คณะพระมหาไถ่

 

นักบุญอัลฟอนโซ มารี เดอ ลีโกรี ผู้สถาปนาคณะ

ตราของคณะ
พระพรพิเศษ
คณะพระมหาไถ่ ไม่อาจอวดอ้างได้ว่า ชีวิตภายในของตนมีอะไรที่พิเศษ หรือสมาชิกของคณะจะโดดเด่นกว่าคณะอื่นในพระศาสนจักร กระนั้นก็ตามมีปัจจัยหลายประการที่ถือว่าเป็นพระพรพิเศษของคณะ เช่น การเทศนาและทำงานท่ามกลางคนยากจน การเทศน์ฟื้นฟูจิตใจตามวัดต่างๆ หรือแม้แต่ชีวิตด้านความศรัทธา ฯลฯ แน่นอนทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้อาจจะพบได้ในชีวิตภายในแบบอื่นและพบเห็นได้ในคณะนักบวชอื่นด้วย แต่สิ่งที่อาจบ่งบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของคณะน่าจะเป็นลักษณะของแนวทางที่ประสมประสานกันแล้วนำมาปฏิบัติ รวมไปถึงลักษณะอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ความพร้อมเสมอในด้านอภิบาลศีลศักดิ์สิทธิ์ วิถีทางดำเนินชีวิตของสมาชิกแต่ละคน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทั้งต่อสมาชิกและบุคคลภายนอก การพูดจาที่เป็นกันเอง บรรยากาศแห่งมิตรภาพในหมู่คณะ ฯลฯ ลักษณะทั้งหมดนี้รวมกันบ่งบอกให้ผู้พบเห็นรู้ว่า “เขานั่นคือ สมาชิกคณะพระมหาไถ่”
 
จิตตารมณ์ของคณะ
พระธรรมวินัยของคณะบ่งบอกไว้ว่าเป้าหมายของคณะ คือ การติดตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ โดยการเทศน์สอนพระวาจาพระเป็นเจ้าแก่ผู้ยากจน ดังที่พระเยซูพระองค์เองได้ประกาศว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาเพื่อประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากจน” 
 
ภารกิจ
พระธรรมวินัยอธิบายถึงภารกิจของสมาชิกไว้ว่าดังนี้ “เข้มแข็งในความเชื่อ ยินดีในความหวัง ร้อนรนด้วยความศรัทธา ลุกโชนด้วยความกระตือรือร้น พร้อมด้วยหัวใจที่ถ่อมตน และพากเพียรในการภาวนา สมาชิกคณะพระมหาไถ่ในฐานะที่เป็นผู้แพร่ธรรม และเป็นศิษย์แท้ของนักบุญอัลฟอนโซ เดินตามพระฉบับแบบของพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วนความยินดี เสียสละตนเอง และพร้อมเสมอที่จะทำงานในทุกที่ หรือทุกสถานการณ์ที่กำลังเรียกร้อง แบ่งปันรหัสธรรมของพระคริสตเจ้า ด้วยการประกาศเรื่องเหล่านั้นว่าเป็นข่าวดีสำหรับการดำเนินชีวิตและวาจาที่เรียบง่ายเพื่อปวงชนจะได้รับความรอด”
 
ธรรมนูญของคณะ ข้อที่ 6 ได้ให้คำจำกัดความของตราสัญลักษณ์ของคณะ ดังนี้ คือ   "ตราสัญลักษณ์คณะประกอบด้วย กางเขน กับหอกและไม้เสียบฟองน้ำ     ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาสามลูก ส่วนทั้งสองข้างของกางเขนนั้น มีชื่อย่อของพระเยซูคริสตเจ้า  และพระนางมารีย์ เหนือกางเขน  มีดวงตาที่ส่องแสงประกาย และเหนือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด  มีมงกุฎประดับอยู่ รอบๆ ตราสัญลักษณ์ของคณะนั้น มีข้อความเขียนไว้ว่า "ในพระองค์ มีความรอดครบบริบูรณ์"  
 
ประวัติความเป็นมาของตราสัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์ของคณะพระมหาไถ่  เกิดขึ้นในช่วงที่คณะกำลังเริ่มก่อตั้ง และจากการเริ่มต้นนี้เอง การจะมีตราสัญลักษณ์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการที่จะรับรองคณะและพระวินัยของคณะทั้งจากพระศาสนจักร และทางบ้านเมืองนักบุญอัลฟอนโซและเพื่อนสมาชิกกลุ่มแรกๆ จึงได้เลือกเอาสัญลักษณ์ทางศาสนาบางอย่างซึ่งสามารถอธิบายถึงจิตตารมณ์ของคณะใหม่นี้ และอาจมีการเพิ่มเติม-ตกแต่งด้วยรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยการทำตราสัญลักษณ์ 
 
ที่คาซา อนัสตาสิโอ สกาลา เราได้พบภาพวาดอยู่บนผนังกำแพงของเตาอบ  ขนมปังในครัวของคณะภาพหนึ่ง  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาพที่วาดขึ้นโดย บราเดอร์ วีตุส ครูซิอุส  และถือได้ว่าภาพวาดภาพนี้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะอันแรก ภาพวาดนี้ประกอบด้วย รูปกางเขน  ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่ง พร้อมด้วยหอก ไม้เสียบฟองน้ำ และบันได ภาพนี้ถูกวาดขึ้นในราว ปี ค.ศ. 1738 
 
ตราสัญลักษณ์จะต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนก่อนที่จะมีการรับรองพระวินัย จากสมเด็จพระสันตะปาปาในปี ค.ศ.1749 ดังที่เราได้เห็นจากผลการประชุมสมัชชาใหญ่ของคณะในปี ค.ศ.1747  เลขาที่ประชุมได้บันทึกไว้ดังนี้ "ตราสัญลักษณ์ของคณะประกอบด้วย กางเขนที่ตั้งอยู่ บนยอดเขา 3 ลูก เหนือกางเขนมีดวงตาที่ส่องประกาย และนักบุญอัลฟอนโซได้ลบข้อความว่า "เหนือกางเขนมีดวงตาส่องประกาย" นั้นออกไป แล้วท่านได้เขียนเพิ่มเติมใหม่ว่า ตราสัญลักษณ์คณะประกอบด้วย  "กางเขนพร้อมกับหอก  ไม้เสียบฟองน้ำ และข้างๆ ของกางเขนมีชื่อย่อของ พระเยซูคริสตเจ้าและพระนางมารีย์ ส่วนที่เหนือกางเขนมีรูปดวงตาที่ส่อง ประกาย และเหนือสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดมีมงกุฎ" 
 
หลังจากเสร็จการประชุมครั้งนั้น ก็ได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์ทันที อย่างไรก็ตามตราสัญลักษณ์คณะนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าได้รับการออกแบบโดยท่านนักบุญอัลฟอนโซ นั้น ก็ยังได้เขียนข้อความเพิ่มขึ้นอีกว่า "ในพระองค์ มีความรอดครบบริบูรณ์"นอกจากนั้น ตราสัญลักษณ์ของคณะยังได้รับการพยุงด้วยกิ่งไม้ 2 กิ่ง ซึ่งรายละเอียดสุดท้ายนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ใดๆของคณะเลย และยังไม่มีการเขียนบันทึกอธิบายในเอกสารของคณะด้วย
 
จนกระทั่งช่วงหลังศตวรรษที่ 19  กิ่งลอเร็ล หรือกิ่งมะกอก หรือกิ่งปาล์ม  ได้ปรากฏบ่อยๆในตราสัญลักษณ์ของคณะถึงแม้ในธรรมนูญของคณะจะไม่ได้มีการอธิบายอะไรในเรื่องนี้ก็ตาม สองปีหลังจากการประชุมในปี ค.ศ. 1747 ตราสัญลักษณ์ของคณะได้ปรากฏบนหน้าปกหนังสือเฝ้าศีลมหาสนิท ซึ่งได้รับการปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ที่เนเปิลส์ ในปี ค.ศ. 1749 และตั้งแต่นั้น มาตรานี้ก็ได้รับพิจารณาให้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะเรื่อยมาเราไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้ท่านนักบุญอัลฟอนโซ และเพื่อนสมาชิกเลือกเอารายละเอียด ต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ เพราะในการประชุมสมัชชาใหญ่ของคณะ ในปี ค.ศ. 1747  ก็ไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เลย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆในตราสัญลักษณ์ของคณะก็สามารถอธิบายถึงจุดประสงค์ และจิตตารมณ์ของงานธรรมทูตของคณะได้เป็นอย่างดี 
 
ผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคณะหลายคน ได้ให้ข้อสังเกตว่าบางทีรายละเอียด ต่างๆของตราสัญลักษณ์ของคณะนี้ อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์การประจักษ์ที่เกิดขึ้นที่สกาลา ในระหว่างพิธีอวยพรศีลมหาสนิท ในโอกาสเตรียมฉลองวันก่อตั้งคณะในวันที่ 9พฤศจิกายน  ค.ศ.1732 ก็เป็นได้พยานหลายคนที่ได้เห็นการประจักษ์นี้ต่างก็ยืนยันว่า ได้เห็นกางเขนสีดำตั้งอยู่บนเนินเขา  พร้อมเครื่องมือในการทรมาน ปรากฏอยู่ในแผ่นศีลมหาสนิท  แต่บางคนก็ได้เห็นดวงดาวและมีบางสิ่งบางอย่างสีขาวๆคล้ายก้อนเมฆ  ส่วนนักบุญอัลฟอนโซ  ได้กล่าวว่า  ท่านเองก็ได้เห็นกางเขนสีดำ  และก้อนเมฆเล็กๆ คล้ายกับดาวดวงหนึ่งซึ่งมี สีขาวกว่าสีของแผ่นศีลมหาสนิท ปรากฏอยู่ข้างกางเขนสีดำนั้น  ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1732  พระสังฆราชฟัลโกยา  คุณพ่อวิญญาณารักษ์ของอัลฟอนโซ พร้อมกับบรรดาซิสเตอร์  ได้แนะนำอัลฟอนโซ  ถึงการประจักษ์ว่า นี่คงเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าแน่แท้ ที่จะให้ท่านได้ก่อตั้งคณะนักบวชขึ้น ฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแตกต่างเลยในรายละเอียดหลักๆ ที่เป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ กับรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏอยู่ในแผ่นศีลมหาสนิทในการประจักษ์เช่น ภูเขา  กางเขน และเครื่องทรมานต่างๆ
 
