สังฆมณฑลราชบุรี อาสนวิหารแม่พระบังเกิด

 

 

 

ตำบลบางนกแขวก  อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120
โทร. 0-3476-1347 โทรสาร. 0-3473-0865
 
 
ปี ค.ศ.1835 พระสังฆราชกูรเวอร์ซี ได้รับหน้าที่ปกครองพระศาสนจักรในประเทศไทยรวมกับลาว เขมร มลายู และพม่าบางส่วน ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมคริสตชนที่สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในความปกครองและได้พบกับคุณพ่ออัลบรังด์ที่กำลังสอนคำสอนให้กับคนจีนในสิงคโปร์กลับใจเป็นคาทอลิกเพียงหนึ่งปีมีคนจีนกลับใจเป็นคาทอลิกถึง 200 คน ท่านจึงชวนเชิญให้คุณพ่อเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อสอนคำสอนให้คนจีนที่กรุงเทพฯ
 
ปีต่อมา ค.ศ.1836 คุณพ่ออัลบรังด์ จึงออกเดินทางจากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ การเดินทางสมัยนั้นแสนลำบากยากเย็น เพราะต้องเดินทางด้วยเท้าบ้าง ขี่ช้างบ้างอาศัยเรือใบบ้างก็กินเวลาแรมเดือนกว่าจะถึงกรุงเทพฯ ขณะที่คุณพ่อเดินทางผ่านตามลำแม่น้ำแม่กลอง ได้พบหมู่บ้านคริสตชนชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ที่ย้ายมาจากวัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ จำนวนห้าหลังคาเรือน ณ ตำบลสี่หมื่น ชาวจีนเหล่านี้มาหักร้างถางพงเลี้ยงชีพทำสวนผักตามนิสัยคนจีนด้วยความขยันขันแข็ง ซึ่งนอกจากค้าขายก็ทำสวน หัวหน้าคริสตชนกลุ่มนี้ ชื่อนายฟรังซิสโกไง้ เป็นคนศรัทธามีความเชื่อมั่งคงดี แม้สภาพความเป็นอยู่ ต้องห่างวัดห่างพระสงฆ์ เขาก็ยังเฝ้าอบรมตักเตือนลูกหลานญาติ พี่น้องให้มีความเชื่อ ความไว้ใจต่อพระ และรักพระด้วยการสวดมนต์ภาวนาทุกวัน คงจะเป็นเพราะความศรัทธานี้เอง ที่พระทรงดลใจให้คุณพ่ออัลบรังด์ ขณะเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก 
 
ได้มีโอกาสผ่านเห็นหมู่บ้านของพวกเขา คุณพ่อได้แวะพบและพักอยู่กับพวกเขาครึ่งเดือน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ คุณพ่อได้สอนเตือนพวกเขาให้มั่นคงในความเชื่อต่อไป คุณพ่อยังได้โปรดศีลล้างบาปแก่พวกเด็กๆ หลายคนที่เป็นลูกหลานของพวกเขา ทั้งสัญญากับพวกเขาว่าเมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วจะมาเยี่ยมพวกเขาอีก
 
เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์ถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้รับหน้าที่ดูแลปกครองคริสตชนชาวจีนที่วัดกาลหว่าร์ในเวลาเดียวกัน คุณพ่อก็ได้พยายามหาโอกาสออกไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่อพยพไปทำมาหากิน ในบริเวณวัดนครชัยศรีปัจจุบัน แล้วก็เดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่คลองสี่หมื่น (บางนกแขวก) ด้วย ปีหนึ่งก็สามารถออกเยี่ยมได้ราว 3-4 ครั้ง ทุก ๆ ปี และแต่ละครั้งคุณพ่อจะพักอยู่กับพวกเขาได้ 15 วันบ้าง สองเดือนบ้างแล้วแต่ความต้องการของกลุ่มคริสตชนเหล่านั้น ระหว่างที่คุณพ่ออยู่สัตบุรุษจะมารวมกันวันละครั้ง เพื่อสวดภาวนาร่วมมิสซา ฟังเทศน์ คุณพ่อจักพร่ำสอนย้ำถึงข้อสำคัญของพระศาสนาให้ทุกคนเข้าใจอย่างดีเพื่อถือตามอย่างจริงจัง โปรดศีลแก้บาปแก่เด็กๆ ลูกคริสตัง รวมทั้งผู้ใหญ่ที่กลับใจใหม่ เมื่อคุณพ่อจากไปก็มอบหน้าที่ให้กับซินแซ คือ นายฟรังซิสโกไง้ เป็นผู้สอน คำสอนแก่เด็กๆ และผู้ที่กลับใจใหม่ต่อไป จำนวนคริสตังใหม่ทวีขึ้นเรื่อยๆ 
 
จากปี ค.ศ.1837 ถึงปี ค.ศ1845 หลังจากที่คุณพ่ออัลบรังด์ ได้เดินทางมาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่นครชัยศรีและบางนกแขวกแล้ว คุณพ่อได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ย้อนกลับทางเดิมแต่มุ่งเดินตรงตามลำแม่น้ำแม่กลองขึ้นไปทางเหนือ คุณพ่อได้พบบ้านของคริสตชนคนหนึ่งในบริเวณวัดดอนกระเบื้อง ปัจจุบันนี้เจ้าของบ้านชื่อนายกิม ที่เป็นคริสตังจีน ย้ายมาจากวัดสามเสนรวม 10 ปีมาแล้ว คุณพ่ออัลบรังด์ ได้โปรดศีลล้างบาปแก่ลูกหลานของเขาหลายคน นับแต่นั้นมาเมื่อคุณพ่อเดินทางมาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่นครชัยศรี บางนกแขวกแล้วก็จะเลยมาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่วัดดอนกระเบื้องนี้ด้วย นับเป็นกลุ่มที่ 3 ปีค.ศ.1846 คุณพ่ออัลบรังด์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งประเทศจีน พระสังฆราชปัลเลอกัว จึงได้แต่งตั้งให้ คุณพ่อดือปองด์ ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนชาวจีนที่วัดกาลหว่าร์, นครชัยศรี, บางนกแขวกและดอนกระเบื้องแทนคุณพ่ออัลบรังด์ คุณพ่อดือปองด์ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนตามแหล่งเหล่านี้ด้วยความขยันขันแข็งมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด และพระก็ทรงตอบสนองความเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อโดยทวีจำนวนคริสตชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
 
ปี ค.ศ.1846 คุณพ่อดือปองด์ ได้ออกเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่วัดนครชียศรี, บางนกแขวกและวัดดอนกระเบื้อง เมื่อมาถึงสี่หมื่น(บางนกแขวก) คุณพ่อได้พบกลุ่มคริสตชนทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณพ่อจึงได้แนะนำให้สัตบุรุษช่วยกันสร้างวัดขึ้น ในที่ดินของนายฟรังซิสโกไง้ เป็นเรือนไม้หลังคามุงด้วยใบจาก ถือว่าเป็นวัดสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของสัตบุรุษเอง ทางมิสซังได้ช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พระสังฆราชปัลเลอกัวได้มาเยี่ยมสัตบุรุษ บางนกแขวกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่กลุ่มคริสตชนบางนกแขวกถือกำเนิดมา  พระสังฆราชปัลเลอกัวได้เสกวัดและได้โปรดศีลกำลังแก่เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมาก ในปี ค.ศ.1847 สำรวจจำนวนคริสตชนบางนกแขวกมีราว 200 คนแล้ว จากนั้น พระสังฆราชปัลเลอกัวได้เดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่วัดดอนกระเบื้อง และเดินทางตามลำแม่น้ำแม่กลองไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีปกติคุณพ่อดือปองด์อยู่ประจำที่วัดกาลหว่าร์ คุณพ่อจะเดินทางเยี่ยมสัตบุรุษวัดบางนกแขวกปีละสี่ครั้ง นับแต่ปี 1846 ถึงปี 1850 งานเด่นที่คุณพ่อได้กระทำไว้ที่บางนกแขวกคือสร้างวัดที่ตำบลสี่หมื่น ชาวบ้าน เรียกวัดหลังนี้ว่า “วัดศาลาแดง” เพราะทั้งฝาหน้าต่างและประตูวัดทาด้วยน้ำมันยางผสมสีแดง มองไปแล้วแดงหมดทั้งหลัง แต่บางคนก็เรียกว่า “วัดรางยาว” เพราะวัดนี้ตั้งอยู่บนริมคลองที่ชาวจีนขุดติดต่อกับแม่น้ำ เพื่อนำน้ำมาทำสวนผัก มีรูปร่างเป็นรางส่งน้ำนั่นเอง ในสมัยคุณพ่อองค์นี้ เนื่องจากคุณพ่อรู้จักพูดภาษาจีนได้เป็นอย่างยิ่งทั้งยังรู้จักเข้าสังคมของคนจีนได้อย่างแนบเนียนจึงมีอิทธิพลโน้มน้าวให้คนจีนที่บางนกแขวกเข้าเป็นคริสตังเป็นจำนวนมาก น่าปลื้มใจยิ่งนัก 
 
ปี ค.ศ.1850 จำนวนสัตบุรุษคริสตัง แทบทุกแห่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระสงฆ์ต้องอยู่ประจำแต่ละวัด เพื่อดูแลสัตบุรุษของตน บัดนี้คุณพ่อดือปองด์ ต้องอยู่ประจำดูแลสัตบุรุษวัดกาลหว่าร์ จึงไม่สามารถออกไปเยี่ยมสัตบุรุษที่อื่นได้เหมือนแต่ก่อน พระสังฆราชปัลเลอกัว จึงได้แต่งตั้งคุณพ่อมาแร็ง ที่พักอยู่ที่วัดกาลหว่าร์กับคุณพ่อดือปองด์ เป็นผู้ออกเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่วัดนครชัยศรี, บางนกแขวก และดอนกระเบื้องแทนคุณพ่อดือปองด์  เมื่อคุณพ่อมาแร็ง เดินทางมาถึงตำบลสี่หมื่น คุณพ่อได้พบว่าจำนวนสัตบุรุษที่นี่มีจำนวนราว 300 คนแล้ว ส่วนวัดนั้นเล็กเกินไป และสถานที่ก็คับแคบมาก เนื่องจากพื้นที่เป็นร่องสวนมะพร้าว และในบริเวณนั้นยังเป็นบ้านของนายฟรังซิสโกไง้ตั้งอาศัยอยู่ด้วย คุณพ่อจึงได้ย้ายวัดศาลาแดงหรืออีกชื่อหนึ่งวัดรางยาว จากตำบลสี่หมื่น ออกมาปลูกที่ปากคลองบางนกแขวก เพราะคุณพ่อเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะดีมาก เนื่องด้วยสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินไทยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงขุดคลอง “ดำเนินสะดวก” เป็นคลองยาวมาก หัวท้ายคลองเชื่อมแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน คลองนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้ ตอนปากคลองที่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง เรียก “คลองบางนกแขวก” ส่วนกลางคลองเรียกว่าคลอง “ดำเนินสะดวก” ส่วนปากคลองที่ติดกับแม่น้ำท่าจีนเรียกว่า “คลองบางยาง” สถานที่ตั้งวัดนี้ ด้านหนึ่งติดกับคลองบางนกแขวก ส่วนอีกสองด้านเป็นป่ามีเนื้อที่กว้างไพศาล ในป่านี้มีนกชนิดหนึ่งอาศัยอยู่มากมายเรียกกันว่า “นกแขวก” เมื่อพวกคริสตังอพยพมาจากตำบลสี่หมื่นเพื่อหักร้างถางพงเพื่อปลูกวัดใหม่ จึงเรียกชื่อสถานที่นี้ว่า “บางนกแขวก” และใช้เรียกชื่อตำบลทั้งคลอง และวัดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  อาศัยการนำของคุณพ่อมาแร็ง เมื่อได้จัดเตรียมที่ดินเรียบร้อยแล้วก็ได้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ โดยขยายให้ใหญ่โต ทั้งปรับปรุงให้งดงามกว่าเดิม และตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระบังเกิดบางนกแขวก” ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางนกแขวก ถือเป็นวัดจริงๆ เพราะมีองค์อุปถัมภ์คือ แม่พระบังเกิด และบัดนี้ทั้งบัญชีศีลล้างบาป บัญชีศีลกำลัง บัญชีศีลกล่าวและบัญชีคนตายก็แยกมาจากวัดกาลหว่าร์
 
ปี ค.ศ.1850 สัตบุรุษวัดบางนกแขวกแม้มีวัด และบัญชีของวัดแยกกับวัดกาลหว่าร์แล้วก็ตาม แต่ด้านการปกครองยังต้องขึ้นกับวัดกาลหว่าร์ต่อไป เพราะยังไม่มีพระสงฆ์พอเพียงจะมาปกครองดูแล ขณะนี้อาศัยคุณพ่อมาแร็ง จากวัดกาลหว่าร์ มาดูแลเอาใจใส่ จากปี ค.ศ.1850 ถึงปี 1854 เป็นเวลา 4 ปี ปี ค.ศ.1854 ถึงปี 1860 คุณพ่อดือปองด์ได้รับหน้าที่มาดูแลสัตบุรุษที่วัดบางนกแขวก ตลอดระยะเวลา 6 ปี คุณพ่อได้ออกเยี่ยมเยียนวัดหลายวัด โดยมิได้อยู่ประจำที่ เช่นวัดเพชรบุรี  เมื่อต้นปี ค.ศ.1854 คุณพ่อดือปองด์จากวัดบางนกแขวกได้ออกเดินทางเยี่ยมกลุ่มคริสตชนในที่ต่างๆ คุณพ่อได้เดินทางมาถึงเมืองเพชรบุรี ได้พบคริสตังหลายครอบครัว ที่ย้ายมาทำมาหากินอยู่ที่เมืองเพชรบุรี คุณพ่อจึงได้รวบรวมพวกเขาไว้เป็นกลุ่มและทุกครั้งที่คุณพ่อเดินทางจากวัดกาลหว่าร์มาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่นครชัยศรี ที่บางนกแขวกและที่ดอนกระเบื้อง คุณพ่อก็ถือโอกาสมาเยี่ยมคริสตชนที่เพชรบุรีเป็นประจำอยู่เสมอ 
 
ปี ค.ศ.1862 นับเป็นศักราชใหม่ทางประวัติศาสตร์ สำหรับบางนกแขวก เพราะนับแต่นี้ไปวัดบางนกแขวกแยกตัวออกมาเป็นวัดอิสระไม่ต้องขึ้นกับวัดกาลหว่าร์เหมือนแต่ก่อน มีคุณพ่อราบาร์แดล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประจำองค์แรก มีหน้าที่ดูแลวัดดอนกระเบื้อง และกลุ่มคริสตชนที่เพชรบุรีด้วย คุณพ่อพยายามรวบรวมกลุ่มคริสตชนที่กระจัดกระจายให้มาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านคริสตชน คุณพ่อได้ชักชวนให้คริสตชนที่ตำบลสี่หมื่นจำนวน 300 คน ให้มาจับจองที่ทำมาหากินที่ตำบลบางนกแขวก ให้เป็นกลุ่มคริสตชนที่ใหญ่โต และอยู่ใกล้วัด คุณพ่อได้สำรวจเห็นว่าตามลุ่มแม่น้ำแม่กลองตรงข้ามกับวัดมีที่ดินเป็นป่าทึบกว้างใหญ่พื้นดินดีเหมาะกับการเพาะปลูก คุณพ่อจึงแนะนำให้ทำกสิกรรมเนื่องจากที่ตรงนี้เป็นป่ามีช้างอาศัยอยู่มากมาย คนจึงนิยมเรียกบริเวณนี้ว่า “บางช้าง” อนึ่งมีเหตุผลสันนิษฐานเป็นความจริงอีกอย่างหนึ่งที่เรียกบริเวณนี้ว่าบางช้างคือคลองตาจ่าที่เป็นคลองคดเคี้ยวมากที่สุดเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสมุทรสงครามกับจังหวัดราชบุรี เป็นคลองที่สะดวกสำหรับการเดินทางทางเรือพายเรือแจว แต่สำหรับเรือยนต์นั้นไม่เหมาะ คลองนี้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากไหลลงแม่น้ำได้อย่างช้าๆ และยังไม่ทันแห้งคลอง น้ำในแม่น้ำก็หนุนขึ้นมาอีก ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่าคลองตาจ่านี้เดิมที เป็นทางเดินของพวกช้างที่อาศัยอยู่ในป่าตามพื้นที่บริเวณชายแม่น้ำฝั่งตรงข้ามกับวัดบางนกแขวกนี้มาก่อน ทุกๆ เช้าเย็นช้างจะพากันเดินเป็นขบวนไปดื่มน้ำที่ชายแม่น้ำเป็นประจำ และในฤดูฝน ฝนที่ตกหนัก น้ำฝนก็ไหลหลากลงสู่แม่น้ำตามทางเดินของช้าง กลายเป็นลำธารและที่สุดเป็นคลอง คนทั่วไปจึงเรียกชื่อคลองนี้ว่า “คลองช้างเดิน” น่าจะเป็นความจริงเพราะถ้าเป็นคลองที่มีคนขุดลอกแล้วคงไม่คดอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้แน่
 
บรรดาคริสตชนที่คุณพ่อชักชวนจากวัดกาลหว่าร์ พร้อมกับกลุ่มที่อยู่ที่ตำบลสี่หมื่นให้มาหักร้างถางพง ได้เริ่มลงมือทำกสิกรรมปลูกผัก ปลูกหัวหอม กระเทียม พริก ตามคำแนะนำของคุณพ่อได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีคนสนใจจากที่อื่นพากันอพยพมาอยู่อย่างเนืองแน่น ส่วนชาวจีนที่มีญาติพี่น้องเป็นคริสตชนต่างไปชักชวนให้มาจับจองที่ทำมาหากินมากขึ้น มีคนกลับใจมากขึ้น พร้อมจำนวนคริสตชนก็ทวีขึ้นอย่างน่าประทับใจยิ่ง
 
