ของโรงเรียนอัสสัมชัญมาร่วมบรรเลงด้วย  เมื่องานสร้างวัดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  คุณพ่อกูเลียลโมก็ได้พยายามปรับปรุงตกแต่งภายในวัดจนมีศาสนภัณฑ์เครื่องใช้ครบถ้วน
 
เมื่อวันที่  18  เมษายน ค.ศ.1921 คุณพ่อกูเลียลโมได้ล้มป่วยลง  เนื่องจากเป็นฝีที่หลัง  คุณพ่อต้องนอนป่วยอยู่ประมาณ 10  วันจึงหาย  ซึ่งเป็นการป่วยที่นาน  เพราะตามปกติคุณพ่อจะไม่เคยล้มป่วยเลย  นอกจากเป็นหวัดนิดๆหน่อยๆ  เมื่อคุณพ่อหายป่วยและได้พักผ่อน  และรวบรวมเงินได้พอสมควรแล้ว  คุณพ่อก็ได้ลงมือรื้อตึกพักพระสงฆ์เก่าและสร้างใหม่  ตามบันทึกของวัดที่คุณพ่อได้บันทึกเหตุการณ์ไว้มีดังนี้  :
 
“รื้อตึกเก่า วันที่  4  พฤษภาคม  ค.ศ.1922
 ก่ออิฐตึกใหม่ วันที่  15  กรกฎาคม  ค.ศ.1922
 ทำแล้วเสร็จ วันที่  16  มิถุนายน  ค.ศ.1923...”
 
วันที่  22  มกราคม  ค.ศ.1925 สัตบุรุษวัดซางตาครู้สได้จัดงานสมโภชคุณพ่อกูเลียลโม เป็นการใหญ่  ในโอกาสที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สครบ  25  ปี  และอีก 13  ปีต่อมาก็ได้จัดงานสมโภชให้คุณพ่อยิ่งใหญ่กว่างานข้างต้น  คือ งานสุวรรณบรรพชา  เมื่อวันที่  27 พฤศจิกายน ค.ศ.1938 คุณพ่อได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ครบ 50  ปี  ซึ่งงานฉลองนี้ควรจะจัดเป็นวันที่  8  กันยายน  แต่เนื่องจากเป็นฤดูฝน  ทำให้การจัดงานทำได้ยาก  จึงต้องเปลี่ยนวันฉลอง
 
เมื่อคุณพ่อกูเลียลโม ได้ชราภาพลงมากแล้ว  และไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเดิม  พระสังฆราชแปร์รอสจึงได้ส่งคุณพ่อยาโกเบ  แจง  เกิดสว่าง  มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในวันที่  6  พฤษภาคม  ค.ศ.1940  ต่อมาอีกไม่นาน  คุณพ่อยาโกเบ  ก็ถูกย้ายกลับไปอยู่ที่วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ  (หัวไผ่) อีก และต่อมาคุณพ่อยาโกเบ ก็ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชชาวไทยองค์แรก  และดำรงตำแหน่งประมุขแห่งสังฆมณฑลจันทบุรี  เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 ส่วนทางวัดซางตาครู้สนั้น  พระสังฆราชแปร์รอสได้จัดส่งคุณพ่ออังแซลม์เสงี่ยม  ร่วมสมุห์  มาเป็นคุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสแทนในปี ค.ศ.1941 ในปีต่อมา คือปี ค.ศ.1942 คุณพ่อกูเลียลโมซึ่งชราภาพมากแล้ว  ก็ได้เกษียณอายุ  พระสังฆราชจึงได้แต่งตั้งคุณพ่ออังแซลม์ เป็นเจ้าอาวาสแทน  แม้คุณพ่อกูเลียลโมจะเกษียณพ้นจากหน้าที่เจ้าอาวาสแล้วก็ตาม  แต่คุณพ่อก็ยังคงพักประจำอยู่ที่วัดซางตาครู้สต่อไป  เพื่อเป็นมิ่งขวัญของประชาสัตบุรุษที่รักของคุณพ่อ  วันที่  16  มกราคม  ค.ศ.1949  สัตบุรุษวัดซางตาครู้สได้พร้อมใจกันจัดงานใหญ่ให้คุณพ่ออีกครั้งหนึ่ง  ในโอกาสที่คุณพ่อบวชเป็นพระสงฆ์ครบ 60  ปี  ซึ่งในขณะนั้นคุณพ่อมีอายุ  89  ปีแล้ว  แต่คุณพ่อก็ยังสามารถประกอบพิธีบูชาได้อย่างสง่างามเรียบร้อย  และการจัดงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดงานยิ่งใหญ่กว่าครั้งก่อนๆ ภายหลังจากการจัดงานครั้งนี้แล้ว สัตบุรษวัดซางตาครู้สได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นเกียรติแด่คุณพ่อ  และได้ทำพิธีเปิดผ้าแพรคลุมอนุสาวรีย์ของคุณพ่ออย่างเป็นทางการในวันฉลองวัดเดือนกันยายนปีเดียวกัน โดยพระสังฆราชหลุยส์โชแรง  อนุสาวรีย์ของคุณพ่อประดิษฐานไว้ในบริเวณบ้านพักของพระสงฆ์จนกระทั่งคุณพ่อกูเลียลโม ได้มรณภาพ  จึงได้ย้ายอนุสาวรีย์ไปประดิษฐานไว้ที่หลุมฝังศพของคุณพ่อที่ด้านหลังวัดจนกระทั่งถึงบัดนี้
 