 
ตราสัญลักษณ์และความหมาย
ยังไม่มีการอธิบายอย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ แต่เราบอกได้ว่าตราสัญลักษณ์นี้ ได้สื่อถึงงานไถ่กู้มนุษยชาติให้ได้รับความรอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งคณะได้เป็นผู้ประกาศถึงงานไถ่กู้นี้ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระนางมารีย์  ซึ่งสามารถอธิบายได้จากสัญลักษณ์ของกางเขน ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาพร้อมกับหอกและไม้เสียบฟองน้ำ ที่ข้างกางเขนยังมีอักษรย่อชื่อ ของพระเยซูคริสตเจ้า และพระนางมารีย์รวมทั้งมีข้อความที่เขียนไว้ว่า "ในพระองค์ มีความรอดครบบริบูรณ์"
 
ดวงตาที่อยู่ภายในสามเหลี่ยม หมายถึง พระตรีเอกภาพ แต่เนื่องจากในรูปนี้ สามเหลี่ยมได้หายไป  ดังนั้น ดวงตา จึงหมายถึง  ความเมตตากรุณาของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ นั่นก็ หมายถึง ดวงตาแห่งพระญาณสอดส่องของพระเจ้าในชีวิตของมนุษย์นั่นเอง   
 
กิ่งปาล์ม - กิ่งมะกอก - กิ่งลอเร็ล เป็นการเพิ่มเติมหรือตกแต่งให้ตราสัญลักษณ์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
มงกุฎที่ประดับเหนือตราสัญลักษณ์ หมายถึงมงกุฎแห่งพระสิริมงคลซึ่งสมาชิกในคณะจะได้รับ เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับความพากเพียรในการดำเนินชีวิตนักบวชในคณะจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
 
เนินเขาสามลูกไม่ได้มีความหมายทางสัญลักษณ์อะไรพิเศษ คงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ที่จะมีสัญลักษณ์ภูเขาในการทำตราสัญลักษณ์ในเวลานั้น
 
คณะพระมหาไถ่
การตอบสนองพระกระแสเรียก 
คณะพระมหาไถ่ ธรรมทูตคณะพระมหาไถ่ หรือคณะสงฆ์แห่งลีโกวลี ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1732 โดย นักบุญอัลฟอนโซ เดอลีโกวรี ผู้ซึ่งได้รวบรวมกลุ่มพระสงฆ์และฆราวาสขึ้นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ โดยเลือกจากผู้ที่ทรงคุณวุฒิและศรัทธาในเมืองเนเปิลส์ โดยมีจุดมุ่งหมายว่า จะติดตามแบบฉบับของพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ ในการเทศนาข่าวดีแก่คนยากจน ซึ่งพระองค์เองเคยตรัสไว้ว่า “พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา เพื่อประกาศข่าวดีแก่คนจน” ทางคณะได้มีส่วนร่วมในงานของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นรหัสธรรมแห่งความรอด และงานหลักคือ เป็นธรรมทูต คณะได้ทำให้การมีส่วนในงานของพระศาสนจักรเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยการมีความกระตือรือร้นในงานอภิบาลต่างๆ และเทศนาข่าวดีแก่วิญญาณที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน 
 
นักบุญอัลฟอนโซ เดอลีโกวรี พระสังฆราชและนักปราชญ์ของพระศาสนจักร เกิดที่ตำบลมารีอาเนลลา ใกล้เมืองเนเปิลส์ ในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1696 และมรณกรรมที่เมืองปากานี ในแขวงซาแลร์โน ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1787
 
- หลังจากได้จบการศึกษาด้านวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ทั้งศิลปะและดนตรี ในปี ค.ศ. 1708 ท่านได้สมัครเข้าศึกษาต่อทางด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยแห่งเมืองเนเปิลส์ และได้จบการศึกษาเมื่ออายุเพียง 16 ปี
 
- ใน ปี ค.ศ. 1723 ท่านได้ระลึกถึงความปรารถนาที่ท่านมีเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ แล้วได้ตัดสินใจที่จะเป็นพระสงฆ์ และสวมเสื้อนักบวช หลังจากที่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1726 ท่านได้เริ่มงานของท่านท่ามกลางผู้ที่ยากจนที่สุดทันที ท่านได้เห็นความทุกข์ทรมาน และวิญญาณที่ถูกทอดทิ้งมากมายจนไม่สามารถพบความสงบสุขและพักผ่อนได้ ท่านเดินทางไปทุกแห่งที่ท่านสามารถในเมืองเล็กๆ รอบภูเขาวิสซูเวียส ตามชายฝั่งทะเลมัลฟี่    ไปยังหุบเขาอะเพนนาย ในเขตอะปูเลีย แสวงหาผู้ที่หลงทาง “เหมือนนายชุมพาบาลที่ดี” โดยการเดินทางเพื่อเทศน์สอนด้วยความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละ ท่านได้ดำเนินงานของพระคริสตเจ้าพระมหาไถ่ต่อไป
 
ความรอดของวิญญาณที่ถูกทอดทิ้ง เป็นอุดมคติของท่านเป็นจุดมุ่งหมายของพลังและสติปัญญาของท่าน เพื่อจะทำให้งานนี้เป็นที่เข้าใจเป็นตัวเป็นตนและราบรื่นขึ้น ท่านจึงมีความกระตือรือร้นที่จะเป็นธรรมทูตในด้านการเขียน ท่านเป็นนักบุญที่มีความกระตือรือร้นในการแพร่ธรรม มีการเอาใจใส่ในงานอภิบาล และมีความรักต่อศีลมหาสนิทและความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระ งานเขียนของท่านจึงเป็นขุมทรัพย์ของชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ
 
แรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันของท่าน ซึ่งได้รับพร้อมกับพระปรีชาญาณแห่งสวรรค์นั้น มีไว้สำหรับวิญญาณซึ่งเป็นสมบัติอันทรงค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนได้อย่างดี เป็นคำเชื้อเชิญที่ดึงดูดให้ทุกคนมีความสงบและดลใจให้ยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า
 
ในฐานะที่ท่านเป็นนักเขียน ท่านอัลฟอนโซ เป็นที่นิยมมากที่สุด ท่านมีงานเขียน 11 ชิ้น ทั้งสั้นและยาว งานเขียนของท่านส่วนใหญ่ได้ถูกตีพิมพ์ออกหลายครั้ง เช่น บทเฝ้าศีลมหาสนิท, สิริมงคลของแม่พระ, “ความจริงนิรันดร” “ความภักดีต่อพระคริสตเจ้า” สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ผู้ซึ่งมีความรู้ในข้อเขียนของนักบุญอัลฟอนโซอย่างลึกซึ้งได้ยกย่องหนังสือ “เครื่องมือสำคัญแห่งความรอด” ว่า “เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและให้ประโยชน์ต่อทุกคนตลอดเวลา เพราะเป็นหนังสือที่เรียบๆ และลึกซึ้ง” และหนังสือ “พระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า”     ว่าเป็น “งานเขียนชั้นสูง กินใจ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบความบรรเทาใจได้ในหนังสือเล่มนี้”
 
เกี่ยวกับคุณค่าอันถาวรและความสำคัญของงาน สมเด็จพระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ได้กล่าวว่า “ โดยพิจารณาข้อเขียนแล้ว นักบุญอัลฟอนโซมีลักษณะของชาวสวรรค์ในตัวท่าน และเสียงของท่านยังก้องอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นเสียงที่เต็มไปด้วยแรงดลใจซึ่งในสมัยของท่านดึงดูดในผู้ฟัง มีอำนาจและจุดไฟในหัวใจของพวกเขาด้วยความรักของพระเจ้า ท่านยังคงบอกเราถึงวิถีทางที่จะเทศนาข่าวดีอย่างไร ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีความรู้สูง แต่ท่านก็ไม่เคยแสดงการมีความรู้สูงของท่าน ท่านพยายามที่จะใช้คำธรรมดาๆ ในปี ค.ศ. 1748 งานชิ้นแรกเกี่ยวกับ       จริยศาสตร์ของท่าน เผยแพร่ออกมาเป็นงานซึ่งทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ได้เรียกนักบุญอัลฟอนโซว่า “เป็นนักจริยศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่” งานเขียนนี้ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้พิมพ์ซ้ำถึง 9 ครั้ง
 
ในปี ค.ศ. 1762 ท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลซานอาคาธา แห่งก๊อธ หลังจากนั้น 12 ปี ท่านต้องลาออกจากสังฆมณฑลเพราะท่านป่วยหนัก ท่านได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1839 ประกาศให้เป็นนักปราชญ์ และชื่อว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้ฟังแก้บาปและนักจริยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1950
 
