ประวัติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (ภาษาไทย)

 

คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

(เบเนดิกโต ชุนกิม)

 

ชีวิตเมื่อเยาว์วัย

            คุณพ่อนิโคลาสเกิดวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1895  รับศีลล้างบาปวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1895 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม ได้รับชื่อนักบุญศีลล้างบาปว่า “เบเนดิกโต” บิดาชื่อ ยอแซฟ โปฉัง มารดาชื่อ อักแนส เที่ยง มีพี่น้อง 5 คน ผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 3 คน คุณพ่อเป็นบุตรหัวปี           เริ่มเรียนที่โรงเรียนประชาบาลนักบุญเปโตร

 

เข้าบ้านเณร

            คุณพ่อยอแซฟ แฟร์เลย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตรอยู่ในเวลานั้น ได้ส่งคุณพ่อนิโคลาสเข้าบ้านเณรเล็กพระหฤทัย บางช้าง (บางนกแขวก) เรียนที่บ้านเณรบางช้างเป็นเวลาทั้งหมด 8 ปี เมื่อเรียนจบที่บ้านเณรบางช้างแล้ว เป็นครูสอนหนังสือตามวัดอีก 4 ปี ต่อจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ บ้านเณรใหญ่ปีนังอีก 6 ปี (ประมาณปี ค.ศ. 1920)

            ในสมัยเรียนที่บ้านเณรปีนัง ผลการเรียนของท่านอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด จากรายงานที่คุณพ่อปาแชสส่งมาให้พระสังฆราชแปร์รอสเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานถึงผลการเรียนของสามเณรไทยที่ปีนัง บอกว่าคุณพ่อนิโคลาสมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นคนศรัทธา มีความประพฤติเรียบร้อยดี มีความมานะอดทน ไม่กลัวความยากลำบาก โดยเฉพาะการทำงานหนัก   เป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความพอใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนมีอยู่ เป็นคนค่อนข้างหัวดื้อ โกรธง่ายในบางครั้ง เมื่อถูกคุณพ่ออธิการเตือน ท่านก็รับฟังและพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองจนเป็นที่พอใจของคุณพ่ออธิการ

            ท่านได้รับศีลน้อยก่อนขั้นสังฆานุกรวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1924 ได้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร วันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1925 ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่วัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส พร้อมกับเพื่อนอีก 4 องค์ คือ คุณพ่อเลโอนารด์ สิงหนาท (กลิ่น) ผลสุวรรณ, คุณพ่อเฮนรี่ สุนทร วิเศษรัตน์, คุณพ่อ
อัมบรอซิโอ กิ๊น มิลลุกูล, คุณพ่อปิโอ ถัง ลำเจริญพร

           คุณพ่อนิโคลาสและเพื่อนๆ อีก 4 องค์ ได้รับเลือกสรรจากพระเป็นเจ้าจากบรรดาสามเณรร่วมรุ่นจำนวน 25 คน  พระสังฆราชแปร์รอสเขียนบันทึกแสดงความยินดีไว้ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ. 1926 ว่า

“...เมื่อเดือนมกราคม มีการบวชพระสงฆ์ใหม่ 5 องค์ เป็นกำลังเสริมที่ประเสริฐยิ่ง ในขณะที่พระสงฆ์รุ่นเราๆ ลดจำนวนลงอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่พวกคริสตังก็ทวีขึ้นทั้งทางด้านจำนวนและคุณภาพ...”

 

            เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์แล้วได้ชื่อว่า “คุณพ่อนิโคลาส” เนื่องจากในสมัยนั้นมีคุณพ่อเบเนดิกโตอยู่องค์หนึ่งแล้วที่บางนกแขวก ส่วนชื่อตัวคือ "ชุนกิม" ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “บุญเกิด” ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 ช่วงสงครามอินโดจีน ตามนโยบายของรัฐบาลและตามความนิยมในสมัยนั้น

 

เป็นปลัดวัดบางนกแขวก

        เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์แล้วคุณพ่อนิโคลาส ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสของคุณพ่อดือรังด์ ที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก สมุทรสงคราม จนถึงปี ค.ศ. 1928 ในปี ค.ศ. 1927 คณะนักบวชซาเลเซียนเดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อทำงานแพร่ธรรมคณะได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหน้าสู่บางนกแขวก โดยมีคุณพ่อดือรังด์ เจ้าอาวาส, คุณพ่อนิโคลาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และครูเณรยวง กาแซตตา ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

            งานที่สำคัญชิ้นแรกที่คณะซาเลเซียนต้องทำในเวลานี้คือ การเรียนและอ่านเขียนภาษาไทย คุณพ่อนิโคลาสและคุณพ่อดือรังด์ได้ช่วยสอนภาษาไทย แนะนำให้รู้จักขนบธรรม เนียมประเพณีไทยและวิธีการปกครองสำหรับคนไทย เป็นต้น แก่บรรดาพระสงฆ์และสามเณรซาเลเซียนด้วยใจกว้างขวางตลอดเวลาปีกว่า

            วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 คุณพ่อดือรังด์ทำตามข้อตกลงคือ มอบวัดบางนกแขวกให้อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของคณะซาเลเซียน คุณพ่อดือรังด์และคุณพ่อนิโคลาสได้อำลาสมาชิกซาเลเซียนและสัตบุรุษบางนกแขวก มารับหน้าที่ใหม่จากพระสังฆราชแปร์รอสในมิสซังกรุงเทพฯ ท่านได้มอบวัดและสัตบุรุษให้คณะซาเลเซียนปกครองต่อไป โดยมอบทุกอย่างให้เป็นมรดกแก่คณะซาเลเซียนตามความเห็นชอบของพระสังฆราชแปร์รอส

            ถึงแม้คุณพ่อนิโคลาสจะย้ายไปทำงานที่วัดอื่นแล้ว แต่ในโอกาสฉลองวัด ท่านก็ได้สละเวลามาร่วมฉลอง มาช่วยฟังแก้บาปด้วยเสมอๆ

 

เป็นผู้ช่วยคุณพ่อมิราแบลที่พิษณุโลก

            คุณพ่อมิราแบลพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่ง กรุงปารีส (M.E.P.) ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1928 และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน พระสังฆราช แปร์รอสได้ส่งท่านไปอยู่ที่วัดเซนต์นิโคลาส พิษณุโลก และรับผิดชอบการเผยแพร่พระศาสนาทางภาคเหนือทั้งหมด ท่านได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชแปร์รอส ให้ช่วยจัดส่งมิชชันนารีที่มีประสบการณ์มาช่วยท่านทำงาน พระสังฆราชแปร์รอสตอบว่ายังไม่มี คุณพ่อมิราแบลจึงเสนอขอให้ส่งพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่งมาแทนท่านที่พิษณุโลก เพื่อท่านจะได้สามารถไปบุกเบิกในที่ใหม่ต่อไป พระสังฆราชแปร์รอสเห็นว่าคุณพ่อนิโคลาสเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรนมาก และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ดังนั้นท่านจึงมอบหมายให้คุณพ่อนิโคลาสไปอยู่ประจำวัดพิษณุโลกกับคุณพ่อมิราแบล

            คุณพ่อนิโคลาสเดินทางไปถึงพิษณุโลกในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1929 ท่านได้ช่วยสอนภาษาจีนและภาษาไทยให้กับคุณพ่อมิราแบล เพราะที่นั่นมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คุณพ่อทั้งสองได้ช่วยกันรวบรวมคริสตังชาวจีน เมื่อเห็นว่ามีจำนวนคริสตังมากขึ้น จึงตัดสินใจสร้างวัดใหม่แทนวัดน้อยหลังเดิมซึ่งคุณพ่ออังเดร พลอย โรจนเสน เคยสร้างไว้ก่อน วัดหลังใหม่ที่สร้างนี้เป็นวัดไม้แข็งแรง และยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ด้วย

            นอกจากสร้างวัดแล้ว ในปี ค.ศ. 1930 คุณพ่อทั้งสองยังช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่ง เป็นโรงเรียนไม้สองชั้น แทนโรงเรียนนักบุญนิโกเลาหลังเดิม เปิดสอนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน   แก่เด็กชายหญิง คุณพ่อนิโคลาสช่วยออกแรงเต็มกำลัง ทั้งมีความขยันมากจนเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของคุณพ่อมิราแบล

 

