สังฆมณฑลอุดรธานี อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์

  • Print
 
ตู้  ป.ณ. 4  ปท.โพศรี  อำเภอเมือง
จังหวัดอุดรธานี  41002  โทร. 0-4222-2206
 
วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1953 ที่จังหวัดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสังฆมณฑลท่าแร่ คือ อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และเลย ได้ถูกแยกออกจากการปกครองของสังฆมณฑลท่าแร่ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสังฆมณฑลใหม่ เรียกว่า “สังฆมณฑลอุดรธานี” ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของคณะพระมหาไถ่แห่งเมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1953 ปีเดียวกัน คุณพ่อคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต สงฆ์คณะพระมหาไถ่ ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขปกครองสังฆมณฑลใหม่ พระสงฆ์ที่ทำงานในสังฆมณฑลนี้เป็นพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ คาทอลิกในช่วงแรกของสังฆมณฑลมีทั้งชาวไทย
 
และชาวเวียดนามอพยพเกือบ 3,000 คน คาทอลิกในเขตอุดรธานีเป็นชาวเวียดนามอพยพเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มคาทอลิกชาวไทยก็มีแต่บ้านโพนสูงเท่านั้น
 
เนื่องจากอุดรธานีเป็นชื่อของสังฆมณฑล และเป็นเมืองใหญ่และสำคัญในอาณาเขตการแพร่ธรรมใหม่ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะจัดหาซื้อที่ดินเพื่อกิจการของวัดและทางสังฆมณฑล พระสังฆราชดูฮาร์ต ด้วยความช่วยเหลือของ คุณพ่อคาร โสรินทร์ ได้จัดหาซื้อที่ดินสามแห่ง ซึ่งอยู่คนละทิศทางของตัวเมืองอุดรธานี แห่งแรกสำหรับสร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์ของประมุขมิสซัง ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ปี ค.ศ.1954 พระสังฆราชดูฮาร์ต ได้สร้างวัดน้อยขึ้นที่บ้านจิก เพื่อเป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑลในเขตเมืองอุดรธานี วัดน้อยนี้ได้รับการเสกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1954 โดยให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดแม่พระนิจจานุเคราะห์” จึงเรียกได้ว่าเป็นอาสนวิหารหลังแรกของสังฆมณฑลอุดรธานี  วันอาทิตย์แรกที่เปิดใหม่ นับสัตบุรุษได้ 13 คน และทั้งหมดก็เป็นชาวเวียดนามอพยพ
 
ที่ดินอีกแปลงอยู่ไกลไปประมาณสี่กิโลเมตรทางไปจังหวัดหนองคายวัดเตรียมไว้สำหรับสร้างโรงเรียนซึ่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1957 โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา ก็ได้เปิดทำการสอนนักเรียน โรงเรียนแห่งนี้เปิดเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนชายโดยเฉพาะ อยู่ภายใต้การดูแลของคณะนักบวชซาเลเซียน
 
ที่ดินแปลงที่สามซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณสี่กิโลเมตรเช่นกันบนเส้นทางไปจังหวัดสกลนคร ได้จัดเตรียมไว้สำหรับสร้างโรงเรียนเหมือนกัน แห่งสุดท้ายนี้มีเนื้อที่กว้างขวางมากคือ 57 ไร่ ในสมัยนั้นอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก  ซึ่งในอนาคตต่อมาคือในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1961 คณะนักบวชซาเลเซียนหญิงหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ซิสเตอร์ คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ ได้เข้ามาดำเนินงานเปิดโรงเรียนสตรีขึ้น คือโรงเรียนเซนต์เมรี่ อุดรธานี  และในปีต่อมาก็เริ่มงานเกี่ยวกับเด็กกำพร้าที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย ได้มีโครงการส่งเสริมและฝึกอาชีพให้แก่เด็กยากจนจากในเมืองและชนบท โรงเรียนเซนต์เมรี่แห่งนี้ก็เหมือนกับโรงเรียนดอนบอสโกวิทยา ได้เป็นกำลังสำคัญและได้ช่วยให้เขตวัดอุดรธานีก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาและได้ทำให้ชื่อเสียงของพวกเราชาวคาทอลิก เป็นที่รู้จักในเมืองอุดรธานี และเมืองใกล้เคียงจนถึงทุกวันนี้และอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่า “วัดเซนต์เมรี่”
 