นักบุญอัลฟอนโซ ยอดธรรมทูต ผู้มองการณ์ไกลได้สถาปนาคณะพระมหาไถ่ขึ้นซึ่งได้รับการรับรองโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 14 ในปีค.ศ.1794 เพื่องานชิ้นนี้จะได้ดำเนินไปชั่วลูกชั่วหลาน ท่านเองก็ได้ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่สถาบันของท่าน 
 
โดยอาศัยความพยายามของนักบุญเคลเมนต์ เมรี่ ฮอฟเบาเวอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะพระมหาไถ่คนหนึ่ง คณะได้แพร่ไปอีกฟากหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ ที่ซึ่งสาขางานใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นและกิจการต่างๆ ทางด้านธรรมทูตจึงขยายออกไปทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีสาขาอยู่ทั่วโลก
 
นักบุญอัลฟอนโซ ได้ย้ำพระวาจาของพระคริสตเจ้าต่อเพื่อนร่วมงานเสมอว่า “ข้าวที่จะเกี่ยวมีมากแต่คนงานมีน้อยอยู่ จงภาวนาขอเจ้าของนาเพื่อจะส่งคนงานมายังทุ่งนาของพระองค์” ท่านมีความสุขที่ได้เห็นอาณาเขตที่กว้างไกล ซึ่งนักบวชผู้ติดตามท่านได้ทำงานอยู่ เช่นที่ Campania, Apulia, Calabriaiscily แต่เสียงของพระอาจารย์เจ้าก็ได้เรียกร้องมากกว่านั้นอีก  “จงไปเทศน์สอนนานาชาติทั่วโลก” ธรรมทูตพระมหาไถ่จึงขยายอาณาเขตงานออกไป มิใช่เพียงเฉพาะในอิตาลีและยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงการเทศน์สั่งสอนแก่คนต่างศาสนาด้วย เมื่อนักบุญ อันฟอนโซแนะนำโครงการของท่านแก่ผู้ร่วมงานของคณะ พวกเขาก็เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีและกระตือรือร้น ท่านยังพูดกับเขาทั้งหลายด้วยว่า “จงเงยสายตาของท่านขึ้น มองไปยัง ทุ่งนาซึ่งพร้อมจะได้รับการเก็บเกี่ยวแล้ว สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเดี๋ยวนี้คือ คนงานเพื่อที่จะรวบรวมข้าวที่สุก จงไปทั่วโลกแนะนำความรอดไปสู่มวลมนุษย์” 
 
นี่เป็นจิตตารมณ์ทั้งหมดของท่านนักบุญอัลฟอนโซ เหตุผลทั้งหมดของการสถาปนาคณะขึ้นและนี่เป็นชีวิตของคณะพระมหาไถ่ด้วยการกล่าวคือ เสาะหา เข้าถึงและเอาดวงวิญญาณทุกดวงเพื่อพระเจ้า
 
ความพร้อมต่อระบบการอภิบาลแบบใหม่ๆ ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่แตกต่างออกไปของคณะพระมหาไถ่ ท่านสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นของใหม่ และนำมาประยุกต์เข้ากับชีวิตฝ่ายวิญญาณของท่าน ท่านพร้อมที่จะปรับตัวเองเข้ากับสถานการณ์ของโลกและของพระศาสนจักร
 
คณะพระมหาไถ่เป็นกำลังสำคัญของพระศาสนจักร และอยู่ในพระศาสนจักรอยู่เสมอ ด้วยความระลึกอยู่เสมอว่าพระศาสนจักรเป็น “รหัสธรรมแห่งความรอด” หนึ่งเดียวเท่านั้น ทางคณะไม่นิ่งเฉยและรอคอยแต่คำเชื้อเชิญของพระศาสนจักรในการทำงาน แต่เสาะแสวงหาวิถีทางใหม่ๆ ในงานของพระศาสนจักรที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของทางคณะเอง
 
ลักษณะอย่างหนึ่งของคณะคือการมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ของความรอด  เทวศาสตร์ของคณะไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผู้สถาปนาได้วางไว้ และได้รวมความของพระคัมภีร์ไว้ว่า “ในพระคริสต์เราได้รับความรอดบริบูรณ์” ประกอบไปด้วยการประกาศเรื่องความรักของพระเป็นเจ้าแก่ทุกคน เหมือนอย่างที่พระองค์ได้แสดงให้พระบุตรของพระองค์ทราบ ประกาศถึงพระเมตตาของพระองค์แก่ทุกคน ซึ่งถูกเรียกมาให้ได้รับความรอด
 
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ตรัสในที่ประชุมใหญ่ของคณะเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1979 รื้อฟื้นถึงจุดยืนที่ว่าวางโครงการเกี่ยวกับการอภิบาลและดำเนินงานนั้นโดยอาศัยชีวิตกลุ่มอันพร้อมที่จะเปิดเผยและให้คำแนะนำ อีกทั้งตอบสนองข้อเรียกร้องของนักบวชกลุ่มอื่นๆ เทศนาข่าวดีไม่เพียงแต่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ทั่ว  พระศาสนจักร ดังนั้น ในการกระทำจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลฝูงแกะของพระคริสตเจ้า การเทศน์สอนและกิจการที่แสดงออกจะต้องเข้ากันได้
 
ความใกล้ชิดแบบสุภาพๆ และเรียบๆ ต่อประชาชน ความรักต่อทุกคนเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคณะ “เล็กแต่ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปรารถนาที่จะนำความรอดมาสู่มวลมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองคณะพระมหาไถ่จึงมักจะไปคลุกคลีอยู่กับคนจน คนพื้นบ้านธรรมดา คนที่เหมือนว่ายังไม่อยู่ในหนทางแห่งความรอดและคนที่ไม่มีส่วนในพระศาสนจักรอย่างแท้จริง   
 
และปัจจุบันทางคณะได้ทำให้งานเป็นที่ประจักษ์อย่างขยันขันแข็ง ซึ่งทำให้คณะเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนจักร ทำให้บทบาทของงานแพร่ธรรมสมบูรณ์ไปด้วยการอุทิศเพื่อเทศนาเรื่องความรอดและเพื่องานด้านพิธีกรรม อีกทั้งงานบางอย่างบางอาชีพที่มีส่วนในงานด้านธรรมทูต พูดง่ายๆ ที่สุดคือ งานอภิบาลในเขตวัด “ซึ่งก็คือการแนะนำสัตบุรุษทางด้านจิตใจ” เป็นเครื่องมือที่จะขาดเสียมิได้ สำหรับรื้อฟื้นชีวิตคริสตชนให้เข้มแข็งขึ้น เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่การสอนคำสอน การเข้าเงียบ งานด้านสังคมพัฒนา งานธรรมทูตโดยการติดต่อกับสังคม        การแนะนำวิญญาณ กิจการดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจริยธรรมและการอภิบาล
 
ชีวิตภายในของนักบุญอัลฟอนโซ ซึ่งมีอยู่ในคณะพระมหาไถ่ สามารถจะย่อให้สั้นๆ  ได้ 2 คำว่า “ความรัก” และ “ความยำเกรง” เป็นความยำเกรงต่อพระเป็นเจ้า เป็นความรักที่เต็มไปด้วยความสุภาพและความเชื่อมั่นต่อพระเป็นเจ้าผู้เป็นบิดาแห่งความเมตตา และความรักทั้ง 2 ประการนี้จะเกิดขึ้นมิใช่เพียงแต่ต่อพระเป็นเจ้าเท่านั้นแต่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้ทำให้มีความกระตือรือร้นเพื่องานความรอดของวิญญาณ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะพระมหาไถ่นำความยินดีแห่งพระวรสาร ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของเขาไปให้ผู้อื่นด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงกลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นพยานถึงความหวัง
 
ลักษณะของชีวิตภายในแบบนี้ ได้เกิดผลดีในพระศาสนจักรและผลิตนักบุญ 4 องค์ คือ นักบุญอัลฟอนโซ ผู้ก่อตั้งคณะ นักบุญเคลเมนต์ นักบุญเยราร์ด และนักบุญยอห์น นิวแมน พระสังฆราชแห่งฟิลาเดเฟีย นอกนั้นยังมีอีกหลายท่านที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์
 
คณะพระมหาไถ่ใน 50 ประเทศทั่วโลก 
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1784 เณรชาวออสเตรเลีย 2 คน คือ เคลเมนต์และธาเดอูส ไปเรียนเทวศาสตร์ ที่กรุงโรม หลังจากที่ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยแห่งเวียนนา ซึ่งเวลานั้นได้รับอิทธิพลจากลัทธิ Illuminism และมีทรรศนะที่จะต่อต้านสมเด็จพระสันตะปาปา
 
คืนหนึ่งก่อนเข้านอน พวกเขาตัดสินใจว่า รุ่งเช้าเขาจะไปวัดใดก็ตามที่ตีระฆังก่อนเพื่อน เสียงระฆังที่เขาได้ยินมาจากโบสถ์ของนักบุญ Giuliano วัดนี้ต่อมาได้ถูกทำลายแล้วสร้างเป็นทางเข้าสถานที่ชื่อ Piazza Vittorio-Emanuele คณะพระมหาไถ่เป็นผู้ดูแลวัดนี้ เณรทั้งสองได้รับความประทับใจจากชีวิตของนักบวชเหล่านั้น และขอสมัครเข้าคณะ ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1784 ก็ได้เข้านวกสถาน ในปีต่อมาก็ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ และหลังจากนั้นก็ได้เดินทางกลับไปสร้างคณะพระมหาไถ่อยู่อีกฟากหนึ่งของภูเขาแอลป์ทันที ในปีเดียวกันนั้นเองนักบุญอัลฟอนโซ ซึ่งมีอายุ 88 ปี ได้พยากรณ์และทำนายไว้ว่าโดยอาศัยเพื่อนร่วมคณะ 2 คนนี้ คณะจะได้รับการขยับขยายไปทั่วโลก
 