บุกเบิกวัดในเขตเชียงใหม่

            ปี ค.ศ. 1930 คุณพ่อมิราแบลขึ้นไปบุกเบิกที่เชียงใหม่ และให้คุณพ่อนิโคลาสไปอยู่ที่ลำปาง คุณพ่อนิโคลาสได้สร้างวัดน้อยหลังแรกที่ลำปางในปี ค.ศ.1930 ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1932 พระสังฆราชแปร์รอสเขียนรายงานถึงศูนย์กลางของคณะ M.E.P. ที่ปารีสว่า

            “ที่ลำปาง คุณพ่อนิโคลาสพยายามเที่ยวตามหาแกะที่หลงทางจำนวนหนึ่งกลับเข้าคอก เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ยากลำบากและหวังความสำเร็จยาก แต่เป็นงานที่น่าสรรเสริญ คริสตังกลุ่มใหญ่ 2 แห่ง ทางภาคเหนือนี้นับเป็นงานชิ้นใหม่ที่ท้าทาย    เชิญชวนให้บุกเบิกและทำการแพร่ธรรม ให้เราภาวนาขอเจ้าของนาเถิด เพราะ การที่จะเก็บเกี่ยวได้มากนั้น ย่อมสุดแต่พระองค์ท่านจะโปรด”

        

            ในระหว่างที่อยู่ลำปาง คุณพ่อนิโคลาสได้ไปสอนคำสอนตามบ้านและยังได้ส่งซินแสไปสอนศาสนาที่เมืองพาน และเชียงรายอีกด้วย คุณพ่อนิโคลาสเป็นพระสงฆ์ที่ใจร้อนรนและยอมเสียสละตนเองเพื่อการประกาศพระวรสาร สามารถเทศน์หรือสอนคำสอนตลอดวันโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมิสซาหรือการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของบรรดาคริสตชน

            ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1931 คุณพ่อนิโคลาสเดินทางมาถึงเชียงใหม่ ท่านอาศัยอยู่ในบ้านพักพระสงฆ์ที่สร้างขึ้นบนที่ดินซึ่งมิสซังได้ซื้อไว้ พระสังฆราชลูเซียง ลาก๊อสต์ ได้เขียนประวัติมิสซังเชียงใหม่ และงานบุกเบิกมิสซังเชียงใหม่ในช่วงแรกๆ ไว้ดังนี้

            “การก่อตั้งมิสซังเชียงใหม่: คุณพ่อมิราแบลผู้มีความกระตือรือร้นได้ทำงานร่วมกับพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่ง (คุณพ่อนิโคลาส) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ใจร้อนรน มีความสามารถในการเทศน์และสอนศาสนาได้ตลอดทั้งวัน และเป็นพระสงฆ์ที่ศรัทธามากด้วย ทันทีที่มิชชันนารีทั้งสองไปถึง ท่านก็รีบดำเนินการก่อสร้างวัดน้อยขึ้นหลังหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวคริสตัง 2-3 ครอบ ครัว ผู้ที่กลับใจมาขอเรียนคำสอนกับคุณพ่อทั้งสองเป็นพวกแรกคือพวกโปรเตสตันท์ ต่อมานี้ก็เป็นพวกนิกายเปรสบิเตเรียน และในปีต่อมาบางคนในจำนวนคนเหล่านี้ก็ได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อ  ทั้งสอง และบางคนได้มีส่วนช่วยคุณพ่อทั้งสองในการเผยแพร่พระวรสารและเปิดกลุ่มคริสตชนในที่ใหม่ตามหมู่บ้านต่างๆ ในภูมิภาคแถบนั้น แต่กระนั้นคุณพ่อทั้งสองก็พยามยามที่จะทำให้คนพุทธกลับใจ และท่านก็ประสบผลสำเร็จในบางครั้ง ผู้ที่กลับใจในตอนแรกๆ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาคาทอลิก ความกระตือรือร้นของพวกเขาในบางครั้งรุนแรงและแข่งขันกัน พวกเขาเข้าใจในพระคัมภีร์และนำพระคัมภีร์มาใช้ในการโต้วาทีกับพวกผู้นำคนเก่าและเพื่อนๆ ของเขา ผู้นำศาสนานิกายเปรสบิเตเรียนคนหนึ่ง (ไม่ใช่คนไทย) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1933 ถึงมิสซังคาทอลิก แสดงความรู้สึกขมขื่นใจที่ได้เห็นการเป็นศัตรูต่อกันและการแข่งขันกันระหว่าง คริสเตียนทั้งสองนิกาย เมื่อเรื่องราวต่างๆ ตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว ความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายก็จะสงบลง บรรดามิชชันนารีที่เดินทางมาถึงภาคเหนือของสยามพบว่ามีชนมากมายหลายเผ่าอยู่ที่นั่น ซึ่งจะสามารถเพิ่มทวีความเชื่อ เป็นทั้งความโชคดีและความลำบากในการเผยแพร่พระวรสาร  แต่เดิมพวกเขาเคยเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่มีเสียงข้างมากซึ่งเรียกตัวเองว่า “ประชากรของประเทศ” ในลักษณะตรงข้ามกับคนไทยที่อยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ เรามักเรียกพวกเขาว่าคนลาว เพราะในอดีตอาณาเขตศักดินานี้อยู่ในความปกครองของลาวตะวันตก... คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาส มีความคิดเห็นเหมือนกับพระสังฆราชแปร์รอสว่า การเผยแพร่พระวรสารจะต้องเริ่มต้นมาจากโรงเรียน นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนึ่งปีหลังจากการมาถึงของคุณพ่อทั้งสอง วิทยาลัยสำหรับเด็กหญิงแห่งหนึ่งซึ่งดำเนินงานโดย ซิสเตอร์คณะอุร์สุลิน และวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งสำหรับเด็กชายดำเนินงานโดยภราดาคณะเซนต์คาเบรียล วิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ ตั้งอยู่ข้างๆ วัดในย่านที่พักอาศัย...

        ต่อมาไม่นาน คุณพ่อทั้งสองมีความต้องการจะจัดตั้งโรงเรียนของวัดขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของบรรดานักบวชหญิงพื้นเมือง คือภคินีคณะพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า คุณพ่อทั้งสองจึงได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นมาหลังหนึ่ง รับเด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคริสตัง โรงเรียนนี้เป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันนี้สามารถที่จะแข่งขันกับวิทยาลัยทั้งสองแห่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในสถานศึกษาทั้งสามแห่งนี้เต็มไปด้วยนักเรียนที่เป็นคนพุทธซึ่งทำให้เกิดความหวังที่จะชักจูงพวกนี้ให้มาเป็นคริสตังได้...

            ได้มีบันทึกไว้ว่าคุณพ่อทั้งสองได้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆ ในหมู่บ้านต่างๆ 2-3 แห่ง แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นานในสามปีแรกของการก่อตั้ง
           มิสซังเชียงใหม่ พวกโปรเตสตันท์ที่อยู่ในเมืองและในชนบทได้มาขอเรียนคำสอนกับมิชชันนารีและได้กลับใจมาเป็นคาทอลิกในที่สุด มีครอบครัวชาวพุทธ 2-3 ครอบครัวที่นี่ได้กลับใจด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ที่แม่ริมและเวียงป่าเป้ามีการกลับใจเพิ่มมากขึ้น ต่อมามีการกลับใจที่พร้าว, เมืองพาน และเชียงดาว นับตั้งแต่การเริ่มต้นในเวลานั้น มิชชันนารีทั้งสองได้พยายามไปเผยแพร่พระวรสารกับชาวพุทธที่เวียงป่าเป้าเป็นพิเศษ

            ก่อนที่กลุ่มคาทอลิกที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นจะมั่นคงถาวร คุณพ่อมิราแบลซึ่งมาทดลองงานที่มิสซังเชียงใหม่ก็ต้องจากไปเพื่อดำเนินชีวิตด้วยการสวดภาวนา และรำพึงในอารามฤาษีซึ่งท่านมีความตั้งใจที่จะเข้าอารามนี้มาหลายปีแล้ว คุณพ่อจากมิสซังเชียงใหม่ไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934...”

คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาสได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาเป็นอย่างดี มีคนต่างศาสนามาฟังคำสอนของท่านทั้งสอง เป็นต้นคริสเตียนนิกายเปรสบิเตเรียน ความจริงคุณพ่อทั้งสองอยากแพร่ธรรมท่ามกลางชาวพุทธมากกว่า แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อมีคริสเตียนมาติดต่อขอเรียนคำสอนด้วยใจซื่อ เพื่อจะกลับใจมาเป็นคาทอลิก ท่านก็ยินดีต้อนรับ ในปี ค.ศ. 1931 นั้นเอง  มีผู้รับศีลล้างบาปบ้าง ซึ่งบางคนในภายหลังได้มีส่วนช่วยคุณพ่อทั้งสองในการเผยแพร่ศาสนาต่อไป คุณพ่อทั้งสองได้ช่วยกันสร้างวัดหลังเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากคาทอลิก 2-3 ครอบครัว วัดหลังนี้ทำพิธีเสกอย่างสง่าในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1932 ได้รับชื่อว่า “วัดพระหฤทัย” พระสังฆราชแปร์รอสเขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ. 1932 ว่าดังนี้

            “ความหวังของเราที่เชียงใหม่เริ่มสำเร็จเป็นจริง โบสถ์ได้รับการเสกอย่างสง่าเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1932 ในวันฉลองพระหฤทัย มีคนมาเต็มโบสถ์แต่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างศาสนา และในวันนั้นมีคนรับศีลล้างบาป 12 คน ทำให้ฝูงแกะน้อยของเรามีจำนวนเพิ่มขึ้น”

            นอกจากการสร้างวัดแล้ว ท่านยังได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนของวัดขึ้น ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพระหฤทัย” ได้เชิญภคินีคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ มาดูแล การขยายตัวของมิสซังในระยะ 3 ปีแรกนั้น ได้ตั้งวัดเชียงใหม่ ต่อจากวัดพระหฤทัยที่เชียงใหม่ วัดแรกที่เปิดต่อมาคือวัดแม่ริม ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งสมัครมาเป็นคาทอลิก ต่อจากนั้นคุณพ่อทั้งสองได้เดินทางไปประกาศศาสนาบริเวณรอบนอกตัวเมือง เช่น บ่อสร้าง และในหมู่บ้านต่างอำเภอ เช่น สบริม เวียงป่าเป้า พร้าว เชียงดาว เมืองพาน ส่วนมากเป็นพวกคริสเตียนที่เชิญคุณพ่อไปอธิบายคำสอนคาทอลิกให้พวกเขาฟัง

            คุณพ่อนิโคลาสมักจะเขียนจดหมายมาปรึกษากับพระสังฆราชแปร์รอสอยู่เสมอๆ ถึงเรื่องการทำงานอภิบาล ท่านพยายามหาวิธีการที่จะทำให้คนต่างศาสนากลับใจมาเป็นคาทอลิก ไม่ว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นจะได้ผลหรือไม่ ท่านก็ไม่ย่อท้อ นอกจากนี้ท่านยังให้ความสำคัญกับการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มาก โดยเฉพาะการแก้บาป ดังจดหมายลงวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1933 ซึ่งท่านเขียนจากลำปางถึงพระสังฆราชแปร์รอส:

            “...ทุกวันนี้ลูกอยู่สบายดี ทุกวันก็ไปแปลคำสอนตามบ้าน มีอยู่ 7-8 บ้านเป็นต้น จะได้การทุกบ้านหรือยังเอาแน่ไม่ได้  เวลานี้ได้ใช้ซินแสไปเทศนาที่เมืองพานและเชียงราย ราว 2-3 อาทิตย์จะกลับถ้าได้การ   คราวหลังจะใช้ไปอีก เพราะทางเหนือก็มีเจ๊กมาก บางคนได้พูดกับลูกว่าอยากกลับใจ ตาม Jurisdictio ที่พระคุณเจ้าให้ ลูกไม่มี reservatio สำหรับฟังแก้บาป ลูกเข้าใจว่าแม่ชีอุร์สุลินจะมาแก้บาปกับลูกในวัด ลูกก็โปรดบาปได้ แต่สงสัยอย่างหนึ่งคือถ้าเขาเชิญไปฟังบาปเขาที่ capella ของเขา ลูกจะโปรดบาปเขาที่นั่นได้หรือ นี่พูดเผื่อคุณพ่อมิราแบลไปเข้าเงียบ ถ้าเขามาเชิญลูกไปฟังบาปของเขา ถ้าตาม Jurisdictio ที่ให้ โปรดบาปไม่ได้ ถ้าพระคุณเจ้าเห็นควร ก็ขอ Jurisdictio สำหรับ casu นี้ด้วย....”

            คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาสได้ตัดสินใจเดินทางไปพม่า เพื่อสำรวจพื้นที่และความเป็นไปได้ในการขยายมิสซัง ท่านทั้งสองออกเดินทางจากเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1933 โดยมีครูบัปติสตาซึ่งเป็นครูคำสอนที่สอนศาสนาให้กับพวกกะเหรี่ยงเป็นผู้นำทาง เดินทางจากเชียงใหม่ข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เข้าถึงเขตแดนพม่าจนถึงเมืองผาปูน เพื่อจะได้สำรวจว่ามีหวังที่จะได้ตั้งกลุ่มคริสตชนตามภูเขาเหล่านั้นหรือไม่

            คุณพ่อนิโคลาสได้เขียนจดหมายเล่าถึงการเดินทางไปแพร่ธรรมในครั้งนี้ให้พระสังฆราชแปร์รอสฟังอย่างละเอียดใน จดหมายลงวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1933 และฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1933 และยังได้เขียนบทความเล่าเรื่องการเดินทางจากเชียงใหม่ไปจนถึงพม่าเพื่อสำรวจดินแดนในการขยายมิสซังลงในหนังสือสารสาสน์ถึง 4 ตอนด้วยกัน ท่านใช้ชื่อบทความว่า “จดหมายเหตุรายวันการเยี่ยมมิสซังพม่า” บทความทั้ง 4 ตอนนั้น ลงในสารสาสน์ปีที่ 17 ตอนที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1933, ตอนที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1933, ตอนที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1933 และตอนที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1933

            นอกจากคุณพ่อนิโคลาสจะเป็นพระสงฆ์ที่เทศน์เก่งแล้ว ท่านยังเขียนหนังสือได้น่าอ่านอีกด้วย ท่านเป็นคนละเอียด ช่างสังเกต ช่างจดช่างจำ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ในจดหมายลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสเขียนถึงศูนย์กลางของคณะ M.E.P. ที่กรุงปารีสว่า

“...คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาสได้บอกกับข้าพเจ้าว่า การเผยแพร่พระวรสารที่เชียงใหม่ได้ผลเป็นที่น่ายินดี มีคนใหม่กลับใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ... คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาสเดินทางไปแพร่ธรรมที่พม่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยมีมิชชันนารีองค์อื่น เดินทางไปแพร่ธรรมเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เราเชื่อมั่นว่าการเดินทางครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จด้วยดีและจะสามารถเปิดมิสซังใหม่ได้ที่นี่...”

 

            ในระหว่างปี ค.ศ. 1933 นี้เอง คุณพ่อนิโคลาสได้ไปดูแลวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรบางเชือกหนัง เป็นเวลา 3 เดือน แทนคุณพ่อปาสกัลที่ล้มป่วย และในปี ค.ศ. 1933 นี้ พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ประกาศให้เป็นศักดิ์สิทธิ์ มอบพระคุณการุญครบบริบูรณ์ให้แก่คริสตังทั่วโลกซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าพระคุณยูบีเลวภายใต้การดูแลอย่างเอาใจใส่ของคุณพ่อนิโคลาส คริสตังวัดบางเชือกหนังจึงได้รับพระคุณนี้ ท่านดูแลคริสตังที่นี่ในระยะเวลาอันสั้นก็ต้องกลับมารับผิดชอบ งานในเขตเชียงใหม่และลำปางตามเดิม

          คุณพ่อนิโคลาสยังได้เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาที่เวียงป่าเป้า ท่านต้องเดินด้วยเท้าเพราะไม่มีรถ ในระหว่างทางได้ถือโอกาสสอนคำสอนคาทอลิกให้ชาวบ้านฟัง มีคนสนใจมากและในที่สุดได้กลายเป็นคาทอลิกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นในภายหลัง เวลาเดียวกันคุณพ่อพยายามติดต่อกับชาวพุทธ มีผู้กลับใจบ้าง ในปี ค.ศ. 1934 คุณพ่อเมอเนียร์ถูกส่งมาช่วยงานที่มิสซังเชียงใหม่ และพักอยู่กับคุณพ่อมิราแบล นับแต่บัดนั้นมาคุณพ่อมิราแบลทะยอยมอบให้คุณพ่อเมอเนียร์เป็นผู้รับผิดชอบในการขยายงานแพร่ธรรมทางภาคเหนือ แล้วคุณพ่อมิราแบลก็ลาออกจากมิสซังในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1934 เดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อไปเป็นฤาษีตรับปิสต์ตามความตั้งใจของท่าน ในตอนแรกคุณพ่อเมอเนียร์มีคุณพ่อนิโคลาสกับคุณพ่อวินเซนเต (วรงค์ สุขพัฒน์) เป็นผู้ช่วย ต่อมาคุณพ่อนิโคลาสได้เดินทางไปแพร่ธรรมตามกลุ่มคริสตชนทุกแห่งของภาคเหนือถึงเมืองพร้าว, ฝาง ฯลฯ

            ในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1936 คุณพ่อนิโคลาสป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ อันเป็นผลมาจากความเคร่งเครียดกับการทำงาน ท่านเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีคุณพ่อกัสต็องเป็นเพื่อนเดินทาง ในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1936 นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล  ได้บอกว่าท่าน มีอาการน่าเป็นห่วง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม ท่านก็หายจากอาการป่วย และสามารถไปรับประทานอาหารที่อัสสัมชัญได้เป็นปกติ จากหนังสือ Le Trait  d’Union ได้บันทึกไว้ว่า

“คุณพ่อนิโคลาสนั่งโต๊ะรับประทานอาหารที่อัสสัมชัญในวันนี้ หลังจากที่ได้รับศีลเจิมคนไข้มาเป็นเวลา 8 วัน เป็นการทำลายสถิติที่ไม่มีใครอยากอิจฉา”

 

เจ้าอาวาสวัดแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด โคราช

            เดือนมีนาคม ค.ศ. 1937 คุณพ่อนิโคลาสได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดโคราชแทนคุณพ่อโอลลิเอร์ คุณพ่อเอาใจใส่งานอภิบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางด้านวิญญาณ ท่านได้เขียนรายงานถึงพระสังฆราชแปร์รอสเกี่ยวกับสภาพของคริสตังที่โคราชไว้ดังนี้

“ที่โคราชพวกคริสตังส่วนมากยากจน ด้วยเหตุนี้จึงกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ เมื่ออยู่ห่างจากวัด พวกเขาก็ขาดโอกาสที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ได้บ่อยครั้ง ทั้งยังไม่ได้ฟังเทศน์และไม่ได้เรียนคำสอน พวกเขากลายเป็นคนเฉื่อยชาไปอย่างน่าอนาถ เมื่อพวกหญิงสาวไม่มีโอกาสได้แต่งงานกับหนุ่มคริสตัง ก็ไปอยู่กินกับคนต่างศาสนา พวกเธอละอายไม่กล้ามาวัดสวดภาวนาหรือร่วมมิสซา พวกลูกๆ ก็มิได้รับศีลล้างบาป และได้รับการเลี้ยงดูอย่างลูกคนต่างศาสนา คนเหล่านี้ที่อยู่กินกันอย่างไม่ถูกต้อง กลับใจยากมาก เพราะฝ่ายคนต่างศาสนาไม่ยอมมาเรียนคำสอน บางครั้งฝ่ายหญิงก็เป็นอุปสรรคเสียเอง ข้าพเจ้ามีผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปหลายคนซึ่งเรียนคำสอนมานานแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่กล้าโปรดศีลล้างบาปให้เขา เพราะยังไม่ค่อยแน่ใจในความมั่นคงของพวกเขา

 

            คุณพ่อนิโคลาสเป็นพระสงฆ์ที่มีพรสวรรค์ในการเทศน์และเทศน์ได้น่าฟัง ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังบทเทศน์ของท่านต่างก็รู้สึกประทับใจ ในช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดโคราชนี้เอง คุณพ่อก็ได้รับเชิญไปเทศน์ที่วัดบ้านหัน จากหนังสือ Le Trait d’Union, No. 5, Mai 1937 ได้บันทึกไว้ว่า

“คุณพ่อนิโคลาสเป็นผู้เทศน์อบรมให้กับคริสตังกลุ่มเล็กๆ ที่บ้านหัน ในโอกาสฉลองนักบุญยอแซฟ มีการโปรดศีลมหาสนิทอย่างสง่า ในวันนั้นมีคริสตังรับศีลมหาสนิทถึง 74 คน จากจำนวนคริสตังทั้งหมด 160 คน นับเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่ง”

 

            คุณพ่อนิโคลาสเอาใจใส่คริสตังที่อยู่ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในที่ห่างไกล ไม่มีพระสงฆ์ไปดูแลประจำ หรือบางกลุ่มก็ยังไม่มีวัด ท่านเป็นห่วงวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น อย่างเช่นที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีสัตบุรุษคริสตังบางครอบครัวอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีวัด และไม่มีพระสงฆ์ไปประจำ ในตอนปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 คุณพ่อนิโคลาสได้ไปเยี่ยมเยือนสัตบุรุษเหล่านี้เพื่อให้เขาเตรียมตัวรับศีลในโอกาสปาสกา ในโอกาสนี้ คุณพ่อนิโคลาสได้รับอนุญาตพิเศษจากพระสังฆราชในการประกอบพิธีโปรดศีลกำลัง ผู้รับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้มี 8 คนด้วยกัน คนหนึ่งอายุ 70 กว่าปี

 

เจ้าอาวาสวัดนักบุญเทเรซา โนนแก้ว

            ในปี ค.ศ. 1938 คุณพ่อย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโนนแก้ว นอกจากการเผยแพร่พระวรสาร  ให้คนกลับใจแล้ว คุณพ่อยังเอาใจใส่คริสตังทั้งทางด้านวิญญาณและด้านร่างกาย ท่านได้ช่วยเหลือคริสตังในเรื่องการทำมาหากิน โดยเฉพาะคนยากจน โดยไม่เลือกว่าจะเป็นคริสตังหรือไม่ แม้แต่คนต่างศาสนาที่มาขอความช่วยเหลือ ท่านก็ช่วยด้วยความเมตตา

            เนื่องจากอุปนิสัยของท่านเป็นคนตรง รักความยุติธรรม ทำให้บางครั้งการกระทำของท่านไปขัดกับผลประโยชน์ของคนบางคน จึงมีผู้เกลียดชังท่านอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วท่านเป็นที่รักของทุกๆ คน รวมทั้งคนต่างศาสนา คุณพ่อเป็นพระสงฆ์ที่ให้ความสนใจกับการสวดภาวนาและบทสวดมาก ท่านได้เขียนจดหมายถึงพระสังฆราชแปร์รอสและได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทสวดในจดหมายลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1938 ถึงพระสังฆราชแปร์รอสว่า

“...ในคำสอนใหม่ ได้ตัดคำที่ไม่จำเป็นออกเสียจากบทสวด เช่น บทอาเวมารีอา ตัด อุทร เสีย (ตรงกับ ventris จึงไม่ตรงกับภาษาลาติน et in hora mortis): “ณ กาละเมื่อ” ทำไมไม่ย่อ ตัดเสียว่า “และเมื่อจะตาย” คำ “ณ กาละ” ทำไมไม่ตัดเสีย ลูกเห็นว่าควรตัดออกเสีย เหมือนคุณพ่อ Amato คือที่ว่า “ณ กาละ” ใส่ไว้ทำไม...”

 

            และในจดหมายลงวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1940 ยังได้เขียนแสดงความคิดเห็นในเรื่องการสวดภาวนาต่อพระสังฆราชแปร์รอสเพิ่มเติมอีกว่า

            “...เรื่องคำบาดหลวงนั้น คุณพ่อลารเกว่าตามปทานุกรมของท่านสังฆราชปัลเลอกัวว่า “บาตรหลวง” แม้แต่คนโปรตุเกสว่า “ปาเดรอ” แปลว่า “พ่อ” ปาเดร หรือ “บาเดร” ภาษาไทยใช้ตัว ป หรือ บ ปนกัน “บาตรหลวง” คือ “พ่อหลวง” แต่เดี๋ยวนี้เขียน “บาตรหลวง” ไปพ้องกับหม้อบิณฑบาตรเสียเรื่องภาวนาใหม่ลูกคิดว่าบทสวดคงเปลี่ยนเป็นอย่างใหม่ อย่างน้อยบทที่ขึ้นใจได้ เช่น ข้าแต่พระบิดา etc ให้เหมือนคำสอนใหม่ แต่ไม่เห็นมีเปลี่ยน เห็นมีเปลี่ยนบางแห่ง เช่น

                        สันตะมารีอา ท่านมารดาของพระองค์ (ภาวนาใหม่)

            สันตะมารีอา พระพุทธมารดาของพระองค์ (ภาวนาเก่า)

            สันตะมารีอา พระมารดาของพระองค์ (คำสอนใหม่)