ในปี ค.ศ.1863 นี้เช่นกัน คุณพ่อราบาร์แดล นี้สมที่จะได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวกที่มีใจร้อนรนขยันขันแข็งต่องานแพร่ธรรมของวัดบางนกแขวก คุณพ่อเอาใจใส่สอนคริสตชนให้มีความเชื่อจนมีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก นอกจากวัดบางนกแขวกแล้วยังมีวัดดอนกระเบื้องและวัดเพชรบุรีที่คุณพ่อต้องเอาใจใส่ดูแลตลอดเวลา คุณพ่อได้มีโอกาสไปทำความรู้จักกับท่านสมภารปาน เจ้าอาวาสวัดบางกล้วย ที่อยู่ห่างจากวัดบางนกแขวกล่องลงไปทางใต้ราว 5 กิโลเมตร หลังจากพบปะสนทนาและคุ้นเคยเป็นกันเองอย่างดีแล้ว ท่านสมภารปานได้แสดงเจตจำนงค์อยากจะเรียนรู้พระศาสนาคาทอลิกกับคุณพ่อ คุณพ่อจึงได้พยายามอธิบายสอนให้เป็นเวลาแรมปี จนท่านสมภารปาน เกิดความเลื่อมใสได้ลาสิขาบทและได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อ ตรงกับวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1864 อายุ 67 ปี ศาสนนามนักบุญเปาโลอัครสาวก โดยคุณพ่อเป็นทั้งผู้โปรดศีลล้างบาปและเป็น พ่อทูลหัวเองด้วย เมื่อท่านสมภารปาน ได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตังแล้ว ท่านได้ไปชักชวนพี่น้องที่ตำบลบ้านห้วยหรือตำบลปากไก่ ปัจจุบันเป็นบ้านเกิดเดิมของท่านให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ และพากันมาหาที่ทำกินที่ตำบลวัดเพลงปัจจุบัน คุณพ่อราบาร์แดลจึงพบที่แพร่ธรรมที่วัดเพลงอีกแห่งหนึ่งโดยมีท่านสมภารปานเป็นผู้เบิกทาง และนำคุณพ่อไปแพร่ธรรมที่วัดเพลงบ่อยๆ คุณพ่อได้แต่งตั้งให้สมภารปานรับหน้าที่ดูแลคริสตชนแทน สมภารปานมีใจร้อนรนในการแพร่ธรรมมาก จำนวนคริสตชนจึงทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 
 
ท่านได้รับศีลบรรพชาชั้นผู้น้อยจากพระสังฆราช เพื่อมีอำนาจดูแลสัตบุรุษแทนพระสงฆ์ ท่านถึงแก่มรณภาพในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1873 ที่หลุมศพของท่านมีจารึกไว้ว่า “เปาโลปาน” ACOLYTHUS ผู้ให้กำเนิดวัดเพลงรุ่งโรจน์ในความศักดิ์สิทธิ์ร้อนรนในการแพร่ธรรม คุณพ่อราบาร์แดลดูแลวัดบางนกแขวก วัดดอนกระเบื้องและวัดเพลง แต่ภายในใจของท่านเร่าร้อนไม่อาจอยู่นิ่งได้ จากดอนกระเบื้องท่านได้เดินทางตามลุ่มแม่น้ำแม่กลองขึ้นไปทางเหนือ ท่านจึงได้พบพวกคริสตัง ที่ขึ้นไปทำมาหากินที่ตำบลหวายเหนียว จึงได้รวบรวมพวกเขา ให้ฟังมิสซารับศีลฟังเทศน์ ทำให้พวกเขามั่นคงในความเชื่อและทุกครั้งที่คุณพ่อไปเยี่ยมวัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อก็จะต้องเลยขึ้นไปเยี่ยมคริสตชนที่ตำบลหวายเหนียวเป็นประจำ สัตบุรุษที่นี่เจริญขึ้นเรื่อยๆ จนได้กลายเป็นต้นกำเนิดวัดท่าหว้า ปัจจุบัน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1866 คุณพ่อจึงมีภาระเพิ่มขึ้นอีกที่ต้องดูแลวัดหวายเหนี่ยวเป็นกลุ่มคริสตชนกลุ่มที่ 4 เท่านี้ยังไม่พอ คุณพ่อยังล่องลงไปทางทิศใต้ เพื่อเยี่ยมเยียนสัตบุรุษที่วัดแม่กลองอีกด้วย มีคริสตชนหลายคนไปทำมาหากินยึดอาชีพจับปลาทะเล คุณพ่อได้รวบรวมสัตบุรุษที่นั่น เมื่อปี ค.ศ.1868 นับเป็นการให้กำเนิดวัดแม่กลองปัจจุบัน คุณพ่อได้จัดถวายวัด ให้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองพระนามศักดิ์สิทธิ์ของแม่พระภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นนักบุญยาโกเบที่เป็นชาวประมง เพื่อขอท่านนักบุญองค์นี้เป็นองค์อุปถัมภ์ช่วยเหลือชาวแม่กลองที่ยึดอาชีพชาว ประมง คุณพ่อราบาร์แดลจึงมีภาระหน้าที่ๆ จะต้องดูแลกลุ่มคริสตชนที่แม่กลองเป็นกลุ่มที่ 5 
 
ต่อมาในปี ค.ศ.1869 คุณพ่อราบาร์แดล หลังจากเดินทางมาเยี่ยมคริสตังที่วัดดอนกระเบื้องและวัดหวายเหนียวแล้ว คุณพ่อได้เดินทางเลยขึ้นไปทางเหนือจนถึงเขตจังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่คุณพ่อได้พบมีคริสตังกลุ่มหนึ่งที่มาทำมาหากินอยู่ตำบลสำรองปัจจุบัน คุณพ่อได้จัดรวบรวมคริสตังกลุ่มนี้เป็นบ้านคริสตังนับเป็นคริสตังกลุ่มที่ 6 ที่อยู่ในความดูแลเอาใจใส่ของคุณพ่อ ต่อมาคุณพ่อได้เดินทางมาเยี่ยมพวกเขาบ่อยๆ จนถึงปี ค.ศ.1876 จึงได้สร้างวัดเล็กๆ หลังหนึ่งที่สำรองเพื่อใช้เป็นที่ถวายมิสซาและสวดภาวนามาหลายปี จนที่สุดได้ย้ายวัดไปปลูกที่ตำบลท่าม่วงปัจจุบัน จึงเพราะเหตุนี้ถือได้ว่าคุณพ่อราบาร์แดล เป็นผู้ให้กำเนิดวัดท่าม่วงอีกวัดหนึ่งด้วย 
 
บ้านเณรที่บางช้าง
คุณพ่อราบาร์แดลเห็นว่าบ้านเณรที่อยุธยาต้องย้ายไปอยู่ที่จันทบุรี หลังจากพม่ารบชนะประเทศไทย และได้เผากรุงศรีอยุธยาเสียหายแล้วต้องย้ายมาตั้งที่กรุงเทพฯ อันเนื่องมาจากสมัยนั้นมีการรบพุ่งตามเขตชายแดนอยู่เนืองๆ จังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดชายแดน บรรดาสามเณรไม่มีความราบรื่นและสะดวกในการศึกษา แม้ที่กรุงเทพฯเอง บรรดาเณรก็ไม่มีความสงบ เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงกำลังขยับขยายตัวเมือง จึงพบแต่ความสับสนวุ่นวาย คุณพ่อจึงได้เสนอพระสังฆราชให้สร้างบ้านเณรขึ้นที่บางช้าง เพราะเป็นที่สงบมีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล อาหารการกินหาง่าย น้ำสำหรับใช้อุดมสมบูรณ์ จึงได้ย้ายบ้านเณรมาสร้างที่บางช้างฝั่งตรงข้ามกับวัดบางนกแขวก เมื่อปีค.ศ.1875 และบ้านเณรหลังนี้ได้ตั้งอยู่จนถึงปีค.ศ.1959 จึงได้ย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี คุณพ่อราบาร์แดลได้เป็นพระสงฆ์องค์แรกที่มาประจำที่วัดบางนกแขวกจากปี ค.ศ.1862 ถึงปี 1878 เป็นเวลา 16 ปี คุณพ่อได้เป็นผู้ดูแลวัดบางนกแขวก และวัดดอนกระเบื้องเป็นประจำ แล้วยังได้เป็นผู้ให้กำเนิดวัดเพลง วัดท่าหว้า วัดเพชรบุรี วัดแม่กลองกับวัดท่าม่วง งานสำคัญที่คุณพ่อได้ทำขณะที่อยู่ที่วัดบางนกแขวก คือความร้อนรนในการแพร่ธรรมของคุณพ่อ ทำให้จำนวนสัตบุรุษคริสตังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.1870 สัตบุรุษที่วัดบางนกแขวกมีจำนวนถึง 1,000 คนแล้วงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งของคุณพ่อ คือ การพาสัตบุรุษมาจับจองที่ทำมาหากินที่ตำบลบางช้าง เป็นเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่
 
ปี ค.ศ.1878 คุณพ่อราบาร์แดล ได้ย้ายกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ และมีคุณพ่อซาลาแด็งมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสอยู่ประจำที่วัดบางนกแขวกแทน คุณพ่อจึงรับภาระหน้าที่ต้องดูแลวัดเพลง วัดดอนกระเบื้อง วัดท่าหว้า วัดเพชรบุรี วัดแม่กลอง และวัดท่าม่วงด้วย ปีค.ศ.1880 คุณพ่อได้เดินทางไปภาคใต้เยี่ยมเยียนสัตบุรุษที่จังหวัดสงขลา ภูเก็ตปีนังแล้วเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1880 คุณพ่อกรางด์ ได้รับแต่งตั้งมาอยู่ประจำที่วัดบางนกแขวก เพื่อดูแลสัตบุรุษและวัดอื่นๆ ที่ขึ้นกับวัดบางนกแขวกแทนคุณพ่อราบาร์แดล คุณพ่อได้ประจำอยู่ที่วัดบางนกแขวกนาน 2 ปี
 
ปีค.ศ.1882 คุณพ่อได้ออกจากวัดบางนกแขวกเพื่อไปดูแลวัดทางเหนือคือวัดดอนกระเบื้อง วัดหวายเหนียว (ท่าหว้า) วัดสำรอง (ท่าม่วง) คุณพ่อได้ดูแลเอาใจใส่สัตบุรุษทางเหนือเป็นเวลาหลายปี จนในที่สุดคุณพ่อได้ถูกฆ่าตายจากพวกจีนขาวอั้งยี่ในปี ค.ศ.1893 คุณพ่อเปาโลซัลม็องได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1878 ได้เริ่มเรียนภาษาไทยที่วัดบางนกแขวก และเป็นผู้ช่วยคุณพ่อซาลาแด็ง ปี ค.ศ.1880 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดโดยมีคุณพ่อกรางด์เป็นเจ้าวัดจนถึงปี ค.ศ.1882 เมื่อคุณพ่อกรางด์ได้รับหน้าที่ไปดูแลสัตบุรุษทางภาคเหนือของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง  คุณพ่อซัลม็อง หรืออีกนามหนึ่งที่สัตบุรุษชอบเรียกคุณพ่อเป่า (ย่อมาจากนักบุญเปาโล) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าวัดแทน ขณะนั้นวัดบางนกแขวกมีสัตบุรุษประมาณ 1,400 คนแล้วและนอกจากวัดบางนกแขวก คุณพ่อยังมีหน้าที่ดูแลสัตบุรุษวัดแม่กลองด้วย คุณพ่อได้ปกครองดูแลสัตบุรุษวัดบางนกแขวกด้วยความเอาใจใส่ทั้งด้านกายและวิญญาณ คุณพ่อได้สอดส่องดูแลการทำมาหากินของบรรดาสัตบุรุษ ที่ส่วนใหญ่ทำไร่ปลูกผักโดยพึ่งธรรมชาติ คือฝน  เมื่อฝนตกการทำไร่ก็ได้ผล เมื่อไหร่ฝนแล้งการทำไร่ไม่ได้ผล คุณพ่อจึงเกิดความคิดขึ้นอย่างหนึ่ง การขุดคลองเพื่อให้น้ำในแม่น้ำไหลเข้าคลองแล้วนำน้ำไปใช้ทำไร่ปลูกผักตลอดทั้งปีแทนการพึ่งฝนตามธรรมชาติ 
 
คลองขุดหรือคลองฝรั่ง (ปัจจุบันคลองไทยบำรุง)
คุณพ่อจึงได้ลงมือขุดคลองอาศัยความร่วมมือของสัตบุรุษ รวมทั้งการจ้างเขาบ้าง ได้คลองที่ยาวจากแม่น้ำแม่กลองไปทะลุแม่น้ำแควอ้อม ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองขุด” หรือ “คลองฝรั่ง” ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1940 ทางการได้ให้ชื่อคลองนี้ใหม่ว่า “คลองไทยบำรุง” นอกนั้นยังได้ขุดคลองซอยอีกมากมาย เพื่อให้น้ำเข้าไปถึงในที่ๆที่การเพาะปลูก ต่อมาคุณพ่อได้แนะนำให้บรรดาสัตบุรุษขุดเบิกเป็นร่องสวน  เพื่อให้น้ำขังอยู่ในร่องสวนได้ตลอดทั้งปี สัตบุรุษจึงสามารถมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกต่อมาคุณพ่อยังคาดการณ์ไกลได้อีกว่า การที่สัตบุรุษยึดอาชีพทำสวนผักนี้เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน เพราะบางปีผลดีมีกำไร บางปีขาดทุนย่อยยับ พื้นดินไม่เหมาะที่จะปลูกผักและผล (พืชล้มลุก) พวกสัตบุรุษเหล่านี้ก็ต้องอพยพไปทำมาหากินที่อื่นกันหมดแล้วคริสตังก็จะไม่รวมกลุ่มกันอีก คุณพ่อจึงได้ติดต่อกับเพื่อนพระสงฆ์ทางภาคใต้ ให้ส่งมะพร้าวจากเกาะสมุยมาให้ทำพันธุ์  และบังคับให้สัตบุรุษปลูกมะพร้าวบ้านละ 5 ต้นบ้าง 10 ต้นบ้าง ตอนแรกๆ คนส่วนใหญ่ไม่อยากปลูกเพราะต้องใช้เวลานานเพื่อรอ ทั้งราคาในสมัยนั้นก็ถูก สู้ปลูกผักตัดขายได้ผลเร็วทันใจกว่า  แต่คุณพ่อผู้มีสายตาที่มองการณ์ไกล เนื่องจากมะพร้าวเป็นต้นไม้ยืนต้น ลงทุนเพียงครั้งเดียวเก็บผลได้หลายปีกว่าการปลูกผักที่ต้องลงทุนทุกปี ถึงบัดนี้ทุกคนต้องยกมือท่วมศีรษะร้องสาธุการขอบคุณคุณพ่อเป่าที่แทบทุกบ้านมีฐานะดีขึ้นเพราะมะพร้าว นอกจากส่งเสริมการปลูกมะพร้าวแล้ว คุณพ่อยังได้ซื้อเสาไม้กระดานกับใบจากไว้มากมาย  เพื่อใครที่ต้องการจะปลูกบ้าน  คุณพ่อก็ยินดีแจกให้ฟรี เป็นการช่วยให้สัตบุรุษมีที่อยู่อาศัยกับมีที่ทำมาหากินอยู่เป็นหลักแหล่งไม่ต้องเร่ร่อนซัดเซพเนจรอีกต่อไป นับว่าปฏิภาณอันเฉียบแหลม และสายตาที่มองการณ์ไกลของคุณพ่อได้รับความสำเร็จดังปรากฏแก่สายตาของทุกๆ คนมาจนถึงปัจจุบัน 
 
เมื่อบรรดาสัตบุรุษมีบ้านอยู่อาศัย และมีที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่งแล้ว คุณพ่อก็ได้เริ่มอบรมสั่งสอนให้บรรดาสัตบุรุษ มีความเชื่อเข้มแข็ง มั่นคง  มีความศรัทธาร้อนรนในการปฏิบัติศาสนกิจสม่ำเสมอเป็นประจำ จำนวนคริสตชนได้เพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
สร้างวัดบางนกแขวกหลังปัจจุบัน
เมื่อคุณพ่อมองดูวัดที่คุณพ่อมาแร็งได้สร้างไว้ เมื่อ ค.ศ.1850-1984 นั้น คับแคบไปอันเนื่องมาจากจำนวน คริสตชนที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างวัดใหม่ใหญ่โต และเป็นตึกถาวรมั่นคง สำหรับสัตบุรุษจะได้ใช้ประกอบศาสนกิจสะดวกสบายกว่าเก่า ในปี ค.ศ. 1888 คุณพ่อเริ่มเตรียมโครงการและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสร้างวัด รวมถึงได้ทำพิธีวางศิลาเอกสำหรับวัดหลังใหม่ เริ่มต้นจากการวางศิลาเอก โดยคุณพ่อต้องวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากบรรดาญาติพี่น้องของคุณพ่อเองในประเทศฝรั่งเศสจากคณะมิสซังต่างประเทศในกรุงปารีสจากกรุงโรม  และจากผู้ใจบุญที่กรุงเทพฯ สำหรับค่าแรงคนงานนั้น อาศัยบรรดาสัตบุรุษช่วยกัน โดยไม่ต้องจ้างเป็นส่วนใหญ่ คุณพ่อต้องทำงานไปพลางหาเงินไปพลาง การก่อสร้างกินเวลา 6 ปี  ในวันฉลองแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894 พระสังฆราช ฌอง หลุยส์ เวย์ ได้ทำพิธีเสกพระแท่นและวัดอย่างสง่า รวมถึงในปีนั้นได้มีการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่โคกมดตะนอย
 
เสกวัดใหม่
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1896 มีงานฉลองเสกวัดใหม่ พระสังฆราชหลุยส์เวย์เป็นผู้ประกอบพิธีเสก มีพระสงฆ์และบรรดาสัตบุรุษต่างวัดมาร่วมฉลองกันมากมายเป็นประวัติการณ์ของวัดบางนกแขวก ทุกคนต่างมีความปลื้มปิติที่มีวัดใหม่ใหญ่โตงดงาม ดังปรากฏมาตราบเท่าทุกวันนี้ ทั้งนี้ก็ด้วยความวิริยะอุตสาหะมิย่อท้อของคุณพ่อเป่าที่เฝ้าห่วงใยสัตบุรุษของตนนั่นเอง 
 