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ใคร่ขอกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแด่คุณพ่อกูเลียลโม ณ ที่นี้  คือ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่  2 ทหารอากาศฝ่ายพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานพุทธ  มีระเบิดตกลงมาในบริเวณวัดประยูรวงศาวาส  แรงสั่นสะเทือนของระเบิดในครั้งนั้นได้ทำให้กระจกภาพสีรูป  14  ภาค  และกระจกภาพสีตามบานประตู  และหน้าต่างภายในวัดที่คุณพ่อกูเลียลโมได้สั่งทำเป็นพิเศษจากประเทศฝรั่งเศส  ได้รับความเสียหาย  แตกละเอียดหมด  คงเหลืออยู่เพียง  2  รูป ตรงหน้าพระแท่นด้านซ้ายและขาวเท่านั้น  จากการเสียหายในครั้งนี้ทำให้คุณพ่อซึ่งในขณะนั้นชราภาพมากแล้ว  และความทรงจำต่างๆ จะเสื่อมลง  ถึงกับน้ำตาไหล เมื่อคุณพ่อเดินมาพบเศษกระจกสีแตกละเอียดตกเรี่ยราดอยู่บนพื้นถนนข้างวัด คุณพ่อจะก้มลงเก็บเศษกระจกที่แตกนั้นด้วยความเศร้าสลดใจ  และด้วยความเสียดายสมบัติที่  คุณพ่อได้หาซื้อมาด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง  ทำให้ผู้คนที่ได้พบเห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นมีความรู้สึกสะเทือนใจ  และอดจะแสดงความเห็นอกเห็นใจคุณพ่อเสียมิได้  (แม้ภัยแห่งสงครามนั้นจะผ่านพ้นมาหลายสิบปีแล้ว  แต่ก็ยังไม่สามารถหาซื้อกระจกภาพมาแทนของเก่าได้ จนกระทั่งปี  ค.ศ.1996  ทางวัดได้ทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่ในวาระครบ  80  ปี  จึงได้พยายามจัดหากระจกภาพ  เล่าเรื่องในพระคัมภีร์ และภาพรำพึงสายประคำมาใส่แทนของเก่า ภายใต้การดำเนินงานของ ผศ.ทวีรัก  จเรินสุข)  ยิ่งไปกว่านั้น  ตลอดเวลาแห่งสงคราม  แม้  คุณพ่อกูเลียลโม จะชราภาพมากแล้วก็ตาม  คุณพ่อก็หาได้ละทิ้งสัตบุรุษซึ่งเป็นลูกๆ ของคุณพ่อไม่ได้  คุณพ่อคงอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับบรรดาสัตบุรุษของคุณพ่อตลอดเวลาอันยากลำบากเหล่านั้น
 
ต่อมาในปี ค.ศ.1954 สังขารของคุณพ่อกูเลียลโมก็ยิ่งเสื่อมลง จนกระทั่งไม่สามารถเดินไปไหนได้ไกลๆเหมือนแต่ก่อน แม้แต่ศาลาท่าน้ำหน้าวัด  ที่ซึ่งคุณพ่อชอบเดินไปทุกเช้าและทุกเย็นเพื่อชมเรือแพและทัศนียภาพทางลำน้ำ ประมาณต้นปี ค.ศ.1955 กำลังวังชาของคุณพ่อก็ลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับจนในที่สุดคุณพ่อก็ได้หมดกำลังลงและถึงแก่มรณภาพภายในศีลในพรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสงบท่ามกลางสัตบุรุษทั้งชายและหญิงเป็นจำนวนมากที่ได้มาเฝ้าชุมนุมกันอยู่อย่างใกล้ชิด ในวันที่  14  เมษายน  ค.ศ.1955  เวลา 14.15  น.
 
พิธีปลงศพของคุณพ่อกูเลียลโมได้กระทำกันอย่างมโหฬารยิ่ง  วันที่ 16 เมษายน  ค.ศ.1955  โดยพระสังฆราชหลุยส์  โชแรง  เป็นผู้ประกอบพิธี  และก่อนทำพิธีบรรจุศพของคุณพ่อ  ได้มีการเชิญศพขึ้นสังเค็ตใหญ่  และแห่ไปรอบวัดหนึ่งรอบครึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้คุณพ่อได้เยี่ยมเยียนสัตบุรุษของคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน  ในขบวนแห่ได้มีคุณพ่อเคียมสูน  นิตโย (พระสังฆราชยวง  นิตโย)  เป็นผู้ถือกางเขนนำขบวน  เมื่อสังเค็ตที่ประดิษฐานศพของคุณพ่อกูเลียลโม ได้มาถึงหลุมฝังศพบริเวณหลังวัดแล้ว ยังปรากฏว่าขบวนสัตบุรุษที่มาร่วมพิธียังเดินไม่ครบรอบ ทั้งนี้เพราะมีผู้มาร่วมไว้อาลัยคุณพ่ออย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ของวัดซางตาครู้สเลยทีเดียว
 
