สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี อาสนวิหารอัครราฟาแอล

  • Print
 
 
 
 333 ถ.ตลาดใหม่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 84000
โทร. 0-7728-6591 โทรสาร 0-7721-2220
 
ในปี ค.ศ.1959 พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ได้ลงนามในใบสัญญาบ้านพักพระสงฆ์และโรงเรียนที่บ้านของนายสงวน นางล้วน ชูประยูรคุณพ่อเฮกเตอร์ ฟรีเยริโอ  เป็นผู้เริ่มมาประจำอยู่ที่สุราษฎร์ธานี พระสงฆ์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งได้บริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อที่ดินและขอร้องให้สร้างวัดถวายแด่อัครเทวดาราฟาแอล ผู้เป็นมิตรของเยาวชน
 
วัดราฟาแอล สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1963   และยกฐานะขึ้นเป็นอาสนวิหาร  ปี ค.ศ.1969  เมื่อแยกสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีออกจากสังฆมณฑลราชบุรี ต่อมาได้ขยายปีกวัดทั้งสองข้างและต่อด้านหน้าให้จุคนได้มากขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ทำพิธีเสกและฉลองเมื่อวันที่ 24 กันยายน  ค.ศ.1975  มีสัตบุรุษ 400  คน  จำนวน 130 ครอบครัว  คริสตชนกระจายเป็น 4  กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองและบริเวณใกล้เคียงวัด 66  ครอบครัว อาศัยอยู่นอกตัวเมืองและกระจัดกระจายออกไป  29 ครอบครัว ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย  ธุรกิจ ข้าราชการ รับจ้าง กลุ่มที่อยู่ในสวนตำบลขุนทะเล 10 ครอบครัว ทำสวนผักและน้ำตาลมะพร้าว กลุ่มที่อยู่บ้านสมหวัง  25 ครอบครัว ทำสวนผักและผลไม้
 
 
คริสตชนที่นี่ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคกลาง  งานอภิบาลก็คือ  ติดตามลูกแกะที่กระจัดกระจาย ที่บ้านสมหวัง มีวัดน้อยอารักขเทวดา ซึ่งพระสงฆ์ไปทำมิสซาทุกวันอาทิตย์ แต่วันฉลองเทศกาลสำคัญๆ สัตบุรุษจะมารวมกันที่อาสนวิหาร 
 
อาสนวิหารเป็นศูนย์รวมพลีกรรม  มิสซาวันอาทิตย์ เย็นวันเสาร์ วันศุกร์ต้นเดือน วันที่  24 ระลึกถึงวันแม่พระอุปถัมภ์  วันธรรมดาพระสงฆ์จะแยกย้ายกันไปถวายมิสซาตามวัดน้อย พระสังฆราชทำมิสซาที่วัดน้อยของอาราม  ซิสเตอร์ผู้รับใช้ฯ พระสงฆ์ประจำบ้านเณร ทำมิสซาที่วัดน้อยของบ้านเณร นอกนั้นทำมิสซาที่อาสนวิหารซึ่งมีเด็กประจำมาร่วมมิสซาทุกวันในบริเวณอาสนวิหารราฟาแอล ประกอบด้วย สำนักพระสังฆราช มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี โรงเรียนเทพมิตรศึกษา รับนักเรียนชายระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่  6
 
โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโกสุราษฎร์ รับนักเรียนชายระดับ ปวช. ช่างกลโรงงานและช่างไฟฟ้า (ปัจจุบันแยกไปตั้งในที่แห่งใหม่) หอพักนักเรียนประจำโรงเรียนธิดาแม่พระ รับนักเรียนชาย – หญิง อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนหญิง ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 หอพักเทพมิตรศึกษา รับนักเรียนชายคาทอลิก ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-2  และปวช.3 บ้านเทเรซา รับนักเรียนหญิงจากครอบครัวที่อยู่ห่างไกลวัดและต้องการความช่วยเหลือบางส่วน บ้านลูกมารีย์  รับเด็กบริบาลก่อนวัยเรียน และหอพักนักเรียนหญิง ระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนอื่นๆ  
 
สำนักฝึกธรรมดอมินิกซาวีโอ (บ้านเณรเล็กของสังฆมณฑล)   อารามซิสเตอร์ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1971 เนื่องจากมีครอบครัวหลายครอบครัวอพยพมาหาที่ทำการเพาะปลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางสังฆมณฑลได้ช่วย เหลือดำเนินการให้ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต จึงเห็นสมควรที่จะก่อตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ และเป็นไปตามเจตจำนงของสัตบุรุษ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพของกสิกร ให้สวัสดิการแก่สัตบุรุษ ส่งเสริมการศึกษาของอนุชนและเพื่อส่งเสริมสาธารณกุศลตามมติของคณะกรรมการมูลนิธิ รับผิดชอบกิจการด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมิสซังคาทอลิกเคยทำมาก่อน 
 