และมันก็เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ  ในปัจจุบันมีนักบวชคณะพระมหาไถ่ทำงานอยู่ 50 ประเทศทั่วโลก นักบุญเคลเมนต์ ได้รับความยากลำบากเหมือนกับนักบุญอัลฟอนโซเกี่ยวกับทางด้านการเมือง แต่หลังจากความตายของท่านในปี ค.ศ.1820 คณะได้รับการยอมรับโดยถูกต้องตามกฎหมายในเขตจักรวรรดิออสเตรเลียนี้ จากนั้นก็มีกระแสเรียกมากมายและในปี ค.ศ. 1832 คณะพระมหาไถ่ชุดแรกได้ออกเดินทางไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และทำงานสำหรับประชา ชนผู้อพยพเป็นล้านๆ คน จากเยอรมัน และจากส่วนอื่นๆ ของไอร์แลนด์ด้วย กระแสเรียกแรกของสหรัฐอเมริกาคือ ยอห์น นิวแมน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ทุกวันนี้ในทวีปอเมริกาเหนือมีนักบวชคณะพระมหาไถ่ประมาณ 1,384 องค์ 
 
หลังจากการสิ้นชีวิตของนักบุญเคลเมนต์ คณะพระมหาไถ่ได้ขยายไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ โปแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์และทั่วยุโรป ในปัจจุบันมีสมาชิกของคณะที่ยุโรปประมาณ 2,972 องค์ ในจำนวนกระแสเรียกทั้งหมดแขวงโปแลนด์นำหน้ากว่าหมด คือมี  นวกชน 35 คน และพระสงฆ์ 300 องค์ แขวงนี้ปัจจุบันกำลังช่วยเหลือประเทศที่มีเพื่อนร่วมคณะไม่เพียงพอ
 
คณะพระมหาไถ่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วไปในลาตินอเมริกา ยกเว้นไกยานาทั้ง 2 เขต พวกยุโรปได้ไปตั้งกลุ่มที่นั่น และในปัจจุบันมีสมาชิกในลาตินอเมริกาประมาณ 1,280 คน ประมาณ 16-17 ประเทศ งานที่สำคัญในประเทศเหล่านี้ได้แก่ งานประจำวัดเพราะขาดแคลนพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล คณะพระมหาไถ่ดูแลวิหารใหญ่ที่มีรูปแม่พระ “Our Lady of Aparecida” ที่เป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศบราซิล และสมเด็จพระสันตะปาปาก็เคยเสด็จเยี่ยมเมื่อเดินทางไปบราซิล ในประเทศชิลีและอาร์เยนตินา มีกระแสเรียกมากมาย แขวงย่อยในประเทศบราซิลมีสมาชิก 80 คน และมีเณรที่เรียนปรัชญาและเทวศาสตร์อีก 42 คน
 
มีสมาชิกคณะพระมหาไถ่ทำงานอยู่ในเอเชียและโอเซียเนียประมาณ 801 คน ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชาชนนับถือศาสนาคาทอลิกมากที่สุดในเอเชีย เมื่อไม่นานมานี้สมเด็จพระสันตะปาปาได้เสด็จเยี่ยมงานของคณะพระมหาไถ่ก็คืออยู่ตามวัด ศูนย์กลางใหญ่ของคณะอยู่ที่ Baclaran ในกรุงมนิลา และมีรูปพระมารดานิจจานุเคราะห์ประดิษฐานอยู่และมีพิธีนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์ทุกๆ วันพุธ  โดยมีประชาชนมาร่วมพิธีประมาณ 100,000 คน
 
ในประเทศอินเดียและประเทศไทยมีกระแสเรียกมากมาย เมื่อเทียบกับเวียดนามทางคณะได้เจริญขึ้นมากในช่วง 50 ปี เมื่อกรุงไซ่ง่อนแตก พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ที่เป็นชาวเวียดนาม   มีแล้ว 175 คน ในประเทศอินเดียปัญหาความยุ่งยากอันหนึ่งคือ ภาษาพื้นบ้านที่แตกต่างกันมากมาย การเทศน์ธรรมทูตต้องใช้ถึง 8 ภาษา ในประเทศสิงคโปร์ก็มีพิธีนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์ด้วย ทำทุกวันเสาร์ โดยมีประชาชนมาร่วมพิธีประมาณ 20,000 คน ทำให้มีผู้คนกลับใจมากมายทุกๆ ปี มีคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยประมาณ 300-500 คน มาขอรับศีลล้างบาป
 
ในทวีปอัฟริกาทางคณะไม่ค่อยจะเจริญเท่าไรนัก คณะพระมหาไถ่ได้เริ่มงานที่ประเทศแซร์ ในปี ค.ศ.1899 และในสาธารณรัฐอัฟริกาใต้ในปี ค.ศ.1912 ทั้งหมดในอัฟริกามีสมาชิกประมาณ 140 คน มีชาวอัฟริกาที่ได้รับกระแสเรียกอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านเผ่า Iswana ในประเทศสาธารณรัฐอัฟริกาใต้และในประเทศซิมบับเว ในอัฟริกางานหลักของคณะคือการสอนคำสอน พร้อมทั้งความช่วยเหลือด้านสังคม ในท่ามกลางชาวมุสลิม นับเป็นการยากที่จะดำเนินชีวิตคริสตชนและเป็นนักบวชที่สมบูรณ์แบบ
 
และนี่เองเป็นผลของความพยายามซึ่งเกิดจากผู้แสวงบุญชาวออสเตรีย 2 คน ซึ่งได้ยินระฆังในเช้าวันหนึ่งของปี ค.ศ. 1784
 
 
งานดูแลวัดที่ศูนย์ใหญ่ของคณะ
มีข้อเขียนบันทึกไว้ว่า ในศตวรรษที่ 17 พระศาสนจักรได้ค้นพบประเทศใหม่เป็นเวลาหลายๆศตวรรษ ในประเทศอิตาลี พระศาสนจักรได้สนใจเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสิ่งที่เรียกร้องให้พระศาสนจักรเปลี่ยนนโยบายไปคือ ความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นจากความพยายามที่จะปกครองชาวเมืองนั้น และความตึงเครียดในสังคมชนบท ความเคลื่อนไหวนี้ได้มีขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันพระศาสนจักรได้รับความสำเร็จในการเปลี่ยนความสนใจไปยังที่ซึ่งคณะฟื้นฟูได้ทำล้มเหลว นั่นก็คือมุ่งความสนใจไปยังคนที่อยู่ตามชนบทด้วยวิธีนี้การต่อต้านและการแบ่งแยกซึ่งกันและกันระหว่างในเมืองกับชนบท จึงเกิด ขึ้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรของประเทศอิตาลี นี่เป็นข้ออ้างสำหรับผู้ที่ได้แยกตัวออกจากพระศาสนจักรในศตวรรษที่ 18 
 
ตั้งแต่นั้นมา การปกครองแบบเจ้าขุนมูลนายจึงย้ายศูนย์กลางไปสู่ชนบทและเป็นเวลาหลายศตวรรษ ซึ่งความสนใจของพระศาสนจักรในประเทศอิตาลีได้มุ่งสู่ในเมือง ขณะที่ชนบทเป็นสถานที่แพร่ธรรมแห่งแรก ที่ซึ่งผู้ไร้การศึกษาและพวกที่ถือโชคลางยังมีอยู่มาก บัดนี้ สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปลักษณะของบุคคลที่อาศัยตามอยู่ตามชนบทคือ การเชื่อถือบางสิ่งบางอย่างแบบตายตัว การถือโชคลางและความไม่เป็นภาษาด้านมรรยาทในการเข้าสังคมได้เปลี่ยนไปเป็นผู้ที่มีความศรัทธา มีความชอบธรรม ใจบุญและมีความเชื่อในพระศาสนาของบรรพบุรุษอย่างแน่นแฟ้น ประชาชนชนบท แม้ว่าจะไม่ได้รับการศึกษา แต่ก็มีความซาบซึ้งมากกว่าบุคคลที่อยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมและได้รับคำสอนแบบใหม่ๆ ซึ่งมาจากอีกฟากหนึ่งของภูเขาแอลป์ อุปกรณ์ที่พระศาสนจักรใช้ในการดึงชาวชนบทเข้ามาคืองานประจำวัดและงานเทศน์ธรรมทูต
 
พฤติการณ์เกี่ยวกับทัศนะใหม่ของพระศาสนจักร ในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อชาวชนบทนั่นคือ ในปี ค.ศ.1652 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 10 ประกาศยกเลิกอารามคอนแวนต์ 1,513 แห่ง ซึ่งมากตั้งอยู่นอกเมืองตอนนั้นในประเทศอิตาลีมีบ้านนักบวชอยู่ 6,238 แห่ง ในเวลาเดียวกันก็ยกเลิกบ้านนักบวชซึ่งขึ้นตรงต่ออารามฤาษี 805 แห่ง เหตุผลเป็นทางการที่ต้องทำดังนี้ เพื่อลบล้างความหย่อนยานทางระเบียบวินัยที่พบในบ้านนักบวช ซึ่งมีสมาชิกไม่เพียงพอเป็นความหย่อนยานอันทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน สถานการณ์เลวร้ายจนถึงกับว่าวันหนึ่ง มูราโตรีเขียนไว้ว่า “ไม่เพียงแต่หมู่บ้านใหญ่ๆ แต่รวมทั้งบ้านพักตากอากาศเล็กๆ ในประเทศอิตาลี นักบวชได้ใช้ในสถานที่เหล่านี้สำเริง สำราญในความเกียจคร้านของตนและก่อให้เกิดความสะดุดให้แก่คนอื่น”
 