ด้วยเดชะพระบุญญาบารมีของพระผู้เป็นเจ้า  ขอให้วิญญาณของคุณพ่อกูเลียลโม  กิ๊น  ดาครู้ส  จงได้รับบำเหน็จตอบแทนในสรวงสวรรค์  สมดังคุณงามความดีอันมหาศาลที่คุณพ่อได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิต  95  ปีนี้ด้วยเทอญ 
 
 
สถาปัตยกรรมของวัดซางตาครู้ส
ในสมัยคุณพ่อกูเลียลโม  กิ๊น  ดาครู้ส เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส โบสถ์หลังที่ 2 ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1835 อยู่ในสภาพที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมากเกินไปกว่าที่จะทำการบูรณะซ่อมแซมให้งดงามดังเดิมได้ คุณพ่อกูเลียลโม  จึงได้สร้างวัดหลังใหม่ขึ้นคือโบสถ์หลังปัจจุบัน ภายในเวลา 2 ปี 3 เดือน โบสถ์หลังใหม่ก็สร้างเสร็จใหญ่โตงดงามตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อกูเลียลโม ซางตาครู้ส  กางเขนศักดิ์สิทธิ์ งามสง่าบนยอดโดมดังพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าที่โบกต้อนรับและเสมือนแสงสว่างแห่งความหวัง ที่โปรดปรายมาสู่เหล่าสัตบุรุษทั้งหลาย 
 
วัดซางตาครู้สหลังที่ 3 นี้ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบเรเนสซองส์ แบบนีโอ-คลาสสิคและเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีผังเป็นรูปเลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวขวางหันหน้าไปทางทิศเหนือ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยความงามสง่าทางสถาปัตยกรรม ที่รังสรรค์อย่างบรรจง และสิ่งที่น่าสนใจในการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับหรือบานประตูหน้าต่างที่ทำเป็นรูป ไม้ กางเขน ตามชื่อของวัด นอกจากจะคงความหมายที่สำคัญแล้วยังช่วยเพิ่มความงดงามให้กับตัวอาคารยิ่งขึ้น ทำให้โบสถ์ซางตาครู้สเป็นอาคารสถาปัตย์ในคริสต์ศาสนาที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
 
เรื่องการออกแบบก่อสร้างวัดนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนาคริสตจักรคาทอลิกประเทศไทย ได้กล่าวว่าคุณพ่อแปร์โรเป็นผู้ออกแบบ คุณพ่อแปร์โรเป็นผู้มีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง คุณพ่อได้ออกแบบวัดต่างๆ หลายวัด หอระฆังวัดคอนเซ็ปชัญ รวมถึงวัดซางตาครู้สด้วย ซึ่งวัดซางตาครู้สเป็นงานชิ้นสุดท้ายของคุณพ่อก่อนที่จะเสียชีวิต แต่จากหนังสือชีวประวัติของคุณพ่อกูเลียมโมและการสอบถามผู้อาวุโสในหมู่บ้าน กล่าวตรงกันว่าวัดหลังนี้คุณพ่อกูเลียลโมเป็นผู้ออกแบบเอง อาจเป็นไปได้ที่คุณพ่อกูเลียลโมคงจะได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อแปร์โรเรื่องการสร้างวัดหลังใหม่นี้ด้วย ซึ่งคุณพ่อแปร์โรได้เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สมาก่อน ทั้งนี้อาจจะได้มีสถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ตรวจอบบอีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนช่างก่อสร้างเป็นช่างชาวจีน โดยมีคุณพ่อกูเลียลโมเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง ซึ่งภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเสียสละและอดทนของคุณพ่อกูเลียลโมขณะที่ควบคุมการก่อสร้างวัดหลังนี้เป็นที่ประทับใจของชาวกุฎีจีนที่มีโอกาสได้พบเห็นยิ่งนัก
 
ผ่านกาลเวลามา ทำให้วัดซางตาครู้สหลังปัจจุบันทรุดโทรมลง ในปี ค.ศ.1996  จึงได้มีการบูรณะวัดซางตาครู้สขึ้นตามแนวทางการอนุรักษ์ เพื่อสงวนรักษาอาคารสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่ตลอดไป
 