สร้างโรงเรียน
เมื่อคุณพ่อเสร็จจากงานสร้างวัดแล้ว แม้คุณพ่อจะต้องเหน็ดเหนื่อยเรื่อยมาเป็นเวลา 6 ปี คุณพ่อมิได้ห่วงใยตัวเองไม่ได้ขอลาพักผ่อนยังคงทำหน้าที่เป็นเจ้าวัดตลอดมา บัดนี้คุณพ่อกำลังคิดที่จะตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กคริสตังได้เล่าเรียนจะได้รู้จักอ่านเขียนในอนาคต ปี ค.ศ.1903 คุณพ่อจึงได้มอบหมายให้คุณพ่อชันลิแอร์ ฟีลิป เป็นผู้รับหน้าที่ปกครองสัตบุรุษแทน เพื่อคุณพ่อเองได้มีเวลาว่างเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง โอกาสนั้นคุณพ่อได้รับมรดกจากบิดามารดาของคุณพ่อเองพร้อมกับความช่วยเหลือของบรรดาญาติพี่น้องมากมาย เมื่อคุณพ่อพักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส 2 ปีแล้วจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ส่วนคุณพ่อฟีลิปยังคงทำหน้าที่ปลัดช่วยเหลือคุณพ่อเป่า ต่อมา จนถึงปี ค.ศ.1919 คุณพ่อเป่าเริ่มชราและทำงานไม่ไหวคุณพ่อฟีลิปจึงต้องทำหน้าที่เจ้าวัดแทนทั้งที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าวัดและอยู่ช่วยคุณพ่อเป่าจนถึงวันมรณภาพของคุณพ่อเป่าปีค.ศ.1923
 
ปี ค.ศ.1905 คุณพ่อได้เริ่มสร้างโรงเรียนสำหรับชาย 1 หลัง และสำหรับหญิง 1 หลัง  บ้านพักพระสงฆ์ 1 หลัง และบ้านแม่ชีอีก 1 หลัง คุณพ่อได้เปิดโรงเรียนวัดขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1907 มีครูสอนภาษาไทยและหนังสือไทยวัด (คือใช้ตัวอักษรโรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นไทย) แต่เนื่องจากสัตบุรุษแทบทั้งหมดเป็นชาวจีน คุณพ่อจึงต้องมาหาครูจีนมาสอนภาษาจีนด้วย ตามปกติในวันอาทิตย์มีการภาวนาภาษาจีน พระสงฆ์เทศน์เป็นภาษาจีนเพราะสัตบุรุษแทบทุกคนไม่มากก็น้อยเข้าใจภาษาจีนกันดีอยู่แล้ว งานต่างๆ ที่สำคัญคุณพ่อได้จัดการให้สัตบุรุษครบทุกอย่างแล้ว วัดเพื่อประกอบศาสนกิจ มีวัดที่ใหญ่โตสวยงาม ที่สำหรับทำมาหากินและอยู่อาศัย มีโรงเรียนที่จะให้การศึกษาคริสตชนจึงจะมีความรู้ทัดเทียมคนอื่นเขาบ้าง ไม่ต้องน้อยหน้าใคร 
 
จัดออกโฉนดที่ดินของวัดทั้งหมด
มีงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อเป่าได้จัดไว้คือ เมื่อ ปี ค.ศ.1910 คุณพ่อฟรังซิสโกพระสงฆ์ไทยได้มาประจำเป็นคุณพ่อที่วัดบางนกแขวก  คุณพ่อองค์นี้เป็นผู้รอบรู้เรื่องกฎหมายบ้านเมืองดี ทั้งมีญาติเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คุณพ่อเป่าจึงได้มอบหมายให้คุณพ่อฟรังซิสโกจัดการเรื่องที่ดินให้เป็นธรณีสงฆ์ จัดการรังวัดออกโฉนดในที่ดินทั้ง 3,000 ไร่ เพื่อให้สัตบุรุษอาศัยทำมาหากินเป็นที่ดินที่มั่นคงถาวรตลอดไป  นับเป็นพระคุณเหนือคำกล่าวใดๆ ที่คุณพ่อเป่าและคุณพ่อฟรังซิสโก ได้ช่วยจัดการเรื่องที่ดินเป็นของมิสซังมาตลอดตราบเท่าทุกวันนี้ได้ คุณพ่อฟรังซิสโกประจำที่วัดบางนกแขวก  เป็นปลัด จากปี ค.ศ.1910 ถึง ปี ค.ศ.1915 เป็นเวลา 5 ปี  แล้วได้ย้ายจากบางนกแขวกมาเป็นเจ้าวัดเพลง 2 ปีแล้วได้กลับมารับหน้าที่เป็นปลัดวัดบางนกแขวกอีก 
 
เมื่อ ปี ค.ศ.1917 ถึงปี ค.ศ.1922 เป็นเวลา 5 ปี  แล้วจากนั้นคุณพ่อได้รับการโยกย้ายไปประจำที่วัดอื่น  คุณพ่อบาร์บีเอร์เป็นคุณพ่ออีกองค์หนึ่ง  ชาวบ้านชอบเรียกคุณพ่อลูกา คุณพ่อประจำอยู่ที่บ้านเณรบางช้าง และได้มาเป็นผู้ช่วยทำงานที่วัดบางนกแขวกตลอดเวลานาน 40 ปี  คุณพ่อได้จัดการฉลองสุวรรณสมโภชแห่งการเป็นพระสงฆ์ที่วัดบางนกแขวก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1919 คุณพ่อเป็นผู้มีจิตใจศรัทธาและเคร่งครัดในพระศาสนามาก ทรมานตัวเป็นนิจจึงเป็นที่เคารพรักนับถือแก่บรรดาสามเณรและบรรดาสัตบุรุษทั่วไป เป็นต้น สัตบุรุษวัดบางนกแขวกรู้จักมักคุ้นกับคุณพ่อดี เพราะคุณพ่ออยู่ประจำไม่เคยย้ายไปที่ไหน คุณพ่อได้ถึงแก่มรณภาพ  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1920 ศพของคุณพ่อฝังไว้ในวัดบางนกแขวกและยังอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้
 
สร้างวัดใน
เมื่อคุณพ่อเป่าได้สร้างวัด สร้างโรงเรียน  บ้านพักแม่ชีและบ้านพักพระสงฆ์ที่บางนกแขวกแล้ว คุณพ่อเห็นว่าวัดเก่าที่คุณพ่อราบาร์แดลได้สร้างไว้นั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรอีกใน ปี ค.ศ.1914 คุณพ่อจึงได้รื้อวัดหลังนั้นไปสร้างไว้ที่กลางคลองฝรั่งหรือคลองขุด (คลองไทยบำรุงปัจจุบัน)  มีคลองซอยแยกจากคลองฝรั่ง  เรียกว่า “คลองขวาง” วัดหลังนี้เรียกว่าวัดใน เดิมทีคุณพ่อกะจะสร้างไว้เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก เพราะสมัยนั้นเด็กเล็กๆ จะต้องเดินทางด้วยเท้ามาเรียนที่วัดบางนกแขวก ต้องลำบากมาก  เพราะระยะทางไกลจึงใช้เป็นโรงเรียนหลายปี พร้อมกับใช้เป็นวัดถวายมิสซาในบางโอกาส จนถึงสมัยคณะซาเลเซียนเข้ารับหน้าที่ปกครองมิสซังราชบุรี จึงได้ใช้เป็นวัดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในขณะนั้นทางรัฐบาลมีกฎหมายออกมาควบคุมโรงเรียนอย่างเคร่งครัดขึ้นกว่าแต่ก่อน  จึงต้องยุบโรงเรียน 
 
สร้างบ้านพักคนชราและโรงพยาบาล
ปี ค.ศ.1917 คุณพ่อเป่ายังได้สร้างอาคารสองชั้น ยาว 60 เมตร เพื่อเป็นบ้านพักคนชราและใช้เป็นโรงพยาบาล แต่ยังไม่ทันได้เปิดใช้การ พระได้ทรงเรียกคุณพ่อไปรับรางวัลตอบแทนผลงานต่างๆ และความเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อเสียก่อน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1923 นำความเศร้าสลดมาสู่จิตใจของบรรดาสัตบุรุษวัดบางนกแขวกเป็นอย่างยิ่ง คุณพ่อเป่าได้เข้ามาอยู่ที่วัดบางนกแขวก ตั้งแต่ ค.ศ.1878 แล้วไม่เคยย้ายไปประจำที่ใดเลยอยู่ที่บางนกแขวกตลอดมา ชีวิตของคุณพ่อมอบให้กับวัดบางนกแขวกและชุมชนบางนกแขวกโดยสิ้นเชิง  ในระหว่าง 45 ปี  ที่คุณพ่ออยู่ที่บางนกแขวก เคยกลับไปเยี่ยมญาติมิตรเพียงครั้งเดียว  และนานเพียง 2 ปี เนื่องด้วยความจำเป็นบังคับ คือ เพื่อไปหาเงินสำหรับสร้างวัด บ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักแม่ชี และโรงเรียนที่บางนกแขวก 
 
งานฝังศพคุณพ่อเป่า
พระสังฆราชเรอเนแปร์รอส พร้อมด้วยบรรดาพระสงฆ์และสัตบุรุษมากมาย ได้ร่วมพิธีฝังศพของคุณพ่อเป่า ที่วัดบางนกแขวก ศพของคุณพ่อฝังไว้ในวัดบางนกแขวกตราบเท่าทุกวันนี้คุณพ่อดือรังด์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าวัดบางนกแขวกแทนคุณพ่อเป่า โดยมีคุณพ่อเฮนรี่  สงฆ์ไทยเป็นปลัดช่วยทำงาน ตั้งแต่ปี  ค.ศ.1923 เป็นต้นไป
 
ในปี ค.ศ.1923 ทันทีที่คุณพ่อดือรังด์รับหน้าที่เป็นเจ้าวัด คุณพ่อพร้อมด้วยคณะกรรมการวัด และคณะครูได้ร่วมกันทำคำขอร้องจัดตั้งโรงเรียนวัด  ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 ให้เป็นโรงเรียนแผนกประชาชนจัดตั้ง และก็ได้รับอนุญาตเมื่อ ค.ศ.1924 มีชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลบางนกแขวก” เป็นโรงเรียนเดียวมีนักเรียนชายและหญิงโดยแยกกันเรียนคนละแห่ง ดำเนินการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ชั้นประถมเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1939 จึงได้เลิกล้มกิจการเพราะโรงเรียนประชาบาลนั้น ทางรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินงานแต่ผู้เดียวห้ามเอกชนจัดตั้งสมัยคุณพ่อดือรังด์ กิจการวัดและโรงเรียนกำลังเจริญขึ้นตามลำดับ คุณพ่อเฮนรี่ประจำอยู่ที่วัดบางนกแขวก 2 ปี และย้ายไปประจำที่อื่น  มีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง บุญราศี ย้ายมาเป็นปลัดวัดบางนกแขวก เมื่อปี ค.ศ.1926
 
คณะซาเลเซียนมารับงานปกครองมิสซังราชบุรี 
ปี ค.ศ.1927 พระสงฆ์คณะซาเลเซียนได้เข้ามาปกครองมิสซังราชบุรี และตั้งศูนย์กลางอยู่ที่วัดบางนกแขวกคุณพ่อดือรังด์กับคุณพ่อนิโคลาสยังคงอยู่ช่วยพระสงฆ์คณะซาเลเซียนต่อไปอีก 1ปี ในปีค.ศ.1929 คุณพ่อทั้งสองจึงย้ายเข้าไปทำงานที่มิสซังกรุงเทพฯ ชาวเราลูกวัดบางนกแขวกจะต้องจารึกบุญคุณของพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ไว้ในห้วงหัวใจอย่างไม่มีวันลบเลือนไปตลอดกาล เพราะว่าพระสงฆ์คณะนี้ ได้เป็นผู้นำหนทางแห่งความรอดเฝ้าสอนให้รู้จักพระเจ้า คอยปลูกฝังความเชื่อให้แก่ปู่ย่าตายายของวัดบางนกแขวกและถ่ายทอดมาสู่เราลูกหลานสมัยนี้เป็นเพราะความเสียสละและมุมานะของบรรดาคุณพ่อที่เข้ามาแพร่ธรรมรุ่นแรกๆได้วางพื้นฐานไว้ให้ นอกนั้นในด้านวัตถุ พระสงฆ์คณะนี้ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจจัดให้วัดบางนกแขวกมีทุกสิ่งทุกอย่าง ได้สร้างวัดได้หาที่ทำกินได้ปลูกสร้างสิ่งต่างๆมอบไว้เป็นอนุสรณ์ อย่างมิย่อท้อแต่ประการใด เพื่อเราชาววัดบางนกแขวก ขอให้เราชาววัดบางนกแขวกจงยึดมั่นในความเชื่อคาทอลิกและดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่แท้ ตามคำสอนของบรรดาพระสงฆ์เหล่านั้น เป็นการตอบสนองพระคุณของพวกท่านเทอญ 
 
สมัยคณะซาเลเซียนปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส  ได้รับหน้าที่ปกครองมิสซังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1904 พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส  ได้พยายามแพร่ธรรมให้ขยายไปทั่วหัวเมืองภายใต้การปกครองของพระสังฆราชเรอเนแปร์โรส โดยได้เชิญคณะนักบวชชายหญิงให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับด้านการศึกษามากกว่าด้านอภิบาล เช่นคณะเจษฏาจารย์เซนต์คาเบรียล คณะอุร์สุลิน มาแตร์เดอี และคณะภคินีลับคาร์เมไลต์ ฯลฯ 
 
ในปี ค.ศ.1925 เป็นปีแห่งยูปีลี  พระสังฆราชแปร์รอสได้ยื่นเรื่องเสนอต่อกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ  เพื่อขอแบ่งมิสซังกรุงเทพฯออกและแบ่งให้แก่คณะนักบวชที่จะเข้ามาทำงานแพร่ธรรมมิใช่เพียงแต่ในด้านการศึกษาเปิดโรงเรียนแต่เป็นต้นในด้านอภิบาลเกี่ยวกับสัตบุรุษด้วย เมื่อพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ได้รับอนุญาตจากกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อแล้ว พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ได้ติดต่อกับอัคราธิการของคณะซาเลเซียนที่เมืองตุริน  ประเทศอิตาลี  เพื่อขอสมาชิกคณะนักบวชซาเลเซียนให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย และจะขอมอบมิสซังแห่งหนึ่งให้อยู่ในความปกครองของคณะด้วย คุณพ่อรินัลดีอัคราธิการคณะได้จัดส่งคุณพ่อรีกัลโดเน รองอัคราธิการ พระสังฆราชหลุยส์ มาทีอัส  ผู้ดูแลปกครองแคว้นอัสสัมประเทศอินเดีย และคุณพ่อกานาเซอี  เจ้าคณะแขวง ซาเลเซียนในประเทศจีน มาติดต่อกับพระสังฆราชแปร์รอสและดูสถานที่ที่จะรับมอบหมายให้ทำงาน ที่สุดได้ตกลงรับมอบมิสซังเพื่อทำงานแพร่ธรรมตามคำร้องของพระสังฆราชแปร์รอส 
 
พระสงฆ์ทั้งสามเดินทางไปยังเมืองมาเก๊าในประเทศจีน เพื่อแบ่งนักบวชซาเลเซียนจากเมืองนั้น มาช่วยทำงานที่ประเทศไทย เพราะเวลานั้นนักบวชยังมีจำนวนน้อย ไม่สามารถส่งมาจากยุโรปได้ คุณพ่อรีกัลโดเนได้แต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี  เป็นหัวหน้าคณะนักบวช ที่จะต้องเดินทางเข้ามาทำงานแพร่ธรรมในประเทศไทยพร้อมกับคุณพ่อยวง กาแซตตา และสามเณรยอร์ช ใบนอตตีให้ล่วงหน้าเข้ามาจัดเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับก่อน
 
วันที่ 15 ตุลาคม 1927 คณะนักบวชซาเลเซียนออกเดินทางจากเมืองมาเก๊า ประเทศจีน มาถึงประเทศไทย โดยการนำของคุณพ่อรีกัลโดเนรองอัคราธิการ มีคุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี  คุณพ่ออันโตนิโอ มาร์แตง และบรรดาสามเณรรวมกัน 16 รูป ระหว่างทางได้แวะพักที่ฮ่องกง 1 วัน แล้วเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1927 ได้พักที่มิสซังกรุงเทพฯ โดยพระสังฆราชแปร์รอสกับคุณพ่อโชแรง เหรัญญิกเป็นผู้ให้การต้อนรับ พระสังฆราชแปร์รอสได้มอบหมายให้คณะซาเลเซียนดูแลปกครอง จากจังหวัดกาญจนบุรีจรดเขตแดนมาเลเซีย ภาคใต้รวม 19 จังหวัด โดยกำหนดให้ใช้วัดบางนกแขวกเป็นศูนย์กลางเพราะเป็นวัดที่มีสัตบุรุษมากกว่าที่อื่น
 
วันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1927 คณะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ทางเรือผ่านคลองบางหลวง แม่น้ำท่าจีน คลองบางยาง คลองแม่กลอง แล้วแล่นตามลำน้ำแม่กลองมาจนถึงวัดบางนกแขวกเวลาตีหนึ่ง มีคุณพ่อดือรังด์ เจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกกับคุณพ่อนิโคลาสผู้เป็นปลัด และคุณพ่อยวง กาแซตตา  ครูเณรใบนอตตีคอยต้อนรับ ท่ามกลางความมืดมิด มองไม่เห็นอะไร มีตะเกียงดวงเล็กๆ คอยให้แสงสว่างพาเดินทางขึ้นไปพักที่อาคารยาวสองชั้น ชั้นล่างเป็นตึกชั้นบนเป็นไม้ ที่คุณพ่อซัลม็อง(เป่า) ได้สร้างไว้ใช้เป็นโรงพยาบาลและอาคารหลังนี้แหละที่จะเป็นศูนย์ของมิสซังใหม่ที่พระมอบให้คณะซาเลเซียนทำงานอยู่หลายปี  โดยเริ่มแรกใช้เป็นบ้านเณรของคณะก่อน 
 
วันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1927 วันอาทิตย์นี้ฉลองพระคริสตราชาจัดให้มีมิสซาขับสัตบุรุษพากันมาร่วมฉลองแน่นวัด เพื่อจะมาดูบรรดาพระสงฆ์ต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในมิสซังใหม่ พระสงฆ์ที่อยู่บ้านเณรบางช้างก็ได้มาร่วมมิสซาพบปะกับพระสงฆ์ที่พึ่งเดินทางมาถึงเพื่อแสดงคารวะและต้อนรับด้วย งานสำคัญของคณะซาเลเซียนในเวลานั้นก็คือเรียนภาษาไทย และอ่านเขียนหนังสือไทย คุณพ่อดือรังด์และคุณพ่อนิโคลาส ยังอยู่ประจำที่วัดบางนกแขวกต่อไป  ช่วยสอนภาษาไทยและแนะนำให้รู้จักขนบธรรมเนียมไทย  วิธีการปกครองสำหรับคนไทย ฯลฯ ทางวัดได้จ้างครูเฮ็ง  วรศิลป์ จากวัดเพลงซึ่งเป็นเณรเก่า  รู้ภาษาลาตินและภาษาฝรั่งเศสดี มาเป็นครูสอนภาษาไทยแก่บรรดาพระสงฆ์และเณรซาเลเซียนรุ่นแรก 
 
วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1927 พระสงฆ์ 4 องค์กับบราเดอร์ 2 รูป จากประเทศอิตาลี  ได้เดินทางมาถึงที่วัดบางนกแขวกเป็นชุดที่สาม มีคุณพ่อกูรตี  คุณพ่อปีนัฟโฟ  คุณพ่อเดวินเซนซี  คุณพ่อกักกาลิโอ บราเดอร์เดลลาวัลเล และบราเดอร์เดกาโน  วันที่ 2 มิถุนายน  ปี ค.ศ.1928 พระสังฆราชแปร์รอสได้มาประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ซาเลเซียน 2 องค์  ที่วัดบางนกแขวก คือคุณพ่อแตร์ปีนกับคุณพ่อสตากุล นับเป็นงานใหญ่ยิ่งที่มีการบวชพระสงฆ์ตามบ้านนอกเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าบรรดาสัตบุรุษต่างพากันมาร่วมพิธีกันเนืองแน่น นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของวัดบางนกแขวก 
 
ความสุขกับความทุกข์  ความยินดีกับความเศร้า ย่อมเป็นของคู่กัน ขณะที่ทุกคนต่างยินดีที่ได้พระสงฆ์ใหม่อีกสององค์  ไม่นานนัก ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1928 นั้นเอง พระสงฆ์หนุ่มซาเลเซียนองค์หนึ่ง ชาวอาร์เยนตินเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1927 พระได้ยกคุณพ่อไป อยู่ในประเทศไทยเพียง 8 เดือนเท่านั้น นำความเศร้าอย่างสุดซึ้งมาสู่คณะซาเลเซียนและสัตบุรุษวัดบางนกแขวกเป็นอย่างยิ่ง พระสังฆราชแปร์รอสได้มาถวายมิสซาและทำพิธีฝังศพ ศพของคุณพ่อเดวินเซนซีฝังไว้ในวัดบางนกแขวก และยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้พระสังฆราชแปร์รอสได้จัดการให้สมาชิกทุกคนไปพักผ่อนที่ศรีราชาชั่วเวลาหนึ่ง เพราะการผิดอาหารและอากาศทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงมาก 
 
วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1928 พระสงฆ์อีกสององค์พร้อมกับเณร 15 รูป และบราเดอร์สามรูปได้มาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อทำงานแพร่ธรรมในประเทศไทย จำนวนนักบวชได้เพิ่มขึ้นมา  มีพระสงฆ์ 10 องค์  เณร 21 รูป บราเดอร์ 6 รูป ในวันสิ้นปี ค.ศ.1928 ทางคณะได้แต่งตั้งพระสงฆ์ไปประจำวัดดังนี้ คุณพ่อยวง กาแซตตา  เป็นเจ้าวัดบางนกแขวกและเป็นอธิการบ้านด้วย คุณพ่อแตร์ปินเป็นปลัดวัดบางนกแขวก  คุณพ่ออัลมาซัน  เป็นอธิการ บ้านเณร  คุณพ่อสตากูล  และคุณพ่อบอสโซ  เป็นอาจารย์ในบ้านเณร คุณพ่อมาร์แตง  เป็นเจ้าวัดวัดเพลง  คุณพ่อกูร์ตี  เจ้าวัดดอนมดตะนอย คุณพ่อปินัฟโฟ  ดูแลวัดดอนกระเบื้อง บางตาล บ้านโป่ง คุณพ่อกักกาลีโอ ดูแลวัด ท่าหว้า ท่าม่วง  นับแต่นี้บรรดาพระสงฆ์คณะซาเลเซียนจะเริ่มทำงานด้วยลำพังตนเองได้แล้ว  โอกาสฉลองวันต้นปีใหม่ของ ปี ค.ศ.1929 คุณพ่อดือรังด์และคุณพ่อนิโคลาส เจ้าอาวาสและปลัดวัดบางนกแขวก ได้อำลาคณะซาเลเซียนและบรรดาสัตบุรุษวัดบางนกแขวก  กลับไปทำงานในมิสซังกรุงเทพฯ ที่คุณพ่อสังกัดอยู่ โดยมอบวัดและทรัพย์สินทั้งหมดรวมกับบรรดาสัตบุรุษให้คณะซาเลเซียนดูแลปกครองต่อไป  โดยมิได้เอาอะไรติดตัวไปเลย  และต่อมา คุณพ่อยาโกเบ คุณพ่อเกลเมนเต คุณพ่อริชาร์ด  คุณพ่อตีมอเทว คุณพ่อเอดัวร์และคุณพ่อเบเนดิก  ซึ่งทำงานอยู่ในมิสซังราชบุรี  ก็ได้อำลากลับไปทำงานต่อที่มิสซังกรุงเทพฯหมด
 
 
 
อีกท่านหนึ่งที่คณะซาเลเซียนยังเป็นหนี้บุญคุณอยู่เสมอ คือ พระสังฆราชแปร์รอสท่านได้มอบมิสซังราช บุรี พร้อมกับข้าวของทุกอย่างให้คณะซาเลเซียนเป็นผู้ปกครอง  ในสมัยแรกๆ ท่านมาที่วัดบางนกแขวกปีละหลายๆ ครั้ง เพื่อเยี่ยมถามถึงความทุกข์สุขของสมาชิก ให้คำแนะนำในการปกครองสัตบุรุษ ในการแพร่ธรรม บางครั้งเห็นว่าสมาชิกจำนวนมากเจ็บป่วย ก็ช่วยให้ไปพักผ่อน เช่น ที่ศรีราชา ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ เป็นต้น  พระสังฆราชกาเยตาโน  ปาซ็อตตี  มีความเคารพรักต่อพระสังฆราชแปร์รอสมาก เยี่ยงบิดาของท่านเอง  บางนกแขวกเป็นศูนย์กลางของคณะและมิสซังใหม่ด้วย มีบ้านเณรโดยใช้โรงพยาบาลที่คุณพ่อซัลม็อง(เป่า) ได้สร้างเมื่อ ปี ค.ศ.1917 เป็นสถานศึกษาของเณร
 
ในด้านงานอภิบาล คุณพ่อซาเลเซียนได้อบรมสัตบุรุษในเรื่องความเชื่อ และความศรัทธาได้อย่างดียิ่ง เพราะมีพระสงฆ์หลายองค์ช่วยกัน พิธีกรรมในวัด การขับร้องพิธีจารีตชวนศรัทธาจริงๆ เพราะมีเณรและบราเดอร์  รวมกับนักเรียนช่วยกันทำให้สัตบุรุษชอบมาวัดในวันอาทิตย์และวันฉลอง การสอนคำสอนคริสตังทำได้ดียิ่งเพราะมีเณรเป็นจำนวนมากช่วยกันสอนและอบรมนักเรียนในวิชาคำสอนเป็นพิเศษ ในด้านโรงเรียน ได้ปรับปรุงสถานที่ ครู การสอนและวิชาความรู้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลสมัยที่ห้องทดลองพร้อมด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก 
 
วันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1929 พระองค์เจ้านครสวรรค์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จมาเยี่ยมโรงเรียนบางนกแขวก  เจ้าเมืองสมุทรสงคราม  พระญาติและนายอำเภอบางคนที หลวงอาทร คณทีการ พร้อมด้วยข้าราชการได้มาช่วยทางโรงเรียนจัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรตินับเป็นงานใหญ่ นำเกียรติมาสู่วัดบางนกแขวกอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย เพราะบรรดาเจ้าเมืองและสมุหเทศาภิบาลใกล้เคียงได้มาร่วมกันต้อนรับเป็นการใหญ่ 
 
วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1929 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 โดยทางกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ทรงตั้งมิสซังราชบุรี เป็นมิสซังอิสระ มีเนื้อที่ 19 จังหวัดเริ่มจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจรดจังหวัดนราธิวาส  และแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี  เป็นผู้ปกครองมิสซังราชบุรี คณะซาเลเซียนจึงได้ดูแลรับผิดชอบมิสซังราชบุรีโดยลำพัง คุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี เหน็ดเหนื่อยมากในการตั้งมิสซังใหม่ ต้องคิดถึงวัดต่างๆ พระสงฆ์ที่ไปปกครองวัด คิดถึงบ้านเณร เอาใจใส่ดูแลทั้งทางด้านจิตใจและด้านวัตถุ ต้องวิ่งเต้นทำงานตลอด ไม่มีเวลาหยุดพักเลย ท่านได้ล้มเจ็บหนักที่วัดบางนกแขวก ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1929 ท่านได้รับศีลเจิมคนป่วยจากคุณพ่อยวง กาแซตตา และอำลาสมาชิกทุกคน ดูเหมือนไม่มีหวังที่จะรอดได้ แต่วันรุ่งขึ้นท่านกลับฟื้นและดีขึ้นจึงได้ส่งท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์กรุงเทพฯ พระยังทรงพอพระทัย ให้ท่านทำงานของพระองค์ในโลกนี้อีกต่อไป ท่านได้พักรักษาที่โรงพยาบาลราวหนึ่งเดือน ก็เดินทางกลับมาทำงานที่วัดบางนกแขวกต่อไป ถัดจากนั้นราว 1 เดือน  คุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี ได้เดินทางไปประเทศอิตาลี เพื่อเข้าประชุมใหญ่ของคณะ  ครั้งที่ 13 ที่กรุงตุริน และท่านได้ถือโอกาสพักผ่อนรักษาตัวด้วย มีคุณพ่อยวง กาแซตตา ทำหน้าที่แทน
 
วันที่ 3 มิถุนายน  ค.ศ.1929 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ประกาศตั้งคุณพ่อบอสโกเป็นบุญราศี ทางวัดบางนกแขวก จึงได้จัดงานฉลองใหญ่แด่บุญราศีบอสโก  ได้เชิญพระสังฆราชแปร์รอสมาเป็นประธานในการถวายมิสซามโหฬาร การประชุมยอเกียรติแด่บุญราศีด้วย วันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ.1929 ปี ค.ศ.1929 ได้ผ่านไปด้วยความทุกข์และความสุขระคนกัน แต่ทั้งในด้านศาสนาอาศัยวัด ทั้งในด้านการศึกษาอาศัยโรงเรียน นั้นกิจการทั้ง 2 ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วน่าพิศวงมาก ทั้งนี้ก็เพราะกิจการแทบทุกอย่างมารวมอยู่ที่จุดเดียวคือ ตัววัดบางนกแขวก 
 
วันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1930 มีพระสงฆ์องค์หนึ่ง พร้อมกับเณร 10 รูป บราเดอร์ 4 รูป ได้เดินทางจากประเทศอิตาลีมาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อทำการแพร่ธรรมในมิสซังราชบุรี  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1930 เริ่มตั้งบ้านเณรเล็กพื้นเมือง มีเด็กเณรสองคนใช้บ้านริมแม่น้ำหน้าวัด ที่ทางวัดได้ซื้อจากกำนันฮัวใช้ ชัยเจริญ  เป็นบ้านเณร ใช้เป็นห้องเรียน ห้องนอน และมารับอาหารที่บ้านพ่อเจ้าวัด คุณพ่อแตร์ปินและครูเณรการ์โล กาแซตตา เป็นผู้ดูแลถึงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1930 มีเด็กมาเพิ่มจำนวนเณรอีก 6 คน รวมเป็น 8 คน
 
วันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1930 คุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี กลับมาถึงประเทศไทยพร้อมกับคุณพ่อตอร์กวิส ผู้ตรวจงานของคณะ หลังจากได้ไปประชุมที่อิตาลี และพักผ่อนเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี และในปีนี้ทางโรงเรียนได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมปีที่ 1 เป็นครั้งแรก แต่ก่อนเรียนกันถึงแค่ชั้นประถมปีที่ 4 เท่านั้น พวกเณรก็เริ่มเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 พร้อมกับนักเรียนนอกที่สมัครเรียนประมาณ 20 คน โดยใช้โรงพยาบาลที่คุณพ่อซัลม็อง (เป่า) สร้างไว้นั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียนมัธยม ชั้นบนเป็นบ้านเณรซาเลเซียน การศึกษาได้เจริญก้าวหน้ามาก เจ้าเมืองสมุทรสงคราม และนายอำเภอบางคนที่เคยมาเยี่ยมโรงเรียนบ่อยๆ ทางมิสซังได้มีผู้ช่วยที่เป็นกำลังสำคัญคือ คุณพ่อเลาแรนเต คุณพ่อได้รับศีลบวชที่วัดเณรบางช้าง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1931 จากพระสังฆราชแปร์รอสได้สมัครอยู่ช่วยทำงานที่วัดบางนกแขวก เป็นเวลา 1 ปี แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าวัดดอนกระเบื้อง
 
วันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1931 ได้มีเหตุการณ์สำคัญสำหรับมิสซังราชบุรี และวัดบางนกแขวก คือ ภคินีคณะธิดาแม่พระซาเลเซียน 6 รูป ได้เดินทางมาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อทำงานแพร่ธรรมในมิสซังราชบุรี หลังจากได้เรียนรู้ภาษาไทยบ้างแล้ว ก็เริ่มงานดูแลโรงเรียนช่วยให้การศึกษาฝ่ายหญิงก้าวหน้าทัดเทียมโรงเรียนชาย ดูแลเลี้ยงเด็กกำพร้าและช่วยรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วย 
 
ขึ้นวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1931 เวลาบ่าย 15.00 น. มีการแห่แม่พระทางเรือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวัดบางนกแขวก นำหน้าขบวนด้วยเรือ มีรูปกางเขนใหญ่ ถัดมามีเรือประดิษฐานรูปแม่พระ สูงตระหง่านสง่าแล้วเรือของสัตบุรุษวัดต่างๆ ตกแต่งกันอย่างงดงามขบวนแห่เริ่มออกจากหน้าวัดบางนกแขวก แล่นอย่างเชื่องช้าลงไปถึงหน้าอำเภอบางคนที แล้วกลับขึ้นมาจนมาถึงสี่หมื่น ในตอนกลางคืนมีการจุดดอกไม้ไฟ ที่น่าสนใจที่สุดคือดอกไม้ไฟที่รูปแม่พระตั้งอยู่บนแพไม้กลางแม่น้ำ มองเห็นได้ชัดและงดงามมาก จบการฉลองด้วยการจุดดอกไม้ไฟ
 
วันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1932 พระสังฆราชแปร์รอสได้มาประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่สิบองค์ที่วัดบางนกแขวก และพระสงฆ์องค์หนึ่ง คือคุณพ่อ ซาวีโอ มนตรี สมัครทำงานในมิสซังราชบุรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดวัดบางนกแขวก 1 ปี แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าวัดแม่กลองในปีต่อมา ทางวัดได้ขอตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ชื่อ ดรุณานุเคราะห์ รับเด็กชั้นมัธยมชายและหญิง ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1933 วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1933 เป็นวันสำคัญยิ่งของมิสซัง เณรที่ได้เข้ามาทำงานชุดแรกได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระสังฆราชแปร์รอสที่วัดเพลง มี 6 องค์ คือคุณพ่ออัลแปร์ตี คุณพ่อใบนอตตี คุณพ่อกาแซตตา คุณพ่อบอเอตตี คุณพ่อการ์นีนี คุณพ่อรูแซดดู ซึ่งได้เป็นกำลังใหญ่ยิ่งในการทำงานของมิสซังราชบุรี ให้เจริญกว้างขวางยิ่งขึ้น
 
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1933 ได้เริ่มซ่อมวัดบางนกแขวกทางด้านซ้ายมือ เพราะกำแพงแตก ทรุดมาก เถ้าแก่หงส์ นายช่างจากกรุงเทพฯ รับทำงาน คนงานเป็นสัตบุรุษที่ยินดีสละเวลามาช่วยวัด พร้อมกับคนงานของนายช่างได้ทำกำแพงวัดด้านซ้ายและพื้นวัดใหม่ โดยรื้อของเก่าออกระหว่างทำงานซ่อมพื้น ในวันอาทิตย์มีมิสซาที่วัดในและที่วัดใหญ่ด้วย เพื่อให้ความสะดวกแก่สัตบุรุษ เพราะที่ในวัดใหญ่มีน้อย เกะกะด้านต้นเสาและกระดาน การซ่อมวัดเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1933 และจัดเตรียมฉลองวัดอย่างสง่า  โอกาสซ่อมวัดใหม่ระหว่าง ตรีวาร คุณพ่อริชาร์ด ได้มาเทศน์เตรียมใจสัตบุรุษตลอดสามวัน  มีการเดินรูปสิบสี่ภาค และอวยพรศีลมหาสนิทตลอดสามวัน 
 
วันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1933 ฉลองวัดบางนกแขวกสง่าครึกครื้นมากกว่าทุกปี เพราะซ่อมวัดใหม่อย่างสวยงาม มีพระสงฆ์เก่าที่เคยอยู่ประจำวัดบางนกแขวกมาร่วมฉลองด้วยหลายองค์ อาทิเช่น คุณพ่อฟิลิป คุณพ่อนิโคลาส คุณพ่อเฮนรี่ ฯลฯ นอกจากซ่อมวัดแล้วก็ได้ปรับปรุงถนนหน้าวัดให้สูงขึ้น และจัดปูกระเบื้องอย่างเรียบร้อยน่าดู และดินที่ขุดขึ้นมาจากการซ่อมวัด ก็ใช้ถมสนามหน้าวัดให้สูงและเรียบร้อย นักเรียนใช้วิ่งเล่นได้สะดวก 
 
วันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1934 ฉลองปาสกา สมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 11 ได้ประกาศแต่งตั้งบุญราศี  ยวง บอสโก เป็นนักบุญ โอกาสนั้นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 7 พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับพระราชินีรำไพพรรณี ได้เสด็จร่วมพิธีฉลอง ณ วิหารนักบุญเปโตร ที่กรุงโรม ด้วย เป็นการฉลองมโหฬาร เพราะเป็นวันฉลองปาสกาด้วย
 
วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1934 พระสันตะปาปาปิโอที่ 11 ทางกระทรวงเผยแพร่พระศาสนาได้แต่งตั้ง คุณพ่อกาเยตาโน ปาซ็อตตี เป็นสังฆรักษ์ผู้ปกครองมิสซังราชบุรีโดยสิทธิ์ขาด ปีการศึกษา ค.ศ.1934ทางโรงเรียนราษฎร์ดรุณานุเคราะห์ได้ขอจัดตั้งประโยคครูมูลขึ้นทางกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้จัดตั้งได้ จึงได้มีการศึกษาฝึกหัดครูเป็นปีแรก มีนักเรียนนอก สามเณรไทยและสามเณรฝรั่งเข้าเรียนรวมทั้งหมด 21 คน สิ้นปีได้ไปสอบที่จังหวัดสมุทรสงคราม และสอบไล่ทุกคน ทางบางนกแขวกได้จ่ายครูฆราวาสไปช่วยสอนที่โรงเรียนตามวัดต่างๆ เป็นต้น ที่บางนกแขวก บ้านโป่ง บางตาล ท่าม่วงฯลฯ เป็นงานชิ้นสำคัญ ช่วยเตรียมครู สำหรับมิสซัง โรงเรียนฝึกหัดครู  ดำเนินไปได้ 3 ปี เท่านั้นก็ต้องล้มเลิก เพราะรัฐบาลไม่อนุญาตให้โรงเรียนราษฎร์เปิดสอนวิชาครูมูลอีกต่อไป รัฐบาลจะจัดการโรงเรียนฝึกหัดครูแต่ผู้เดียว 
 
วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1934 มีงานฉลองมโหฬาร ที่วัดบางนกแขวก คือ ฉลองนักบุญ ยวง บอสโก เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับสถาปนาเป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1934 พระสังฆรักษ์กาเยตาโน ปาซ็อตตี ถวายมิสซาปอนตีฟิกัลป์ เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆรักษ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1934 มีพิธีสวมเสื้อหล่อของเณรไทย 8 รูป ที่เข้ารับการอบรมในบ้านเณรของมิสซังราชบุรีในชุดแรกๆ และเหลือเพียง 2 องค์ ที่ได้บรรลุขั้นเป็นพระสงฆ์ คือ คุณพ่อสนิท ลุลิตานนท์ และ คุณพ่อสนม วีระกานนท์
 
วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1934 ได้จัดงานฉลองแม่พระนิรมลอย่างสง่ากว่าทุกปี นอกจากพิธีในวัดแล้วมีการแข่งขันคำสอนของนักเรียนทุกชั้นต่อหน้าสัตบุรุษที่เข้าฟังและชมการแข่งขันของบุตรหลานของตน จบการแข่งขันคำสอนแล้วมีการแจกรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศที่สองที่สามตามลำดับ โอกาสนี้พระสงฆ์และสามเณรแห่งมิสซังกรุงเทพฯ  ถือโอกาสอำลาบรรดาพระสงฆ์ สัตบุรุษวัดบางนกแขวกด้วย เพราะจะย้ายบ้านเณรไปตั้งที่ศรีราชา
 
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1934 เวลา 06.00 น. เรือเดินทะเลลำใหญ่สองลำได้บรรทุกของ และนำเณรของ มิสซังกรุงเทพฯ ออกจากบ้านเณรบางช้าง เดินทางทะเลไปถึงบ้านเณรใหญ่ที่ศรีราชา ส่วนบ้านเณรบางช้างนั้นทางมิสซังราชบุรีก็ได้รับมาเป็นบ้านเณรของมิสซังราชบุรีต่อไป และต่อไปนี้จะเรียกชื่อใหม่ว่า บ้านเณรบางนกแขวก มิใช่บ้านเณรบางช้าง และชื่อตำบลก็เรียกว่า ตำบลบางยี่รงค์ มิใช่ตำบลบางช้างต่อไปอีกแล้ว 
 
เริ่มปีการศึกษา ค.ศ.1935 วันที่ 17 พฤษภาคม บรรดาเณรซาเลเซียนข้ามไปอยู่ในบ้านเณรใหม่ คือบ้านเณรบางช้างเดิม ส่วนเณรไทยพื้นเมือง ก็อาศัยในบ้านเณรซาเลเซียนเดิม คือชั้นบนเป็นบ้านเณร ชั้นล่างเป็นโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ปีนี้มีเณรพื้นเมือง 37 คน คณะซิสเตอร์ธิดาแม่พระที่เข้าทำงานในมิสซังราชบุรีเมื่อปี ค.ศ.1931 และตั้งศูนย์กลางอยู่ที่วัดบางนกแขวก รับหน้าที่ดูแลอบรมให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนหญิง ทั้งในโรงเรียนประชาบาลบางนกแขวกฝ่ายประถม และโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ฝ่ายมัธยมให้เจริญก้าวหน้าอย่างน่าปลื้มใจ นอกจากงานทางโรงเรียนแล้ว ยังรับหน้าที่เลี้ยงดูเด็กกำพร้า ช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยตลอดมา  ในปี ค.ศ.1937 ได้ย้ายสำนักงานไปตั้งที่โรงเรียนนารีวุฒิ บ้านโป่ง  แต่ยังมีซิสเตอร์ที่อยู่ประจำทำงานต่อไปอีก  ช่วยเหลืองานทั้งทางโรงเรียนและทางวัดด้วย 
 
ในปี ค.ศ.1936 นี้ มิสซังราชบุรีได้รับพรพิเศษจากพระ คือ คณะชีลับกาปูชิน ได้ยินดีเข้ามาตั้งอาราม  ในมิสซังราชบุรี เพื่อช่วยมิสซังด้วยการทรมานตัวและการสวดภาวนา ซิสเตอร์คณะนี้ได้มาพักเรียนภาษาไทยอยู่ที่บางนกแขวกเป็นเวลา 6 เดือนแล้วได้เข้าไปประจำอยู่ที่อารามที่สร้างเตรียมไว้ที่วัดบ้านโป่ง และอยู่มาจนกระทั่งบัดนี้จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้น จนสามารถแยกอาราม มีทั้งหมด 6 อาราม
 
วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1937 ฉลองพระคริสตกายา นับเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งของวัดบางนกแขวก ในวันนั้นพระสังฆรักษ์ กาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้ประกอบพิธีสวมเสื้อหล่อให้แก่เณร 7 รูป ของบ้านเณรพื้นเมือง ซึ่งได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ.1930 นับเป็นความก้าวหน้าของบ้านเณรประจำมิสซังราชบุรีก้าวหนึ่งและในจำนวน 7 รูป ที่รับพิธีสวมเสื้อหล่อในครั้งนั้น ซึ่งเป็นเณรชุดแรกของบ้านเณรพื้นเมืองประจำมิสซังราชบุรีได้บรรลุสมณศักดิ์เป็นพระ สงฆ์ 3 องค์ คือคุณพ่อไกรศรี  ทัพศาสตร์ คุณพ่อสมกิจ  นันทวิสุทธิ์ และคุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ
 
ปี ค.ศ.1937 มิสซังราชบุรียังได้รับพรของพระอีกอย่างหนึ่ง คือคณะพระภคินีสงเคราะห์ประจำมิสซังราชบุรีได้มีกำเนิดขึ้นที่ บ้านบางนกแขวก คุณพ่อการ์โล เดลลาตอร์เร เป็นผู้ริเริ่มตั้งพระสังฆรักษ์กาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้รับรองอุปการะให้เป็นคณะนักบวชของมิสซังราชบุรี โดยให้ซิสเตอร์ธิดาแม่พระเป็นผู้อบรมสมาชิกคณะนี้ได้ตั้งสำนักอยู่ที่วัดบางนกแขวก จนถึงปี ค.ศ.1955 ได้ย้ายศูนย์กลางของคณะไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนนารีวิทยา ราชบุรี
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 ถึงปี ค.ศ.1938 คุณพ่อยวง กาแซตตา เป็นพ่อเจ้าวัดบางนกแขวก อธิการของคณะ ซาเลเซียน  อธิการบ้านเณรใหญ่ซาเลเซียน อธิการบ้านเณรเล็กพื้นเมือง อาจารย์สอนเทวศาสตร์ และปรัชญาศาสตร์ในบ้านเณร เป็นที่ปรึกษาของพระสังฆรักษ์กาเยตาโน ปาซ็อตตี ในการบริหารงานของวัดและมิสซังให้เจริญก้าวหน้า ในปี ค.ศ.1928 คุณพ่อได้เป็นเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย 9 ปี เป็นพ่อเจ้าวัด วัดเพลง 2 ปี เหรัญญิกของคณะซาเลเซียน 10 ปี และเป็นอธิการโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง 3 ปี  คุณพ่อป่วย ได้เดินทางไปประเทศอิตาลีเพื่อรักษาตัว พระได้ยกคุณพ่อไป ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 หลังจากได้ไปถึงประเทศอิตาลีได้ไม่กี่เดือน คุณพ่อได้ตรากตรำทำงานในประเทศไทยตลอด 34 ปี ด้วยความลำบากยากยิ่ง เนื่องจากตั้งมิสซังใหม่ และได้ทำความเจริญแก่มิสซังราชบุรีมิใช่น้อย คำนวณอายุได้ 62 ปี
 
ปี ค.ศ.1938 คุณพ่อมารีอาโน บาร์เบโร เข้ารับตำแหน่งพ่อเจ้าวัดบางนกแขวกแทนคุณพ่อยวง  กาแซตตา ในปีนี้ เหตุการณ์ทางวัดบางนกแขวกไม่สู้ราบรื่นนักทางรัฐบาล ได้ออกกฎหมายให้ล้มเลิกโรงเรียนประชาบาลแผนกประชาชน จัดตั้งเสียให้มีเฉพาะโรงเรียนราษฎร์เป็นของเอกชนได้ ฉะนั้นโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลของตนก่อน  แล้วจึงขอย้ายมาเข้าโรงเรียนราษฎร์ดรุณานุเคราะห์ แต่กว่าจะขอได้ก็เป็นเวลาแรมปี คุณพ่อบาร์เบโร ดำรงตำแหน่งเจ้าวัดวัดบางนกแขวกอยู่ 2 ปี ในสมัยแห่งความยุ่งยากพระสงฆ์ต้องคอยรวบรวมเด็กมาเรียนคำสอนในวันพระ ซึ่งเป็นวันหยุดของโรงเรียนประชาบาล และต้องสอนคำสอนที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกลวัด เด็กเสื่อมความเชื่อ ความศรัทธา เพราะมีโอกาสรับการอบรมคำสอนทางศาสนาน้อยเต็มที 
 
ปี ค.ศ.1939 วันที่ 18 มีนาคม เป็นวันสำคัญของสังฆมณฑลราชบุรีอีกวันหนึ่งพระสังฆราชแปร์รอส ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่วัดบ้านเณรบางนกแขวก คือ คุณพ่อคาเร็ตโต (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระสังฆราชประมุขมิสซังราชบุรี) คุณพ่อฟรีเยรีโอ  คุณพ่อเกรสปี  คุณพ่อมาเน  คุณพ่ออันเยโล  คุณพ่อเปตี  คุณพ่ออุลลีอานา คุณพ่อวิตาลี พระสงฆ์ใหม่เหล่านี้ได้แยกย้ายไปช่วยทำงานวัด ตามโรงเรียนและในบ้านเณรช่วยมิสซังให้ก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น 
 
ในปี ค.ศ.1940 คุณพ่อใบนอตตีย้ายจากวัดเพลงมาเป็นเจ้าวัดบางนกแขวก คุณพ่อใบนอตตี ต้องรับภาระหนักตั้งแต่วันแรก เพราะโรงเรียนประชาบาลต้องล้มเลิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1938 บัดนี้ก็ยังโอนเด็กนักเรียนมาเข้าโรงเรียนราษฎร์ดรุณานุเคราะห์ยังไม่ได้ นักเรียนมัธยมมีจำนวนน้อย จนต้องยุบชั้นมัธยมปีที่ 4-5-6 เสีย มีแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1-2-3 เท่านั้น เด็กนักเรียนมีโอกาสเรียนคำสอนเฉพาะวันพระเท่านั้น วันอาทิตย์ก็ไม่ได้ฟังมิสซา เพราะต้องไปเรียน และปีนี้เองคดีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน เรื่องกิจกรรมทางศาสนายิ่งเข้าที่คับขันขึ้นทุกวัน คุณพ่อก็ต้องความ พากเพียรและใช้ความเฉลียวฉลาดความสามารถทุกอย่างเพื่อให้วิกฤติการณ์ผ่านไปอย่างราบรื่น 
 
วันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1940 พระสังฆราชแปร์รอสได้มาประกอบพิธีโปรดศีลบวชแก่พระสงฆ์ใหม่ คือ  คุณพ่อเยลลีชี คุณพ่อออตตอลีนา คุณพ่อโป่งกีโอเน คุณพ่อโปรเวรา คุณพ่อวันแดร์ฟอร์ตและดีอาโกโน อีกสามองค์ มาถึงวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1940 พระสังฆราชแปร์รอสได้โปรดศีลบวชแก่พระสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่ออันเดรโอนี  คุณพ่อบุสตี คุณพ่อฟอลีอัตตี ที่วัดบ้านโป่งที่ต้องโปรดศีลบวชเร็วก่อนที่จะเรียนจบสิ้นปี ก็เพราะเหตุการณ์ ตึงเครียดขึ้นทุกวันพระสังฆราชพระสงฆ์ต่างด้าวถูกจำกัดที่อยู่หรือไม่ก็ต้องออกไปนอกประเทศ ปี ค.ศ.1940 ผ่านไปด้วยความลำบากทั่วไปทั้งประเทศเพราะกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนการศึกษาและด้านศาสนาไม่ราบรื่นเลย 
 
ปี ค.ศ.1941 มรสุมแห่งความยุ่งยากยังแพร่สะพัดไปทั่ว  พระสังฆรักษ์กาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ได้รับอภิเษกจากพระสังฆราชแปร์รอส ที่วัดอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1941 อย่างเงียบๆ เพราะอยู่ในเวลาคับขัน พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลมิสซัง  ทั่วประเทศไทย เนื่องด้วยพระสังฆราชมิสซังกรุงเทพฯ และภาคอีสานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าที่คับขันมาก  ในปี ค.ศ.1941 โรงเรียนดรุณานุเคราะห์  ซึ่งได้รับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิงแต่แยกกันเรียน นักเรียนหญิงได้แยกออกไปตั้งเป็นโรงเรียนต่างหาก ชื่อ “โรงเรียนนารีวัฒนา” ทั้งนี้อาศัยการจัดการของคุณพ่อใบนอตตี
 
ในปี ค.ศ.1941 นี้ด้วย คณะซาเลเซียนได้ย้ายไปเรียนเทวศาสตร์ที่ประเทศจีน เนื่องด้วยเหตุการณ์ปั่นป่วนมาก ไม่ปลอดภัยแก่เณรต่างด้าว ในการศึกษาสามเณรพื้นเมืองจากวัดบางนกแขวก ได้ข้ามไปอยู่ที่บ้านเณร  ซาเลเซียนแทน ปีนี้เณรของมิสซังกรุงเทพฯ และภาคอีสานได้อพยพมาเรียนที่บ้านเณรบางนกแขวก เพราะบ้านเณรทั้งสองแห่งนี้ต้องปิด พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ยินดีต้อนรับเณรมิสซังอื่นมาร่วมเรียนด้วย ในฐานะที่ท่านต้องรับผิดชอบมิสซังทั่วไปในประเทศไทยทั้งหมด ในบรรดาเณรเหล่านี้ได้ลุถึงสมณศักดิ์สงฆ์ก็หลายองค์และได้เป็นพระสังฆราชด้วย คือ พระสังฆราชเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ประมุขสังฆมณฑลท่าแร่ 
 
ปี ค.ศ.1942 สงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองยิ่งยุ่งยากกว่าสองปีที่แล้วมาก พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี เป็นพระสังฆราช สมัยยุ่งยากลำบาก ท่านเคยกล่าวว่า ท่านบวชเป็นพระสงฆ์ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่และเสียงลูกระเบิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและบวชเป็นพระสังฆราชในความยุ่งยากแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ด้วยความพากเพียร และความเฉลียวฉลาด ท่านได้นำพระศาสนจักรแห่งประเทศไทย ผ่านมรสุมไปได้อย่างราบรื่น บ้านเณรยังให้การศึกษาแก่เณรต่อไปได้ตามปกติแห่งเดียว คือที่บางนกแขวก โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องปิดเพราะโดนภัยแห่งสงครามคุกคาม แต่ที่บางนกแขวกทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติ คุณพ่อใบนอตตีเจ้าวัดบางนกแขวกต้องประสบความยุ่งยากมิใช่น้อยในการปกครองวัดระหว่างสงครามนี้ แต่ด้วยความเพียรอดทน ความฉลาดรอบคอบ คุณพ่อก็สามารถนำพระศาสนจักรผ่านมรสุมไปได้โดยสวัสดิภาพ 
 
ปี ค.ศ.1943 ยังอยู่ในสมัยสงครามกันดารข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ไม้สอยเสื้อผ้าสิ่งของทุกอย่างขึ้นราคาสูงลิบ ต้องพยายามใช้ทุกอย่างกันอย่างประหยัดที่สุด คุณพ่อใบนอตตี ได้เพียรพยายามให้เด็กคริสตังได้ย้ายเข้ามาเรียนในโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ภัยสงครามก็เข้าข้างเราอย่างหนึ่ง คือ โรงเรียนประชาบาลหลายหลังต้องปิด  เด็กคริสตังจึงถือโอกาสมาเข้าเรียนในโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ซึ่งยังเปิดสอนตามปกติอยู่นั้นได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น จำนวนนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นทุกวันเป็นจำนวนหลายร้อยคน 
 
ปี ค.ศ.1944 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประกาศแต่งตั้งพระสังฆราชไทยองค์แรก คือ พระสังฆราชยาโกเบ แจง  เกิดสว่าง ทั้งนี้ก็เพราะพระสังฆราชต่างด้าว ยิ่งวันยิ่งปฏิบัติหน้าที่ไม่สะดวก เพราะสาเหตุการเมืองไม่อำนวย 
 