            สาธุการแก่พระบิดา (อย่างเก่า)

            สิริมงคลจงมีแด่ (คำสอนใหม่)

                        สิริพึงมีแก่พระบิดา พระบุตร และพระจิตต์

                        (ขาดและพระบุตร) (หนังสือเดินรูป 14 ภาค อย่างใหม่)

            ลูกเห็นว่าวุ่นมาก จะเอาอย่างไหนก็ให้เหมือนกัน เป็นต้น บทสวด นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น ยังมีข้ออื่นๆ อีกหลายอย่าง พูดด้วยความหวังดี”

            ในระหว่างที่คุณพ่ออยู่ที่วัดโนนแก้ว ท่านได้ช่วยเหลือชาวนาทั้งที่เป็นคริสตังและที่ไม่ใช่คริสตัง ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ด้วยการรับซื้อข้าวจากชาวนา แล้วนำไปขายให้โรงสีของรัฐบาลเอง เพราะชาวนามักจะขายข้าวให้นายทุนซึ่งกดราคาและโกงตาชั่งอยู่เสมอ เป็นการช่วยชาวนาและช่วยให้วัดมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ท่านได้เขียนจดหมายมาปรึกษากับพระสังฆราชแปร์รอสถึงเรื่องนี้ ดังจดหมายลงวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1939

“...เรื่อง mercatura ก่อนที่ลูกจะทำ เห็นว่าเป็น mercatura จริง จึงขออนุญาตมา ลูกคิดจะทำไม่ใช่ใหญ่โตอะไร เพราะไม่มีทุน คือจะขายข้าวที่เรามีส่งไปทางรถไฟถึงรัฐบาลเอง เพราะเวลานี้รัฐบาลมีโรงสีเอง เขาอุดหนุนช่วยคนจนชาวนา อย่าให้เจ๊กกดราคา จึงทุกสถานี นายสถานีเป็นผู้จัดแจงส่งข้าว หาตู้ให้เรา เมื่อส่งข้าวขึ้นตู้ เจ้าพนักงานทางกรมรถไฟเขาจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งก่อน เมื่อขายขึ้นโรงสีแล้วจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง จะได้กำไรหรือราคาดีกว่าที่ขายให้เจ๊กที่นี่ เมื่อขายไปตู้หนึ่งได้เงินแล้ว จะเอาเงินนี้มาซื้อข้าวส่งไปอีก กำไรคงมีเสมอ ไม่มากก็น้อย การที่ลูกทำอย่างนี้เพื่อช่วยคริสตังอีกต่อ คือเวลานี้คริสตังหลายคนหาบข้าวไปขายให้เจ๊กทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2 หาบ เจ๊กโกงตาชั่งบ้าง หักบ้าง กดราคาบ้าง ลูกจึงแนะนำให้มาขายที่ลูก จะให้ราคาเหมือนเจ๊ก แต่ไม่โกงตาชั่ง เป็นการช่วยคริสตัง... การที่ลูกทำ เช่นนี้เพื่อช่วยคริสตังและคนจน และเพื่อหาผลเข้าวัดบ้างตามที่เห็นว่าจะมี...”

 

คุณพ่อนิโคลาสมีความห่วงใยต่อวิญญาณของคริสตังทุกๆ คน ถึงแม้คริสตังเหล่านั้นจะอยู่ห่างไกล เมื่อท่านทราบถึงความยากลำบากของพวกเขา ท่านก็มีความปรารถนาที่จะไปให้ความช่วยเหลือ อย่างเช่นคริสตังที่สองพี่น้องซึ่งท่านแสดงความเป็นห่วงวิญญาณของพวกเขา และแสดงความปรารถนาของท่านต่อพระสังฆราชแปร์รอส ตามจดหมายลงวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1939

“...เวลานี้คุณพ่อแบร์นารด์เจ็บ จะทำการหนักไม่ได้ ถ้าคุณบิดาให้เธอมาอยู่ที่โนนแก้ว รักษาตัว ยังอาจช่วยลูกได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ทำมิสซา อยู่บ้าน เพราะลูกอยากจะไปสอนที่สองพี่น้องตั้งๆ เดือน น่าสงสารคริสตังใหม่คำสอนยังรู้น้อย เด็กหลายคนยังไม่ได้แก้บาปรับศีล ที่ใช้ทำก็มี Catchumne อยู่ 2 ครัว ไม่มีใครสอน...” 

 

            ในปี ค.ศ. 1939 ไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ทางราชการและคนไทยชาตินิยมได้มีความคิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส ดังนั้นพวกเขาจึงกลัวว่าพวกคริสตังจะพากันเข้าข้างฝรั่งเศส ทางราชการได้เริ่มสั่งปิดโรงเรียนคาทอลิก และพยายามทำให้พวกคริสตังละทิ้งศาสนา สำหรับเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในเวลานั้นเป็นดังนี้คือ โรงเรียนของวัดได้ถูกสั่งปิด นักเรียนต้องไปเรียนที่โรงเรียนพุทธ ทางราชการได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านนำอาวุธปืนที่มีมามอบให้กับทางอำเภอมีคำสั่งจากกรมตำรวจเรียกชาวฝรั่งเศสทุกคนที่อยู่ในจังหวัดทางภาคอีสาน และภาคตะวันออกของประเทศไทยออกจากจังหวัดนั้นๆ โดยด่วนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และในจังหวัด ดังกล่าว คนเชื้อชาติฝรั่งเศสจะอยู่หรือผ่านไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจ

            บรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสต้องเดินทางเข้ามาอยู่ในเขตพระนคร เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดต่างๆ ต้องเปลี่ยนเป็นพระสงฆ์ไทยชั่วคราว พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสบางองค์ถูกทำร้ายร่างกาย มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะเลือดไทย” จากจังหวัดต่างๆ คอยทำการต่อต้านศาสนา ออกใบปลิวและจดหมายให้คนไทยที่นับถือศาสนาคาทอลิกเปลี่ยนศาสนามาเป็นศาสนาพุทธ ห้ามทำกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาคาทอลิกทั้งสิ้น อย่างเช่นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สาขาเลือดไทยพนัสฯ” ออกจดหมายถึง นายโกศล อุปสวรรค์ทิศ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นผู้ดูแลวัดแทน พระสงฆ์ในเวลานั้น ให้จัดการปลดไม้กางเขนในวัดโรมันคาทอลิกทั้งหมดออกเสียโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะจัดการได้ มิฉะนั้นสาขาคณะเลือดไทยพนัสฯ จะได้มาจัดการเองตามความเห็นชอบ เป็นต้น

 

ถูกจับที่วัดนักบุญยอแซฟ บ้านหัน

            สมัยนั้นพระสงฆ์ไทยเข้าเงียบประจำปีเวลาค่ำของวันจันทร์ หลังวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 คุณพ่อนิโคลาสออกจากโนนแก้ว ถึงโคราชวันศุกร์ที่ 10 มกราคม มุ่งหน้าจะไปรับคุณพ่อเลโอนาร์ด สิงหนาท ผลสุวรรณ เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ด้วยกัน ให้ทันวันรุ่งขึ้นคือวันเสาร์ที่ 11 มกราคม แต่ปรากฏว่าคุณพ่อเลโอนาร์ดได้ฟังวิทยุทุกเย็น เมื่อได้ฟังรายการ “สนทนาของนายมั่น-นายคง อันเป็นรายการที่หว่านความหวาดกลัวลงสู่จิตใจบรรดาคริสตังทั่วประเทศ ท่านจึงตกใจกลัวรีบหนีไปหาที่หลบภัยที่วัดหัวไผ่ คุณพ่อนิโคลาสจึงเก้อและตัดสินใจไปวัดบ้านหันวันที่ 11 มกราคม คิดจะรับคุณพ่ออัมบรอซิโอ (พ่อเตี้ย เจ้าอาวาสวัด   บ้านหัน) เพื่อไปด้วยกัน แต่แล้วปรากฏว่าคุณพ่ออัมบรอซิโอ  ก็ไม่อยู่ ท่านได้หนีหายไปโดยไม่บอกอะไรทั้งสิ้นแม้กับซิสเตอร์หรือสัตบุรุษซึ่งไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร

            ดังนั้นเย็นวันที่ 11 มกราคม คุณพ่อนิโคลาสจึงย่ำระฆังที่วัดบ้านหัน เพื่อเรียกคริสตังมาสวดภาวนาค่ำ และแจ้งให้คริสตังมาฟังมิสซาในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ตรงกับวันฉลองพญาสามองค์ พระสังฆราชแปร์รอสเขียนรายงานถึงศูนย์กลางของคณะที่กรุงปารีสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“พระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งคือคุณพ่อนิโคลาสได้ถูกจับจำคุก เนื่องจากได้ตีระฆังในเวลากลางวันของวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันฉลองสมโภชพญาสามองค์ ในเวลานั้นได้มีคำสั่งห้ามตีระฆังในเวลากลางคืนเท่านั้น”