โครงสร้างอาคารของวัดซางตาครู้ส  เป็นแบบโบราณ คือ ใช้ผนังอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของหลังคา ใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดาน โดยมีคานยึดหัวเสากับผนังไม่ให้แบะออกจากกัน ฝ้าเพดานใช้เป็นทั้งโครงสร้างอาคารและส่วนประดับไปในตัว คือ เป็น  คอนกรีตหล่อโค้งตามรูปเพดาน ส่วนช่องดาวเพดานหล่อเป็นช่องๆ นำมาติดกับคานคอนกรีตเสริมเหล็กให้เข้ารูปโค้ง ฐานรากของอาคาร ไม่ได้มีการตอกเสาเข็มแต่ใช้ระบบฐานแผ่ คือ ผนังอาคารทั้ง 2 ด้าน จะมีฐานคอนกรีตเชื่อมต่อฐานรากของผนังกับฐานรากของเสาลอบ โดยมีคานคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นตัวยึด ฐานแผ่หล่อด้วยคอนกรีตหนาประมาณ 40 ซม. กว้างประมาณ 1-1.10  เมตร ลึกจากระดับพื้นวัดลงไปประมาณ 1.20 เมตร  ส่วนฐานแผ่ที่เสา กว้างประมาณ 1.70 เมตร รอบฐานเสา การปรับระดับพื้นที่ใช้เศษอิฐปูนจากโครงสร้างอาคารหลังเดิม
 
ส่วนฐานรากของโดม ไม่ได้ทำการขุดทดสอบ แต่สันติฐานว่าน่าจะรองด้วยต้นซุงหรือเสาไม้  เนื่องจากขณะขุดหลุมเพื่อตอกเสาเข็มได้พบลักษณะกันหลุมเสาเข็มคล้ายกับเสาไม้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน และฐานรากภายในห้องสังฆภัณฑ์ (sacristia) พบว่ามีการทำฐานแผ่ฐานผนังอาคารทุกด้านเทคอนกรีตเสริมเหล็กตามรูปตัวอาคาร ฐานแผ่กว้างประมาณ 70 ซม. ลึกประมาณ 1.30 เมตร  ผนังห้องหล่อด้วยคอนกรีต การถมพื้นมีหลายชั้น ชั้นบนเป็นดินปนเศษอิฐ เศษวัสดุ  ชั้นต่อมาเป็นขี้เถ้าแกลบ สันนิษฐานว่า เพื่อเป็นการถ่ายน้ำหนักอาคารตามวิธีแบบโบราณ ตัวอาคารวัดซางตาครู้ส ประกอบด้วยส่วนประกอบหลักใหญ่อยู่ 3 ส่วน คือ 
 
1. อาคารด้านหน้าหรือส่วนโดม ซึ่งแบ่งเป็นส่วนย่อม 2 ส่วน คือ ส่วนล่างเป็นส่วนชุ้มโค้งทางเข้าทั้งด้านหน้าและด้านข้าง 3 ด้าน ทั้งหมด 5 ช่อง ช่องตรงกลางด้านหน้าเป็นทางเข้าใหญ่และสำคัญที่สุด ฝ้าเพดานภายในตกแต่งลวดลายเลียนแบบดาวเพดาน แบ่งส่วนเพดานเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องจะแบ่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ภายในกรอบสี่เหลี่ยมตรงกลางประดับด้วยลวดลายดอกไม้ปูนปั้น ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของชั้นลอย ภายในทำเป็นช่องลมบานเกร็ดปูน คั่นบานเกล็ดแต่ละช่องด้วยเสากลมขนาดเล็ก หัวเสาเป็นแบบคอรินเธียน   เหนือขึ้นไปเป็นส่วนของระเบียง มีราวระเบียงหล่อด้วยซีเมนต์เป็นซี่ลูกกรงที่มุมทั้ง 4 ประดับด้วยหัวเสารูปคบเพลิง พื้นระเบียงชั้นนี้รองรับหอระฆังทรงสี่เหลี่ยม เจาะช่องลมกลมทั้ง 3 ด้าน ยกเว้นด้านที่ติดกับหลังคาของโถงด้านหลัง ภายในชั้นนี้เป็นที่ไว้ระฆัง   ถัดมาเป็นหอทรงสี่เหลี่ยม  แต่ละด้านมีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ช่องละ 1 บาน ประดับภายนอกด้วยลวดลายปูนปั้นที่เชิงหน้าต่าง  ส่วนบนสุดเป็นโดมภายในโปร่ง  ยอดโดมทำเป็นหอคอยขนาดเล็ก บนยอดติดตั้งรูปหล่อไม้กางเขน
 