ปี ค.ศ.1944 ภัยแห่งสงครามได้รุนแรงถึงขีดสูงสุด จะหาที่สงบแทบไม่ได้เลย มีการทิ้งระเบิดที่ประตูน้ำ ปากคลองบางนกแขวก ใกล้กับวัดบางนกแขวก พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้บนต่อแม่พระขอพระมารดาคุ้มครองวัดและสัตบุรุษให้ปลอดภัยจากสงคราม  จะยกถวายวัดในให้อยู่ในความอุปการะของแม่พระองค์อุปถัมภ์แห่งคริสตชน เมื่อภัยสงครามสิ้นสุดลงแล้ว  ก็ได้บูรณะวัดในบางนกแขวกให้งดงามเหมาะสม   และพระสังฆราช  กาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้ทำการเสกวัดถวายแด่แม่พระแก้บน และทำฉลองแม่พระขอบคุณแม่พระ ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1946 วัดนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความคุ้มครองของพระมารดาต่อสัตบุรุษชาวบางนกแขวกสืบ ๆ มา
 
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 เป็นวันประกาศสงบศึกสงคราม ทุกคนต่างดีใจขอบคุณพระเจ้า สิ้นทุกข์กันที แต่ผลแห่งสงครามยังยืดเยื้อไปอีกนานปี นั่นคือความยากจน ขัดสนข้าวปลาอาหาร ขาดเครื่องใช้ไม้สอยทุกอย่าง ข้าวของราคาสูงลิบและหาซื้อไม่ได้ด้วย 
 
ปี ค.ศ.1946 แม้อยู่ในภาวะขัดสน แต่คุณพ่อใบนอตตี ก็ยังได้สามารถปรับปรุงวัดบางนกแขวกให้ดีขึ้นด้วย บูรณะกำแพงวัดที่ชำรุด จัดทำพื้นวัดใหม่ ปูด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายที่สวยงาม บูรณะพระแท่น ทาสีวัดและพระแท่น จัดสร้างม้านั่งในวัด จัดหาเครื่องใช้ใหม่สำหรับพิธีจารีตในวัด ทุกอย่างที่คุณพ่อใบนอตตีได้บูรณะในสมัยนั้นยังปรากฏอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ 
 
วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1947 เป็นวันสำคัญที่จารึกไว้ในประวัติการณ์ของวัดบางนกแขวก และเป็นวันชื่นชมยินดีอย่างยิ่งของมิสซังราชบุรี เป็นวันที่พระสงฆ์ใหม่ชุดแรกของมิสซังราชบุรีได้รับศีลบวชจากพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ที่วัดบางนกแขวก คุณพ่อใบนอตตี เจ้าอาวาสช่วยกันจัดงานฉลองอย่างมโหฬารที่สุด เป็นการแสดงความยินดีที่บ้านเณรของมิสซังราชบุรีได้มีกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 เป็นเวลา 17 ปีมาแล้ว ได้ทำงานปลูกหว่าน และรดน้ำพรวนดิน วันนี้เป็นวันแรกที่เก็บผล คือ คุณพ่อสมกิจ  นันทวิสุทธิ์ และคุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ
 
หลังจากได้บูรณะวัด และบริเวณวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อใบนอตตีได้เริ่มจัดสร้างโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ขึ้นใหม่ เดิมใช้ตึกสองชั้นที่คุณพ่อเป่าได้สร้างเป็นบ้านพักคนชรา และโรงพยาบาล เมื่อปี ค.ศ.1927 เคยใช้เป็นบ้านเณรสมัยคณะซาเลเซียนเข้ามาปกครองตอนแรก แล้วเปลี่ยนมาเป็นอาคารโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ในปีค.ศ.1948 คุณพ่อได้รื้อโรงเรียนหลังเก่าลง และเริ่มสร้างให้มีรูปแบบทันสมัยแข็งแรงถาวร คุณพ่อแตร์ปินเป็นผู้ออกแบบแต่การสร้างยังไม่ทันสำเร็จ คุณพ่อใบนอตตีได้ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดดอนมดตะนอย คุณพ่อเปโตร เยลลีชี ซึ่งเป็นปลัดได้เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกต่อไป 
 
คุณพ่อใบนอตตี ได้เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งที่ได้ทำความเจริญแก่วัดบางนกแขวกมากที่สุด กล่าวคือ
1. ได้นำสัตบุรุษกิจการด้านศาสนาและการศึกษาผ่านมรสุมแห่งสงครามไปได้อย่างราบรื่น 
2. จัดบูรณะวัดบางนกแขวก สร้างโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ขึ้นใหม่ สร้างถนนรอบวัด
3. จัดวางระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัด โรงเรียนและสัตบุรุษให้ทุกฝ่ายได้ถือ การงานทุกอย่างจึงประสานกันและค่อยๆ เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน
4. แนะนำสัตบุรุษให้รู้จักทำมาหากินจริงๆ มีอาชีพเป็นหลักแหล่งเนื่องด้วยผลของสงคราม ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมาก ทุกคนต้องมีอาชีพเป็นล่ำเป็นสันจึงจะมีอันจะกิน คุณพ่อได้แนะนำส่งเสริมอาชีพของสัตบุรุษให้ทำกันอย่างจริงจัง ทุกคนจึงเอาตัวรอดจากความยากจนมาได้ เมื่อเห็นว่าการทำจริงจังเกิดผลดีจึงมีมานะทำกันต่อๆ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ฐานะของสัตบุรุษดีขึ้นกว่าเก่ามากทุกคนยังระลึกถึงบุญคุณของคุณพ่อใบนอตตี ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอ
 
วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1948 เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมิสซังราชบุรีและวัดบางนกแขวก คือ มีการบวชพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลราชบุรีเป็นชุดที่สอง คือ คุณพ่อบุญนาค ทองอำไพ คุณพ่อสุเมธ วัชรศักดิ์ไพศาล คุณพ่อวิศิษฎ์ สินสมรส พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ประกอบพิธีบวชที่วัดบางนกแขวก วันนั้นได้ทำงานฉลองใหญ่และฉลองนักบุญยวง บอสโก ด้วย| 
 
ปี ค.ศ.1949 คุณพ่อใบนอตตีย้ายไปเป็นเจ้าวัดดอนมดตะนอย คุณพ่อเยลลีชี รับตำแหน่งคุณพ่อเจ้าวัดบางนกแขวก งานแรกก็คือจัดสร้างโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1949 มีพระสังฆราชแจง เกิดสว่าง พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง มาร่วมฉลองครั้งนั้นด้วย พระสังฆราชแจง เกิดสว่าง เป็นผู้ประกอบพิธีเสกโรงเรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามทำพิธีเปิดป้ายโรงเรียน มีการแสดงกลางแจ้งของนักเรียน การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ มีงานมหรสพสองคืน มีการกินเลี้ยงศิษย์เก่าดรุณานุเคราะห์ด้วย 
 
ปี ค.ศ.1949 นี้ มิสซังราชบุรียังได้พรของพระติดต่อกันอีกปีหนึ่ง คือ วันที่ 31 มกราคมปีนี้ พระสังฆราช  กาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่อีกองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อรัตน์ บำรุงตระกูล  เป็นรุ่นที่สามของมิสซังราชบุรี และนับเป็นพระญาณสอดส่องของพระ ได้จัดไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะต่อมาคุณพ่อรัตน์  บำรุงตระกูล ได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกของสังฆมณฑลราชบุรี และได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1969 ที่ราชบุรี และทำพิธีเข้ารับตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1969 ร่วมกับงานฉลองวัดบางนกแขวกด้วย 
 
วันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1950 เป็นวันนำความเศร้าโศกสุดซึ้งมาสู่มวลคริสตังมิสซังราชบุรี และคริสตังทั่วประเทศไทย  พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้มรณภาพที่โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ กรุงเทพฯ ได้ทำพิธีปลงศพที่วัดบางนกแขวก โดยพระสังฆราชแจง เกิดสว่าง แห่งจันทบุรี  ศพของท่านบรรจุไว้ที่ใต้เชิงกางเขนกลางสุสานของวัดบางนกแขวก พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้ทำงานในประเทศจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1918 เป็นเวลา 9 ปี เข้ามาทำงานในประเทศไทย มิสซังราชบุรีตั้งแต่ปี ค.ศ.1927 ทำงานในประเทศไทย 23 ปี บวชเป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1941 อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราช 9 ปี ท่านเป็นผู้ก่อสร้างมิสซังราชบุรีขึ้นมา ด้วยความลำบากยากยิ่ง ท่านเป็นผู้มีความเพียรอดทน สุขุม ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ เป็นที่ชอบพอแก่ทุกคนที่พบเห็น เข้าสังคมกับคนได้ทุกชั้นวรรณะ คำนวณอายุได้ 60 ปี
 
วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1950 มีงานฉลองแม่พระฟาติมา สัตบุรุษทุกวัดไปต้อนรับแม่พระฟาติมาที่ราชบุรี แล้วแห่รูปแม่พระมาบางนกแขวกทางเรือ เวลา 16.00 น. ถึงบางนกแขวก เวลา 18.00 น. นำรูปแม่พระเข้าวัดเทศน์อวยพรศีลมหาสนิทอย่างสง่า วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1950 มีมิสซาขับมโหฬารฉลองแม่พระ หลังจากมิสซามีการแห่รูปแม่พระรอบวัด สัตบุรุษทุกวัดมาร่วมฉลองพร้อมกันที่วัดบางนกแขวก เวลาบ่ายมีการอวยพรคนป่วยที่หน้าวัด เวลาค่ำแห่โคมไฟรอบวัด แล้วมีพิธีอวยพรศีลมหาสนิทที่หน้าวัด สัตบุรุษอยู่ในสนามหน้าวัด  
 
วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1950 เวลาเช้า 7.00 น. มีมิสซาเทศน์ถวายตัวแด่แม่พระ เวลา 9.00 น. นำรูปแม่พระกลับไปกรุงเทพฯ ผ่านทางราชบุรี คุณพ่อเปโตร คาเร็ตโต  เจ้าคณะซาเลเซียนได้รับแต่งตั้งเป็น พระสังฆราชของมิสซังราชบุรี สืบต่อจากพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี และได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่วัดบางนกแขวก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 โดยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง แห่งมิสซังกรุงเทพฯ พระสังฆราชแจง เกิดสว่าง  แห่งมิสซังจันทบุรี และพระสังฆราชบาเยต์  แห่งมิสซังอีสาน วัดบางนกแขวกได้เตรียมจัดงานฉลองมโหฬารยิ่ง มีพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง มาร่วมฉลองทั่วประเทศไทย 
 
วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1951 หลังวันอภิเษกพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีบวชเป็นพระสงฆ์ให้แก่พระสงฆ์รุ่นที่ 4 แห่งมิสซังราชบุรี ที่ได้เรียนจบมาจากปูนามัลลี ประเทศอินเดีย คือคุณพ่อไกรศรี ทัพศาสตร์  คุณพ่อเซียงเก่ง หมุยเส็ง และคุณพ่อชวลิต วินิตกูล ผลงานของพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี 
 
ปี ค.ศ.1952 คุณพ่อเยลลีชี ได้สร้างโรงละคร มีเครื่องประดับฉาก ไฟฟ้า แสงสีที่ทันสมัย พร้อมกับเครื่องแต่งตัวเพื่อให้สัตบุรุษมีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจ เชยชมละครที่มีคติที่ดีให้แง่คิดในโอกาสต่างๆ ทั้งยังใช้เป็นเวทีฟ้อนรำแสดงดนตรีของบรรดานักเรียนในโอกาสงานรื่นเริงต่างๆ ได้ด้วย  วันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1952 พระสงฆ์คณะคามิลเลี่ยนได้มาถึงบางนกแขวก  และพักเรียนภาษาไทยอยู่ที่บ้านเณรบางนกแขวก เพื่อเตรียมตัวไปทำงานที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้เป็นผู้ขอ ให้เข้ามาทำงานในมิสซังราชบุรี เพื่อช่วยพยาบาลคนเจ็บป่วย แต่ได้เข้ามาหลังจากพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้ลาโลกไปแล้ว 
 
วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1952 พระสงฆ์คณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ได้มาถึงบางนกแขวก พระสงฆ์คณะนี้ออกจากประเทศจีน เพราะภัยคอมมิวนิสต์ พระสังฆราชคาเร็ตโต ได้รับคณะนี้เข้าช่วยทำงานในมิสซังราชบุรี ได้พักเรียนภาษาไทยที่บางนกแขวกอยู่ 1 ปี แล้วไปทำงานแพร่ธรรมทางภาคใต้ของประเทศไทย ในเขตมิสซังราชบุรี
 
ในปี ค.ศ.1952 พระสังฆราชคาเร็ตโต และคุณพ่อเยลลีชี ได้ช่วยกันจัดหาที่เพื่อขยับขยายสัตบุรุษไปทำมาหากินและตั้งตัวใหม่ ครั้งแรกได้ไปที่ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้มีผู้ไปพบที่ห้วยยาง ริมถนนยุทธศาสตร์ ท่านทั้งสองได้ไปดูและเห็นที่กว้างขวางอยู่ริมถนนด้วย จึงได้ตกลงจับจองที่นั่น เพื่อระบายสัตบุรุษที่วัดบางนกแขวก และกับตามวัดต่างๆ ไปจับจองที่ทำมาหากินใหม่ ท่านทั้งสองได้สละกำลังใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์ เพื่อสร้างนิคมห้วยยางนี้ตลอดเวลานานปี 
 
ในปี ค.ศ.1953 ได้ตั้งโรงเรียนที่ห้วยยางชื่อโรงเรียน “อรุณวิทยา” คุณพ่อใบนอตตี และคุณพ่อไกรศรี ไปประจำทำงานเป็นพวกแรก คุณพ่อเยลลีชีวิ่งเต้นช่วยเหลือกำลังความคิด กำลังกาย และกำลังทรัพย์เสมอมา และช่วยสัตบุรุษวัดบางนกแขวก ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่ห้วยยางอยู่เรื่อยๆ ทำให้ห้วยยางเจริญขึ้น และทางบางนกแขวกก็อยู่กันอย่างสบายไม่แออัดเกินไป 
 
ปี ค.ศ.1954 ได้มีงานฉลองหิรัญสมโภชมิสซังราชบุรี ในความปกครองของคณะซาเลเซียนได้ 25 ปี และงานฉลองรับวิทยฐานะโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ เริ่มงานฉลองบ่าย วันที่ 25 มกราคม จนถึงในวันสุดท้าย วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1954 เวลา 9.00 น. พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ถวายมิสซาขับฉลองนักบุญยวง บอสโก และ 25 ปีของมิสซังราชบุรี ในตอนบ่ายเวลา 14.00 น. มีงานฉลองรับรองวิทยฐานะโรงเรียนดรุณานุเคราะห์เป็นทางการ ปี ค.ศ.1956 อารามภคินีสงเคราะห์ได้ย้ายจากบางนกแขวกมาตั้งอยู่ที่โรงเรียนนารีวิทยา ราชบุรี เพราะที่บางนกแขวกสถานที่คับแคบ ขยายอารามให้กว้างขวางอีกไม่ได้  และอีกประการหนึ่งการติดต่อคมนาคมไม่สู้สะดวก เพราะเป็นทางน้ำ 
 
ปี ค.ศ.1956 พระสังฆราชได้ย้ายสำนักงานมาตั้งที่ราชบุรี ในเขตโรงเรียนดรุณาราชบุรี ซึ่งทางมิสซังได้ซื้อที่แปลงใหญ่ เพื่อตั้งบ้านเณร, โรงเรียนและสำนักพระสังฆราช เหตุที่ต้องย้ายสำนักพระสังฆราชก็เพราะสมัยนี้ต้องมีการติดต่อกับศูนย์กลางที่กรุงเทพฯอยู่ตลอดเวลา และวัดต่างๆ ก็ต้องติดต่อกับสำนักพระสังฆราชอยู่เสมอ เพราะกิจการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ามาก ผิดกับสมัยก่อน พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ซึ่งเห็นการณ์ไกลจึงได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ราชบุรีในตัวเมือง เพื่อความสะดวกและความก้าวหน้าของมิสซังในอนาคต 
 
ในปี ค.ศ.1956 นี้เอง นักเรียนประจำของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ที่บางนกแขวก ก็ย้ายไปอยู่ประจำที่โรงเรียนดรุณาราชบุรีด้วย จึงต้องยุบเลิกกิจการนักเรียนประจำของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์เพราะบรรดาพระสงฆ์ ผู้ใหญ่แผนกนักเรียนประจำของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ต้องย้ายไปดำเนินกิจการนักเรียนประจำที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี ทางโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ จึงมีแต่นักเรียนไปกลับเท่านั้น
 
ปี ค.ศ.1957 บ้านเณรบางนกแขวก ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้วิ่งเต้นหาปัจจัยในการสร้างโรงเรียนดรุณาราชบุรี สำนักพระสังฆราชแล้วก็ได้พยายามเดินทางไปอเมริกาหลายครั้ง เพื่อหาทุนทรัพย์มาสร้างบ้านเณรที่ยังสร้างค้างอยู่ ด้วยความลำบาก ความหนักใจอย่างยิ่ง ดังที่ท่านเคยปรารภกับผู้เขียนนี้หลายครั้งเกี่ยวกับสร้างบ้านเณรต้องชะงักไป แต่ด้วยความมานะของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต และพระทรงอวยพรงานของท่าน ไม่ขาดผู้ใจบุญที่อุดหนุน จนในที่สุดบ้านเณรก็สร้างสำเร็จเช่นกัน บรรดาสามเณรจึงย้ายไปอยู่ที่ราชบุรี เพื่อความสะดวกในการศึกษา การอบรม การติดต่อ การสังคม ให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ 
 
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1957 มีงานฉลองรับรองวิทยฐานะโรงเรียนนารีวัฒนา
 
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1958 วันขึ้นปีใหม่ คุณพ่อซิลวิโอ เดมูนารี ได้สิ้นใจโดยกะทันหัน บนเก้าอี้ที่ท่านพักผ่อน เวลา 14.20 น. จึงนำความระทมเศร้าโศกมาสู่ชาววัดบางนกแขวกอย่างยิ่ง ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1958   ศพของคุณพ่อเดมูนารี ฝังไว้ใต้กางเขนใหญ่กลางสุสานวัดบางนกแขวกข้างศพของพระสังฆราชกาเยตาโนปาซ็อตตี คุณพ่อเดมูนารี เป็นผู้ริเริ่มเปิดวัดนักบุญกาเยตาโน ที่บางน้อย ประมาณปี ค.ศ.1955 ปี ค.ศ.1958 เป็นปียูบีลี แห่งแม่พระครบ 100 ปี 1 ศตวรรษ ที่แม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด คุณพ่อเยลลีชี  ได้จัดสร้างถ้ำแม่พระเมืองลูร์ด และเปิดถ้ำแม่พระที่หน้าวัดบางนกแขวก ซึ่งคุณพ่อเยลลีชีได้เพียรสร้างมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ได้ทำพิธีเสกถ้ำแม่พระในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1958 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต  เป็นผู้ประกอบพิธีเสกถ้ำ พระสมณทูตยวง กอร์ดอน ได้มาร่วมฉลองด้วย
 