จำนวนเงินที่ได้มาจากการล้มล้างอารามต่างๆ เหล่านั้น เอามาใช้เพื่อสร้างและขยายบ้านเณรของสังฆมณฑล และสร้างวัดใหม่ ผู้ที่รับผิดชอบในการขายบ้านนักบวชได้ทำผิดพลาดมากจึงมีปัญหาความยุ่งยากใหญ่โตอันใหม่เกิดขึ้นผลที่ได้รับส่วนมากอยู่ในทางลบ การอภิบาลวิญญาณในชนบทก็ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาจักรเนเปิลส์ ดังตัวอย่างเช่นในCalabria มีบ้านนักบวชชายอยู่ 660 หลังตั้งอยู่ใน 326 แห่งถูกตัดออก 327 หลัง อาศรมฤษีถูกตัดออก 24 หลัง จากที่มีอยู่ 82 หลัง อารามถูกปิด 285 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 550 แห่ง
 
แต่ก่อนที่จะปิดบ้านนักบวชดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในชนบทไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ บัดนี้พวกเขาถูกทอดทิ้งจริงๆ วัดที่ยังเหลืออยู่ในภาคใต้ไม่ได้รับการเยี่ยมเยียนจากพระสงฆ์ เพราะเขาไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ ซึ่งมีเพิ่มเติมอีกมากมายและยากที่จะสร้างวัดใหม่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่า พวกธรรมทูตจึงหันความสนใจไปสู่ประชาชนในชนบทผู้ซึ่งมีความต้องการทางศาสนาและทางสังคมมากที่สุด
 
 
ขณะที่กำลังรอคอยพระศาสนจักร ที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อรวมชาวชนบทให้เป็นปึกแผ่นโดยการตั้งข่ายงานทางด้านวัดใหม่ และตระเตรียมพระสงฆ์ผู้ซึ่งพร้อมจะรับผิดชอบต่องานอภิบาล และพร้อมที่จะทำหน้าที่อภิบาลให้มีจำนวนเพียงพอและทำบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงลงไป นักบุญอัลฟอนโซ ผู้ซึ่งมีความเข้าใจถึงความจำเป็นในความช่วยเหลือของประชาชนที่อยู่ในเมือง ซึ่งท่านเห็นที่เมืองเนเปิลส์นั้น จึงได้เลือกที่จะทำบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงลงไป และท่านไม่ลังเลใจที่จะสนใจชาวชนบท ท่านต้องการที่จะสร้างบ้านขึ้นนอกเมืองและต้องการให้ลูกวิญญาณของท่านอภิบาลวิญญาณที่อยู่ในเขตอาราม เขาจะต้องไม่รับงานประจำ เพื่อจะโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นซึ่งมีงานธรรมทูตมากกว่าได้ง่ายขึ้น
 
งานธรรมทูตนั้นเป็นงานสำคัญของคณะพระมหาไถ่ และถือเป็นธรรมเนียมอันยาวนานมาในพระศาสนจักร ถึงแม้ว่าในศตวรรษที่ 17 ได้มีโครงการอันถาวรที่จะอภิบาลสัตบุรุษแล้ว  แต่วิธีการทางด้านธรรมทูตยังไม่จะจัดอย่างมีมาตรฐาน  จากงานธรรมทูตหลายประเภท เราจะรวมความได้เป็น 2 ชนิด คือ
 
1.งานสอนคำสอนส่วนมากอยู่ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นข้อความเชื่อที่สำคัญแก่ประชาชนและจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งนั้นยาวนานกว่าปกติ
 
2. การเทศน์อบรมจิตใจซึ่งมีแพร่หลายในสเปน เมื่อสเปนมีอำนาจเหนืออาณาจักรเนเปิล งานด้านนี้พร้อมกับการพลีกรรมบางอย่างได้แพร่หลาย ไปยังภาคใต้ของประเทศอิตาลีและที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ มีการเน้นในด้านจริยธรรมเป็นพิเศษและโดยไม่ละเลยต่อวิธีการแบบสอนคำสอนก่อให้เกิดผลที่เห็นได้ชัดภายนอกมีคนเป็นทุกข์ถึงบาปและกลับใจมาก โครงการธรรมทูตเช่นนี้ เป็นงานที่จะต้องมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษและมีผลในการยืดช่วงเวลาในงานธรรมทูตด้วย
 
นักบุญอัลฟอนโซได้ศึกษางานทั้ง 2 ประเภทนี้อย่างจริงจัง และพยายามที่จะทำให้ผสมกลมกลืนกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดท่านพยายามที่จะเสาะหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการด้านวิญญาณของประชาชนตามที่คุณพ่ออันโตนีโอทาโนยา ซึ่งเป็นผู้เขียนประวัตินักบุญอัลฟอนโซเป็นคนแรก เมื่อครั้งที่นักบุญอัลฟอนโซ ส่งนักบุญเคลเมนต์ไปยังอีกฟากหนึ่งของภูเขาแอลป์ ท่านได้แนะนำให้ดัดแปลงวิธีการต่างๆ ในด้านธรรมทูตให้เข้ากับความจำเป็นของประชาชน ท่านกล่าวว่าในประเทศเหล่านั้นในท่ามกลางพวกเขา Lutherans และพวก Calvinists คำแนะนำไปในแนวสอนคำสอนสำคัญกว่าการเทศน์ ความเข้าใจในด้านคำสอนต้องมาก่อนและต่อไปให้ประชาชนรู้จักเป็นทุกข์ถึงบาปของตนเอง
 
การเทศน์ธรรมทูตของนักบุญอัลฟอนโซ จะถือเป็นแบบอย่างก็ได้ ท่านจะดัดแปลงบทเทศน์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ผู้ฟังอาศัยอยู่กับความต้องการทางด้านอภิบาลของพวกเขา บทเทศน์ของท่านมีพื้นฐาน 3 ประการ คือ มีสารทางด้านเทวศาสตร์เป็นแบบง่ายๆ ต่อการเข้าใจและส่งเสริมศีลธรรมที่มีอยู่ ข้อเขียนทั้งหมดของท่านนักบุญอัลฟอนโซ มีสาระสำคัญอยู่ใน 3 ประการนี้ นักเขียนและนักเทศน์คณะพระมหาไถ่ในสมัยต่อๆ มาก็พยายามที่จะเลียนแบบท่าน ในด้านข้อเขียนของท่านพร้อมกับคำแนะนำบรรดานักบวชเกี่ยวกับงานธรรมทูตที่เหมาะสม และงานธรรมทูตที่ต่างประเทศทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นข้อเขียนชั้นเยี่ยมของคณะ เช่นเทศน์พระวาจาโดยอาศัยงานเทศน์ธรรมทูตตามวัด ทำให้คณะพระมหาไถ่เป็นคนของประชาชนถือปฎิญาณที่จะทำงานเพื่อความรอดของประชาชน นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับเราผู้เป็นลูกของนักบุญอัลฟอนโซ ซึ่งได้รับขนานนามว่า “ปราชญ์ผู้มีความกระตือรือร้นที่สุด”
 
นักบุญอัลฟอลโซ ผู้สอนจริยศาสตร์
เมื่อท่านมรณะในปี ค.ศ.1787 ดูเหมือนว่าเทวศาสตร์ทางด้านจริยธรรมได้ตายพร้อมกับท่านด้วย เพราะเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ที่ท่านได้เป็นคนสำคัญในด้าน “การโต้แย้ง” ดังที่ท่านเองได้แสดงไว้เมื่อท่านเขียนจดหมายไปหาสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 14 เกี่ยวกับการออกกฎหมายในสถานการณ์ที่เป็นจริงในการตัดสินมโนธรรมโดยไม่เข้มงวดเกินไปหรือหย่อนยานเกินไป
 
นักบุญอัลฟอนโซ ฐานะเป็นผู้อภิบาลวิญญาณที่กระตือรือร้นและเข้าใจงานได้พูดว่า   “ความจริงแห่งความรอดเป็นสิ่งซึ่งเห็นได้ชัดในพระวรสาร” ซึ่งพยายามที่จะพัฒนามนุษย์และ คริสตชนให้เจริญเติบโต แต่สิ่งนี้จะต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามความเหมาะสมของบุคคล ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านมีความสนใจงานอภิบาลตามสภาพของบุคคล ดังนั้น ท่านจึงชนะใจคน ท่านได้เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยไม่ยึดเอาแนวความคิดซึ่งมีอยู่มากมายหลายอย่างในเวลานั้น แต่ยึดเอาความคิดของ นักบุญโทมัส เป็นหลัก
 
ความรอบคอบหรือปรีชาญาณซึ่งนักจริยศาสตร์ได้ลืมไปและยังคงลืมอยู่ เนื่องจากการถกเถียงกันอย่างไร้จุดหมายโดยไม่ยึดเอาหลักจริยธรรมเข้าช่วย เพราะเหตุนี้นักบุญอัลฟอนโซ จึงเริ่มงานฟื้นฟูเกี่ยวกับเทวศาสตร์ด้านจริยธรรม โดยเริ่มจากตัวบุคคลอย่างฉลาด ดังนั้น ท่านจึงดูแตกต่างจากนักเทวศาสตร์อื่น
 