2. ตัวอาคาร เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของวัด สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว เชื่อมต่อจากอาคารด้านหน้า (หอระฆัง) และห้องสังฆภัณฑ์ทางด้านหลัง  ตัวอาคารภายนอกเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 7 ช่อง แต่ละช่องจะมีเสาติดผนังเป็นตัวแบ่งช่องหน้าต่าง  ออกเป็นช่องๆ  ตามจำนวนของซุ้มโค้งที่อยู่ภายใน  ซุ้มหน้าต่างแต่ละช่องทำเป็นซุ้มโค้งตกแต่งด้วยเส้นลวดบัวและลายปูนปั้น  เหนือบานหน้าต่างภายในกรอบซุ้ม เป็นช่องกระจกรูปครึ่งวงกลมกรุกระจกสี เหนื้อซุ้มหน้าต่างเจาะช่องกระจกรูปกลม ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ เช่นเดียวกัน ผนังตอนบนใต้ชายคาระหว่างช่องหน้าต่างประดับด้วยลวดปูนปั้นลายพวงมาลัยช่องละ 1 พวง ซึ่งเป็นลายที่หล่อจากแม่พิมพ์แล้วนำมาติดประดับอาคารโดยรอบ ส่วนค้ำใต้ชายคาของรางระบายน้ำตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนรางระบายน้ำบนหลังคาเป็นรางรูปตัว U รูปแบนและกว้าง มีรูสำหรับระบายน้ำ ส่วนปากท่อระบายน้ำด้านนอกปั้นปูนตกแต่งเป็นประติมากรรมรูปหัวสัตว์ประหลาด หลังคาทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องใยหิน ขนาด 0.3 มม.  รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีแดง  ขนาด 40 X 40 ซม.  ซึ่งเป็นกระเบื้องสั่งจากต่างประเทศ และที่จั่วหลังคาด้านหลังช่วงกลางเจาะช่องรูปกลม ติดกระจกสี stain glass เป็นภาพพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน และที่มุมทั้ง 3 ด้านของหน้าจั่วเป็นช่องลมบานเกล็ดไม้ 3 ช่อง ช่องใหญ่อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยช่องเล็ก 2 ช่อง เป็นช่องระบายอากาศภายใต้หลังคา
 
ประตูทางเข้าวัดมี 5 ประตู  มีประตูใหญ่อยู่ตรงกลาง บานประตูยอดโค้งมนสร้างด้วยไม้ และแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม ส่วนบานประตูด้านข้างๆ ละ 2 บาน เป็นบานประตูขนาดเล็กทรงโค้งมน ส่วนบนของบานประตูทำเป็นกรอบไม้แกะสลักกรุกระจกสีต่างๆ เป็นรัศมีรูปครึ้งวงกลม
 
เมื่อเข้ามาภายในสิ่งแรกที่จะเห็น คือ ซุ้มพระแท่นบูชาที่ผนังด้านหลังสุดของวัด ตรงกลางซุ้มประดิษฐานรูปพระเยซูเจ้า ทรงถูกตึงกางเขน รูปแบบของซุ้มจะทำเลียนแบบจั่วอาคารแบบกรีก คือ ทำเสาติดผนัง 2 ต้น หัวเสาประดับลวดลายปูนปั้นปิดทอง รองรับหน้าจั่วจำลอง ภายในหน้าจั่วประดับลาดลายปูนปั้นรูปลูกแกะของพระผู้เป็นเจ้านอกอยู่ภายในพงหญ้า ล้อมรอบไปด้วยเถาองุ่นและรวงข้าวสาลี  ส่วนค้ำยันใต้จั่วแต่ละอันคั้นด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ และที่ผนังช่วงล่างปั้นปูนเป็นลายใบปาล์ม ภายในซุ้มแท่นบูชาผนังด้านหลังและฝ้าเพดานทำเป็นช่องโค้งรูปครึ่งวงกลมรองรับซุ้ม 2 ข้าง  ภายในโค้งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงบนลงรักปิดทองเป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า ตรงกลางเป็นเครื่องหมาย lhs (lesus hominis salvator)  พระเยซูไถ่มนุษยชาติ ล้อมรอบด้วยมงกุฎหนามและรัศมี  ส่วนล่างเขียนเป็นรูปท้องฟ้าและมีดวงดาวประดับ ช่วงกลางเขียนสีฝุ่นลวดลายคล้ายผ้าม่าน ช่วงบนปั้นปูนลายพวงมาลัยปืดทอง ถัดลงมาเป็นตัวผ้าม่าน พิมพ์ลายดอกไม้สลับกับผมไม้คล้ายผลทับทิม มีการปิดทองตกแต่งภาพเขียนเป็นช่วงๆ ภายในซุ้มทำเสากลม หัวเสาแบบคอรินเธียนจำนวน 6 ต้น คั่นผ้าม่านเป็นช่วงๆ และช่วงล่างทำเป็นฐานบัวเรียบจนถึงพท้นล่างตรงกลางของซุ้มประดิษฐานรูปพระเยซูเจ้า ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน
 
ด้านข้างซุ้มเป็นประตูทางเข้าไปภายในห้องสังฆภัณฑ์เหนือบานประตูประดับด้วยกระจกสี Stain Glass เป็นเรื่องราวทางคริสต์ศาสนา  ซึ่งกระจกสีเหนือประตูทางเข้าห้องสังฆภัณฑ์ทั้งสองห้องและกระจกสีเหนือซุ้มแท่นบูชานี้ เป็นกระจกสีที่คุณพ่อกูเลียลโม สั่งพิเศษมาจากประเทศฝรั่งเศสที่คงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้  เหนือบานประตูประดับลวดลายปูนปั้นรูปพวงมาลัยกลม ถัดขึ้นไปทำซุ้มขนาดเล็กประดิษฐานรูปปั้นนักบุญข้างละ 1 องค์ คือ นักบุญ    ฟรังซิสเซเวียร์และนักบุญอันตน
 