            ขณะที่พวกเขากำลังสวดภาวนาอยู่ มีวิทยุกระจายเสียงจากกรุงเทพฯ ในรายการสนทนาของ "นายมั่น-นายคง” ปลุกปั่นยุยงไปทั่ว สร้างความตื่นตระหนกแก่คริสตังทั่วประเทศ พวกสมาชิกคณะเลือดไทยของบ้านหันจึงพากันไปยังวัดนักบุญยอแซฟ บ้านหัน ชาวเลือดไทยผู้หนึ่งขึ้นไปบนพุ่มไม้ใกล้หน้าต่าง คอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพวกคริสตัง ขณะนั้นคุณพ่อนิโคลาสกำลังก่อสวดบทเร้าวิงวอนแม่พระและสัตบุรุษก็ตอบรับตามเคยว่า ช่วยวิงวอนเพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายนี้เถิด” ตามสูตรบทสวดนั้น การก่อ-รับสลับกันเช่นนี้ เป็นผลให้สมาชิกเลือดไทยผู้นั้นเกิดมีความคิดอย่างหนึ่ง แล้วพวกเขาก็ไปรายงานแก่นายอำเภอสีคิ้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจฟังว่า คุณพ่อนิโคลาสก่อสวดออกชื่อใครต่อใครก็ไม่ทราบ แต่ให้พวกคริสตังรับเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอให้ฝรั่งเศสชนะไทยนี้เถิด!”

            รุ่งขึ้นคือวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 คุณพ่อนิโคลาส จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมพร้อมด้วยหัวหน้าครอบครัวคริสตังจำนวน 9 คน โดยนายอำเภอได้ประกาศว่า “ตอนนี้เรารบกับฝรั่งเศสแล้ว พวกนี้ (คริสตัง) เป็นพวกของฝ่ายศัตรูจึงต้องจับกุมด้วย” เจ้าหน้าที่คุมตัวนักโทษทั้งหมดไปที่สีคิ้ว พยายามเกลี้ยกล่อมให้ทิ้งศาสนาและเข้าเป็นพุทธ การสอบสวนนั้นทางราชการพยายามใช้วิธีให้พวกคริสตังปรักปรำกันเอง ได้นำคริสตังอีก 9 คน มาจากบ้านหัน และบังคับให้เป็นพยานเท็จ ปรักปรำผู้ที่ถูกจับกุม 9 คนแรก รวมทั้งคุณพ่อนิโคลาสด้วยว่าเป็นพวกกบฏพวกแนวที่ห้าเอาใจช่วยเหลือฝรั่งเศส นักโทษทั้ง 9 คนได้ถูกจำคุกที่โคราชเป็นเวลาประมาณเดือนครึ่ง หลังจากนั้นก็ถูกส่งตัวมาที่กรุงเทพฯ ถูกขังคุกที่ศาลาแดง 9 เดือน จำเลยทั้ง 9 คนถูกจับในข้อหาที่ว่าเป็น “กบฏภายนอกราชอาณาจักร” ตามมาตราที่ 104/116/111 คุณพ่อนิโคลาสถูกตัดสิน จำคุก 15 ปี

 

ถูกฟ้องในข้อหาเป็นแนวที่ห้า

            พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 ไปถึงหลวงอดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อชี้แจงว่าคุณพ่อนิโคลาสไม่มีความผิด ท่านถูกคนเกลียดชังใส่ความว่าเป็นแนวที่ห้า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีความผิดเลย ขอให้พิจารณาความและปล่อยตัวตามข้อ 13 แห่งรัฐธรรมนูญ

            ในจดหมายลงวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1941 (หลักฐานเลขที่ 24 หน้า 219 จากหนังสือ  “En Thailande de 1940-1945” พระสังฆราชแปร์รอสขียนว่า

            “คุณพ่อนิโคลาสถูกฟ้องข้อหาเป็นแนวที่ห้าเหมือนคุณพ่ออีก 2 องค์ ซึ่งถูกจับที่ปราจีนบุรี คุณพ่อจี้ง้วน (สงวน สุวรรณศรี) กับคุณพ่อมีแชล ส้มจีน ศรีประยูร ในตอนแรกคุณพ่อนิโคลาสถูกขังที่โคราช 2 เดือน แล้วย้ายมาที่สถานีตำรวจใหม่ เขตศาลาแดง กรุงเทพฯ กำลังคอยคำตัดสิน ผลคำตัดสินนั้นจะเป็นอย่างไร? พระเป็นเจ้าแต่ผู้เดียวที่ทรงทราบ ระหว่างนั้นท่านยินดีทนทุกข์ทรมานเพื่อพระศาสนา มีการส่งอาหารจากเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ไปให้ท่านทุกๆ วัน แต่ห้ามมิให้พูดคุยกันเด็ดขาด”

           

            ในจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งพระสังฆราชแปร์รอส เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสถึงนายการโร (GARREAU) กงศุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 มีรายละเอียดดังนี้

            “ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่าคุณพ่อนิโคลาส ชุนกิม บุญเกิด พระสงฆ์คาทอลิกไทย ได้ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี โดยศาลพิเศษ ในข้อหาว่า  คุณพ่อได้ช่วยเหลือฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนต่อต้านไทย คุณพ่อนิโคลาสองค์นี้ได้รับหน้าที่ดูแลคริสตังที่โคราชและโนนแก้วมาหลายปีแล้ว เมื่อวันที่ 11 มกราคม  ที่ผ่านมา ท่านได้ไปที่บ้านหันซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองโคราช เพื่อพบกับคุณพ่ออัมบรอซิโอ แต่คุณพ่ออัมบรอซิโอได้ออกเดินทางไปกรุงเทพฯ แล้วก่อนหน้านี้เล็กน้อย วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ คุณพ่อนิโคลาส ได้ตีระฆังเพื่อเรียกคริสตังมาวัดฟังมิสซา ในเวลาแปดโมงครึ่งตอนเช้า ด้วยการกระทำอันนี้ ท่านถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งของนายอำเภอซึ่งห้ามตีระฆังในระหว่างเวลากลางคืน คุณพ่อนิโคลาสถูกจับกุมพร้อมด้วยคริสตังคนอื่นๆ ท่านต้องอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายวัน ต่อมาได้ถูกส่งตัวมายังกรุงเทพฯ ที่สถานีตำรวจศาลาแดง ท่านถูกควบคุมตัวอย่างเข้มงวดเป็นเวลาเกือบ 4 เดือน โดยปราศจากการติดต่อกับบุคคลภายนอก ทั้งห้ามเยี่ยมโดยเด็ดขาด ในที่สุดวันที่ 15 พฤษภาคม ศาลพิเศษ (ไม่อนุญาตให้มีทนายและตัดสิทธิ์ห้ามอุทธรณ์) ได้พิพากษาว่าคุณพ่อและคริสตัง 8 คน ถูกฟ้องกล่าวหาว่า “ได้ปฏิเสธโดยไม่ยอมมอบปืนเพื่อช่วยเหลือในการสร้างทางรถไฟและสายโทรเลข, ได้ทำการประชุมลับเพื่อปลุกปั่นผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆ ไม่ให้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยต่อสู้กับอินโดจีน, ได้สวดภาวนาเพื่อชัยชนะของฝรั่งเศส, ได้มีเจตนาในการตัดเส้นทางการคมนาคมและสายโทรเลข” จำเลยทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ทุกข้อว่าไม่เป็นความจริง (คุณพ่อนิโคลาสไม่ได้อยู่ที่บ้านหันใน 2 วันที่ผ่านมา) ศาลได้ยืนยันว่า  คุณพ่อมิได้เอ่ยอ้างถึงพยานเลย แต่ความจริงแล้วท่านได้อ้างถึงพยาน 9 คน เพื่อการต่อสู้คดี พยาน 4 คน ได้ยืนยันว่าในตอนแรกพวกเขาถูกนายอำเภอบังคับให้ฟ้องกล่าวหาคุณพ่อที่ศาล แต่คำให้การของพยานที่ศาลนั้นเป็นคำให้การที่นายอำเภอเขียนขึ้นมาให้พวกเขาท่องจนขึ้นใจเพื่อใช้ในการปรักปรำ การกลับคำให้การของพวกเขาที่กรุงเทพฯ ไม่มีประโยชน์สักนิดเดียว ศาลไม่ยอมรับคำให้การตามความจริงของพวกเขา กระบวนการพิจารณาคดีเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ไม่น่าเชื่อถือ และยากที่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาตกลงระหว่างฝรั่งเศส-ไทย...”