กิจกรรมอื่นๆ ของวัด อาทิ
-  กลุ่มเพื่อนซาวีโอ  นักเรียนคาทอลิก ชั้น ป.5 – ม.3 จะเข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนซาวีโอ เพื่อช่วยการปฏิบัติชีวิตคริสตชนอย่างมีชีวิตชีวา ร่วมรับผิดชอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การขับร้อง การบริการหนังสือ การจำหน่ายของเบ็ดเตล็ดหน้าวัด มีซิสเตอร์ บราเดอร์ ดูแลเป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม จัดอบรมและกิจกรรมฟื้นฟูจิตตารมณ์กลุ่มอยู่เสมอ 
 
- กลุ่มเยาวชน นักศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษาส่วนใหญ่มักจะห่างเหินจากวัด ปัจจุบันกลุ่มนักศึกษาโรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก  เป็นแกนผู้ช่วยเจ้าอาวาส  รวบรวมเยาวชนชาย – หญิง  จัดกิจกรรมอบรมและรับผิดชอบพิธีกรรมมิสซาสายวันอาทิตย์ เกี่ยวกับการขับร้อง  การอ่านบทอ่าน  การช่วยจารีต  นับว่าเป็นการรวมพลังวัยรุ่นในทางสร้างสรรค์ที่ดีประการหนึ่ง 
 
พิธีถวายอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี 
วันเสาร์ที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2012 เวลา 10.00 น. พิธีถวายอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี โดยมีพระสังฆราชโยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ประมุขของอัครสังฆมณฑลเป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณ พร้อมด้วยพระอัครสังฆราชและพระสังฆราชจากสังฆมณฑลต่างๆในประเทศไทย พระสังฆราชจากประเทศพม่า 1 องค์และพระสังฆราชจากประเทศมาเลเซีย 1 องค์ คุณพ่ออิกญาซีโอ เชฟฟาเลีย เลขานุการสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย บรรดาพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิงและสัตบุรุษจากวัดต่างๆเข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก
 
 
พิธีเริ่มด้วยขบวนแห่อย่างสง่า ณ บริเวณหน้าอาสนวิหาร โดยมีกางเขนนำขบวนและสังฆานุกรได้ถือพระธาตุนักบุญพร้อมกับศาสนบริกรที่ถือเทียนที่จุดเดินเคียงข้าง ขบวนของพระสงฆ์ พระสังฆราชและสัตบุรุษ โดยสังฆานุกรได้อัญเชิญพระธาตุวางไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้คือบริเวณกลางอาสนวิหารระหว่างเทียนที่จุดอยู่ จากนั้นพิธีได้ดำเนินไปโดยประธานได้พรมน้ำเสกให้กับสัตบุรุษเพื่อเป็นเครื่องหมายของการกลับใจใช้โทษบาปและเป็นการเตือนใจคริสตชนทุกคนถึงศีลล้างบาปที่ได้รับและเพื่อเป็นการชำระฝาผนังและพระแท่นของโบสถ์ใหม่ พิธีกรรมดำเนินต่อไปในภาควจนพิธีกรรม บทภาวนาข้าพเจ้าเชื่อ และสวดบทร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลายพร้อมกัน
 
จากนั้นประธานประกอบพิธีบรรจุพระธาตุใต้พระแท่นบูชา สวดบทภาวนาถวายโบสถ์ ประกอบพิธีเจิมพระแท่นและฝาผนังของโบสถ์ พร้อมทั้งถวายกำยานแด่พระแท่นและตัวโบสถ์ และประธานในพิธีมอบเทียนที่จุดอยู่ให้กับสังฆานุกรเพื่อนำไปจุดเทียนที่อยู่ข้างพระแท่น และพิธีบูชาขอบพระคุณดำเนินต่อไปตามปกติจนกระทั้งถึงพิธีรับศีลมหาสนิท
 
หลังจากประธานได้สวดบทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิทแล้ว ประธานถวายกำยานแด่ศีลมหาสนิทที่ยังคงตั้งอยู่บนพระแท่นและอัญเชิญศีลมหาสนิทไปยังวัดน้อยฯของอาสนวิหาร จากนั้นพิธีกรรมจบจงด้วยการอวยพรอย่างสง่าและการปิดพิธี
 