ถัดมาทางด้านริมสุดใกล้กับบานหน้าต่าง ทำซุ้มลอยตัวติดผนังด้านละ 1 ซุ้ม ทางด้านตะวันออกประดิษฐานรูปพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลและทางด้านตะวันตกประดิษฐานรูปนักบุญยอแซฟอุ้มพระกุมาร ทั้ง 2 ซุ้ม ปั้นปูนเขียนสีปิดทองอย่างสวยงาม พื้นซุ้มด้านหลังทำเป็นซุ้มโค้งเลียนแบบท้องฟ้า เช่นเดียวกับซุ้มพระแท่นบูชา
 
ภายในโถงอาคาร ทำฝ้าเพดานเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ ฝ้าเพดานแบ่งช่องเป็นกรอบสี่เหลี่ยม จำนวน 189 ช่อง ตรงกลางทาสีฟ้า และติดดาวเพดานสีทอง ด้านข้างเป็นรูปซุ้มโค้ง ด้านละ 7 ช่อง ส่วนปลายของเพดานและซุ้มโค้งมาบรรจบกันที่เสาลอยด้านข้างที่รับน้ำหนักของฝ้าเพดาน เสาลอยเป็นเสากลม บัวหัวเสาปั้นปูนทาสีทองแบบคอรินเธียน ฝ้าเพดานด้านข้างเป็นฝ้าเพดาน ข้างละ 7 ช่อง ฝ้าเพดานช่วงบนทำเลียนแบบท้องฟ้า ตรงกลางประดับด้วยดาวเพดานสีทองช่องละ 1 ดวง ผนังด้านข้างทั้ง 2 เจาะช่องหน้าต่างไม้บานใหญ่มนข้างละ 7 ช่อง แต่ละช่องคั่นด้วยเสาติดผนังเป็นช่วงๆ ส่วนบนรูปครึ่งวงกลมเป็นช่องแสงประดับด้วยกระจกสีต่างๆ คล้ายรูปรัศมีพระอาทิตย์ เหนือบานหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปโล่ ลวดลายใบไม้ ดอกไม้ มีลัญลักษณ์ของวัดคือ ไม้กางเขนทำด้วยไม้อยู่ตรงกลาง และผนังตอนบนเจาะช่องแสงกลมติดกระจกสี ทำเป็นรูปไม้กางเขนทั้งหมด 14 ช่อง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่ ในสมัยคุณพ่ออังแชลม์ เสงี่ยม ร่วมสมุห์ หลังจากกระจกสีเดิมในสมัยคุณพ่อกูเลียมโม ได้รับความเสียหายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาพเดิมนั้นเป็นภาพพระประวัติของพระมหาเยซูเจ้า ตั้งแต่ประสูติจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกระจำสีช่องแสงรูปครึ่งวงกลมเหนือบานหน้าต่าง เป็นภาพมรรคาศักดิ์สิทธิ์ (way of the cross) 14 ภาค  ในการบูรณะวัดซางตาครู้ส ครั้งนี้ได้เปลี่ยนกระจกสีใหม่ให้งดงามยิ่งขึ้น คือ ช่องแสงรูปวงกลมเป็นภาพรำพึงสายประคำ และช่องแสงรูปครึ่งวงกลมเป็นภาพเหตุการณ์บางตอนของพระคัมภีร์ในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่
 
พื้นภายในวัดเดิม ปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์อัดสีที่เรียกว่าซีกรีต สั่งมาจากต่างประเทศมีอยู่หลายลวดลาย สันติฐานว่ามีการซ่อมแซมพื้นอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะที่พื้นโถงใหญ่พบว่ามีการปูพื้นหลายลวดลายและหลายขนาด ส่วนใหญ่เป็นลวดลายดอกไม้หลากสีต่อกันเป็นชุดๆ ละ 4 แผ่น  และมีแผ่นลายที่เป็นของมุมด้วย ส่วนบนยกพื้น ช่วงบนปูกระเบื้องลวดลายเดียวเป็นกระเบื้องที่สั่งมาจากต่างประเทศ คุณภาพดีกว่ากระเบื้องปูพื้นโถง ในการบูรณะครั้งนี้ได้ทุบพื้นเดิมออกเพื่อเสริมฐานรากของอาคารให้มั่นคงแล้วได้ปูพื้นหินแกรนิตขึ้นใหม่ทังหมด
 
ส่วนที่ 3 ห้องสังฆภัณฑ์ (SACRISTIA) อยู่ทางมุขด้านหลังเชื่อมต่อกับตัวอาคารวัด ห้องสังฆภัณฑ์มีอาคารและหลังคาเป็นรูปหกเหลี่ยมบนหลังคาช่วงหลังทำหลังคาขนาดเล็กแบบมุข ตกแต่งหลังคาผนังหล่อด้วยคอนกรีต ภายในไม่มีการตกแต่ง เนื่องจากเป็นที่เก็บสังฆภัณฑ์ที่ใช้ประกอบพิธีมิสซา ห้องสังฆภัณฑ์มีประตูทางเข้า 2 ทาง คือ ทางตะวันออกและตะวันตก เชื่อมต่อกับทางเข้าด้านประตูรั้ว (แต่ปิดตาย 1 ประตู) มีหน้าต่าง 2 บาน เป็นหน้าต่างรูปโค้ง เช่นเดียวกับบานหน้าต่างภายในอาคาร ฝ้าเพดานแบ่งช่องตามแนวคานประดับดาวเพดานตรงกลาง 1 ดวง ตกแต่งปั้นปูนเป็นลายดอกไม้
 