            “...ยิ่งกว่านั้น พระสงฆ์ไทยอีกองค์หนึ่งได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่าที่แปดริ้ว   มีใบประกาศโฆษณาในหัวข้อ “เลือดไทยของชาวฉะเชิงเทรา” ห้ามไม่ให้ใครทำการติดต่อกับพวกคาทอลิก การบีบบังคับให้ทิ้งศาสนามีมานานแล้ว”

 

ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี

            คุณพ่อนิโคลาสถูกตัดสินจำคุก 15 ปี เช่นเดียวกับหัวหน้าครอบครัวคริสตังจากบ้านหัน 13 คน และถูกจำคุกที่บางขวาง จากจดหมายฉบับหนึ่งลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสได้เขียนถึงพระสังฆราชแปร์รอสด้วยลายมือของท่านเอง ท่านบอกว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมีความอดทนก็คือการสวดภาวนา สวดสายประคำ และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งไปให้ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ท่านก็ขอน้อมรับโทษอันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ เพื่อชดเชยความบาป

“...วันที่ 11 มกรา พ.ศ. 84 จนถึงวันที่ 16 พฤศภาคม เป็นระหว่างที่ลูกอยู่ในที่คุมขัง เหมือนนกใหม่ถูกขังในกรง นับว่ารู้สึกลำบากมาก เศร้าใจไม่ใช่น้อย มีเครื่องมือที่ทำให้ลูกมีน้ำอดน้ำทนก็คือคำภาวนา และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น... ในระหว่างนี้ลูกรู้สึกลำบากมากทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตต์ ฝ่ายกายการกินการหลับนอนผิดกว่าที่โรงตำรวจศาลาแดงมาก ไม่มีใครส่งอาหารปิ่นโตให้อีกต่อไป ฝ่ายจิตต์เศร้าใจ นอนตื่นเมื่อไรก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือสวดลูกประคำ...”

 

“...ขอคุณบิดาอย่าเป็นทุกข์ถึงลูกเลย การที่ลูกต้องโทษคราวนี้ โดยลูกไม่ได้นึกได้ฝันเลย คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก ได้อุตส่าห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ แต่อนิจจา ลูกกลับถูกหาว่าขายชาติ ทรยศต่อชาติ พยานโจทย์ 3 ปาก นับว่าไร้ศีลธรรมอย่างที่สุด กล้าใส่ความสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเจตนาเช่นนี้  ถึงกระนั้นก็ดีลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทันฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความผิดความบาปของลูก และเพื่อความสันติภาพของ (สากล) โลก ทั้งความเจริญของประเทศชาติที่รักของลูกด้วย ลูกสวดเสมอขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามฉบับแห่งพระเยซูอาจารย์แห่งสากลโลก...”

 

ชีวิตในเรือนจำของคุณพ่อนิโคลาส

            ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก คุณพ่อได้รับความลำบากมาก ห้องขังสกปรกคับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเท อยู่กันอย่างแออัด แต่คุณพ่อก็ไม่เคยบ่นถึงความลำบาก ท่านมีความอดทนและ คอยให้กำลังใจพวกที่ถูกจับด้วยกัน นอกจากนี้ท่านยังได้สอน คำสอนให้กับนักโทษทั้งที่เป็นคริสตัง และที่เป็นคนต่างศาสนา เมื่อมีคนมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ ท่านก็แบ่งปันให้กับนักโทษคนอื่นๆ ด้วยความเมตตา การที่ท่านถูกขังอยู่ในห้องขังที่สกปรก อากาศไม่ดี ท่านจึงป่วยและถูกนำตัวไปตรวจ ทางเรือนจำแจ้งให้ทราบว่าท่านป่วยเป็นวัณโรค และแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนโรคปอด  อยู่ร่วมกับนักโทษที่ป่วยเป็นวัณโรค ท่านได้สอนคำสอนและช่วยดูแลนักโทษที่ป่วย ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่นักโทษโดยเฉพาะคนใกล้ตาย

            พระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งหนังสือสวดภาษาไทย และภาษาลาตินและหนังสือสารสาสน์ไปให้แก่คุณพ่อนิโคลาสและพระสงฆ์อีก 2 องค์ซึ่งถูกขังอยู่ในเรือนจำ ทางเรือนจำได้ส่งหนังสือสารสาสน์คืน เพราะไม่อนุญาตให้คุณพ่อทั้งสามอ่าน และกรมราชทันฑ์ได้มีจดหมาย ลงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1943 ถึงพระสังฆราชแปร์รอสแจ้งให้ทราบว่า ขอระงับการเยี่ยม บาทหลวงทั้งสามไว้ชั่วคราว ในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1944 พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายไปถึง พ.ต.อ. มงคล กล้ากลางสมร อธิบดีกรมราชทันฑ์ ขอนุญาตเข้าเยี่ยมนักโทษบุญเกิด (คุณพ่อนิโคลาส) ซึ่งป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ เพื่อจะได้มีโอกาสโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คุณพ่อ แต่ได้รับการปฏิเสธ

 

มรณภาพเพราะวัณโรค

            ที่สุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1944 ทางเรือนจำได้มีจดหมายมาแจ้งให้ทราบว่าคุณพ่อนิโคลาสได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรควัณโรคปอด ก่อนตายคุณพ่อได้ทำพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่ง มอบสิ่งของของท่านให้แก่คุณพ่อเอดรัวด์และคุณพ่อเฮนรี่ ทางเรือนจำได้ส่งพินัยกรรมและสิ่งของนั้นมาให้พระสังฆราชแปร์รอส จากจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสเขียนถึงศูนย์กลางของคณะ M.E.P. ที่กรุงปารีส ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 มีใจความว่า

“...เราได้สูญเสียพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งในจำนวน 3 องค์ ที่ถูกตัดสินจำคุกโดยไม่มีความผิด คุณพ่อนิโคลาสเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรน มีความกระตือรือร้นกว่าทุกคน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ที่ท่านป่วยเป็นวัณโรคอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ ท่านได้ทำให้คนกลับใจจำนวน 68 คน และโปรดศีลล้างบาปให้คนใกล้ตาย ผู้ที่ลงโทษตัดสินจำคุกท่านอย่างอยุติ ธรรมคงไม่คาดคิดว่าจะได้รับผลตอบแทนเช่นนี้ ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เดือนละครั้งมาเป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้ว ต่อมาข้าพเจ้าและครอบครัว ของคุณพ่อได้รับการปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ข้าพเจ้าสามารถติดต่อกับคุณพ่อและเพื่อนพระสงฆ์ของท่านอีก 2  องค์ในคุก โดยผ่านทางคริสตังที่นำอาหารและเงินจำนวนเล็กน้อยไปให้ท่านในแต่ละเดือน คุณพ่อไม่สามารถพบเพื่อนพระสงฆ์อีก 2 องค์ ซึ่งเป็นนักโทษเช่นเดียวกับท่าน นี่เป็นการเบียดเบียนเพื่อต่อต้านศาสนาคาทอลิกซึ่งยังคงดำเนินต่อมาอีกอย่างรุนแรงที่สุดเป็นระยะเวลา 2 ปี...”