ความสนใจในตัวบุคคลแบบนี้ของท่านนักบุญอัลฟอนโซมีกำเนิดมาจาก 2 สิ่ง คือ
1. จากความใกล้ชิดเป็นกันเองระหว่างท่านกับพระคริสต์ผู้ช่วยให้รอด
2. จากสามัญสำนึกซึ่งท่านได้รับจากการร่วมสังสรรค์ติดต่อกับคนอื่น สามัญสำนึกนี้ซึ่งท่านได้เคยแบ่งปันกับเพื่อนชาวเมืองเนเปิลส์ ผู้ซึ่งเคยติดต่อกันแบบนักกฎหมายและต่อมาเป็นพระสงฆ์ด้วยกัน เชื้อเชิญให้ท่านแยกตัวออกจากพวกพ้องซึ่งยังความไม่พอใจให้แก่บิดาผู้ซึ่งมีอำนาจสูงในอาณาจักรเนเปิลส์เป็นอย่างมาก
 
ผู้มีความรู้เกี่ยวกับเมืองเนเปิลส์ในศตวรรษที่ 17-18 อย่างกว้างขวางและก็เป็นพระสงฆ์ด้วย ได้บอกข้าพเจ้าว่า อัลฟอลโซ ไม่ใช่บุคคลที่เจนจัดในด้านความประพฤติเพราะท่านใช้กฎต่างๆ เป็นการแก้ปัญหา ท่านไม่ได้ใช้ระบบต่างๆ เป็นเครื่องชี้ทางแต่โดยพยายามที่จะเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง ความจริงแล้วงานชิ้นแรกของนักบุญอัลฟอนโซในฐานะที่เป็นนักจริยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1746 คือ “ความผิดในการสาปแช่งผู้ตาย” ได้หลักมาจากการสังเกตทัศนะในด้านมโนธรรมของประชาชน ซึ่งเป็นแบบเรียบๆ ง่ายๆ ไม่ใช่ได้รับมาจากการอ่านหนังสือ     ซึ่งบ่อยครั้งแสดงเป็นผู้คงแก่เรียนเพื่อที่จะปกปิดการขาดความสามารถของตนที่จะคิด อย่างไรก็ตาม อัลฟอนโซก็เป็นนักอ่านตัวยงด้วยเช่นกัน
 
คำสอนของท่านเกี่ยวกับมโนธรรมของมนุษย์ ยึดหลักคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้าพระมหาไถ่และแสดงถึงความสนใจในด้านงานอภิบาล เมื่อท่านนักบุญจบชีวิตลงคำสอนของท่านถูกโจมตีจากผู้ที่เข้มงวดทั้งหลายและเกือบจะถูกทำลาย แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจึงมีอำนาจเหนือกว่าในพระศาสนจักร ผู้อภิบาลวิญญาณทั้งหลายโดยเฉพาะในแถบภาคเหนืออิตาลีและฝรั่งเศสได้ยึดเอาข้อคำสอนของท่านเป็นหลัก บุคคลเหล่านี้ เช่น Lanteri, Diesbach,  Guala St.Joseph Cafasso,  Blessed Mazenod, St.Centony Gianelli etc Leon Gauthier พูดว่า หนังสือของนักบุญอัลฟอนโซ แนะนำวิธีง่ายๆ เพื่อให้สัตบุรุษไปแก้บาปและเป็นทุกข์กลับใจ “ข้อคำสอนของท่านนำรอยยิ้มมา แทนที่จะนำความขัดเคืองมาให้เป็นรูปแบบของบิดาแทนที่จะเป็นอย่างอื่น” 
 
จากเหตุผลทั้งหมดนี้ นักบุญอัลฟอนโซจึงออกมาสู่โลกในศตวรรษที่ 19 ในฐานะที่เป็นครูสอนจริยธรรมและชีวิตภายใน และมีผู้นิยมชมชอบมาก สิ่งเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ทุกวันนี้ด้วยจิตตารมณ์นี้ คณะพระมหาไถ่ได้ทำงานและยังคงอยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 250 ปี เพราะคณะถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1732 ด้วยความช่วยเหลือและกำลังใจจากเพื่อนร่วมชาติของท่านเองคือ ซิสเตอร์ เซเลสเต ครอสตาโรซา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่บรรลุญาณชั้นสูงและมีความเฉลียวฉลาดอย่างลึก ซึ้งแต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักท่าน
 
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า จากการพิมพ์ข้อความด้านเทวศาสตร์ของนักบุญอัลฟอนโซ เป็นเวลาหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เทวศาสตร์ของท่านถูกตัดทอนลงตามระบบเช่นเดียวกับจริยธรรมอื่นๆ ด้วยเหตุผลนี้ความคิดของท่านจึงไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีความจริงอยู่บ้างในการจัดระบบเช่นนี้และความคิดของท่านทั้งหมดไปไกลกว่าระบบที่มีอยู่ความจริงของจริยธรรมนั้นเป็น “ความจริงแห่งความรอดของพระคริสตเจ้า” สิ่งเหล่านี้เป็นศูนย์กลางและทำให้ประชาชนเข้าใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามากยิ่งขึ้นเทวศาสตร์ด้านจริยธรรมคือการศึกษาด้านจริยธรรมเป็นการกลับคืนดีกับพระคริสตเจ้าของแต่ละบุคคล บุคคลผู้ซึ่งแสดงการเป็นผู้คงแก่เรียนทางด้านจริยธรรม จะจบท้ายลงด้วยการทำลายตัวมันเอง ข้อเขียนของนักบุญอัลฟอนโซ ซึ่งเข้าใจถึงกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ได้ยึดการกลับใจมาหาพระคริสตเจ้าเป็นสำคัญด้วยหลักการ 2 อย่างที่ควบคู่กันไปคือ การเรียนรู้และนำไปสู่ภาคปฏิบัติและสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของคณะพระมหาไถ่
 
การนำจิตตารมณ์และทัศนะอันกว้างไกลของนักบุญอัลฟอนโซไปสู่โลกในปัจจุบัน คณะพระมหาไถ่ได้ตั้ง Alphonsian Academy ขึ้นที่โรม เพื่อศึกษาเทวศาสตร์ด้านจริยธรรมชั้นสูงโดยเริ่มในปี ค.ศ.1949 และในปี ค.ศ.1960 คณะเทวศาสตร์ได้รวมเข้าเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย Pontifical Lateran University ให้ปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเทวศาสตร์แด่ผู้ที่จบการศึกษาด้วย มีนักศึกษาที่จบไปแล้ว 2,161 คน 
 
คณะสงฆ์พระมหาไถ่ในประเทศไทย
การแพร่ธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเริ่มปี ค.ศ.1881 ในปี ค.ศ.1899 ก็แยกตัวออกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นสังฆมณฑลเชียงใหม่ ขนานนามว่า “มิสซังลาว” มีอาณาบริเวณตลอดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ศูนย์กลางของสังฆมณฑลอยู่ที่วัดนักบุญอันนา หนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พระสังฆราชที่เคยปกครอง คือ พระสังฆราชยวงมารี กืออาส, พระสังฆราชอังย์มารี แกวง, พระสังฆราชโทมินและพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ 
 
 
คณะพระมหาไถ่เข้ามาในประเทศไทย
ปี ค.ศ. 1936 แขวงเวียงจันทร์และหลวงพระบางแยกออกเป็นสังฆมณฑลต่างหาก ฝั่งซ้ายที่เหลือยังรวมอยู่กับ “มิสซังลาว” หรือ “มิสซังหนองแสง” ปี ค.ศ. 1941 พระสังฆราชโทมิน พระสังฆราชแห่งมิสซังลาวเล็งเห็นว่า “ข้าวในนามีมากแต่คนงานมีน้อย” ได้เขียนติดต่อเจ้าคณะพระมหาไถ่ที่กรุงโรม ขอพระสงฆ์ธรรมทูตมาช่วยแพร่ธรรมในเขตมิสซังลาว เจ้าคณะที่กรุงโรมให้ติดต่อคุณพ่อโทมัส พามเมอร์ เจ้าคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งแขวงเซนต์หลุยส์ การติดต่อระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองจึงได้มีขึ้น
 
คุณพ่อพามเมอร์และที่ปรึกษาตัดสินใจรับงานของพระศาสนจักรชิ้นใหม่ ส่งพระสงฆ์หนุ่มสององค์เข้ามหาวิทยาลัยคาทอลิกในกรุงวอชิงตัน เรียนการปฐมพยาบาลขั้นต้นและยาเป็นการเตรียมตัว แต่สงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย ประเทศไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาโดยปริยาย การส่งธรรมทูตของคณะพระมหาไถ่ จากแขวงเซนต์หลุยส์จึงต้องชะงักไม่มีกำหนด
 
ปี ค.ศ. 1947 คุณพ่อฟรังซิส เฟ เกน เจ้าคณะคนใหม่ของแขวงเซนต์หลุยส์ ต่อจากคุณพ่อพามเมอร์ได้เข้าร่วมประชุมครั้งใหญ่ของคณะที่กรุงโรม เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลงผู้แทนของคณะจากที่ต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา  สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสกับ คุณพ่อเฟเกน ว่า พระคาร์ดินัลผู้ดูแลกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อต้องการพบ วันรุ่งขึ้นคุณพ่อเฟเกนต้องประหลาดใจเมื่อพระคาร์ดินัลถามขึ้นว่า “ทำไมท่านไม่ปฏิบัติตามที่ได้สัญญาจะส่งธรรมทูตไปประเทศไทย” ความจริงคุณพ่อเฟเกน ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ท่านได้ตกลงจะส่งธรรมทูต 4 องค์ ที่อยู่ใต้การปกครองของท่านมาประเทศไทยเร็วที่สุด
 