 
รอบอาคารอัดเทพื้นคอนกรีต มีกระถางต้นไม้เรียงรายด้านละข้างเป็นช่วงๆ ตรงกลาง เป็นกุฎิบรรจุศพและรูปหล่อครึ่งองค์ของคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส ผู้สร้างวัดหลังที่ 3 นี้  รั้ววัดเป็นรั้วคอนกรีตหล่อ ทำเป็นช่องๆ มีเสาเป็นตัวแบ่งหัวเสายอดแหลมประดับปูนรูปปลูกฟัก ส่วนแผงรั้วแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงบนเป็นรั้วโปร่งหล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำเป็นซี่ลูกกรงส่วนบนเป็นรูปดอกลิลลี่ ช่วงล่างเป็นแผงอิฐก่อทึบตกแต่งเป็นลูกฟัก ด้านหลังรั้วไม่มีการตกแต่งเพียงแต่ฉาบปูนเรียบ
 
ในการบูรณะครั้งนี้ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบวัดใหม่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพิ่มความสวยงามให้กับศาสนสถานยิ่งขึ้น.
 
ปี ค.ศ. 2012 ทางวัดได้จัดทำวัดน้อยขั้น โดยอยู่ภายใต้ตึกกางเขน ซึ่งเป็นตึกเรียน 4 ชั้น โดยจัดวัดน้อยอยู่ชั้นล่าง ภายในตัวตึก เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) ในการตกแต่งภายในทั้งหมด
 
คุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์ เจ้าอาวาสและคุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้ช่วยกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยคุณพ่อวิทยาเป็นประธานดำเนินการจัดงาน นามของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย และมีคุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์เป็นผู้ช่วย โดยจัดงานคอนเสิร์ต “คาทอลิกไทย เทิดไท้มหาราชา มหาราชินี” ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ณ หอประชุมโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
 
ปี ค.ศ. 2013 มีโครงการจัดคริสต์มาสร่วมกัน 3 ศาสนา โดยมีสมาคมสถาปนิกสยามและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุน
 
ปี ค.ศ. 2015 เตรียมการฉลองวัดหลังที่ 3 ครบ 100 ปี ปรับภูมิทัศน์ บริเวณหน้าวัด รอบๆวัด
 
รายชื่อเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส  วัดซางตาครู้ส  กุฎีจีน
 

เจ้าอาวาส

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ระยะเวลา

คุณพ่อกอรร์  (รวบรวมคริสตชน, ได้รับพระราชทานที่ดิน)         

 

1769-1773

พระสังฆราช เลอบ็อง  

 

-

คุณพ่อการ์โนลต์ 

 

1773-1779

คุณพ่อกูเด

 

1775-1779

พระสังฆราชกูเด

 

1784-1785

คุณพ่อวิลล์แม็ง

 

1785-1786

คุณพ่อฟลอรังส์

 

1788-1810

พระสังฆราชการ์โนลต์

 

1794-1801

 

คุณพ่อราโบ

1801-1809

 

คุณพ่อปาสกัล (ไทย-โปรตุเกส)

1802-1807

 

คุณพ่อเยเรมิอัส (ไทย-โปรตุเกส)

1808-1811

คุณพ่อเยเรมิอัส

 

1811-1814

คุณพ่ออันเดร  ตู๊  (ญวน)

 

1814-1819

คุณพ่อรอดริเกส  (ไทย-โปรตุเกส)

 

1819-1823

คุณพ่อกราซิอานุส เดอ แซงต์ ซาวี เอร์ (ไทย-โปรตุเกส)

 

1823-1834

คุณพ่อปัลลเลอกัว (สร้างวัดหลังที่ 2 ปี ค.ศ. 1835)

 

1834-1836

คุณพ่อกรางยัง

 

1836-1849

คุณพ่อปอล  ฮอย

 

1851-1854

คุณพ่อดือกาต์

 

1854-1855

คุณพ่อแต๊สซิเอร์

 

1856-1857

คุณพ่อปอล  ฮอย

 

1857-1858

คุณพ่อดือกาต์

 

1858-1862

คุณพ่อเกี๊ยฟแฟร์

 

1862-1870

คุณพ่อรุสโซ

 

1870-1871

คุณพ่อเชอวิญารด์

 

1871-1874

คุณพ่อลมบารด์

 

1872-1874

คุณพ่อยออากิม

 

1876-1878

คุณพ่อยิบาร์ตา

 

1878-1886

คุณพ่อปีโอ

 

