วิธีการและอุปสรรคที่ใช้ในการแพร่ธรรมในสมัยก่อน

  • Print

 

1. การค้า

            ในปี ค.ศ. 1511 อัลฟอนโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ชาวโปรตุเกสมาพบแหลมมะละกา และเห็นว่าเป็นทำเลการค้าดี จึงทำการแย่งชิงเอาอย่างนองเลือด เมื่อยึดเกาะได้แล้ว และภายหลังทราบว่ามะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของไทย   จึงได้แต่งทูตมาขอทำสัมพันธไมตรีด้วย  เพื่อป้องกันมิให้กองทัพไทยยกไปตีมะละกาคืน ฝ่ายมหากษัตริย์ไทยทรงเห็นว่าเมืองมะละกาอยู่ห่างไกล ประกอบกับทราบว่า ชาวโปรตุเกสมีกำลังและอาวุธที่เหนือกว่า จึงยอมเป็นไมตรีด้วย นับตั้งแต่นั้นมา ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในประเทศไทยเป็นชาติแรก และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้มีจำนวนคริสตังค์เพิ่มมากขึ้นด้วยซึ่งถือได้ว่านี่เป็นวิธีการที่มุ่งประโยชน์ทางการค้าและศาสนา ทั้งนี้เพราะถ้าคนพื้นเมืองหันมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว ผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็จะตามมาง่าย และแล้วความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-โปรตุเกส ก็ดำเนินมาด้วยดีเป็นเวลาประมาณ 100 ปี จึงเกิดการทะเลาะกันขึ้น เนื่องจากพวกโปรตุเกสได้ไปจับเรือสินค้าของชาวดัชในน่านน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการลบหลู่พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ในความคุ้งครองของคนต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสในเรื่องการค้านั้นได้หยุดชะงักลงทันที ยังคงดำเนินต่อไป แต่เป็นไปในลักษณะแบบล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ซึ่งเป็นผลกระทบให้บรรดามิชชันนารีทำการเผยแพร่ศาสนาได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

 

2. การเข้าหาผู้นำ

            ตั้งแต่เริ่มพันธกิจในประเทศไทย บรรดามิชชันนารีที่เข้ามาก็พยายามที่จะประกาศศาสนากับชนชั้นสูงก่อน โดยการพยายามศึกษาสภาพแวดล้อม และความต้องการของประเทศก่อน แต่วิธีการนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ถึงกระนั้นก็ตาม บรรดามิชชันนารีก็มิได้ลดละความพยายาม ได้ทูลขอสมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ส่งพระสมณสาสน์และพระราชสาสน์   มาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในขณะนั้นพระสังฆราชลังแบร์ต มีความสนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก จึงพยายามชักชวนให้พระองค์เปลี่ยนศาสนา ซึ่งท่านคิดว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เปลี่ยนศาสนาแล้ว ประชาชนพลเมืองก็จะเปลี่ยนศาสนาตามพระเจ้าแผ่นดินของตนไปด้วย แต่การณ์ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มมีขบวนการต่อต้านอิทธิพลธรรมทูตขึ้นแล้ว  พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอิสระในการตัดสินพระทัย

            อย่างไรก็ตาม แม้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชปฏิเสธในการที่จะเปลี่ยนศาสนาของพระองค์   แต่พระองค์ก็มิได้ทรงห้ามบรรดามิชชันนารีให้ทำการเผยแพร่ศาสนาต่อไป พระองค์ยังทรงพระกรุณาพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างบ้านให้พระสังฆราชอยู่ และโปรดพระราชทานของสำหรับสร้างวัดให้อีกด้วย นอกจากนี้พระสังฆราชลังแบร์ตยัง ได้ของพระบรมราชานุญาตจัดตั้งบ้านเณรขึ้นอีกด้วย   ซึ่งการจัดตั้งบ้านเณรขึ้นนี้  เป็นแนวทางที่แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของการเผยแพร่ศาสนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  นั่นคือ  “การสถาปนาพระศาสนจักรคาทอลิกขึ้นในประเทศไทย”  นั่นเอง

 

3. การเยี่ยมเยียน

            เมื่อบรรดามิชชันนารีเข้ามา สิ่งแรกที่พวกเขาจะกระทำก็คือ การพยายามช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติของเขา ขณะเดียวกัน ก็พยายามที่จะเรียนภาษาไทยไปด้วย จึงทำให้บรรดามิชชันนารีเหล่านั้นสามารถพูดคุย ติดต่อ และไปเยี่ยมเยียนชาวไทยตามบ้านได้มากมาย ขณะเดียวกันชาวไทยก็ชอบที่จะมาคุยกับท่านเหล่านั้นด้วย  ซึ่งสิ่งนี้ทำให้คนต่างศาสนาอิจฉาริษยาขึ้น  ดังตัวอย่างในสมัยของคุณพ่อเยโร  มิโม ดาครู้ส และคุณพ่อเซบาสติอาว ดาดันโต ชาวโปรตุเกส คณะดอมินิกัน คุณพ่อทั้งสองสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว พวกมุสลิมจึงคิดที่จะกำจัดบรรดามิชชันนารีให้หมดไปเสียจากแผ่นดินไทย และที่สุดคุณพ่อเยโรมิโมก็ได้จบชีวิตลงอย่างน่าเสียดายในการกลั่นแกล้งของพวกมุสลิมนั่นเอง