ครั้นกลับจากการประชุมคุณพ่อเฟเกน ได้ค้นดูเอกสารต่างๆ ที่พระสังฆราชโทมิน ได้ติดต่อกับคุณพ่อพามเมอร์ เจ้าคณะแขวงคนก่อน พบว่าเอกสารเหล่านั้นเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเข้าใจว่าฝรั่งเศสมีอิทธิพลเหนือประเทศไทย จึงตัดสินใจเลือกพระสงฆ์ที่มีชื่อคล้ายคนฝรั่งเศสหรือมิฉะนั้นก็พูดภาษาฝรั่งเศสได้ เป็นธรรมทูตพวกแรกมาประเทศไทย ภายหลังจึงพบความจริงว่าหาได้เป็นไปตามที่เข้าใจไม่ ในระหว่างนี้ได้มีการติดต่อระหว่างคุณพ่อเฟเกน กับพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ผู้สืบตำแหน่งพระสังฆราชมิสซังลาว ต่อจากพระสังฆราชโทมิน พระสังฆราชได้ย้ำถึงความต้องการธรรมทูตในสังฆมณฑลของท่านอีกครั้ง
 
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1948 ธรรมทูตคณะพระมหาไถ่ 4 องค์ คือ คุณพ่อคลาเรนส์ ดูฮาร์ต, คุณพ่อโรเยอร์ ก้อดเบาท์, คุณพ่อโรเบิร์ท ลาริวิแวร์ และคุณพ่อเอ็ดเวิร์ด เคน ได้ออกเดินทางจากท่าเรือซานฟานซิสโก โดยเรือโดยสารมุ่งสู่แดนสยามดินแดนที่ทั้งสี่ไม่นึกฝันว่าจะเป็นผู้ได้รับเลือกให้ทำงานของพระเจ้าที่นั่น
 
ในปี ค.ศ.1948 ล่องน้ำไม่ลึกพอที่เรือเดินสมุทรจะเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ฉะนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 เรือสินค้าที่คณะธรรมทูตโดยสารมาได้เข้าเทียบท่าที่เกาะสีชัง ทันทีที่ขึ้นบกธรรมทูตทั้งสี่ก็มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ พบคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ที่ปรึกษาของพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ รออยู่แล้ว พักที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดเตรียมข้าวของต่างๆ ให้เรียบร้อยอยู่ 2 อาทิตย์ จากนั้นทั้ง 4 พร้อมด้วย คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล นั่งรถไฟไปที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ววกกลับมาที่ท่าแร่ ศูนย์กลางของสังฆมณฑล ในเวลาไม่นานต่อมาด้วยรถยนต์ 
 
ชีวิตนักเรียนได้เริ่มต้นอีกครั้ง ภาษาเป็นสิ่งที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องสามารถสนทนา คณะธรรมทูตตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี จึงได้เริ่มเรียนภาษาไทยกับครูซึ่งพระสังฆราชเกลาดีอุส   บาเยต์ ได้เตรียมไว้ หนึ่งในครูเหล่านั้น คือ คุณพ่อเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ต่อมา 11 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของสังฆมณฑลท่าแร่ 
 
จุดเริ่มต้น
บ้านช้างมิ่ง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นจุดเริ่มต้นเผยพระวจนแห่งพระเจ้าของธรรมทูตต่างถิ่นทั้งสี่ เป็นหมู่บ้านคาทอลิกค่อนข้างจะห่างไกลความเจริญ มีหมู่บ้านคาทอลิกใหญ่บ้างน้อยบ้างอยู่ใกล้เคียง เช่น หมู่บ้านหนองเดิ่น, ดอนม่วย, นาคำ, ดอนดู่, นาจาน, น้ำบุ่น หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น ธรรมทูตทั้งสี่จึงตกลงตั้งหมู่บ้านช้างมิ่งเป็นศูนย์กลางของคณะพระมหาไถ่แห่งแรกในประเทศไทย
 
การคมนาคมและถนนหนทางเมื่อครั้งกระโน้นไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันนี้ การติดต่อไปมาระหว่างหมู่บ้านต้องเดินบ้างขี่ม้าบ้าง นี่คือพาหนะที่พระสงฆ์ธรรมทูตใช้ในการไปทำมิสซา สอนคำสอน และเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามหมู่บ้านต่างๆ แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่จิตตารมณ์ของนักบุญอัลฟอนโซ ที่ว่า “ เสาะแสวงหา เข้าถึง และเอาวิญญาณทุกดวงเพื่อพระเจ้า” ฝังอยู่ในจิตใจคณะธรรมทูต
 
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 คุณพ่อชาลส์ โกแตนท์ คุณพ่อจอห์น ไดย์ ได้เดินทางมาสมทบเป็นรุ่นที่ 2 ได้ดูแลและช่วยงานในเขตช้างต่อไป เดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันนี้ คุณพ่อดูฮาร์ต หัวหน้าและอธิการของกลุ่มธรรมทูตได้ส่ง คุณพ่อก้อดเบาท์และคุณพ่อโกแตนท์เข้ากรุงเทพฯ ตามคำเรียกร้องของพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง เพื่อหาทำเลก่อตั้งบ้านของคณะและดูแลสัตบุรุษชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากบ้าง, ท่องเที่ยวบ้าง, มากับเรือสินค้าเรือรบต่างๆ บ้าง คุณพ่อทั้งสองได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์เลิศ ศรีจันทร์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ซอยมายเลิศเป็นบ้านพักชั่วคราวและใช้โรงรถเป็นวัดชั่วคราวเช่นกัน วัดหลังเล็กนี้ได้ชื่อภายหลังว่าวัด  “ แม่พระโรงรถ” 
 
ขณะเดียวกันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ ได้ขอร้องคณะพระมหาไถ่รับผิดชอบและดูแลหมู่บ้านคริสตังค์กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น หมู่บ้านห้วยเซือม, ห้วยเล็บมือ, ในจังหวัดหนองคาย บ้านโพนสูง ในจังหวัดอุดรธานี บ้านท่าบมในจังหวัดเลย เป็นต้น ผู้นำทางสู่หมู่บ้านใหม่เหล่านี้คือ คุณพ่อคาร โสรินทร์ ท่านเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบบริเวณส่วนใหญ่ของเขตนี้
 
วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 มิสซังลาวหรือมิสซังหนองแสงเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแร่” ปกครองเฉพาะ 15 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางฝั่งซ้ายกลายเป็นสังฆมณฑล   “ท่าแขก” พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ เป็นประมุขสังฆมณฑลท่าแร่
 
ปี ค.ศ. 1951 คุณพ่อวิลเฟรด เลารี่ และคุณพ่อเคร็สตัน สมิธได้เดินทางมาร่วมงานเป็นกำลังเพิ่มขึ้น ปีต่อมาคุณพ่อโรเบิร์ท มาร์ติน และคุณพ่อฟรังซิส โกโตร มาสมทบเป็นรุ่นที่ 4 
 
คณะรับผิดชอบสังฆมณฑลอุดรธานี
วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 มีประกาศแยกสังฆมณฑลท่าแร่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ท่าแร่, อุดรธานีและอุบลราชธานี กรุงโรมมอบให้คณะพระมหาไถ่เข้าดูแลเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย และจังหวัดหนองคาย คุณพ่อดูฮาร์ต  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขรักษาตำแหน่งพระสังฆรักษ์ มีสิทธิเทียบเท่าพระสังฆราช ฉะนั้น จึงจำต้องลาออกตำแหน่งอธิการของคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย คุณพ่อโกแตนท์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการของคณะแทน ปีเดียวกันนี้เอง  บราเดอร์เควิน เพาเวอร์ ได้มาร่วมงานเป็นบราเดอร์คณะพระมหาไถ่คนแรกที่เหยียบย่างเข้ามาในประเทศไทย 
 
ช่วงที่แยกใหม่ๆ นั้นเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี มีหมู่บ้านคริสตังค์และวัดน้อยมาก ในตัวเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของแต่ละจังหวัดไม่มีวัดและที่ดินของวัดเลย จังหวัดขอนแก่นไม่มีวี่แววหมู่บ้านคริสตังค์ปรากฏ จังหวัดเลยมีหมู่บ้านคริสตังค์พร้อมวัดเล็กๆ หลังหนึ่งคือ บ้านท่าบม ในจังหวัดอุดรธานีมีวัดและคริสตังค์ ที่บ้านโพนสูงสวัสดีเท่านั้น จังหวัดหนองคายมีหมู่บ้านคริสตังค์มากที่สุดคือ ที่บ้านเวียงคุก บ้านห้วยเซือม และบ้านห้วยเล็บมือ หมู่บ้านทั้งสามตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง การเดินทางของพระสงฆ์ธรรมทูตขณะนั้นจึงสะดวกที่สุดด้วยทางเรือ
 
แม้คณะจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลท่าแร่ก็ตาม ระหว่างนี้ทางคณะยังยึดบ้านช้างมิ่งอยู่ในเขตสังฆมณฑลท่าแร่เป็นศูนย์กลางของคณะต่อไป
 