 
ประวัติการก่อสร้างโดยย่อของอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล
อาสนวิหารหลังใหม่นี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีและเพื่อการภาวนาของคริสตชน นอกจากนี้ อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ยังเป็นวัดหลักหรือศูนย์กลางของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้พระสังฆราชประกอบพิธีสมโภชต่างๆ และยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจแห่งการสั่งสอน และปกครองในสังฆมณฑลของพระสังฆราชอีกด้วย
 
อาสนวิหารหลังนี้เป็นการสร้างขึ้นแทนอาสนวิหารหลังเก่าซึ่งได้สร้างขึ้นสมัยของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ในในปี ค.ศ. 1962 และยกฐานะเป็นอาสนวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1969 เสกและฉลองเมื่อปี ค.ศ. 1975 และเนื่องจากตัวอาคารมีสภาพเก่าและทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้สอย ดังนั้นสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของพระสังฆราชโยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เรื่อยมา โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง สัตบุรุษทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่นี้ด้วยใจยินดี
 
อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอลออกแบบก่อสร้างโดยคุณมาโนช สุชชัย และคุณวันดี พืชผาทีมงานผู้ออกแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใด โดยมีบริษัทประดิษฐ์เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สำหรับการก่อสร้างโครงสร้าง บริษัทปฐม อินทีเรีย คอนเทรค จำกัด สำหรับการตกแต่งภายใน บริษัท เอส.เอ็น. ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด สำหรับงานระบบแอร์ บริษัทโมเดิลฟอร์มสาขาสุราษฎร์ธานี สำหรับเฟอนิเจอร์สำนักงาน บริษัทแม็กโครแมชสำหรับงานระบบเสียง บริษัทชีฟาสำหรับงานไฟฟ้า และคุณธรรมรัตน์ ถนอมในเมืองผู้ออกแบบภายใน อาจารย์ระพี ลีละสิริและทีมงานรับผิดชอบงานศิลปะทั้งหมดภายในโบสถ์ และทีมช่างปั้นจากประเทศอินเดีย
 
แนวความคิดในการอออกแบบสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารอัครเทวดาราฟาแอล ผู้ออกแบบได้นำแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม อันเนื่องมาจากพิธีกรรมและประโยชน์ใช้สอยมาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อแนวคิดทั้งสองและมีลักษณะเฉพาะของอาคารที่เป็นศาสนสถาน โดยแนวคิดพิธีกรรมซึ่งพัฒนามาตั้งแต่การมีส่วนร่วมในพิธีบิขนมปังตั้งแต่ในสมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักรเมื่อโบสถ์เป็น “บ้าน” ต่อมาพัฒนาจาก “บ้าน” มาเป็นมหาวิหาร และมหาวิหารไปสู่ “โบสถ์” ตามแบบสังคายนาเตร็นท์ จนถึง “โบสถ์” ในพิธีกรรมหลังจากพระสังคยานาวาติกันที่ 2  ซึ่งเน้นพระแท่นเป็นศูนย์กลาง และมีพื้นที่สำหรับสัตบุรุษผู้มาร่วมฉลองในพิธีและสามารถมองเห็นที่นั่งของประธาน มีบรรณฐานสำหรับเพื่อการประกาศพระวาจาของพระเจ้า และตำแหน่งกางวางตู้ศีลไว้ในสถานที่น่าเคารพและปลอดภัย ส่วนการนำแนวคิดอันเนื่องมาจากประโยชน์การใช้สอยให้มากที่สุด ได้มีการออกแบบโดยให้ตัวอาคารของอาสนวิหารมีพื้นที่เพื่อใช้สอยสำหรับงานอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งจัดอยู่บริเวณด้านล่างของตัวอาคาร อาทิเช่น ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักงานคุณพ่อเจ้าอาวาส ฯลฯ อันทำให้ตัวอาคารของอาสนวิหารมีความสูงและสง่างามมากขึ้น นอกจากนี้ยังนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ตอบสนองกับประโยชน์ใช้สอยและพิธีกรรมได้อย่างลงตัวอีกด้วย
 
สำหรับพระธาตุที่นำมาบรรจุยังพระแท่นศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระธาตุของนักบุญจำนวน 4 องค์
 1. นักบุญฟิเดลิส แห่ง ซิกมาริงเกน (Saint Fedelis of Sigmarigen)
 2. นักบุญฟรันเชสกา แห่งโรม (Saint Frances of Rome, Obl.S.B.)
 3. มรณสักขีแห่งเวียดนาม เปโตร หยุง และ เปโตร ถวน ( Peter Dung and Peter Thun)