 

4. การโต้เถียงกับหลักการของพุทธศาสนา (การพยายามทำให้เขากลับใจ)

            บรรดามิชชันนารีเห็นว่าการกลับใจของชาวสยามนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะชาวสยามมีความผูกพันกับศาสนาพุทธมาโดยตลอด และมิหนำซ้ำในสมัยพระสังฆราชปัลเลอกือ ยังได้มีการเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพาดพิงไปถึงพุทธศาสนา จึงทำให้ชาวสยามขุ่นเคืองเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับต้องขึ้นศาลกัน และที่สุดสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงมีพระบรมราชโองการ 4 ประการคือ

1. ห้ามเขียนหนังสือสอนศาสนาเป็นภาษาไทยและบาลี

2. ห้ามประกาศศาสนาแก่คนไทย มอญและลาว

3. ห้ามชักชวนคนไทย มอญ และลาวมาเป็นคาทอลิก

4. ห้ามตักเตือนเหยียดหยามศาสนาพุทธ

 

ศิลาจารึกพระบรมราชโองการนี้ เรียกว่า “หินแห่งความอัปยศ” แล้วเขาก็นำไปวางไว้ที่วัดนักบุญยอแซฟ

 

5. ด้านสังคมสงเคราะห์

            วิธีการเผยแพร่ศาสนาในรูปของงานเมตตาจิต จัดอยู่ในพวกงานสังคมสงเคราะห์แบบบริการให้เปล่า คือมีผู้ให้และผู้รับ ซึ่งบรรดามิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนานั้น มีความเปี่ยมล้มด้วยเมตตาธรรม และเป็นเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งของมิชชันนารีที่ใช้เป็นเกราะป้องกันภัยให้ท่านเหล่านั้นเสมอมา ทำให้ท่านเหล่านั้นมีงานทำจนล้นมือ และเมื่อสมัชชาที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1664 สิ่นสุดลงแล้ว พระสังฆราชลังแบร์ต และคุณพ่อลาโน ได้เริ่มทำการแพร่ธรรม รักษาคนป่วย และออกเยี่ยมนักโทษตามเรือนจำด้วย แม้ว่าผลที่ได้จะไม่มากนัก ท่านก็ได้ตัดสินใจสร้างโรงพยาบาลขึ้นใกล้ๆ กับบ้านพักพระสงฆ์ เพื่องานเมตตาจิตจะได้ดำเนินไปได้อย่างดี พระสังฆราชลังแบร์ต ได้ตั้งคณะสตรีรักไม้กางเขนขึ้นในเหตุผลบางประการ เช่น เพื่อทำการรักษาพยาบาลคนป่วยที่เป็นคริสตังค์ และไม่เป็นคริสตังค์ด้วย อีกข้อหนึ่งก็เพื่อช่วยผู้หญิงหรือหญิงสาวที่มีความประพฤติไม่ดีออกจากความชั่ว

            ในการทำงานเช่นนี้ ก็ต้องมีอุปสรรคบ้าง เช่น การนำโครงสร้างแบบนักบวชในยุโรปมาใช้กับคณะสตรีรักไม้กางเขนของไทย ซึ่งอาจจะส่งผลให้คณะสตรีรักไม้กางเขนเสียเอกลักษณ์ของการเป็นไทย จึงควรจะต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของไทย ซึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระสังฆราชลาโน พระสังฆราชองค์แรกของสยาม ยอมรับว่า การที่จะเป็นที่ยอมรับของคนไทย ต้องทำตัวเราให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้น จึงได้สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นคือ โรงพยาบาลเซนต์โยเซฟที่อยุธยา ในปี ค.ศ. 1666 และต่อมาได้เปิดที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นผลงานของสังคมสงเคราะห์ของชาวคาทอลิกในยุคต้น

 

6. สื่อสารมวลชน

            การใช้สื่อสารมวลชน ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะเผยแพร่ศาสนาได้ผลดีเท่าที่ควร แต่ก็ต้องเลือกวิธีการที่ดี และไม่เกิดผลเสียต่อศาสนาคาทอลิก และผลเสียอื่นๆ ที่ตามมา ดังจะเห็นได้จากวิธีการใช้หนังสือคำสอนต่างๆ ซึ่งมีการพิมพ์ขึ้นหลายครั้งในสมัยที่มีมิชชันนารีเข้ามาในสมัยเริ่มแรก เช่น การที่มองซิเออร์ ซิมอน เดอลา ลูแบร์ (Mansieur Simon de la Loubere) ซึ่งเป็นผู้แทนของพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส ได้เดินทางมาเฝ้ากษัตริย์ไทย ในปี ค.ศ. 1687 แม้ เดอลา ลูแบร์ จะอยู่ในเมืองไทยเพียง 1 ปี แต่ก็ได้จัดให้มีหนังสือที่น่าสนใจมากจากการที่เขาเป็นคนชอบเขียน ชอบศึกษาจดจำข้อมูลต่างๆ  จึงได้มีบทสวดข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย และบทวันทามารีอาขึ้น ที่ใช้กันในสมัยพระนารายณ์