ส่วนเรื่องการสอนคำสอน การโปรดศีลล้างบาปในเขตวัดอุดรธานี ได้มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1948 โดยคุณพ่อคาร โสรินทร์  ซึ่งดูแลคริสตังสมัยก่อนยังไม่แยกสังฆมณฑล พระสังฆราชดูฮาร์ต ก็ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อมาตั้งแต่กลางปี ค.ศ.1954 เป็นต้นมา จำนวนคาทอลิกในเขตอุดรธานีทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1966  ได้มีการอภิเษกเป็นพระสังฆราชของพระสังฆราชดูฮาร์ตเป็นพระสังฆราชองค์แรกของสังฆมณฑลอุดรธานี และท่านก็ยังรักษาหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป และมี คุณพ่อวิลเลี่ยม ไรท์ มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างอาสนวิหารหลังใหม่ สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1968  คุณพ่อวิลเลี่ยม ไรท์ ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเขตอำเภอท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ คุณพ่อโรเบิร์ต มาร์ติน ย้ายมาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระสังฆราชดูฮาร์ต และในปีต่อมาก็เป็นเจ้าอาวาสเป็นต้นมา และพักประจำอยู่ที่อาสนวิหารหลังใหม่ ส่วนพระสังฆราชดูฮาร์ต ยังคงอยู่ที่บ้านจิก และรับผิดชอบดูแลคริสตังรอบนอกอำเภอเมือง คือ ที่กุมภวาปี และหนองบัวลำภู คุณพ่อมาร์ตินเป็นเจ้าอาวาสนานถึง 6 ปี คุณพ่อเลารี่ มาแทน แต่อยู่ไม่นานคุณพ่อก็กลับอเมริกา ในช่วงที่ขาดคุณพ่อเจ้าวัด มีคุณพ่อหลายองค์ผลัดเปลี่ยนกันมารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหาร เช่น คุณพ่อวัลลภ จำหน่ายผล, คุณพ่อวิเชียร ลิขิตธรรม คุณพ่อธนู  กระทอง, คุณพ่อจอห์น ทาบอร์ เป็นต้น
 
พระสังฆราชยอด พิมพิสาร  ได้รับการอภิเษกเป็นประมุขของสังฆมณฑลอุดรธานี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1975 ณ อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี และสืบตำแหน่งจากพระสังฆราชดูฮาร์ต เป็นต้นมา และได้ให้สร้างอาสนวิหารหลังใหม่ เป็นสำนักพระสังฆราชแห่งใหม่เช่นเดียวกัน ส่วนบริเวณวัดบ้านจิก บ้านพักพระสังฆราชเดิมนั้นได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางที่พักของซิสเตอร์คณะรักไม้กางเขนแห่งท่าแร่ และซิสเตอร์ได้ดูแลโครงการบ้านพักคนชรา ซึ่งในปี ค.ศ.1976 สมาคมนักบุญวินเซนต์เดอปอล คณะมนตรีสังฆมณฑลอุดรธานี ได้ริเริ่มโครงการนี้เพื่อคนชราที่ขาดที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย นำเขาเหล่านั้นมาอยู่ให้มีชีวิตรอด สถานที่พักสร้างขึ้นโดยใช้เศษไม้จากห้องแถวเก่าหลังอาสนวิหารใหม่และต่อเติมเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็มีสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อเป็นรายได้ช่วยเหลือในโครงการบ้านพักคนชรา คณะวินเซนต์เดอปอลยังช่วยเหลือทางวัดเกี่ยวกับงานด้านสังคมสงเคราะห์ 
 
ในปี ค.ศ.1978 คุณพ่อชาร์ล โกแตนท์ รับหน้าที่เจ้าอาวาสต่อมา และดูแลสัตบุรุษเป็นปกติจนหมดวาระของคุณพ่อ โดยมีคุณพ่อบุญรอด เวียงพระปรก เป็นปลัดผู้ช่วย ในกลางปี ค.ศ.1981 คุณพ่อเลโอ แทรวิส พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงของคณะพระมหาไถ่ ได้ย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหาร โดยมีคุณพ่อสมพงษ์ เตียวตระกูล เป็นปลัดผู้ช่วย คุณพ่อแทรวิสเป็นเจ้าอาวาสเป็นเวลานานถึง 6 ปี ในสมัยของคุณพ่อก็ได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะหลังคาอาสนวิหารและกิจการอื่นๆ ทางด้านอภิบาลสัตบุรุษ คุณพ่อมนู เพียรโคตร คุณพ่อปรีดา โอนากุล เป็นปลัดช่วยวัดใหญ่ในสมัยคุณพ่อแทรวิสเป็นเจ้าอาวาส และเมื่อคุณพ่อพ้นหน้าที่ไป คุณพ่อประสิทธิ์ ตรงสหพงษ์ เข้ารับหน้าที่แทนเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นก็มีการโยกย้าย ซึ่งคุณพ่อที่ได้มาอยู่ช่วงนี้คือ คุณพ่อศิริชัย เล้ากอบกุล เข้ามารับหน้าที่เป็นเวลา 3 ปี คุณพ่อแทรวิสก็ได้ย้ายกลับเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสอีกนับเป็นวาระที่ 3 ที่คุณพ่อได้มาช่วยงานในเขตวัดอุดรฯ ของเรา และเนื่องจากทางคณะฯ ต้องการให้กลับไปช่วยงานของคณะฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อมีการโยกย้าย คุณพ่อจึงได้จากอุดรฯไปด้วยความอาลัย 
 