1888-1893

 

คุณพ่ออัมบรอซิโอ  (แก้ว)

1888-1890

 

คุณพ่อกูเลียลโม  กิ๊น  ดาครู้ส

1890-1894

คุณพ่อแปร์โรซ์  (Perraux)

 

1894-1899

 

คุณพ่อมาตราต์

1897

คุณพ่อหลุยส์  เล็ตแชร์

 

1899-1900

คุณพ่อกูเลียลโม  กิ๊น  ดาครู้ส

 

1900-1942

 

คุณพ่อนอร์แบรต์  วิทยา  สาทรกิจ

1935-1936

 

คุณพ่อยาโกเบ  แจง  เกิดสว่าง

1940-1941

 

คุณพ่ออังแซลม์  เสงี่ยม  ร่วมสมุห์

1941-1942

คุณพ่ออังแซลม์  เสงี่ยม  ร่วมสมุห์

 

1942-1968

 

คุณพ่อสำอาง  ผิวเกลี้ยง

1955-1956

 

คุณพ่อลออ  สังขรัตน์

1956-1957

 

คุณพ่อถาวร  กิจสกุล

1958-1959

 

คุณพ่อวิเวียน เดอซูซา(ไทย-โปรตุเกส)

1959-1961

 

คุณพ่อสังวาลย์  ศุระศรางค์

1963-1965

 

คุณพ่อบุญเลิศ  เกตุพัตร์

1965-1968

คุณพ่อมีแชล  ส้มจีน ศรีประยูร

 

1968-1971

 

คุณพ่อสนัด  วิจิตรวงศ์

1968-1971

 

คุณพ่อปิแอร์  แด  บัวส์

1970-1971

คุณพ่อสังวาลย์  ศุระศรางค์

 

1971-1973

 

คุณพ่อมอริส  เชอวาลิเอร์

1971-1973

คุณพ่อถาวร  กิจสกุล

 

1973-1979

 

คุณพ่อซิลวาโน  (P.I.M.E.)

1973-1975

คุณพ่อเสวียง  ศุระศรางค์

 

1979-1983

 

คุณพ่อซิลวาโน  (P.I.M.E.)

1979-1980

 

คุณพ่อสมโภชน์  พูลโภคผล

1980-1981

 

คุณพ่อธนันชัย  กิจสมัคร

1981-1983

คุณพ่ออดุลย์  คูรัตน์

 

1983-1989

 

คุณพ่อประเวศ  พันธุมจินดา

1983-1985

 

คุณพ่อชาญชัย  ทิวไผ่งาม

1985-1986

 

คุณพ่อเดชา  อาภรณ์รัตน์

1986-1987

 

คุณพ่อศรีปราชญ์  ผิวเกลี้ยง

1987-1989

คุณพ่อศวง  ศุระศรางค์

 

1989-1994

 

คุณพ่อประเสริฐ  ตรรกเวศน์

1989-1990

 

คุณพ่อสุรนันท์  กวยมงคล

1990-1992

 

คุณพ่อธีระ  กิจบำรุง

1992-1993

 

คุณพ่อธีรพล  กอบวิทยากุล

1993-1994

คุณพ่อสมศักดิ์  ธิราศักดิ์

 

1994-1999

 

คุณพ่อสุพัฒน์  สรรค์สร้างกิจ

1994-1996

 

คุณพ่ออนุรัตน์  ณ  สงขลา

1996-1999

คุณพ่อวิจิตร  ลิขิตธรรม

 

1999-2004

 

คุณพ่อจินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล

1999-2001

 

คุณพ่อสุทธิชัย บุญเผ่า

2001-2002

 

คุณพ่อชูศักดิ์ บุญอนันตบุตร

2002-2003

 

สังฆานุกรอิทธิพล ศรีรัตน์

2003

คุณพ่อสุทศ ประมวลพร้อม

 

2004-2009

 

คุณพ่อสุทธิ ปุคะละนันท์

2004-2005

 

คุณพ่อสราวุธ อมรดิษฐ์

2005-2007

 

คุณพ่อเกรียงชัย ตรีมรรคา

2007-2008

 

คุณพ่อเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์

2008-2010

คุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์

 

2009-2014

 

คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์

2010-2014

คุณพ่อวรวุฒิ กิจสกุล (พักฟื้นฟูสุขภาพ)

 

2013-2016

 

คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ

2014-2015

คุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์ (รักษาการ)

 

2016-2017

  คุณพ่อเชษฐดนัย ไชยเผือก

2016-2017

 คุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์ 

 

2017-2021

 

คุณพ่อเอกชัย โสรัจจกิจ

2017-2018

  คุณพ่อถิรลักษณ์ วิจิตรวงศ์

2018-2019

  คุณพ่อเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์ 2019-2021
  คุณพ่อสมชาย อัญชลีพรสันต์ 2020-ปัจจุบัน
คุณพ่อสมพร เส็งเจริญ  

2021-ปัจจุบัน

  คุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล

2023-ปัจจุบัน

 
 
แผนที่การเดินทาง