 

ขุดศพมาฝังที่อุโมงค์วัดอัสสัมชัญ

            ศพของคุณพ่อถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพร ซึ่งเป็นวัดพุทธและอยู่ใกล้กับเรือนจำ อีกหนึ่งเดือนต่อมา   พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร ลงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1944 เพื่อขออนุญาตขุดศพของ คุณพ่อมาฝังไว้ที่อุโมงค์วัดอัสสัมชัญ แต่ได้รับการปฏิเสธ พระสังฆราชแปร์รอสพยายามขออนุญาตอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ อีกประมาณ 2 เดือนต่อมาจึงได้รับอนุญาตให้ขุดศพได้ ท่านได้ให้ญาติพี่น้องของคุณพ่อไปขุดศพมาจากวัดบางแพร ผู้ที่ไปขุดศพคือ นางผิน น้องสะใภ้ของคุณพ่อ, นายกุ้ย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน และนายฮะเซี้ยง บุตรชายของนางผิน ทั้งหมดออกเดินทางในตอนเช้า ระหว่างทางนายฮะเซี้ยงได้แยกตัวไปหาพระสังฆราชแปร์รอส พอไปถึงวัดบางแพร สมภารที่วัดบอกว่านางผินและนายกุ้ยมาขุดศพไปแล้ว ก่อนที่นายฮะเซี้ยงจะไปถึงไม่นาน ศพของคุณพ่อถูกฝังอยู่ในดิน ซึ่งขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคุดคู้ ไม่มีโลง ไม่มีอะไรห่อศพเนื้อหนังและเส้นผมยังมีอยู่ แต่ไม่มีกลิ่น

            พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเบรสซองลงวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1944 เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของมิสซัง รวมทั้งการเบียดเบียนศาสนาว่า

“...เรารู้สึกเสียใจที่ต้องสูญเสียพระสงฆ์พื้นเมืองที่ดีที่สุดของเราองค์หนึ่งไป คุณพ่อนิโคลาสได้ตายในคุกซึ่งเขาต้องอยู่ในนั้นมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ท่านได้ถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือฝรั่งเศสในระหว่างสงครามอินโดจีน-ไทย ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งคุณพ่ออีก 2 องค์ คือคุณพ่อเอดรัวด์และคุณพ่อเฮนรี่ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเหมือนท่าน ทั้งหมดไม่มีความผิด หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม 1 ครั้งต่อเดือน ต่อมาข้าพเจ้าได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่อนุญาตให้เยี่ยม คุณพ่อป่วยหนัก ข้าพเจ้าต้องการไปเยี่ยมท่าน แต่โชคร้ายที่การขอความกรุณาของข้าพเจ้าได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ภายหลังคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ศัตรูที่จ้องทำลายศาสนาคาทอลิก ได้มีอำนาจตกต่ำในช่วงต้นเดือนนี้ หลังจากการตายของคุณพ่อที่รักของเรา ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถรับศพของคุณพ่อมาได้ คุณพ่อได้ถูกฝังไว้ที่วัดพุทธ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเรือนจำ อีกประมาณ 2 เดือนต่อมา ข้าพเจ้าจึงสามารถจ้างคนไปขุดศพ เอาใส่โลง และนำมายังวัดอัสสัมชัญ บรรจุไว้ในสุสานซึ่งอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินของวัดอัสสัมชัญ ที่นั่นมีหลุมศพของเพื่อนพระสงฆ์ของเขาหลายองค์ที่ได้ตายไปก่อนแล้ว พวกเราได้สูญเสียคุณพ่อบนแผ่นดินนี้ แต่ข้าพเจ้ามีความหวังว่าคุณพ่อ คอยช่วยเหลือพวกเราอยู่บนสวรรค์ ในเวลานี้ข้าพเจ้ากำลังดำเนินการร้องขออิสรภาพให้กับนักโทษอีก 2 คนของเราคือ คุณพ่อเอดรัวด์และคุณพ่อเฮนรี่ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต”

 

            มีเอกสารฉบับหนึ่งเป็นจดหมายร่าง ลายมือของพระสังฆราชแปร์รอส เขียนถึงราชการเพื่อขออิสรภาพให้กับนักโทษซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง 2 องค์ และคริสตังอีก 8 คน มีข้อความที่กล่าวถึงคุณพ่อนิโคลาสดังนี้คือ

“...พระสงฆ์ 3 องค์ ได้ถูกกล่าวหาเหมือนกัน ทั้งๆ ที่คำให้การของพยานเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา พวกเขาได้ถูกตัดสินจำคุก คนหนึ่ง 12 ปี อีก 2  คน ตลอดชีวิต คนแรก (คุณพ่อนิโคลาส) ตายในคุกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะล้มป่วย ข้าพเจ้าไปเยี่ยมและขออนุญาตพบเขา ผู้บัญชาการเรือนจำได้ปฏิเสธการร้องขอนี้อย่างเด็ดขาด อีก 4 ชั่วโมงต่อมา ผู้บัญชาการเรือนจำได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า พระสงฆ์องค์นั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้พบเขาเลย นี่เป็นความป่าเถื่อนอย่างหนึ่งที่ยังมีอยู่...”

           

            นอกจากนี้พระสังฆราชแปร์รอส ยังได้เขียนจดหมายถึงผู้อำนวยการสมาคมเผยแพร่ความเชื่อ (President Society for the Propagation of the Faith) เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“...พระสงฆ์พื้นเมือง 5 องค์ของเรา ถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด เพราะผู้ปกครองศาสนาเป็นชาวต่างชาติ และนับถือศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ พระสงฆ์องค์หนึ่งในจำนวนนี้ (คุณพ่อนิโคลาส) ได้ตายในคุกหลังจากต้องจำคุก 3 ปี เขาอยู่ในโรงพยาบาล 9 เดือน เนื่องจากป่วย เขาได้ใช้เวลาเหล่านั้นในการปลอบโยน บรรเทาใจ และสั่งสอนผู้ป่วยคนอื่นๆ เขาได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าในระหว่างที่เขาอยู่ในคุก เขาได้สอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้คนใกล้ตาย 68 คน...”

 

            จากรายงานประจำปีของปี ค.ศ. 1941 ถึงปี ค.ศ. 1947 พระสังฆราชแปร์รอสเขียนสรุปไว้ว่า

“พระสงฆ์ 2 องค์ ถูกจำคุกนาน 20 เดือน ก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ อีก 2 องค์ ถูกจำคุกอยู่ถึง 5 ปี จึงเป็นอิสระ ส่วนคุณพ่อชุนกิม (นิโคลาส) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ดีเด่นและร้อนรนยิ่งนักถึงแก่มรณภาพลงในระหว่างถูกต้องโทษปีที่สาม ตลอดเวลา 9 เดือน ที่ท่านถูกพักรักษาตัวในคุกนั้น ก็ได้อุทิศตนสอน  คำสอนแก่คนป่วยอื่นที่เป็น นักโทษด้วยกัน และช่วยเตรียมตัวให้พวกเขาตายในศีลในพร หนึ่งวันก่อนถึงแก่มรณภาพ ท่านได้หาทางแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านได้โปรดศีลล้างบาปให้คนใกล้ตายถึง 68 คน ผลงานยอดเยี่ยมนี้ไม่มีสมาชิกท่านใดในมิสซังทำได้ในช่วงเวลา 1 ปีเต็ม ผู้เบียดเบียนซึ่งมุ่งที่จะจับพวกพระสงฆ์ใส่คุกโดยเฉพาะ คงมิได้คาดคิดว่าจะมีผลเช่นนี้เป็นแน่”.

 

บทภาวนา

เพื่อการประกาศเป็นบุญราศี ของ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

 

                  ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระองค์เคยตรัสว่ “ไม่มีการพิสูจน์ ความรักใดใหญ่กว่าการที่บุคคลหนึ่งยินดีพลีชีพเพื่อผู้ที่ตนรัก...” พระองค์ได้ทรงเรียกคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง   ให้มาเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ และมาเป็นผู้ร่วมงานไถ่กู้ โลกในฐานะสงฆ์ พระองค์ทรงทราบและกำหนดให้ คุณพ่อมีชีวิตในช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากของพระศาสนจักรในภูมิภาคนี้ คุณพ่อได้ถวายชีวิตตอบสนองพระประสงค์ของพระองค์อย่างเข้มแข็ง ข้าพเจ้าทั้งหลายขอขอบพระคุณพระองค์ที่ได้ประทานพระคุณต่างๆ แก่คุณพ่อ และได้ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นแบบฉบับอันงดงามแห่งความเชื่อ และความจงรักภักดีของคุณพ่อต่อพระองค์และต่อพระศาสนจักร  ด้วยการพลีชีพในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์จนวาระสุดท้าย

                  พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายวิงวอนขอพระองค์ โปรดประทานเกียรติมงคลแก่คุณพ่อซึ่งเป็นข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อย แต่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีเช่นนี้ และหากเป็นที่พอพระทัย ขอพระองค์โปรดให้พระศาสนจักรได้ประกาศรับรองความศักดิ์ สิทธิ์ของคุณพ่อต่อหน้าประชากรทั้งมวล เพื่อเป็นสิริมงคลแห่งพระนามของพระองค์ ขณะเดียวกันขอพระองค์โปรดแสดงพระเมตตา ประทานพระพร... ผ่านทางคุณพ่อมายังข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด

                  ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีของพระองค์ ผู้ทรงจำเริญและครองราชย์ร่วมกับพระบิดาและพระจิตตลอดนิรันดร  อาแมน.