การขยายตัวของคณะ
ระหว่างปี ค.ศ.1953-1960 คณะพระมหาไถ่ในประเทศไทยได้ขยายตัวทั้งในด้านสมาชิกและวงงานด้านอภิบาลสัตบุรุษ ช่วงนี้มีสงฆ์ธรรมทูตจากแขวงเซนต์หลุยส์และโอกแลนด์ เข้ามาสมทบบุกเบิกพระศาสนจักรในเมืองไทยถึง 14 องค์ คิดเฉลี่ยแล้วมีพระสงฆ์ธรรมทูตคณะพระมหาไถ่เข้ามาปีละ 2 องค์
 
งานด้านอภิบาลสัตบุรุษเริ่มขยายตัวและมั่นคงยิ่งขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1953 คุณพ่อก้อดเบาท์ และคุณพ่อโกแตนท์ ซึ่งได้เช่าบ้านเพื่องานของพระศาสนจักรในกรุงเทพฯ ได้ซื้อที่ดินในซอยร่วมฤดี เพื่อสร้างวัดในปีต่อมาด้วยคำแนะนำจาก พระคาร์ดินัล สเท็ลแมน และพระสังฆ ราชพูลตัน ชีน วัดพระมหาไถ่ถูกสร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบไทย แบบโบสถ์พุทธศาสนาเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างลักษณะนี้ จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากบรรดาพระสงฆ์ นักบวช สัตบุรุษและผู้นับถือศาสนาอื่น แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ว่าวัดพระมหาไถ่เป็นวัดที่สวยสง่างามวัดหนึ่งในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับของสัตบุรุษทั้งไทยและต่างประเทศ
 
ทางเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี สมาชิกธรรมทูตคณะพระมหาไถ่มีมากเพิ่มขึ้น บริเวณและหมู่บ้านที่ต้องอภิบาลสัตบุรุษขยายกว้างออกไป ปีค.ศ.1956 คณะได้ตัดสินใจย้ายศูนย์ กลางจากบ้านช้างมิ่งไปที่บ้านเวียงคุก จังหวัดหนองคาย คืนบ้านช้างมิ่งและหมู่บ้านใกล้เคียงให้อยู่ในความดูแลของสังฆมณฑลท่าแร่
 
ปี ค.ศ. 1957 คริสตังค์หลายครอบครัวอาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพในตัวเมืองหนองคาย เป็นผลให้คณะธรรมทูตเช่าบ้านที่ตัวเมืองเป็นบ้านพักบ้านและวัดชั่วคราว ต้นปี ค.ศ. 1958 ความฝันของคณะพระมหาไถ่ที่จะมีศูนย์กลางในตัวเมืองหนองคายได้กลายเป็นความจริง ฉะนั้นศูนย์กลางของคณะต้องโยกย้ายอีกครั้งหนึ่ง จากเวียงคุกเข้าสู่หนองคาย
 
ความร้อนรนในการเผยแพร่พระศาสนามิได้นิ่งอยู่กับที่แต่เป็นแรงลี้ลับที่ผลักดัน ปี ค.ศ. 1958 คณะธรรมทูต 4 องค์ คุณพ่อสมิธ คุณพ่อโกแตนท์ คุณพ่อโกโตร และคุณพ่อแทรวิส  มุ่งบุกเบิกงานแพร่ธรรมที่จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเริ่มต้นในจังหวัดนี้ ต้องสู้กับความลำบากและต้องอดทนที่พักอาศัยต้องเช่าเขาอยู่ อาศัยบ้านคริสตังค์ที่มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนเป็นที่ถวายมิสซา พระอวยพร คริสตังค์มีเพิ่มมากขึ้น ปี ค.ศ. 1962 คณะได้สร้างศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองขอนแก่นเอง
 
เริ่มต้นคือการสร้างอนาคต คณะพระมหาไถ่มิได้นิ่งเฉยที่จะผลิตพระสงฆ์ไทย จากปี ค.ศ.1953 มีเด็กหนุ่มหลายคนสมัครเข้าเป็นเณรในคณะถือว่าพระอวยพร คณะฝากผู้สมัครเข้าเรียนโรงเรียนดาราสมุทรศรีราชา และโรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ เพราะยังไม่มีบ้านเณรของตนเอง หนึ่งในผู้สมัครกลุ่มแรก คือ พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกในคณะพระมหาไถ่ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี ในปี ค.ศ. 1975
 
ปี ค.ศ. 1959 ด้วยการนำของคุณพ่อมาร์ติน อธิการเณรคนแรกได้เช่าบ้านที่ชายหาดในอำเภอศรีราชาหลังหนึ่งเป็นบ้านเณรแบบหอพัก บรรดาเณรไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาตอนเช้าไปเย็นกลับ
 
พระสงฆ์ไทยในคณะเพิ่มขึ้น (1961-1982)
 
ในช่วง ปี ค.ศ. 1962-1966 มีธรรมทูตเพิ่มอีก 10 องค์ คือ คุณพ่อเรย์ เบรนนัน, คุณพ่อวีระพงษ์ (1961), คุณพ่อริชาร์ด สตร้าส, คุณพ่อบิลลี่ ไรท์ (1962), คุณพ่ออี. มิลเลอร์, คุณพ่อเอ้ดดี้ โอคอนเนอร์ (1963), คุณพ่ออานนท์ (1964), คุณพ่อแลรี่ แพทติน (1965), คุณพ่อไมเกิ้ล เช่ และ   คุณพ่อชาย ขันทะโฮม (1966) สามในสิบองค์นี้เป็นพระสงฆ์ไทย
 
ปี ค.ศ. 1962 ด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทางคณะ คุณพ่อมาร์ตินอธิการเณรได้ซื้อที่ดินเชิงเขาฉลากในศรีราชาและได้สร้างบ้านเณรถาวร เมื่อต้นปีการศึกษา ค.ศ. 1963 เณรเล็กของคณะได้ย้ายตัวเองจากบ้านเช่าชายหาดสู้บ้านเชิงเขา แต่ยังไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญตามเดิม
 
ระหว่างปี ค.ศ.1966 ถึงปี ค.ศ.1974 อันเป็นปีสุดท้ายที่คณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ส่งคุณพ่อมาช่วยงานที่เมืองไทย คณะพระมหาไถ่ได้สมาชิกพระสงฆ์ไทยเพิ่มขึ้นอีก 6 ท่าน
 
ในปี ค.ศ.1974 คณะได้ตัดสินใจโยกย้ายเณรของคณะที่จบหลักสูตรจากบ้านเณรเล็กมาเรียนต่อปริญญาตรีปรัชญาและเทวศาสตร์ ร่วมกับเณรของสังฆมณฑลต่างๆ ในประเทศไทยที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรม ก่อนนั้นส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณพ่อกริฟฟิต เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้านเณรใหญ่ของคณะขึ้นที่สามพราน
 
ปี ค.ศ.1975 คณะพระมหาไถ่จึงมีศูนย์กลางในการทำงานหรือบ้านของคณะเพิ่มอีกหนึ่งแห่งเป็น 5 แห่งคือ กรุงเทพฯ หนองคาย ขอนแก่น ศรีราชา และสามพราน นับแต่ปี ค.ศ.1976 จนถึงปี ค.ศ.1980 ทางคณะได้สมาชิกพระสงฆ์ไทยเพิ่มขึ้นอีก 14 ท่าน      
 
บ้านนักบุญยอห์น นอยมันน์
ตู้ ป.ณ. 45 มีนบุรี  กรุงเทพมหานคร 10510 โทร. 02-518-0320 ต่อ 208
 
สามเณราลัยพระมารดานิจจานุเคราะห์
ตู้ ป.ณ. 4 อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี 20110  
โทร. 038-321-992, 038-311-246  โทรสาร. 038-312-362
 
ศูนย์พระมหาไถ่แห่งประเทศไทย  บ้านนักบุญเคลเมนท์
ตู้ ป.ณ. 6 ถนนสุขุมวิท พัทยา จังหวัดชลบุรี  20260
โทร. 038-428-923, 038-422-290 ถึง 1  โทรสาร. 038-424-261
 
ศูนย์โม้งคาทอลิก
88 ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  50300
โทร. 053-408-503, 053-408-759  โทรสาร 053-216-031
 
ศูนย์คณะพระมหาไถ่ น่าน
ตู้ ป.ณ. 26 อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000  โทร./โทรสาร 086-420-2497
 
วัดนักบุญปาตริก  บ้านป่าตึง
ตู้ ป.ณ. 4 แม่แจ่ม  ตำบลช่างเค่ง  อำเภอแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 50270
โทร. 053-828-190 ถึง 1
 
มูลนิธิคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
226/75   หมู่ 3  บ้านวังตาล  ตำบลสันผักหวาน  อำเภอหางดง  
จังหวัดเชียงใหม่ 50230  โทร. 053-436-601-3
 
คณะพระมหาไถ่ 
วัดคาทอลิก ครอบครัวศักดิ์ศิทธิ์  (บ้านเย้า)
ตู้ ป.ณ. 8 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน 
จังหวัดกำแพงเพชร 62180 โทร. 055-868-598 โทรสาร 055-735-219
 
คณะพระมหาไถ่ ศูนย์กลางหนองคาย 
บ้านนักบุญอัลฟอนโซ
ตู้ ป.ณ. 4 อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  43000
โทร. 042-411-201,  042-464-180
 
คณะพระมหาไถ่ ศูนย์กลางขอนแก่น
บ้านนักบุญเยราร์ด
ตู้ ป.ณ. 4 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 400000
โทร. 043-221-461 โทรสาร 043-225-175