            และในปี ค.ศ. 1664 ซึ่งมีการสมัชชา (Syond) ขึ้น ซึ่งมีผลให้ที่ประชุมได้ตัดสินใจทำอะไรหลายๆ อย่าง อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ จัดพิมพ์คำสั่งสอนที่มีชื่อเสียงปี ค.ศ. 1659 ซึ่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ให้มา รวมทั้งมีคำแนะนำตำราสำหรับมิชชันนารี จะได้ใช้สำหรับทำงานหนังสือคู่มือนี้ประกอบไปด้วย 10 บท เต็มไปด้วยหลักวิชา Missiologic  ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการแพร่ธรรม หนังสือเล่มนี้ นับว่าเป็นภาษาไทยด้วย แต่ยังไม่ทันได้พิมพ์

            นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้ภาพยนตร์ในการแพร่ธรรม ซึ่งภาพยนตร์บางเรื่องก็มีผลให้คนดูได้กลับใจ เช่น ภาพยนตร์เรื่องลูกล้างผลาญที่เคยฉายให้คนไทยดูในสมัยก่อนนั้น ก็มีส่วนดีที่ใช้ในการเผยแพร่ศาสนา ดังคำนิยามของคุณพ่อแซงต์กิลีแห่งเชียงใหม่ว่า “หน่วยภาพยนตร์เคลื่อนที่ของคุณพ่อ   มีประสิทธิภาพมาก ทำให้งานแพร่ธรรมของเราเข้าถึงจุดเร็ว” และอีกคำพูดหนึ่งของพระสังฆราชดูฮาร์ทแห่งอุดรธานีกล่าวว่า  “หน่วยฉายภาพยนตร์เป็นวิธีที่ดีในการให้การศึกษาด้านพระศาสนาแก่คริสตังค์ และช่วยนำแสงสว่างแห่งพระวรสารไปสู่ชนต่างศาสนาด้วย”

 

7. สังคมและวัฒนธรรม

ประเทศสยามเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยุ่งยากซับซ้อนมากมาย และการที่บรรดามิชชันนารีจะสามารถเผยแพร่ศาสนาได้นั้น จำเป็นต้องศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เพื่อจะได้สามารถหาวิธีการต่างๆ ในการเผยแพร่ศาสนาดึงดูดในชาวสยามกลับใจ และเข้าใจในข้อคำสอนอย่างถ่องแท้ ดังเช่น คุณพ่อลาโน ท่านได้พยายามศึกษาชีวิต ความเป็นอยู่ของพระภิกษุในศาสนาพุทธ เพราะท่านสังเกตเห็นว่าพระภิกษุในประเทศสยามนั้นค่อนข้างมีอิทธิพลต่อคนไทยมาก โดยเฉพาะคุณพ่อเองก็ได้มีโอกาสไปเรียนที่วัดพุทธถึง 3 ปี เรียนภาษาไทย ภาษาบาลี และรวมถึงศาสนาพุทธด้วย ท่านคิดว่า หากมิชชันนารีและพระสงฆ์มีความเข้าใจดีอย่างลึกซึ้งถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาดั้งเดิมของชาวสยามแล้ว จะเป็นการง่ายที่ดึงพวกเขาให้มาเข้าศาสนาของเราได้ มีบทสวดที่แต่งขึ้นเป็นภาษาไทย เพื่อให้สอดคล้องและปรับให้เข้ากับท้องถิ่นที่ตนทำงานอยู่ การกระทำดังกล่าวไม่ได้เกิดผลดีมากนัก มีชาวพุทธบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์คาทอลิกมาแต่งกายเหมือนกับพระภิกษุในศาสนาพุทธ ใช้ภาษาหรือทำกิจการต่างๆ คล้ายกับศาสนาของเขา มิชชันนารีและบรรดาคริสตังค์จึงถูกโจมตี และต่อต้านจากบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ศาสนาของเราไม่เจริญและมีผู้กลับใจน้อย

 

8. บทบาททางการเมือง

            การที่บรรดามิชชันนารีเริ่มเข้ามาในประเทศไทยนั้น บรรดาบาทหลวงและพระสังฆราชได้มีส่วนในทางการเมืองมาก แม้กระทั่งเป็นราชทูตสันถวไมตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการส่งทูตไทยไปฝรั่งเศสหลายครั้ง และทุกครั้งก็จะต้องมีพระสงฆ์ร่วมเดินทางไปด้วยเสมอ เพื่อเป็นล่าม และที่ปรึกษาให้แก่คณะทูต ซึ่งทุกครั้งที่เดินทางไป คณะทูตก็จะประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอ และเป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ส่งผลให้การทำงานเผยแพร่ศาสนาได้รับความคุ้มครองและเจริญก้าวหน้าบ้าง เพราะสมเด็จพระนารายณ์เองก็ได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดให้ชาวคริสตังค์ด้วย