ค.ศ.1998 มีพระสงฆ์ 2 องค์มาทำงานแทนท่านคือ คุณพ่อมีชัย อุดมเดช คณะพระมหาไถ่ เป็นเจ้าอาวาสมีคุณพ่อปรีดา โอนากุล เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ด้านหลังของอาสนวิหารมีอารามกาปูชิน เป็นอารามชีลับแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979  มีภคินี 10 คนจากอารามชีลับบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และจำเป็นต้องสร้างขึ้นอีกเพราะจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงได้สร้างขึ้นอีกเมื่อปีค.ศ.1982 ในวันธรรมดาสัตบุรุษร่วมมิสซากับชีลับที่วัดของอารามแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญแห่งหนึ่งของวัดอุดรธานีทั้งด้านการภาวนาและความช่วยเหลือทั่วไป และอยู่ใกล้กันนั้นก็มีบ้านพักซิสเตอร์คณะธิดาเมตตาธรรม สมาชิกของคณะทำงานด้านศูนย์พัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ
 
ที่อาคารศูนย์คาทอลิกสังฆมณฑลอุดรธานี มีศูนย์พัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ ซึ่งเป็นโครงการในด้านการสงเคราะห์และพัฒนาเด็กยากจน หน่วยงานนี้แบ่งเบาภาระของพ่อแม่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ซึ่งอาศัยในเขตอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี
 
ทางด้านกิจการคาทอลิก วัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ ก็ได้จัดให้มีสภาอภิบาล องค์กรซึ่งมีมาเป็นเวลาช้านานและได้ทำงานด้านฝ่ายวิญญาณช่วยเหลือพระสงฆ์ตลอดมา คือ คณะพลมารี ทางด้านเยาวชนก็เช่นเดียวกันมีการจับกลุ่มและทำประโยชน์ให้ทางวัดและสังคมมาโดยตลอด สมาชิกมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาส เพราะเยาวชนเป็นวัยผ่านสู่วัยผู้ใหญ่จึงไม่มั่นคงและถาวรเท่าที่คาดไว้ เพราะบางคนเข้าสู่ชีวิตครอบครัว บางคนก็อพยพไปอยู่กรุงเทพฯ เพื่อหางานทำและเหตุผลอื่นๆ 
 
ประวัติย่อๆ ของอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ อุดรธานี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 ที่พระสังฆราชดูฮาร์ต ได้สร้างวัดน้อยที่บ้านจิก เพื่อเป็นสถานภาวนาและถวายบูชามิสซาของสัตบุรุษเพียงสิบกว่าคน จนถึงทุกวันนี้ วัดน้อยได้กลายเป็นอาสนวิหารใหญ่ให้บริการด้านอภิบาลสัตบุรุษหลายพันคน
 
พระสงฆ์ที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสประจำและชั่วคราว ดังนี้
ปี ค.ศ.1968   คุณพ่อโรเบิร์ต มาร์ติน เจ้าอาวาสองค์แรก
ปี ค.ศ.1975 -1977  คุณพ่อเลารี, คุณพ่อวัลลภ จำหน่วยผล, คุณพ่อวิเชียร ลิขิตธรรมปี 
ปีค.ศ.1977 - 1978  คุณพ่อจอห์น ทาบอร์
ปี ค.ศ.1978 -1981  คุณพ่อธนู  กระทอง, คุณพ่อชาร์ล โกแตนต์, คุณพ่อบุญรอด เวียงพระปก  เป็นปลัด 
ปี ค.ศ.1981  คุณพ่อเลโอ แทรวิส นานถึง 6 ปี, คุณพ่อสมพงษ์  เตียวตระกูล เป็นผู้ช่วย 
ปี ค.ศ.1987  คุณพ่อประสิทธิ์  ตรงสหพงศ์
ปี ค.ศ.1990  คุณพ่อศิริชัย  เล้ากอบกุล
ปี ค.ศ.1993  คุณพ่อเลโอ แทรวิส  ก็กลับมาอีกสมัยหนึ่ง
ปี ค.ศ.1996  คุณพ่อมีชัย อุดมเดช, คุณพ่อปรีดา  โอนากุล เป็นปลัด คุณพ่อแดง  แจ่มเพลง, คุณพ่อโกวิทย์  เจริญพงศ์
ปี ค.ศ.1999  คุณพ่อพล เนตรธรรม
ปี ค.ศ.2002  คุณพ่อกำจัด  เสาะก่าน, คุณพ่อไมตรี  ทาสุวรรณ์
ปี ค.ศ.2005  คุณพ่อโกวิทย์  เจริญพงศ์, คุณพ่อประวัติ  ญวนเหนือ 
 
จากหนังสือทำเนียบวัดคาทอลิกในประเทศไทย ปี ค.ศ.1998
จัดพิมพ์โดย สื่อมวลชนคาทอลิกในประเทศไทย หน้า 482-484