ถ้ำแม่พระนี้ เป็นอนุสรณ์ระลึก 1 ศตวรรษ แห่งการประจักษ์ของแม่พระที่ลูร์ด และเป็นสถานที่ดึงดูดชาวลูกวัดบางนกแขวกให้รักแม่ กตัญญูต่อแม่พระ และพึ่งพาอาศัยแม่พระเสมอตลอดชีวิต และยังเป็นสถานที่สงบที่ชาวลูกวัดบางนกแขวกจะได้มาสำรวมจิตใจสนทนากับพระมารดาในเมื่อมีโอกาส ถ้ำแม่พระนี้จะได้ยืนยงมั่นคงคู่กับชีวิตของวัดบางนกแขวก เพื่อเป็นองค์พยานแห่งความรักของลูกวัดบางนกแขวกต่อแม่พระตราบเท่าฟ้าดินสลายวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1958 พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสอัมพวา เวลา 13.20 น. ทางวัดได้จัดสถานที่ริมแม่น้ำให้สะอาด ตบแต่งอย่างงดงามเตรียมงานเป็นแรมเดือน นักเรียนตั้งแถวต้อนรับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำจากปากคลองบางนกแขวกจนสุดหน้าโรงเรียนนารีวัฒนา เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าแผ่นดินเวลาเสด็จผ่าน เหตุการณ์ดำเนินไปด้วยดีเป็นที่พอใจแก่ทุกคน ปี ค.ศ.1961 เดือนเมษายน เริ่มสร้างศาลาท่าน้ำใหม่ริมแม่น้ำสองศาลา เป็นแบบถาวรงดงามออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยคุณพ่อเยลลีชีเอง สร้างเสร็จและเปิดใช้ โอกาสฉลองวัดบางนกแขวก ปี ค.ศ.1961 พอดี วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1961 คุณพ่อเยลลีชี เจ้าอาวาสได้เริ่มสร้างโรงเรียนนารีวัฒนา ต่อจากหลังเก่าเป็นตึกสองชั้น 
 
วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1961 ฉลองแม่พระเป็นมารดาและฉลองหิรัญสมโภชของคุณพ่ออาแบล หลังมิสซา มีการประชุมคำนับพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ที่บวชได้สิบปี และคุณพ่ออาแบลเป็นพระสงฆ์ได้ 25 ปี คุณพ่ออาแบลถวายแหวนหนึ่งวงแก่พระสังฆราช บรรดาพี่น้องสัตบุรุษบางนกแขวกร่วมถวายจอกกาลิกส์หนึ่งใบแก่   คุณพ่ออาแบล เป็นที่ระลึกงานหิรัญสมโภชของคุณพ่อ 
 
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1962 งานฉลองเปิดตึกใหม่โรงเรียนนารีวัฒนา และในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1962 ฉลองวัดบางนกแขวก ก็ได้เชิญสมณทูตยวง กอร์ดอน มาร่วมฉลองวัดและสัตบุรุษทำฉลองหิรัญสมโภช สมณศักดิ์สงฆ์ 25 ปี ของท่านสมณทูตด้วย สัตบุรุษวัดต่างๆมาร่วมฉลองให้เกียรติแด่พระสมณทูตโอกาสเดียวกัน ทางวัดได้เชิญคุณพ่อบุญชู เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ชาววัดบางนกแขวกมาทำฉลองหิรัญสมโภชของคุณพ่อด้วย หลังมิสซามีการคำนับพระสมณทูต พระสังฆราช พระสงฆ์ แสดงความยินดีและถวายของขวัญแก่พระสมณทูต และคุณพ่อบุญชู  ระงับพิศม์ 
 
คุณพ่อเปโตรเยลลีชี ได้มาอยู่ประจำที่วัดบางนกแขวก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1943 ในตำแหน่งพ่อปลัด ปี ค.ศ.1949 คุณพ่อได้เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกแทนคุณพ่อใบนอตตี ที่ย้ายไปเป็นเจ้าวัดดอนมดตะนอย คุณพ่ออยู่ประจำที่วัดบางนกแขวกในตำแหน่งคุณพ่อปลัด 6 ปี และตำแหน่งเจ้าอาวาส 14 ปี รวมทั้งหมด 20 ปีพอดี คุณพ่อได้จัดสร้างโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ต่อไปจนเสร็จ สร้างโรงเรียนต่อเติมสำหรับเด็กอนุบาลชายทางโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ และสำหรับอนุบาลหญิงทางโรงเรียนนารีวัฒนา สร้างโรงละคร ถ้ำแม่พระ ศาลาน้ำที่พักสัตบุรุษโรงเรียนนารีวัฒนาหลังใหม่คุณพ่อได้พยายามช่วยสัตบุรุษในด้านความเชื่อ ความศรัทธา ด้วยการเอาใจใส่ส่งเสริมดูแลสัตบุรุษอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ สนับสนุนคณะกิจการคาทอลิกแผนกต่างๆ คณะบุรุษสตรี ยุวชน ยุพดี กิจการคาทอลิก คณะพลมารี ฯลฯ 
ในด้านการทำมาหากิน คุณพ่อได้พยายามช่วยสัตบุรุษด้วยการประดิษฐ์เครื่องปั่นเชือก ด้วยใยมะพร้าว เพื่อให้สัตบุรุษมีอาชีพมีงานทำ คุณพ่อได้จัดสรรแบ่งสวน ให้สัตบุรุษมีที่ปลูกบ้านและที่ทำมาหากิน  แต่แล้วก็ยังไม่พอแก่จำนวนครอบครัวของสัตบุรุษวัดบางนกแขวก คุณพ่อพร้อมกับพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต จึงได้ไปจับจองที่ดินห้วยยางและระบายสัตบุรุษวัดบางนกแขวกจำนวน 100 ครอบครัว อพยพไปทำมาหากินที่ห้วยยาง และช่วยเหลือทุกครอบครัวจนตั้งตัวได้ อาศัยทุนทางวัดบางนกแขวก สัตบุรุษจำนวนพันกว่าคนได้ไปรวมกันเป็นกลุ่มตั้งเป็น วัดแม่พระฟาติมา ที่ห้วยยางขึ้นภายในไม่กี่ปี งานนี้นับเป็นชิ้นโบว์แดงของพระสังฆราช  เปโตร คาเร็ตโต  และคุณพ่อเปโตร เยลลีชี  ซึ่งทุกคนยังระลึกถึงจนตราบเท่าชีวิตจะหาไม่  คุณพ่อเปโตร เยลลีชี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าคณะแขวงซาเลเซียน ประจำประเทศไทย ในปี ค.ศ.1963 คุณพ่อจึงได้พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก เมื่อ ปี ค.ศ.1963
 
ในปี ค.ศ.1963 คุณพ่อการ์โล กาแซตตา ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกสืบต่อจาก คุณพ่อเยลลีชี คุณพ่อได้ปรับปรุงการขับร้อง การสวดภาวนาพิธีจารีตในวัดให้ดีขึ้น เป็นที่ชวนศรัทธา ได้เยี่ยมสัตบุรุษตามบ้านสำรวจสำมะโนครัว เพื่อทราบจำนวนสัตบุรุษแน่นอน เพราะมีครอบครัวที่ย้ายไปอยู่ห้วยยางเป็นจำนวนพันกว่าคนแล้ว ยังไม่เคยมีการสำรวจใหม่เลย ด้านการศึกษา คุณพ่อมีความสนใจในเรื่องครู ปรับปรุงครู การสอนของครู และการอบรมของครูให้ดีขึ้น คุณพ่อเอาใจใส่อบรมเด็กในเรื่องศีลธรรมด้วยตนเองทุกเดือน คุณพ่อได้บูรณะวัด ด้วยการเปลี่ยนหลังคาวัดจากสังกะสีเป็นกระเบื้อง ซื้อออร์แกนไฟฟ้าใช้ในวัด เพื่อประกอบการขับร้อง ได้สร้างโรงฝึกดนตรีและหัตถศึกษาสำหรับนักเรียนชาย  สร้างโรงพละสำหรับนักเรียนหญิงที่โรงเรียนนารีวัฒนา สร้างร้านขายอาหารสำหรับนักเรียนชาย 
 
วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1964 ฉลองวัดในบางนกแขวกปีนี้ ได้มีงานฉลองพิเศษสำหรับวัดใน เพราะครบ 50 ปี ตั้งแต่ได้สร้างมาเมื่อปี ค.ศ.1914 ในโอกาสนี้ได้บูรณะวัดในให้ดีขึ้น คือ ปรับปรุงกำแพงวัดที่ชำรุดและทาสีใหม่ ปรับปรุงหลังคาและเพดานวัดให้แข็งแรงถาวร เปลี่ยนแปลงหน้ามุขวัดขึ้นใหม่ ให้รูปร่างสวยงามเหมาะสมกับตัววัด ในวันฉลองพระอัครสังฆราชยวง นิตโย ประมุขสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ให้เกียรติมาร่วมฉลองถวายสหบูชามิสซาและเทศน์วัดในบางนกแขวกนี้ คุณพ่อซัลม็อง(เป่า) ได้สร้างเมื่อปี ค.ศ.1914 โดยรื้อเอาวัดบางนกแขวกหลังเก่าไปสร้างไว้ คุณพ่อใบนอตตีได้ทำการปรับปรุงวัดนี้ ให้เหมาะสมงดงามขึ้น หลังจากปล่อยปละละเลยไปนาน และพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี ได้เสกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1946 ถวายแด่แม่พระองค์อุปถัมภ์เป็นการแก้ศีลบน ที่แม่พระได้ช่วยวัดบางนกแขวกและมิสซังราชบุรีให้ปลอดภัยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง 
 
วันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1965 คุณพ่อได้จัดงานฉลองหิรัญสมโภชสมณศักดิ์สงฆ์ของพระสังฆราชเปโตร  คาเร็ตโต  ที่วัดบางนกแขวก โดยจัดให้วัดต่างๆ แถบใต้มาร่วมทำฉลองพร้อมกันที่วัดบางนกแขวก  คือ วัดเพลง วัดดอนมดตะนอย วัดหลักห้า วัดแม่กลอง  วัดราชบุรี เวลาเช้า 9.00 น. พระสังฆราชถวายมิสซา มีพระสงฆ์มาร่วมฉลองด้วยเป็นจำนวนมาก เวลาบ่ายมีการแข่งขันกีฬาจนถึงเวลาเย็น เวลา 20.00 น. มีการประชุมคำนับพระสังฆราช มีการแสดงกลางแจ้ง คือ การเดินพาเหรดแปรขบวนของนักเรียนชาย การแสดงกายบริหาร กายกรรมต่อตัวของนักเรียนชายโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ การเดินพาเหรด การฟ้อนรำของนักเรียนหญิงโรงเรียนนารีวัฒนาแล้ว มีการแสดงบนเวทีของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่มาร่วมฉลองจนถึงเวลา 24.00น.งานฉลองและการแสดงทุกอย่างเป็นที่พอใจแก่ทุกคน และเป็นเกียรติอย่างยิ่งแด่พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต 
 
คุณพ่อการ์โล เป็นเจ้าอาวาสได้ 2 ปี ก็ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดอื่น คุณพ่อได้ยินดีสละกำลังใจ กำลังกาย ความสามารถทั้งหมด เพื่อความเจริญก้าวหน้าของทุกคนทางด้านจิตใจ ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของชาววัดบางนกแขวก ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยใจกว้างขวาง  คณะซาเลเซียน ได้มาตั้งสังฆมณฑลราชบุรี โดยแยกออกมาจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.1928 และปกครองสังฆมณฑลราชบุรีเรื่อยมาจนถึง ปีค.ศ.1969 เป็นระยะเวลา 41 ปี ตั้งศูนย์กลางที่วัดบางนกแขวก ได้พยายามปรับปรุงวัดบางนกแขวก ในด้านความเชื่อ ความศรัทธา ชีวิตคริสตังแท้จริงของสัตบุรุษอย่างดียิ่ง ปรับปรุงการศึกษาของเด็กในโรงเรียน ส่งเสริมการทำมาหากินด้านเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงถาวร ก่อสร้างตึกอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างงดงาม แล้วจากศูนย์บางนกแขวก ก็ขยายนำความเจริญออกไปยังวัดต่างๆ และเกิดวัดใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง ซึ่งรวมเป็นสังฆมณฑลที่เจริญ สามารถปกครองตัวเองได้โดยการอนุมัติของสมเด็จพระสันตะปาปา คณะซาเลเซียนก็มอบสังฆมณฑลราชบุรีนี้ แก่คณะสงฆ์ไทยให้ปกครองด้วยตนเองต่อไป คณะสงฆ์ไทยแห่งสังฆมณฑลราชบุรีและสัตบุรุษทุกคนแห่งสังฆมณฑลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาววัดบางนกแขวก จะต้องระลึกถึงบุญคุณของบรรดาพระสังฆราช บรรดาพระสงฆ์ซาเลเซียนที่ได้มาสถาปนาสังฆมณฑลราชบุรี และจรรโลงสังฆมณฑลนี้ให้เจริญโดยยอมสละชีวิตของตนเอง เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่คณะสงฆ์ไทยสืบไป 
 
สมัยพระสงฆ์ไทยปกครองมิสซังราชบุรี ก่อนแยกมิสซังออกเป็นสอง
คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้มาบุกเบิกและมอบหมายให้คณะสงฆ์ซาเลเซียนรับช่วงต่อมา และได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดบางนกแขวก รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 130 ปี พระสงฆ์ซาเลเซียนองค์สุดท้ายที่ปกครองวัดบางนกแขวก ได้แก่ คุณพ่อการ์โล กาแซตตา ปี ค.ศ.1964 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต มีความเห็นสอดคล้องกับนโยบายและความประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ในอนาคตจะมีการแยกมิสซังให้พระสงฆ์ไทยปกครองกันเอง โดยมีพระสังฆราชพื้นเมืองเป็นผู้ปกครอง จึงได้ตกลงปรึกษาหารือให้มีพระสงฆ์ไทย เริ่มมาปกครองดูแลเอาใจใส่สัตบุรุษวัดบางนกแขวก ซึ่งเป็นอาสนวิหาร 
 
คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก คุณพ่อจึงเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกที่เข้ามารับหน้าที่เจ้าวัดบางนกแขวก เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1965 แทนคุณพ่อการ์โลกาแซตตา ที่ย้ายไปประจำอยู่ที่ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  คุณพ่อสมกิจ เข้ารับงานทั้งทางวัดและทางโรงเรียน ได้สร้างโรงพละของโรงเรียนนารีวัฒนา ที่คุณพ่อเจ้าวัดองค์เก่าสร้างค้างไว้จนสำเร็จ และยังได้สร้างโรงขายของสำหรับนักเรียนหญิงติดต่อกับโรงพละอีกด้วย 
 
วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1966 ได้จัดทำบันไดโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ใหม่ เดิมเป็นไม้ปลวกกินชำรุดมากน่ากลัว เป็นอันตรายแก่เด็กที่ขึ้นลงอยู่ทุกวัน ได้ทำเป็นคอนกรีตเสร็จทันเปิดเรียนปีการศึกษาต่อไป ปี ค.ศ.1966 หลังจากปิดการประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประกาศยกฐานะมิสซังทั้งหมดในประเทศไทยขึ้นเป็นสังฆมณฑล วันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1966 เป็นวันสำคัญยิ่งของมิสซังราชบุรี และวัดบางนกแขวก เป็นวันประกาศและทำพิธียกฐานะมิสซังราชบุรีขึ้นเป็นสังฆมณฑลราชบุรี พระสงฆ์นักบวชทั่วสังฆมณฑลราชบุรีได้มาร่วมฉลองพร้อมกันที่วัดบางนกแขวก พระอัครสังฆราชยวง นิตโย ได้มาร่วมฉลองด้วยในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าของกลุ่มสังฆมณฑลทางใต้ของประเทศไทย พระสังฆราชพระสงฆ์นักบวชเดินแห่เข้าวัด พระอัครสังฆราชยวง นิตโย อ่านพระสมณสารของสมเด็จพระสันตะปาปา แต่งตั้งมิสซังราชบุรีขึ้นเป็นสังฆมณฑลราชบุรี และแต่งตั้งพระสังฆราชคาเร็ตโต เป็นประมุขของสังฆมณฑลนี้ พระอัครสังฆราชยวง นิตโย เชิญพระสังฆราชคาเร็ตโต ขึ้นประทับบนบัลลังก์ แล้วบรรดาพระสงฆ์ นักบวช กับผู้แทนสัตบุรุษแต่ละวัดในสังฆมณฑลราชบุรี เข้าแสดงคารวะต่อพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ขับร้องบทเตเดอุม แสดงความยินดีและโมทนาคุณพระ  ต่อจากนั้น พระสังฆราชถวายสหบูชามิสซาพร้อมกับพระสงฆ์อีก 11 องค์ ระหว่างมิสซา พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่อยวง บอสโก วงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ ลูกวัดบางนกแขวก อันเป็นสัญลักษณ์ว่า สังฆมณฑลจะเจริญก็ต้องอาศัยพระสงฆ์ร่วมทำงานกับพระสังฆราชประมุขของสังฆมณฑล และในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1966 คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ ถวายมิสซาแรกที่วัดบางนกแขวก
 
วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1966 เป็นวันฉลองวัดในบางนกแขวก ได้จัดสร้างม้านั่งในวัดเสร็จทันวันฉลองวัดในพอดี ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น และสะดวกแก่สัตบุรุษที่มาวัด เพราะมีที่นั่งเป็นที่เรียบร้อย โดยมีคุณสายันต์และ คุณสุพรรณี วิกิตเศรษฐ์ เป็นผู้สร้างถวายอุทิศแก่ ยอแซฟ พิทักษ์ ฉลองขวัญ ผู้เป็นบิดา  ปี ค.ศ.1967 เป็นปีที่สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ทรงประกาศเป็นปีแห่งความเชื่อ ทางสังฆมณฑลราชบุรี ได้จัดงานสมโภชเปิดปีแห่งความเชื่ออย่างสง่ามโหฬาร พิธีนี้ได้กระทำที่วัดบางนกแขวก ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1967 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีเสกเทียนเล่มใหญ่ 44 เล่ม อันเป็นสัญลักษณ์ ประทีบแห่งความเชื่อ หลังมิสซา พระสังฆราชแจกเทียนที่เสกแล้ว แก่ทุกวัดของสังฆมณฑลราชบุรี เพื่อจะนำไปจุดที่วัดของตนในวันฉลองและวันอาทิตย์ตลอดปีแห่งความเชื่อนี้ เมื่อแจกเทียนแล้วก็มีการแห่รอบวัด และสวดบทวันทาพระราชินี 
 
ปีค.ศ.1969 เป็นปีสำคัญของวัดบางนกแขวกอีกปีหนึ่ง กล่าวคือวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1969 มีงานฉลองตึกชั้นสามของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1969 ได้จัดทำเขื่อนริมคลองหน้าวัดใน เพื่อกันดินพังและทำให้น่าดูงามเรียบร้อยขึ้นด้วย ทั้งนี้ด้วยการช่วยบริจาคเงินของนางชุนกี มณีสอดแสง สัตบุรุษคนหนึ่งของวัดบางนกแขวก  วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1969 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประกาศแยกสังฆมณฑลราชบุรีออกเป็นสองสังฆมณฑล คือ ราชบุรีและสุราษฎร์ธานี และได้แต่งตั้งคุณพ่อรัตน์ บำรุงตระกูล เป็นพระสังฆราชประมุขแห่งสังฆมณฑลราชบุรี ส่วนพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ย้ายไปปกครองสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี
 
วันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1969 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีอภิเษกคุณพ่อรัตน์ บำรุงตระกูล เป็นพระสังฆราช และในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1969 เป็นวันฉลองวัดบางนกแขวก และเป็นวันที่พระสังฆราชใหม่จะทำพิธีเข้ารับตำแหน่งปกครองสังฆมณฑลราชบุรีด้วย ได้มีการต้อนรับพระสังฆราชใหม่ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต และพระอัครสังฆราชยวง นิตโย หลังมิสซามีการคำนับพระสังฆราช และพระสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่อวิจิตร  สัตย์สมบูรณ์ ที่สำเร็จการศึกษากลับมาจากกรุงโรมด้วย 
 
วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.1970 ฉลองปัสกา พระสังฆราชไปร่วมฉลองและทำพิธีตามธรรมเนียมทุกปี ปีนี้โอกาสปัสกาได้มีการจัดตั้งสภาวัดขึ้น หลังมิสซาพระสังฆราชเป็นประธานได้ประกาศตั้งสภาวัด และประกาศนามผู้เป็นกรรมการสภาวัดทั้งหมด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1971 ฉลอง 75 ปี วัดบางนกแขวก มีพิธีทางศาสนาและมีมหรสพด้วย  คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์  ยังได้สร้างโรงเรียนนารีวัฒนาขึ้นอีก 1 หลัง เป็นตึกสี่ชั้นและยังสร้างตึกสองชั้นอยู่หลังตึกใหม่ของโรงเรียนนารีวัฒนา เป็นที่พักคนครัวและคนงานหญิงของวัด คุณพ่อยังได้จัดทำสำมะโนครัวของครอบครัวคริสตังขึ้นใหม่ เพื่อสะดวกในการค้นหารายชื่อผู้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 
 
ปี ค.ศ.1975 คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์  ย้ายไปเป็นอธิการบ้านเณรเล็ก คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพย์อาสน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก คุณพ่อเห็นสัตบุรุษบางคนติดหนี้ติดสิน บางคนก็มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อ คุณพ่อจึงคิดตั้งเครดิตยูเนียนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยชักชวนสัตบุรุษให้เข้ามาเป็นสมาชิก และให้การอบรม คุณพ่อได้หาวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาอบรมสมาชิกให้มีจิตตารมณ์แห่งความรัก เสียสละ ช่วยเหลือและแบ่งปัน ยังได้ส่งกรรมการหลายคนไปดูงาน และรับการอบรมร่วมกับเครดิตฯ นครชัยศรี  คุณพ่อได้ตั้งกลุ่มคริสตชน อบรมชีวิตครอบครัว สอนคำสอนแบบ ซี ซี พี โดยอบรมครูก่อน โดยส่งครูไปรับการอบรมที่ศูนย์ราชบุรี และอบรมด้วยตนเอง จัดให้ฆราวาสทั้งชายหญิงช่วยทำงานธุรการของวัด วัดมีพิธีกรหญิงเป็นครั้งแรก คุณพ่อมีใจร้อนรนในการแพร่ธรรม 
 
วันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1976 คุณพ่อเอก ทับปิง ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช เพราะพระสังฆราชรัตน์ บำรุงตระกูล ไปช่วยมิสซังเชียงใหม่ 
 
ปี ค.ศ.1977 คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพยอาสน์ ย้ายไปช่วยวัดนครสวรรค์ คุณพ่อชวลิต วินิตกูล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก 
 
ปี ค.ศ.1978 คุณพ่อได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้ใจบุญราวๆ สองแสน จึงได้นำเงินจำนวนนี้มาทำถนนสาย คลองไทย-บ้านปราโมทย์ และเข้าไปถึงวัดใน  ปี ค.ศ.1979 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการวัดปลุกจิตสำนึกให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีถนน ทุกคนเห็นด้วยที่จะสร้างถนน
 
ในปี ค.ศ.1980 ได้ออกสำรวจแนวทางทำถนนและให้ชาวบ้านเซ็นชื่อยินยอมยกที่ให้ พร้อมกับสภาตำบล โดยมีผู้ใหญ่นิพนธ์ จรัสศรี ซึ่งเป็นประธานสภาจังหวัดขอเงินมาช่วยทำถนน เป็นเงินเก้าแสนกว่าบาท สมทบกับเงินที่คุณพ่อชวลิต วินิตกูล ขอจากสถานทูตคานาดามาทำสะพานอีก 320,000 บาท (สามแสนสองหมื่นบาท) ทำให้สร้างถนนแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ถัดจากนั้นได้สร้างถนนเข้าวัดใน  โดยมีคุณทวี ศรีมงคล บริจาคเงินและช่วยสร้างสะพานให้ถนนสายนี้ผ่านไปในหมู่ 10-11 เพื่อความสะดวกที่ชาวบ้านจะมาวัด   ปี ค.ศ.1982 คุณพ่อได้สร้างศาลาประชาคม เสร็จแล้วก็สร้างบ้านพักพระสงฆ์ ปี ค.ศ.1983 สมเด็จพระสันตะปาปา ประกาศเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ เพื่อระลึกถึงวันครบ 50 ปี ของการไถ่กู้ของพระเยซูคริสตเจ้า หมายความในขวบ 50 ปี จะมีฉลองใหญ่ครั้งหนึ่ง ในปีนี้คุณพ่อได้จัดให้สัตบุรุษได้เข้าเงียบอบรมจิตใจ และแห่กางเขนไปตามบ้าน เพื่อเตรียมรับพระคุณบริบูรณ์ 
 
วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1984 พระสังฆราชเอก ทับปิง ประกอบพิธีเสกศาลาประชาคมและบ้านพักพระสงฆ์
 
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1985 พระสังฆราชเอก ทับปิง ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลคามิลโล กรุงเทพฯ และศพของท่านได้ถูกบรรจุในสุสานของวัดบางนกแขวก
 
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1985 พระสังฆราชมนัส  จวบสมัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ในโอกาสฉลอง 75 ปีของอาสนวิหารแม่พระนิรมล จันทบุรี และได้เดินทางไปรับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่มหาวิหารนักบุญเปโตร ที่กรุงโรม โดย สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1986 และได้เดินทางกลับมาฉลองการเป็นประมุขสังฆมณฑล ที่ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี และมาทำพิธีขึ้นบัลลังก์ที่อาสนวิหารบางนกแขวก พระสังฆราชมนัส จวบสมัย  เป็นลูกวัดบางนกแขวกคนแรกที่ได้รับสมณศักดิ์นี้ 
 
ปี ค.ศ.1986 คุณพ่อดำรง  บุญรติวงศ์  ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส คุณพ่อได้สร้างวัดในใหม่ โดยในตอนแรกคุณพ่อตั้งใจจะซ่อมใหญ่ แต่พอเริ่มรื้อ ทุกสิ่งกลับหมดสภาพ คุณพ่อจึงต้องเปลี่ยนโครงการ เป็นสร้างวัดใหม่แทน สร้างอนุสาวรีย์คุณพ่อเป่าที่หน้าบ้านพักพระสงฆ์ ปรับปรุงถ้ำแม่พระใหม่ ปรับปรุงบริเวณวัดและเตรียมโครงการเปิดสุสานใหม่ 
 
วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1987 แต่งตั้งผู้อ่าน และเปิดอนุสาวรีย์คุณพ่อซัลม็อง (เป่า) ในวันเสกสุสาน
วันที่ 10 มกราคม  ค.ศ.1988 เปิดและเสกวัดใหม่ วัดในบางนกแขวก พระสังฆราชมนัส จวบสมัย ประธานพิธีมิสซาและเสกวัดใหม่ พล ร.อ.สนธิ บุญยะชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิด
 
วันที่ 21 พฤศจิกายน   คุณพ่อดำรง บุญรติวงศ์ พักรักษาตา คุณพ่อชวลิต  วินิตกูล มารักษาการแทนจนถึงสิ้นปี 
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1989 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาเปิดสะพานสมเด็จพระอมรินทร์ พระสังฆราชมนัส จวบสมัย คุณพ่อชวลิต  วินิตกูล อุปสังฆราช และยังมีพระสงฆ์อีกหลายองค์มาร่วมรับเสด็จ สะพานสมเด็จพระอมรินทร์ สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 แล้วเสร็จ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1988 โดยทางวัดได้สละที่แนวคลองป่าช้าฝั่งวัด และขอแลกที่กับบ้านนางนิภา ทนุผล โดยทางวัดยินดีชดเชยที่ดินแบ่งกับที่ดินที่ต้องใช้ทำถนนด้านตรงข้าม เป็นเนื้อที่เท่ากันในด้านติดกับที่วัด 
 
ปี ค.ศ.1989 คุณพ่อดำรง บุญรติวงศ์ ย้ายไปรับตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดเพลง คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก เดือนพฤษภาคม มีการเลือกตั้งกรรมการสภาอภิบาลวัดใหม่ เป็นสมัยที่ 8
 
วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1989 คุณพ่อดำรง บุญรติวงศ์ ได้นำเงินกองทุนคุณพ่อซัลม็อง(เป่า) มาให้คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย เจ้าอาวาส เพื่อจะได้นำเงินจำนวนนี้เข้าบัญชีธนาคาร สิ้นปีก็เอาดอกผลมาทำมิสซาอุทิศให้คุณพ่อซัลม็องและผู้มีพระคุณ 
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1989 ได้รับเงินอุดหนุนวัดในจาก ส.ส.วิโรจน์ ณ บางช้าง เป็นเงิน 13,300 บาท เงินจำนวนนี้นำมาสร้างสนามแบดมินตันและซื้อตู้น้ำเย็น 19 มกราคม ส่งเงินตู้รับบริจาค สมทบซับน้ำตาชาวใต้ที่ประสบอุทกภัยจากไต้ฝุ่นเกย์
วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1990 เริ่มสร้างกำแพงสุสานใหม่ หลังจากสร้างบ้านพักคนดูแลวัดแล้ว สร้างแฟลตบรรจุศพสำหรับคนยากจน 30 ช่อง
 
วันที่ 22 เมษายน คุณพ่อดำรัส  ลิมาลัย ย้ายไปเป็นอธิการบ้านเณรเล็ก ที่ราชบุรี 
 
วันที่ 1 พฤษภาคม คุณพ่อสุรินทร์ ชุนฟ้ง ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก  ได้จัดทำแผนผังเปิดสุสานใหม่ ทำถนนรอบๆ บริเวณวัด ขออนุมัติจากพระสังฆราช ให้แยกสำนักงานเครดิตยูเนียนออกไปตั้งข้างนอก ซึ่งเป็นที่ของวัด ทำที่จัดสรรหลังเครดิตยูเนียน ถมดินสุสาน กับถมดินด้านนอกกำแพงวัด ทำสนามฟุตบอล ซื้อรถบัสใหญ่ สำหรับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ราดยางถนนเข้าวัด 2 สาย สร้างแฟลตบรรจุศพสำหรับคนยากจน 30 ช่อง  ด้านความศรัทธา ได้อบรมฟื้นฟูกลุ่มคริสตชน ส่งตัวแทนไปอบรมเข้มหลายครั้ง หาวิทยากรมาช่วยอบรมสมาชิกกลุ่มคริสตชนให้มีความศรัทธาและเข้มแข็ง ตั้งคณะเซอร์ร่า จัดอบรมคณะกรรมการสภาอภิบาลวัดทุกเดือน ติดต่อกัน 10 เดือน จัดอบรมสัตบุรุษ โดยพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสริมความศรัทธา เช่นเดินรูปในวันศุกร์ สวดสายประคำก่อนมิสซา ฯลฯ 
 
วันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1992 ฉลองครบบวช 25 ปี คุณพ่อสุรินทร์ ชุนฟ้ง  คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพย์อาสน์ คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ ที่วัดบางนกแขวก   วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1992 คุณพ่อสุรินทร์ ชุนฟ้ง ย้ายไปเป็นเจ้าวัด วัดท่าม่วง คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย กลับมาเป็นเจ้าอาวาสครั้งที่ 2  วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1992 เลือกคณะกรรมการสภาอภิบาลวัด สมัยที่ 9    วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1992 ประชุมเตรียมบูรณะวัดที่แหลมผักเบี้ย มีพระสังฆราชมนัส จวบสมัย เป็นประธานในการประชุม กรรมการที่ดิน กรรมการการเงิน คุณพ่อเจ้าวัดท้องที่ เจ้าวัดดอนกระเบื้อง 
 
วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1992   เริ่มสำรวจเจาะพื้นดินรอบวัด เพื่อดูว่าจะต้องบูรณะอย่างไร
ปรับพื้นที่ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง จนถึงหลังวัด เพื่อให้บริเวณพื้นที่เข้ากับสะพานและทำกำแพงสุสานด้านริมแม่น้ำใหม่ สร้างระฆังและหอระฆังใหม่ที่วัดในบางนกแขวก ช่วยคนกลับใจและยังสานต่อเรื่องกลุ่มคริสตชนให้เข้มแข็งคงที่
 
ปี ค.ศ.1993 คุณพ่อดำรัส ลิมาลัย  ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเพลง คุณพ่อประดิษฐ์ ว่องวารี ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก 
 
คุณพ่อได้ปรับปรุงโรงเรียนดรุณานุเคราะห์เพื่อฉลอง 60 ปี  เชิญคุณพ่อไพโรจน์ พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่มาทำมิสชั่น เป็นการอบรมฟื้นฟูจิตใจสัตบุรุษให้มั่นคงในความเชื่อ 
 
วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 มีพิธีแห่ศีลมหาสนิทระดับสังฆมณฑล เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ปี 2,000 โดยการร่วมถวายมหาบูชามิสซาในอาสนวิหาร และแห่ศีลมหาสนิทไปนมัสการ ณ เวทีกลางสนามฟุตบอล
 
วันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1994 ได้มีการฉลองโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ ครบ 60 ปี มีงานฉลองใหญ่โต โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษามาเป็นประธาน ในวันที่ 10 มกราคม ได้มีพิธีทำบุญตักบาตรสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองที่นับถือศาสนาพุทธ และมีพิธีสหบูชามิสซา โดยพระสังฆราชมนัส จวบสมัย เป็นประธาน ในภาคค่ำมีงานคืนสู่เหย้า และสังสรรค์ศิษย์เก่า ประมาณ 500 โต๊ะ
 
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1994 ได้เริ่มปฏิสังขรณ์อาสนวิหาร โดยมีคุณพ่อประดิษฐ์ ว่องวารี เจ้าอาวาสเป็นผู้รับผิดชอบ  นายช่างสวัสดิ์ ท้าวติ เป็นที่ปรึกษา นายกฤษณะ ชูช่วย เป็นหัวหน้าฝ่ายช่างไฟฟ้า ช่างไม้ นายชุบ (ด้วง) เทียมมาลี เป็นหัวหน้าฝ่ายช่างปูน นายสุนทร ปานวรณ์ เป็นนายช่างตกแต่งศิลปะปูนตำ งานปฏิสังขรณ์ได้ดำเนินไปด้วยดี โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสังฆมณฑล จากกรุงโรม และจากผู้มีจิตศรัทธา โอกาสฉลองวัดในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1995 ได้มีการระดมทุนปฏิสังขรณ์วัด กองทุนละ 5,000 บาท ได้เงินประมาณเกือบ 4 ล้านบาท เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์อาสนวิหาร การบูรณะจะแล้วเสร็จประมาณ วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 เพื่อทันฉลองในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1996 โอกาสฉลองพระคริสตกษัตริย์
 
ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1996 ได้มีพิธีเปิดปีศักดิ์สิทธิ์ของสังฆมณฑล เพื่อเตรียมฉลอง 100 ปีอาสนวิหาร ที่บริเวณหน้าถ้ำแม่พระเมืองลูร์ดของอาสนวิหาร ในโอกาสนี้มีการฉลอง 10 ปีแห่งการเป็นพระสังฆราชของพระสังฆราชมนัส จวบสมัย ด้วย
 
วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน ค.ศ.1996 เป็นวันฉลองอาสนวิหารประจำปี ได้ประกอบพิธีที่ศาลาบันเทิงศิลป์  ได้เสกรูปแม่พระดวงหทัยนิรมล เพื่อแห่ไปตามวัดต่างๆ โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์ของสังฆมณฑล โดยมีวัดพุถ่องมารับไปเป็นวัดแรกและจะกลับมาสู่อาสนวิหารในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 เพื่อเตรียมสมโภช 100 ปีของอาสนวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 ซึ่งตรงกับวันฉลองพระคริสตราชา
 
จากหนังสือ อนุสรณ์ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก (ฉบับสมโภช 100 ปี) .... 24 พฤศจิกายน ค.ศ.1996